หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 73
15 ธันวาคม 2547 13:54 น.
"อนุญาโตตุลาการกับค่าโง่ทางด่วน"
       ของขวัญปีใหม่ที่ค่อนข้างจะ “ดุร้าย” สำหรับความรู้สึกของนักกฎหมายมหาชนผู้ห่วงใยบ้านเมืองมีอยู่ “หลายชิ้น” ด้วยกันครับ การหาทางออกให้กับร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยราชภัฏ ค่าโง่ทางด่วน และสถานะขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ เป็น “ของขวัญ” 3 ชิ้นที่สร้างความวิตกให้กับนักกฎหมายมหาชนจำนวนหนึ่ง ซึ่งเราคงต้อง “หาทางออก” ให้กับปัญหาเหล่านั้นครับ!!!
       การหาทางออกให้กับร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยราชภัฏในวันที่ผมเขียนบทบรรณาธิการนี้ (9 มกราคม 2547) ก็ยังดูมืดมนอยู่ นักวิชาการและนักการเมืองหลาย ๆ คนได้พยายามเสนอทางออก แต่ก็ไม่เป็นที่ยุติครับว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ ทางออกก็เลยยังไม่มีครับ!!! เรื่องนี้แก้ปัญหาได้ไม่ยากครับ เราอยู่ในยุคของการ “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” ท่านผู้นำจะใช้วิธีการใดก็ให้ท่านดำเนินการไปตามนั้นเถอะครับ ก็อย่างที่ผมบอกไว้ในบทบรรณาธิการครั้งก่อนหน้านี้ว่า จริง ๆ แล้วท่านผู้นำก็เป็น “คนหนึ่ง” ที่มีส่วนต้องรับผิดชอบกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เชื่อท่านเถอะครับแล้วทุกอย่างจะดีเอง!! ไปคัดค้านหรือหาทางออกด้วยวิธีการอื่นที่ไม่ใช่วิธีการที่ท่านผู้นำ “ตั้งใจ” เอาไว้ รับรองได้ว่ายังไงก็ไม่มีทางสำเร็จครับ เรื่องนี้เรารอดูกันอย่างเงียบ ๆ ดีกว่าว่าท่านผู้นำจะ “กำหนด” ทางออกอย่างไรครับ
       เรื่องต่อมาก็คือ เรื่องค่าโง่ทางด่วน น่าโมโหจริง ๆ นะครับที่ทำไมฝ่ายปกครองของเราทำสัญญากับเอกชนทีไร “เสียเปรียบ” เอกชนทุกทีเลยครับ!! ตลอดเวลาที่ผมทำงาน ผมมีโอกาสไปช่วยราชการในหลายกระทรวง ผมเคยเห็นสัญญาสัมปทานหลาย ๆ ฉบับที่รัฐเป็นฝ่ายเสียเปรียบเอกชน ผมไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะสัญญาส่วนใหญ่ก่อนที่จะมีการลงนามก็ผ่านการตรวจสอบกันทั้งภายในหน่วยงานทุกระดับและยังต้องส่งไปให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบก่อนลงนามในสัญญาอีกด้วย วันนี้หากท่านผู้นำประสงค์ น่าจะลองหาคนที่ไม่มี conflict of interest มานั่งรื้อสัญญาสัมปทานพวกนี้ดูนะครับว่า รัฐเสียเปรียบไปมากน้อยแค่ไหนครับ!! เรื่องค่าโง่ทางด่วนนี้ ดูจะเป็นประเด็นร้อนที่สุดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะภายหลังที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2546 ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยจ่ายเงินจำนวน 6,254 ล้านบาทเศษ (อ่านว่า หกพันสองร้อยห้าสิบสี่ล้านบาทเศษครับ!!!) พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้แก่เอกชนคู่สัญญา ในกรณีที่เอกชนคู่สัญญาฟ้องเรียกค่าเสียหาย เพื่อชดเชยกรณีการทางพิเศษแห่งประเทศไทยส่งมอบที่ดินล่าช้าและแก้ไขแบบก่อสร้างในโครงการทางด่วนสายบางนา-บางพลี-บางปะกง โดยศาลได้ตัดสินยึดตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการครับ
       ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน คือเมื่อ 22 ธันวาคม 2547 อัยการได้ยื่นคำแถลงปิดคดีต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ว่า คำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่ตรงกับข้อกฎหมายและสัญญา และนอกจากนี้ อนุญาโตตุลาการ 2 คนก็ยังเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทที่เป็นคู่ความ ซึ่งถือว่าไม่มีอิสระและขาดความเป็นกลาง แต่อย่างไรก็ตาม ในที่สุดศาลแพ่งกรุงเทพใต้ก็ตัดสินโดยให้ยึดถือตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการครับ
       ผมคงไม่ก้าวล่วงเข้าไป “วิจารณ์” คำพิพากษาของศาลหรือคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เรามีวิธีคิด “คนละแบบกันครับ” สิ่งแรกที่ผมอยากตั้งปัญหาไว้ ณ ที่นี้ก็คือ ควรที่ “ผู้รับผิดชอบ” ในเรื่องดังกล่าว หรือแม้กระทั่งตัวท่านผู้นำเอง จะต้องพิจารณาดูว่า ปัญหาเกิดขึ้นจากตัวสัญญาที่มีปัญหา การบริหารงานของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยที่มีปัญหา หรือปัญหาเกิดจากอนุญาโตตุลาการที่มีปัญหาครับ!! หากตรวจสอบพบว่าเรื่องดังกล่าวเกิดจากจุดใด ก็คงจะต้องเริ่มกระบวนการเอาผิดกันอย่างจริงจังเสียทีครับ คงปล่อยไว้ไม่ได้แน่ ๆ เพราะความผิดที่เกิดขึ้นนั้นกระทบต่อประเทศชาติและประชาชนโดยตรงครับ ส่วนสิ่งที่สองที่ผมอยากจะกล่าวถึงไว้ ณ ที่นี้ก็คือ “วิธีคิด” ระหว่างนักกฎหมายเอกชนกับนักกฎหมายมหาชนนั้นต่างกันอยู่มากครับ ในฐานะนักกฎหมายมหาชนคนหนึ่ง ผมมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการที่ศาลตัดสินให้ “รัฐ” ต้องจ่ายเงินจำนวนมหาศาลให้กับ “เอกชน” ว่าเป็นเรื่องน่ากลัวมากครับ เพราะในที่สุดแล้ว เงินจำนวนดังกล่าวก็คงต้องมาจากภาษีอากรของประชาชนนั่นเอง ลองมองในมุมกลับดูบ้างนะครับว่า อันที่จริงแล้วเงินจำนวนนี้สามารถสร้างโรงเรียนและโรงพยาบาลในแหล่งธุรกันดารได้หลายพันแห่ง สามารถส่งเด็กไทยเก่ง ๆ แต่ด้อยโอกาสไปศึกษาต่างประเทศจนจบปริญญาเอกได้เป็นแสน ๆ คน สามารถทำอะไรต่อมิอะไรเพื่อ “ประโยชน์สาธารณะ” (public interest) ได้เป็นจำนวนมาก สมควรแล้วหรือที่เงินจำนวนดังกล่าวจะตกอยู่ในมือของเอกชนเพียงกลุ่มเดียวครับ!!! นักกฎหมายมหาชนคงตอบเรื่องเหล่านี้ได้ดีกว่าผู้อื่นนะครับ เพราะอย่างน้อย “เรา” ก็มิได้ทำงานเพื่อเอกชนคนใดคนหนึ่ง แต่ “เรา” ทำงานเพื่อ “ประโยชน์มหาชน” ครับ เรื่องนี้ก็คงต้องนั่งดูกันต่อไปเช่นกันว่าท่านผู้นำจะทำอย่างไรครับ ผมเชื่อว่าเรามีนักกฎหมายเก่ง ๆ หลายคนที่จะสามารถหาทางออกให้กับปัญหานี้ได้ แต่อย่างไรก็ดี ในที่นี้ผมก็คงต้องขอ “ฝาก” แง่คิดไว้กับนักกฎหมายรุ่นใหม่กันด้วยนะครับว่า เวลาที่ประกอบวิชาชีพของตัวเอง กรุณานึกถึงประเทศประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์มหาชนกันบ้างนะครับ อย่านึกถึงแต่ประโยชน์ของเอกชนแต่เพียงฝ่ายเดียวครับ สุดท้ายสำหรับเรื่องที่อยากเห็นในกรณีค่าโง่ทางด่วนก็คือ ผมขอเรียกร้องให้ “เปิดเผย” คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการฉบับสมบูรณ์และคำพิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ในคดีดังกล่าว รวมทั้งเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนของอนุญาโตตุลาการ เช่น ข้อเรียกร้อง คำคัดค้าน คำร้อง เอกสารหรือข้อมูลทั้งหมดที่คู่พิพาททั้งสองฝ่ายเสนอต่ออนุญาโตตุลาการ รายงานของผู้เชี่ยวชาญ หรือเอกสารหลักฐานใด ๆ ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการใช้ในการประกอบคำชี้ขาด สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้สมควรต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบเป็นการด่วน เพราะเป็นเรื่องที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะโดยตรงครับ หากยังไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้ เนื่องจากติดขัดเรื่องวิธีการ ก็ควรเปิดโอกาสให้ผู้สนใจไป “รับ” เอกสารเหล่านี้มาทำการศึกษาวิเคราะห์ได้ อย่างน้อยก็อาจมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพิ่มขึ้นมาอีกก็ได้ครับ ผมอยากทราบจริง ๆ นะครับว่า เอาอะไรมาเป็น “ฐาน” ในการคำนวณเงินค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวครับ
       เรื่องสุดท้ายที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2546 เช่นกัน แต่เป็นเรื่องที่ “เงียบ” เหลือเกินก็คือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 266 เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามมาตรา 145 (3) แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งสรุปความง่าย ๆ ว่า ศาลปกครองจะเข้าไป “ควบคุม” คำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่มิชอบด้วยกฎหมายได้หรือไม่ ซึ่งในที่สุดหลังจากรอคอยมานาน ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์จำนวน 13 คน ได้วินิจฉัยว่า การใช้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งในกรณีนี้เป็นอันยุติ เพราะถือว่าเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมิได้เป็นการใช้อำนาจในทางบริหารหรือทางปกครองแต่อย่างใด ซึ่งหากจะแปลความหมายกันต่อไปก็คงหมายความว่า องค์กรใดใช้อำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็จะถือว่า “หลุด” จากการตรวจสอบเพราะ “เป็นที่สุด” ครับ น่าสงสารประชาชนนะครับ หากในวันข้างหน้า องค์กรเหล่านี้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญไปกระทบสิทธิของประชาชนเข้า ประชาชนก็ไม่สามารถทำอะไรได้นอกจาก “ก้มหน้า” รับสิ่งที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งหลายกำหนด น่าตกใจกับอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหล่านั้นนะครับ ดู ๆ แล้วน่าจะ “สวนทาง” กับ “แนวคิด” ของรัฐธรรมนูญที่มุ่งคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นหลักครับ เรื่องนี้คงยังไม่จบง่าย ๆ ครับ อย่างน้อยก็ขอดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนครับ
       บทความ 3 บทความในสัปดาห์ที่แล้วของเรา ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีครับ มีผู้ติดต่อเข้ามาหาผมจำนวนมาก เพื่อขอแผ่น disc บทความ ขอไปใช้เผยแพร่ ฯลฯ ก็ต้องขอขอบคุณผู้ที่ให้ความสนใจกับการดำเนินกิจกรรมทางวิชาการในรูปแบบ “ให้เปล่า” ของผมครับ ในสัปดาห์นี้เรามีบทความน่าสนใจของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์ แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง “ความเสมอภาค” ครับ ผมอ่านดูแล้วเป็นบทความที่ดีอีกบทความหนึ่งครับ นอกจากบทความแล้ว เราก็มีการแนะนำหนังสือและการปรับปรุงสาระสำคัญในส่วนต่าง ๆ ให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลาครับ หากมีผู้พบข้อบกพร่องของฐานข้อมูลในจุดใด กรุณาแจ้งกลับมาที่ webmaster ด้วยครับ
       พบกันใหม่ในวันจันทร์ที่ 26 มกราคม 2547 ครับ
       รองศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544