หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 222
27 กันยายน 2552 21:05 น.
ครั้ง 222
       สำหรับวันจันทร์ที่ 28 กันยายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม 2552
       
       “ผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชน (1)”
       
       วันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบ 3 ปี ของการรัฐประหาร “ครั้งล่าสุด” ของประเทศไทย มีผู้ออกมาให้ความเห็นกันมากมายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวและก็มีข้อสรุปคล้าย ๆ กันกับที่ผมได้เขียนไว้ในบทบรรณาธิการครั้งที่แล้วก็คือ ประเทศชาติและประชาชนไม่ได้อะไรเลยกับการรัฐประหารครั้งดังกล่าวเพราะปัญหาต่าง ๆ ที่นำมาใช้อ้างเป็นเหตุของการรัฐประหารก็ยังคงมีอยู่และนับวันก็ยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นครับ ก็คงต้องมานั่งพิจารณากันใหม่แล้วว่า ทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ และทำอย่างไรถึงจะป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารขึ้นอีก เพราะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ สัปดาห์ก่อนวันที่ 19 กันยายน ก็มีเสียงลือกันว่า อาจเกิดการรัฐประหารขึ้นอีกในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่เข็ดกันหรือไรครับ!!!
       เนื่องด้วยในเดือนตุลาคมนี้ผมจะต้องเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสเกือบทั้งเดือน เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากกับทีมงานในเรื่องบทบรรณาการ ผมจึงตัดสินใจว่าจะหยุดเขียนถึงปัญหาบ้านเมืองที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาไว้ก่อน และนำเสนอบทบรรณาธิการที่มีลักษณะทางวิชาการใหม่ ๆ ที่คิดว่า “น่าจะ” มีประโยชน์ต่อแวดวงวิชาการบ้านเราบ้าง เพราะเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เพื่อนนักวิชาการฝรั่งเศสของผมได้ส่งเอกสารชุดหนึ่งของวุฒิสภาฝรั่งเศส มาให้อ่าน เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารประกอบการพิจารณา “ร่างรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชน” ของวุฒิสภา ผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนเป็นองค์กรใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในฝรั่งเศสภายหลังจากที่ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 2008 และมีการเพิ่ม “Le Défenseur des droits” หรือ “ผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชน” เข้าไปในรัฐธรรมนูญเพื่อให้ทำหน้าที่แทนผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐ (le Médiateur la République) และองค์การมหาชนอิสระอื่น ๆ ซึ่งทำหน้าที่ในการพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพของประชาชนอยู่แล้วแต่ยังไม่สมบูรณ์ เอกสารดังกล่าวประกอบด้วยสาระสำคัญ 3 ส่วน คือ สภาพความเป็นไปในปัจจุบันของกระบวนการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน องค์กรที่ทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในประเทศต่างๆ และสาระสำคัญของร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้พิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน ผมพิจารณาดูแล้วเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อวงการวิชาการ จึงได้แปลแบบสรุปความเพื่อนำเสนอสาระสำคัญทั้ง 3 ส่วนในบทบรรณาธิการครั้งนี้และอีก 2 ครั้งหน้าต่อเนื่องกันไปครับ
       ก่อนที่จะเข้าไปสู่สาระสำคัญของร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชน ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาของวุฒิสภาฝรั่งเศส ในเบื้องต้นผมขอกล่าวถึงกระบวนการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในฝรั่งเศสให้ฟังอย่างคร่าว ๆ ก่อนครับ
