หน้าแรก สัมภาษณ์
บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยณ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 25 กันยายน 2544
17 ธันวาคม 2547 11:02 น.
 
หน้าที่แล้ว
1 | 2
ผู้สัมภาษณ์ : คำถามต่อไปผมขอถามเรื่องอื่นนอกจากการทำ website ครับ คือปัจจุบันนี้คำว่านักกฎหมายมหาชนกำลังเป็นคำที่นิยมติดปาก ในทัศนะของอาจารย์นักกฎหมายมหาชนต้องมีคุณสมบัติหรือลักษณะอย่างไรบ้างครับ
       
       ร.ศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ :
คำถามนี้ค่อนข้างตอบลำบาก เพราะถ้าจะย้อนไปในสมัยที่ผมเรียนอยู่ต่างประเทศแล้วกลับมาผมเองก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นนักกฎหมายมหาชนหรือไม่ เพราะวิธีคิด เราก็ยังคิดแบบนักกฎหมายไทยอยู่ คือ เรายังคิดถึงประโยชน์ของเอกชนมากกว่าประโยชน์ของรัฐ เราจะเห็นได้ว่าวิวัฒนาการของการเป็นนักกฎหมายมหาชนในต่างประเทศนั้นค่อนข้างยาวไกล คนที่เป็นนักกฎหมายมหาชนเขาจะมองดูประโยชน์ของมหาชนเป็นหลัก ในการเขียนกฎหมาย ในการจัดตั้งองค์กรก็จะต้องดูโครงสร้างองค์กรที่เป็นเหตุเป็นผลตามแบบฉบับของการจัดองค์กรสมัยใหม่ คือ ให้องค์กรนั้นทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพ ไม่มีการทุจริตคอรัปชั่นก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นการจัดโครงสร้างองค์กรตามหลักกฎหมายมหาชนที่หลายๆคนได้ไปเรียนกลับมาจึงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างแนวความคิดของกฎหมายมหาชนในปัจจุบัน คือว่าทำอย่างไรให้คนที่มีอำนาจในการปกครองประเทศอยู่ภายในกรอบที่กฎหมายมหาชนกำหนด เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของเราเน้นการจัดโครงสร้างองค์กรตามหลักกฎหมายมหาชนไม่ว่าจะเป็นวิธีคิด วิธีเลือกคนเข้ามาทำงานที่ต้องมีความเป็นอิสระแยกต่างหากจากผู้แต่งตั้ง การดำรงตำแหน่งได้วาระเดียวเพื่อไม่ให้ทำตัวให้เป็นที่รักของผู้มีอำนาจแต่งตั้งจะได้ถูกแต่งตั้งเข้ามาอีกรอบ หรือว่าเข้ามาในตำแหน่งแล้วจะถูกปลดออกได้ก็ต้องมีหลักเกณฑ์ มีกติกา ไม่ใช่ปลดออกได้ตามอำเภอใจอย่างที่คณะรัฐมนตรียุคก่อนสามารถทำได้ เพราะฉะนั้นสิ่งต่างเหล่านี้คือหลักและแนวคิดของกฎหมายมหาชน ส่วนคำถามที่ว่านักกฎหมายมหาชนคือใครนั้น ในวันนี้ผมว่านักกฎหมายมหาชนค่อนข้างเยอะแล้ว คือ จบปริญญาตรีนิติศาสตร์ แล้วจบปริญญาโทกฎหมายมหาชนก็กลายเป็นนักกฎหมายมหาชน ผมไม่แน่ใจว่ามหาวิทยาลัยในวันนี้เราสามารถผลิตนักกฎหมายมหาชนในความหมายแท้ๆ คือ เพื่อออกไปเป็นนักกฎหมายในภาครัฐและดูแลประโยชน์ของรัฐและประโยชน์ของประชาชนให้สมดุลกัน ผมไม่แน่ใจว่ามีที่ไหนผลิตได้เต็มที่บ้าง เพราะว่านักกฎหมายก็คือนักกฎหมาย ในวันนี้ผมไม่ค่อยเห็นความแตกต่าง อีกอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การคัดเลือกบุคคลต่างๆเข้ามาในสายนักกฎหมายมหาชนเราจะเห็นได้ว่าแม้กระทั่ง สสร. เองมีนักกฎหมายที่เข้ามาในโควต้านักกฎหมายมหาชนก็มีหลายสาขา ในวันนี้อย่างที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ นิสิตสาขากฎหมายมหาชนทำวิทยานิพนธ์กันหลายๆเรื่อง เรื่องสิ่งแวดล้อมก็มี เรื่องการเกษตรก็มี เรื่องศาลปกครองก็มี เรื่องศาลรัฐธรรมนูญก็มี เรื่องแรงงานก็มี หรือแม้แต่เรื่องคุ้มครองผู้บริโภคก็มี เรารวมกฎหมายประเภทต่างๆหลายๆอย่างแล้วเรียกว่าเป็นกฎหมายมหาชน แต่ในขณะที่คำว่านักกฎหมายมหาชนตามความต้องการของท้องตลาดในวันนี้คือ นักกฎหมายมหาชนที่เป็นกฎหมายปกครองแท้ๆที่ผมเข้าใจว่าส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมายปกครองที่เป็นที่ต้องการของส่วนราชการต่างๆ แต่อาจมีข้อยกเว้นสำหรับบางส่วนเช่น ศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา อาจต้องการผู้ที่เลือกเรียนหนักไปทางรัฐธรรมนูญ ส่วนนักกฎหมายมหาชนอีกสาขา คือ กฎหมายการคลังนั้นเลิกพูดไปได้เลยเพราะคนที่มีความรู้พอจะมาสอนได้แทบจะไม่มีแล้ว ที่เห็นๆก็มีอาจารย์อรพินฯ ที่ผมเคยสัมภาษณ์ลงเว็บไปแล้ว เอกสารตำราก็ไม่มี ผมว่าพัฒนาการของสาขานี้ยังไม่ดี ดังนั้นก็คงมีเฉพาะกฎหมายปกครองกับรัฐธรรมนูญที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นนักกฎหมายมหาชนที่มหาวิทยาลัยต่างๆสามารถผลิตออกมาได้ในเวลานี้
       
