หน้าแรก บทความสาระ
ข้อสังเกตเพิ่มเติมต่อบทความเรื่อง “ปัญหาการขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เพิ่มเติม”
คุณนรินทร์ อิธิสาร นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นิติศาสตรมหาบัณฑิต (กฎหมายมหาชน) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, Magister iuris (M. iur.) Georg-August Universität zu Göttingen, พนักงานคดีปกครองปฏิบัติการ, สำนักงานศาลปกครอง.
3 มกราคม 2553 17:16 น.
 
ตามที่คุณนิธินันท์ สุขวงศ์ ได้เขียนบทความ “เพิ่มเติม” ใน http://www.pub-law.net อธิบายขยายถึงบทความที่ได้เขียนเกี่ยวกับ ปัญหาการขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 พร้อมทั้งกล่าวถึง บทความของผู้เขียน ที่หยิบยกเอาประเด็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุผลในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามกฎหมายศาลปกครอง ในประเด็นที่ว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่สามารถจะใช้วิธีการออกระเบียบที่ประชุมใหญ่มาแล้วจะทำให้ศาลปกครองย่นหรือขยายระยะเวลาดังกล่าวได้แต่อย่างใดนั้น หลังจากที่ผู้เขียนได้อ่านบทความเพิ่มเติมดังกล่าวแล้วนั้น ก็เห็นว่ามีความจำเป็นต้องที่ต้องขออุนญาตท่านเจ้าของบทความเดิมในการตั้งข้อสังเกต “เพิ่มเติม” ต่อบทความ “เพิ่มเติม” ดังกล่าว ดังต่อไปนี้
       
       ประการที่หนึ่ง เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่าความเห็นของผู้เขียนในเรื่องดังกล่าวนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเองไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับศาลปกครองแต่ประการใด
       
       ประการที่สอง คุณนิธินันท์ฯ ได้ยกข้อความที่ผู้เขียนได้เขียนไว้ว่า “ทั้งนี้ ประเด็นว่า ข้อ 49/1 ของระเบียบฯว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง สอดคล้องกับมาตรา 73 ของกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองแค่ไหนเพียงใดนั้นขอไม่กล่าวถึงในที่นี้” จากนั้นคุณนิธินันท์ฯ ก็ได้กล่าวต่อไปว่า “ซึ่งหากพิจารณาดูดี ๆ แล้ว ความสอดคล้องดังกล่าว น่าจะมีผลโดยตรงในบทความของผู้เขียนทั้งบทความนี้และบทความก่อนหน้านี้เพราะหากระยะเวลาอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาต้องห้ามมิให้ขยายแล้ว ระยะเวลาอุทธรณ์โต้แย้งเกี่ยวกับคำสั่งละเมิดอำนาจศาล ก็น่าจะต้องห้ามมิให้ขยายเช่นกัน ในทางกลับกัน หากระยะเวลาอุทธรณ์โต้แย้งเกี่ยวกับคำสั่งละเมิดอำนาจศาล สามารถแก้ไขให้ขยายได้แล้ว ระยะเวลาอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษา ก็น่าจะต้องสามารถแก้ไขให้ขยายได้ด้วยวิธีเดียวกัน ตามที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในบทความของผู้เขียน กล่าวคือ ที่น่าจะมีผลโดยตรงนั้น เนื่องจากหากศาลปกครองไม่ออกระเบียบข้อ 49/ 1 ดังกล่าว ในเรื่องเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลแล้ว ก็ไม่เป็นประเด็นที่ผู้เขียน จะเขียนบทความของผู้เขียนให้คุณนรินทร์ ได้มีความเห็นเพิ่มเติมแต่อย่างใด เมื่อระเบียบข้อดังกล่าวออกมาแล้ว ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษาทันที เพราะเท่ากับว่า ในเมื่อกฎหมายกำหนดในเรื่องเดียวกันไว้เป็นอย่างเดียวกัน แต่มีการนำมาทำให้แตกต่างกัน หากเป็นเรื่องของบุคคลก็อาจเป็นการเลือกปฎิบัติได้" ในที่นี้ผู้เขียนขอชี้แจงว่าข้อความของผู้เขียนข้างต้นมีความหมายเพื่อนั้นมุ่งไปยังการกำหนดประเด็นในการแสดงความเห็นของผู้เขียนต่อความเห็นของคุณนิธินันท์ฯ ในบทความแรกในประเด็นที่ว่า “ระยะเวลาตามกฎหมายในมาตรา 73 ของกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองนั้น ถ้านำเอามาบัญญัติไว้ในระเบียบที่ประชุมใหญ่ฯ ก็จะทำให้ศาลปกครองมีอำนาจขยายระยะเวลาดังกล่าวได้เพราะระยะเวลาดังกล่าวได้แปลงจากระยะเวลาตามกฎหมาย(ที่ศาลปกครองไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้) มาเป็นระยะเวลาตามระเบียบซึ่งศาลปกครองสามารถอาศัยช่องทางตามข้อ 6 ของระเบียบที่ประชุมใหญ่ฯขยายระยะเวลาดังกล่าวได้” เท่านั้น