หน้าแรก บทความสาระ
สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒ (หน้า ๒๖)
ศ. ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
3 มีนาคม 2551 16:17 น.
 
(๓.๓) ทำไม ภารกิจประการที่สอง – ( การบริหารราชการแผ่นดิน – ในช่วงรัฐประหาร) ของ “คณะกรรมการปฏิรุปการปกครองฯ” จึงล้มเหลว (?) ; ในระหว่างที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ “คณะปฏิรูปการปกครองฯ” ยังมีภารกิจอีกประการหนึ่ง ที่จะต้องทำ ก็คือ การบริหารราชการแผ่นดิน
       ภารกิจนี้ แม้ว่าจะมิใช่ “ภารกิจ”ที่เป็นเป้าหมายของการรัฐประหารที่จะต้องทำให้สำเร็จ เหมือนกับภารกิจการจัดให้มีรัฐธรรมนูญ(ถาวร)ฉบับใหม่ (เพื่อประเทศจะได้เข้าสู่กลไกปกติในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ) ก็ตาม แต่โดยสภาพของภารกิจ ภารกิจการบริหารราชการแผ่นดิน จะเป็นภารกิจที่ยากยิ่งกว่าภารกิจแรก(การจัดให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ) และนอกจากนั้น ยังเป็นเป็นภารกิจต่อเนื่องที่ไม่สามารถทำให้สิ้นสุดลงได้(ภายในเวลาของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) และดังนั้น จึงเป็นภารกิจที่ท้าทายว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯจะทำได้ “ดีที่สุด”เพียงใด
       
       ตามรัฐธรรมนูญ ( ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๔๙ คณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้มอบหมายภารกิจนี้ ให้แก่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กับ รัฐบาล (คณะรัฐมนตรี) ประกอบกับ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่คณะปฏิรูปการปกครองฯ แต่งตั้งขึ้นตามประกาศ ฉบับที่ ๓๐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙
       ดูเหมือนว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัคริย์ทรงเป็นประมุข”จะ มองไม่เห็นความยากและความสำคัญของภารกิจนี้ และ ดูเหมือนว่า เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี(และคณะรัฐมนตรี)ขึ้นแล้ว คณะปฏิรูปการปกครองฯ ก็คิดว่า ตนเองหมดภาระหน้าที่และความรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดิน และมักจะปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เสมอว่า เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองฯถูกสื่อมวลชนซักถามเกี่ยวกับ”การบริหารราชการแผ่นดิน” คณะปฏิรูปการปกครองฯ ก็จะปฏิเสธความรับผิดชอบ โดยอ้างว่า เรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่ของ “รัฐบาล” หรือเป็นหน้าที่ของ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ”
       และ ข้อนี้ ก็เป็นอีกข้อหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นถึง “ความไม่รู้ (ในปัญหาของประเทศ)” ของ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข
       
       • “ ผลงาน” ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ / รัฐบาล (นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ) / และ คตส. ในช่วงเวลาของการรัฐประหาร (พ.ศ. ๒๕๕๐) เป็นอย่างไร ; ก่อนที่ผู้เขียนจะให้ความเห็นเกี่ยวกับ “ความรับผิดชอบ”ของคณะปฏิรูปการปกครองฯในภารกิจนี้ ผู้เขียนจะขอประมวล “ผลงาน”ของสถาบันทั้ง ๓ สถาบันดังกล่าว มาพิจารณากันดูก่อน เพราะ “ผลงาน”ของสถาบันดังกล่าว จะเป็น“ข้อเท็จจริง – facts”ที่แสดงให้เห็น ความผิดพลาดของการออกแบบการจัดองค์กรของสถาบันฯ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙ (ของคณะปฏิรูปการปกครองฯ)
       ในการประมวลข้อเท็จจริงนี้ ผู้เขียนจะขอกล่าวอย่างรวบรัดตามข่าวที่ปรากฏจากสื่อมวลชนในช่วงเวลาที่ผ่านมา(พ.ศ. ๒๕๕๐) และแม้ว่าผู้เขียนจะได้ติดตามการทำงานของสถาบันเหล่านี้มาพอสมควร แต่ผู้เขียนก็จะขอไม่ระบุ “กรณีตัวอย่าง”ไว้ในบทความนี้ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทบถึง“ตัวบุคคล”
       (๑) ฝ่ายนิติบัญญัติ ในการทำงานของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจากหลากหลายอาชีพ ผู้เขียนมีความเห็นว่า สมาชิก สนช. ต่างคนต่างทำ ไม่มีการทำความเข้าใจร่วมกัน ถึง“ปัญหาของบ้านเมือง”อันเป็นต้นเหตุของการทำรัฐประหาร และไม่มีแสวงหา “วิธีแก้ปัญหา” ซึ่งเป็นภาระเร่งด่วนของประเทศ / ร่างกฎหมาย ที่เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ส่วนใหญ่และจำนวนมาก เป็นกฎหมายที่เป็นเรื่องปลีกย่อย หรือเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ของ “กลุ่มผลประโยชน์”ของตนเอง และมีกฎหมายที่เป็นประโยชน์แก่การบริหารราชการแผ่นดินจำนวนน้อย / ความหลากหลายของสมาชิกของ สนช.ทำให้เกิดความขัดแย้ง และเป็นอุปสรรคในการจัดลำดับความเร่งด่วนของการพิจารณาร่างกฎหมาย ที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม / สมาชิกที่เป็นนักนิยมสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน(เอกชน) พยายามผลักดันร่างกฎหมายของตนเอง เพื่อหาความนิยมให้แก่ตนเอง / ไม่มีการประสานงานระหว่างรัฐบาล(คณะรัฐมนตรี)และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้มีจุดหมายร่วมกันเพื่อการแก้ปัญหาของประเทศ / ในหลาย ๆ ครั้ง ที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นอุปสรรคแก่การออกกฎหมายที่เป็นผลประโยชน์ส่วนราม ด้วยเหตุผลความเชื่อส่วนตัวของสมาชิกบางท่าน / บางครั้ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติไม่ให้ความเห็นชอบในร่างกฎหมายของรัฐบาล ทั้ง ๆ ที่ได้มีการชี้แจงกันมาก่อนแล้ว / บางครั้ง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แสดงความขัดแย้งกับตัวบุคคลในรัฐบาล โดยจะขอเปิดอภิปรายบุคคลในคณะรัฐมนตรี / ฯลฯ
       (๒) ฝ่ายบริหาร ผุ้เขียนมีความเห็นว่า การทำงานของคณะรัฐมนตรีขาด “การนำ” และไม่มีการกำหนดจุดหมายร่วมกันในการทำงานของคณะรัฐมนตรี / รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีต่างคนต่างทำ และขัดแย้งกันเอง / ผลงานของรัฐมนตรีหลายท่าน ขาดการวิเคราะห์ทางวิชาการและขาดคุณภาพ และพยายามผลักดันผลงานของตนเอง / รัฐมนตรีบางท่านมี “แผล”(ทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย) ที่นักการเมืองที่สูญเสียอำนาจ(ตั้งใจ)ใช้เป็นเครื่องมือในการข่มขู่ เพื่อมิให้รัฐมนตรีคิดริเริ่มในการทำงาน (ใส่เกียร์ว่าง) เพื่อรอโอกาสที่ตนเองจะกลับเข้ามามีอำนาจในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ / รัฐมนตรีไม่ประสานงานกับ คตส. / รัฐมนตรี (ที่มีอำนาจกำกับดูแลส่วนราชการ)ไม่ประสานงานกับหน่วยงานอื่น / รัฐมนตรีหลายท่านขาดความมั่นใจในการทำงาน และไม่สามารถแก้ปัญหาได้เมื่อไม่ได้รับความร่วมมือจากข้าราชการประจำ / ฯลฯ
       (๓) คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ผู้เขียนเห็นว่า เป็นสถาบันเดียวในบรรดา ๓ สถาบันที่กล่าวมาข้างต้น ที่มีความตั้งใจทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างแท้จริง แต่เป็นการทำงานอย่างโดดเดี่ยว โดยไม่ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาล หรือแม้แต่จากคณะปฏิรูปการปกครองฯ ; ผลงานของ “คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)” ปรากฏให้เห็นชัดเจนจากสื่อมวลชนและจากเอกสารสมุดปกเหลืองที่คตส.ได้จัดพิมพ์ขึ้น
       แต่อย่างไรก็ตาม ท่านผู้อ่านจำเป็นต้องทราบว่า ผลงานของ คตส.เป็นเพียง “ส่วนแรก”ของกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น และกระบวนการยุติธรรมยังไม่เสร็จสิ้น ; และในบทความนี้ ผู้เขียนได้ยก “ตัวอย่าง”หลายตัวอย่างที่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในอดีตที่ผ่านมา(ไม่นานนัก) ที่แสดงให้เห็นถึงความพิกลพิการของกระบวนการยุติธรรมของประเทศ (ในทุกระดับ) และผู้เขียนได้เตือนท่านผู้อ่านและคนไทยไว้แล้วว่า กระบวนการยุติธรรมของเราไม่ได้อยู่ใน “มาตรฐาน”ของประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือแม้แต่ประเทศที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย (เช่น สิงค์โปร์และเกาหลีไต้)
       ข้อเท็จจริง – facts ที่ยืนยันความเห็นของผู้เขียนในเรื่อง “ความพิกลพิการของกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย” ก็คือ ถ้าท่านผู้อ่านคิดทบทวนย้อนกลับไปในเวลาที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านจะพบว่า ผู้ที่กระทำผิดกฎหมายหรือผู้ที่ร่ำรวยจากการทุจริตคอร์รัปชั่น (มัก)จะหาโอกาสเข้าสู่ “วงการการเมือง”ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น การสมัครรับเลือกตั้งหรือการให้เงินอุดหนุนพรรคการเมือง เพื่อเข้าเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ส.ส. สัดส่วนในปัจจุบัน) หรือเพื่อเป็นรัฐมนตรี ; คำถามมีว่า ทำไม จึงเป็นเช่นนั้น ; “เหตุผล” ก็อาจอธิบายได้ง่าย ๆ ว่า ก็เพราะ “กระบวนการยุติธรรม”ของเราสามารถถูกแทรกแซงโดยฝ่ายการเมืองได้โดยง่าย
       ผู้เขียนคงไม่สามารถพูดได้ว่า การเข้าสู่ “วงการการเมือง” สามารถทำให้การกระทำที่ผิดกฎหมาย กลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายได้ แต่ถ้าท่านผู้อ่านติดตาม “กระบวนการยุติธรรม”ที่เกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมืองอย่างสม่ำเสมอ ท่านผู้อ่านก็จะพบว่ามีสิ่งที่ผิดปกติหลายประการเกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมของเรา เช่น การล่าช้าในการดำเนินคดี / การเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมหรือเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบคดี / และการยุติการสอบสวนหรือยุติคดีด้วย “เหตุผล” ที่เราคาดไม่ถึง รวมทั้งการที่ “เรื่อง”เงียบหายไป หรือปล่อยให้คดีขาดอายุความ โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ผู้ใดรับผิดชอบ ฯลฯ เป็นต้น
       และ ในเมื่อ “ระบบสถาบันการเมือง”ของเราตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ ยังคงเป็น “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)”เหมือนกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ผู้เขียนก็คิดว่า สิ่งที่เราเรียกว่า “ตุลาการภิวัตน์” ก็คงจะดำรงอยู่ได้อีกไม่นาน
       คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้ตั้ง“ชื่อ”สมุดปกเหลืองที่ตนเองจัดพิมพ์ขึ้น ไว้ว่า “ฝากไว้ในแผ่นดิน”โดยมีรูปและชื่อของกรรมการทุกท่านพิมพ์ไว้ในด้านในของปกหลัง ; ผู้เขียนเห็นว่า เป็นการตั้ง “ชื่อ”ที่เหมาะสมกับสถานการณ์เป็นอย่างมาก เพราะต่อไปในอนาคตที่ไม่ไกลนัก สิ่งที่ คตส. เหลืออยู่และจะฝากไว้ในแผ่นดิน ก็คือ ตัวสมุดปกเหลืองเล่มนี้ เอง แต่ไม่ใช่ “ผลงาน”ของ คตส. เพราะผลงานของ คตส. จะถูกลบล้างไปในที่สุด (เช่นเดียวกับ คตส. ชุดที่หนึ่ง ในอดีต) [หมายเหตุ อำนาจหน้าที่ของ คตส. ได้ขยายไปถึง วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ โดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ ๓๐ พ.ศ. ๒๕๕๐ ประกาศใช้บังคับ วันที่ ๖ กันยายน]
       