       ผู้สัมภาษณ์ : จากคำถามข้อเมื่อครู่ คือ อาจารย์เห็นว่าหลักสูตรวิชากฎหมายมหาชนของคณะนิติศาสตร์ ในระดับปริญญาตรีและระดับปริญญาโททั้งที่อาจารย์สอนและของที่อื่นในประเทศไทยตอนนี้เพียงพอกับความต้องการของภาครัฐและภาคเอกชนหรือไม่ครับ
       
       ร.ศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ :
คือ ของที่อื่นผมคงไม่ก้าวล่วงไปวิพากษ์วิจารณ์ ผมคงดูแต่เฉพาะของผมครับ อย่างของคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เราเองก็พยายามจะปรับ วันนี้นิสิตปริญญาตรีที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้น ปี 3 จะเป็นเด็กรุ่นแรกที่ต้องแยกสาขาตั้งแต่ปี 3 เทอม 2 โดยเขาต้องแยกเป็นสาขากฎหมายมหาชนหรือสาขาอื่นๆซึ่งก็หมายความว่าเขาจะจบการศึกษาระดับปริญญาตรีโดยเรียนรวมกัน 5 เทอม และแยกสาขา 3 เทอม ผมไม่แน่ใจว่าหลังจากจบปริญญาตรีไปแล้วเขาสามารถที่จะเข้าไปทำงานในหน่วยงานของรัฐเป็นนักกฎหมายมหาชนในหน่วยงานของรัฐเหล่านั้นได้ทันทีหรือไม่ เพราะว่าอย่างที่เห็น คือ หลักสูตรปริญญาตรีในประเทศไทยเรานั้น เราสอนเด็กจนเรียนหนังสือจบ ตอนอายุ 20 เศษๆแล้วเขาก็จะกลายเป็นนักกฎหมายมหาชน ผมว่าบางครั้งอาจจะไม่ค่อยเหมาะสมเท่าใดนักเพราะว่าในสายตาของผมนักกฎหมายมหาชนควรจะต้องมีประสบการณ์ในการทำงานสักพักหนึ่งอย่างเช่น คนที่ทำงานอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในวันนี้ต้องถือว่าคนเหล่านั้นเป็นนักกฎหมายมหาชนระดับแนวหน้าของประเทศ ออกไปอยู่ที่ไหนก็มีแต่คนอยากได้ เพราะว่าเขาทำงานมีประสบการณ์ทั้งในการเรียนและการทำงานช่วงระยะเวลาหนึ่ง จะเห็นได้ว่าในคณะผมมีอาจารย์จบปริญญาโทสาขากฎหมายมหาชนมาแต่ผมเข้าใจว่าบางคนความรู้ทางด้านกฎหมายมหาชนยังไม่แตก เหตุผลที่ยังไม่แตกก็เพราะว่าเรียนหนังสือจบปริญญาโทกฎหมายมหาชนเท่านั้นยังไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน มองไม่เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าถามความรู้สึกผม ผมว่าไม่ว่าจะเรียนจบปริญญาตรีหรือปริญญาโทสาขากฎหมายมหาชนก็ตาม คงต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งในการฝึกเพื่อจะให้มีความสามารถมากขึ้นแล้วถึงจะปล่อยให้ออกไปทำอะไรต่ออะไรโดยลำพังได้
       
       ผู้สัมภาษณ์ : การฝึกหรือการพัฒนานักกฎหมายมหาชนในองค์กรต่างๆ อาจารย์เห็นว่าการพัฒนานักกฎหมายมหาชนควรพัฒนาไปในทิศทางใดและมีองค์กรใดที่พัฒนานักกฎหมายมหาชนได้สำเร็จพอจะยกเป็นตัวอย่างได้ครับ
       
