หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 145
15 ตุลาคม 2549 23:10 น.

ครั้งที่ 145
       สำหรับวันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม 2549
       

“หลังรัฐประหาร”
       
       

     ภายหลังการทำรัฐประหารเมื่อคืนวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา ประเทศไทยก็ก้าวเข้าสู่ระบอบการปกครองประเทศรูปแบบใหม่ที่ผมเองก็ยังไม่ทราบว่าจะเรียกระบอบการปกครองนี้ว่าอะไรครับ เกือบ 1 เดือนผ่านไป ทุกอย่างก็เข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น ที่ว่าเข้ารูปเข้ารอยนี้ไม่ได้หมายถึงเข้ารูปเข้ารอยของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนะครับ แต่เป็นการเข้ารูปเข้ารอยของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติรัฐประหารทุกครั้ง เพราะว่าในวันนี้เรามีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวสั้น ๆ ใช้บังคับ เรามีคณะรัฐประหารที่ผันตัวเองไปเป็น “องค์กรตามรัฐธรรมนูญ” ที่มีชื่อเรียกเพราะ ๆ ว่า “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ” ซึ่งมีอำนาจหลาย ๆ อย่าง เรามีรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ส่วนใหญ่แล้วก็มาจากข้าราชการระดับสูงหรืออดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งนั้น แล้วในอีกไม่กี่วันข้างหน้าเราก็จะมีสมัชชาแห่งชาติ จากนั้นก็จะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อ “คืนอำนาจให้กับประชาชน” หลังจาก “เก็บ” อำนาจนั้นไว้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ขั้นตอนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก็เป็นขั้นตอนที่เป็นสูตรสำเร็จของการรัฐประหารครับ!!
       ผมคงยังไม่วิเคราะห์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 เพราะผมอยากจะรอให้เกิดสมัชชาแห่งชาติและสภาร่างรัฐธรรมนูญเสียก่อนแล้วจึงค่อยมาว่ากัน ในบทบรรณาธิการครั้งนี้คงขอพูดถึงคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญก่อน แล้วก็จะตามด้วยสิ่งที่ยังไม่เกิด (ในขณะเขียนบทบรรณาธิการนี้) คือ สมัชชาแห่งชาติ และสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครับ
       ในวันที่นายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรีออกมาโชว์ตัวถ่ายรูป หนังสือพิมพ์ก็พากันวิพากษ์วิจารณ์กันในหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นอายุของรัฐมนตรีแต่ละคน รวมไปถึงที่มาของรัฐมนตรีส่วนมากที่มาจากอดีตข้าราชการระดับสูง ก็เป็นธรรมดาอีกเช่นกันที่ภายหลังการปฏิวัติรัฐประหาร นักการเมืองอาชีพก็ต้องกลับไป “อยู่อย่างสงบ” และปล่อยให้ข้าราชการเข้ามาทำสิ่งที่เรียกกันว่า “ฟื้นฟูประเทศ” ครับ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ดู ๆ ในภาพรวมแล้วก็คงต้องบอกไว้ว่า ดูดีกว่าคณะรัฐมนตรี 3-4 ชุดที่ผ่านมา เพราะอย่างน้อยก็เป็นการวางคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับงานมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งครับ
       คณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะต้องทำอะไรบ้าง? คำถามนี้คงยากที่จะตอบในทันทีทันใดเพราะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา “รัฐบาลพ่อค้า” ของเราได้รื้อระบบราชการไปมาก มีการนำเอาระบบและวัฒนธรรมทางธุรกิจมายัดเข้าไปในระบบราชการจนทำให้ข้าราชการจำนวนหนึ่งตามไม่ทันและข้าราชการส่วนใหญ่ก็ต้องพบกับความอึดอัดในการทำงาน ในวันนี้ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ซึ่งคุ้นเคยและเคยชินกับระบบราชการแท้ ๆ กลับเข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศแทนรัฐบาลพ่อค้าแล้ว ก็คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า รัฐบาลใหม่จะทำอย่างไรกับระบบราชการที่ถูกปู้ยี้ปู้ยำเสียจนจำไม่ได้ในหลาย ๆ เรื่อง รวมไปถึงสิ่งใหม่ ๆ ที่รัฐบาลพ่อค้าสร้างขึ้นมาแต่ก็เป็นที่ “ไม่สบอารมณ์” ของข้าราชการประจำจำนวนหนึ่ง เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ข้าราชพันธุ์ใหม่ แม้กระทั่งการตั้งกระทรวง “แปลก ๆ” ขึ้นมาในปี พ.ศ.2545 รวมไปถึงกระบวนการพัฒนากฎหมายที่ข้าราชการจำนวนมากบ่นกันว่าสร้างภาระและความยุ่งยากให้กับการทำงาน ก็คงจะต้องเป็นสิ่งที่รัฐบาลใหม่จะต้องนำขึ้นมาพิจารณาด้วยครับ
