หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 297
13 สิงหาคม 2555 14:29 น.
สำหรับวันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม 2555
       
       “หากยังคิดจะแก้รัฐธรรมนูญ ......”
       
                 สถานการณ์การเมืองในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมายังไม่มีความชัดเจนเหมือนเดิม แม้ว่าสภาผู้แทนราษฎรจะเปิดสมัยประชุมสามัญทั่วไปไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่มีการหยิบยกเรื่องรัฐธรรมนูญกับร่างกฎหมายว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติที่เป็นปัญหาขึ้นมาพิจารณาแต่อย่างไรครับ
                 ในบทบรรณาธิการครั้งที่ผ่านมา ผมได้เขียน “ยุ” ให้รัฐสภาเดินหน้าลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ในวาระ 3 ต่อไป เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไปแล้วว่า การแก้รัฐธรรมนูญไม่เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ส่วนข้อแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการออกเสียงประชามตินั้น เนื่องจากข้อแนะนำก็คือข้อแนะนำ มิใช่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีผลผูกพันรัฐสภาให้ต้องปฏิบัติตามตามมาตรา 216 วรรค 5 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ดังนั้น รัฐสภาจึงมีดุลพินิจที่จะเลือกปฏิบัติตามคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ได้ ซึ่งผมเห็นว่าการดำเนินการของรัฐสภาในเรื่องดังกล่าวต้องชัดเจนและรวดเร็วเพราะมาตรา 291 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติถึงกระบวนการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาไว้ในขั้นตอนของการพิจารณาวาระที่สามว่า เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป ซึ่งขณะนี้ก็เลย 15 วันมาพอสมควรแล้ว รัฐสภาจึงควรต้องรีบเร่งดำเนินการบางอย่างเพื่อให้เรื่องของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกิดความชัดเจนและเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 291 แห่งรัฐธรรมนูญครับ
                 ในความเห็นส่วนตัวของผมนั้น แม้ว่าผมจะมองว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการพิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาและแม้ผมจะได้แสดงความเห็นไปแล้วว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญไม่มีผลผูกพันองค์กรใดๆ ตามมาตรา 216 วรรค 5 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่ในเมื่อรัฐสภายอมรับการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ทั้งๆ ที่ไม่มีมาตราใดในรัฐธรรมนูญบัญญัติให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเอาไว้เลย รัฐสภาก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องดำเนินการตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในเรื่องนี้เองผมได้ให้สัมภาษณ์ไปหลายครั้งแล้วว่า หากรัฐสภายอมรับการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ รัฐสภาก็ควรที่จะต้อง “จบ” เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำมาทั้งหมดลงไปก่อนแล้วไปเริ่มต้นกระบวนการใหม่ตามคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ ก็คือ หันไปใช้วิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราหรือถ้าหากจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับก็คงต้องให้ประชาชนออกเสียงประชามติก่อนว่าจะยอมให้แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ ซึ่งวิธีการที่จะจบเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาทั้งหมดนั้นไม่ใช่การนิ่งหรือปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ค้างพิจารณาอยู่ในรัฐสภา แต่รัฐสภาควรจะต้องลงมติในวาระที่ 3 ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นตกไปแล้วก็ค่อยไปเริ่มกระบวนการกันใหม่ครับ
                 เวลาก็ผ่านไปนานพอสมควรแล้วแต่ผมก็ยังไม่เห็น “ท่าที” ของรัฐสภาเลยว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ค้างอยู่ในรัฐสภาครับ !!!
                 ในขณะที่รัฐสภายังไม่ตัดสินใจที่จะดำเนินการใดๆ พรรคร่วมรัฐบาลก็ได้เริ่มกระบวนการเพื่อหาทางออกให้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคร่วมรัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานคณะหนึ่งมีจำนวน 11 คนเพื่อศึกษาแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะดำเนินการอย่างไรกันต่อไป เท่าที่ทราบจากข่าวที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ  “คณะทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ได้ประชุมครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา และได้กำหนดแนวทางในการดำเนินการไว้ 2 ประการด้วยกันคือ ศึกษาคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และเหตุที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550
                 จริงๆ แล้วผมไม่อยากเข้าไปยุ่งกับเรื่องการดำเนินการข้างต้นของพรรคร่วมรัฐบาลเท่าไรเพราะผมยังมองว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาอยู่ในวันนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการของรัฐสภา รัฐสภาควรเร่งรีบหารือว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปมากกว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะเข้ามาทำหน้าที่นั้น แต่เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้องผมก็เลยขอมีความเห็นในเรื่องนี้ด้วยโดยในเรื่องของการศึกษาคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นผมคิดว่าคงไม่มีปัญหาอะไรมากนัก คิดอะไรไม่ออกก็ไปดูที่นักวิชาการจำนวนมากออกมาให้ความเห็นกันไปแล้วในทุกประเด็นแล้ว เลือกที่จะเชื่อใครก็ได้ครับเพราะถึงแม้คณะทำงานจะคิดเองยังไงๆ ก็ไม่พ้นไปจากสิ่งที่นักวิชาการได้ให้ความเห็นเอาไว้แล้วเพราะปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องสลับซับซ้อนอะไรเลย ส่วนคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นคำวินิจฉัยกลางหรือคำวินิจฉัยส่วนตัวก็ไม่ได้มีความลึกซึ้งอะไรที่จะต้องไปนั่งศึกษากันมากมาย อ่านธรรมดาๆ ก็เข้าใจชัดเจนแล้ว เรื่องที่จะเป็นปัญหาก็คือเรื่องที่สองที่คณะทำงานตั้งประเด็นเอาไว้ก็คือ เหตุที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ต่างหากที่เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจกันอย่างจริงจังครับ