       เท่าที่กล่าวมานี้ ดูเหมือนจะเห็นได้ชัดว่า ในการปฏิบัติภารกิจในการบริหารราชการแผ่นดิน ของสถาบันทั้งสอง คือ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” และ “รัฐบาล” ( ที่จัดตั้งขึ้นตาม รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๔๙ ของ คณะปฏิรูปการปกครองฯ) ต่างฝ่ายต่างพยายามจะแสดงความเป็นอิสระจากกัน และต่างคนต่างทำงานเป็นเอกเทศของตัวเอง โดยไม่คำนึงถึง “ที่มา”ของตนเองและไม่คำนึงถึง“ภารกิจ”เร่งด่วน ที่จะต้องกระทำเพื่อแก้ปัญหาความเสื่อมของการบริหารประเทศ ที่ตนเองมีเวลาอันจำกัดอยู่ในช่วงของการรัฐประหาร(ก่อนการมีรัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่) เท่านั้น ; และอันที่จริงแล้ว ดูเหมือนว่า ผลงานทั้งของ“สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” และของ “รัฐบาล”ไม่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เรียกว่า “มีผลงาน”แต่อย่างใด
       
       นี่ คือ ความล้มเหลวในภารกิจ - การบริหารราชการแผ่นดิน ของ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เช่นเดียวกับ ความล้มเหลวในภารกิจประการแรก (การจัดให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่)
       
       • ใคร คือ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบ ใน “ความล้มเหลว” ของการบริหารราชการแผ่นดิน (ในช่วงของการรัฐประหาร ปี พ.ศ. ๒๕๕๐)
       ผู้เขียนคิดว่า ในกรณีที่ “รัฐบาล” ชุดที่ผ่านมา ในพ.ศ. ๒๕๔๙ – ๒๕๕๐ ไม่ “ทำงาน”ตามที่เราคาดหมายว่ารัฐบาลควรจะทำ ท่านผู้อ่านหลายท่านคงตำหนิ “นายกรัฐมนตรี”ในฐานะที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล หรือในกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่ “ทำงาน”ตามที่ (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ควรจะทำ ท่านผุ้อ่านหลายท่านคงวิจารณ์หรือตำหนิ “ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ”; ซึ่งผู้เขียนไม่เห็นด้วย
       ผู้เขียนเห็นว่า ผู้ที่ต้องรับผิดชอบ ก็คือ “คณะปฏิรูปการปกครองฯ” และ “หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองฯ” เพราะ ตามหลักของการบริหารราชการแผ่นดิน ผู้ที่ใช้อำนาจสูงสุด จะต้องรับผิดชอบเป็นลำดับแรก ; ดังนั้น ในกรณีนี้ คณะปฏิรูปการปกครองฯ”เป็นผู้ที่วางระบบการคัดเลือกและแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเป็นผู้ที่เลือกและเสนอแต่งตั้งตัวบุคคลที่เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙ ที่คณะปฏิรูปการปกครองฯ เขียนขึ้นเอง ( ซึ่งจะโทษ “นักกฎหมาย”ที่อาสาเข้ามายกร่างรัฐธรรมนูญให้ - คงไม่ได้)
       “ตัวบุคคล” ที่เป็นนายกรัฐมนตรีหรือเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เคยเป็นอย่างไร ก็คงเป็นอย่างนั้น เคยมีพฤติกรรมอย่างไร ก็คงมีพฤติกรรมอย่างนั้น; เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองฯเป็นผู้เลือกและมอบหมาย “ภารกิจ”ให้บุคคลทั้งสองทำด้วยตนเอง และภารกิจไม่สำเร็จ “คณะปฏิรูปการปกครองฯ”จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้ และจะถ่ายโอนไปยังผู้ที่ตนเองเลือกและมอบหมายหรือแต่งตั้งให้ปฏิบัติภารกิจ ไม่ได้ ; ส่วนที่ผู้ได้รับมอบหมายหรือได้รับแต่งตั้ง(ไม่ว่าจะเป็นสมาชิก สนช. หรือ นายกรัฐมนตรี) จะต้องรับผิดชอบต่อสังคมเพียงใด ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาแยกจากกัน
       