ซึ่งก็นำมาสู่ข้อสรุปที่ว่าผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับในกรณีการใช้วิธีการตามดังกล่าว เพื่อเปิดช่องให้ศาลปกครองมีอำนาจขยายระยะเวลาได้ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม นั่นคือ ไม่ว่าจะนำมาใช้ในเรื่องของระยะเวลาอุทธรณ์เรื่องละเมิดอำนาจศาลหรือเรื่องระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองนั่นเอง ดังนั้นผู้เขียนจึงได้เขียนกันไว้ก่อนว่าต่อไปนี้ในบทความของผู้เขียนจะไม่กล่าวถึงความสอดคล้องของข้อ 49/1 กับมาตรา 73 แต่อย่างใด
       ทั้งนี้ความสอดคล้องที่ผู้เขียนกล่าวถึงนั้นหมายถึงว่า การพิจารณาว่าข้อ 49/1 จะขัดหรือแย้งกับมาตรา 73 หรือไม่เพียงใดนั้นผู้เขียนจะไม่กล่าวถึง เพราะว่าเท่าที่อ่านข้อ 49/1 จะเห็นได้ว่าความแตกต่างประการหนึ่งที่อาจจะนำไปสู่ความไม่สอดคล้องของบทบัญญัติทั้งสองที่เห็นได้ชัดคือ ในข้อ 49/1 วรรคหนึ่ง กำหนดให้มีการอุทธรณ์คำสั่งภายในกำหนดระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น แต่ในมาตรา 73 กำหนดให้อุทรณ์คำสั่งภายในกำหนดระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ประเด็นปัญหาคือว่าระยะเวลาทั้งสองส่วนนี้เป็นระยะเวลาที่มีจุดเริ่มเดียวกันหรือไม่สอดคล้องกันแค่ไหนเพียงใดเป็นต้น ดังนั้นคำว่า “สอดคล้อง” ของผู้เขียนจึงไม่ได้มีความหมายว่าเมื่อกำหนดเรื่องอุทธรณ์คำสั่งเรื่องละเมิดอำนาจศาลไว้ในระเบียบแล้วทำไมไม่กำหนดเรื่องอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งเอาไว้ในระเบียบด้วย หรือหากจะไม่ให้มีการขยายก็ต้องไม่มีการขยายเหมือนกันเพื่อให้เป็นการ “สอดคล้องกัน” แต่ประการใด
       
       ประการที่สาม เมื่อได้อ่านบทความ “เพิ่มเติม” ของคุณนิธินันท์ฯ แล้วนั้น ผู้เขียนก็ต้องขออนุญาตเรียนว่าผู้เขียนยังมีความเห็นยืนยันเหมือนกับความเห็นของผู้เขียนในบทความก่อนโดยไม่มีการปลี่ยนแปลงแต่ประการใด ว่าในเรื่องของ “ระยะเวลา” ที่ฝ่ายนิติบัญญัติกำหนดเอาไว้อย่างชัดเจนโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ในมาตรา 73 กฎหมายจัดตั้งศาลปกครองนั้น เป็นระยะเวลาบังคับที่ศาลปกครองไม่อาจ “เปลี่ยนแปลง” ไม่ว่าจะ “ย่น” หรือ “ขยาย” ระยะเวลาดังกล่าวได้ เพราะในกรณีนี้ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งมีความชอบธรรมที่สุดในระบอบประชาธิปไตยได้ตัดสินและวินิจฉัย และกำหนดเอาไว้โดยไม่มีการกำหนดข้อยกเว้นเอาไว้แต่ประการใด
       
       ประการที่สี่ ผู้เขียนได้อ่านบทความ “เพิ่มเติม” ของคุณนิธินันท์ฯ โดยเฉพาะในประเด็นที่ได้กรุณาอธิบายเอาไว้ในบทความเพิ่มเติมในประการแรกที่สรุปได้ว่า “มาตรา 73 พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ นั้น ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้บัญญัติห้ามมิให้มีการขยายระยะเวลาในมาตราดังกล่าวไว้ ผู้เขียนได้ตรวจสอบแล้วก็ไม่ได้มีการกำหนดห้ามไว้ในกฎหมายหลักแต่อย่างใด เมื่อกฎหมายหลักไม่ได้ห้ามแล้ว ปัญหาจึงมีว่าจะออกกฎหมายรองอย่างใดไม่ให้ขัดกับกฎหมายหลัก” ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญในการให้เหตุผลในบทความ “เพิ่มเติม” ดังกล่าวในหลายๆ จุด ซึ่งหากพิจาณาตามความเห็นดังกล่าว ก็สามารถสรุปได้ว่าศาลปกครองสามารถ “ขยาย” ระยะเวลาดังกล่าวได้ เพราะ เรื่องระยะเวลาดังกล่าวกฎหมายหลักไม่ได้กำหนดห้ามเอาไว้ที่ไหนว่าไม่ให้ศาลปกครอง “ขยาย” ซึ่งในทางกลับกัน(หากใช้ตรรกะของคุณนิธินันท์ฯ) ศาลปกครองก็สามารถ “ย่น” ระยะเวลาดังกล่าวได้เช่นกันเพราะกฎหมายหลักก็ไม่ได้กำหนดเอาไว้เหมือนกันว่าห้ามศาลปกครอง “ย่น” ระยะเวลาดังกล่าวไว้ และเมื่อเอาระยะเวลาดังกล่าวมากำหนดไว้ในระเบียบ ศาลก็สามารถใช้อำนาจตามข้อ 6 ได้ เมื่อศาลใช้อำนาจตามข้อ 6 ได้ ศาลก็มีอำนาจที่จะ “ย่น” หรือ “ขยาย” ระยะเวลาดังกล่าวได้ ใช่หรือไม่
