หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 82
15 ธันวาคม 2547 13:54 น.
"วิพากษ์ค่าเล่าเรียน การเรียน การสอนของไทย"
       วันนี้ (17 พฤษภาคม 2547) เป็นวันเปิดเทอมสำหรับเด็กนักเรียนทั้งหลาย ส่วนนิสิตนักศึกษานั้น ก็ยังมีเวลาพักผ่อนอีกหลายวันครับกว่าจะเปิดเทอม
       เปิดเทอมทีไรก็มักจะมีสิ่งเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับชีวิตของคนส่วนใหญ่ ไม่ว่าคนนั้นจะมีคนในครอบครัวที่เป็นนักเรียนนิสิตนักศึกษาหรือไม่ก็ตาม คำว่าเปิดเทอมของหลาย ๆ คนอาจหมายถึง การเข้าสู่ภาวะปกติ สามารถทำมาค้าขายได้ (เช่นบรรดาร้านค้าทั้งหลายแถวคณะผม) แต่สำหรับบางคน การเปิดเทอมนั้นก็นำมาซึ่งภาระหนักให้กับชีวิตเพราะจะต้องหาเงินจำนวนมากเพื่อที่จะมาส่งเสียบุตรหลานของตนให้เรียนหนังสือต่อไป
       ผม “ส่ง” เด็กอยู่คนหนึ่งตั้งแต่อายุได้ไม่กี่ขวบ เริ่มแรกเมื่อ 7-8 ปีที่แล้วก็ส่งเงินให้เดือนละ 300 บาท เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ จนปัจจุบันเด็กอายุ 15 ปีผมต้องส่งให้เดือนละพันบาท เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเด็กก็โทรมาขอเงินผม 5,000 บาท เพื่อนำไปจ่ายค่าใช้จ่ายในโรงเรียน ด้วยความที่ผมทราบว่า ปัจจุบันเด็กนักเรียนไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนเพราะเรียนในโรงเรียนของรัฐและก็ยังอยู่ในเกณฑ์เรียนฟรี เพราะเด็กเพิ่งขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ผมก็เลยขอให้ส่งรายการที่ต้องเสียเงินมาให้ผมดูก่อนที่ผมจะส่งเงินไปให้ ซึ่งเด็กก็ส่งมาให้ผมดูปรากฏว่า ที่โรงเรียนนั้นเรียกเก็บเงินจากเด็ก 2,300 บาท เป็นค่าเรียนคอมพิวเตอร์ ค่าบำรุงสมาคม ค่าพัฒนาสื่อและเทคโนโลยี ค่าพัฒนาสิ่งแวดล้อม ค่าชุดกีฬาและค่าสมุดหนังสือ ส่วนเงินที่เหลือเด็กก็ขอไปซื้อเสื้อผ้า เครื่องเขียนและกระเป๋าหนังสือ
       ที่นำมาเล่าให้ฟังนี้ก็คงไม่มีอะไรมาก เพียงแต่ “หนักใจ” แทนเยาวชนทั้งหลายของชาติว่า แม้การศึกษาภาคบังคับจะ “ฟรี” ก็ตาม แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นอีกจำนวนมากที่คนยากจนหรือผู้ที่มีลูกหลาน คงจะ “ลำบาก” พอสมควรที่จะต้องหาเงินก้อนโตมาให้บุตรหลานของตนเรียนหนังสือต่อไปครับ เงินสองสามพันบาทสำหรับบางคนอาจเล็กน้อย แต่สำหรับบางคนแล้วในบางครั้งคิดไม่ออกเลยว่าจะหาเงินจำนวนนี้มาได้อย่างไร ความแตกต่างทางสังคมของเรายังมีอยู่มากและนับวันก็ยิ่งเป็นช่องว่างที่ห่างมากขึ้นครับ การศึกษาเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมีอะไรมา “ปิดกั้น” ก็คงต้องฝากไปยัง “ท่านผู้นำ” ให้ช่วยกำชับไปยังโรงเรียนทั้งหลายว่าค่าใช้จ่ายที่จะเรียกเก็บเพิ่มจากเด็กนั้นควรมี “ขอบเขต” ด้วย ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ที่ “ท่านผู้นำ” เน้นเหลือเกินว่าเด็กไทยยุคใหม่ต้องรู้และใช้งานคอมพิวเตอร์ได้นั้น ควรบรรจุการเรียนไว้ในหลักสูตรและไม่ควรให้โรงเรียนมาเรียกเก็บเพิ่มนอกเหนือไปจากนั้นอีกครับ ส่วนโรงเรียนเองก็ตาม การเรียกเก็บเงินจากเด็กยากจนจำนวนมากจะทำให้เด็กเหล่านี้มีปัญหาเพราะแม้จะมี “สิทธิ” เข้าเรียนได้ แต่ก็จะสร้างปัญหาให้กับพ่อแม่ที่จะต้องหาเงินมาจ่ายค่าพัฒนาสิ่งแวดล้อม ค่าพัฒนาสื่อและเทคโนโลยีและค่าอื่น ๆ อีกจำนวนมากครับ!!!
