หน้าแรก บทความสาระ
ความผิดที่ถึงขั้นจะต้องถูกยุบพรรคการเมือง โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง
คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ
28 พฤษภาคม 2549 21:16 น.
 
ในยุคสมัยที่การเมืองอยู่ในสภาวะมืดมิดไม่มีทีท่าว่าจะพบแสงสว่างเมื่อใด ต่างฝ่ายต่างก็โทษกันไปมา ไทยรักไทยก็กล่าวโทษประชาธิปัตย์ ประชาธิปัตย์ก็กล่าวโทษไทยรักไทย พันธมิตรก็กล่าวโทษ กกต. กกต.ก็กล่าวโทษพรรคฝ่ายค้านที่ไม่ลงเลือกตั้ง ฯลฯ จนหลายคนเลิกอ่านหรือฟังข่าวสารบ้านเมือง เพราะมีแต่ข่าวคราวของการทะเลาะกัน
       ว่ากันตามทฤษฏีแล้ว พรรคการเมืองไทยเราควรที่จะเป็นองค์กรกลางที่เชื่อมโยงระหว่างเจตนารมณ์ของประชาชนเข้าด้วยกันโดย
       1. ประกาศหรือแถลงนโยบายหลักของพรรคการเมือง เพื่อที่ประชาชนจะได้นำไปศึกษาพิจารณา แล้วตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง
       2. ปลุกเร้าและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งเพราะพรรคการเมืองมีบทบาทสำคัญในการสร้างหรือปลุกเร้าความคิดความเห็นทางการเมืองของประชาชน
       3. ส่งผู้แทนเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง
       4. จัดตั้งรัฐบาล หากได้รับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และปฏิบัติภารกิจตามนโยบายที่ได้วางไว้
       5. ควบคุมรัฐบาล หากไม่สามารถได้เสียงข้างมากในสภาอาจจะต้องทำหน้าที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน คอยควบคุมการทำงานของรัฐบาล โดยการตั้งกระทู้ถาม หรือเสนอญัติติ
       ไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ นอกจากนี้ยังสามารถวิพากษ์วิจารณ์
       การทำงานของรัฐบาลผ่านทางสื่อมวลชน การประชุมสัมมนา และช่องทางอื่น ๆ เพื่อควบคุมมิให้รัฐบาลใช้อำนาจตามอำเภอใจ
       6. ประสานระหว่างกลุ่มผลประโยชน์กับรัฐบาล โดยการพยายามเสนอข้อเสนอของกลุ่มผลประโยชน์ของตัวเอง และไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ให้ได้เพื่อผลประโยชน์ของชาติ และในขณะเดียวกันต้องไม่ขัดกับผลประโยชน์ของกลุ่มตัวเองให้ได้มากที่สุด
       แต่ในสภาวการณ์ทางการเมืองไทยในปัจจุบัน จากข้อมูลที่ปรากฏตามสื่อสารมวลชนต่าง ๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมที่สองพรรคการเมืองใหญ่นั้นไม่เป็นไปตามหลักวิชาการที่ยกมาข้างต้น
       แต่อย่างใด ปรากฏแต่การนำข้อมูลมาแฉและโจมตีกันเหมือนตกอยู่ในสภาวะสงครามที่ต่างฝ่าย
       ต่างพยายามห้ำหั่นเอาเป็นเอาตายถึงขนาดวางเดิมพันด้วยการยุบพรรคเลยทีเดียว
       ข้อหาที่ทั้งสองพรรคยกมาโจมตีกันก็คือพรรคใหญ่จ้างพรรคเล็กลงสมัครและ
       พรรคเก่าแก่จ้างพรรคเล็กล้มพรรคใหญ่นั้น ทำให้ผมนึกถึงสภาพการณ์เจ้าพ่อหรือมาเฟียครองเมืองที่มีการเล่นกลอุบายเชือดเฉือน เชือดคม ชิงไหวชิงพริบกันทุกชั่วโมงอย่างห้ามกระพริบตา ซึ่งหากปรากฏว่าเป็นความจริงตามข้อกล่าวหาแล้ว พรรคการเมืองเหล่านี้ก็ไม่ผิดอะไรกับการเป็นอั้งยี่หรือซ่องโจรที่สมควรถูกขจัดออกไปจากระบบการเมืองไทยเสียให้สิ้น
