หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 75
15 ธันวาคม 2547 13:54 น.
"อีกแล้ว! อนุญาโตตุลาการกับค่าโง่ ITV"
       สองสัปดาห์ที่ผ่านมาหันหน้าไปทางไหนก็เจอแต่เรื่องวิกฤติไข้หวัดนกครับ หลาย ๆ คนบ่นสงสาร “ท่านผู้นำ” ของเราที่ต้องเหน็ดเหนื่อยกับปัญหาดังกล่าว ก็น่าเห็นใจอยู่หรอกนะครับ ในระบบราชการแบบ “รวมศูนย์” ที่ท่านผู้นำเป็นผู้สร้างขึ้นมาเองกับมือ มันก็ส่งผลให้ท่านต้องเหนื่อยกว่าบรรดารัฐมนตรีทั้งหลายที่รับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการของท่านผู้นำก็น่าแปลกใจนะครับที่ทำไม “เงียบ” จังเลยครับ ผู้ว่า CEO ทั้งหลายดูจะมีบทบาทน้อยเหลือเกินในการแก้ไขปัญหาวิกฤติไข้หวัดนกครับ
       ข่าวเด่นด้านกฎหมายในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมามีอยู่สองเรื่องคือ ข่าวเรื่องการแต่งตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านและค่าโง่ (อีกแล้ว) ITV เรื่องการแต่งตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านผมเชียร์ท่านผู้นำนะครับ เราต้องมองภาพการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทยอย่างเป็นระบบคือ เรามีส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ส่วนกลางทุกคนก็ทราบดีอยู่แล้วว่าคือ กระทรวง ทบวง กรม ส่วนภูมิภาคคือ จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน และส่วนท้องถิ่นคือ อบจ. เทศบาล อบต. กทม. และเมืองพัทยา ส่วนภูมิภาคนั้นก็ถือได้ว่าเป็น “ส่วนหนึ่ง” ของส่วนกลาง จัดตั้งขึ้นมาเพื่อปฏิบัติภารกิจของส่วนกลาง โดยส่วนกลางส่งคนของตนเองไปทำหน้าที่ในส่วนภูมิภาค สำหรับส่วนท้องถิ่นนั้น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ได้ปรับปรุงโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสียใหม่ให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย โดยกำหนดให้มีความเป็นอิสระและมีสภาท้องถิ่นกับผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง เราจะเห็นได้ว่าทั้งส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นต่างก็มีบทบาทและอำนาจหน้าที่ที่แตกต่างกัน โดยส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคจะเป็น “ระบบราชการ” ที่ทำหน้าที่ของฝ่ายปกครองตามวัตถุประสงค์ของรัฐ ในขณะที่ส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้มาจากคนในท้องถิ่นนั้นเอง และปฏิบัติหน้าที่เพื่อสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นนั้นเอง โครงสร้างของส่วนภูมิภาคในปัจจุบันมีเพียงผู้ว่าราชการจังหวัดที่รับผิดชอบดูแลจังหวัด และนายอำเภอที่รับผิดชอบดูแลอำเภอเท่านั้นที่เป็นคนของส่วนกลางที่ถูกส่งมาประจำยังส่วนภูมิภาค ส่วนกำนันที่รับผิดชอบตำบลและผู้ใหญ่บ้านที่รับผิดชอบหมู่บ้านในวันนี้ยังมาจากการเลือกตั้งอยู่ ดังนั้นหาก “ท่านผู้นำ” ประสงค์จะปรับให้โครงสร้างของส่วนภูมิภาคเป็นแบบเดียวกันหมด คือเป็นผู้ที่ส่วนกลางส่งมาประจำก็ย่อมทำได้และไม่ขัดกับหลักอะไรทั้งหลายที่มีผู้พยายามยกขึ้นมาคัดค้าน ท่านผู้นำไม่ได้ขอแต่งตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องมาจากการเลือกตั้งนะครับ!!! ผมห่วงอยู่เรื่องเดียวเท่านั้นเองว่ามี “วาระซ่อนเร้น” อะไรหรือเปล่าครับ เพราะอย่างที่เราทราบกันอยู่ว่า กำนันผู้ใหญ่บ้านก็คือ “ฐานเสียง” ดี ๆ ของพรรคการเมืองนี่เองแหล่ะครับ!!! ท่านผู้นำคงต้องหาคนที่พูดเรื่องยากเป็นเรื่องง่ายไปอธิบายให้บรรดาลูกพรรคของท่านฟัง รวมทั้งอธิบายให้ประชาชนเข้าใจด้วยครับ
