หน้าแรก บทความสาระ
ทฤษฎีเกมแห่งอำนาจ (Game of Power Theory) โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง
คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ
6 สิงหาคม 2549 21:12 น.
 
ฮาโรลด์ ลาสเวลล์ (Harold Lasswell)กล่าวไว้ว่า “การเมือง เป็นเรื่องของการได้มาซึ่งอำนาจ เพื่อที่จะตัดสินว่าใครจะได้อะไร เมื่อใด และอย่างไร”
       อำนาจ (power) ในที่นี้หมายถึง พลังอะไรบางอย่างที่จะสามารถบังคับให้คนหรือกลุ่มบุคคลที่มีพลังน้อยกว่ากระทำตามที่ตนต้องการ ฉะนั้น อำนาจจึงเป็นสิ่งที่หอมหวนและน่าพิสมัยเป็นยิ่งนัก บางรายถึงกับเสพย์ติดจนไม่ลืมหูลืมตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองหรือข้าราชการระดับสูงทั้งหลาย
       เกม (games) หมายถึง สถานการณ์ที่มีการแข่งขันหรือการขัดแย้งระหว่างฝ่ายตั้งแต่ ๒ ฝ่ายขึ้นไป ที่ใช้กันมากได้แก่ เกมในการกีฬา ส่วนในการเมืองก็เช่นเดียวกันมีสถานการณ์แห่งการขัดแย้งและการแข่งขันคล้าย ๆ กับเกมในการกีฬา ผู้ที่เข้าเล่นแต่ละฝ่ายต่างก็ต้องศึกษาถึงกฎเกณฑ์กติกาของการเล่น โดยพยายามคาดคะเนล่วงหน้าถึงวิธีการเล่นของฝ่ายอื่น ๆ หากมีการละเมิดกติกาก็จะต้องมีผู้เข้ามาตัดสิน
       จริง ๆ แล้ว ทฤษฎีเกมนี้เริ่มนำมาเผยแพร่ในปี ค.ศ. ๑๙๒๘ โดยนักคณิตศาสตร์
       ชื่อ จอห์น ฟอน นิวแมน (John Von Newmann) ที่นำมาอธิบายเรื่องการแข่งขันกันทางเศรษฐกิจจนทำให้เขาได้รับสมญานามว่าเป็นบิดาของทฤษฎีเกม โดยทฤษฎีเกมนี้จะเป็นการศึกษากระบวนการตัดสินใจภายใต้สถานการณ์ที่ขัดแย้งกัน (conflict situations)
       ทฤษฎีคณิตศาสตร์ของนิวแมนนี้เรียกว่า “minimax” มีหลักว่า ผู้แข่งขันควรวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวก้าวต่อไปของตนในทุก ๆ ความเป็นไปได้ เพื่อคำนวณว่า ความเคลื่อนไหวใดที่อาจเปิดโอกาสให้คู่แข่งขันสามารถสร้างความสูญเสียให้แก่เราได้มากที่สุด ด้วยความคิดแบบนี้ กลยุทธ์ที่ดีที่สุดก็คือเราจะต้องเลือกการเคลื่อนไหวที่ “จะก่อความสูญเสียสูงสุดน้อยที่สุด” (minimum maximum possible loss) เพราะหากเราจะต้องแพ้ก็จะได้ไม่เจ็บปวดมากนัก
       เมื่อทฤษฎีเกมของนิวแมนรวมเข้ากับความคิดของออสการ์ มอร์เกนสะเติร์น (Oskar Morgenstern) จึงเกิด “Theory of Games and Economic Behavior ขึ้น โดยถูกนำไปใช้ในศาสตร์ต่าง ๆ อย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเมือง การทหาร ฯลฯ ในด้านการเมืองนั้นก็มีการนำไปใช้ในการศึกษาพฤติกรรมทางการเมือง การแย่งชิงอำนาจทางการเมือง การแย่งชิงตำแหน่งในหน่วยงาน ฯลฯ
       เราสามารถแบ่งเกมออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ ๒ ประเภท คือ
       ๑) เกมที่มีผลรวมเป็นศูนย์ (zero-sum games) เป็นเกมที่ผลรวมผลได้ของผู้ชนะมีค่าเท่ากับผลรวมความเสียหายที่ผู้แพ้ได้รับ และที่หนักที่สุดคือผู้ชนะได้หมดที่เราเรียกว่า “The winner take all” ซึ่งผู้เสียจะสูญเสียไปทั้งหมด เกมชนิดนี้จึงเป็นเกมที่ต้องต่อสู้กันอย่างถึงพริกถึงขิง แพ้ไม่ได้เพราะถ้าแพ้ก็อาจหมดตัวไปเลย
       ๒) เกมที่มีผลรวมไม่เป็นศูนย์ (nonzero-sum games) เป็นเกมที่มีกลยุทธ์ที่ผลได้ของผู้ชนะมีค่าไม่เท่ากับความเสียหายที่ผู้แพ้ได้รับ ในเกมชนิดนี้ผู้แข่งขันทุกคนอาจเป็นผู้ชนะ (win-win) หรือในทำนองกลับกันก็อาจจะเป็นผู้แพ้ (loss-loss) ทั้งหมดก็ได้
       จากที่กล่าวมาข้างต้นเมื่อนำมาวิเคราะห์กับสถานการณ์บ้านเมืองของไทยเรา
       ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเป็นการเล่นเกมแห่งอำนาจอย่างชัดเจน โดยมีผู้เล่นอยู่หลาย ๆ ฝ่าย ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น ๓ ฝ่าย ใหญ่ ๆ คือ
       ๑) ฝ่ายเชียร์ทักษิณและต้องการให้ทักษิณเป็นนายกฯ
