หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 138
9 กรกฎาคม 2549 23:03 น.
ครั้งที่ 138
       
       สำหรับวันจันทร์ที่ 10 กรกฎาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม 2549
       
       “ความไม่ศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ”
       
       ช่วงนี้ไปไหนมาไหนก็มักจะมีคนถามผมอยู่ตลอดว่า เหตุการณ์ทางการเมืองจะพัฒนาไปในทางใด ซึ่งผมก็ไม่เคยได้ตอบใครสักครั้งเพราะไม่ทราบว่าจะตอบอย่างไร ไม่ว่าจะวิเคราะห์ด้วยหลักหรือทฤษฎีใดก็ไม่สามารถหาคำตอบได้ทั้งนั้นเพราะเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีความเปลี่ยนแปลงทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นหลักในวันนี้ที่คนส่วนหนึ่งรอคอยคงไม่ใช่การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งลาออกหรือมีรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งลาออก แต่จะเป็นเรื่องของ “การยุบพรรคการเมือง” 5 พรรค ซึ่งใน 5 พรรคนั้นก็มีพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคคือ พรรคไทยรักไทยและพรรคประชาธิปัตย์รวมอยู่ด้วยครับ
       ก่อนที่เราจะไปพูดกันถึงเรื่องการยุบพรรค เหตุการณ์บ้านเมืองในวันนี้ไปอยู่ในจุดที่ผมเข้าใจว่าคงไม่มีใคร “หาทางออก” ได้เพราะมันพันกันไปหมดในทุก ๆ ประเด็น เริ่มตั้งแต่การไม่มีผลบังคับใช้ของรัฐธรรมนูญในบางมาตรา เช่น ภายหลังการยุบสภาจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วันตามมาตรา 116 หรือการที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงในระหว่างรักษาการที่ไม่ได้ดำเนินการตามมาตรา 215 วรรคสองแห่งรัฐธรรมนูญ เป็นต้น นอกจากการไม่มีผลบังคับใช้ของรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีปัญหาต่าง ๆ อีกหลายประการที่ทำให้การดำเนินการต่าง ๆ ของ “ประเทศ” ติดขัด เช่น แนวคิดเรื่องรัฐบาลรักษาการที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถทำอะไรได้มากมายนัก การที่นักธุรกิจส่วนใหญ่ชะลอการลงทุนไว้ก่อนเพื่อดูทิศทางการเมืองของไทยว่าจะมีบทสรุปอย่างไรนั้นทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด การที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎรทั้ง ๆ ที่เวลาผ่านมาหลายเดือนแล้วทำให้เราไม่สามารถมีหรือแก้ไขกฎหมายบางฉบับที่ต้องการได้ การที่วุฒิสภาชุดใหม่ยังไม่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้งจนครบทำให้ยังไม่สามารถทำงานได้ การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งยังมีไม่ครบ 5 คนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด รวมไปถึงการที่เราไม่มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อมูล “หลุด” ออกมาว่าเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติมากน้อยเพียงใด เป็นต้น สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ล้วนแล้วแต่ทำให้สถานการณ์ของประเทศมีความไม่แน่นอนซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
