หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 213
24 พฤษภาคม 2552 22:54 น.
ครั้งที่ 213
       สำหรับวันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน 2552
       
       “เมื่อนักการเมืองแก้ไขรัฐธรรมนูญ”
       

       เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวสำคัญสองข่าวที่เกิดขึ้นในบ้านเราเป็นเรื่องที่น่าสนใจและติดตามเป็นอย่างยิ่ง โดยข่าวแรกเป็นเรื่องการทำงานของคณะอนุกรรมการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ส่วนข่าวที่สองก็คือ การที่กระทรวงการคลังโดย อ.ก.พ. กระทรวงมีมติไล่ปลัดกระทรวงการคลังออกจากตำแหน่ง
       ข่าวแรก
เกี่ยวกับการทำงานของคณะอนุกรรมการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากสำหรับ “นักกฎหมายมหาชน” เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสำคัญและเป็นกติกาหลักที่นำมาใช้ในการปกครองประเทศ คงจำกันได้ว่าก่อนที่จะมีการทำประชามติให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้น กระแสคัดค้านทั้งรูปแบบและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมีอยู่มากจนทำให้คนจำนวนหนึ่ง “หวาดกลัว” ว่าการ “สร้างกระแส” ดังกล่าวจะส่งผลทำให้รัฐธรรมนูญไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนในการออกเสียงประชามติ ด้วยเหตุนี้เองที่มีคนจำนวนหนึ่งซึ่งรวมไปถึงนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ออกมาแสดงความเห็นสนับสนุนรัฐธรรมนูญในลักษณะเป็นการ “รับไปก่อนแล้วค่อยไปแก้ทีหลัง” แต่เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันผ่านการออกเสียงประชามติ ก็แทบจะไม่ได้ยินเสียงเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญอีก จนกระทั่งเกิดปัญหาขึ้นกับพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นรัฐบาลในขณะนั้นและมีการ “คาดเดา” กันว่าอาจเกิดการ “ยุบพรรค” ขึ้นอีกครั้งหนึ่งตามบทบัญญัติของมาตรา 237 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเกิดขึ้นและนำไปสู่วิวาทะทางการเมืองในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ฝ่ายหนึ่งพยายามหาทางแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตัวเอง “รอดตาย” ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็เห็นดีเห็นงามไปกับการบังคับใช้รัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดเพื่อให้อีกฝ่าย “ต้องตาย” จากวันนั้นถึงวันนี้ พรรคพลังประชาชนถูกยุบไปแล้ว รัฐธรรมนูญได้รับการ “ค้ำยัน” จากหลาย ๆ ฝ่าย จนกลายเป็น “สิ่งที่แตะต้องไม่ได้” ไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ในปัจจุบัน เมื่อเหตุการณ์ทางการเมืองเข้าสู่ภาวะที่ดู ๆ แล้วเหมือนจะปกติ ก็เริ่มมีการพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่งซึ่งในวันนี้ก็ตกเป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องครับ