       เช่นเดียวกับประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่ ในประเทศฝรั่งเศสนั้น การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือแม้แต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญต่างก็มีอำนาจหน้าที่เฉพาะของตัวเองที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยมีฐานอำนาจดังกล่าวอยู่ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งกระบวนการทางศาลก็ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาของประชาชนได้ “ทันท่วงที” เพราะกระบวนการทางศาลอาจใช้เวลานานมากกว่าคดีจะถึงที่สุดและแม้ผลออกมาจะทำให้ต้องเพิกถอนกฎหรือคำสั่งที่เป็นปัญหาหรือให้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับประชาชน แต่ก็ไม่อาจทดแทนสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วได้ และในบางกรณีกระบวนการทางศาลก็อาจจะแก้ปัญหาของประประชาชน “ยังไม่ได้” เช่นการจัดทำบริการสาธารณะของฝ่ายปกครองที่ไม่ผิดกฎหมายหรือกฎระเบียบใด ๆ ทั้งสิ้น แต่กลับสร้างปัญหาบางประการให้กับประชาชนในการติดต่อประสานงานหรือเกิดความขัดข้องใจระหว่างประชาชนผู้ใช้บริการสาธารณะกับฝ่ายปกครองผู้จัดทำบริการสาธารณะ ด้วยเหตุดังกล่าวที่ในปี ค.ศ. 1973 รัฐสภาฝรั่งเศสได้ออกกฎหมายเลขที่ 73 – 6 ลงวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1973 จัดตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐ (Le Médiateur de la République) ขึ้นมาโดย “ดูแบบ” จากผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา (Ombudsman) แห่งสวีเดนและจากประเทศอื่น ๆ ที่จะได้นำมาเล่าให้ฟังต่อไป ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐของฝรั่งเศสมีอำนาจหน้าที่อยู่ในมาตราแรกของกฎหมายดังกล่าวคือเป็นผู้พิจารณาเรื่องร้องเรียนที่เกิดจากการจัดทำบริการสาธารณะของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจและองค์กรอื่นทุกองค์กรที่จัดทำบริการสาธารณะ
       จะว่าไปแล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐได้รับ “ความนิยม” จากประชาชนอยู่มาก สังเกตได้จากจำนวนข้อร้องเรียนที่เข้าสู่การพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐที่เพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี กล่าวคือในปี ค.ศ. 1991 มี 30,000 ข้อร้องเรียน แต่พอปี ค.ศ. 1999 ก็เพิ่มขึ้นเป็น 51,200 ข้อร้องเรียน และในปี ค.ศ. 2008 ก็ได้เพิ่มขึ้นเป็น 65,530 ข้อร้องเรียน เหตุที่มีข้อร้องเรียนเข้าสู่การพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐเพิ่มขึ้นก็เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดการปรับปรุงวิธีการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐใหม่โดยผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐซึ่งมีคนเดียวได้แต่งตั้ง “ตัวแทน” ของตนไปประจำยังจังหวัดต่าง ๆ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างเต็มที่ ตัวแทนเหล่านี้มีหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนด้วยการช่วยเสนอคำร้องหรือหาทางออกในข้อขัดข้องหรือข้อร้องเรียนที่เกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยในปี ค.ศ. 2008 มีตัวแทนที่ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐได้แต่งตั้งรวมทั้งสิ้น 275 คน ถูกส่งไปประจำยังจุดต่าง ๆ ทั่วประเทศกระจายไปตามจังหวัด (département) ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานที่ราชการ และแม้กระทั่งในเรือนจำก็มีการส่งตัวแทนเข้าไปด้วย จากข้อมูลเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2008 มีเรือนจำ 45 แห่งทั่วประเทศมีตัวแทนของผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐเข้าไปทำหน้าที่รับข้อร้องเรียนเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยมีตัวเลขคำร้องเรียนอยู่ที่ 44,000 คำร้องเรียน การตั้งตัวแทนจำนวนมากเข้าไปช่วยทำงานและการกำหนดวิธีการทำงานใหม่ของผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐทำให้เรื่องร้องเรียนที่มายังตัวผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งรัฐสภาที่อยู่ใน “ส่วนกลาง” ลดลงอย่างมาก อันสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐเองและผู้ร่วมงานที่สามารถเจรจาแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้
       
เรื่องร้องเรียนที่มาถึงมือของผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐหรือตัวแทนนั้นไม่ได้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากการกระทำผิดกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐแต่เพียงอย่างเดียว แต่ในบางครั้งก็พบเรื่องที่เจ้าหน้าที่ของรัฐสร้างความยุ่งยากหรือสร้างขั้นตอนต่าง ๆ ทำให้ประชาชนต้องเสียเวลา นอกจากนี้ เรื่องที่พบบ่อยมากอีกเรื่องหนึ่งก็คือการส่งเรื่องไปมาระหว่างหน่วยงานที่ทำให้ประชาชนไม่ได้รับคำตอบว่า ในที่สุดแล้ว เรื่องของตนอยู่ในอำนาจหน้าที่รับผิดชอบของหน่วยงานใด