       ร.ศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ :
ที่เห็นได้จริงๆคือ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาครับ อย่างตัวผม ผมก็เคยรับราชการที่นั่นก่อนที่ผมจะโอนย้ายมาเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ ผมมีเพื่อนหลายคนที่รับราชการที่นั่นแล้วออกไปอยู่ตามที่ต่างๆ เราจะสามารถทำงานรับใช้หน่วยงานได้ดีมากๆเพราะเราถูกฝึกมาให้มีความรู้ทางด้านกฎหมายมหาชนค่อนข้างมากไม่ว่าจะเป็นส่วนที่เกี่ยวกับการจัดทำร่างกฎหมาย การทำความเห็นกฎหมายหรือว่าในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีปกครองซึ่งในอดีต เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ เพราะฉะนั้นคนที่ออกจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วไปอยู่ที่อื่นจะถือว่าเขาเป็นคนที่มีคุณภาพค่อนข้างดีพอสมควร ในวันนี้เราจะเห็นได้ว่าสำนักงานศาลปกครองบริหารงานได้โดยคนที่มาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกทั้งตุลาการเองหลายคนก็เคยเป็นข้าราชการในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือเคยเป็นกรรมการร่างกฎหมายหรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์มาแล้ว ซึ่งเขาเหลานั้นก็สามารถนำความรู้ทางด้านกฎหมายมหาชนที่เกิดขึ้นและสะสมในช่วงเวลาที่อยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามาใช้ประโยชน์ได้ หน่วยงานอื่นผมยังไม่แน่ใจเพราะผมไม่ได้สัมผัสโดยตรง แต่ผมอยากพูดนิดหนึ่งคือ ในเรื่องการเรียนการสอน ผมเข้าใจว่าการเรียนการสอนเป็นการให้เฉพาะทฤษฎีเท่านั้นแม้ว่าอาจารย์ผู้สอนจะพยายามยกตัวอย่าง จะพยายามยกประเด็นแสดงให้ผู้เรียนเห็นถึงว่า คืออะไร กฎหมายมหาชนมีเพื่ออะไร แต่ในทางปฏิบัติจริงๆแล้วต้องปฏิบัติถึงจะรู้ว่าลักษณะเด่น ข้อดีข้อเสียของกฎหมายมหาชนเป็นอย่างไร เพราะที่เราเรียนเราสอนนั้นก็สอนตำราของต่างประเทศทั้งนั้น วันนี้ศาลปกครองตั้งขึ้นแล้วและเริ่มมีคำพิพากษาออกมาบางส่วนแล้ว อีก10 ปีข้างหน้าผมเข้าใจว่าพื้นฐานทางด้านกฎหมายมหาชนของเราคงจะมีมากขึ้นเพราะว่าในการเรียนการสอนของเราก็คงจะเอาคำพิพากษาของศาลปกครองมาสอนเหมือนกับสมัยที่เรามีการเรียนการสอนกฎหมายเอกชนในเรื่องวิธีพิจารณาความแพ่ง วิธีพิจารณาความอาญา เราก็เอาคำพิพากษาศาลฎีกา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาศาลชั้นต้นมาสอนเหมือนกัน ผมว่าต้องให้เวลาสัก 10 ปีเพื่อจะพัฒนาหลักกฎหมายมหาชนในบ้านเราด้วยครับ และองค์กรหลักที่จะเป็นองค์กรสำคัญในการพัฒนาระบบกฎหมายมหาชนในบ้านเราในวันนี้ก็คือ ศาลปกครองนั่นเอง ผมเห็นว่า คงมีเฉพาะตุลาการศาลปกครองเท่านั้นที่จะเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการพัฒนาหลักกฎหมายมหาชนในบ้านเราด้วยการสร้างคำพิพากษาที่มีผลเป็นการสร้างหลักหรือสร้างทฤษฎีต่างๆขึ้นมาให้กับระบบกฎหมายมหาชน ยกตัวอย่างเช่น สัญญาทางปกครองในเวลานี้ทุกคนก็ยังงงๆกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดานักกฎหมายเอกชนทั้งหลาย หากเมื่อไหร่มีคดีประเภทสัญญาทางปกครองเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลปกครอง ตุลาการศาลปกครองก็ควรสร้างหลักเกณฑ์ต่างๆขึ้นมาใช้กับเรื่องสัญญาทางปกครองเพื่อให้แนวความคิดหรือทฤษฎีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองเกิดขึ้นกับวงการวิชาการด้านกฎหมายมหาชนของเรา

ผู้สัมภาษณ์ : ไม่ทราบว่า 10 ปีจะนานไปหรือไม่ครับ
       
       ร.ศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ :
คือ ผมไม่สามารถเดาได้ว่านานหรือไม่ แต่เราดูประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส เมื่อเริ่มตั้งหน่วยงานที่พิจารณาคดีปกครองใช้เวลาหลายสิบปีที่จะสร้างหลักกฎหมายปกครองแต่ละเรื่องขึ้นมา บ้านเราอาจจะเรียนลัดได้แต่ว่าการเรียนลัดไม่ได้เกิดขึ้นเองต้องมีการฟ้องคดีมาก่อน เราคงไม่สามารถไปก่อให้เกิดคดีได้ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องสัญญาทางปกครอง ในวันนี้นักวิชาการหลายต่อหลายคนรวมทั้งผมด้วยกำลังรออยู่ว่า จะมีปัญหาเรื่องสัญญาทางปกครองขึ้นศาลปกครองเมื่อไหร่ ลักษณะของสัญญาทางปกครองในระบบกฎหมายไทยจะเป็นอย่างไร ฝ่ายปกครองจะมีเอกสิทธิ์เหนือฝ่ายเอกชนหรือไม่ จะมีคำว่าประโยชน์สาธารณะอยู่ในนั้นด้วยหรือไม่ เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นทฤษฎีที่เราเรียนกันมาเป็น 10 ปี แต่ว่าในวันนี้ศาลปกครองเริ่มทำงานแล้วและศาลปกครองเองมีอำนาจหน้าที่ในการดูสัญญาทางปกครองด้วย ถ้าเกิดมีข้อพิพาทเรื่องสัญญาทางปกครองขึ้นไปสู่ศาลเราก็อาจจะเห็นภาพสัญญาทางปกครองในระบบกฎหมายไทยได้ แต่ของเหล่านี้เราไม่สามารถไปผลักดันให้เกิดคดีขึ้นมาได้ คงต้องรอ เพราะฉะนั้นที่ผมว่า 10 ปีไม่น่าจะนาน เพราะปัญหาต่างๆไม่ว่าจะเป็นนิติกรรมทางปกครองฝ่ายเดียว หลายฝ่าย หรือคำสั่งทางปกครองประเภทต่างๆแม้กระทั่งสัญญาทางปกครอง สิ่งต่างๆเหล่านี้ก็ล้วนแล้วแต่ต้องรอให้ศาลพิจารณาพิพากษาก่อนถึงจะนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานหรือเป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางที่แน่นอนของกฎหมายมหาชนในวันข้างหน้าในบ้านเราได้
       
