หน้าแรก บทความสาระ
ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 เมษายน 2549
“ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม”
2 เมษายน 2549 23:20 น.
 
ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 เมษายน 2549
       
       มีคำถามทางกฎหมายมากมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 เมษายน 2549 นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ว่า หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนไม่ครบ 500 คน จะเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรกได้หรือไม่ อย่างไร จึงขอเสนอข้อพิจารณาในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
       
       1. ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อต้องมีครบ 100 คน เสมอไปหรือไม่
       รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 บัญญัติว่า
       “สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวนห้าร้อยคน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อตามมาตรา 99 จำนวนหนึ่งร้อยคน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งตามมาตรา 102 จำนวนสี่ร้อยคน
       ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลง ไม่ว่าด้วยเหตุใดและยังมิได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่าที่มีอยู่”
       หากพิจารณาบทบัญญัติในมาตรา 98 วรรคแรกแต่เพียงมาตราเดียว ก็จะเข้าใจว่า ส.ส.ทั้งสองแบบต้องมีจำนวน 500 คน และแบบบัญชีรายชื่อต้องมีจำนวน 100 คน ซึ่งแน่นอนว่า ถ้ามีครบ 500 คน หรือ 100 คน สำหรับแบบบัญชีรายชื่อตั้งแต่แรก และต่อมามีไม่ครบ 100 คน รัฐธรรมนูญ มาตรา 101 บัญญัติไว้ว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 119 (1) ในกรณีที่มีเหตุใดๆ ทำให้ในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกซึ่งได้รับเลือกตั้งจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อมีจำนวนไม่ถึงหนึ่งร้อยคน ให้สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่”
       นั่นก็คือ หากพรรคใด ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อไปเป็นรัฐมนตรี ตาย ลาออกจากสมาชิกพรรค หรือขาดคุณสมบัติด้วยเหตุอื่นใด ก็จะต้องเลื่อนผู้ที่อยู่ในลำดับถัดไปขึ้นมาเป็น ส.ส.แทน ตามมาตรา 119 (1) และถ้าไม่มีคนจะเลื่อน มาตรา 101 ก็ถือว่าคงมีเท่าที่มีอยู่
       ดังนั้น ในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎร คือ ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นต้นไป เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อไม่ว่าจะครบ 100 คน หรือไม่ หากต่อมาเหลือเท่าใดก็เป็นจำนวนเท่านั้น

       
       2 ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อต้องมีครบ 100 คน หรือไม่
       รัฐธรรมนูญ มาตรา 99 วรรค 2 บัญญัติว่า
       “บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้พรรคการเมืองจัดทำขึ้นพรรคการเมืองละหนึ่งบัญชีไม่เกินบัญชีละหนึ่งร้อยคน และให้ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนวันเปิดสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง”
       หมายความว่า แต่ละพรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อเกิน 100 คนไม่ได้ แต่ต้องส่งขั้นต่ำสุด 5 คน ตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นไปได้ที่ทุกพรรคอาจส่งผู้สมัครรวมกันแล้วไม่ถึง 100 คน เช่น มีพรรค 5 พรรค แต่ละพรรคส่งพรรคละ 10 คน เป็นต้น หรืออาจส่งจำนวนมากแต่ขาดคุณสมบัติโดยคณะกรรมการ การเลือกตั้งไม่ประกาศรายชื่อเป็นผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 37 จนรวมกันแล้วเหลือไม่ถึง 100 คน หรือบางพรรคอาจได้รับคะแนนเสียงไม่ถึง 5 % และพรรคที่ถึงหรือเกิน 5 % ส่งไม่ครบ
       นอกจากนี้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ มาตรา 37 ประกอบมาตรา 33 ยังห้ามมิให้ผู้สมัครถอนการสมัครรับเลือกตั้งหลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อแล้ว และมาตรา 76 ยังบัญญัติให้ จำนวน ส.ส.ของแต่ละพรรคที่จะได้รับตามผลการคำนวณสัดส่วนนั้น ต้องไม่เกินจำนวนตามที่ปรากฏในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองได้จัดทำขึ้น อันเป็นการสนับสนุนประเด็นที่ว่า แม้พรรคได้คะแนนเสียงที่ทำให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมาก แต่หากมีผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อน้อยกว่าไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ก็มีได้เท่านั้น จะเพิ่มให้ได้สัดส่วนตามคะแนนเสียงที่ได้รับไม่ได้
       
