หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 336
9 กุมภาพันธ์ 2557 19:10 น.
สำหรับวันจันทร์ที่ 10 ถึงวันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557
       
       “อนาธิปไตย”
       
                   ในที่สุด การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ก็ผ่านไปอย่างทุลักทุเล มีบางหน่วยเลือกตั้งที่ “มีปัญหา” ทำให้ไม่มีการเลือกตั้งและมีผู้ไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งน้อยมาก ส่วนหนึ่งแล้วก็คงมาจากการชุมนุมทางการเมืองที่ทำให้การเดินทางไปมาไม่สะดวกและก็จากข่าวที่ว่าจะมีการขัดขวางไม่ให้มีการเลือกตั้งในบางหน่วย รวมไปถึงการสร้างกระแสความเข้าใจที่ไม่ตรงกันระหว่าง no vote กับ vote no ที่ส่งผลอย่างมากต่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ผ่านไปและก็ยังได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ครบจำนวนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ก็คงต้องเดินหน้าต่อตามกระบวนการเพื่อให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครบจำนวนที่จะสามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีได้และตั้งคณะรัฐมนตรีได้ ดังนั้น ในปัจจุบัน คณะรัฐมนตรีชุดเดิมก็ยังคงต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปก่อน ผู้คนที่ออกมาคัดค้านการ “รักษาการ” ของนายกรัฐมนตรีก็ยังคงคัดค้านต่อไปซึ่งก็ไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ว่า จะจบลงเมื่อไหร่และจบลงอย่างไร
                 สภาพสังคมในปัจจุบันมีความแตกแยกรุนแรงมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน ผมเองก็ได้รับผลกระทบจากเรื่องเหล่านี้ด้วยเช่นกัน ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ที่ทำ www.pub-law.net ก็ได้พยายามที่จะทำให้ตัวเองและ website มีความเป็นกลาง มากที่สุด แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันด้วยตำแหน่งที่เป็นอยู่ การปฏิเสธไม่ยอมให้ความร่วมมือและไม่ยอมตามใจผู้คนบางกลุ่มในบางเรื่องที่มาขอให้ช่วยในรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงการปฏิเสธไม่ให้ใช้บริเวณของสถานที่ทำงานเป็น “ฐาน” ในการชุมนุม ทำให้ผมถูกผลักเข้าไปอยู่อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าจะชี้แจงอย่างไรแล้วก็ไม่เห็นความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องไปชี้แจงหรืออธิบายกับใครทั้งนั้น ทำได้ก็แต่เพียงพยายามรักษาความเป็นกลางของ “ความเห็น” ของตัวเองไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เท่านั้นเองครับ
                 เป็นที่รับรู้กันอยู่ทั่วไปแล้วว่า บ่อเกิดของความวุ่นวายทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตกรุงเทพมหานครในครั้งนี้นั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากการคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคเพื่อไทยเมื่อปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมา การคัดค้านทวีความรุนแรงขึ้นและในที่สุดก็กลายเป็นการคัดค้านรัฐบาลและตัวนายกรัฐมนตรี ถึงขนาดที่ว่าเมื่อยุบสภาแล้วต้องไม่อยู่ในตำแหน่งต่อไปและต้องมี “คนอื่น” เข้ามาทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีแทนภายหลังการยุบสภา พร้อมกับข้อเสนอที่ว่า ต้องทำการปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้ง แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อมาถึงวันนี้ซึ่งมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ การปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่และก็คงต้องรอจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ซึ่งก็ยังไม่ทราบว่าจะอีกนานแค่ไหนเพราะยังต้องทำการเลือกตั้งกันอีกในหลายหน่วยเลือกตั้งจนกว่าจะได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครบตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนด
                 นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ถึงแม้จะได้รัฐบาลชุดใหม่และนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งก็ไม่ทราบว่าจะเป็นใครและมาจากพรรคการเมืองใด ก็คงไม่มีใครบอกได้ว่า การชุมนุมประท้วงในแบบที่เกิดขึ้นในวันนี้จะจบลงหรือไม่
