หน้าแรก บทความสาระ
ข้อเสนอสำหรับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในประเทศไทย [ตอนที่ 1]
รองศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์
3 มกราคม 2548 17:28 น.
 
1 | 2 | 3
หน้าถัดไป

       
บทที่ 1

       แนวความคิดและความเป็นมาของการรับฟังความคิดเห็น

       ของประชาชนในประเทศไทย

       


                   
       การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นมาตรการสำคัญประการหนึ่งที่มาตรา 59 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) ได้บัญญัติรับรองเอาไว้ จุดประสงค์สำคัญของกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก็เพื่อเพิ่มบทบาทของภาคประชาชนในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของฝ่ายปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดำเนินการจัดให้มีโครงการของรัฐที่สำคัญ ๆ ที่มีผลกระทบต่อประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีการตรากฎหมายเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

                   
       การมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นต่อการดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครองในประเทศไทยมิได้เพิ่งมีขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) ก่อนหน้านี้ มีกฎหมายหลายฉบับที่มีบทบัญญัติให้ประชาชนได้มีโอกาสแสดงความเห็นในเรื่อง เฉพาะ ที่กฎหมายนั้นกำหนดไว้ เช่น พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 และพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 นอกจากนี้แล้ว ในปี พ.ศ. 2539 รัฐบาลได้จัดทำ "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 " ขึ้น เพื่อเป็น "เกณฑ์กลาง" ที่ใช้ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการดำเนินการในโครงการของรัฐทั้งหลาย แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งในกฎหมายเฉพาะและในระเบียบสำนักนายก
       รัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ดังกล่าว ก็ยังไม่สามารถ "ตอบสนอง" ความต้องการของประชาชนที่ประสงค์จะมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของฝ่ายปกครองได้อย่างเต็มที่ ข้อบกพร่องของกฎหมายและระเบียบทำให้การแสดงความเห็นของประชาชนเป็นไปได้อย่างไม่เต็มที่และไม่ได้รับการยอมรับ และในบางกรณีก็นำไปสู่ความขัดแย้งของสังคมด้วย ดังนั้น การศึกษาถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ผ่านมาจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อที่จะได้นำมาเป็นข้อคิดเห็นประกอบการจัดทำกฎหมายว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อไป

                   
       การศึกษาถึงแนวความคิดและความเป็นมาของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในบทนี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 หัวข้อใหญ่ ๆ คือ การศึกษาแนวความคิดในเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีอยู่ก่อนการประกาศใช้
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540)


       
       1.1 แนวความคิดในเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน


                   
       ในประเทศต่าง ๆ ที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น อำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศมีที่มาจากประชาชนในประเทศ ดังนั้น การปกครองสังคมเพื่อให้สมาชิกในสังคมอยู่รวมกันโดยปกติสุขจึงต้องถือมติของปวงชนในสังคมเป็นใหญ่ แต่เดิมการ
       ปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นรูปแบบที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม คือ ให้ประชาชนในรัฐสามารถออกเสียงต่อกิจการบ้านเมือง หรือกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยตรง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐเจริญขึ้นและประชาชนในแต่ละรัฐมีจำนวนมากขึ้น การที่จะให้ประชาชนแต่ละคนเข้าไปใช้อำนาจ
       ดังกล่าวย่อมเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงจำเป็นต้องสถาปนาระบบการมีผู้แทนราษฎรขึ้นเพื่อให้ผู้แทนราษฎรทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนและรับเอาความคิดเห็นของประชาชนไปปฏิบัติโดยการออกเสียงแทนประชาชนในกิจการต่าง ๆ การเลือกผู้แทนที่ตนไว้วางใจและเห็นว่าเหมาะสมที่จะใช้อำนาจแทนตนเข้าไปดำเนินการในการปกครองแทนย่อมสอดคล้องกับความหมายของการปกครองระบบประชาธิปไตยมากที่สุด ระบบประชาธิปไตยโดยมีผู้แทนที่เรียกกันว่า รูปแบบของ ประชาธิปไตยโดยอ้อม หรือโดยผู้แทน ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีที่ว่าอำนาจอธิปไตยมาจากประชาชน โดยผู้แทนเหล่านั้นจะเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ (ตรากฎหมาย) และอำนาจบริหาร (คณะรัฐมนตรี) แทนประชาชน

                   
       แต่อย่างไรก็ตาม การให้ผู้แทนราษฎรทำหน้าที่แทนประชาชน จะตั้งอยู่บนหลักสมมติฐานที่ว่าผู้แทนราษฎรซึ่งประชาชนเลือกนั้นเป็นตัวแทนของประชาชน แต่ตามความเป็นจริงหากพิจารณาทางสังคมวิทยาแล้ว จะพบว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ดี หรือพรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดก็ดี ย่อมมีผลประโยชน์ผูกพันกับวิธีการที่ให้ประโยชน์แก่ตนเอง หรือแก่พรรคการเมืองของตน ทำให้การแสดงออกซึ่งอำนาจอธิปไตยของผู้แทนราษฎรเหล่านั้นไม่ตรงกับเจตนาส่วนรวมของประชาชนได้1 ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนยังคงเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดอย่างแท้จริง จึงเกิดแนวความคิดในเรื่องประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ( participatory democracy ) ขึ้น ซึ่ง ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม หมายถึงการที่อำนาจในการตัดสินใจไม่ควรเป็นของกลุ่มคนจำนวนน้อย แต่อำนาจดังกล่าวควรได้รับการจัดสรรในระหว่างประชาชน เพื่อให้ทุก ๆ คนได้มีโอกาสที่จะมีอิทธิพลต่อกิจกรรมส่วนรวม ซึ่งการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมนั้น สามารถกระทำได้ในหลายรูปแบบและมีระดับขั้นของการมีส่วนร่วมของประชาชนที่แตกต่างกันออกไป โดยสามารถเรียงลำดับการมีส่วนร่วมของประชาชนจากน้อยไปหามากได้ดังนี้ คือ การให้ข้อมูล การเปิดรับความคิดเห็นจากประชาชน การปรึกษาหารือ การวางแผนร่วมกัน การร่วมปฏิบัติ การควบคุมโดยประชาชน