อนึ่ง หากเปรียบเทียบกับกรณีผู้สมัครแบบเขตแล้ว จะเห็นได้ว่า กรณีที่ผู้สมัครแบบเขตขาดคุณสมบัติ เป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตที่จะต้องสืบสวนสอบสวนโดยเร็ว จากนั้นต้องยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อเพิกถอนการสมัคร แต่ถ้าจนถึงวันเลือกตั้ง ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตไม่ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา หรือยื่นคำร้องแล้วแต่ศาลฎีกายังไม่มีคำวินิจฉัย เช่นนี้ บุคคลนั้นก็ยังมีชื่อเป็นผู้สมัครแบบเขตต่อไป (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ มาตรา 34/1) ในกรณีผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ หากคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อว่าเป็นผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อแล้ว ก็เป็นไปตามนั้น (กรณีพรรคไทยรักไทย คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศรายชื่อว่าเป็นผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อครบทั้ง 100 คน)
       หลังจากวันที่ 2 เมษายน 2549 คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องประกาศรายชื่อ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อต่อไป (โดยปกติ ต้องภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้ง ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ มาตรา 7/1) ซึ่งในช่วงตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน นี้ ถือว่าอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ มาตรา 101 แล้ว คืออยู่ “ในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎร...” ดังนั้น กรณีที่ผู้สมัครบางคนขาดคุณสมบัติ คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ประกาศได้เฉพาะสำหรับรายชื่อที่มีคุณสมบัติถูกต้องและต้องถือว่า ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมีเท่าที่มีอยู่
       

       3. ผู้สมัครแบบเขตและ ส.ส.แบบเขตต้องมีครบ 400 คน เสมอไปหรือไม่
       
กรณีที่ผู้สมัครแบบเขตมีไม่ครบ 400 คน เช่น บางเขตผู้สมัครขาดคุณสมบัติจนหมด เช่นนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะต้องดำเนินการแก้ไขโดยอาศัยรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 , 145 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรค 2 ซึ่งหนทางปกติที่น่าจะเป็นไปได้ก็คือ การกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งใหม่สำหรับเขตที่มีปัญหาโดยให้ทุกอย่างเสร็จสิ้นก่อนวันเลือกตั้งที่กำหนดไว้
       
สำหรับในกรณีที่ผู้สมัครบางเขตได้รับคะแนนเสียงไม่ถึงร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่จะต้องจัดให้มี การเลือกตั้งใหม่ในเขตนั้น (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ มาตรา 74) ซึ่งวิธีที่พึงกระทำก็คือ กำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งใหม่โดยเปิดโอกาสให้ทุกพรรคการเมืองส่งผู้สมัครได้ เพราะหากปล่อยให้ผู้สมัครเดิมต้องรณรงค์จนกว่าจะได้คะแนนเสียงถึง 20 % อาจยิ่งทำให้เสียเวลาเลือกตั้งหลายครั้งและจะล่วงเลยเวลา 30 วัน ที่จะต้องประกาศผลการเลือกตั้งนับแต่วันเลือกตั้งได้ อย่างไรก็ตาม หากไม่มีผู้สมัครอื่นเลยคงมีเฉพาะผู้สมัครเดิมเพียงคนเดียว และไม่ได้คะแนนเสียงถึง 20 % ฝ่ายบริหารซึ่งต้องรับผิดชอบทูลเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้ง (รัฐธรรมนูญ มาตรา 159 , 161 , 164) คงต้องพึ่งศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 266 ว่าจะตราพระราชกฤษฎีกาประชุมรัฐสภาได้หรือไม่ อย่างไร และในประเด็นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญในคำวินิจฉัยที่26/2543 วันที่ 22 มิถุนายน 2543 ได้เคยวางแนวทางไว้ว่า “การเรียกประชุมรัฐสภา...เป็นการแจ้งกำหนดวันเริ่มสมัยประชุมเพื่อให้สมาชิกมาประชุมเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” ดังนั้น ฝ่ายบริหารจึงน่าจะดำเนินการให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาได้ ส่วนแต่ละสภาหรือรัฐสภาจะปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญได้หรือไม่อย่างไร ก็เป็นเรื่องของสภา ซึ่งอาจต้องพึ่งศาลรัฐธรรมนูญอีกก็ได้ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า สภาผู้แทนราษฎรต้องให้ความเห็นชอบในบุคคลที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายใน30วัน นับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภา(รัฐธรรมนูญ มาตรา202)
       ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ หากในการเลือกตั้งทั่วไปมีบางเขตที่ไม่มีผู้สมัครเลย และไม่ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะรับสมัครใหม่กี่ครั้งก็ไม่มีผู้สมัครจนถึงวันเลือกตั้ง ดังนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะมี ส.ส. ครบ 400 คน เช่นกัน หรืออาจมีผู้สมัครครบ 400 คนแต่รัฐบาลที่รักษาการอยู่เห็นว่าพรรคตนแพ้เลือกตั้งหลังทราบผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการหลังวันเลือกตั้งประมาณ 1-2 วันหรือแม้แต่มีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม แต่ตนอยากจะรักษาการต่อไปให้นานที่สุด จึงใช้วิธีการทุกอย่างที่จะทำให้ผู้สมัครหรือส.ส.ไม่ครบ 400 คน เพื่อที่จะไม่ให้มีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ด้วยเหตุนี้ ถ้าไปยึดถือว่าต้องมีส.ส.แบบแบ่งเขตครบ400คนทุกกรณีจึงจะเรียกประชุมรัฐสภาได้ ก็จะทำให้ระบบต้องหยุดชะงักและเจตนารมณ์ของประชาชนที่จะเปลี่ยนรัฐบาลก็จะถูกละเมิดซึ่งเป็นเรื่องที่ร้ายแรงอย่างยิ่ง
       ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่อาจมีผู้สมัครไม่ครบทั้ง 400 เขต หรือใกล้กำหนดจะต้องประกาศผลการเลือกตั้งให้ครบ หรือจะต้องเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้ประชุมเป็นครั้งแรก แต่มีปัญหาที่ไม่อาจมี ส.ส. ครบ 400 คนได้ จากสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้น หรือเกิดเหตุสุดวิสัยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ มาตรา 64 ทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งและ ฝ่ายบริหารคงจำต้องพึ่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาดังกล่าวต่อไป
       