       กฎหมาย ปี ค.ศ.1973 ได้บัญญัติไว้ว่าเรื่องที่จะขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐพิจารณาได้จะต้องส่งผ่านสมาชิกรัฐสภา สมาชิกรัฐสภาจะต้องทำการ “กรอง” เรื่องมาชั้นหนึ่งก่อน หากสมาชิกรัฐสภาเห็นว่าข้อร้องเรียนมีมูลและอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐ ก็จะดำเนินการส่งต่อไปให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐพิจารณา ในปี ค.ศ. 2008 มีข้อร้องเรียนที่ถูกส่งมายังผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งรัฐสภา 4,725 เรื่อง แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐรับไว้พิจารณาเพียง 2,330 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 49.31 ส่วนเรื่องร้องเรียนที่ไม่รับไว้พิจารณาส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐ เช่น คดีพิพาทระหว่างเอกชนด้วยกัน ปัญหาภายในครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่า การคุ้มครองผู้บริโภค รวมไปถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมที่ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ เรื่องร้องเรียนที่ไม่รับไว้พิจารณานั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐจะมีหนังสือตอบไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาพร้อมอธิบายเหตุผลที่ไม่รับและมีข้อแนะนำเบื้องต้นว่าผู้ร้องเรียนควรจะไปดำเนินการอย่างไรหรือไปร้องเรียนที่ใดต่อไป
       ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐตามกฎหมายปี ค.ศ.1973 นั้น ไม่มีอำนาจในตัวของตัวเองที่จะไปลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐได้ เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐได้รับคำร้องเรียนก็จะต้องสอบสวนข้อเท็จจริงและหาทางเจรจากับฝ่ายปกครองที่เป็นต้นเหตุของข้อร้องเรียนเพื่อให้เรื่องยุติลงโดยเร็ว โดยผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐอาจจัดทำ “คำแนะนำ” ในการแก้ไขปัญหาตามข้อร้องเรียนและเสนอไปยังรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบเพื่อดำเนินการต่อไป หากรัฐมนตรีไม่ยอมดำเนินการ ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐก็จะต้องเผยแพร่เรื่องดังกล่าวต่อสาธารณชนต่อไป นอกจากนี้แล้วกฎหมายปี ค.ศ.1973 ยังได้กำหนดวิธีการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐไว้ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐ ต้องตอบคำถาม ต้องมาพบถ้าได้รับคำเชิญ ต้องส่งเอกสารต่าง ๆ ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐร้องขอ เว้นแต่เป็นเอกสารเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ การป้องกันประเทศหรือนโยบายการเมืองระหว่างประเทศ
       
ในทางวิชาการนั้น สถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐมี “ข้อบกพร่อง” ในการทำงานอยู่ 3 ประการด้วยกัน ประการแรกได้แก่การออกไปตรวจสถานที่ที่เป็นเหตุให้เกิดการร้องเรียนที่ไม่อยู่ในอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐ จึงทำให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ว่าการจัดทำบริการสาธารณะของฝ่ายปกครองที่ว่าไม่ดีนั้น ไม่ดีอย่างไร ข้อบกพร่องประการต่อมาของผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐก็คือ กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐที่จะเป็นโจทก์ฟ้องศาลแทนประชาชนผู้ร้องเรียนได้ ส่วนข้อบกพร่องประการสุดท้ายซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่มากก็คือในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศฝรั่งเศสได้มีการจัดตั้งองค์การมหาชนอิสระ (autorité administrative indépendante) ขึ้นมาจำนวนหนึ่งซึ่งองค์กรเหล่านี้บางองค์กรก็มีอำนาจ “ทับซ้อน” กับผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐ
       องค์การมหาชนอิสระที่ถูกตั้งขึ้นมาและมีอำนาจทับซ้อนกับผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐมีอยู่ 6 องค์กรด้วยกันคือ