       ผู้สัมภาษณ์ : แต่ในขณะที่รัฐธรรมนูญได้กำเนิดองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ต้องใช้กฎหมายมหาชนขึ้นมามาก เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ปปช. กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ทีนี้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรดังกล่าวอาจจะไม่ใช่นักกฎหมายมหาชนและจากปัญหาที่อาจารย์ได้กล่าวไว้แล้วในคำถามข้างต้นว่าจะต้องอาศัยเวลาเป็น 10 ปี อาจารย์คิดว่าตรงนี้จะเกิดผลอะไรหรือไม่ครับ คือ เรามีองค์กรแต่องค์ความรู้เราไม่ถึง คนของเราไม่พร้อม อาจารย์มองปัญหาตรงนี้อย่างไรครับ
       
       ร.ศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ :
ผมว่ามันขึ้นอยู่กับการรับทราบว่าเรามีความรู้ความสามารถแค่ไหนก่อน ผมยังจำวันที่อาจารย์ชัยอนันต์ ฯ ได้รับเลือกเข้าไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ ผมไปทานเข้าบ้านอาจารย์หลังจากนั้นไม่กี่วัน อาจารย์หยิบหนังสือมาอวดผม 4-5 เล่มบอกว่า เพิ่งได้มาไม่นาน หนังสือที่อาจารย์ชัยอนันต์ฯหยิบมาอวดเป็นคำพิพากษาของศาลซึ่งตัดสินคดีเกี่ยวกับกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาให้ผมดู อาจารย์บอกผมว่าเราต้องศึกษาจากประสบการณ์ของต่างประเทศด้วยเพราะบ้านเรายังเป็นของใหม่แล้วหน้าที่ดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่ใหม่สำหรับตัวอาจารย์เองด้วย ผมคิดว่าตัวอย่างที่ยกอาจารย์ชัยอนันต์ฯ ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ ผมเคยไปที่ห้องทำงานอาจารย์โภคินฯ รองประธานศาลปกครองสูงสุด ในห้องอาจารย์โภคินฯ อาจารย์ซื้อหนังสือจากฝรั่งเศสและถ่ายเอกสารหนังสือเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายปกครองมามากวางอยู่บนชั้นหนังสือเต็มไปหมด นักวิชาการทั้งสองเป็นตัวอย่างที่ดีของนักวิชาการทั้งหลายเพราะมีความใฝ่รู้อยู่ตลอดเวลา สิ่งต่างๆเหล่านี้ผมยังคิดว่ามันขึ้นอยู่กับแต่ละตัวบุคคลที่ว่าเมื่อเข้าไปดำรงตำแหน่งเหล่านั้นแล้วคงต้องประเมินความรู้ความสามารถตัวเองว่าเราจะสามารถทำงานได้ดีสมกับที่เป็นองค์กรระดับชาติหรือไม่ ถ้าคิดว่าตัวเองมีความสามารถยังไม่ถึงหรือต้องการเพิ่มพูนความสามารถให้มากขึ้นไปกว่าเดิมก็ต้องอ่านต้องค้นคว้าเพิ่มเติมต้องศึกษาเพิ่มเติม เพราะหนังสืออ่านวันเดียวก็ได้ คืออยากรู้เรื่องไหนก็หามาอ่านวันเดียวก็รู้เรื่องแล้ว ผมว่าคนระดับผู้ใหญ่ที่ได้รับเลือกเข้าไปถ้าประเมินตัวเองถูกและหาความรู้เพิ่มเติมก็สามารถทำงานในหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบได้ดีอย่างแน่นอน
       
       ผู้สัมภาษณ์ : มีหลายคนได้กล่าวเอาไว้ว่าคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาของศาลในส่วนที่ต้องเกี่ยวกับกฎหมายมหาชนที่ผ่านมาเช่นของศาลรัฐธรรมนูญ ในบางครั้งก็มีการให้เหตุผลที่มีที่มาจากหลักกฎหมายแพ่งหรือหลักกฎหมายอาญา ตรงนี้อาจารย์มีความเห็นว่าอย่างไรครับ
       
