หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 331
1 ธันวาคม 2556 21:14 น.
สำหรับวันจันทร์ที่ 2 ธันวาคมถึงวันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม 2556
       
       “ อนาคตประเทศไทย??? ”
       
                   จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2556 กรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาใน 2 เรื่องหลักๆ คือ ในส่วนของกระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและขัดต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ  กับในส่วนของเนื้อหาที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อความที่เป็นสาระสำคัญขัดหรือแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 อันเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้ เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 นั้น  หลังการอ่านคำวินิจฉัยก็มีเสียง “สรรเสริญเยินยอ” ศาลรัฐธรรมนูญตามมามากว่าชี้ขาดได้ดี ทำให้สมาชิกรัฐสภาไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้  แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ “วิพากษ์” การใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ว่าไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
                 ผมปฏิเสธการให้สัมภาษณ์สื่อทุกประเภทรวมไปถึงปฏิเสธการไปอภิปรายเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญข้างต้น เพราะรู้สึกผิดหวังอีกครั้งหนึ่งกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ หากให้สัมภาษณ์หรือไปอภิปรายก็คงพูดได้เพียงเรื่องเดียวคือ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งประเด็นนี้ก็มีนักวิชาการจำนวนหนึ่งออกมาให้สัมภาษณ์และออกคำแถลงการณ์กันไปบ้างแล้ว เพราะฉะนั้นหากผมพูดอะไรไปก็คงไม่แตกต่างจากคนอื่นจึงตัดสินใจที่จะไม่พูด ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งที่ยังไม่พูดก็เพราะเคยมีประสบการณ์มาแล้วกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เนื้อความที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านในวันที่มีคำวินิจฉัยกับเมื่อคำวินิจฉัยประกาศในราชกิจจานุเบกษามีข้อความไม่ตรงกันในบางส่วน ดังนั้น ผมจึงตัดสินใจที่จะอยู่เงียบๆ และรอศึกษาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่จะออกมาอย่างเป็นทางการก่อนครับ
                 ผมเคยพูดเคยเขียนเรื่องการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญเอาไว้หลายครั้งแล้วไม่ว่าจะเป็นในบทบรรณาธิการครั้งที่ 296 ที่เผยแพร่ไปตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2555 หรือบทบรรณาธิการครั้งที่ 327 เรื่อง “เบื่อมาตรา 68” ที่เพิ่งเผยแพร่ไปเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมานี้เอง เพราะฉะนั้นคงไม่ต้องมาพูดซ้ำอีกว่า เรื่องที่จะเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 ต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุด เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน  แต่อย่างไรก็ดี ในคำวินิจฉัยกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภานี้ไม่ได้มีเฉพาะประเด็นมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ยังมีประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญได้สร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการกฎหมายมหาชนอีกครั้งด้วยการดำเนินการในลักษณะเดียวกับที่เคยใช้มาแล้วในกรณี มาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคือ ชี้ว่าตนมีอำนาจในการตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งในส่วนของ กระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม และในส่วนของเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้งๆ ที่มาตรา 291 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอันเป็นมาตราเดียวในรัฐธรรมนูญที่บัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบทั้งรูปแบบของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือเนื้อหาของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเอาไว้เลยครับ
                 ผมยังไม่อยากเขียนอะไรมากนักเพราะยังไม่หายแปลกใจกับการใช้อำนาจที่ตนเองไม่มีของศาลรัฐธรรมนูญ  เอาไว้รอให้คำวินิจฉัยฉบับจริงออกมาอย่างเป็นทางการก่อนจึงค่อยคิดดูอีกครั้งว่าจะเขียนวิพากษ์ดีหรือไม่  แต่ผมมีข้อสังเกตเล็กน้อยที่มาจากความรู้สึกส่วนตัวเมื่อครั้งฟังการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2556 อยู่หลายส่วนด้วยกัน เริ่มตั้งแต่การที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้อ่านคำวินิจฉัยใช้น้ำเสียงที่ดุดัน  ตามมาด้วยการใช้ถ้อยคำที่มีลักษณะเปรียบเปรยและมีบางถ้อยคำที่ไม่น่าจะปรากฏอยู่ในการวินิจฉัย เช่น คำว่าสภาผัวเมีย รวมไปถึงการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทเข้าไปพยากรณ์อนาคตทางการเมืองล่วงหน้า ในหลายๆ ส่วน เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะนำพาไปสู่การผูกขาดอำนาจรัฐเป็นต้น
                 ผลกระทบจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีที่มาของสมาชิกวุฒิสภาคงมีอยู่หลายประการแต่ก็เป็นผลกระทบที่ผู้คนจำนวนหนึ่งมองไม่เห็นเพราะถูกใจเสียเหลือเกินกับการดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้  แต่ในความเห็นส่วนตัวของผมนั้น ผมมองว่า การเข้าไปควบคุมการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ย่อมทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นองค์กรที่มีอำนาจมากที่สุดองค์กรหนึ่งของประเทศ  เป็นองค์กรที่ควบคุมได้ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ  เป็นองค์กรที่เข้าไปใช้อำนาจทางการเมืองแทนฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นองค์กรที่ควบคุมฝ่ายบริหาร เป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เป็นผู้กำหนดว่าจะแก้รัฐธรรมนูญได้ในเรื่องอะไรบ้างและแก้อย่างไร  เป็นผู้ที่สามารถใช้อำนาจที่ตนเองไม่มีได้โดยไม่มีกลไกในการตรวจสอบเนื่องจากเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุด
                 คำถามที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องตอบให้กระจ่างก็คือ  บทบัญญัติมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะมีไว้ทำไม เพราะแม้ในมาตรา 291(1) วรรคสอง จะห้ามแก้รัฐธรรมนูญเพียง 2 เรื่องคือ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ  แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้เพิ่มเติมข้อห้ามของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าไปอีกด้วยการห้ามการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช 2550 ข้อห้ามที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดขึ้นมาใหม่นี้ย่อมมีผลเสมือนหนึ่งว่าเป็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ หมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญได้สร้างบทบัญญัติที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291(1) วรรคสอง ขึ้นมาโดยปริยายครับ