       • ถ้าจะปฏิบัติภารกิจ ( การบริหารราชการแผ่นดิน ในช่วงของการรัฐประหาร) ให้สำเร็จ “คณะปฏิรูปการปกครองฯ” ควรจะทำอย่างไร (?) ; เช่นเดียวกับในข้อ (๓.๒)ที่ผ่านมา ผู้เขียนเห็นว่า คงไม่มีประโยชน์อะไร ที่จะมาพูดว่า ความผิดพลาดใน (ภารกิจ) การบริหารราชการแผ่นดิน ของ คณะปฏิรูปการปกครองฯ ว่า มีอะไรบ้าง และคงไม่มีประโยชน์อะไรเช่นเดียวกัน ที่จะพูดถึง “ผลของความล้มเหลวของคณะปฏิรูปการปกครองฯ” ที่เราเห็น ๆ กันอยู่แล้ว ในขณะนี้
       
ผู้เขียนคิดว่า จะมีประโยชน์และเป็น “ความรู้”มากกว่า ถ้าเราจะพูดว่า ถ้าคณะปฏิรูปการปกครองฯ จะปฏิบัติ “ภารกิจ (การบริหารราชการแผ่นดิน”ให้สำเร็จ คณะปฏิรูปการปกครองฯจะต้องเขียนรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว)ในส่วนที่เกี่ยวกับ “ภารกิจ”นี้ อย่างไร หรือ ต้องทำอะไรบ้าง
       ผู้เขียนเห็นว่า หากจะไม่ให้การปฏิบัติภารกิจ - การบริหารราชการแผ่นดิน”ของคณะปฏิรูปการปกครองฯ มีความผิดพลาด คณะปฏิรูปการปกครองฯ จำเป็นจะต้องมี “ความรู้” และ มีข้อที่จะต้องพิจารณา ก่อนที่เขียน(ออกแบบ) รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว (พ.ศ.๒๕๔๙) ๓ ประการ ดังนี้
       
       ข้อที่ (๑) ประการแรก คณะปฏิรูปการปกครองฯ มีความจำเป็นต้องรู้ถึง “ลักษณะ”ของภารกิจ - การบริหารราชการแผ่นดิน ว่า มีอย่างไร
       คณะปฏิรูปการปกครองฯ จำเป็นต้องรู้ว่า ในการทำรัฐประหาร “ภารกิจ - การบริหารราชการแผ่นดิน” เป็นภารกิจต่างหากโดยเฉพาะ แยกออกจาก “ภารกิจ – การจัดให้มีรํฐธรรมนูญฉบับใหม่”; คณะปฏิรูปการปกครองฯ ไม่ควรปะปนกัน เพราะวิธีแก้ปัญหาในสองภารกิจนี้ไม่เหมือนกัน และความรับผิดชอบก็ไม่เหมือนกัน
       ผู้เขียนได้เรียนให้ท่านผู้อ่านทราบแล้วว่า การบริหารราชการแผ่นดินในช่วงของการรัฐประหาร จะมีขอบเขต “มากกว่า”และ“ยากกว่า”การบริหารราชการแผ่นดินในภาวะปกติ และเป็นภารกิจที่ไม่สามารถที่จะทำให้เสร็จสิ้นลงได้ในช่วงของการรัฐประหาร เนื่องจากเวลาที่คณะปฏิรูปการปกครองฯ จะปฏิบัติภารกิจนี้จะจำกัดอยู่เพียงเมื่อได้ร่างรัฐธรรมนูญ (ถาวร) ฉบับใหม่ เสร็จสิ้นเท่านั้น ; ความท้าทายของภารกิจนี้ จึงอยู่ที่ว่า คณะปฏิรูปการปกครองจะทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ ให้มากที่สุดและให้ดีที่สุด ได้เพียงใด และอย่างไร
       ในหัวข้อที่ผ่านมานี้ ผู้เขียนได้กล่าวถึง ขอบเขตของ”งาน”ที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินของคณะปฏิรูปการปกครองฯ โดยแบ่งไว้เป็น ๓ ประเภท ดังนี้ คือ (๑) การบริหารประเทศ ซึ่งเป็นภาระปกติของรัฐบาล ซึ่งได้แก่ การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ / ปัญหาความยากจนของประชาขน/ ปัญหาการปราบปรามยาเสพติด / ปัญหาความปลอดภัยของประชาชน / ปัญหาฉุกเฉินที่เกิดจากภัยธรรมชาติ / ฯลฯ ; (๒) การเร่งรัดนำบุคคลที่กระทำความผิดฉ้อโกงแผ่นดินมาลงโทษในกระบวนการยุติธรรม ( เท่าที่ “กระบวนการยุติธรรม”ที่พิกลพิการของเราในปัจจุบัน จะเปิดโอกาสให้ทำได้ ) ; (๓) การตราหรือการแก้ไข “กฎหมายที่สำคัญ”(รวมทั้ง กฎหมายที่เกี่ยวกับ “กระบวนการยุติธรรม”) ที่เป็นระบบบริหารพื้นฐานของประเทศในการปกครองระบอบประชาธิปไตย (ให้ได้มาตรฐานหรือใกล้เคียงกับมาตรฐาน ของประเทศที่พัฒนาแล้วหรือของประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นของประเทศที่พัฒนาแล้ว) ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นรากฐานของการบริหารประเทศตาม “ระบบสถาบันการเมือง”ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะเขียนขึ้น
       แต่ตามความเป็นจริง ความสำคัญในงานบริหารราชการแผ่นดินในช่วงของการรัฐประหาร มิใช่อยู่ที่“ขอบเขต” ของงานที่มีอยู่อย่างกว้างขวาง (ที่ไม่รู้จักจบสิ้น ) ตามที่กล่าวมาแล้ว แต่ปัญหาที่แท้จริงของความสำเร็จของงานบริหารราชการแผ่นดินในช่วงของการรัฐประหาร จะอยู่ที่ ลักษณะของ “วิธีการทำงาน”ของงานบริหารราชการแผ่นดิน
       