       ๒) ฝ่ายไม่เอาทักษิณ และต้องการคนกลางเป็นนายกฯ
       ๓) ฝ่ายไม่เอาทักษิณ แต่ไม่ต้องการคนกลางเป็นนายกฯ
       ฝ่ายแรกคือฝ่ายที่เชียร์คุณทักษิณซึ่งก็แน่นอนว่าคือฝ่ายที่ชื่นชอบในฝีไม้ลายมือของคุณทักษิณและในที่นี้หมายความรวมถึงผู้ที่ชื่นชอบพรรคไทยรักไทยด้วย โดยอนุมานเอาว่า ๑๖ ล้านเสียงที่ลงคะแนนให้การเลือกตั้งคราวที่ผ่านมา อยู่ฝ่ายแรกนี้
       ฝ่ายที่สองก็หมายถึงฝ่ายพันธมิตรฯ รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ (ในคราวที่เรียกร้อง มาตรา ๗) โดยมองว่าคุณทักษิณคือเป้าหมายอันดับแรกสุดที่จะต้องถูกกำจัดให้ออกจากเวทีการเมืองไทย เพราะเห็นว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อชาติ จึงเลือกเอาวิถีทางที่คิดว่าอาจไม่เป็นประชาธิปไตยนักแต่เมื่อเทียบความเสียหายแล้ว ถ้าให้คุณทักษิณอยู่ต่อไปจะเสียหายมากกว่า จึงมีการเรียกร้องให้คุณทักษิณลาออกหรือเว้นวรรคอยู่อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
       ฝ่ายที่สามนั้นส่วนใหญ่แล้วจะเป็นฝ่ายนักวิชาการหัวก้าวหน้าที่เห็นว่า ทั้งฝ่ายแรกและฝ่ายที่สองล้วนแล้วแต่เป็นภัยต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระยะยาว แต่ฝ่ายที่สามนี้ก็ถูกตอบโต้ว่าเป็น”กระฎุมพีบนหอคอย”เช่นกัน ซึ่งฝ่ายที่สองกับฝ่ายที่สามนั้นตอนแรก ๆ ดูเหมือนว่าจะพอไปกันได้ แต่ในที่สุดก็มีการแตกขั้วกันออกมาอย่างชัดเจน
       แต่เมื่อเรานำทฤษฎีเกมเข้ามาวิเคราะห์แล้วจะเห็นได้ว่า “เป็นเกมแห่งการแย่งชิงและรักษาอำนาจ” ดี ๆ นี่เอง แต่ว่าเกมแห่งอำนาจของการเมืองไทยนี้มีปัจจัยที่จะต้องนำมาศึกษาและวิเคราะห์เพื่อประกอบในกลยุทธ์ที่จะใช้ต่อสู้เพื่อแย่งชิงและรักษาอำนาจที่ว่านั้นมีปัจจัยแตกต่างและมากกว่าบ้านเมืองอื่นพอสมควร
       ที่ว่าแตกต่างจากบ้านเมืองอื่นก็คือโดยปกติแล้วการตัดสินเกมแห่งอำนาจเพื่อ
       ชัยชนะทางการเมืองในบรรดาประเทศประชาธิปไตยทั่ว ๆ ไปแล้ว ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ชี้ขาดก็คือ ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ผู้ที่ทำหน้าที่คอยตรวจสอบและรักษากติกาก็คือองค์กรที่จัดการเลือกตั้งและองค์กรตุลาการที่พิจารณาพิพากษาคดีในกรณีที่มีปัญหาในด้านความชอบด้วยกฎหมายเกิดขึ้น
       แต่ของไทยเรานอกเหนือจากปัจจัยที่ว่ามานี้แล้วยังมีปัจจัยอื่นที่จะต้องนำมาพิจารณาอีก อาทิ กลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลังพรรคการเมือง กลุ่มอำมาตยาธิปไตย กลุ่มพลังอำนาจทั้งในระบบและนอกระบบ ตลอดจนผู้คนที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือในสังคม ฯลฯ
       ฉะนั้น ทฤษฎีเกมแห่งอำนาจที่จะใช้อธิบายการต่อสู้แย่งชิงอำนาจในวิกฤติการณ์ของการเมืองไทยในคราวนี้ จึงอธิบายได้ว่า มิใช่เป็นเพียงการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างกลุ่มของพรรคการเมืองเท่านั้น ผลของการแพ้ชนะในการต่อสู้ทางการเมืองในครั้งนี้จึงมิใช่ zero-sum games หรือ the winner take all แต่จะเป็น nonzero-sum games เพราะจวบจนถึงปัจจุบันนี้ยังมองไม่เห็นว่าใครจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากชัยชนะในการต่อสู้ในครั้งนี้ มีแต่มองเห็นความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทุกฝ่ายจนบางคนต้องติดคุกติดตารางสังเวยเกมแห่งอำนาจนี้
       ที่สำคัญก็คือประเทศชาติซึ่งเปรียบเสมือนเวทีของการเล่นเกมแห่งอำนาจนี้ต้องพลอยได้รับผลแห่งความเสียหายอย่างมิอาจประเมินได้เพราะเหตุแห่งการที่ผู้เล่นเกมหวังมุ่งแต่เพียงชัยชนะโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่ตามมานั่นเอง
       
       ---------------------------------


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544