       เมื่อพูดถึงเรื่องเด็กนักเรียนแล้วก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงนิสิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยที่จะเปิดเทอมในอีกไม่กี่วันข้างหน้าด้วยความเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่เกี่ยวกับการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยว่าเป็นอย่างไร มีปัญหาและอุปสรรคอย่างไรบ้าง
       ผมคงไม่สามารถที่จะพูดอะไรได้มาก บ่อยครั้งที่มีลูกศิษย์มาถามว่าเรียนอย่างไรถึงจะได้ดี ซึ่งผมก็ค่อนข้างลำบากใจที่จะตอบเพราะสมัยที่ผมเป็นนิสิตนั้นผมก็ไม่ได้เป็นนิสิตที่ดีเท่าใดนัก ที่ทำงานได้ทุกวันนี้ก็เพราะอาศัยความขยัน ความตั้งใจจริง และความอดทนมาเป็นหลักในการทำงานครับ แต่อย่างไร คงต้องแนะนำกันบ้างเพื่ออย่างน้อยหากมีนิสิตนักศึกษาบางคนเข้ามาอ่าน website นี้ ก็อาจได้แง่คิดบางอย่างไปประยุกต์กับการดำรงชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของตนได้
       ผมคงเริ่มจาก “คำพูด” ของนิสิตคนหนึ่งที่พูดกับผมเมื่อไม่กี่วันมานี้เองว่า หลังจากที่จบปริญญาตรีไปแล้วและกำลังเรียนปริญญาโทอยู่ แต่ตัวเองทำไมถึงได้มีความรู้สึกว่า “ยิ่งเรียนยิ่งโง่” ก็ไม่ทราบ!!! จาการสอบถามถึงที่มาของการ “ยิ่งเรียนยิ่งโง่” ก็ทำให้ผมทราบว่า ผู้พูดถูก “กำหนด” โดยปริยายให้เรียนด้วยวิธีการท่องจำกฎหมายที่ “ปิดโอกาส” ให้ตัวเอง “คิด” ทุกอย่างพยายามท่องจำหมด ก็เลยทำให้ตัวเองรู้สึกโง่ที่คิดไม่เป็นครับ!!!