       ในประเด็นนี้ด้วยความเคารพการตีความเช่นนี้นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจและเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้เขียนเป็นอย่างยิ่ง เพราะตามที่ผู้เขียนอ่านมาตรา 73 ที่กำหนดให้ยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน หากไม่ยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลาดังกล่าวให้ถือว่าคดีเป็นอันถึงที่สุดนั้น ผู้เขียนเห็นว่าบทมาตราดังกล่าวก็แสดงให้เห็นแล้วอย่างชัดแจ้งว่ากฎหมายบังคับให้การอุทธรณ์จะต้องดำเนินการภายในระยะเวลาที่กฎหมายหลักกำหนดเท่านั้น หาไม่แล้วคดีพิพาทดังกล่าวนั้นจะถึงที่สุดโต้แย้งไม่ได้อีกแล้ว พร้อมกันนั้นในตัวบทกฎหมายดังกล่าวก็ไม่ได้กำหนดข้อยกเว้นที่ศาลปกครองจะมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงระยะเวลาดังกล่าวเอาไว้แต่ประการใด การที่กล่าวว่าในมาตรานี้หรือมาตราอื่นไม่ได้เขียนห้ามไว้ว่าห้ามไม่ให้ศาลปกครองขยายระยะเวลาแต่อย่างใดดังนั้นจึงขยายได้นั้น เป็นตรรกะที่ไม่สอดคล้องกับเนื้อหาของบทบัญญัติในมาตรา 73 เอง เพราะเมื่อกฎหมายกำหนดให้ยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน แล้วกำหนดสำทับไปอีกว่าถ้าไม่ยื่นภายในเวลาดังกล่าวนั้นให้ถือว่าคดีถึงที่สุด ก็เท่ากับว่าบทบัญญัติมาตรานี้เป็นบทบัญญัติห้ามบังคับอยู่ในตัวแล้วว่าระยะเวลาดังกล่าวไม่สามารถขยายได้ กรณีหากนาย ก. ใช้การตีความตามความเห็นของคุณนิธินันท์ฯ ไปใช้กับกรณีกฎหมายจราจรที่มีกฎหมายเกี่ยวกับการจราจรทางบกกำหนดเกี่ยวกับการขับรถยนต์ว่าการขับรถจะต้องขับรถในทางเดินรถด้านซ้าย นาย ก. ไปอ่านกฎหมายเกี่ยวกับการจราจรดังกล่าวแล้ว เห็นว่ามีการกำหนดให้มีการเดินรถทางซ้ายจริง และนอกจากนั้นก็ไม่ปรากฏว่ามีห้ามไว้ให้มีการเดินรถทางขวาไว้แต่ประการใด ดังนั้นนาย ก. จึงสรุปว่านอกจากกฎหมายจำกำหนดให้เดินรถทางซ้ายไว้แล้วนั้นนาย ก. ก็สามารถเดินรถทางขวาได้อีกทางหนึ่งเพราะกฎหมายไม่ได้ห้ามเดินรถทางขวาเอาไว้ คำถามว่ากรณีดังกล่าวนาย ก. จะนำวิธีการอ่านกฎหมายดังกล่าวไปใช้อ้างกับเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตามกฎหมายจราจรได้หรือไม่ ถ้าได้ นาย ก. ย่อมอ้างได้ว่านอกจากเดินรถทางซ้ายตามที่กฎหมายกำหนดได้แล้วนั้นตนยังสามารถเดินรถทางขวาได้อีกเพราะไม่มีกฎหมายที่ไหนบัญญัติห้ามไว้แต่ประการใด ซึ่งการตีความแบบนาย ก. นี้ ผู้เขียนก็คงจะเห็นด้วยไม่ได้ เพราะเมื่อกฎหมายกำหนดไว้ว่าให้เดินรถทางซ้ายก็เท่ากับว่าเป็นการกำหนดไว้ในบทบัญญัตินั้นโดยปริยายแล้วว่าในทางกลับกันการเดินรถทางขวาจะกระทำไม่ได้นั่นเอง
       นอกจากนี้ในบทความเพิ่มเติมของคุณนิธินันท์ฯ ยังได้กล่าวถึงอำนาจในการเปลี่ยนแปลงระยะเวลาของศาลปกครองไว้ว่า “มาตรา 73 พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ นั้น ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้บัญญัติห้ามมิให้มีการขยายระยะเวลาในมาตราดังกล่าวไว้ ผู้เขียนได้ตรวจสอบแล้วก็ไม่ได้มีการกำหนดห้ามไว้ในกฎหมายหลักแต่อย่างใด เมื่อกฎหมายหลักไม่ได้ห้ามแล้ว ปัญหาจึงมีว่าจะออกกฎหมายรองอย่างใดไม่ให้ขัดกับกฎหมายหลัก” นอกจากนั้นยังได้ยก “หลักนิติรัฐ” ซึ่งถือได้ว่าเป็นยาดำหรือเป็นเครื่องปรุงพื้นฐานของกฎหมายมหาชน มากล่าวอธิบายไว้ว่า “แต่ถามว่า ในพระราชบัญญัตินั้น ห้ามการขยายระยะเวลาอุทธรณ์ไว้หรือไม่ และถามต่อไปว่า ถ้าไม่ห้าม ในเมื่อมีระเบียบที่ให้อำนาจศาลออกระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินคดีได้อยู่แล้ว จะออกระเบียบมาให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ ถามอีกว่า จะขัดกับพระราชบัญญัติตรงไหน ในเมื่อในตัวพระราชบัญญัตินั้นเอง ก็มิได้บัญญัติห้ามการขยายระยะเวลาไว้อยู่แล้ว ถึงแม้จะมีระยะเวลาสามสิบวัน กำหนดไว้หากไม่อุทธรณ์ก็เป็นอันถึงที่สุดก็ตาม ระยะเวลาสามสิบวันนั้น ก็เพียงเพื่อให้มีการถึงที่สุดของคดีนั้นเท่านั้น มิใช่ระยะเวลาสามสิบวันนั้นขยายไม่ได้แต่อย่างใด และไม่มีเหตุผลความจำเป็นใดมาสนับสนุนให้เห็นว่า ระยะเวลาดังกล่าวมีเหตุผล ความจำเป็นอย่างใดที่ขยายไม่ได้ หรือหากการแก้ไขดังกล่าวของศาลจะติดที่หลักนิติรัฐ ผู้เขียนเห็นว่า หากจะอ้างเช่นนั้นจะต้องกล่าวอ้าง ก่อนมีการนำระยะเวลาอุทธรณ์ในเรื่องละเมิดอำนาจศาลมาบัญญัติไว้ในระเบียบ เท่านั้น และถึงแม้จะมีหลักนิติรัฐอยู่ แต่หากการกระทำนั้น ไม่ได้เป็นโทษหรือเป็นผลร้ายที่มีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของประชาชนแล้ว ก็ย่อมน่าจะทำได้ โดยเฉพาะหากทำแล้วเป็นคุณประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งการขยายระยะเวลาอุทธรณ์นั้น นับว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพราะจะทำให้ประชาชนมีระยะเวลาในการตรวจสอบคำพิพากษาของศาลปกครองมากขึ้น ให้โอกาสและเวลาแก่ประชาชนคู่กรณีในคดีปกครองอย่างเต็มที่และเหมาะสมในการ ดำเนินคดีในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลดีต่อประชาชนทั้งสิ้น การออกเป็นระเบียบจึงไม่น่าจะขัดต่อหลักนิติรัฐ หากขัดแล้วก็คงจะไม่มีการนำระยะเวลาอุทธรณ์เรื่องละเมิดอำนาจศาลมาบัญญัติใน ระเบียบฯ ข้อ 49/1 การขยายระยะเวลาดังกล่าว” ต่อข้อความเห็นดังกล่าวกรณีต้องพิจารณาตามลำดับดังนี้คือ
       การกล่าวอ้างว่าการกระทำของฝ่ายรัฐสอดคล้องกับหลักนิติรัฐหรือไม่อย่างไรนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาแต่ประการใด ดังเช่นในกรณีนี้ “หาก” ระเบียบข้อ 49/1 จะเป็นระเบียบที่ขัดต่อหลักนิติรัฐ ระเบียบข้อดังกล่าวก็จะขัดกับหลักนิติรัฐเสมอไปนับแต่ได้มีผลบังคับใช้ และไม่ว่าจะใช้บังคับมานานแค่ไหนระเบียบนั้นก็ย่อมเป็นระเบียบที่ขัดต่อหลักนิติรัฐอยู่ดี การจะกล่าวว่า “หากการแก้ไขดังกล่าวของศาลจะติดที่หลักนิติรัฐ ผู้เขียนเห็นว่า หากจะอ้างเช่นนั้นจะต้องกล่าวอ้าง ก่อนมีการนำระยะเวลาอุทธรณ์ในเรื่องละเมิดอำนาจศาลมาบัญญัติไว้ในระเบียบ เท่านั้น” นั้นด้วยความเคารพผู้เขียนไม่อาจคล้อยตามกับความเห็นดังกล่าวได้ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วก็จะมีผู้กล่าวอ้างได้ว่า เหตุใดจึงไม่มีการโต้แย้งความชอบด้วยหลักนิติรัฐก่อนที่จะมีการประกาศใช้กฎหมาย เมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายออกมาแล้วย่อมไม่สามารถยกหลักนิติรัฐมากล่าวอ้างอีกได้ ซึ่งคงไม่ใช่แนวความคิดที่สอดคล้องกับหลักพื้นฐานของระบบกฎหมายไทยที่ยึดหลักนิติรัฐแต่ประการใด
       นอกจากนี้การที่กล่าวว่าบทบัญญัติของกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองไม่ปรากฏว่ามีการบัญญัติไว้ตรงไหนว่า ห้ามไม่ไห้ศาลปกครองขยายระยะเวลาดังกล่าวได้ ดังนั้นศาลปกครองจึงสามารถออกระเบียบของที่ประชุมใหญ่ให้มีการขยายระยะเวลาดังกล่าวได้ กรณีดังกล่าวทำให้ผู้เขียนระลึกถึงหลักสำคัญในเรื่องของสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่จะมีหลักการสำคัญสรุปได้ว่า “เมื่อไม่มีกฎหมายห้ามย่อมกระทำได้” ซึ่งเป็นหลักทางกฎหมายที่มีไว้เพื่อคุ้มครองส่งเสริมการใช้สิทธิของประชาชน ที่ถือว่าโดยหลักแล้วประชาชนมีสิทธิ และสามารถใช้สิทธิของตนได้ เว้นแต่มีกฎหมายห้ามเอาไว้ซึ่งตรงจุดนี้สิทธิของประชาชนย่อมถูกจำกัดลงไป กรณีจึงเป็นที่น่าพิจารณาว่ากรณีอำนาจในการขยายระยะเวลาของศาลปกครองจะนำหลักในการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้น มาปรับใช้กับกรณีนี้ได้หรือไม่ คำตอบคือไม่ได้เพราะกรณีนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของการใช้สิทธิเสรีภาพ หากแต่เป็นเรื่องของการใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรของรัฐ(การขยายระยะเวลาโดยศาล) ที่โดยหลักแล้วจะต้องเป็นไปตามหลักการพื้นฐานในการกระทำของฝ่ายรัฐคือ “รัฐจะกระทำการใดๆได้จะต้องมีกฎหมาย(ในระดับพระราชบัญญัติ)ให้อำนาจกระทำได้เท่านั้น” ซึ่งในกรณีนี้ก็จะถือเป็นหลักและในทางวิชาการกฎหมายเมื่อกล่าวถึงหลักก็จะมีข้อยกเว้นซึ่งข้อยกเว้นหนึ่งของหลักการกระทำของฝ่ายรัฐในกรณีนี้คือเว้นแต่การกระทำของฝ่ายรัฐเป็นการกระทำที่ให้ประโยชน์ก็สามารถกระทำได้โดยไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายให้อำนาจ ซึ่งในทางวิชาการก็ยังเป็นที่ต้องถกเถียงกันอีกว่าแค่ไหนเพียงใดถึงจะถือว่าเป็นเรื่องที่ให้ประโยชน์ที่ฝ่ายรัฐสามารถกระทำได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจ
       ดังนั้นปัญหาว่าศาลปกครองสามารถขยายระยะเวลาตามมาตรา 73 ได้หรือไม่เพียงใดจึงเป็นกรณีของเรื่องการกระทำการของรัฐ ซึ่งในประเด็นปัญหานี้พิจารณาแล้วนั้นจะเห็นว่า หากสำรวจบทบัญญัติของกฎหมายก็จะไม่พบว่ามีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่ให้อำนาจศาลปกครองในการเปลี่ยนแปลงระยะเวลาดังกล่าวแต่ประการใด ดังนั้นจึงต้องไปพิจารณาต่อไปว่าศาลปกครองจะอาศัยเหตุผลคือในเรื่องของผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการขยายระยะเวลาดังกล่าวตามที่คุณนิธินันท์ฯ ได้กล่าวถึงไว้ในบทความแรก และในบทความเพิ่มเติมก็ได้กล่าวสำทับพร้อมกับแสดงความเห็นเพิ่มเติมจากหลักที่ว่าเมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้ย่อมกระทำได้อีกชั้นหนึ่งว่า “และถึงแม้จะมีหลักนิติรัฐอยู่ แต่หากการกระทำนั้น ไม่ได้เป็นโทษหรือเป็นผลร้ายที่มีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของประชาชนแล้ว ก็ย่อมน่าจะทำได้ โดยเฉพาะหากทำแล้วเป็นคุณประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งการขยายระยะเวลาอุทธรณ์นั้น นับว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพราะจะทำให้ประชาชนมีระยะเวลาในการตรวจสอบคำพิพากษาของศาลปกครองมากขึ้น ให้โอกาสและเวลาแก่ประชาชนคู่กรณีในคดีปกครองอย่างเต็มที่และเหมาะสมในการ ดำเนินคดีในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลดีต่อประชาชนทั้งสิ้น การออกเป็นระเบียบจึงไม่น่าจะขัดต่อหลักนิติรัฐ หากขัดแล้วก็คงจะไม่มีการนำระยะเวลาอุทธรณ์เรื่องละเมิดอำนาจศาลมาบัญญัติใน ระเบียบฯ ข้อ 49/1 การขยายระยะเวลาดังกล่าว” แล้วนั้น ผู้เขียนก็ขออนุญาตแสดงความเห็น ตามลำดับดังนี้คือ
       1)ในเรื่องของกฎหมายวิธีพิจารณาคดีต้องไม่ลืมว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของกระบวนวิธีพิจารณาคดีของศาล กฎหมายวิธีพิจารณาคดีนอกจากจะเป็นกฎหมายที่กำหนดหน้าที่ของศาลแล้วยังกำหนดสิทธิหน้าที่ของ “คู่ความ” ในคดี ซึ่ง “คู่ความ” ในคดีปกครองก็ย่อมมีความเป็นได้ว่าทั้งฝ่ายปกครองและประชาชนจะอยู่ในฐานะผู้ฟ้องหรือผู้ถูกฟ้องคดี หรือทั้งฝ่ายปกครองและประชาชนต่างก็เป็นทั้งผู้ฟ้องหรือผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกัน ดังนั้นการขยายระยะเวลาอุทธรณ์(หากกระทำได้) จึงไม่ได้ส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน(ที่ถูกควรหมายถึง “เป็นประโยชน์ต่อผู้อุทธรณ์”)แต่อย่างเดียวไม่ กรณีอาจเกิดประโยชน์ต่อฝ่ายปกครองด้วยก็ได้หากในคดีนั้นฝ่ายปกครองเป็นผู้อุทธรณ์
       2)ที่สำคัญยิ่งไปกว่านี้คือนอกจากนี้การที่ศาลปกครองขยายระยะเวลาการอุทธรณ์ออกไปนั้นไม่ได้เกิดแต่ประโยชน์ให้แก่ผู้อุทธรณ์แต่ฝ่ายเดียวแต่อย่างเดียวไม่ การขยายระยะเวลาดังกล่าวนั้นก็ส่งผลเสียต่อ “คู่ความ” อีกฝ่าย(ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะเป็นฝ่ายปกครองหรือประชาชน)ที่มีประโยชน์ที่ตนจะได้รับหากคำพิพากษาดังกล่าวถึงที่สุดโดยเร็วเพื่อที่ตนจะได้ใช้สิทธิของตนตามคำพิพากษาหรือเพื่อที่จะได้ดำเนินการบังคับคดี(หากเป็นคดีที่จำเป็นต้องมีการบังคับคดี)ได้โดยเร็วเช่นกัน ดังนั้นในเรื่องนี้จะมองแต่เพียงด้านเดียวคงไม่ได้
       3)คำถามที่ตามมาคือถ้าถือตามหลักการพื้นฐานที่ว่า “รัฐจะกระทำการใดๆได้จะต้องมีกฎหมายให้อำนาจกระทำได้เท่านั้น เว้นแต่การกระทำนั้นจะเป็นการให้ประโยชน์” นั้น สามารถนำมาใช้ในกรณีนี้ได้หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจศาลปกครองเอาไว้ และนอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงระยะเวลาอุทธรณ์(การกระทำของรัฐ)ดังกล่าวส่งผลทั้งในทางให้ประโยชน์แก่ผู้อุทธรณ์ และในขณะเดียวกันก็ส่งผลในทางให้เสียประโยชน์แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งด้วย ดังนั้นกรณีดังกล่าวจึงจำเป็นต้องมีกฎหมาย(ในที่นี้คือกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ) ให้อำนาจฝ่ายรัฐ(ในที่นี้คือศาลปกครอง) ในการกระทำการดังกล่าว(ในที่นี้คือการเปลี่ยนแปลงระยะเวลา) ได้
       