งานบริหารราชการแผ่นดิน(ที่กล่าวมาทั้งหมด ๓ ประเภทข้างต้น) จะมีวิธีทำงาน อยู่ ๒ ลักษณะ คือ ลักษณะแรก เป็นงานบริหารที่ “ฝ่ายบริหาร”สามารถบริหารไปได้ด้วยตนเอง(โดยไม่ต้องตรากฎหมาย) เพราะฝ่ายบริหารมี “อำนาจ”อยู่แล้วในระบบบริหารราชการทั่วไป หรือเป็นเพราะมีบทกฎหมายที่ได้ตราไว้แล้วบัญญัติให้อำนาจไว้ และลักษณะที่สอง เป็นงานที่ “ฝ่ายบริหาร”จำเป็นต้องตรา (หรือแก้ไข) กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเพราะบทกฎหมายที่มีอยู่แล้ว มีข้อบกพร่อง หรือเป็นเพราะจำเป็นจะต้องตราบทกฎหมายขึ้นใหม่เพื่อการวางระบบบริหารพื้นฐานของประเทศที่เรายังไม่เคยมี ก็ตาม
       งานในลักษณะที่สอง คือ “งานที่ ฝ่ายบริหารจำเป็นต้องตรากฎหมาย”นี้ ซึ่งในกรณี จะเห็นได้ว่า มีสถาบันทางการเมืองที่เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กันอยู่ ๒ สถาบัน (คือ ฝายบริหาร - นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี กับ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ซึ่งจะไม่เหมือนกับภารกิจในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมี “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ”เพียงองค์กรเดียว ; และดังนั้น ถ้าต้องการ ให้การปฏิบัติภารกิจ – การบริหารราชการแผ่นดินในช่วงของการรัฐประหาร สำเร็จไปด้วยดี ในการเขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว(ซึ่งเป็นเครื่องมือในการจัดตั้งระบบสถาบันการเมือง - ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ) ก็จำเป็น จะต้องคำนึงถึงการมี “จุดหมาย”ร่วมกัน และการประสานการทำงาน ระหว่างสองสถาบัน ( รัฐบาล และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ)
       “งานการบริหารราชการแผ่นดินที่ต้องตรากฎหมาย” จะมีความสำคัญมากกว่า งานการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่ต้องตรากฎหมาย เพราะสาเหตุของการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)ที่เข้ามา “ผูกขาดอำนาจ” ตลอดจนการบิดเบือนอำนาจ (abuse of power)เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบทั้งของนักการเมืองและของข้าราชการประจำ ล้วนแล้วแต่มาจากข้อบกพร่องของ “ตัวบทกฎหมาย”ที่ไม่ได้มาตรฐาน(สากล)ทั้งสิ้น ; การที่นักการเมืองที่ทำการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ไม่ถูกดำเนินคดีและฟ้องร้องลงโทษ ก็เพราะความพิกลพิการใน “กระบวนการยุติธรรม” ซึ่งต้องการการแก้ไขโดยการตรากฎหมาย ; รวมตลอดไปถึง ถ้าหากจะคิด “แปลงระบบเศรษฐกิจพอเพียง” ให้เป็นระบบที่ถาวรในทางหนึ่งทางใด ก็ต้องตราเป็นกฎหมายเช่นเดียวกัน
; พูดรวม ๆ ก็คือ การแก้ปัญหาเกี่ยวกับระบบบริหารพื้นฐานของประเทศทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่มีอยู่แล้ว(แต่มีข้อบกพร่อง) หรือต้องออกเป็นกฎหมายใหม่ ล้วนต้องตราเป็นกฎหมายโดยผ่านสภานิติบัญญัติทั้งสิ้น
       การที่ “รัฐบาล”ของคณะปฏิรูปการปกครองฯ เข้ามาบริหารประเทศ โดยไม่มี “ความคิด”จะวาง รากฐานระบบการบริหารประเทศไว้โดย “บทกฎหมาย”สำหรับอนาคต และคิดแต่เพียงว่า เข้ามาบริหารประเทศเพียงเพื่อรอการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะมีการเลือกตั้ง เพื่อ “ความเป็นประชาธิปไตย”; ความคิดเช่นนี้ เป็นความคิดที่สั้นและง่ายเกินไป และทำให้ประเทศไทยเสียเวลาในการพัฒนาประเทศไปโดยเปล่าประโยชน์ ; รัฐบาลของคณะปฏิรูปการปกครองฯ ควรจะต้องทราบว่า การบริหารประเทศในลักษณะนี้ (ด้วยมติคณะรัฐมนตรี)นั้น เมื่อรัฐบาลของคณะปฏิรูปการปกครองฯพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ทุกอย่างก็จะกลับสู่ “ที่เดิม” ก่อนการรัฐประหาร ภายในเวลาไม่นานนัก ( ดังที่กำลังจะเกิดขึ้นเมื่อมีรัฐบาลใหม่ อยู่ในขณะนี้) ; และถ้าคณะปฏิรูปการปกครองฯ คิดได้เพียงเท่านี้ ก็ไม่ควรทำรัฐประหาร
       
