หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 197
12 ตุลาคม 2551 22:41 น.
ครั้งที่ 197
       สำหรับวันจันทร์ที่ 13 ตุลาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม 2551
       
       “ประตูไปสู่การเมืองใหม่ (2)”
       
       ก่อนอื่นก็ต้องขอแสดงความเสียใจต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์วุ่นวายเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ที่ผ่านมาครับ
       “ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง” เป็นคำที่ผมเลือกที่จะนำมาใช้เพราะเป็นคำที่ “กว้างมาก” โดยผมต้องการให้หมายความรวมถึงผู้ที่ต้องสูญเสียคนในครอบครัว ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทั้งทางกายและทางใจ ผู้ที่ไม่สามารถไปทำงานหรือเรียนหนังสือได้ ผู้ที่ไม่ได้รับความสะดวกในการสัญจรไปมา คนเหล่านี้ถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งก็ไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องเป็นผู้ที่ “อยู่ข้างใด” ครับ และนอกจากนี้แล้ว ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอีก 1 ที่จำเป็นจะต้องกล่าวถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ “ประเทศไทย” ครับ เพราะจริง ๆ แล้วหากจะว่ากันไปตาม “เนื้อผ้า” ประเทศไทยคือผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ไม่เชื่อลองหันไปดูรอบ ๆ ตัวเราก็ได้ครับ ในยามที่เศรษฐกิจโลกถดถอยและมีปัญหาระดับนานาชาติ แทนที่เราจะมีรัฐบาลที่สามารถพาประเทศไทยและคนไทยให้หลุดรอดปากเหยี่ยวปากกาไปได้ แต่เรากลับมี “สงครามกลางเมือง” แบ่งฝักแบ่งฝ่ายสู้รบกันเองโดยไม่เหลียวมองรอบๆตัวเราว่าการสู้รบเหล่านี้ให้อะไรกับเราบ้าง ที่เห็นก็มีแต่ความเสียหายที่เป็นตัวเงิน ความเสียหายทางด้านวัตถุ ความเสียหายทางด้านจิตใจ ความเสียหายที่มีต่อภาพพจน์และชื่อเสียงของประเทศ ความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นไม่รู้ว่าเมื่อไรจะทำให้กลับคืนมาสู่สภาพเดิมได้ แล้วการที่ต้อง “สู้รบ” กับพายุเศรษฐกิจที่พัดกระหน่ำมาจากต่างประเทศซึ่งก็เป็นที่แน่นอนว่ายังไงก็ต้องกระทบกับระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก เราจะทำอย่างไรครับ ใครจะเป็นผู้มานำพาเราให้รอดพ้นจากปัญหาเศรษฐกิจเหล่านั้นได้ เพราะบรรดาชนชั้นนำของประเทศไทยต่างก็พากันสู้รบกันเอง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายแทบจะเรียกได้ว่าไม่มองหน้ากันเลย นึก ๆ ดูแล้วก็อด “สงสารประเทศไทย” ไม่ได้นะครับ
       เกือบ 3 ปีมาแล้ว ต่างคนก็ต่างถามกันว่าแล้วเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร เป็นคำถาม “อมตะ” ที่ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครตอบได้ แต่พัฒนาการที่มองเห็นก็คือความวุ่นวายสับสนที่มีมากขึ้นทุกวัน อำนาจรัฐหดหายไปจนไม่เหลือพอที่จะสามารถแก้ปัญหาอะไรได้เลย คำพูดของฝ่ายปกครองก็ไม่มีน้ำหนัก ขนาดตำรวจบอกว่าไม่ได้ใช้อาวุธ แต่คนส่วนใหญ่ก็เชื่อว่าตำรวจใช้อาวุธกับประชาชน ในวันนี้เมื่อผู้ปกครองประเทศไร้อำนาจ ฝ่ายปกครองไร้ความน่าเชื่อถือ แล้วประเทศชาติจะรอดไปได้อย่างไรครับ
       ผมไม่มีคำตอบสำหรับทุกเรื่อง ไม่มีแถลงการณ์ใด ๆ และไม่ออกความเห็นกับเรื่องดังกล่าว วันนี้เหตุการณ์ไปไกลเกินกว่านักวิชาการจะออกมาให้ความเห็นหรือออกแถลงการณ์ได้แล้วครับ ผมไม่ทราบว่ามีใครเบื่อ “แถลงการณ์” เหมือนผมบ้างหรือเปล่า เอะอะอะไรก็ออกแถลงการณ์ เก่ง ๆ กันทั้งนั้น เห็นใครมีข้อเสนออะไรก็เสนอกับเขาบ้างโดยไม่ดูอะไรเลย พอมีคนบอกว่าควรยุบสภาก็ดาหน้ากันออกมาเสนอความเห็นว่าควรยุบสภาโดยไม่คิดต่อไปว่าใครจะเป็นผู้รักษาการระหว่างยุบสภา แล้วถ้าเลือกตั้งใหม่หากได้นักการเมืองหน้าเดิมกลุ่มเดิมเข้าอีกจะทำอย่างไร พอมีคนบอกว่าควรปฏิรูปการเมืองก็แห่กันออกมาเสนอให้ปฏิรูปการเมืองกับเขาบ้างโดยไม่รู้ว่าจะปฏิรูปอะไรกัน ก็ขนาด ส.