                 บทบรรณาธิการของ www.pub-law.net  4-5 ครั้งที่ผ่านมา วนเวียนอยู่กับเรื่องของการชุมนุมประท้วงและความสับสนวุ่นวายทางการเมืองที่เป็นเหตุสำคัญทำให้กระทบต่อการใช้ชีวิตตามปกติของประชาชนจำนวนมากและต่อระบบการปกครองประเทศ รวมไปถึงกระทบต่อกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายจนทำให้นักกฎหมายจำนวนหนึ่งมองว่า นี้คือช่วงที่วิกฤติที่สุดของกฎหมายไทย
                 วิกฤติของกฎหมายไทยเกิดมาจากผลของการกระทำของหลายๆ ฝ่ายไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง องค์กรตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ศาล นักวิชาการ และประชาชน โดยทุกฝ่ายต่างก็มีส่วนที่จะต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมของเราทุกวันนี้
                 คงต้องเริ่มต้นพิจารณาจากสภาพของกรุงเทพมหานครในวันนี้ก่อน ส่วนราชการหลายแห่งซึ่งมีหน้าที่ต้องให้บริการประชาชนถูกปิดทำการโดยประชาชน ส่วนราชการหลายแห่งถูกประชาชน บุกเข้าไปขัดขวางการทำงาน การสัญจรไปมาบนทางสาธารณะไม่สามารถทำได้เพราะมีประชาชนมาขวาง มาห้าม หรือมาตั้งสิ่งกีดขวางทางสาธารณะ การเดินทางเข้าไปในพื้นที่สาธารณะบางแห่งถูกประชาชนเข้ามาตรวจค้น สั่งให้เข้าหรือห้ามเข้า  ประชาชนบางคนเข้ามายึดพื้นที่ที่เป็นถนนสำหรับรถยนต์เป็นที่วางขายของทำให้ไม่สามารถใช้ทางเหล่านั้นได้ ยังมีตัวอย่างอีกมากที่เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพมหานครและบางพื้นที่ของบางจังหวัดที่แสดงให้เห็นถึงการกระทำต่างๆ ที่ไปกระทบสิทธิของประชาชน แต่เป็นการกระทำของประชาชนด้วยกันเอง การกระทำเหล่านี้แสดงให้เห็นในเวลานี้ว่าประชาชนสามารถทำได้ทุกอย่างโดยเกรงกลัวกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ รวมไปถึงเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยกันที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยตรงที่จะต้องดูแลให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ก็ไม่สามารถใช้ทำหน้าที่ของตนเองได้ ต้องยอมให้ประชาชนบางกลุ่มเข้ามา “แย่ง” อำนาจรัฐไปใช้อย่างไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ มารองรับ
                 เราจะเรียกการปกครองที่เป็นอยู่ในกรุงเทพมหานครวันนี้ว่าเป็นการปกครองแบบอนาธิปไตย ก็คงได้นะครับ !!!
       คำว่า อนาธิปไตย หรือ anarchy นั้น เป็นคำที่ปรากฏอยู่ในตำราด้านรัฐศาสตร์มาเป็นพันปีแล้ว อนาธิปไตยแปลได้หลายอย่าง แต่ที่นิยมแปลหรือให้ความหมายกันก็คือ หมายถึงสภาวะที่รัฐปราศจากการควบคุม ไม่มีกฎหมาย กฎ ระเบียบใดๆ มาใช้บังคับ ทำให้เกิดความวุ่นวายในสังคม
                 เราคงใช้คำว่าอนาธิปไตยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครในช่วงเวลาปัจจุบันได้เพราะเกิดเหตุการณ์หลายอย่างที่มีกฎหมายห้าม มีผู้รักษากฎหมายที่ต้องใช้อำนาจของตนเพื่อให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ก็เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบอย่างมากขึ้น เกิดการชุมนุม บุกเข้ายึดหรือปิดล้อมสถานที่ราชการ ห้ามประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ปิดกั้นหน่วยเลือกตั้ง การกระทำทั้งหลายเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน เป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่มีรัฐธรรมนูญและกฎหมายรองรับ แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐกลับเพิกเฉยและปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ข้างต้นขึ้น
                 สภาพบ้านเมืองของเราในช่วงเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมาจึงเป็นแบบที่เราเห็นกัน เป็นเหมือนสังคมที่ไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ เป็นสิ่งที่ทุกคนอยากทำอะไรก็ทำ ฝ่าฝืนและท้าทายต่อกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเองก็ไม่สามารถทำอะไรได้