       ผมไม่ได้ให้ความสนใจกับคณะอนุกรรมการชุดนี้เท่าไรนัก เพราะในขณะที่มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการนั้นผมอยู่ต่างประเทศ ติดตามข่าวคราวต่าง ๆ ได้ไม่สะดวก และนอกจากนี้องค์ประกอบของคณะอนุกรรมการก็ไม่ถูกใจผมด้วยเช่นกัน เพราะส่วนใหญ่ก็เป็น “นักการเมือง” หรือคนที่ “พรรคการเมือง” เสนอเข้ามา ส่วนวิธีการทำงานนั้น เท่าที่ผมทราบข่าวคราวจากสื่อต่าง ๆ ก็คือเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองเสนอมาตราที่ประสงค์จะให้มีการทบทวนหรือแก้ไขเข้ามายังคณะอนุกรรมการซึ่งในทางวิชาการก็คงไม่ใช่วิธีการที่ดีหรือถูกต้องสำหรับการแก้ไข “กฎหมาย” ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายธรรมดา ๆ หรือรัฐธรรมนูญอันเป็นกติกาสูงสุดของประเทศ เพราะการแก้ไขบทบัญญัติต่าง ๆ นั้นควรจะต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ให้ละเอียดถึงการเกิดขึ้นของบทบัญญัติดังกล่าวและผลในทางปฏิบัติที่ตามมาของบทบัญญัตินั้น หากผลการศึกษานำไปสู่การทบทวนหรือการแก้ไข ก็คงต้องทำการศึกษาวิเคราะห์อีกเช่นกันว่าเจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าวยังใช้ได้อยู่หรือไม่และจะทบทวนหรือแก้ไขไปในทิศทางใดจึงจะเหมาะสมที่สุด การเสนอขอทบทวนหรือแก้ไขบทบัญญัติโดย “ผู้ใช้” หรือ “ผู้ได้รับผลกระทบ” จึงมีส่วนถูกอยู่เพียงครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งนั้นคณะอนุกรรมการคงจะต้อง “หาทางออก” กันเอาเองเพราะคงเป็นที่ยอมรับกันลำบากหากการทบทวนหรือแก้ไขบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่มีผลกระทบโดยตรงต่อนักการเมืองมาจากข้อเสนอของนักการเมืองเองครับ ก็ต้องขอฝากเอาไว้ด้วยครับ และนอกจากนี้ หากจะมีการทบทวนหรือแก้ไขบทบัญญัติใด ๆ ในรัฐธรรมนูญ คณะอนุกรรมการควรจะมี “ข้อเสนอ” ที่มีเหตุผลทางวิชาการที่ชัดเจน เป็นเหตุเป็นผล สามารถอธิบายได้ และหากแก้ไขแล้วจะเกิดผลดีต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างไรด้วยครับ!
       อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าการทำงานที่ผ่านมาทั้งหมดของคณะอนุกรรมการจะ “ไม่เข้าตา” ไปเสียทั้งหมด ผมมีโอกาสได้อ่านผลการทำงานของคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาซึ่งที่ประชุมได้มีความเห็นว่าหากยังคงอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาไว้ตามเดิมที่สามารถแต่งตั้งและถอดถอนบุคคลที่อยู่ในองค์กรอิสระได้ ก็ควรที่จะแก้ไขให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่ถ้าหากจะปรับเปลี่ยนอำนาจหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาให้มีอำนาจเพียงพิจารณาร่างกฎหมายได้อย่างเดียว สมาชิกวุฒิสภามาจากการสรรหาก็ได้ ซึ่งเมื่อผมได้อ่านความเห็นดังกล่าวแล้วก็รู้สึกว่า “โจทย์” ที่ตั้งไว้นั้นถูกต้องแล้ว เพียงแต่ “การหาคำตอบ” ให้กับโจทย์เหล่านั้นจะทำโดยใครและด้วยวิธีใดจึงจะได้คำตอบที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทย การหาคำตอบที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่จะ “วัด” แนวคิดและวิธีการทำงานของคณะอนุกรรมการว่าจะสามารถหา “ทางออก” ให้กับปัญหาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่เพราะในวันนี้กระแสของการ “คัดค้าน” การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ยังคงมีอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการแก้ไข “โดยนักการเมืองและเพื่อนักการเมือง” ครับ!!! ส่วนเรื่องมาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญที่คณะอนุกรรมการยืนยันว่าจะต้องมีการแก้ไขเพราะเป็นปัญหาและอุปสรรคในการทำงานของรัฐบาลโดยมีผู้เสนอให้ระบุเพิ่มไปว่าให้มีกฎหมายกำหนดว่าสนธิสัญญาใดต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภานั้น ในเรื่องดังกล่าวโดยหลักการเป็นสิ่งที่ “พอฟังได้” ตัวผมเองก็ได้เคยเสนอเอาไว้เมื่อตอนที่มีปัญหาเรื่องปราสาทพระวิหารไปแล้ว แต่ข้อเสนอของผมยังอยู่ที่ว่ากระทรวงการต่างประเทศต้องเป็นผู้จัดทำบัญชีของสนธิสัญญาต่าง ๆ ที่จะต้องให้รัฐสภาพิจารณาเพราะกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องสนธิสัญญาประเภทต่าง ๆ ดีที่สุด ซึ่งในวันนี้ผมก็ยังคงยืนยันความเห็นเดิมเพราะหากจะต้องออกกฎหมายมาเพื่อกำหนดประเภทของสนธิสัญญาแล้ววันข้างหน้าหากสนธิสัญญาประเภทใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาก็จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายซึ่งก็คงเป็นเรื่องใหญ่และไม่คล่องตัวเท่าที่ควรครับ แต่ถ้าหากคณะอนุกรรมการจะยืนยันว่าควรทำเป็นกฎหมายก็ไม่มีอะไรเสียหายครับ
       นั่นคือสองประเด็นที่เกิดจากการทำงานของคณะอนุกรรมการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องครับ เราคงต้องติดตามกันอย่างไม่กระพริบตานะครับว่าในที่สุดแล้ว ประเทศชาติและประชาชนจะได้อะไรจากการทำงานของคณะอนุกรรมการชุดนี้บ้าง เพราะเท่าที่ดูๆ การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ผู้ที่ได้ประโยชน์เต็มๆน่าจะเป็น “นักการเมือง” นะครับ!!! อย่างไรก็ตาม หากจะแก้มาตราไหน หากผมสามารถ “ร้องขอ” ได้ ผมอยากเห็นข้อเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราพร้อมเหตุผลทางวิชาการและทางปฏิบัติประกอบเป็นรายมาตราเช่นเดียวกันครับ!
       สืบเนื่องมาจากประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กล่าวไปแล้ว เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เราก็ได้เห็นพรรคประชาธิปัตย์เสนอประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคต่อประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องโดยประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอมี 5 ประการคือ การปรับปรุงที่มาของ สว. และอำนาจหน้าที่ต้องทำให้สอดคล้องกัน การแก้ไขมาตรา 190 ให้ชัดเจน การแก้ไขมาตรา 237โดยไม่ให้มีบทลงโทษยุบพรรค แต่ให้คงการลงโทษผู้กระทำผิดและการลงโทษคณะกรรมการบริหารพรรคเอาไว้ การแก้ไขมาตรา 256 (1) โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้และการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 266 เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาในฐานะตัวแทนประชาชนสามารถนำความเดือดร้อนของประชาชนแจ้งไปยังหน่วยงานของรัฐได้
       ทั้ง 5 ประเด็นที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอมานั้นดู ๆ แล้วก็ยังคง “เวียนว่าย” อยู่ในแวดวงของ “นักการเมือง” แม้บางประเด็นประชาชนอาจได้ประโยชน์บ้างแต่ก็ไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ “เพื่อประชาชน” นะครับ!!!