ส.ร. ปี 50 บางคนยังมาร่วมออกแถลงการณ์ให้มีการปฏิรูปการเมืองได้ทั้ง ๆ ที่ตัวเองนั่งอยู่ในที่ ๆ สามารถปฏิรูปการเมืองมาแล้ว กินเงินเดือน ส.ส.ร. ที่มาจากภาษีอากรของประชาชนมาแล้วหนึ่งปี รัฐธรรมนูญที่ตัวเองมีส่วนร่างใช้มาแค่ไม่กี่วัน ก็มาร่วมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองอีกแล้ว อย่างนี้จะไม่ให้ผมเบื่อได้อย่างไรครับ ในวันนี้สังคมไทยต้องการ “อัศวินขี่ม้าขาว” มาแก้ปัญหามากกว่า “ปราชญ์” ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ตำหนิติเตียนหรือออกแถลงการณ์ในสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ในทางปฏิบัติ ตัวอย่างชัดๆที่เห็นก็คือ การที่มีผู้มานั่งพูดนั่งเสนอเรื่อง “นิติรัฐ” กับเรื่อง “สมานฉันท์” กันตั้งไม่รู้กี่เดือนมาแล้ว แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่มีใครทำอะไรได้เลย ทุกฝ่ายฝ่าฝืนกฎหมาย ทุกฝ่ายต้องการเป็นผู้ชนะ เพราะฉะนั้นในวันนี้ไม่พูดอะไรดีกว่า เพราะพูดก็คงไม่มีอะไรดีขึ้นครับ
       กลับมาดูเรื่อง “การเมืองใหม่” กันอีกรอบนะครับ ในวันนี้ไม่ทราบว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะยังเรียกร้องให้มี “การเมืองใหม่” อีกหรือไม่ เพราะไม่ว่าจะเป็นการกระทำทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาจากฝ่ายพันธมิตรฯ เองหรือเกิดจากฝ่ายรัฐ ทำให้มองได้ว่า การเมืองใหม่คงเริ่มจากคนกลุ่มเก่าไม่ได้อย่างแน่นอนนะครับ กว่าจะมีการเมืองใหม่ได้ ก็คงต้องทำให้นักการเมืองเก่าและพลเมืองที่ไม่เคารพกฎหมายออกไปให้พ้นจากสังคมของเราก่อนครับ!
       บทบรรณาธิการครั้งที่แล้วมีคนนำไปใช้กันมาก มีคนมาเล่าให้ผมฟังว่าถูกนำไปใช้สนับสนุนระบบ “การเมืองใหม่” ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็ยังดีครับที่เขียนแล้วยังมีคนเอาไปใช้ เหตุผลที่ผมต้องเขียนต่อเรื่อง “ประตูไปสู่การเมืองใหม่” ทั้ง ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าในขณะนี้ยังมีผู้คนสนใจเรื่องการเมืองใหม่กันอยู่หรือไม่ หรือการเมืองใหม่เป็นเพียง “ข้ออ้าง” อีกข้อหนึ่งที่จะนำมาสร้างความชอบธรรมในการ “ล้ม” รัฐบาล หรือไม่ก็เป็นข้ออ้างที่ดีสำหรับการมี “รัฐบาลใหม่” ก็ไม่ทราบ ปัจจุบันสังคมเริ่ม “มองเห็น” กันแล้วว่า การเมืองระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถแก้ปัญหาหลักของประเทศได้ รัฐธรรมนูญที่ร่างโดย “มนุษย์” ที่อุตส่าห์ไปขนานนามกันว่าเป็น “อรหันต์” ก็สร้างปัญหาเพิ่มขึ้นและก็ไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศที่มีอยู่แต่เดิมได้ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ผมน่าจะลอง “โหนกระแส” กับเขาไปด้วยการเสนอให้มีการศึกษาวิเคราะห์ระบบ “การเมืองใหม่” ว่าในอนาคตประเทศไทยเราควรจะมีระบบการเมืองอย่างไร
       ผมมีโอกาสได้พิจารณาข้อเสนอของกลุ่มอธิการบดีจำนวนหนึ่งทั้ง 2 ข้อเสนอ ซึ่งฝ่ายการเมืองก็รีบรับลูกทันทีพร้อมกับมีข้อเสนอว่าต้องแก้มาตรา 291 แห่งรัฐธรรมนูญเพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอทั้งหมดเป็นข้อเสนอที่ผมต้องใช้คำสุภาพที่สุดเท่าที่จะได้ทำได้ว่าผมไม่เห็นด้วย ผมไม่ทราบว่าทำไมเราถึงต้องคิดแต่จะแก้รัฐธรรมนูญกันอยู่เรื่อยครับ ผู้ที่ติดตามงานเขียนผมอย่างต่อเนื่องคงจะพอจำได้ว่า ผมคัดค้านการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ผมคัดค้านการออกเสียงประชามติเพราะจะทำให้เสียเงินของประเทศอย่างไม่จำเป็น ผมคัดค้านบทบัญญัติจำนวนหนึ่งในรัฐธรรมนูญรวมทั้งมาตราสุดท้ายที่ “อรหันต์” ผู้ร่างรัฐธรรมนูญออกมา “ปกป้อง” กันเหลือเกิน และเมื่อรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ ผมก็ได้ฝากข้อเสนอถึงรัฐบาลใหม่ไว้ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 177 ซึ่งเผยแพร่ไปเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2551 ในหัวข้อ “รัฐบาลใหม่ควรทำอะไรบ้าง” ว่า ควรตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ก่อนว่ามีปัญหาอะไรบ้าง ซึ่งผมก็ได้พูดถึงเรื่องดังกล่าวไว้ในบทบรรณาธิการหลายครั้ง จนกระทั่งในบทบรรณาธิการครั้งล่าสุด คือ บทบรรณาธิการครั้งที่ 196 ซึ่งเผยแพร่ไปเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2551 ผมก็ได้เสนอให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งเข้ามาทำการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาของประเทศกับรัฐธรรมนูญทั้งฉบับปี พ.ศ. 2540 และฉบับปี พ.ศ. 2550 ว่าจริง ๆ แล้ว ปัญหาของประเทศมีต้นตอมาจากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือมาจากพฤติกรรมของมนุษย์ เมื่อหาปัญหาพบเราจึงจะได้คำตอบว่า ควรแก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่ ถ้าควรก็จะต้องแก้ไขประเด็นใดบ้างปัญหาของประเทศจึงจะยุติลงครับ
       ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมขอเสนอประเด็นดังกล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกนะครับ ลองพิจารณาดูแล้วกัน ข้อเสนอของผมมาก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ รัฐบาลต้องตั้งคณะทำงานเล็ก ๆ ขึ้นมา 1 ชุด ไม่เกิน 20 คน เพื่อศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมาว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญหรือเกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ ประธานคณะทำงานจะต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านการเมืองอย่างมาก มีความรู้ความสามารถด้านกฎหมายเป็นอย่างดีเพราะปัญหาของประเทศในวันนี้ส่วนใหญ่เป็นปัญหากฎหมาย และนอกจากนี้ยังต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตและเป็นกลางด้วย ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ที่ผมเห็นว่าคนที่เหมาะสมที่สุด คือ คุณชวน หลีกภัย ครับ! ในประเทศไทยวันนี้ต้องยอมรับว่าคุณชวนฯ มีประสบการณ์ทางการเมืองมากที่สุด เป็นนายกรัฐมนตรีมา 2 รอบ เป็นรัฐมนตรีอีกไม่ทราบว่ากี่ครั้ง เป็นผู้นำฝ่ายค้าน ถูกทรยศหักหลังจากพรรคการเมืองและนักการเมืองก็เคย เรียนจบกฎหมายจากธรรมศาสตร์ เคยเป็นอาจารย์สอนกฎหมายที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีภาพของความซื่อสัตย์สุจริตติดตัวมาตลอด แถมยังเป็น “ประชาธิปัตย์” อีกด้วย หากตั้งคุณชวนฯ มาเป็นประธานคณะทำงาน เสียงคัดค้านจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและจากพรรคฝ่ายค้านก็คง “เบาบาง” ลงอย่างแน่นอนครับ จะติดอยู่นิดเดียวก็คือ “ความเป็นกลาง” เพราะอย่างที่เราทราบกันอยู่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ในวันนี้มีทิศทางของการดำเนินการทางการเมืองตรงกันข้ามกับรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่ผมไม่ห่วงเท่าไรครับ ลองถ้าคุณชวนฯ รับทำงานใหญ่ขนาดนี้เชื่อได้ว่าคุณชวนฯ ต้องรักษาความเป็นกลางได้เป็นอย่างดีครับ ส่วนคณะทำงานนั้นผมเสนอว่าควรให้ประธานคณะทำงานร่วมกับนายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง อย่าเพึ่งตกใจครับที่ผมเสนอให้คนจาก 2 ขั้วมาแต่งตั้งคณะทำงาน ผมว่าน่าจะเป็นสิ่งดีที่ให้ทั้ง 2 ตัดสินใจร่วมกันโดยมีกรอบของการแต่งตั้งง่าย ๆ คือ คณะทำงานควรมี 2 ส่วน ส่วนแรก จำนวนไม่เกิน 15 คน ควรตั้งจากผู้มีความเชี่ยวชาญที่สุดในประเทศไทย