       อะไรจะเกิดขึ้นถ้ามีการยุบพรรคการเมืองสองพรรคใหญ่ คือ พรรคประชาธิปัตย์และพรรคไทยรักไทย คำถามนี้ก็เป็นอีกคำถามหนึ่งซึ่งไม่ว่าจะคิดอย่างไรก็หนีไม่พ้นคำว่า “ความวุ่นวาย” ซึ่งตอนนี้เราคงต้องรอดูกันต่อไปว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะว่าอย่างไรกับการยุบพรรค ซึ่งในประเด็นเรื่องการยุบพรรคนี้ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์หลายฉบับต่างก็พากันลงข่าวการให้สัมภาษณ์ของ คุณผัน จันทรปาน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ได้กล่าวถ้อยคำที่น่าสนใจไว้ถ้อยคำหนึ่งว่า “เราจะสร้างประวัติศาสตร์” ซึ่งหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับวันดังกล่าวก็ได้พาดหัวข่าวว่า “เราจะสร้างประวัติศาสตร์” “ศาล รธน.” ลั่นตัดสินยุบพรรค “เป็นธรรม”
       ผมอ่านบทสัมภาษณ์ดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้อยคำที่ว่า “เราจะสร้างประวัติศาสตร์” ด้วยความวิตกกังวลปนห่วงใย
       เหตุผลที่ผมวิตกนั้นมีอยู่มากมาย คงไม่ใช่เฉพาะคำว่าการสร้างประวัติศาสตร์ที่มีอยู่หลายความหมายด้วยกัน เราคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าในขณะที่พระเจ้าอเลกซานเดอร์มหาราชสร้าง “ประวัติศาสตร์” ฮิตเล่อร์เองก็ได้สร้างประวัติศาสตร์สำคัญให้กับโลกเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่ผมวิตกนั้นน่าจะอยู่ที่ถ้อยคำดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกับการ “ตั้งธง” เอาไว้ล่วงหน้าถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นเพราะในครั้งแรกที่ได้ยินผมก็คิดเลยไปไกลถึงขนาดว่า ศาลรัฐธรรมนูญคงจะตัดสินยุบพรรคการเมืองที่มีปัญหาอย่างแน่นอน ไม่อย่างนั้นคงไม่ “กล้า” พูดว่าเราจะสร้างประวัติศาสตร์หรอกครับ
       หากจะพูดกันอย่างตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม ในช่วงเวลาหลาย ๆ ปีที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญก็ได้สร้างประวัติศาสตร์สำคัญให้กับวงการกฎหมายมหาชนบ้านเราอย่างมาก คดีคุณเนวิน ชิดชอบ ได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับคำว่า “ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก” อย่างที่เรียกได้ว่า ช็อคกันไปทั้งวงการ การตัดสินว่านายกรัฐมนตรีไม่มีความผิดฐานซุกหุ้นก็ได้สร้างประวัติศาสตร์สำคัญให้กับประเทศไทยที่ทำให้นายกรัฐมนตรีที่ไม่มีความผิดนี้สามารถดำรงตำแหน่งและมีอำนาจเรื่อยมาจนกระทั่งเกิดเหตุบานปลายกระทบต่อชื่อเสียง เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของประเทศอย่างหนักในวันนี้ การตัดสินไม่รับพิจารณากรณีซุกหุ้น (ภาค 2) ของนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมาก็ได้สร้างประวัติศาสตร์สำคัญให้กับการเมืองการปกครองไทยอีกหนที่ความขัดแย้งขยายตัวมากขึ้นเพราะสังคมมองหาทางออกไม่เจอ จนในที่สุดนายกรัฐมนตรีก็ตัดสินใจยุบสภา ทำให้เกิดปัญหาวุ่นวายค้างคามาจนถึงวันนี้ ซึ่งสำหรับผมแม้คดีที่อ้างมานั้นจะเป็นการ “สร้างประวัติศาสตร์” ให้กับวงการกฎหมายของเรา แต่ก็ยังมีอีกคดีหนึ่งที่มีความสำคัญเพราะเป็นคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ “สร้างประวัติศาสตร์” และส่งผลกระทบโดยตรงต่อรัฐธรรมนูญไปในคดีเดียวกันครับ! นั่นก็คือ คดีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไปเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2547 ว่า “กระบวนการให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง” ซึ่งจากผลของคำวินิจฉัย “ที่ไม่ชัดเจน” ดังกล่าวก็ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย เป็นความขัดแย้งในสังคม