                 มองย้อนกลับไปไม่เกิน 6 เดือน สังคมเดียวกันนี้เคยเรียกร้องความเป็นนิติรัฐและความเป็นประชาธิปไตยอยู่ ถกเถียงกันถึงเรื่องของนิติรัฐและนิติธรรม แต่ในวันนี้ สังคมเดียวกันนี้กลับทำทุกเรื่องและสนับสนุนเรื่องที่อยู่ตรงข้ามกับหลักนิติรัฐและนิติธรรม ทำให้รัฐธรรมนูญและกฎหมาย ไม่ได้กลายเป็นสิ่งที่สังคมนี้ยึดถือและปฏิบัติตามอีกต่อไป คงมีแต่การตัดสินใจและการชี้นำของคนบางคนเท่านั้นที่เป็นใหญ่ ใหญ่กว่ากฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ที่ใช้อยู่เสียอีก
                 ประชาธิปไตย นิติรัฐและนิติธรรมจึงกลายเป็นเพียงสิ่งที่เราใช้สอนในสถานศึกษา เป็นสิ่งที่อยู่ในตำราให้ท่องจำและนำไปใช้ในการตอบข้อสอบเพื่อให้ได้คะแนนเท่านั้น
                 ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นในบ้านเราวันนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศ แต่ไม่ว่าปัญหาจะร้ายแรงขนาดไหนก็จะสามารถแก้ไขโดยกฎหมาย เพราะทุกประเทศมีกฎหมาย มีกระบวนการยุติธรรม เพียงแต่ในประเทศของเรานั้นกระบวนการยุติธรรมอาจล่าช้า ไม่ตรงใจและไม่ถูกใจ ประชาชนส่วนหนึ่งจงใจที่จะละเมิดกฎหมาย
                 ส่วนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น แม้จะไม่ใช้ระบอบการปกครองที่ดีที่สุดแต่ก็น่าจะเป็นระบอบการปกครองที่นำมาใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศได้ผลดีที่สุด การไม่ยอมรับการเลือกตั้งหรือการขัดขวางการเลือกตั้งนอกจากจะเป็นการปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยแล้วยังเป็นการนำประเทศไปสู่ “ระบอบอะไรก็ไม่รู้” เพราะจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครบอกอะไรให้ประชาชนทราบเลยว่าจะเอา “อะไร” มาแทนที่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย
                 ระบอบประชาธิปไตยกับการทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมืองนั้นเป็นคนละเรื่องกัน การขัดขวางการเลือกตั้ง การบิดเบือนหรือทำลายระบอบประชาธิปไตยโดยอ้างว่าเพราะเป็นระบอบที่ทำให้นักการเมืองทุจริตคอรัปชั่นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเพราะการทุจริตคอรัปชั่นเป็นสิ่งที่ต้องแก้ด้วยวิธีการอื่นที่ไม่ใช้การทำลายระบอบประชาธิปไตย
                 กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ประมาณวันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ มีข่าวใหญ่ข่าวหนึ่ง ในสหภาพยุโรปเมื่อคณะกรรมการกิจการภายในสหภาพยุโรปได้ออกมาแสดงผลการศึกษาค้นคว้าปัญหาคอรัปชั่นในสหภาพยุโรป โดยกล่าวว่า ผลกระทบของการทุจริตคอรัปชั่นทำให้ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปต้องสูญเสียรายได้ทางเศรษฐกิจไปปีละประมาณ 5 ล้านล้านบาทอันเนื่องมาจากการทำสัญญาของรัฐ การปกปิดบัญชีทรัพย์สินของนักการเมืองและการทุจริตอีกหลายรูปแบบ การแถลงดังกล่าวทำให้เห็นว่าการทุจริตคอรัปชั่นเป็นปัญหาสำคัญของทุกประเทศ ไม่เว้นประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปซึ่งเป็นประเทศที่มีพัฒนาการทางกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ สูงมากตลอดระยะเวลาร้อยปีที่ผ่านมา
                 ก็ไม่เห็นมีประเทศใดออกมาบอกว่าต้องล้มระบอบประชาธิปไตยเพราะการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือการเลือกตั้ง เป็นต้นเหตุของการทุจริตคอรัปชั่น !!!
                 ย้อนกลับมาดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่ดูเหมือนกันว่า ไม่อยากให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น เพราะกลัวว่าจะได้นักการเมืองทุจริตคอรัปชั่นเข้ามาจึงพยายามที่จะไม่ให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นและเสนอให้ทำการปฏิรูปการเมืองก่อน ในประเด็นนี้หากพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นผมว่าไม่เห็นน่ากลัวอะไรเลย สภาพของคุณยิ่งลักษณ์ฯ ในวันนี้แตกต่างจากสภาพของคุณทักษิณฯ เมื่อปี พ.ศ. 2549 มาก เพราะในขณะที่คุณทักษิณฯ มีองค์กรอิสระสีเทาคอยช่วย แต่คุณยิ่งลักษณ์ฯ ก็เป็นอย่างที่ทราบกันก็คือ ไม่มีองค์กรอิสระใดเลยที่มีท่าทีว่าจะเป็นพวกหรือจะช่วยเหลือรัฐบาล
                 ถึงจะเลือกตั้งเข้ามาและได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ก็คงไม่รอดไปจากเงื้อมมือขององค์กรต่างๆ ได้ !!!