โดยยึดโยงจากหมวดต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญ เช่น หมวดสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยก็ต้องตั้งจากคนที่เก่งที่สุดและรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพดีที่สุดในประเทศไทย คณะทำงานส่วนที่ 2 จำนวนไม่เกิน 5 คนมาจากนักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ และนักอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับการศึกษาปัญหาของประเทศ คณะทำงานจะต้องทำงานศึกษารัฐธรรมนูญในแต่ละหมวดอย่างละเอียดว่า บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 มีปัญหาอย่างไรหรือไม่ โดยทำการศึกษาจากปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงเวลาบังคับใช้รัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ ตรงจุดนี้ที่ผมคิดว่าผู้ที่มีความเชี่ยวชาญที่สุดในเรื่องที่อยู่ในหมวดต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ที่หาคำตอบให้กับสังคมได้ดีที่สุดและเร็วที่สุดครับ ด้วย “บารมี” กับ “ประสบการณ์” ของประธานคณะทำงานประกอบกับความเชี่ยวชาญของคณะทำงานทั้งหมด ผมว่าไม่เกิน 3 เดือน เราน่าจะได้เห็น “รายงานการศึกษาปัญหาของประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2540 - 2551” ได้นะครับ เมื่อคณะทำงานส่งรายงานดังกล่าวให้รัฐสภาและเผยแพร่ให้กับประชาชนทราบแล้ว ถึงตอนนั้นค่อยมาพิจารณากันว่า ตกลงแล้วต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ต้องสร้างระบบการเมืองใหม่หรือไม่ เพราะไม่แน่นะครับปัญหาที่เกิดขึ้นอาจมีที่มาจาก “น้ำมือมนุษย์” มากกว่า “ข้อบกพร่อง” ที่เกิดจากตัวบทรัฐธรรมนูญก็ได้ครับ
       ถ้ายังไม่ชัดเจนพอ ผมขยายให้ฟังได้อีกในทุกโอกาสนะครับ ผมขอย้ำจุดยืนของผมคือ ต้องทำการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาของประเทศให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะเดินไปในทิศทางใดต่อไปครับ
       สัปดาห์นี้เรามีบทความ 2 บทความมานำเสนอครับ บทความแรกป็นบทความของ รองศาสตราจารย์ ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนที่มี “แฟน” มากเหลือเกินในวันนี้ครับ อาจารย์วรเจตน์ฯ ได้เขียนบทความเพื่อ “ตอบ” บทความของศาสตราจารย์ ดร. อมร จันทรสมบูรณ์ ที่ลงเผยแพร่ไปใน www.pub-law.net เมื่อประมาณ 2 - 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาครับ บทความดังกล่าวคือบทความเรื่อง “การกระทำทางรัฐบาลกับคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 547/2551” (ความเห็นต่อบทความ ศ. ดร. อมรฯ “เขาพระวิหาร 2” ) ซึ่งจริง ๆ แล้ว อาจารย์วรเจตน์ฯ ได้ส่งบทความดังกล่าวมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วและเราได้ลงเผยแพร่ไปล่วงหน้าประมาณ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาแล้วครับ บทความที่สองเป็นบทความของคุณ เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง ผู้ช่วยนักวิจัย สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งได้ส่งบทความเรื่อง “ข้อสังเกตถึงวิธีการให้เหตุผลของศาลปกครองในคดีหมายเลขดำที่ ๑๖๐๕/๒๕๕๑” มาร่วมกับเราครับ ผมขอขอบผู้เขียนบทความทั้งสองไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       อีกไม่กี่วันผมจะเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสตามปกติของผมและก็จะกลับมาตอนเปิดเทอมคือ 27 ตุลาคม 2551 ครับ บทบรรณาธิการคราวหน้าอาจไม่ได้พูดเรื่องสถานการณ์บ้านเมืองของเราครับ ก็คงเช่นเคยหากผมพบเห็นอะไรน่าสนใจก็จะเก็บมาเล่าให้ฟังครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม 2551 ครับ
       ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544