       - คณะกรรมการว่าด้วยข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพแห่งชาติ (La commission nationale de l'informatique et des libertés หรือ CNIL) เป็นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลคุ้มครองข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลให้สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสาร เอกสารและเสรีภาพ ค.ศ. 1978 โดยประชาชนสามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการได้ในกรณีที่ไม่ได้รับความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล เช่นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่อยู่ในความครอบครองของตำรวจ เป็นต้น โดยในปี ค.ศ. 2008 มีผู้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการ 7,056 เรื่อง คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจคล้ายกับผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐ คือ เจรจาขอความร่วมมือจากองค์กรที่มีข้อมูลข่าวสารของผู้ร้องเรียน และมีอำนาจฟ้องต่อศาลหากผู้ครอบครองข้อมูลข่าวสารนั้นใช้ข้อมูลข่าวสารของบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ตัวเองอันเป็นการกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของเจ้าของข้อมูลข่าวสาร
       - คณะกรรมการว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร (la commission d’ accès aux documents administratifs หรือ CADA) เป็นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาตามกฎหมายปี ค.ศ.1978 เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของฝ่ายปกครอง อันเป็นหัวใจสำคัญของหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงานภาครัฐ โดยหากเอกชนผู้ใดประสงค์จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองของฝ่ายปกครองและได้รับการปฏิเสธ ก็สามารถยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการได้ ในปี ค.ศ. 2008 มีผู้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการจำนวน 4,548 เรื่อง คณะกรรมการมีอำนาจให้ฝ่ายปกครองเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของรัฐได้ซึ่งในทางปฏิบัติในปี ค.ศ. 2008 ฝ่ายปกครองร้อยละ 65.5 ก็ได้ปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการ
       - ผู้พิทักษ์เด็ก (Le Défenseur des enfants) ตั้งขึ้นตามกฎหมายฉบับลงวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 2000 เพื่อปกป้องคุ้มครองดูแลสิทธิเด็กตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศฝรั่งเศสเข้าร่วมเป็นภาคีด้วยตั้งแต่ปี ค.ศ.1990 ผู้พิทักษ์เด็กมีอำนาจในการรับคำร้องเรียนจากเด็กหรือจากผู้แทนตามกฎหมายเกี่ยวกับการที่ฝ่ายปกครองหรือเอกชนกระทำการที่ไม่เคารพต่อสิทธิเด็ก เมื่อผู้พิทักษ์เด็กตรวจสอบพบว่ามีการละเมิดสิทธิเด็กอย่างร้ายแรงโดยฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรอื่นที่จัดทำบริการสาธารณะ ผู้พิทักษ์เด็กจะส่งเรื่องดังกล่าวต่อไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐ ส่วนในกรณีธรรมดาทั่วไปที่ไม่ร้ายแรง ผู้พิทักษ์เด็กก็จะมีข้อเสนอแนะไปยังผู้ที่ละเมิดสิทธิเด็กเพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป
       - คณะกรรมการว่าด้วยจรรยาบรรณของผู้ประกอบอาชีพด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย (la Commission nationale de déontologie de la sécurité หรือ CNDS) เป็นองค์การมหาชนอิสระที่ตั้งขึ้นโดยกฎหมายฉบับลงวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 2000 เพื่อดูแลคุ้มครองจรรยาบรรณของผู้ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยทั้งภาครัฐและภาคเอกชน (เช่นยาม) ในปี ค.ศ. 2008 คณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียน 147 เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับตำรวจเสีย 106 เรื่อง เรื่องร้องเรียนฝ่ายปกครองประจำเรือนจำ 18 เรื่อง โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของผู้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยที่ได้ใช้อำนาจของตนอย่างไม่คำนึงถึงกฎหมาย กฎ ระเบียบต่าง ๆ สามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการได้ แต่ต้องร้องเรียนผ่านสมาชิกรัฐสภาเพื่อให้ช่วย “กรองเรื่อง” ชั้นหนึ่งก่อน เมื่อคณะกรรมการรับเรื่องไว้พิจารณาก็จะทำการสอบสวน ให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐมนตรีหรือต่อเจ้าของกิจการที่ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยต่อไป โดยในปี ค.ศ. 2008 คณะกรรมการรับเรื่องไว้พิจารณา 62 เรื่อง และมี 25 เรื่องที่มีข้อเสนอแนะไปยังรัฐมนตรีผู้เกี่ยวข้อง กับอีก 13 เรื่องที่ส่งให้อัยการดำเนินการฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลต่อไป