สำหรับ ส.ส.แบบเขตนี้ ถ้าเริ่มต้นไม่ว่าจะมีครบ 400 คนหรือไม่ และต่อมาสมาชิกภาพของ ส.ส.บางคนสิ้นสุดลง เช่น ตาย ลาออก หรือขาดคุณสมบัติ ก็จะมีการเลือกตั้งซ่อมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 119 (2) ภายใน 45 วันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่าง เว้นแต่อายุของสภาผู้แทนราษฎร จะเหลือไม่ถึง 180 วัน แต่ในระหว่าง 45 วันนั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 วรรค 2 ให้ถือว่า สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วย ส.ส.เท่าที่มีอยู่
       
       4. การจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือการลงคะแนนใหม่จะต้องอยู่ในระยะเวลา 30 วันนับแต่วันเลือกตั้งหรือไม่
       ในการเลือกตั้งทั่วไปสำหรับ ส.ส.นั้น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การเลือกตั้งฯ มาตรา 7/1 กำหนดไว้ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้ง นั่นก็คือ ต้องนับคะแนนและประกาศผลการเลือกตั้งให้เสร็จเรียบร้อยภายใน 30 วัน ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 159, 161 และ 164 ก็บังคับฝ่ายบริหารว่าจะต้องออกพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้ประชุมเป็นครั้งแรกภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้งเช่นกัน รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ กำหนดระยะเวลาซ้อนกันพอดี หากคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ดำเนินการประกาศผลการเลือกตั้งให้เสร็จสัก 3-4 วัน ก่อนครบ 30 วัน ฝ่ายบริหารก็อาจดำเนินการให้มีการประชุมรัฐสภาครั้งแรกไม่ทัน ประเด็นนี้ ควรมีการแก้ไขโดยเขียนกฎหมายให้รับกัน ไม่ใช่ซ้อนกัน แต่ในระหว่างนี้คงต้องใช้วิธีปฏิบัติที่ไม่ก่อให้เกิดข้อขัดข้องเช่นที่ได้ปฏิบัติกันมา
       ระยะเวลา 30 วัน ของคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้น ต้องถือว่าเป็นกรอบเวลาในกรณีปกติ แต่หากมีกรณีที่จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพราะผู้สมัครได้คะแนนไม่ถึง 20 % ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ มาตรา 74 หรือมีเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้น เช่น การจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย จนคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตต้องประกาศงดการลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งที่มีปัญหา ไม่ว่าก่อนหรือในวันเลือกตั้ง ดังนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องกำหนด วันลงคะแนนใหม่ ในหน่วยเลือกตั้งนั้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบเหตุสุดวิสัยดังกล่าว (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ มาตรา 64)
       อย่างไรก็ตาม ในกรณีการเลือกตั้งใหม่ตามมาตรา 74 นั้น มาตรา 7/2 กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจออกประกาศให้ย่นหรือขยายระยะเวลา หรืองดเว้นการดำเนินการที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ เฉพาะในการเลือกตั้งสำหรับเขตที่มีปัญหา (ผู้สมัครได้คะแนนเสียงไม่ถึง 20 %) ได้
       ดังนั้น เมื่อพิจารณากรณีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ มาตรา 74 และ 64 แล้ว เห็นได้ชัดว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือกำหนดวันลงคะแนนใหม่ที่เลยระยะเวลา 30 วันนับแต่วันเลือกตั้งได้ และหากจะเลยเวลาดังกล่าวก็จะเป็นปัญหาของฝ่ายบริหารต่อไปอีกว่าจะดำเนินการให้มีการประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้งอย่างไร
       ปัญหาทั้งในส่วนของคณะกรรมการการเลือกตั้งและฝ่ายบริหารนี้ หากจะให้เป็นที่ยุติและมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ทั้ง สององค์กร ก็จำต้องพึ่งศาลรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ ให้องค์กรนั้นหรือประธานรัฐสภาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย”
       
