หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 80
15 ธันวาคม 2547 13:55 น.
"การแปรรูปรัฐวิสาหกิจของฝรั่งเศส"
       ผ่านไปแล้วสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในเทศกาลสงกรานต์ หวังว่าทุกคนคงได้พัก ผ่อนกันอย่างเต็มที่นะครับ ตัวผมเองก็เพิ่งเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยเมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่าน มานี้เองครับ ส่วนบทบรรณาธิการนี้ก็ยังเขียนอยู่ที่เมือง Nantes ประเทศฝรั่งเศสอยู่ครับ
       ช่วงเวลาเกือบสองเดือนที่อยู่ที่ฝรั่งเศสนั้น ผมได้ติดตามข่าวคราวของประเทศไทยผ่านทาง internet ทำให้ได้รับทราบความเคลื่อนไหวในเรื่องต่างๆของบ้านเราอย่างต่อเนื่อง website ที่ผมใช้บริการบ่อยที่สุดและน่าจะเรียกได้ว่าสมบูรณ์ที่สุดก็คือ website ของหนังสือ พิมพ์ผู้จัดการที่มีข่าวให้อ่านใกล้เคียงกับอ่านหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและในบางข่าวอาจจะถือว่า มากกว่าอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับปกติด้วยครับ การติดตามข่าวของประเทศไทยทำให้ผมได้ทราบ ว่าเรามีปัญหาเกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจคือการไฟฟ้าของเรานั่นเองครับ
       ผมมองเห็นปัญหาที่จะเกิดจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในประเทศไทยมานานมากแล้วครับ หนังสือเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในebook ของ www.pub-law.net นี้ และบทความ เรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไทย ที่อยู่ใน บทความสาระ นั้น ผมได้เขียนขึ้นมาเป็นเวลานานพอ สมควรแล้วครับ แต่ในที่นี้ผมจะยังคงไม่ขอวิพากษ์ถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในประเทศไทย เพราะผมยังอยู่นอกประเทศอยู่ข้อมูลต่างๆอาจจะยังมีไม่มากพอ เมื่อกลับไปถึงประเทศไทยแล้ว ค่อยว่ากันใหม่ครับ ผู้ที่สนใจลองอ่านทั้งหนังสือและบทความที่กล่าวไปแล้วข้างต้นดูก่อนแล้วกันครับ แล้วจะทราบว่าแท้จริงนั้น กฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจไม่ได้เป็นกฎหมายที่มีปัญหาในด้าน “รูปแบบ” ซึ่งในประเด็นเรื่องรูปแบบนั้น คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งฝ่ายข้างมากและฝ่ายข้างน้อยได้เคยพิจารณาปัญหาดังกล่าวไปแล้ว แต่กฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ ที่รัฐบาลนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการนำรัฐวิสาหกิจไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นกฎหมายที่มีปัญหาอย่างมากทางด้าน “เนื้อหา” ที่ยังไม่เคยมีองค์กรใดมาบอกว่ากฎหมายนี้มีปัญหาอย่างไร คงมีเพียงนักวิชาการบางคนเท่านั้นที่พยายามออกมาชี้ให้เห็นถึงปัญหาของกฎหมายฉบับนี้ แล้วจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครยอมฟังครับ ที่ผมเขียนไว้ในบทความเรื่อง การแปรรูปรัฐวิสาหกิจไทยเป็นเพียง “ส่วนหนึ่ง” ของปัญหาที่เกิดจากกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจครับ ยังมีอีกมากที่ผมเห็นว่าแม้จะ “แก้ไข” ตามที่หน่วยงานบางหน่วยงานในกระทรวงการคลัง พยายามเสนอ (เพื่อเหตุผลใดมิทราบ) ก็ยังไม่ไหวครับ ที่ถูกก็คือสมควรยกเลิกกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจและจัดทำกฎหมายว่าด้วยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจใหม่ทั้งฉบับให้สมบูรณ์
       เป็นเรื่องน่า “แปลกใจ” พอสมควรที่ในขณะที่เรายังคงมีปัญหาเรื่อง “แปรรูปการไฟฟ้า”ของเราอยู่ ฝรั่งเศสเองก็มีปัญหาเรื่อง “แปรรูปการไฟฟ้าและการก๊าซ” อยู่เช่นเดียวกันครับ ผมมีโอกาสได้ติดตามปัญหาการแปรรูปการไฟฟ้า(EDF) และการก๊าซ(GDF) ของ
       ฝรั่งเศสอยู่บ้าง แต่ไม่ค่อยละเอียดเท่าไหร่ เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนผมจะมาที่นี่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาแล้วก็เงียบไป และเพิ่งจะมาประทุเอาใหม่เมื่อต้นเดือนเมษายนนี้เองครับ เลยทำให้ข้อมูลที่หาได้ไม่ปะติดปะต่อเท่าไหร่นัก ในบทบรรณาธิการคราวที่แล้ว ผมได้เล่าให้ฟังว่ามีการปรับคณะรัฐมนตรีไปเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาโดยประธานาธิบดียัง “รักษา” นายกรัฐมนตรีคนเดิมไว้ ที่เป็นหัวข้อสนทนาในหมู่คนฝรั่งเศสก็คือ การเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ซึ่งผมเข้าใจว่าเป็น “ขวัญใจ” และ “ความหวัง” ของคนฝรั่งเศสที่อยากเห็นรัฐมนตรีมหาดไทยผู้นี้เป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน) ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยหวังว่ารัฐมนตรีขวัญใจผู้นี้คงเข้ามาแก้ปัญหาการคลังของประเทศที่กำลังย่ำแย่อยู่ได้ เพราะประเทศฝรั่งเศสเองกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจอยู่ครับ รัฐบาลจึงต้องพยายามหาเงินมาปรับตัวเลขที่ยังขาดดุลอยู่ และใช้หนี้ระหว่างประเทศที่มีอยู่มาก วิธีการหนึ่งที่รัฐบาลใช้ก็คือ การขาย
       รัฐวิสาหกิจครับในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ยืนยันว่าจะแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่อไป โดยจะแปรรูปเฉพาะกิจการในสาขาที่มีการแข่งขัน (secteur concurrentiel) เท่านั้น และในวันรุ่งขึ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ให้สัมภาษณ์ว่าจะแปรรูปรัฐวิสาหกิจหลายๆแห่งเพื่อนำเงินมาใช้ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศครับ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในประเทศฝรั่งเศสถือเป็นเรื่อง“สำคัญ”มาก เพราะมาตรา 34 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ต้องทำเป็น “รัฐบัญญัติ”ครับ ความสำคัญมีมากน้อยแค่ไหนลองพิจารณาเปรียบเทียบดูจากการจัดตั้งกระทรวง ทั้งหลายในฝรั่งเศสชึ่งสามารถทำได้โดยกฎหมายลำดับรองคือ “รัฐกฤษฎีกา” ครับ ! ที่เป็นเช่นนี้เพราะรัฐวิสาหกิจนั้นมีความสำคัญต่อ “ความเป็นรัฐ” มากเพราะ รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มีหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะ เพื่อสนองความต้องการของประชาชนอันเป็นหน้าที่หลักของรัฐที่ต้องดำเนินการ ประกอบกับ รัฐวิสาหกิจเองก็ใช้เงินของรัฐซึ่งมาจากภาษีอากรของประชาชนในการจัดตั้งและดำเนินการ ดังนั้นรัฐวิสาหกิจเองจึงเป็น “สมบัติ” ของประชาชนอย่างแท้จริง เมื่อจะขายสมบัติของประชาชน จึงต้องทำโดยความเห็นชอบของตัวแทนประชาชน ซึ่งก็คือรัฐสภานั่นเอง เพราะการขายรัฐวิสาหกิจย่อม มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนไม่มากก็น้อยครับ ที่ผ่านมาฝรั่งเศสมีกฎหมาย 2 ประเภทที่ใช้ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ คือ รัฐบัญญัติกลาง ที่กำหนดหลักเกณฑ์ทั่วไปอย่างละเอียดและนำมาใช้กับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง กับรัฐบัญญัติเฉพาะที่มีขึ้นเพื่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นรายแห่งครับเมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมานี้เอง ภายหลังจากการแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรี และภายหลังจากการให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ พนักงานการไฟฟ้าและพนักงานการก๊าซแห่งฝรั่งเศสก็เดินขบวนประท้วงกันใหญ่ครับ มีการตัดไฟฟ้าที่เมืองบางเมืองโดยเฉพาะเมือง Lille นั้นถูกตัดไฟตอนกลางคืนด้วยครับ ที่เขาเดินขบวนประท้วงกันก็ เพราะจากคำแถลงของนายกรัฐมนตรีที่ว่าจะแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่มีการแข่งขันกันนั้นน่าจะหมายถึงการแปรรูปไฟฟ้าและการก๊าซด้วย ซึ่งในขณะนี้ สภาแห่งรัฐ (Conseil d’Etat) กำลังพิจารณา ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนสถานะของการไฟฟ้าและก๊าซอยู่ ในร่างกฎหมายดังกล่าว รัฐบาลเสนอให้ปรับเปลี่ยนสถานะของการไฟฟ้าและการก๊าซจากองค์กรมหาชนที่มีลักษณะอุตสาหกรรมและพานิชยกรรม (établissements publics à caractère industriel et commercial หรือ EPIC) มาเป็นบริษัท(sociétés) ซึ่งพนักงานการไฟฟ้าและการก๊าซก็เกรงกันว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นขั้นตอนที่สำคัญขั้นตอนหนึ่งที่จะส่งผลทำให้เกิดการแปรรูปกิจการของตนเองไปเป็นบริษัทเอกชนในอนาคต (แม้ในร่างกฎหมายจะยังยืนยันไว้ว่ารัฐเป็นผู้ถือหุ้นข้างมากก็ตาม !) พนักงานก็เลยเดินขบวนประท้วงกันครับ ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ออกมายืนยันอย่างหนักแน่นว่าไม่แปรรูปกิจการทั้งสองอย่างเด็ดขาดไม่ว่าในปัจจุบันหรืออนาคต สถานะของพนักงานก็ยังคงเหมือนเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง! งานนี้ก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่าใครจะชนะระหว่างรัฐบาล (ที่ไม่ค่อยแข็ง) กับสหภาพ(ที่แข็งและมีกองเชียร์คือ ประชาชน!) ครับ
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความดีๆอีกสองบทความจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญครับ บทความแรก คือ “ศาลรัฐธรรมนูญกับการพัฒนาประชาธิปไตยในระบบนิติรัฐ” โดย ดร.เชาวนะ ไตรมาศ ผู้อำนวยการสถาบันรัฐธรรมนูญศึกษา สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และบทความที่สองคือ “ข้อความคิดเกี่ยวกับมาตราการควบคุมผู้ต้องขังกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” โดย นส. วนิดา ไชยชเนตรตี เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ 7 ว สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ครับ ก็ต้องขอขอบคุณเจ้า ของบทความทั้งสองไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม 2547
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544