       ประการที่ห้า คุณนิธินันท์ฯ ได้กล่าวถึงเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองฯ มาประกอบการให้เหตุผลว่า “ผู้เขียนเข้าใจว่าฝ่ายนิติบัญญัติที่บัญญัติมาตรานี้ คงไม่เจตนาต้องการให้ระยะเวลาอุทธรณ์ไม่สามารถขยายได้โดยเด็ดขาดเป็นแน่แท้” ซึ่งจากการที่ผู้เขียนอ่านบทความของคุณนิธินันท์ฯ ก็ไม่ปรากฏตรงจุดไหนที่แสดงให้เห็นว่าฝ่ายนิติบัญญัติจะมีเจตนาดังกล่าว เช่น บันทึกหลักการและเหตุผลประกอบกฎหมาย หรือบันทึกการประชุมในขั้นตอนของการร่างกฎหมาย เป็นต้น จะมีก็แต่ความเห็นของคุณนิธินันท์ฯเองดังกล่าวข้างต้น นอกจากนี้การกล่าวถึง “หลักทั่วไป” ที่ให้อำนาจศาลอื่นๆ ในการขยายระยะเวลาที่คุณนิธินันท์ฯอ้างถึงในหลายๆ จุดเช่นกันนั้น คงไม่ใช่ในความหมายของ “หลักกฎหมายทั่วไป” เพราะเท่าที่ผู้เขียนอ่านบทความของคุณนิธินันท์ฯ ก็ได้กล่าวถึง “โดยทั่วไป” แล้วอ้างอิงถึง ป.วิ.พ. มาตรา 23 (หากผู้เขียนเข้าใจผิดต้องขออภัยมา ณ ที่นี้) เสมอ ซึ่งมาตรา 23 ป.วิพ. ก็เป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติที่ฝ่ายนิติบัญญัติได้ตราออกมาเพื่อให้ “อำนาจ” ศาลในการขยายหรือย่นระยะเวลาได้ ดังนั้นแต่ด้วยความเคารพ ผู้เขียนก็ไม่เห็นว่ามาตรา 23 ป.วิ.พ. จะนำมาใช้เป็นหลักทั่วไปในกรณีนี้ได้
       
       ประการที่หก ข้อสนับสนุนของคุณนิธินันท์ฯที่ว่าศาลสามารถนำระยะเวลาตามพระราชบัญญัติมาออกเป็นระยะเวลาตามระเบียบ และศาลมีอำนาจขยายระยะเวลานั้นได้มีข้อสนับสนุน 3 ประการคือ 1)การออกระเบียบฯ ข้อ 49/1 โดยผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง(ที่ประชุมใหญ่) 2)การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้พิจารณาระเบียบข้อดังกล่าวและผ่านให้ออกเป็นกฎหมายได้ 3)คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 429/2546 (ประชุมใหญ่) ด้วยความเคารพ ผู้เขียนเห็นว่าข้อสนับสนุน 3 ประการดังกล่าวข้างต้นนั้นไม่อาจนำมาเป็นข้อสนับสนุนในกรณีดังกล่าวได้ เพราะ
       1)ระเบียบที่ประชุมใหญ่ฯดังกล่าวมีฐานะเพียงแค่กฎหมายลำดับรอง หากขัดต่อกฎหมายหลักในที่นี้คือกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองฯ หรือกฎหมายที่มีค่าบังคับสูงกว่าก็ย่อมไม่มีผลใช้บังคับ ในระบบกฎหมายไทยโดยหลักแล้วหากกฎหมายนั้นเป็นกฎหมายที่ขัดต่อกฎหมายที่มีลำดับสูงกว่าไม่ว่าจะในทางเนื้อหาหรือในทางรูปแบบกฎหมายนั้นย่อมใช้บังคับไม่ได้ ดังนั้นการกล่าวว่าข้อ 49/1 ออกโดยผู้ทรงคุณวุฒิไม่ว่าจะเป็นศาลปกครองที่ประชุมใหญ่ หรือผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่ได้หมายถึงว่ากฎหมายนั้นจะเป็นกฎหมายที่ชอบและใช้บังคับได้โดยไม่อาจมีข้อโต้แย้งในเรื่องของความชอบด้วยกฎหมายหรือความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแต่อย่างใดไม่ กรณีจะต้องพิจารณาในเรื่องความชอบด้วยกฎหมายในทางรูปแบบและเนื้อหาว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ชอบและใช้บังคับต่อไปได้หรือไม่ กรณีอาจเป็นไปได้ว่าหากศาลปกครองใช้อำนาจขยายระยะเวลาตามความเห็นของคุณนิธินันท์ฯ แล้วคู่กรณีอีกฝ่ายเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวของศาลปกครองไม่ชอบ คู่กรณีฝ่ายนี้ก็ย่อมมีสิทธิที่จะโต้แย้งการดำเนินการดังกล่าวของศาลปกครองไปยังศาลที่มีอำนาจเท่าที่กฎหมายจะเปิดช่องให้กระทำได้
       ดังนั้น ลำพังแต่เพียงในขั้นตอนของการตรากฎหมายที่มีผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาดำเนินการจึงไม่ใช่เหตุที่จะ “ยืนยันหรือรับประกัน” ได้ว่ากฎหมายนั้นชอบด้วยกฎหมาย เพราะหาไม่เช่นนั้นแล้วกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติที่ตราขึ้นโดยองค์กรนิติบัญญัติทั้งสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา และผ่านการพิจารณาของผู้ทรงคุณวุฒิ ในขั้นตอนของกรรมาธิการมามากมายย่อมไม่จำเป็นที่จะต้องถูกตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น ในการออกระเบียบโดยศาลปกครองที่ประชุมใหญ่และการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรที่ได้พิจารณาระเบียบข้อดังกล่าวนั้น ก็เป็นเพียงการดำเนินการให้ถูกต้องตามรูปแบบในการออกกฎหมายในที่นี้คือในส่วนขององค์กรที่มีอำนาจออก และขั้นตอนในการออกระเบียบที่ประชุมใหญ่นั่นเอง