       ถ้าคณะปฏิรูปการปกครองฯมีความตั้งใจและมีความเสียสละที่แท้จริง คณะปฏิรูปการปกครองฯ ย่อมอยู่ใน “ฐานะ” ที่สามารถ จะตราและแก้ไขบทกฎหมายเพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นได้มากมาย(หลายฉบับ) และสามารถอธิบายและทำให้ประชาชนเข้าใจได้ เพราะการแก้ไขบทกฎหมายเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดหวังได้ จากบรรดานักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)ที่รวบรวม “พรรคพวก”ลงทุนตั้งพรรคการเมืองและใช้เงินในการเลือกตั้ง(ในสภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอ) เพื่อเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ และโดยทางสังคมวิทยา (พฤติกรรม) ย่อมไม่มีนักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)คนใดที่ได้ลงทุนใช้จ่ายเงินไปแล้วในการเลือกตั้ง ที่จะไม่แสวงหากำไรคืน(จากทรัพยากรของชาติ) ; ดังนั้น จึงเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ คณะปฏิรูปการปกครอง ฯ( และรัฐบาล และ สภานิติบัญญํติแห่งชาติ) มิได้มี “จุดหมาย”ในภารกิจนี้เลย
       คณะปฏิรูปการปกครองและคนไทย ควรจะต้องรู้ว่า รัฐบาลของนักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)ไม่มีความประสงค์ ที่จะตรา “กฎหมาย”ที่ทำให้การบริหารประเทศ มีระบบ (บริหาร) ที่ดี และมีความโปร่งใส - transparency ตามแนวทางของกฎหมายมหาชน – ยุคใหม่ เพราะการมีระบบบริหารที่ดีและมีความโปร่งใสจะทำให้ “โอกาส”ในการทุจริตคอร์รัปชั่นและการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบของนักการเมือง(นายทุนธุรกิจ) ลดลง ; และ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลของนักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)จึงชอบการบริหารด้วย “มติคณะรัฐมนตรี” และ “การมอบอำนาจให้นายกรัฐมนตรีสั่งการแทนคณะรัฐมนตรี” โดยอ้างว่า เพื่อความคล่องตัวในการบริหารประเทศ [หมายเหตุ สำหรับ “ความรู้”เกี่ยวกับเทคนิคของหลักกฎหมายมหาชนว่า การเขียนกฎหมายอย่างไร จึงจะทำให้ กฎหมาย เป็น “กฎหมายที่ดี”; ผู้เขียนจะได้ไปกล่าวในหัวข้อ (๓.๒) ที่ว่าด้วย “ขอบเขต”ของการปฏิรูปการเมืองของ ประเทศไทย - ประเทศที่ด้อยพัฒนา(ทางกฎหมาย) ใน ส่วนที่ (๓) ต่อไป]
       