       ส่วนข่าวที่สองเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคือการที่ อ.ก.พ. กระทรวงการคลังมีมติไล่ปลัดกระทรวงการคลังออกจากตำแหน่ง เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากเพราะเป็นเรื่องที่เรียกได้ว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เลยในการทำงานของข้าราชการประจำที่ต้องถูกไล่ออกจากราชการเพราะแต่งตั้ง “ลูกน้อง” โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่เรื่องลักษณะดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาในบ้านเราไม่รู้กี่หมื่นกี่แสนครั้งแล้วครับ!!! ผมคงไม่สามารถนำเรื่องดังกล่าวมาวิพากษ์วิจารณ์ในที่นี้ได้ทั้งหมดด้วยเหตุผลหลายประการด้วยกันเพียงแต่อยากฝากข้อคิดเอาไว้ว่า ในปัจจุบันเรามีองค์กรตรวจสอบและกระบวนการตรวจสอบเกิดขึ้นมากมาย บางกลไกก็ไปไกลเกินกว่าที่เราคิดและส่งผลร้ายแรงอย่างไม่น่าเชื่อ กรณีปลัดกระทรวงการคลังจะเป็นอุทาหรณ์สอนใจ “ผู้มีอำนาจ” ทั้งหลายที่มักคิดว่า “ศาลปกครอง” ไม่มีอำนาจในการ “ลงโทษ” เพราะฉะนั้นจึงไม่ “น่ากลัว” เท่าไรนัก หากจะออกคำสั่งผิด ๆ ไปก่อนแล้วค่อยไป “เพิกถอน” คำสั่งดังกล่าวเอาทีหลัง ซึ่งในวันนี้เราก็เห็นแล้วว่าการออกคำสั่งหรือการดำเนินการต่าง ๆ ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายได้ถูกนำมาเป็นฐานในการดำเนินคดีอาญาต่อไปจนกระทั่งเกิดการไล่ออกจากราชการขึ้น เพราะฉะนั้น กลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจอันทรงประสิทธิภาพในวันนี้จึงเป็นสิ่งที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งและน่าจะเป็นความคาดหวังใหม่ของสังคมว่าจะเข้ามา “จัดระบบ” การทำงานของข้าราชการประจำให้มีความ “ถูกต้อง” และ “เที่ยงธรรม” ยิ่งขึ้นครับ



สำหรับผู้ที่เป็น “แฟนประจำขนานแท้และดั้งเดิม” ของ www.pub-law.net คงยังจำกันได้ถึงหนังสือ “รวมบทความกฎหมายมหาชนจากเว็บไซด์ www.pub-law.net” ซึ่งทางเราได้นำบทความที่ได้ลงเผยแพร่ไปแล้วใน www.pub-law.net ในรอบแต่ละปีมาพิมพ์แจก การดำเนินการดังกล่าวนับได้ว่าเป็นปรากฏการณ์สำคัญของวงการวิชาการด้านกฎหมายในบ้านเราที่มีการแจกหนังสือทางวิชาการหนาหลายร้อยหน้าให้กับผู้สนใจ หนังสือรวมบทความฯ ดังกล่าวได้จัดพิมพ์ไปแล้ว 6 เล่ม และก็ได้หยุดพักไปปีหนึ่งเนื่องจากประสบปัญหาการหาแหล่งเงินทุนในการจัดพิมพ์ ในวันนี้สมาคมกฎหมายมหาชนแห่งประเทศไทยได้ “ยื่นมือ” เข้ามาสนับสนุนการจัดพิมพ์หนังสือรวมบทความฯ เล่ม 7 และเล่ม 8 โดยเล่ม 7 เป็นการรวมบทความที่เผยแพร่ในระหว่างเดือนมีนาคม 2550 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ที่หยุดไป ส่วนเล่ม 8 เป็นการรวมบทความที่เผยแพร่ในรอบปีที่ผ่านมาคือในระหว่างเดือนมีนาคม 2551 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ครับ ผู้ที่สนใจจะขอรับหนังสือดังกล่าวก็ขอได้โปรดติดตามดูรายละเอียดได้ในกรอบด้านบนคู่ขนานของกรอบบทบรรณาธิการนี้ครับ
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอสองบทความ บทความแรกเป็น “ตอนต่อ” จากบทความเรื่อง “คนไทยจะหา “ทางออกทางการเมือง”ได้อย่างไร” ของศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ส่วนบทความที่สองเป็นบทความของ คุณนรินทร์ อิธิสาร แห่งสำนักงานศาลปกครองที่เขียนเรื่อง “60 ปี กฎหมายพื้นฐาน – 60 Jahre Grundgesetz” ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองที่ส่งบทความมาร่วมกับเราครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544