หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 231
31 มกราคม 2553 21:19 น.
ครั้งที่ 231
       สำหรับวันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึงวันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553
       
       “สังคมทุจริต”
       
       เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม ผมมีโอกาส “ได้ยิน” เสียงนายกรัฐมนตรีพูดถึงปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในรายการข่าวภาคค่ำ ภายหลังการตรวจสอบ จึงได้ทราบว่าคำพูดดังกล่าวมาจากการที่นายกรัฐมนตรีได้พูดออกรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายก ฯ อภิสิทธิ์” ในตอนเช้าของวันที่ 24 มกราคมนั่นเอง ผมจึงได้ขวนขวายไปหาเอกสารที่เป็นการถอดเทปรายการดังกล่าวมาอ่าน เพราะอยากทราบว่านายกรัฐมนตรีพูดถึงเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นว่าอย่างไรและจะ “เกี่ยวโยง” ไปกับการเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ตามความคิดของผม” หรือไม่ ครับ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อได้อ่านเอกสารถอดเทปรายการดังกล่าวแล้วก็รู้สึก “ไม่มีอะไรใหม่” ที่เกิดขึ้นจากคำพูดของนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวในเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นอย่างสั้น ๆ (ข่าวภาคค่ำเอามานำเสนอเฉพาะคำพูดในช่วงดังกล่าวจึงทำให้ผมเข้าใจผิดคิดว่านายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นตลอดเวลาทั้งรายการ) ว่า “… ผมก็ยังยืนยันให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนนะครับว่าปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ถ้าหากว่ามีขึ้นในหน่วยงานใด อย่างไรนั้น ขอความกรุณานะครับ ท่านมีเบาะแส ขอให้แจ้งมาครับ เราจะตรวจสอบทุกเรื่องอย่างจริงจังนะครับ โดยมีมาตรฐานในเรื่องของความรับผิดชอบที่มีความชัดเจน ที่จริงก็ต้องบอกให้ฟังนะครับว่า ผมเองก็ได้รับเรื่องที่เป็นเรื่องร้องเรียน อาจจะเป็นทางผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์บ้าง จดหมายธรรมดาบ้าง หรือแม้กระทั่งทางเอสเอ็มเอส นะครับ เข้ามาบางครั้ง แจ้งถึงเบาะแสต่าง ๆ ก็ขอเรียนนะครับว่าทุกเรื่อง ทั้งเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นก็ดีหรือแม้กระทั่งการฝ่าฝืนกฎหมายนะครับ ในเรื่องของยาเสพติดสถานบริการต่าง ๆ นั้น ทุกเรื่องที่ส่งมานั้นเนี่ย ผมดำเนินการส่งให้ทางเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลบริหารจัดการอย่างดีที่สุดนะครับ เพราะฉะนั้นก็ขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนด้วย โดยผมให้คำมั่นและยืนยันว่านี่คือสิ่งที่เป็นความตั้งใจของผมนะครับ ในการที่จะผลักดัน แก้ไขปัญหา ทั้งในเรื่องของการทุจริตคอรัปชั่น และการบังคับใช้กฎหมายครับ....”
       
สิ่งที่นายกรัฐมนตรีกล่าวข้างต้นไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย แต่เป็นเรื่องที่เราต้องหาทางแก้ไขอย่างจริงจังเพราะการทุจริตคอรัปชั่นเป็นสิ่งที่ “ฝังรากลึก” อยู่ในสังคมไทยมาเป็นเวลานานแล้วและก็เป็นปัญหาที่ไม่มีใครสามารถแก้ไขได้ หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 การทุจริตคอรัปชั่นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทหารนำมาใช้เป็นข้ออ้างที่สำคัญข้ออ้างหนึ่งในการปฏิวัติรัฐประหาร ใครไม่เชื่อก็ลองไปหาเอกสารประเภท “แถลงการณ์” ฉบับแรกของคณะปฏิวัติรัฐประหารดูก็ได้ครับ แต่เมื่อปฏิวัติรัฐประหารสำเร็จแล้วก็ไม่เคยเห็นมีใครที่พยายามแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นอย่างจริงจังเสียที ที่พอมองเห็นว่าเป็นการแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นและ “ดูดี” ก็คือในปี พ.ศ. 2535 ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะนั้นตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ขึ้นมาเพื่อ “จัดระบบ” การให้สัมปทานและการให้เอกชนเข้ามาร่วมทำกิจการกับรัฐโดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ ป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น แต่ในการรัฐประหารครั้งต่อมาเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็ไม่ปรากฏว่าทั้งรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้วางมาตรการใด ๆ ที่มีผลระยะยาวเป็นการแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในประเทศไทย มากไปกว่านั้น เมื่อเวลาผ่านไปไม่นานกลับปรากฏว่า นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้ซึ่งคณะรัฐประหารได้เชิญให้มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยเหตุที่ว่าเป็น “คนดี” และ “สะอาด” กลับ “เป็นเสียเอง” ด้วยกรณีที่ดินเขายายเที่ยง ซึ่งในวันนี้เป็นประเด็นร้อนของสังคมไทยและเป็นประเด็นที่สร้าง “ตราบาป” ให้กับการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 มากขึ้นไปอีก เพราะการรัฐประหารครั้งนั้นมีเหตุผลที่ปรากฎอยู่ในแถลงการณ์ฉบับแรกของคณะรัฐประหารประการหนึ่งเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น (พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร) ว่า “…ประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยการบริหารราชการแผ่นดิน อันส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง…” เมื่อเกิดกรณีเขายายเที่ยงขึ้น กรณีดังกล่าวน่าจะสามารถนำมาเทียบเคียงกับสุภาษิตโบราณของไทยได้คือ “ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง” ครับ!!!
       การแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นที่เป็นรูปธรรมที่สุดอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทยก็คือ การกำหนดกลไกและมาตรการเพื่อป้องกัน และตรวจสอบ และจัดการ กับการทุจริตคอรัปชั่นเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 แต่ก็อย่างที่ทราบกันนะครับว่า จุดอ่อนที่สำคัญประการหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ก็คือการกำหนดให้วุฒิสภามีหน้าที่ “สรรหา” บุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่น เมื่อใดที่มีผู้ที่สามารถ “ครอบงำ” วุฒิสภาได้ ผู้นั้นก็จะเข้าไป“ครอบงำ” องค์กรตรวจสอบได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ในช่วงเวลาหนึ่งระบบการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นของไทยจึงล่มสลายลง เมื่อเกิดการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ก็มีอันต้องจบสิ้นลงอย่างน่าเวทนา ไม่คุ้มค่ากับการจัดทำที่ผ่านกระบวนการซึ่ง “สวยงาม” อย่างมากในสายตาของคนจำนวนหนึ่ง และต่อมาแม้เราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 แต่กลไกในการ “ต่อสู้” กับการทุจริตคอรัปชั่นก็ไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมที่ได้บัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 เท่าไรนัก เมื่อมีรัฐบาลใหม่ กลิ่นอายของการทุจริตคอรัปชั่นจึงกลับมาสู่สังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง
       นับแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศเป็นเวลาปีเศษ เราได้ยินข่าวการทุจริตคอรัปชั่นบ่อยครั้ง จริงอยู่ที่แม้จะไม่ “มาก” เท่ารัฐบาลก่อน แต่สิ่งที่เราได้ยินมานั้นก็เป็นสิ่งที่ “ไม่ควรเกิดขึ้นเลย” ในรัฐบาลนี้ เพราะไม่ว่าจะเป็นคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 รัฐบาลของ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ และรัฐบาลชุดปัจจุบันต่างก็แสดงอาการออกนอกหน้าว่า “รังเกียจ” การทุจริตคอรัปชั่น และนอกจากนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังดำเนินไปอยู่ในประเทศไทยในเวลานี้ก็เป็นสิ่งที่ล้วนแล้วแต่มุ่ง “จัดการ” กับการทุจริตคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นในรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ทั้งนั้น ในเมื่อบรรยากาศในบ้านเมืองกำลังอยู่ในระหว่างการ “จัดการ” กับการทุจริตคอรัปชั่นในรัฐบาลที่ผ่านมา จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีนักการเมืองผู้ใดในรัฐบาลนี้กระโดดลงมาสู่การทุจริตคอรัปชั่นครับ แต่เท่าที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นกรณีปลากระป๋องเน่า โครงการชุมชนพอเพียงและล่าสุดกรณีทุจริตงบไทยเข้มแข็ง ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ “ไม่มีคำตอบ” ให้กับสังคมเลยว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะเมื่อมีกรณีกล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาลาออกไป ก็มีเสียงชื่นชมยินดีกันเสียยกใหญ่ว่าผู้นั้นมี spirit เป็นนักการเมืองที่ดีที่ควรเป็นตัวอย่างสำหรับนักการเมืองรุ่นต่อ ๆ ไป จากนั้น ข่าวก็เงียบไปสำหรับบางคน แต่สำหรับบางคนที่เป็น “ขาใหญ่” ก็ถูกแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งอื่นที่ไม่ด้อยกว่าตำแหน่งเดิม ส่วนการดำเนินการของรัฐในเรื่องดังกล่าวก็ไม่ปรากฏเป็นข่าวให้ประชาชนทราบว่า มีการดำเนินการไปถึงไหน อย่างไร ผมว่า การดำเนินการของรัฐบาลในเรื่องการจัดการกับปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในรัฐบาลนี้น่าจะเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีต้องนำมารายงานให้ประชาชนทราบทุกเช้าวันอาทิตย์ในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” ด้วยนะครับ!!!