       ร.ศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ :
ตรงนี้ผมอาจจะตอบลำบากเพราะผมไม่ได้ใส่ใจในตรงนั้น คือ ผมมองคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ส่วนใหญ่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นจะเป็นเรื่องเฉพาะ ถ้าเราไปดูศาลรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสในการวินิจฉัยก็จะคล้ายๆกัน คือ เป็นเรื่องเฉพาะซึ่งไม่สามารถนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานได้ แต่ในบางกรณีก็อาจมีการนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานได้เหมือนกันเพราะผลของคำวินิจฉัยนั้นได้สร้างหลักเกณฑ์ทางกฎหมายขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น คำว่าความเสมอภาค ศาลรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสบอกว่า คำว่าความเสมอภาคแม้จะไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญก็ตามแต่ความเสมอภาคเป็นหลักที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี ค.ศ.1789 เพราะฉะนั้นหลักนี้ถือว่าเป็นหลักที่มีคุณค่าตามรัฐธรรมนูญ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญประกาศว่า หลักว่าด้วยความเสมอภาคเป็นหลักที่มีคุณค่าตามรัฐธรรมนูญหรือมีลักษณะเหมือนรัฐธรรมนูญ ในการจัดทำกฎหมายแม้รัฐธรรมนูญจะไม่ได้พูดถึงเรื่องเสมอภาคไว้แต่องค์กรทุกองค์กรที่มีหน้าที่จัดทำกฎหมายก็จะยึดหลักเรื่องความเสมอภาคของบุคคลเป็นแนวทางในการร่างกฎหมาย ถ้าเมื่อใดที่ร่างกฎหมายใดจัดทำขึ้นโดยไม่ยึดหลักว่าด้วยความเสมอภาคก็จะถือว่าขัดรัฐธรรมนูญเพราะศาลรัฐธรรมนูญของเขาเคยวางเกณฑ์เอาไว้แล้ว อันนี้เป็นการสร้างบรรทัดฐานให้เกิดขึ้นในระบบของเขา ในขณะที่ของบ้านเราในวันนี้ยังเป็นเรื่องเฉพาะอยู่ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในอนาคตหากมีการให้ความเห็นไว้ในคำวินิจฉัยที่สามารถนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานระดับประเทศได้ดังเช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วในต่างประเทศจึงจะถือว่าศาลรัฐธรรมนูญประสบความสำเร็จในการทำงานส่วนหนึ่ง
       
       ผู้สัมภาษณ์ : แต่ถึงอาจารย์เห็นว่าไม่เป็นบรรทัดฐาน แต่รัฐธรรมนูญก็บัญญัติรับรองให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันเป็นบรรทัดฐาน ส่วนคดีที่เขาโต้แย้งกับมาก อย่างเช่น การวินิจฉัยความหมายคำว่า จำคุก ด้วยการเอาหลักกฎหมายอาญามาตอบ แม้ว่าอาจารย์จะเห็นว่าไม่เป็นบรรทัดฐานแต่รัฐธรรมนูญก็บังคับให้เป็นบรรทัดฐาน เช่นนี้อาจารย์เห็นว่าอย่างไรครับ
       
       ร.ศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ :
ผมก็ยังยืนยังเหมือนเดิมครับว่าผมไม่ถือเป็นบรรทัดฐาน เพราะในการตัดสินหรือการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ด้วยความเคารพผมคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญควรดูจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ สภาพของรัฐธรรมนูญมากกว่าไปนำเอากฎหมายเอกชนมาใช้ อันนี้เป็นความเห็นผมและผมก็เคยเขียนบทความและให้สัมภาษณ์ไปหลายครั้งแล้วในส่วนนี้ เพราะว่าผมไม่เห็นด้วยกับการนำเอากฎหมายเอกชนมาใช้ ผมเคยประสบปัญหานี้ตั้งแต่ทำงานอยู่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์บางคนที่มาจากระบบศาลเอกชนพยายามจะนำเอาคำพิพากษาศาลฎีกาที่เป็นเรื่องกฎหมายเอกชนมาใช้เป็นหลักในการเขียนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ซึ่งในอดีตถือว่าเป็นศาลปกครองเหมือนกัน เพราะฉะนั้นผมคิดว่ามันแยกจากกันเด็ดขาดระหว่างกฎหมายเอกชนกับกฎหมายมหาชน ถ้าเราจะตัดสินในระบบกฎหมายมหาชน เราควรจะใช้เหตุผลทางด้านกฎหมายมหาชนมากว่าจะไปใช้เหตุผลทางด้านกฎหมายเอกชน
       
       ผู้สัมภาษณ์ : จากที่สังเกตนักวิชาการที่มีประวัติลงใน pub-law.net นักวิชาการทั้งหมดจบจากฝรั่งเศสหรือเยอรมัน เช่นนี้หมายความว่าหลักกฎหมายมหาชนหรือหลักกฎหมายปกครองที่ถือว่าดีหรือเป็นที่นิยมมาจาก 2 ประเทศนี้เท่านั้นหรือครับ หรือว่ามีประเทศอื่นที่นักกฎหมายไทยเราไปเรียนหลักกฎหมายมหาชนกลับมาได้บ้างครับ
       