       เรื่องค่าโง่เป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่ายที่สุดแล้วสำหรับผม ไม่ทราบว่าตอนเด็ก ๆ ทานข้าวกับอะไรถึงได้สร้างปัญหาให้กับประเทศชาติอย่างต่อเนื่องไม่รู้จักจบเสียที เรื่องค่าโง่ทางด่วนยังไม่จบ ก็เกิดเรื่องค่าโง่ ITV อีกแล้วครับ โดยในกรณีสัมปทาน ITV นี้ออกจะต่างจากกรณีค่าโง่ทางด่วนอยู่บ้างคือ กรณีค่าโง่ทางด่วนนั้นรัฐต้องจ่ายเงินให้กับเอกชนตามผลคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ในขณะที่กรณีค่าโง่ ITV นั้น เอกชนจะจ่ายค่าสัมปทานให้กับรัฐน้อยลงตามผลคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ กรณีนี้รัฐสูญเสียเงินรายได้ไปเป็นจำนวนมากเพราะจะได้ค่าสัมปทานลดลงครับ
       หลาย ๆ คนคงจำได้ว่า ITV เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เมื่อปี พ.ศ.2535 ตอนที่มีเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ประชาชนถูกปิดหูปิดตาด้านข่าวสารเพราะสถานีโทรทัศน์ของรัฐไม่เสนอข่าวตามที่เป็นจริง เมื่อนายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้เปิดทีวีช่องใหม่ให้เป็นทีวีที่มีเสรีภาพ ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐเหมือนโทรทัศน์ช่องอื่น ๆ ในช่วงแรก ๆ ITV เป็นสถานีโทรทัศน์ “คุณภาพ” ที่เสนอข่าวได้ “ตรงใจ” ประชาชน แต่ต่อมาเมื่อเกิดปัญหาขึ้นใน ITV ก็มีการเปลี่ยนตัว “เจ้าของ” กันหลายรอบ จนกระทั่งปัจจุบัน ขอย้ำคำว่าปัจจุบันนะครับ เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ก็คือ บริษัทชินคอร์ป ของครอบครัวท่านผู้นำครับ!!! กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ซึ่งเป็นกลุ่มใหม่นี้ได้ขอให้รัฐแก้ไขสัญญาเพื่อลดค่าสัมปทานลง โดยอ้างว่าสถานีโทรทัศน์ช่องอื่น ๆ จ่ายค่าสัมปทานจำนวนน้อย จนกระทั่งในที่สุด ก็อย่างที่ทราบว่า คณะอนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดให้ ITV เป็นฝ่ายชนะโดยฝ่ายรัฐจะต้องลดค่าสัมปทานให้ ITV ปัญหาดังกล่าวเป็นที่น่าสนใจอย่างมาก ในสายตาของนักกฎหมายมหาชนนั้น ผมคัดค้านมาตลอดถึงเรื่องการนำเอาระบบอนุญาโตตุลาการมาใช้ในกรณีสัญญาทางปกครอง ประการแรก เพราะวัตถุประสงค์ของสัญญาทางปกครองนั้นแตกต่างจากวัตถุประสงค์ของสัญญาในระบบกฎหมายเอกชน การตัดสินให้ฝ่ายรัฐแพ้คดีนั้น หมายความว่ารัฐจะต้องนำเงินภาษีอากรของประชาชนทั้งประเทศมาจ่ายให้กับเอกชนเพียงกลุ่มเดียว ดังนั้นการคำนวณค่าทดแทนที่รัฐต้องเป็นฝ่ายจ่ายหรือรัฐต้องเป็นฝ่ายเสียประโยชน์จึงต้องทำโดยความรอบคอบ โดยต้องมองทั้งประโยชน์มหาชนและประโยชน์เอกชนประกอบกัน ซึ่งที่ถูกต้องนั้นเอกชนน่าจะได้ไปเฉพาะค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ๆ เท่านั้น ไม่ควรเป็นค่าเสียหายสำหรับอนาคตหรือค่าขาดประโยชน์ต่าง ๆ ยังดีที่กรณี ITV นี้ ฝ่ายเอกชนเรียกร้องมา 1,730 ล้าน แต่คณะอนุญาโตตุลาการให้จ่ายเพียง 20 ล้านบาทเท่านั้นครับ แต่ที่ไม่ดีก็คือ คณะอนุญาโตตุลาการกำหนดให้ลดค่าสัมปทานลง ทำให้รัฐต้องสูญเสียผลประโยชน์จำนวนมากครับ ประการที่สอง เพราะผมคิดว่าระบบศาลของเราเป็นระบบที่มีรัฐธรรมนูญและกฎหมายรองรับทั้งสถานะและอำนาจหน้าที่ ควรที่จะให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนจะเหมาะสมกว่าการให้อนุญาโตตุลาการซึ่งเป็น “เอกชน” ธรรมดาคนหนึ่งมาเป็นผู้ชี้ขาด สภาพบังคับตามคำพิพากษาดูดีกว่าสภาพบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการครับ ผมมองไม่เห็นเลยว่า อนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นคนที่จะเข้ามาชี้ขาดผลประโยชน์ของชาติจะมีความรู้ด้านกฎหมายมหาชน รู้เรื่องประโยชน์ของรัฐได้ดีกว่าศาลปกครองได้อย่างไรครับ ส่วนประการที่สามนั้น การนำระบบอนุญาโตตุลาการมาใช้ในระบบสัญญาทางปกครองทำให้สถานะของฝ่ายปกครองเท่ากับฝ่ายเอกชน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในทางทฤษฎี เพราะฝ่ายปกครองนั้นมีภารกิจที่จัดทำบริการสาธารณะสำหรับประชาชนทั่วประเทศ จึงต้องมี “อำนาจรัฐ” และอยู่ในสถานะที่เหนือกว่าเอกชนครับ ไม่อย่างนั้น ฝ่ายปกครองก็คงทำอะไรไม่ได้เลย ต้องเจรจากับเอกชนอย่างเดียวเท่านั้น!!! ก็คงต้องขอแรงเพื่อน ๆ นักกฎหมายมหาชนทั้งหลายช่วยพิจารณาดูด้วยว่า สมควรหรือไม่ที่จะให้คณะอนุญาโตตุลาการเข้ามาชี้ขาดคดีสัญญาทางปกครองต่อไปครับ ท้ายที่สุดสำหรับปัญหาค่าโง่ ITV ก็คงต้องพุ่งตรงไปที่ท่านผู้นำอีกแหล่ะครับ ท่านครับ กรณีนี้น่าจะเป็นเรื่องการขัดกันของผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวมนะครับ คงต้องหาทางทำอะไรซักอย่าง เช่น “ทุบโต๊ะ” คล้าย ๆ กับกรณีค่าโง่ทางด่วนที่ประกาศว่ารัฐจะไม่ยอมจ่ายเด็ดขาดและสั่งการให้ฝ่ายรัฐสู้คดีจนถึงที่สุด เพื่อปกป้องประโยชน์ส่วนรวมไงครับ ท่านผู้นำ!!!
       ในสัปดาห์นี้ เราได้บทความดี ๆ มา 1 ชิ้นจาก ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ครับ บทความนี้น่าสนใจมากและถือได้ว่าเป็นบทความที่ “เปิดประเด็น” ปัญหาเรื่องการเลือกปฏิบัติในการเข้าทำงานในส่วนราชการที่บางหน่วยงานมักจะเลือกรับ “หัวกระทิ” ไว้ก่อน บทความนี้มีชื่อว่า “ความเสมอภาคในการสมัครสอบเพื่อเข้ารับราชการ” นอกจากบทความนี้แล้ว เราก็มีการตอบคำถามจำนวนหนึ่งในเวทีทรรศนะ มีการแนะนำหนังสือใหม่ 2 เล่มใน “หนังสือตำรา” ด้วยครับ
       ขอแจ้งข่าวเกี่ยวกับหนังสือของผม 2 เล่มครับคือ สัญญาทางปกครองและหลักพื้นฐานกฎหมายปกครองฝรั่งเศส คงจำกันได้ว่าหนังสือทั้ง 2 เล่มพัฒนามาจากบทความขนาดยาวหลายสิบตอนจบที่ผมเขียนลงใน www.pub-law.net มาปีกว่าแล้ว และเมื่อนำไปพิมพ์เป็นหนังสือ ผมก็ได้ปรับแก้ไปในหลายส่วนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทำให้ต้นฉบับใน website กับหนังสือมีสาระที่แตกต่างกันไปบ้าง ในวันนี้ ผมได้รับแผ่น disc ของหนังสือทั้ง 2 เล่มจากสำนักพิมพ์วิญญูชน ผมจึงนำเอาต้นฉบับที่เป็นบทความออก แล้วใส่ต้นฉบับที่เป็นหนังสือไปแทนครับ โดยเราได้เปิด “หมวด” ใหม่ของ pub-law.net คือ eBook ลองคลิกเข้าไปเยี่ยมชมนะครับ ขอโฆษณาไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า หนังสือ 2 เล่มที่อยู่ใน eBook เป็นหนังสืออิเลคทรอนิคส์ด้านกฎหมายมหาชนที่สมบูรณ์แบบ 2 เล่มแรกของประเทศไทยที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจศึกษาทำการศึกษาได้อย่างไม่มีข้อจำกัดครับ ก็ต้องขอขอบคุณในความ “ใจกว้าง” ของสำนักพิมพ์วิญญูชนไว้นะที่นี้ด้วยนะครับ
       พบกันใหม่วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ 2547 ครับ
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544