       จริงอยู่การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์พรรคการเมืองเป็นตัวแทนของความต้องการของประชาชน จำเป็นที่จะต้องชิงไหวชิงพริบ ชิงความได้เปรียบในการเข้าสู่อำนาจเพื่อที่จะสามารถนำนโยบายที่รับปากไว้กับประชาชนที่เลือกตนเข้ามาไปปฏิบัติ แต่ไม่ได้หมายความว่าพรรคการเมืองจะได้รับอภิสิทธิ์หรือข้อยกเว้นให้อยู่เหนือกฎหมายหรือจริยธรรมศีลธรรมอันดีงามโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์หรือล้มล้างการปกครองในระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
       ผมดูข่าวการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ของตัวแทนของทั้งพรรคใหญ่และพรรคเล็กในการกล่าวหากันนี้ด้วยความรู้สึกสะอิดสะเอียน และคลื่นไส้จนแทบอยากอาเจียนออกมา หากไม่นึกถึงความรู้และจิตสำนึกของตนเองที่คอยกระตุ้นเตือนตลอดเวลาว่า “อยากได้ประชาธิปไตย ต้องอดทน” หรือ “บ้านเมืองดีไม่มีขาย อยากได้ต้องสร้างเอง” แล้วไซร้ คงได้มีการคายของเก่าทิ้งออกมาบ้างไม่มากก็น้อย
       ผมไม่เสียดายวิวัฒนาการของสองพรรคการเมืองใหญ่ที่สั่งสมมาเลย หากทั้งสองพรรค
       ที่กำลังรบกันเพื่อชิงความเป็นใหญ่ในบ้านเมืองนั้น มีหลักฐานว่าผิดจริงถึงขั้นยุบพรรคกันแล้ว ก็สมควรที่จะยุบทิ้งทั้งสองพรรคนั้นแหล่ะ แล้วเรามาเริ่มกันใหม่โดยถือเสียว่าเริ่มจากศูนย์ดีกว่าเริ่มจากติดลบจนแทบล้มละลายในปัจจุบัน
       จึงอยากจะกระตุ้นให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเร่งที่จะทำความจริงให้ปรากฏด้วยความกล้าหาญ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของประธาน กกต. (ไม่ว่าจะเป็นชุดใดก็ตาม) ตาม มาตรา 66 และ 67แห่ง พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองที่มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองในฐานกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
       หรือกรณีที่กำลังเป็นข่าวฮิตก็คือบทบาทของอัยการสูงสุด ตาม มาตรา 63 แห่งรัฐธรรมนูญฯ ที่บัญญัติให้ผู้รู้เห็นการกระทำที่เป็นการจ้างพรรคเล็กลงสมัครหรือการจ้างพรรคเล็กล้มพรรคใหญ่ ซึ่งเป็นการกระทำที่น่าจะเข้าข่ายการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยผู้รู้เห็นมีสิทธิเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดเพื่อเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการจนอาจถึงให้ยุบพรรคเลยก็ได้
       ไหน ๆ ก็ล้มกระดานหรือล้างไพ่กันแล้วก็ควรที่จะทำให้เสร็จสิ้นเสียในคราวเดียวกันเสียจะได้เป็นคุณูปการต่อประเทศชาติบ้านเมือง เพราะไม่เช่นนั้นแล้วไม่ว่าใครจะมาเป็น กกต. จัดการเลือกตั้งอีกก็ตาม ก็จะได้แต่พรรคการเมืองหน้าเก่า ๆ ที่มีข้อหาที่กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นชนักติดหลังอยู่เช่นนี้ แล้วบ้านเมืองเราอาจจะต้องถึงคราวอัปปางจนถึงกับจะต้องกู้ชาติกันจริง ๆ เสียแล้ว
       เรามาช่วยกันกู้ชาติเสียก่อนที่ชาติจะล่มไม่ดีกว่าหรือ


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544