       เมื่อได้เห็นคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ก็มีความรู้สึกว่าเป็นเรื่องแปลกที่รัฐบาลนี้ไม่มีรัฐมนตรีที่เป็น “มือกฎหมาย” จะมีก็เพียงอดีตประธานศาลฎีกาหมาด ๆ ที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมซึ่งก็คงไม่ทำหน้าที่มือกฎหมายของรัฐบาลแน่ ๆ ครับ ในรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหารหรือรัฐบาลพ่อค้าก็จะต้องมีนักกฎหมายเก่ง ๆ มาประดับรัฐบาลอย่างน้อยหนึ่งคน ในอดีตเรามี คุณมีชัย ฤชุพันธ์ ซึ่งแม้จะไม่ใช่นักกฎหมายมหาชนแต่ก็เป็นนักกฎหมายระดับสูงที่ผ่านงานด้านกฎหมายมาเป็นระยะเวลานานและถือได้ว่าเป็นนักกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย เรามีศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม นักกฎหมายมหาชนที่ไปทำหน้าที่เป็นรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและเลขาธิการคณะรัฐมนตรีตามลำดับ เมื่ออาจารย์วิษณุฯ ไปดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งก็เป็นนักกฎหมายมหาชนอีกเช่นกันที่เข้าไปรับตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็น “มือกฎหมาย” ให้กับรัฐบาลในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา แต่ในรัฐบาลใหม่นี้กลับไม่มี “มือกฎหมาย” เข้าไปช่วยงานด้านกฎหมายของรัฐบาลครับ ก็คงต้องจับตาดูกันต่อไปเช่นกันว่า ใครจะเข้ามาเป็น “มือกฎหมาย” ให้กับรัฐบาลชุดนี้ครับ
       หากจะพิจารณาถึงภาระหน้าที่ของรัฐบาลชุดใหม่กันอย่างละเอียดแล้ว ก็จะพบว่าภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลชุดใหม่นี้มีอยู่หลายอย่าง เท่าที่ฟัง ๆ รัฐบาลใหม่ “น่าจะ” เข้ามาดูแลเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องหลัก แล้วก็คงเน้นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงด้วย ผมเห็นว่าสิ่งแรกที่ต้องเร่งทำก็คือทำความเข้าใจในเบื้องต้นให้ตรงกันก่อนนะครับว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” นั้นคืออะไร มีความหมายอย่างไร แล้วจะต้องทำอย่างไรจึงจะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่าเศรษฐกิจพอเพียงได้ครับ!!
       ถ้าพิเคราะห์ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ รัฐบาลใหม่คงมีเวลาทำงานไม่เกิน 1 ปี ระยะเวลา 1 ปีถือได้ว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ แต่ก็สั้นเกินไปสำหรับการริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ แต่อย่างไรก็ตาม ผมขอฝากข้อเสนอต่อไปนี้ไว้สำหรับภารกิจของรัฐบาลใหม่ด้วยครับ สำหรับโครงการเก่าที่ดำเนินมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลก่อนหน้านี้คงต้องนำมาพิจารณาทบทวนใหม่แล้วก็จัดระบบให้ดี เช่น บรรดานโยบายประชานิยมทั้งหลายที่หากฟังเสียงประชาชนแล้วก็จะทราบทันทีว่า ยังต้องการที่จะให้โครงการทั้งหลายดำเนินต่อไป รัฐบาลใหม่ควรที่จะทำต่อแต่ก็คงต้องคิดถึงสิ่งที่จะตามมาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดสรรงบประมาณเพื่อนำมาใช้ในโครงการเหล่านี้ที่จะเป็น “ภาระ” ให้กับรัฐบาลต่อไป ผมว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องคิดถึงระบบ “รัฐสวัสดิการ” ครับ! รัฐจัดให้มีสวัสดิการมากทำให้รัฐมีรายจ่ายมากก็ต้องเก็บภาษีมาก! ผมเชื่อว่ารัฐบาลนี้ทำได้อยู่แล้วเพราะไม่ต้องห่วง “ฐานเสียง” ที่จะเสียไปหากมีการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ลองคิดดูถึงภาษีประเภทใหม่ ๆ ที่ต่างประเทศเขาก็เก็บกันมานานแล้ว เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดินในส่วนที่ครอบครองเกินความจำเป็น เป็นต้น ส่วนโครงการใหม่นั้น ระยะเวลาเพียง 1 ปี แม้จะทำอะไรไม่ได้มาก แต่รัฐบาลก็ควรจะต้อง “เร่ง” จัดทำและจัดระเบียบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานใหม่ให้ “ถูกต้อง” และ “ไม่เห็นแก่หน้า” ใครทั้งนั้น โครงการขนาดใหญ่บางโครงการที่เป็นสิ่งจำเป็นและอย่างไรเสียก็ต้องทำ ผมว่าน่าจะรีบเร่งทำไปเลยในตอนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นโครงการที่ให้เอกชนทำ รัฐบาลควรทำการประมูลให้เสร็จในรัฐบาลนี้เพราะ “รูปร่างหน้าตา” ของรัฐบาลเป็นหลักประกันที่ดีว่า น่าจะเป็นรัฐบาลที่ทำอะไรโปร่งใสที่สุดในรอบ 15 ปีที่ผ่านมาครับ