       ข้อที่ (๒) การออกแบบ การจัดองค์กรของ “ระบบสถาบันการเมือง” (ในรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙) จำเป็น จะต้องให้สอดคล้อง กับ “ลักษณะของภารกิจ”
       สิ่งที่สำคัญในการบริหาร (ไม่ว่าจะเป็นการบริหารธุรกิจหรือการบริหารราชการแผ่นดิน) ก็คือ การจัดองค์กร(organization) ซึ่งจะต้องให้สอดคล้องกับ “ภารกิจ” ; ซึ่งในกรณีของการรัฐประหาร ก็คือ การจัดองค์กรของ “ระบบสถาบันการเมือง”( สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และรัฐบาล) ซึ่งจะต้องให้สอดคล้องกับลักษณะของภารกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “งานการบริหารราชการแผ่นดินที่ต้องตรากฎหมาย”
       ผู้เขียนไม่อาจทราบได้ว่า ในขณะที่เขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.๒๕๔๙ ในดือนกันยายนที่ผ่านมานั้น “คณะปฏิรูปการปกครองฯ” กับ “นักกฎหมายและนักวิชาการ” ที่มาช่วยยกร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว )ได้มีการปรึกษาหารือและพิจารณาถึงการออกแบบ(รัฐธรรมนูญชั่วคราว) ที่ต้องคำนึงถึง “ความจำเป็น”ที่จะต้องมีการประสานงานระหว่าง “รัฐบาล” กับ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ในการออกกฎหมาย หรือไม่ เพราะถ้าไม่มีการพิจารณาถึงปัญหานี้ ย่อมแสดงถึง “ความไม่รู้” และ “ความไม่พร้อม”ของการทำรัฐประหารครั้งนี้เป็นอย่างมาก
       วิธีการและหลักเกณฑ์ในการคัดสรรตัวบุคคลพื่อแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และการคัดเลือกบุคคลที่จะเป็นรัฐบาล เป็นเงื่อนไขสำคัญของความสำเร็จ ของภารกิจ - งานบริหารราชการแผ่นดิน ในช่วงของการรัฐประหาร
       ผู้เขียนเห็นว่า นอกเหนือจากการบริหารราชการแผ่นดินอันเป็นภาระปกติของรัฐบาลแล้ว เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นและการบิดเบือนอำนาจเพื่อหาประโยชน์โดยมิชอบของนักการเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว (ควร)จะต้องกำหนดให้ “ การทำให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปโดยโปร่งใส – transparency ที่อยู่บนพื้นฐานของวิธีการที่กำหนดไว้ในตัวบทกฎหมาย” (มิใช่การบริหารโดยมติของคณะรัฐมนตรี) ให้เป็น“จุดหมาย”ของการบริหารประเทศโดยรัฐบาลชั่วคราวในช่วงของการรัฐประหาร และจะต้องทำให้เกิดขึ้นสำหรับการบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลต่อ ๆไป ด้วย
       อันที่จริงแล้ว ภารกิจนี้ ก็คือ การเริ่มต้น “การปฏิรูป - ระบบบริหารประเทศ”ในระดับล่างของกฎหมายปกครอง (administrative law) เพื่อให้รับกับ “การปฏิรูป – ระบบสถาบันการเมือง” ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ (constitutional law) นั่นเอง ; ซึ่งภารกิจนี้ มี “กฎหมาย”ที่จะต้องมีการปฏิรูปเป็นจำนวนมาก และในช่วงเวลาอันจำกัด รัฐบาล(ชั่วคราว)ของคณะปฏิรูปการปกครองฯ คงทำได้เท่าที่ทำได้เท่านั้น
       การกำหนดจุดหมายและภารกิจ (การบริหารราชการแผ่นดิน)อย่างชัดเจนและเปิดเผยไว้ในตัวบทรัฐธรรมนูญชั่วคราว จะทำให้คนทั่วไปเข้าใจถึงเหตุผล ของการกำหนด “วิธีการคัดสรร”และ “การเลือกตัวบุคคล”เพื่อการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเพื่อเป็นฝ่ายบริหาร – นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เพราะข้อกำหนดเหล่านี้ จะทำให้ได้บุคคล ที่เหมาะสมกับ “ภารกิจ” ซึ่งจะมีหน้าที่ต้องทำภารกิจที่กำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์ส่วนรวมให้บรรลุจุดหมาย ซึ่ง คงมิใช่เพียงแต่ว่า จะตั้งบุคคลใด ๆ จากกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ตามแต่จะกำหนดขึ้นมา โดยอ้างเพียงว่า “เพื่อความเป็นประชาธิปไตย”
       เท่าที่ปรากฎ จากการตรวจสอบดูบทบัญญัติของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราชไทย ๒๕๔๙ (มาตรา ๕) ที่กำหนดให้มีการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยคำนึงถึงบุคคลจากกลุ่มต่าง ๆ ในภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม และภาควิชาการ จากภุมิภาคต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ฯลฯ และ(มาตรา ๑๔) กำหนดไว้มีความว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรคนหนึ่ง โดยในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ให้ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และ ฯลฯ แสดงให้เห็นได้ว่า ในการร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙ คณะปฏิรูปการปกครองฯ มิได้มีการกำหนด “ภารกิจ – การบริหารราชการแผ่นดิน”ของรัฐบาล(ชั่วคราว)ในช่วงของการรัฐประหารแต่อย่างใด และคณะปฏิรูปการปกครองฯอาจคิดว่า “การบริหารราชการแผ่นดินในช่วงของการรัฐประหาร” คงเหมือน ๆ กับการบริหารราชการแผ่นดินในภาวะปกติ ซึ่งแล้วแต่ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ”และ “รัฐบาล”ที่คณะปฏิรูปการปกครองแต่งตั้งมาแล้ว จะดำเนินการไปได้เองตามความคิดเห็นของตนเอง และด้วยเหตุนี้ การคัดสรรตัวบุคคลในสถาบันการเมืองทั้งสอง (สมาชิกสภานิติบัญญัติ และคณะรัฐมนตรี) จึงไร้ “จุดหมาย”
       จากการประเมิน “ผลงาน”ของสถาบันการเมือง( สภานิติบัญญัติแห่งชาติและ รัฐบาล)ในช่วง ๑ ปี ๓ เดือน (ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น) แสดงให้เห็นว่า สมาชิกสภานิติบัญญํติแห่งชาติ และบุคคลในรัฐบาล ไม่เข้าใจและไม่ทราบว่า ในช่วงเวลา(อันจำกัด)ของการรัฐประหาร ตนมีภารกิจเร่งด่วนในตรากฎหมายเพื่อแก้ไขการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ (ควร)จะต้องทำให้สำเร็จ ในเรื่องใดบ้าง
       