       ร.ศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ :
ถ้าจะถามผมจริงๆผมก็คงต้องเข้าข้างตัวเองว่า กฎหมายมหาชนฝรั่งเศสถือว่าเป็นแม่แบบของระบบกฎหมายมหาชนของโลก มีการแบ่งแยกกฎหมายมหาชนกับกฎหมายเอกชนออกจากกันอย่างเด็ดขาดมาเป็นเวลากว่า 100 ปีแล้ว มีการแบ่งแยกศาลที่พิจารณาคดีที่เกิดขึ้นในระบบกฎหมายมหาชนกับระบบกฎหมายเอกชนออกมาเป็นอิสระเป็นเวลากว่า 100 ปีเช่นกัน มีการเรียนการสอนกฎหมายมหาชนแยกกับกฎหมายเอกชนเป็นเวลากว่า 100 ปีเช่นกัน เพราะฉะนั้นวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นมากว่า 100 ปีทำให้เขาเป็นผู้นำทางด้านกฎหมายมหาชน ส่วนประเทศเยอรมันนั้น เนื่องจากผมได้ไปเรียนที่นั่น แต่จากการอ่านหนังสือหรือบทความของเพื่อนนักวิชาการทำให้เห็นว่าเยอรมันเองก็มีระบบกฎหมายมหาชนที่เป็นระบบที่ดีพอสมควรเหมือนกัน คราวนี้คนที่มีชื่ออยู่ใน website ถ้าผู้อ่านหรือผู้ใช้บริการ pub-law.net เข้าไปดูจะเห็นว่าบุคคลที่มีรายชื่อเหล่านั้นเป็นบุคคลที่ผมนำเอาผลงานจำนวนมากมานำเสนอไว้ คือ อาจารย์ที่มีรายชื่อเหล่านั้นเขียนเอกสาร บทความ หนังสือทางด้านวิชาการเกี่ยวกับกฎหมายมหาชนค่อนข้างมาก ส่วนประเด็นที่ว่าเรามีนักกฎหมายมหาชนที่จบจากประเทศอื่นหรือไม่ผมคิดว่าก็คงมีครับ ผมรู้จักนักกฎหมายที่จบกฎหมายปกครองจากประเทศอังกฤษ จบจากประเทศออสเตรียก็มี แต่คนเหล่านี้ไม่มีข้อเขียนหรือบทความที่มากพอหรืออยู่ในปริมาณที่เราใช้อ้างอิงได้ ผมเลยไม่ได้เอาชื่อใส่เอาไว้แต่ในที่สุดแล้วผมก็ยังคิดว่าประเทศฝรั่งเศสยังเป็นหลักทางด้านกฎหมายมหาชนอยู่เพราะว่าระบบศาลปกครองของเราเองในวันนี้ก็ได้รับอิทธิพลจากทางฝรั่งเศสและเยอรมันค่อนข้างสูง ถ้าเราจะเลยไปถึงรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติต่างๆในรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นเรื่องคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่องการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน เรื่องการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พวกนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ได้รับอิทธิพลจากรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสทั้งสิ้น ในที่สุดเราอาจกล่าวได้ว่าทั้งรัฐธรรมนูญ ทั้งกฎหมายปกครอง เราได้รับอิทธิพลมาจากกฎหมายฝรั่งเศสค่อนข้างมากพอสมควรครับ
       
       ผู้สัมภาษณ์ : คำถามก่อนสุดท้าย คือ จะเห็นว่าในหน้าแนะนำหนังสือ อาจารย์แนะนำหนังสือมาก คือ จะเห็นว่าอาจารย์อ่านหนังสือมาก อาจารย์พอจะแนะนำหนังสือสำหรับผู้ที่สนใจศึกษากฎหมายมหาชนเบื้องต้นหรือว่าเป็นวารสารทางกฎหมายมหาชนสำหรับคนที่ไม่อยู่ในแวดวงวิชาการจะได้ติดตามอ่านครับ
       