       ประเด็นนี้ผมคงไม่เห็นด้วยหรือคัดค้านใด ๆ ทั้งสิ้น แต่จะขอพูดถึงกรณีข้างเคียงที่เกี่ยวข้องและมีผลโดยตรงกับการ “ผลิต” บัณฑิต นั่นก็คือ วิธีการเรียนการสอนของเราครับ เนื่องจากตัวผมเองก็ผ่านการศึกษามาจากต่างประเทศและผมมีโอกาสได้พูดคุยกันเพื่อนอาจารย์ชาวต่างประเทศหลาย ๆ คน ผมยอมรับว่า โดยส่วนตัวนั้นผม “ชื่นชม” ในวิธีการเรียนการสอนของต่างประเทศอยู่มากที่สอนให้เด็กรู้จักคิดมากกว่าการท่องจำ ผมคงไม่ยกตัวอย่างในที่นี้เพราะ “พื้นฐาน” ของเด็กเรานั้นต่างจากเด็กของต่างประเทศค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความเป็น “นักอ่าน” ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมเด็กไทยถึงไม่ค่อยนิยมการอ่านกันครับ เพราะแม้ว่าตัวผมเองจะชอบอ่านหนังสือและมีหนังสืออยู่เต็มบ้าน แต่ลูกผมก็ไม่ชอบอ่านหนังสือครับ!!! ผมมาลองคิดดูแล้ว สิ่งที่เราขาดสิ่งหนึ่งก็คือ หนังสือเด็กครับ!!! เวลาไปต่างประเทศและเข้าร้านหนังสือ ถ้ามีเวลาว่าง มาก ๆ ผมมักจะไปดูหนังสือเด็ก หนังสือเด็กที่วางขายกันนั้น จะเป็นหนังสือที่ทำขึ้นสำหรับเด็กแต่ละวัยแยกกันอย่างชัดเจน แม้กระทั่งพจนานุกรมต่าง ๆ ก็พยายามทำให้เข้ากับความสนใจของแต่ละวัยและมีวิธีการนำเสนอที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น พจนานุกรมสำหรับเด็กเล็ก ก็จะเน้นไปที่รูปภาพสีสันสดใสและน่ารัก ในขณะที่พจนานุกรมสำหรับเด็กที่เพิ่งเข้าโรงเรียนแล้วก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง พออยู่มัธยมต้น มัธยมปลายและมหาวิทยาลัย ก็จะใช้พจนานุกรมอีกแบบหนึ่ง เอาเป็นว่า หนังสือของต่างประเทศนั้นทำขึ้นสำหรับเด็กแต่ละวัยเหมือนกับ “ขนาด” ของเสื้อผ้านั่นแหล่ะครับ เมื่อลูกโตขึ้นหน่อยหนึ่ง เปลี่ยนขนาดเสื้อใหม่ ขนาดรองเท้าใหม่ ก็ต้องเปลี่ยนหนังสือใหม่ด้วย ด้วยวิธีการแบบนี้เองที่ทำให้ “การอ่าน” เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตครับ พ่อแม่เองก็มีส่วนสำคัญในเรื่องดังกล่าว เพราะแทบจะกล่าวได้ว่าของขวัญในทุกโอกาสที่พ่อแม่มอบให้ลูกคือหนังสือครับ!!! ด้วยเหตุดังกล่าว เด็กจึง “รัก” การอ่านครับ พอเด็กโตมาก ๆ เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย การเรียนการสอนจึงมักใช้วิธีมอบให้เด็กไปอ่านแล้วก็ไปคิด จากนั้นก็มานั่งคุย แลกเปลี่ยนความคิดเป็นกัน ด้วยวิธีการอย่างนี้นี่เองที่ทำให้การเรียน การสอน และแม้กระทั่งการสอบ ไม่ได้เกิดจากวิธีท่องจำ แต่เกิดจากความเข้าใจ และการคิดอย่างเป็นระบบครับ ดังนั้น วิธีที่จะเรียนหนังสือให้ดีที่สุดก็คือ ต้องคิดมากกว่าท่องจำครับ แต่อย่างไรก็ดี วิธีที่กล่าวไปแล้วนั้นคงยังไม่สามารถใช้ในบ้านเราได้เต็มที่เท่าไหร่ครับ เพราะผมเข้าใจว่าการศึกษาของเรายังหนักไปในทางที่ต้องท่องจำค่อนข้างมากครับ ก็คงฝากไว้เป็นข้อคิดสำหรับ เด็ก ๆ ทั้งหลายว่า เวลาเรียนหนังสือคงต้องพยายามทำความเข้าใจ และคิดให้ได้นะครับ ในชีวิตการทำงาน เราสามารถเปิดตำราดูได้ เปิดมาตราต่าง ๆ ของกฎหมายดูได้ แต่ถ้าหากเราคิดไม่เป็น แม้จะท่องจำกฎหมายหรือหลักต่าง ๆ ได้ ก็คงมีประโยชน์ไม่มาก เพราะเราคงไม่สามารถนำสิ่งที่ท่องจำได้เหล่านั้นมาปรับเข้ากับการทำงานของเราได้ครับ