                 การไม่ยอมรับและการขัดขวางการเลือกตั้ง จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด เพราะระบอบประชาธิปไตยกับการปราบนักการเมืองทุจริตคอรัปชั่นเป็นคนละเรื่องกันครับ !!!
                 ที่ถูกต้อง การแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่นควรเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะต้องออกมาตอบสังคมว่า การทำงานของตนที่ผ่านมาได้ผลหรือไม่ก็ผล มีปัญหา อุปสรรค อย่างไรบ้าง มีข้อเสนอแนะอย่างไรที่จะทำให้การทุจริตคอรัปชั่นหมดไป
                 ที่ไม่ถูกต้อง ก็คือการออกมาใช้กำลัง ใช้อำนาจ ใช้คนหมู่มากที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เข้ามาแก้ปัญหาซึ่งเราก็ยังไม่ทราบว่าเป็นปัญหาที่แท้จริงของประเทศหรือไม่ หรือเป็นเพียงปัญหาของคนบางคนหรือของพรรคการเมืองบางพรรคการเมือง ที่ถูกทำให้กลายเป็นปัญหาของประเทศไป
                 กรุงเทพมหานครและบางพื้นที่ของจังหวัดต่างๆ จึงเกิดปัญหา และอยู่ในสภาวะของอนาธิปไตย ไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐออกมาดูแลแก้ปัญหาให้กับประชาชน
                 แล้วใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบกับ “อนาธิปไตย” ในประเทศไทย
                 คำตอบก็คือ รัฐบาล ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย ในฐานะผู้บังคับบัญชาของผู้บังคับใช้กฎหมาย คงต้องทำทุกวิถีทางที่จะรักษากฎหมายและบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
                 หากทำไม่ได้ ปล่อยให้บ้านเมืองอยู่ในสภาวะอนาธิปไตยแบบที่เป็นอยู่นี้ ก็หยุดทำงานไปเสียดีกว่า
                 ถ้าไม่รู้ว่าจะหยุดยังไง ก็ให้ดูที่คุณทักษิณ ชินวัตร เคยทำมาแล้วในปี พ.ศ. 2549 ซึ่งผมได้เคยเขียนไว้แล้วในบทบรรณาธิการครั้งที่ 332 เมื่อวันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม 2556 ก็คือ คุณทักษิณฯ ได้มอบให้รองนายกรัฐมนตรีขึ้นมารักษาการแทนนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลาที่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่
                 มัวแต่กอดเก้าอี้ รักษาหลักประชาธิปไตยแต่ปล่อยให้ประเทศอยู่ในสภาวะอนาธิปไตยเพราะไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมได้ คงไม่เกิดประโยชน์อะไรกับประชาชนชาวไทยครับ
                 เป็นอีกครั้งหนึ่งที่อยากจะบอกนายกรัฐมนตรีว่า ควรรีบๆ ทำก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไปครับ!!!
                ส่วนอีกคนคือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนั้น ที่ผ่ามมาแม้จะมีปัญหาเกิดขึ้นมากมายในกรุงเทพมหานคร แต่เราก็ไม่เห็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแก้ปัญหาอะไรให้กับกรุงเทพมหานครได้ ขนาดมีคนออกมาปิดกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็ยังอยู่อย่างสงบ ก็อยากจะฝากบอกไปยังผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครด้วยว่า ถ้ารักษากรุงเทพมหานครให้อยู่ในสภาวะปกติไม่ได้ก็ควรจะไปเสียดีกว่าครับ !!!
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ  4  บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของคุณอำนาจ  คงศักดิ์ดา ทนายความและที่ปรึกษาด้านภาษีอากร ที่เขียนเรื่อง “อำนาจในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของนายกรัฐมนตรีรักษาการ” บทความที่สองเป็นบทความเรื่อง “คำพิพากษาการขอตีความในคดีปราสาทพระวิหาร : ประเด็นสำคัญที่ควรรู้” ที่เขียนโดย ดร.สุวันชัย  แสงสุขเอี่ยม สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง บทความที่สามเป็นบทความเรื่อง “แนวความคิดว่าด้วยการลงโทษทางวินัยแบบแอบแฝงในคดีบริหารงานบุคคลของประเทศฝรั่งเศส” ที่เขียนโดย คุณพัฒน์พงศ์ อมรวัฒน์ พนักงานคดีปกครองปฏิบัติการ สำนักงานศาลปกครอง และบทความสุดท้ายเป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ ที่เขียนเรื่อง “สิทธิเลือกตั้ง VS สิทธิในการต่อต้านอำนาจรัฐ” ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกบทความด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557
       
                 ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์  บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544