       ร.ศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ :
คือเราต้องแยกก่อนว่าหนังสือกฎหมายมหาชนยุคใหม่กับยุคเก่า หนังสือกฎหมายมหาชนยุคใหม่เป็นสิ่งที่ผมไม่มีความสุขกับมันมากเท่าที่ควร ในฐานะที่เป็นคนอ่านหนังสือและผมเข้าศูนย์หนังสือของจุฬาฯเพื่อดูหนังสือดูความเปลี่ยนแปลงของหนังสือตลอดระยะเวลาเป็น 10 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเรามีหนังสือกฎหมายมหาชนที่ไม่มีคุณภาพค่อนข้างมาก ย้อนหลังกลับไปสัก 4-5 ปี ตำราเกี่ยวกับกฎหมายมหาชนยุคเก่านั้น เราจะเห็นว่าหนังสือเกี่ยวกับกฎหมายมหาชนที่ใช้กันอยู่มีไม่กี่เล่มมีหนังสือเกี่ยวกับกฎหมายปกครองที่ใช้เป็นหลักอยู่เพียงเล่มเดียว คือ ตำรากฎหมายปกครองของอาจารย์ประยูร กาญจนดุล ต่อมาก็มีคนพยายามออกหนังสือกฎหมายปกครองบ้างซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะไปลอกของอาจารย์ประยูรฯ มาค่อนข้างมาก มีการสลับบทสลับหัวข้อ แต่ก็ถือว่าได้รับอิทธิพลและถือว่าคัดลอกมาจากของอาจารย์ประยูรฯค่อนข้างมากนะครับ คราวนี้ศักราชใหม่ของกฎหมายมหาชนก็เริ่มจากการที่อาจารย์บวรศักดิ์ ฯ เขียนหนังสือกฎหมายมหาชนเล่ม 1 เล่ม 2 และเล่ม 3 ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนังสือกฎหมายมหาชนยุคใหม่ หลังจากนั้นก็มีคนพยายามเขียนหนังสือกฎหมายมหาชนแบบต่างๆออกมาที่แตกต่างจากที่เคยมีมาแล้วของอาจารย์ประยูรฯ แม้กระทั่งตัวผมเองผมก็เขียนหนังสือบริการสาธารณะและหนังสืออื่นๆขึ้นมา อันนี้ถือว่าเป็นหนังสือกฎหมายมหาชนยุคใหม่ แต่ในวันนี้หนังสือกฎหมายมหาชนยุคใหม่เหล่านั้นกลับหายไปอีกแล้ว หนังสือที่ออกมาช่วง 1 ปีเศษที่ผ่านมากลายเป็นหนังสือที่มีลักษณะเหมือนหนังสือกฎหมายมหาชนยุคเก่า คือเอาหนังสือที่มีอยู่แล้วของคนอื่นๆมาตัดแปะไปตัดต่อ ยกตัวอย่างวันนี้มีหนังสือคำอธิบายกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองอยู่หลายเล่มแต่เราจะเห็นได้ว่าแต่ละเล่มนั้นไม่มีเนื้อหาสาระที่สมควรจะต้องเสียเงินซื้อได้เลยเพราะเป็นการเอากฎหมายมาตัดแปะแล้วอธิบายด้วยความสั้นๆ เราต้องย้อนกลับไปดูวารสารศาลปกครอง เล่ม 1 ที่แจกตอนเปิดศาล ซึ่งผมคิดว่ายังมีขายอยู่ จะเห็นว่า อาจารย์โภคินฯเขียนบทความเรื่องวิธีพิจารณาคดีปกครอง ในนั้นผมถือว่าเป็นบทความที่อยู่ในลักษณะของบทความด้านกฎหมายมหาชนยุคใหม่เหมือนกัน อาจารย์โภคินฯเอากฎหมายมาอธิบายก็จริงแต่ก็มีการสอดแทรกเป็นระยะให้เห็นถึงลักษณะเดียวกันที่อธิบายหลักที่เกิดขึ้นในต่างประเทศและที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศไทยสมัยที่ยังเป็นคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ว่าเคยตัดสินประเด็นนี้ว่าอย่างไร ต่างประเทศว่าอย่างไร คือ อาจารย์โภคินฯพยายามสอดแทรกความเห็นต่างๆของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์หรือของต่างประเทศเพื่อให้ผู้อ่านเห็นถึงความที่น่าจะเป็นถ้าเกิดเรานำมาตราต่างๆของกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองมาใช้ ผมถือว่าการเขียนลักษณะนั้นเป็นการเขียนในลักษณะที่ดีมากและเป็นการทำงานของนักวิชาการอย่างแท้จริง ในขณะที่บางเล่มที่ออกมาหลังจากของอาจารย์โภคินฯ แต่ก็ย้อนกลับไปใช้รูปแบบเดิมๆที่เคยทำกับหนังสือของอาจารย์ประยูรฯ ก็คือ เอาของที่เขามีอยู่แล้วมาวางแล้วเขียนด้วยคำอธิบาย 2-3 บรรทัด พิมพ์หนังสือเล่มโตๆ เขียนหน้าปกชื่อโก้ๆออกมาแต่ไม่มีสาระ พูดตรงๆผมสงสารผู้ซื้อ ผมเคยเขียนบทบรรณาธิการคราวก่อนๆว่า จริงๆแล้วสำนักพิมพ์ไม่ควรพิมพ์หนังสือพวกนี้ด้วยซ้ำไปเพราะเสียชื่อสำนักพิมพ์ ปัจจุบันผมเห็นว่าสำนักพิมพ์ควรจะตั้ง readers ที่อาจจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยหรือเป็นผู้รู้ก็ได้มาคอยทบทวนดูว่าควรจะพิมพ์หนังสือเล่มไหนบ้าง เพราะบางคนจ่าหน้าว่าเป็นอาจารย์ เป็นข้าราชการระดับสูงแต่สาระของหนังสือผมว่าไม่ควรให้มีซ้ำในท้องตลาดมากขนาดนี้ ถ้าหนังสือมีจำนวนน้อยแต่เป็นหนังสือดีจะดีกว่ามีหนังสือจำนวนมากแต่ไม่มีคุณภาพเพราะว่าคนลำบากคือคนซื้อ สำนักพิมพ์ก็ลำบากเหมือนกัน อันนี้ก็คือหนังสือกฎหมายมหาชนที่ผมรู้สึกในวันนี้
       
       ส่วนที่ถามว่าผมชอบใจหนังสือกฎหมายมหาชนเล่มไหนมากเป็นพิเศษนั้น คือผมไม่มีโอกาสแนะนำ คือ ผมพยายามแนะนำหนังสือใหม่ๆที่ออกมาก่อน ผมเคยจะแนะนำอยู่ 2-3 หนแต่ยังไม่มีโอกาสเลยถือโอกาสแนะนำในที่นี้ ผมเข้าใจว่าคนที่เป็นนักกฎหมายมหาชนที่จะรู้พื้นฐานกฎหมายมหาชนดีๆได้ควรจะต้องอ่านหนังสือกฎหมายมหาชนของอาจารย์บวรศักดิ์ฯ เล่ม 1 เล่ม 2 และเล่ม 3อย่างละเอียดครับ หนังสือนี้ผมเข้าใจว่าพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วิญญูชน ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ยังมีขายอยู่ ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษและคิดว่าเป็นพื้นฐานทางด้านกฎหมายมหาชนยุคแรกๆที่ยังใช้ได้อยู่จนทุกวันนี้ คือ นิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน ของอาจารย์โภคินฯ อันนี้ไม่มีพิมพ์เป็นเล่มอาจจะต้องอ่านจากวารสารอัยการ ซึ่งพิมพ์ต่อเนื่องกันเป็นปี เข้าใจว่าที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเอาไปโรเนียวเป็นเล่มให้เด็กเรียนเหมือนกัน ใครสนใจจะหาเล่มนี้อาจจะลองสอบถามอาจารย์โภคินฯที่ศาลปกครองเผื่อว่าอาจารย์จะพิมพ์ใหม่ก็จะเป็นการดีสำหรับแวดวงวิชาการของเรา หรือลองดูในบรรณานุกรมส่วนตัวของอาจารย์โภคินฯใน pub-law.net จะเห็นว่าเราได้บอกไว้แล้วว่าบทความเรื่องนิติบุคคลในกฎหมายมหาชนซึ่งเป็นบทความขนาดยาว 20 ตอนจบสามารถหาอ่านได้ที่ไหน เรื่องนี้ผมถือว่าเป็นหลักเลย ถ้าคุณไม่รู้เรื่องนิติบุคคลในกฎหมายมหาชนอย่างดี คุณจะไม่สามารถศึกษากฎหมายมหาชนได้อย่างดีครับ
       