                 ผมแอบรู้สึก “สะใจ” และ “สมน้ำหน้า” กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้อยู่บ้าง ก็เพราะผมได้เคยเสนอความเห็นเอาไว้หลายครั้งหลายหนผ่านทางบทความ การให้สัมภาษณ์ และแม้กระทั่งสนทนากับนักการเมืองที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไปหลายครั้งแล้วว่า ก่อนที่คิดจะแก้รัฐธรรมนูญควรจะต้องทราบประเด็นที่ชัดเจนก่อนว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องอะไรบ้างและเพราะเหตุใดจึงต้องแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องนั้น แต่ความเห็นของผมก็ไม่มีใครสนใจครับ !!! ในที่สุดเมื่อเดินหน้าต่อไปไม่ได้ วันนี้คณะทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงต้อง “ย้อน” กลับไปสู่จุดเริ่มต้นที่ควรจะต้องทำทันทีภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ฉบับ “รับไปก่อน แก้ทีหลัง” มีผลใช้บังคับ แต่รัฐบาลในขณะนั้นคือรัฐบาลของคุณสมัคร สุนทรเวช ก็ไม่ดำเนินการ ปล่อยเวลาให้ผ่านไปจนกระทั่งเกิดวิบากกรรมตามมามากมายไม่ว่าจะเป็นการพ้นจากตำแหน่งของคุณสมัคร สุนทรเวช เอง หรือการยุบพรรคพลังประชาชนจึงค่อยคิดจะศึกษาแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันครับ
                 ในเมื่อคณะทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะ “ย้อน”กลับไปสู่จุดเริ่มต้นที่ควรจะต้องเป็น ผมก็จะขอ “ย้อน” กลับไปบ้างโดยขอนำเอาข้อเสนอเก่ามากของผมข้อเสนอหนึ่งที่ได้เขียนเอาไว้ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 197 ซึ่งเผยแพร่ใน www.pub-law.net ระหว่างวันที่ 13 - 26 ตุลาคม 2551 โดยผมได้เสนอเกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 เอาไว้ว่า รัฐบาลควรตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาวิเคราะห์ปัญหาของประเทศที่เกิดขึ้นในช่วงของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่า จริงๆแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นมีที่มาจากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือมาจากพฤติกรรมของผู้ใช้รัฐธรรมนูญ เมื่อพบปัญหาครบทั้งหมดจึงค่อยมาพิจารณาว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าใช่จะต้องแก้ไขในประเด็นใดหรือจะต้องแก้ไขทั้งฉบับครับ ในบทบรรณาธิการดังกล่าว ผมได้เสนอให้รัฐบาลตั้งคณะทำงานเล็กๆ ขึ้นมาคณะหนึ่งมีจำนวนไม่เกิน 20 คน เพื่อทำการศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมาว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญหรือเกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ ประธานคณะทำงานจะต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านการเมืองอย่างมาก มีความรู้ความสามารถด้านกฎหมายเป็นอย่างดี เพราะปัญหาของประเทศในวันนี้ส่วนใหญ่เป็นปัญหากฎหมาย และนอกจากนี้ยังต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตและเป็นกลางด้วย ในขณะที่เขียนบทบรรณาธิการเมื่อปี พ.ศ. 2551 นั้นผมเห็นว่าคนที่เหมาะสมที่สุด คือ คุณชวน หลีกภัย เพราะคุณชวนฯ มีประสบการณ์ทางการเมืองมากที่สุด เป็นนายกรัฐมนตรีมา 2 รอบ เป็นรัฐมนตรีอีกไม่ทราบว่ากี่ครั้ง เป็นผู้นำฝ่ายค้าน ถูกทรยศหักหลังจากพรรคการเมืองและนักการเมืองก็เคย เรียนจบกฎหมายจากธรรมศาสตร์ เคยเป็นอาจารย์สอนกฎหมายที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีภาพของความซื่อสัตย์สุจริตติดตัวมาตลอด แถมยังเป็น “ประชาธิปัตย์” อีกด้วย หากตั้งคุณชวนฯ มาเป็นประธานคณะทำงาน เสียงคัดค้านจากหลายๆ ฝ่ายก็คง “เบาบาง” ลงอย่างแน่นอนครับ จะติดอยู่นิดเดียวก็คือ “ความเป็นกลาง” เพราะอย่างที่เราทราบกันอยู่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ในวันนี้มีทิศทางของการดำเนินการทางการเมืองตรงกันข้ามกับรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่ผมไม่ห่วงเท่าไรครับ ลองถ้าคุณชวนฯ ตอบรับทำงานใหญ่ขนาดนี้เชื่อได้ว่าคุณชวนฯ ต้องรักษาความเป็นกลางได้เป็นอย่างดีครับ ส่วนผู้ที่จะมาเป็นคณะทำงานนั้นผมเสนอว่าควรให้ประธานคณะทำงานร่วมกับนายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง อย่าเพิ่งตกใจครับ ที่ผมเสนอให้คนจาก 2 ขั้วมาแต่งตั้งคณะทำงาน ผมว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่ให้ทั้ง 2 ตัดสินใจร่วมกันโดยมีกรอบของการแต่งตั้งง่ายๆ คือ คณะทำงานควรมี 2 ส่วน ส่วนแรก จำนวนไม่เกิน 15 คน ควรตั้งจากผู้มีความเชี่ยวชาญที่สุดในประเทศไทย โดยยึดโยงจากหมวดต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ เช่น หมวดสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยก็ต้องตั้งจากคนที่เก่งที่สุดและรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพดีที่สุดในประเทศไทย คณะทำงานส่วนที่ 2 จำนวนไม่เกิน 5 คนมาจากนักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ และนักอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับการศึกษาปัญหาของประเทศ คณะทำงานจะต้องทำงานศึกษารัฐธรรมนูญในแต่ละหมวดอย่างละเอียดว่า บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 มีปัญหาอย่างไรหรือไม่ โดยทำการศึกษาจากปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงเวลาบังคับใช้รัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ ตรงจุดนี้ที่ผมคิดว่าผู้ที่มีความเชี่ยวชาญที่สุดในเรื่องที่อยู่ในหมวดต่างๆ ของรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ที่หาคำตอบให้กับสังคมได้ดีที่สุดและเร็วที่สุดครับ ด้วย “บารมี” กับ “ประสบการณ์” ของประธานคณะทำงาน ประกอบกับความเชี่ยวชาญของคณะทำงานทั้งหมด ผมคิดว่าไม่เกิน 3 เดือน เราน่าจะได้ข้อเสนอเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นรูปธรรม เมื่อคณะทำงานส่งข้อเสนอดังกล่าวให้รัฐสภาและเผยแพร่ให้กับประชาชนทราบแล้ว ถึงตอนนั้นค่อยมาพิจารณากันว่า ตกลงแล้วควรดำเนินการอย่างไรกับรัฐธรรมนูญครับ รูปแบบที่ผมเสนอนี้หากเป็นไปได้ก็ “น่าจะ” ได้รับการยอมรับจากฝ่ายการเมืองและประชาชนมากกว่าการที่คณะทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ทำการศึกษาเองครับ !!
       