       - ผู้ควบคุมสถานที่กักกัน (le Contrôleur général des lieux de privation de liberté หรือ CGLPL) จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายฉบับลงวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 2007 กฎหมายดังกล่าวมีที่มาจากสนธิสัญญาต่อต้านการทารุณและการลงโทษที่รุนแรง องค์กรนี้มีสถานะเป็นองค์การมหาชนอิสระ ทำหน้าที่ดูแลคนที่ถูกจองจำหรือกักขังตามกฎหมายได้ให้รับการปฏิบัติที่เคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และต่อสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานต่าง ๆ โดยผู้ควบคุมจะรับคำร้องเรียนจากบุคคลธรรมดา นิติบุคคล นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐ ผู้พิทักษ์เด็กฯลฯ ที่พบเห็นสถานที่ที่น่าสงสัยว่าจะจองจำหรือกักขังผู้คนอย่างไม่เป็นธรรม ผู้ควบคุมมีอำนาจในการตรวจเยี่ยมสถานที่หรือบุคคลที่ได้รับการกระทำที่ทำให้สูญเสียเสรีภาพ จากนั้นก็จะทำความเห็นเสนอต่อรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและให้ข้อมูลแก่สาธารณะในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานจนทำให้เกิดการสูญเสียเสรีภาพ
       - คณะกรรมการเพื่อการต่อต้านการกระทำที่เป็นการเลือกปฏิบัติและเพื่อความเสมอภาค (la Haute autorité de luttre contre les discriminations et pour l’égalité หรือ HALDE) เป็นองค์การมหาชนอิสระ จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายฉบับลงวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 2004 เพื่อป้องกันการกระทำทั้งหลายที่เป็นการเลือกปฏิบัติอันขัดต่อกฎหมายหรือข้อตกลงระหว่างประเทศที่สาธารณรัฐฝรั่งเศสเข้าร่วมเป็นภาคี โดยบุคคลที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมสามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการได้โดยตรงหรือผ่านสมาชิกรัฐสภาหรือสมาคมที่เกี่ยวข้องก็ได้ คณะกรรมการจะให้ความช่วยเหลือในการดำเนินการทางศาลต่อผู้เสียหาย รวมทั้งมีอำนาจสอบสวนการกระทำต่าง ๆ ด้วย ในปี ค.ศ. 2008 ที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนมายังคณะกรรมการเกือบ 400 เรื่อง
       
       องค์การมหาชนอิสระต่าง ๆ ทั้ง 6 แห่งข้างต้นถูกตั้งขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งเมื่อพิจารณาดูอำนาจหน้าที่ขององค์กรทั้งหมดแล้วก็จะพบว่า มีบางส่วนที่ซ้ำซ้อนกับอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐครับ
       บทบรรณาธิการคราวหน้า ผมจะเล่าให้ฟังถึงสาระสำคัญในส่วนที่สองคือ องค์กรที่ทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในประเทศต่าง ๆ จำนวนหนึ่งเพื่อให้เห็นภาพของการคุ้มครองสิทธิของประชาชนและเพื่อที่จะนำไปสู่บทสรุปที่สำคัญซึ่งเป็นสาระสำคัญในส่วนที่สามก็คือการที่ประเทศฝรั่งเศสจะตั้งองค์กรใหม่คือผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชน (le Défenseur des droits) โดยยกเลิกองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐและการปรับปรุงอำนาจขององค์การมหาชนอิสระที่มีอำนาจทับซ้อนกับอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐที่กล่าวถึงไปแล้วโดยจะนำเสนอสาระสำคัญของร่างรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนต่อไปครับ
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 3 บทความ บทความแรกเป็นบทความเรื่อง “ประเด็นปัญหากฎหมายที่น่าสนใจกรณีที่ดินคุณยายเนื่อม” ของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ส่วนอีกสองบทความสั้นๆ เรื่อง “กฎหมายมหาชนคืออะไร?” กับ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” เป็นบทความของ คุณเกษศิรินธร กันสำอางค์ นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง รุ่น 17 ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองไว้ ณ โอกาสนี้ครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544