       นอกจากที่กล่าวไปแล้ว ยังมีอีกสองสามสิ่งที่รัฐบาลชุดใหม่ควรเร่งรีบทำ สิ่งแรกคือ การแก้ไขปัญหาภาคใต้ที่สะสมกันมาเป็นระยะเวลานานซึ่งก็ไม่เป็นผลดีกับประเทศชาติทั้งทางด้านชื่อเสียง การลงทุน และสิทธิมนุษยชนด้วยครับ สิ่งต่อมาก็คือ รัฐบาลควรต้องเร่งสร้างภาพพจน์ของประเทศที่เสียไปจากการทำรัฐประหาร ใครว่าเราไม่เสียชื่อเสียงก็ลองเข้า internet ไปอ่านดูหนังสือพิมพ์ต่างชาติแล้วจะรู้ว่าเขาวิจารณ์เราเสียหายขนาดไหนครับ สิ่งสุดท้ายที่จะฝากไว้ก็คือ การยกเลิกกฎอัยการศึก รวมถึงคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองและคำสั่งห้ามพรรคการเมืองเคลื่อนไหว ก็รู้ ๆ กันอยู่ว่าต่างชาติเขาไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารเพราะขัดกับเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ในเรื่องชื่อเสียงของประเทศนั้น พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสกับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ตอนหนึ่งว่า “คนต่างประเทศพูดว่าประเทศไทยไม่ดี ก็ต้องพยายามแก้ไข ถ้าไม่แก้ไขประเทศก็จะเสียชื่อ เมื่อเสียชื่อแล้วก็จะเสียหายในเรื่องที่ประเทศชาติจะอยู่เย็นเป็นสุข” ก็อย่างที่ทราบกันนะครับว่าเราอยู่คนเดียวไม่ได้ ในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมาเราเสียชื่อเสียงในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปมากแล้วไม่ว่าจะเป็นการสังหารหมู่ที่มัสยิดกรือเซะ กรณีตากใบ กรณีฆ่าตัดตอนยาเสพติด รวมไปถึงเหตุการณ์รุนแรงทางภาคใต้ ในปัจจุบันเมื่อมีการรัฐประหาร ประเทศไทยก็ถูกมองว่าประชาธิปไตยที่กำลังเบ่งบานเต็มที่ก็ต้องสะดุดหยุดลงครับ ดังนั้น จึงเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาลที่จะต้องรีบเร่งดำเนินการเรียกชื่อเสียงของประเทศกลับคืนมาครับ!
       เมื่อสองสามวันที่ผ่านมา เราก็ได้ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ชุดใหม่ ซึ่งประกอบด้วยบุคคลที่มีความหลากหลาย ผมลองนับดูอย่างคร่าว ๆ พบว่ามีข้าราชการพลเรือนระดับ 11 หรือเทียบเท่าเกือบ 20 คน ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการตุลาการ ข้าราชการอัยการ 12 คน ข้าราชการทหาร 35 คน ข้าราชการตำรวจ 7 คน รัฐวิสาหกิจ 8 คน นักวิชาการซึ่งส่วนหนึ่งประกอบด้วยอธิการบดีของมหาวิทยาลัยหลาย ๆ แห่งจำนวน 29 คน ข้าราชการบำนาญ 40 กว่าคน นักการเมือง 4 คน ภาคเอกชนเกือบ 40 คน สื่อมวลชน นักเขียน ศิลปิน รวมไปถึงผู้บัญชาการกองพลที่เข้าร่วมรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา นายทหารและตำรวจจากนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 6 จำนวน 25 คน เพื่อนนายกรัฐมนตรีและ “ลูกป๋า” ก็มีครับ เอาเป็นว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้มีการแต่งตั้งจากบุคคลหลายสาขาอาชีพซึ่งทำให้ดู “แตกต่าง” จากสภาที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติรัฐประหารครั้งก่อน ๆ ที่ผ่านมา ก็คงต้องยกให้เป็น “ความดี” ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติไปครับ ส่วนภารกิจของสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดใหม่ที่ผมอยากจะฝากเป็นข้อเสนอไว้ในที่นี้ก็คือ ควรหาทางแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายสำคัญ ๆ บางฉบับที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศชาติ เช่น กฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น พร้อมทั้งออกกฎหมายที่จำเป็นสำหรับการปกครองประเทศในอนาคตที่รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง “ไม่กล้า” หรือ “ไม่อยาก” ทำกฎหมายเหล่านี้ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการปกป้องประโยชน์ของประเทศชาติจากการให้สัมปทานหรือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมการใช้อำนาจรัฐที่ยังจะต้องมีอีกมากมายหลายเรื่อง รวมทั้งควรรีบเร่งออกกฎหมายที่ให้สิทธิและเสรีภาพกับประชาชนที่รัฐบาลที่ผ่านมาไม่สนใจคือ กฎหมายว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นประชาชนครับ!!!