       เราจะทำอย่างไรกันดีกับเรื่องนี้ครับ จริงอยู่แม้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะถูกใจคนจำนวนหนึ่ง  แต่บรรดานักกฎหมายทั้งหลายคงมีความรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะหลักพื้นๆ เช่น หลักไม่มีกฎหมายไม่มีอำนาจที่เราพร่ำสอนกันอยู่ตลอดเวลากำลังถูกคุกคามและผู้คนจำนวนมากก็           ยอมให้มีการคุกคามด้วยครับ !!!
                 สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาจากกรณีนิรโทษกรรมและกรณีแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาก็คือ มีคนออกมาชุมนุมประท้วงกันเต็มถนนและใช้เรื่องนิรโทษกรรมและการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาเป็นเหตุต่อต้านพรรคเพื่อไทย รัฐบาลและ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร  เกิดเหตุการณ์วุ่นวายตามมาอย่างมากมาย  ปิดถนน บุกเข้ายึดสถานที่ราชการ มีโรงเรียนและสถานที่ราชการจำนวนหนึ่งต้องปิดตัวเองเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการชุมนุม แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศใช้กฎหมายพิเศษเพื่อควบคุมสถานการณ์แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้  ความวุ่นวายเกิดขึ้นทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดสร้างความวิตกให้กับประชาชนจำนวนมาก ดูๆ ไปแล้วเหมือนกับว่า  ไม่มีทางใดที่จะทำให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากันได้เพราะต่างฝ่ายต่างก็ไม่ยอมกันและเหมือนกับว่าต่างพยายามเอาชนะกันด้วย
                 บทบรรณาธิการครั้งนี้เขียนขึ้นมาด้วยความเป็นห่วงอนาคตประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า  ระบบและกลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ “ความเป็นอยู่” หรือ “ความมีอยู่” ของประเทศไทยกำลังถูกทำลายลงโดยฝีมือของทุกๆ ฝ่าย ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่ในการจัดทำร่างกฎหมายและแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็ตั้งใจทำผิดต่ออำนาจหน้าที่ของตนเองอย่างไม่รู้สึกอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่มีการสับเปลี่ยนร่างที่เสนอกับร่างที่ใช้ในการพิจารณาในวาระที่ 1 รวมทั้งที่แย่ที่สุดก็คือเกิดการออกเสียงลงมติที่ใช้วิธีเสียบบัตรแทนกัน  ฝ่ายบริหารที่ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของผู้ที่ไม่เอารัฐบาล  ด้วยการปิดถนน  เข้ายึดสถานที่ราชการ ฝ่ายตุลาการที่ใช้อำนาจนอกเหนือจากกรอบที่รัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจไว้ ทั้ง 3 ฝ่ายต่างก็ไม่เชื่อถือและยอมรับซึ่งกันและกัน  ฝ่ายตุลาการไม่ยอมรับอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ  ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารไม่ยอมรับอำนาจของฝ่ายตุลาการ ฝ่ายนิติบัญญัติเสียงข้างน้อยไม่ยอมรับฝ่ายนิติบัญญัติเสียงข้างมาก ไม่ยอมรับรัฐบาล  นักการเมืองส่วนหนึ่งที่ไม่ยอมต่อสู้ทางการเมืองในรัฐสภาแต่กลับเชื่อมั่นในการต่อสู้บนถนน  ประชาชนออกมาจำนวนมากออกมาแสดงพลังบนถนนร่วมกับนักการเมืองเพราะไม่ยอมรับรัฐบาล  และสภาผู้แทนราษฎร ในขณะที่ประชาชนอีกจำนวนหนึ่งแสดงพลังบนถนนเช่นกันเพราะไม่ยอมรับองค์กรศาล  ไปๆ มาๆ แล้วจนป่านนี้ผมยังไม่ทราบเลยว่า  จะทำอย่างไรกับความไม่เชื่อมั่นและความไม่ไว้วางใจที่ต่างฝ่ายต่างก็ไม่มีให้กันครับ
                 ไม่อยากโทษนักการเมืองจำนวนหนึ่งที่เล่นการเมืองด้วยการตั้งหน้าตั้งตาที่จะทำลายบรรดานักการเมืองคู่แข่งด้วย เหตุผลที่ไม่ใช่เหตุผล ไม่อยากโทษศาลรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจไว้ ไม่อยากโทษประชาชนที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างไม่ลืมหูลืมตาจนลืมนึกถึงความชอบธรรม  ผลของการกระทำของทุกฝ่ายทำให้ประเทศไทยถูกต้อนเข้าสู่มุมอับทำให้การบริหารประเทศตามปกติต้องหยุดชะงักลง ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและสภาวะของประเทศอย่างมาก
                 เพื่อให้ทุกอย่างกลับเข้าสู่สภาวะปกติ  รัฐบาลควรที่จะต้องตัดสินใจบางอย่างตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย  การยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะนำมาใช้ด้วยเหตุที่ว่า  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งทำผิดต่ออำนาจหน้าที่อย่างร้ายแรงในกระบวนการพิจารณาทั้งร่างกฎหมายนิรโทษกรรมและร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อยุบสภาแล้ว ในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยควรต้องรณรงค์หาเสียงให้ชัดเจนเกี่ยวกับสิ่งที่ตนเองประสงค์จะทำหากได้กลับเข้ามาเป็นเสียงข้างมากในสภา เช่น จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในเรื่องอะไรบ้าง หรือ จะนิรโทษกรรมผู้ใด โดยการนำเสนอจะต้องระบุกรอบรายละเอียดของสิ่งที่จะทำอย่างชัดเจนเพื่อให้ประชาชนมองเห็นภาพของสิ่งที่เป็นความตั้งใจของพรรคเพื่อไทยได้อย่างครบถ้วน เช่น  หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของวุฒิสภาก็ควรที่จะต้องระบุให้ชัดเจนลงไปเลยว่า  จะแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน  ทำให้ชัดเจนเช่นนี้เมื่อได้รับเลือกตั้งเข้ามาก็จะได้ไม่มีใครว่าได้อีกครับ
                 นอกจากนี้แล้ว  เนื่องจากมาตรา 108 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กำหนดไว้ว่า เมื่อยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้วจะต้องมีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรใหม่ในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วัน  ผมเห็นว่าในช่วงเวลาดังกล่าว  รัฐบาลรักษาการควรรีบเร่งสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคมไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  วิธีที่ดีที่สุดคือ เดินตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.) ในส่วนที่สามารถทำได้ภายในช่วงเวลาสั้นๆ เช่น  การเยียวยา การแสดงความรับผิดชอบด้วยการขอโทษและการให้ความช่วยเหลือผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบและความขัดแย้งทางการเมืองในอดีตที่ผ่านมา                                                                                           
       สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นสัปดาห์ที่แย่ที่สุดอีกสัปดาห์หนึ่งของประเทศไทย การดำเนินชีวิตของผู้คนโดยเฉพาะในเมืองหลวงเป็นไปอย่างตึงเครียดและวิตกกังวลว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป หากผู้ที่เกี่ยวข้องกับความวุ่นวายในประเทศไทยในปัจจุบันยังคงดื้อดึงทำในสิ่งที่ตนเองต้องการ หากรัฐบาลยังคงดื้อดึงทำแต่สิ่งที่ตนเองต้องการโดยไม่คิดจะหันหน้าเข้าหากันหรือรับฟังกันบ้าง  ประเทศไทยคงถึงจุดจบภายในเวลาไม่ช้านี้
       