       5. จะเลื่อนกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรได้หรือไม่
       ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 116 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งภายใน 60 วัน และวันเลือกตั้งต้องกำหนดเป็นวันเดียวกัน ทั่วราชอาณาจักร
       และจากที่ได้อธิบายมาแล้วในข้อ 4 การเลือกตั้งในบางเขตอาจมีปัญหาต้องมี การเลือกตั้งใหม่หรือลงคะแนนใหม่ โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่แก้ไขและดำเนินการให้เป็นที่เรียบร้อยซึ่งบางกรณีอาจเกินระยะเวลา 30 วันนับแต่วันเลือกตั้งได้ แต่กรณีที่จะเกิดปัญหาทั้งประเทศ จนต้องเลื่อนกำหนดวันเลือกตั้งทั่วราชอาณาจักร เช่น ในวันที่ 2 เมษายน 2549 ออกไปนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาให้รอบคอบอย่างยิ่ง เพราะสาเหตุต้องมีความชัดเจนและร้ายแรงพอที่จะต้องดำเนินการเช่นนั้น ตัวอย่างเช่น ในช่วงใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2475 สภาผู้แทนราษฎรต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อต่ออายุสภาผู้แทนราษฎรออกไปใน พ.ศ.2485 เพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วง พ.ศ.2483-2487 ซึ่งหลายประเทศในโลกก็ทำเช่นนั้น กรณีนี้ไม่ใช่แค่เลื่อนวันเลือกตั้ง แต่เป็นการไม่ให้มีการเลือกตั้งและต่ออายุสภาเดิมที่มีอยู่ออกไป
       สถานการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนี้ในประเทศไทย ที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน 3 พรรค ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และมีกลุ่มบุคคลชุมนุมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก หรือสนับสนุนนายกรัฐมนตรี โดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงหรือเกิดความไม่สงบเรียบร้อยจนเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่อาจรักษากฎหมายได้ตามปกติ หรือเกิดการจลาจล หรือสงครามแต่อย่างใด เช่นนี้จะถือว่ามีน้ำหนักเพียงพอหรือไม่ที่จะเลื่อนการเลือกตั้งออกไป และถ้ามีการเลื่อนจะทำให้การชุมนุมต่างๆ ทั้งคัดค้านและสนับสนุนนายกรัฐมนตรียุติลงหรือไม่ หรือจะทำให้พรรคร่วมฝ่ายค้านส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือไม่
       นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาด้วยว่า หากเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปเพื่อเปิดโอกาสให้พรรคร่วมฝ่ายค้าน 3 พรรค มีโอกาสส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง พรรคการเมืองอื่นอีกหลายพรรคโดยเฉพาะพรรคเล็กๆ นั้น จะมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติและไม่เป็นธรรมกับพวกเขาหรือไม่ โดยพวกเขาอาจฟ้องร้องดำเนินคดีกับคณะกรรมการการเลือกตั้งได้
       อนึ่ง ต้องพิจารณาด้วยว่า การจะเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปนั้น หากจะกระทำก็ต้องอยู่ภายในกรอบ 60 วันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งก็สามารถขยายระยะเวลาได้อีก 23 วันนับแต่วันที่ 2 เมษายน 2549 แต่การเลื่อนวันเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องแก้ปัญหาทางเทคนิคอีกหลายประเด็นด้วย เช่น จะกำหนดวันรับสมัครใหม่หมดทั้ง ส.ส.แบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อ และให้ทุกพรรคเริ่มสมัครใหม่ จับสลากหมายเลขกันใหม่ หรือจะให้พรรคที่ไม่ได้ส่งผู้สมัครสามารถส่งผู้สมัครได้เท่านั้น ไม่นับพรรคที่ส่งแล้ว และให้จับสลากหมายเลขถัดไปเพื่อไม่ให้กระทบถึงหมายเลขของพรรคที่ส่งผู้สมัครแล้ว ระยะเวลาการรณรงค์หาเสียงของพรรคต่างๆ จะไม่เท่ากัน พรรคที่ส่งผู้สมัครทีหลังจะเสียเปรียบกว่า และถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งให้สมัครใหม่หมด จับสลากหมายเลขใหม่หมด พรรคที่เสียค่าใช้จ่ายไปแล้วและต้องเปลี่ยนหมายเลขจะทำอย่างไร ยังถูกจำกัดด้วยวงเงินหาเสียงเดิมหรือไม่ หากเขาต้องแก้ไขเอกสารและแผ่นป้ายหาเสียงใหม่ ดังนี้ เป็นต้น
       