       ผู้สัมภาษณ์ : สุดท้ายนี้ อาจารย์มีอะไรจะฝากถึงผู้เข้าชมเว็บบ้างหรือไม่ครับ
       
       ร.ศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ :
คือผมต้องขอขอบคุณทุกคนที่ใช้ website นี้ครับ ผมกับทีมงานจะพยายามกันอย่างสุดๆเหมือนกันครับ ไม่ว่าจะเหนื่อยกันขนาดไหนหรือลำบากกันขนาดไหนเราก็พยายามให้ดีที่สุด ผู้ใช้บริการคงเห็นแล้วว่าเราไม่มีรายได้อะไรทั้งนั้นจาก website ไม่มีโฆษณาไม่มีอะไรเลยทุกอย่าง ท่านเข้ามาใช้ไม่เสียค่าใช้จ่ายอะไรทั้งนั้น เพราะฉะนั้น website นี้จึงเป็น website ที่ตั้งใจทำโดยนักวิชาการเพื่อประโยชน์ทางวิชาการแท้ๆแต่เพียงอย่างเดียว ผู้ใช้บริการอยากให้เรามีอะไรตรงไหน อยากให้เราเพิ่มอะไรตรงไหนก็ลองmailมาบอกกันนะครับ ถ้าปรับปรุงได้หรือไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่จะทำได้ ก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด อย่างไรก็ตามจะพยายามต่อไปเรื่อยๆจนกว่าจะไม่ไหว ถ้าไม่ไหวขึ้นมาเมื่อใดก็จะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าสักเดือนหนึ่ง แล้วก็จะหาคนมาช่วยดูแลต่อซึ่งผมก็เคยคิดเล่นๆเหมือนกันว่า ถ้าผมทำไม่ไหวหรือว่าหมดทุนที่จะทำผมจะมอบ pub-law.net ให้คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ หรือให้คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รับไปต่อทำถ้าเขาเห็นความจำเป็น แต่อย่างไรก็ตามขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าจะพยายามทำให้ดีที่สุดและให้เป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆจนกว่าจะทำไม่ไหวครับ
       
       ผู้สัมภาษณ์ : ขอขอบคุณอาจารย์ที่กรุณาสละเวลาให้สัมภาษณ์ครับ

หน้าที่แล้ว
1 | 2

 
 
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2546
บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.อรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 8 กันยายน 2544
บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.โภคิน พลกุล รองประธานศาลปกครองสูงสุด ณ สำนักงานศาลปกครอง วันที่ 27 กรกฎาคม 2544
บทสัมภาษณ์ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ณ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย วันที่ 11 ธันวาคม 2544
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม 2546
   
 
 
 
มองการปฏิรูปประเทศผ่านสายตานักกฎหมาย นันทวัฒน์ บรมานันท์ จากคนวงในสู่ภาพขยายสังคม
ปี ๒๕๕๕ การเมืองจะรุนแรง ? เหตุ ปชช.ไม่รู้
ศึกแผงลอย "สยามสแควร์"ยื้อ 8 เดือน "จุฬาฯ" เกินต้านยอมถอย แฉ! "เจ้าหน้าที่" ไม่ร่วมมือ!!!
ถามหาความกล้า"ประชาธิปัตย์"เป็นฝ่ายค้านที่สะอาดดีกว่าอยู่ในรัฐบาล แล้วเป็นสีเทา
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อัดแก้รธน. 2 มาตราไม่ได้ตอบโจทย์แก้ปัญหาปรองดอง เสนอขึ้น"บัญชีดำ"คนยกร่างรธน.ปี50
"นันทวัฒน์ บรมานันท์"ซัดคลิปลับฉาว ศาล รธน.บกพร่องเอง คนแต่งตั้งกุนซืออย่าปฏิเสธความรับผิดชอบ
สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ว่าด้วยเรื่อง "ปรองดองขี้ขลาด-เส้นทางการเมืองและการปฎิรูป"
สัมภาษณ์ ดร.วรรณภา ติระสังขะ เจาะโมเดลตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จาก"ฝรั่งเศส"ถึง กฟผ. .′ความ(ไม่)เท่าเทียมกันของอาวุธ′
สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ชำแหละ"รากแห่งความขัดแย้ง" ลากสังคมไทยสู่สงครามกลางเมือง !!!!
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544