       ข้อที่ (๓) คณะปฎิรูปการปกครอง ฯ จำเป็น ต้องเป็น “แกนกลาง” ของการปฏิบัติภารกิจ - การบริหารราชการแผ่นดิน จนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญ (ถาวร)ฉบับใหม่
       เมื่อได้ทราบ “ขอบเขต” และ “ลักษณะของวิธีการทำงาน”ของ ภารกิจ – การบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจน “รูปแบบ”ของสถาบันและองค์กรของรัฐที่จะทำหน้าที่สำคัญในการปฏิบัติภารกิจนี้แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดและจำเป็นที่สุด ก็คือ การประสาน “การทำงาน” ของสถาบันและองค์กรเหล่านี้เข้าด้วยกัน ซึ่งจะต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญ(ถาวร)ฉบับใหม่
       ดังนั้น คณะปฏิรูปการปกครองฯ จึงจะต้องกำหนดบทบาทและหน้าที่ของคณะปฏิรูปการปกครองฯของตนเองให้ชัดเจน และวาง “วิธีการ”ทำงานของสถาบันที่เกี่ยวข้อง ให้แน่ชัดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว
       ประการแรก ก็คือ นอกเหนือจากการเปิดเผยและการทำความเข้าใจกับประชาชนทั่วไป(เกี่ยวกับภารกิจ)ไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว คณะปฏิรูปการปกครองฯ จำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ภารกิจ( การบริหารราชการแผ่นดิน)ที่จำเป็นต้องทำในช่วงของการรัฐประหาร กับสถาบันและองค์กรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดย คณะปฏิรูปการปกครอง ฯ ต้องไม่ลืมว่า ตนเองมีหน้าที่ “กำกับดูแล” การปฏิบัติการตามภารกิจ ให้สำเร็จุล่วงไปให้มากที่สุดที่จะทำได้ อีกทั้งคณะปฏิรูปการปกครองฯ จะ ต้องเข้าใจ “จุดอ่อน ”ของสภาพทางสังคมวิทยาของระบบราชการและของข้าราชการไทยที่ไม่อยากทำงานให้แก่รัฐบาลชั่วคราว
       “สิ่งที่ขาดหายไป” ในรํฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๔๙ ก็คือ การประชุม (forum)ของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองฯ กับหัวหน้าของสถาบันหรือองค์กรของรัฐที่สำคัญ ๆ ซึ่ง เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประสานงาน / ติดตามผลงาน / และร่วมกันแก้ปัญหาในทางบริหาร และที่สำคัญก็คือ เพื่อกำหนด “ภารกิจที่จำเป็นต้องทำ(การปฏิรูปกฎหมาย)” ซึ่งจะต้องมีการกำหนดอย่างต่อเนื่อง เพราะภารกิจ – การบริหารราชการแผ่นดิน ไม่อาจกำหนดล่วงหน้าครั้งเดียวและให้เป็นที่สุดได้
       เท่าที่ปรากฎ รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๔๙ (มาตรา ๓๔)บัญญัติไว้ เพียงว่า เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงแห่งชาติ ให้มีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (ประกอบด้วยบุคคลที่เป็นคณะปฏิรูปการเมือง ฯ) และในกรณีที่เห็นสมควร ประธานมีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติหรือนายกรัฐมนตรีอาจขอให้มีการประชุมร่วมกัน(ระหว่าง คมช. และ ครม.) ในปัญหาเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงแห่งชาติ รวมตลอดทั้งการปรึกษาหารือเป็นครั้งคราวในเรื่องอื่นใดก็ได้ ; ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คณะปฏิรูปการปกครอง มองไม่เห็นบทบาทของตนเอง ใน ภารกิจที่สำคัญนี้
       
       ประการที่สอง ในการปฏิบัติ ภารกิจ – การบริหารราชการแผ่นดิน ในช่วงของการรัฐประหารให้สำเร็จนี้ คณะปฏิรูปการปกครองฯจำเป็นจะต้องมี “ความรู้ทั่วไป ”เกี่ยวกับสภาพทางวิชาการกฎหมายของประเทศ(ไทย) คือ ต้องทราบว่า ระดับความรู้และความสามารถของ“นักวิชาการในวงการกฎหมาย”(ของไทย)ในปัจจุบัน ที่ต่ำกว่ามาตรฐานในระดับสากลของประเทศที่พัฒนาแล้ว(มาก) และประเทศไทยเต็มไปด้วยนักกฎหมายประเภทศรีธนญไชย แต่ในทางกลับกัน ภารกิจ - การบริหารราชการแผ่นดินที่จำเป็นต้องตราหรือแก้ไขกฎหมาย จะมีเป็นจำนวนมาก
       ดังนั้น สิ่งที่จำเป็น ต้องทำ [แต่คนทั่วไปอาจมองไม่เห็น เพราะคิดว่าประเทศไทยเต็มไปด้วย “นักกฎหมาย”ที่มีปริญญา(บัตร)อยู่จำนวนมาก] ก็คือ การรวม “หน่วยการร่างกฎหมาย (เฉพาะกิจ)” และนำเอานักกฎหมายที่คณะปฏิรูปการปกครองฯ คิดว่า “ดีที่สุด”(เท่าที่ประเทศไทยจะพึงมี ) มาไว้ในหน่วยนี้ เพื่อทำให้การร่างกฎหมายที่เป็นภารกิจเร่งด่วน สามารถทำให้เสร็จสิ้นในครั้งเดียว พร้อมทั้งการจัดบันทึกอธิบายร่างกฎหมายฯ (โดยมีการกำหนดมาตรฐาน) ; คณะปฏิรูปการปกครองและรํฐบาล ไม่ควรปล่อยให้ส่วนราชการแต่ละแห่งต่างคนต่างเขียนกฎหมายด้วยตนเอง ซึ่งนอกจากจะเป็นกฎหมายที่ขาด “คุณภาพ”แล้ว ยังมีแนวโน้มที่ส่วนราชการต่าง ๆ จะเขียนกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการขยายอำนาจของตนเอง
       คณะปฏิรูปการปกครองฯควรจะต้องทราบด้วยว่า “คุณภาพ (การออกแบบกลไก –mechanism ของ(ร่าง)กฎหมาย” เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย แม้แต่กับสถาบันที่เกี่ยวกับการร่างกฎหมายของเราเอง ; ผู้เขียนเห็นว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯ อยู่ในฐานะที่จะกำหนดวิธีการร่างกฎหมาย เพื่อให้คนไทยเห็นเป็น “แบบอย่าง”ได้ว่า กระบวนการร่างกฎหมายของประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาทำกันอย่างไร และ มาตรฐานของการทำ “เอกสารประกอบร่างกฎหมาย”มีความสำคัญอย่างไร และก่อให้เกิดความโปร่งใส – transparency ในการตรากฎหมายได้ อย่างไร ; สิ่งเหล่านี้ จะเป็นการให้ประสบการณ์แก่สังคมไทย และเป็นส่วนหนึ่งของ “การปฏิรูปการเมือง”
       
       อ่านต่อ
       
       หน้า 27
       หน้า28
       หน้า 29


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544