       2)คำสั่งศาลปกครองสูงสุดโดยที่ประชุมใหญ่นั้นไม่ใช่กฎหมาย การที่ศาลปกครองสูงสุด(ที่ประชุมใหญ่) จะตัดสินในเรื่องดังกล่าวไว้ กรณีก็เป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งที่มีผลผูกพันเฉพาะคู่กรณีและในกรณีพิพาทนั้นๆ เท่านั้น หาได้มีผลผูกพันองค์กรอื่นแต่ประการใดไม่(กรณีย่อมต่างจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ) แต่อย่างไรก็ตามในทางวิชาการย่อมสามารถนำประเด็นปัญหาในคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นๆ มาถกเถียงให้เหตุผลกันต่อได้ว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวสอดคล้องกับหลักวิชาหรือไม่เพียงใด
       3)หากพิจารณาเนื้อหาของข้อ 49/1 ของระเบียบที่ประชุมใหญ่ฯ ก็ไม่ได้มีบัญญัติไว้ตรงจุดไหนว่าให้ศาลปกครองขยายระยะเวลาดังกล่าวได้ จะมีก็แต่อาศัยช่องทางในข้อ 6 ของระเบียบที่ประชุมใหญ่ฯ(ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่าจะทำไม่ได้เพราะขัดต่อมาตรา 73 กฎหมายจัดตั้งศาลปกครอง)
       ดังนั้นการที่จะอ้างเหตุผลสามประการดังกล่าวมาสนับสนุนว่าศาลปกครองสามารถขยายระยะเวลาได้นั้น ผู้เขียนไม่เห็นด้วยแต่อย่างใด
       
       ประการที่เจ็ด สิ่งที่กระตุ้นความสนใจของผู้เขียนต่อการใช้การตีความกฎหมายอีกประการหนึ่ง คือการที่คุณนิธินันท์ฯ กล่าวว่า “การขยายระยะเวลาอุทธรณ์ เป็นคนละเรื่องกับกรอบระยะเวลาอุทธรณ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ การออกระเบียบไม่ได้ไปแก้ไขระยะเวลาตามกรอบให้สั้นลงหรือเพิ่มขึ้นโดยตรง เช่น จาก 30 วัน ลดลงเหลือ 15 วัน หรือ จาก 30 วัน เป็น 60 โดยตรง ซึ่งการแก้ไขอย่างนี้ต้องห้ามและขัดกับกฎหมายแม่อย่างชัดเจน การไปเพิ่มในระเบียบ เพียงแต่ระยะเวลาตามกรอบนั้น ยังคงเท่าเดิม แต่เพิ่มวิธีการในกระบวนการอุทธรณ์ให้ยืดหยุ่นและมีทางเลือกแก่ประชาชนให้ มากขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น หลักการเดิมตามยังคงอยู่ โดยสามารถที่จะขอขยายระยะเวลาดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นอีกช่องทางหนึ่งเท่านั้น และการขยายระยะเวลา ก็ต้องอิงจากฐานเดิมเป็นหลัก หรือขยายจากวันสุดท้ายของระยะเวลาเดิม ออกไป นั้นเท่ากับว่า จะต้องครบระยะเวลาเดิมแล้วขยายออกไปจากวันที่ครบนั้น ผู้เขียนเห็นว่า กรณีก็ไม่ได้ทำให้หลักระยะเวลาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและ วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 เสียไปแต่อย่างใด หลักระยะเวลาสามสิบวันก็คงอยู่ กล่าวคือ หากภายในสามสิบวันไม่อุทธรณ์ก็ถึงที่สุด เพียงแต่เพิ่มช่องทางให้มากขึ้นและยืดหยุ่นขึ้นเท่านั้น การแก้ไขโดยไปเพิ่มในระเบียบ นั้น ไม่ได้เป็นการแก้ไขระยะเวลาอุทธรณ์ใน พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 73 ให้สั้นลงหรือเพิ่มขึ้นโดยตรงแต่อย่างใด ระยะเวลาในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 73 ก็คงตามเดิม” กรณีดังกล่าวผู้เขียนเข้าใจว่า(หากผู้เขียนเข้าใจผิดพลาดประการใดก็คงต้องขอความชี้แนะจากคุณนิธินันท์ฯในโอกาสต่อไป) การนำเอาระยะเวลาในกฎหมายมากำหนดไว้ในระเบียบนั้นไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลง “โดยตรง” ต่อระยะเวลา 30 วันที่กำหนดไว้ในกฎหมายแต่ประการใด เพราะถ้ามากำหนดไว้ในระเบียบโดยให้เวลา “มากกว่า” หรือ “น้อยกว่า” ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมายระเบียบนี้ย่อมไม่ชอบเพราะขัดต่อมาตรา 73 โดยตรง แต่ถ้าเอาระยะเวลาตามมาตรา 73 ยกมาทั้งหมดคือ 30 วันเหมือนเดิม ก็จะทำให้ศาลปกครองสามารถขยายระยะเวลาได้อีกช่องทางหนึ่งเท่านั้น คำถามที่เกิดขึ้นคือหลักระยะเวลาบังคับสามสิบวันที่กำหนดไว้ในกฎหมายมาตรา 73 ของกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองนั้นจะไม่ถูกเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ?