นักวิชาการมีความเห็นหลากหลาย มีการแบ่งกันออกเป็นฝ่ายเพราะการที่ศาลรัฐธรรมนูญมิได้ชี้ชัดลงไปด้วยถ้อยคำว่า คุณหญิงจารุวรรณฯ ต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องมาจากกระบวนการสรรหาไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและระเบียบ กรณีดังกล่าวจึงกลายเป็นหัวข้อสำคัญที่ทำให้นักวิชาการและผู้คนทั่วไปถกเถียงกันว่า คุณหญิงจารุวรรณฯ ยังคงเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินอยู่หรือไม่ ซึ่งในส่วนตัวผมเองนั้น ผมได้ชี้ประเด็นลงไปอย่างชัดเจนในบทบรรณาธิการครั้งที่ 118 เมื่อวันที่ 30 กันยายน ของปีที่ผ่านมาว่า จากถ้อยคำที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยและจากเหตุผลที่ปรากฏในคำวินิจฉัย ย่อมเป็นที่ชัดเจนและแน่นอนว่า คุณหญิงจารุวรรณฯ ขาดคุณสมบัติที่จะเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมาตั้งแต่ต้นแล้วครับ แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวก็มีข้อยุติเพราะเมื่อวันอังคารที่ 31 มกราคม 2549 คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินก็ได้มีมติให้คุณหญิงจารุวรรณฯ กลับมารับตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน    แต่ก็ปรากฎว่าทุกคนทุกองค์กรที่เคยออกมาให้ความเห็นต่างก็ “เงียบ” กันไปหมด และคุณหญิงเองก็ยังคงดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมาจนกระทั่งทุกวันนี้ แม้ในเวลาต่อมาคือในวันที่ 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ศาลอาญาจะได้มีคำพิพากษาให้จำคุก นายปัญญา ตันติยวรงศ์ อดีตประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยคดีดังกล่าวมีที่มาจากการที่นายปัญญาฯ ได้ทำการเสนอชื่อบุคคล 3 คน (ซึ่งมีคุณหญิงจารุวรรณฯ รวมอยู่ด้วย) ไปยังวุฒิสภาเพื่อรับการคัดเลือกเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ทั้ง ๆ ที่ตามกฎหมายแล้วจะต้องเสนอชื่อบุคคลที่ได้รับคะแนนสูงสุดเพียงคนเดียว (ซึ่งไม่ใช่คุณหญิงจารุวรรณฯ) ข้อผิดพลาดดังกล่าวทำให้วุฒิสภาเลือกคุณหญิงจารุวรรณฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งทำให้ผู้ฟ้องคดีเสียหาย ศาลจึงตัดสินให้จำคุกอดีตประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินผู้เสนอชื่อในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายครับ
       เมื่อครั้งที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีมติให้คุณหญิงจารุวรรณฯ กลับมารับตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้น ผมมีโอกาสได้พบกับ “ผู้ใหญ่” ในศาลรัฐธรรมนูญหลายคน ซึ่งผมก็ได้กราบเรียนท่านเหล่านั้นไปว่า ศาลรัฐธรรมนูญควรจะทำอะไรสักอย่างในเรื่องดังกล่าว อย่างน้อยก็ควรจะชี้แจงให้สังคมทราบเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมีผลเป็นการ “ทำลาย” ความศักดิ์สิทธิ์ของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ที่ว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ” ให้สิ้นผลลง ซึ่งในตอนนั้นผมก็ได้เสนอว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยธุรการคือ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญซึ่ง “ควรจะ” ต้องทำหน้าที่เป็น “หน่วยธุรการทางด้านวิชาการ” ด้วย โดยให้ออกมาเขียน ออกมาพูด หรือออกมาให้ความเห็นในกรณีดังกล่าวอย่างกว้างขวางเพื่อให้เกิดข้อถกเถียงในสังคมและเพื่อทำให้มาตรา 268 แห่งรัฐธรรมนูญคงความศักดิ์สิทธิ์ไว้ แต่ข้อเสนอของผมก็ไม่เกิดผลครับ