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความใหม่ล่าสุดสองบทความ สำหรับแฟนประจำของ www.pub-law.net คงทราบไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา เราได้เพิ่ม “บทความด่วน” บทความหนึ่งไว้ในตัววิ่งของ website นั่นก็คือ บทความเรื่อง “คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการกรณีไอทีวีกับผลผูกพันมี่มีต่อคู่สัญญา” ที่เขียนโดย ผศ.ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แห่งคณะนิติศาสตร์ สำนักท่าพระจันทร์ ซึ่งผมต้องขอขอบคุณอาจารย์วรเจตน์ ฯ ที่ได้ให้ความไว้วางใจ website นี้และมอบบทความให้เราเผยแพร่ครับ บทความนี้เป็นบทความที่อาจารย์วรเจตน์ ฯ เพิ่งเขียนขึ้นเสร็จและเป็นบทความที่ดีมาก เนื่องจากผ่านการศึกษา กลั่นกรองและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ดังนั้น ผมจึงได้นำลงเป็นกรณีพิเศษนอกวาระปกติของเรา เพื่อให้ผู้สนใจได้อ่านอย่างทันทีทันควันครับ ใครที่ยังไม่ได้อ่านก็ลองดูนะครับ ผมชอบบทวิเคราะห์ของอาจารย์วรเจตน์ ฯ ในส่วนที่ 4 ซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายของบทความมากครับ เพราะผมเองก็เห็นด้วยและได้เคยกล่าวไว้ทั้งในหนังสือสัญญาทางปกครองของผม ในบทบรรณาธิการที่ผ่าน ๆ มา และในการอภิปรายหลาย ๆ ครั้งไปแล้วว่า อนุญาโตตุลาการกับสัญญาทางปกครองนั้นเป็นเรื่องที่ “ไปด้วยกันไม่ได้” เพราะสัญญาทางปกครองเป็นสัญญา “พิเศษ” ที่เกี่ยวข้องกับ “ประโยชน์สาธารณะ” (public interest) ครับ การที่เราไปเอา “ใครก็ไม่รู้” มาชี้ขาดประโยชน์สาธารณะแทนที่จะมอบให้องค์กรศาลที่มีทั้งกฎหมายจัดตั้งและมีกระบวนการคัดเลือกตุลาการอย่างเป็นระบบเข้ามาเป็นผู้ชี้ขาด เป็นสิ่งที่เราต้องทบทวนดูครับ หากจำเป็นต้องมีอนุญาโตตุลาการในคดีปกครอง ก็จะต้องมีกฎหมายรองรับ กำหนดคุณสมบัติและวิธีการได้มาซึ่งตัวอนุญาโตตุลาการในคดีสัญญาทางปกครองไว้อย่างชัดเจนจะได้ไม่เกิดปัญหาเช่นที่มีในปัจจุบันครับ ส่วนบทความที่สองเป็นบทความเรื่อง “กฎบัตรว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมของประเทศฝรั่งเศส : หลักการพื้นฐานในกฎหมายสิ่งแวดล้อม (La charte de l’environnement)” ที่เขียนโดย คุณวรรณภา ติระสังขะ นักศึกษาไทยในประเทศฝรั่งเศสที่อุตส่าห์เจียดเวลาจาการศึกษาเล่าเรียนมาเขียนบทความให้กับ www.pub-law.net ครับ ผมขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วยเช่นกันครับ
       พบกันใหม่ในวันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม 2547 ครับ
       รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544