       จริงอยู่การแก้ไขโดยไปเพิ่มในระเบียบที่คุณนิธินันท์ฯเห็นว่าไม่ได้เป็นการแก้ไขระยะเวลาอุทธรณ์ในกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองนั้นก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องเพราะระยะเวลา 30 วันดังกล่าวไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ซึ่งผู้เขียนก็ไม่เห็นว่าจะทำไม่ได้(โปรดดูประการที่แปด) แต่ว่าประเด็นปัญหาที่สำคัญคือ ระยะเวลา 30 วันในกฎหมายหลัก-กฎหมายแม่-กฎหมายในระดับพระราชบัญญัตินั้น เป็นระยะเวลาที่เปลี่ยนแปลงได้หรือไม่เพียงใด ซึ่งในที่นี้คุณนิธินันท์ฯก็ได้ยืนยันไว้แล้วว่าเปลี่ยนแปลงได้เพราะไม่มีตรงไหนในกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองบัญญัติห้ามศาลปกครองเอาไว้ ซึ่งก็ต่างจากความเห็นของผู้เขียนตามที่ได้นำเสนอไว้ในประการที่สาม
       
       ประการที่แปด ในส่วนท้ายของบทความเพิ่มเติมของคุณนิธินันท์ฯ ที่ได้กล่าวถึงว่าผู้เขียนบทความเป็นบุคลากรของศาลปกครอง ได้ออกมาให้ความเห็นยืนยันแล้วเท่ากับว่าระยะเวลาอุทธรณ์ในเรื่องละเมิดอำนาจศาลตามระเบียบฯ ข้อ 49/1 ไม่สามารถออกเป็นระเบียบได้นั้น ตรงจุดนี้ผู้เขียนขอเรียนย้ำอีกครั้งว่าความเห็นในเรื่องดังกล่าวเป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเองไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับศาลปกครองแต่ประการใด(ตามที่กล่าวชี้แจงไว้ในประการที่หนึ่ง) นอกจากนี้สิ่งที่ผู้เขียนยืนยันคือกรณีที่ว่า “แม้ศาลปกครองจะนำเอาระยะเวลาในกฎหมายหลักที่กำหนดชัดเจนโดยไม่มีข้อยกเว้นมากำหนดไว้ในกฎหมายรองในที่นี้คือระเบียบของที่ประชุมใหญ่ฯ ก็ไม่สามารถที่จะทำให้ศาลปกครองขยายระยะเวลาดังกล่าวได้” นอกจากนั้นผู้เขียนยังกล่าวสำทับไปอีกว่าเท่าที่ดูตัวบทในข้อ 49/1 ในส่วนของ “ระยะเวลา” ตามที่ศาลปกครองกำหนดก็ไม่ได้ขัดต่อกฎหมายหลักแต่อย่างใดนั่นคือกำหนดตรงกันว่าต้องดำเนินการยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน ดังนั้นลำพังแต่บทบัญญัติของข้อ 49/1 ในส่วนของ “ระยะเวลา” นั้นจึงไม่ใช่บทบัญญัติที่อาจจะมีปัญหาว่าสอดคล้องกับมาตรา 73 แต่อย่างใด(เว้นแต่ประเด็นในเรื่องของความสอดคล้องกันในส่วนของจุดเริ่มระยะเวลาตามที่ได้นำเสนอไว้ในประเด็นที่สอง) ประเด็นที่เป็นปัญหาคือการนำเอาระยะเวลา 30 วันมากำหนดไว้ในระเบียบแล้วจะทำให้ศาลปกครองมีอำนาจขยายระยะเวลาดังกล่าวโดยอาศัยข้อ 6 ของระเบียบที่ประชุมใหญ่ได้หรือไม่
       ทั้งนี้หากศาลปกครองจะตีความว่าเมื่อเป็นระยะเวลาในระเบียบที่ประชุมใหญ่แล้วศาลปกครองก็สามารถใช้อำนาจตามข้อ 6 ในการขยายระยะเวลาดังกล่าวได้นั้น ด้วยความเคารพ ผู้เขียนบทความก็มีความเห็นเช่นเดิมว่าไม่สามารถกระทำได้ ซึ่งนอกจากจะแก้ไขได้โดยการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายหลักให้อำนาจศาลปกครองให้สามารถย่นหรือขยายระยะเวลาได้ซึ่งเป็นวิธีแก้ไขปัญหาในทางระยะยาวแล้ว ผู้เขียนก็ได้เสนอวิธีในการใช้การตีความกฎหมายในกรณีดังกล่าวเพื่อให้กฎหมายใช้บังคับได้ตามที่ได้แสดงความเห็นไว้แล้วในบทความของผู้เขียนก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ในส่วนของทางปฏิบัติการที่ศาลปกครองจะใช้และตีความกฎหมายอย่างไรในแต่ละคดีนั้นก็เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลปกครองเอง ผู้เขียนก็ไม่อาจไปก้าวล่วงกำหนดการใช้การตีความกฎหมายของศาลปกครองได้
       
       สุดท้ายนี้ ผู้เขียนก็ยังยืนยันตาม ความเห็นเดิมในบทความก่อนหน้าและในบทความนี้ของผู้เขียนต่อกรณีปัญหาเรื่องระยะเวลาในการอุทธรณ์ดังกล่าว และขอยุติการแสดงความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวเพราะว่าได้มีความเห็นที่ชัดเจนไปแล้ว ทั้งนี้ผู้เขียนขอเรียนว่าความเห็นของผู้เขียนก็เป็นเพียงความเห็นหรือมุมมองหนึ่งที่ผู้เขียนได้มีต่อปัญหาดังกล่าวเท่าที่ความรู้ความสามารถของผู้เขียนจะอำนวยเท่านั้น นอกจากนี้ผู้เขียนก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ในอนาคตข้างหน้าจะได้อ่านบทความกฎหมายของคุณนิธินันท์ฯ ที่รอการเผยแพร่อีกหลายบทความ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในด้านความรู้ และเปิดโลกทัศน์ทางวิชาการกฎหมายของผู้เขียนเองให้กว้างขึ้น ซึ่งต้องขอขอบคุณล่วงหน้ามา ณ ที่นี้


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544