       ด้วยเหตุนี้เอง เมื่ออ่านถึงที่นายกรัฐมนตรีกล่าวไว้ในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” ดังกล่าวไปแล้วข้างต้น ผมจึงไม่รู้สึกอะไรทั้งนั้น เพราะมันเป็นสิ่งที่นักการเมืองทุกคน ทุกยุค พูดและพูดเพื่อให้ภาพออกมาดี แต่การกระทำต่างหากที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า คำพูดเหล่านั้นมี “น้ำหนัก” เพียงพอหรือไม่สำหรับประชาชนคนไทยที่เป็นผู้เสียภาษีอากรครับ
       ที่น่าจะดีกว่าพูดก็คือทำ และที่จะทำได้ก็คือ ต้องปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นใหม่โดยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็หมายความว่า ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อ “วางระบบ” การแก้ไขการทุจริตคอรัปชั่นเสียใหม่ให้ดีกว่าเดิมครับ
       แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข่าวการทุจริตคอรัปชั่นเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้นกลับไม่มีพรรคการเมืองใดเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการทุจริต สถานการณ์ปัจจุบันในขณะเขียนบทบรรณาธิการนี้ก็คือ พรรคร่วมรัฐบาลเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 เพียง 2 ประเด็น คือ เปลี่ยนกติกาการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากระบบเขตใหญ่เรียงเบอร์กลับไปเป็นแบบเขตเล็กเรียงเบอร์ที่เคยใช้มาในอดีตรวมทั้งในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ด้วย กับอีกประเด็นคือ การทำสนธิสัญญาตามมาตรา 190 ที่ต้องการให้รัฐบาลทำได้ “ง่าย” ขึ้น ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าวครับ
       ผมคงไม่กล่าวถึงการที่ประชาชนอย่างเรา ๆ จะได้อะไรบ้างจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 2 ประเด็นข้างต้น แต่อยากจะขอกล่าวถึงปัญหาของการทุจริตคอรัปชั่นซึ่งเบ่งบานอย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมาว่าในวันนี้ สังคมของเราเป็น “สังคมทุจริต” ไปเสียแล้ว ไปไหนมาไหนก็ได้ยินเสียงเล่าลือกันไปทั่วว่ามีแต่การทุจริต จริงหรือเท็จอย่างไรผมไม่ทราบ แต่เพื่อเป็นการป้องกัน ผมคิดว่ารัฐบาลควรต้องทำอะไรบางอย่างกับเรื่องดังกล่าว หากรัฐบาลไม่รีบเร่งดำเนินการอย่างเข้มงวดกับปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นและแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง เมื่อใดที่ “ฝ่ายค้าน” ปัจจุบันขึ้นมาเป็นรัฐบาลหรือเมื่อใดที่เกิดการ “รัฐประหาร” ขึ้นอีก รัฐบาลนี้คงมีสภาพไม่แตกต่างไปเท่าไรจากรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่จะต้องถูก “ตรวจสอบ” และ “หาทาง” เอาผิดให้ได้ครับ ก็ต้องระวังกันไว้ด้วยสำหรับเรื่อง “ส่วนตัว” ประเภทนี้ที่อาจเกิดขึ้นได้ ส่วนเรื่องที่เป็นเรื่อง “ส่วนรวม” ก็คงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วนะครับว่า หน้าที่ของนักการเมืองและข้าราชการก็คือการบริหารราชการแผ่นดินโดยมีค่าตอบแทนที่มาจากภาษีอากรของประชาชน ถ้าอยากได้มากกว่านั้นก็ต้องไปหาเองทางอื่น เช่น หางานพิเศษทำนอกเวลาราชการ ไม่ใช่มาใช้ตำแหน่งหน้าที่หารายได้พิเศษเพราะการกระทำดังกล่าวเป็นการ “ทรยศ” ทั้งต่อประชาชนผู้เสียภาษีอากรซึ่งเป็น “นายจ้าง” และต่อประเทศชาติด้วยครับ!!!
       เพื่อให้สอดคล้องกับบรรยากาศของความพยายามที่จะให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นในประเทศไทย ผมขอนำเสนอบทความของผมเรื่อง “กระบวนการที่นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุดของประเทศฝรั่งเศส” ที่ผมได้เคยเล่าให้ฟังไปบ้างแล้วในบทบรรณาธิการครั้งก่อนๆว่า ในประเทศฝรั่งเศส เขาให้ “ใคร” มาเป็นผู้ศึกษาเพื่อหาทางแก้ไขรัฐธรรมนูญครับ
       นอกจากบทความของผมแล้ว ในสัปดาห์นี้เรามีบทความอื่นมานำเสนออีก 2 บทความ บทความแรกเป็นบทความที่มีคนรออ่านกันมากของรองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักกฎหมายมหาชนระดับแนวหน้าแห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เขียนเรื่อง “หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม” ส่วนบทความที่สองเป็นบทความที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ที่เขียนโดยนักกฎหมายมหาชนจากค่ายเดียวกันคือ อาจารย์ ธีระ สุธีวรากูร เรื่อง “สองมาตรฐาน แนวโน้มความรุนแรงในสังคมไทย : กรณีศึกษาเขายายเที่ยง” ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544