       ในวันนี้ผ่านไปเดือนกว่าแล้ว แม้ศาลอาญาจะมีคำพิพากษาออกมา “สอดคล้อง” กับสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วเมื่อเกือบสองปีที่ผ่านมาก็ตาม แต่คุณหญิงจารุวรรณฯ ก็ยังคงเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินอยู่ครับ ศาลรัฐธรรมนูญรวมทั้งหน่วยธุรการก็ยังคงเงียบอยู่และก็ไม่มีการพูดถึงเรื่องดังกล่าวเลย แล้วอย่างนี้จะไม่ให้ผมคิดไปได้อย่างไรว่าศาลรัฐธรรมนูญเองก็เป็นผู้ “มีส่วน” ในการทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญลดลงครับ! โดยเฉพาะอย่างยิ่งความศักดิ์สิทธิ์ของคำวินิจฉัยของศาล ในวันข้างหน้า ผมคงลำบากใจมากหากจะต้องอธิบายให้ลูกศิษย์ฟังถึงหลักความเป็นที่สุดแห่งคำพิพากษา (res judicata) ว่าเป็นหลักที่มีความสำคัญมากที่สุดเพราะเมื่อศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดอันเป็นที่ยุติแล้ว คู่ความหรือประชาชนจะต้องยอมรับนับถือและมีความเคารพในเหตุผลและผลของคำตัดสินนั้น รวมไปถึงการต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดด้วยครับ!
       จริง ๆ แล้วผมยังมีประเด็นที่อยากจะเขียนต่ออีกมากถึงความไม่ชัดเจนในหลาย ๆ เรื่องของ “หน่วยธุรการ” ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญบางองค์กรที่ผมสัมผัสมา ที่แม้จะเป็นหน่วยธุรการ “รุ่นใหม่” แต่ก็ประพฤติปฏิบัติคล้ายกับหน่วยธุรการในยุคเก่าที่มุ่งเน้นการ “ให้บริการและดูแลอย่างดีเยี่ยม” ให้กับบุคคลที่ดำรงตำแหน่งระดับสูงในองค์กรของตนมากกว่าจะ “สร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ” เพื่อสนับสนุนงานให้กับองค์กรและให้กับบุคคลที่ดำรงตำแหน่งระดับสูงขององค์กร แต่คราวนี้คงต้องขอติดไว้ก่อน โอกาสยังมีอีกมากครับ !
       ก็คงต้องจบบทบรรณาธิการครั้งนี้ด้วยความหวังว่าประวัติศาสตร์ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะสร้าง คงไม่เหมือนบางสิ่งบางอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และก็หวังไปอีกด้วยว่าคงจะเป็นประวัติศาสตร์ที่ดีอีกหน้าหนึ่งของระบบกฎหมาย ระบบการเมืองการปกครองของไทย และไม่สร้างความขัดแย้งให้กับสังคมครับ
       ในสัปดาห์นี้ ผมได้รับบทความจำนวนหนึ่งจาก “พี่สาว” คนหนึ่งคือ คุณนวพร เรืองสกุล ที่ผมเคยร่วมงานด้วยอย่างใกล้ชิดสมัยที่เธอดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการคนแรกของประเทศไทย ผมขอนำบทความสองบทความคือ “คิดใหม่เรื่องไอทีวี” และ “ราคาคุย” มาลงเผยแพร่ในครั้งนี้ และนอกจากนี้เราก็มีบทความอีกบทความหนึ่งจาก คุณชำนาญ จันทร์เรือง เรื่อง “การแก้ไขปัญหาภาคใต้ตามแนวทางของปรีดี พนมยงค์” มาเผยแพร่ด้วยครับ ผมต้องขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองไว้ด้วยครับ
       ในช่วงระหว่างวันที่ 8 ถึง 17 กรกฎาคมนี้ ผมร่วมเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสกับอัยการสูงสุดและคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ซึ่งไปปฏิบัติราชการที่นั่น หากมีอะไรน่าสนใจก็จะนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไปครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม 2549
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544