                 อนาคตของประเทศไทยอยู่ที่ไหนครับ !!! 
       
                 ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 6 บทความด้วยกัน บทความแรก เป็นบทความของ อาจารย์ปีดิเทพ อยู่ยืนยง นักวิจัยประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดอมงฟอร์ต สหราชอาณาจักร ที่เขียนเรื่อง "กฤษฎีกาของแคว้นอันดาลูซีอาว่าด้วยการควบคุมมลภาวะทางแสง" บทความที่สองเป็นบทความของ อาจารย์ไกรพล อรัญรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เขียนเรื่อง "วิเคราะห์คำพิพากษาฎีกาที่ 2281/2555 :สถานะของพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบโดยเอกชน" บทความที่สามเป็นบทความเรื่อง "ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยข้าราชการส่วนท้องถิ่นในประเทศฝรั่งเศส" ที่เขียนโดย คุณพัฒน์พงศ์ อมรวัฒน์ พนักงานคดีปกครองปฏิบัติการ สำนักงานศาลปกครอง บทความที่สี่ เป็นบทความของคุณอำนาจ คงศักดิ์ดา ที่เขียนเรื่อง "ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินหรือไม่" บทความที่ห้า เป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่เขียนเรื่อง "ทางออกประเทศไทย : เชียงใหม่จัดการตนเอง" บทความสุดท้าย เป็นบทความเรื่อง "หน้าที่โดยปริยาย: คำอธิบายในห้วงวิกฤติ " ที่เขียนโดยคุณปกรณ์ นิลประพันธ์ กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกบทความด้วยครับ
       
                 พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม 2556
       
                 ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544