       เมื่อพิจารณาดูทั้งคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดใหม่นี้แล้ว เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า วันนี้ เราย้อนยุคกลับไปสู่การปกครองประเทศในรูปแบบของ “รัฐราชการ” กันอีกครั้งหนึ่ง ก็ต้องดูกันต่อไปว่าจะเป็นอย่างไรกันต่อไปครับ หวังว่า “รัฐราชการ” ในปี พ.ศ.2549 คงจะไม่มุ่งรักษาประโยชน์ของ “ทางราชการ” และ “เจ้าหน้าที่” เป็นหลักจนลืมนึกถึง “สิทธิและเสรีภาพของประชาชน” และ “การมีส่วนร่วมของประชาชน” นะครับ
       องค์กรที่น่าสนใจติดตามมากที่สุดในวันนี้ก็คือ สภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันวางกลไกในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้ถึง 14 มาตราจากบทบัญญัติทั้งหมดของรัฐธรรมนูญจำนวน 39 มาตรา โดยที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้นมาจาก “สมัชชาแห่งชาติ” จำนวน 2000 คนที่จะเข้ามาเลือกกันเองให้เหลือ 200 คน จากนั้น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติก็จะเลือกไว้เพียง 100 คนเพื่อทำหน้าที่เป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับการได้มาซึ่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เราคงไม่สามารถทราบเกณฑ์ได้เลยว่า สมัชชาแห่งชาติจำนวน 2000 คนจะมาจากที่ไหนและมีคุณสมบัติพื้นฐานอย่างไร และจะทำอย่างไรที่จะให้คนเหล่านี้มีความเป็น “ตัวแทน” ที่แท้จริงของประชาชนครับ เราต้องไม่ลืมนะครับว่า ที่ผ่านมาเรามีความเป็น “ประชาธิปไตย” ในเรื่องการมีส่วนร่วมกันมากพอสมควร เรามี “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” กันมาแล้ว ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรจะต้องมีเกณฑ์ที่ “ไม่ต่ำกว่า” เกณฑ์ที่เคยใช้มาแล้วในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเมื่อปี พ.ศ.2540 เพราะในที่สุดแล้วรัฐธรรมนูญกับประชาชนก็มีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออกครับ!!!
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความดี ๆ 3 บทความมานำเสนอ เริ่มจาก “ความสำคัญของ “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ” ในการปฏิรูปการเมือง” ของศาสตราจารย์ ดร.อมร. จันทรสมบูรณ์ ซึ่งท่านอาจารย์อมรฯ ได้ปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจัดตั้ง “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ” ที่เคยเสนอไว้เป็นเวลานานแล้วให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวครับ บทความที่สองคือบทความเรื่อง “ถามหาความกล้าหาญของนักนิติศาสตร์และนักรัฐศาสตร์ไทย” ของ คุณชำนาญ จันทร์เรือง และบทความที่สามคือ “การควบคุมการใช้อำนาจขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ:ข้อเสนอสำหรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ที่เขียนโดย คุณสโรช สันตะพันธ์ นิสิตระดับปริญญาโท สาขากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมต้องขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้ง 3 ที่ส่งบทความมาร่วมกับเราอย่างสม่ำเสมอครับ นอกจากนี้แล้ว เรามีหนังสือมาแนะนำจำนวนหนึ่งรวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และวารสารกฎหมายใหม่ที่รวบรวมประกาศและคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองฯ ไว้อย่างครบถ้วนครับ ลองเข้าไปดูได้ในหนังสือตำราครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544