       โดยสรุป การบังคับใช้และการตีความรัฐธรรมนูญของทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องเป็นไปในทางที่ให้เป็นผล ให้ระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญดำเนินไปโดยราบรื่น ไม่ใช่เพื่อให้องค์กรต่างๆ ไม่อาจเกิดขึ้นหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ เช่น การติดยึดว่าถ้าได้ ส.ส. ไม่ถึง 500 คน จะเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกไม่ได้ จะมีประธารสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีตามปกติไม่ได้ ครั้นจะให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่ “รักษาการ”อยู่ ทำหน้าที่ต่อไปเรื่อยๆ ก็ไม่ยอมรับ ทั้งหมดเพื่อให้ระบบที่ควรจะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญติดขัดเพื่อไปสู่ “รัฐบาลพระราชทาน” โดยอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 เช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า เราไม่เชื่อใน “นิติรัฐ” (Legal State) ไม่เชื่อในครรลองของระบอบประชาธิปไตยและระบบกฎหมาย บางฝ่ายถึงขนาดเรียกร้องหรือสร้างเงื่อนไขเพื่อไม่ให้ไปสู่การบังคับใช้และการตีความรัฐธรรมนูญตามปกติ ให้องค์กรที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาต่างๆ ไปตามอำนาจหน้าที่ และหากมีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ก็ให้เป็นหน้าที่ของ ศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาวินิจฉัยต่อไป สิ่งที่น่าแปลกใจ ก็คือ ในยุคเผด็จการหรือกึ่งเผด็จการ ผู้คนส่วนหนึ่งที่เรียกร้องหรือสร้างเงื่อนไขที่กล่าวมาข้างต้นเคยเรียกร้องขอให้กลุ่มเผด็จการหรือกึ่งเผด็จการยอมรับใน “นิติรัฐ” “นิติธรรม” (Rule of law) ในครรลองของระบอบประชาธิปไตยแลระบบกฎหมาย และถึงขนาดยอมเข้าร่วมในฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารกับกลุ่มเผด็จการฯ ดังกล่าวมาแล้ว ทำไม่ในครั้งนี้ ทั้งๆ ที่เรามีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน มีระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่ดีกว่าเดิมมากมาย กลับไม่ยอมรับอะไรเลย กลับไม่เชื่อแม้ในสติปัญญาและการตัดสินใจของประชาชน แต่หากพยายามทุกวิถีทางที่จะ “รัฐประหาร” รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนี้ ที่จะให้สังคมเกิดอนาธิปไตยและความล่มสลายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งหมดเพียงเพื่อล้มบุคคลเพียงคนเดียว
       
       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544