                 ขอย้ำว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นข้อเสนอเก่าที่เคยเสนอไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 นะครับ !!!
       
                 วันนี้ หากยังคิดจะแก้รัฐธรรมนูญกันอยู่ ปลอดภัยที่สุดก็คือต้องมีประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อประเด็นชัดเจนแล้วค่อยมาพิจารณากันต่อไปว่า ต้องจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือแก้ไขเป็นบางมาตรา ถ้าข้อสรุปออกมาว่าต้องจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ถึงค่อยมาหารูปแบบองค์กรที่จะเข้ามาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กันต่อไปครับ
       
                 ก็ช่วยไม่ได้นะครับ ยอมรับในสิ่งที่ไม่ควรยอมรับก็ต้องหาทางออกกันวุ่นวายอย่างนี้ครับ !!!
       
                ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอสองบทความด้วยกัน บทความแรก เป็นบทความของอาจารย์ปีดิเทพ อยู่ยืนยง จากมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ฯ ที่เขียนเรื่อง "นโยบายองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสถานะของพนักงานมหาวิทยาลัยสายผู้สอน" บทความที่สอง เป็นบทความของคุณพอเจตน์ วิชาวุฒิพงษ์ นักกฎหมายอิสระ ที่เขียนเรื่อง "วิพากษ์การตีความกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ" ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกบทความครับ
       
                   พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม 2555
       
                   ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544