                   
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) ถือได้ว่าเป็น "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญร่วมกับสภาร่างรัฐธรรมนูญ ผลจากการมีส่วนร่วมของประชาชนทำให้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่าน ๆ มา โดยมีการรับรองสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคให้กับประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างมาก และนอกจากนี้ ได้มีการบัญญัติเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้ในหลายมาตรา โดยมีรายละเอียดดังนี้ คือ


       
       


       
       
       
       
       
       
       
       
ประเภทของการมีส่วนร่วม
บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
1. การมีส่วนร่วมในการรับรู้
                   
       - สิทธิได้รับทราบข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น (มาตรา 58)

                   
       - สิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนการอนุญาต หรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้สำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น (มาตรา 59)
2. การมีส่วนร่วมในการให้ความเห็น
                   
       - เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น (มาตรา 39)

                   
       - สิทธิในการเข้าร่วมกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (มาตรา 59)
3. การมีส่วนร่วมในการริเริ่ม
                   
       
       - สิทธิในการเสนอกฎหมายของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน (มาตรา 170)

                   
       - สิทธิในการเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น (มาตรา 287)

       4. การมีส่วนร่วมในการคิดและ
       ตัดสินใจ

                   
       - สิทธิในการออกเสียงแสดงประชามติ (มาตรา 214)

                   
       - สิทธิในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 104 กับมาตรา 105)

                   
       - สิทธิในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (มาตรา 123 กับมาตรา 124)

       5. การมีส่วนร่วมในการดำเนินการ

                   
       - สิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในการอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือ วัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน (มาตรา 46)

                   
       - สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (มาตรา 56)

       

       6. การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ

                   
       - สิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ และได้รับแจ้งผลการพิจารณาภายในเวลาอันสมควร (มาตรา 61)

                   
       - สิทธิที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ
       รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรอื่นของรัฐ ที่เป็นนิติบุคคลให้รับผิด (มาตรา 62)

                   
       - สิทธิในการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น (มาตรา 286)

                   
       - สิทธิในการเสนอให้วุฒิสภาถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน (มาตรา 304)


       
       

                   
       เมื่อพิจารณาถึงประเภทต่าง ๆ ของการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) แล้ว จะพบว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนที่สำคัญประการหนึ่งและได้มีการบัญญัติรับรองไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) ก็คือ การมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นโดยการเข้าร่วมกระบวนการรับฟังความคิดห็นของประชาชนตามมาตรา 59 ของรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจากในปัจจุบัน (ธันวาคม พ.ศ. 2545) ยังไม่มีการออกกฎหมายมารองรับบทบัญญัติในมาตราดังกล่าว จึงทำให้ประชาชนยังไม่สามารถใช้สิทธิในการเข้าร่วมกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนได้อย่างแท้จริง ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตาม
       เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) จึงได้มีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. …. ขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันประชาชนก็สามารถมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นได้ เนื่องจากมีการบัญญัติเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้ในกฎหมายเฉพาะเรื่อง 3 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 และพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 นอกจากนี้ยังได้มีการวางหลักเกณฑ์กลางในเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้ในระเบียบ 1 ฉบับ คือ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวในบทนี้ จึงขอนำเสนอกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีอยู่ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) ส่วนกระบวนการจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 นั้น จะได้ทำการศึกษาในบทต่อไป


       
       1.2 การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีอยู่ก่อนประกาศใช้
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540)


                   
       แนวความคิดเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนถูกนำมาบัญญัติไว้ในกฎหมายเป็นครั้งแรกโดยพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 มาตรา 17 และมาตรา 18 ที่กำหนดให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนที่จะกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชนิดใด ต่อมามีการบัญญัติกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้ในพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 มาตรา 27 กำหนดว่า ก่อนที่คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางจะกำหนดให้ท้องที่ใดเป็นเขตโครงการจัดรูปที่ดิน คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางมอบหมายจะต้องรับฟังความคิดเห็นของเจ้าของที่ดินทุกรายในท้องที่นั้นเสียก่อน แต่อย่างไรก็ดี กฎหมายทั้งสองฉบับข้างต้นก็มิได้มีการกำหนดรูปแบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการในการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้อย่างชัดเจน ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมีแนวโน้มที่ชัดเจนขึ้น เมื่อพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 มาตรา 19 และมาตรา 33 ได้กำหนดให้สำนักผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในท้องที่ที่จะมีการวางและจัดทำผังเมืองก่อนที่จะมีการวางและจัดทำผังเมืองในท้องที่ดังกล่าว แต่กฎหมายฉบับนี้ก็ยังมิได้มีการกำหนดรูปแบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการในการดำเนินการการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน เนื่องจากกฎหมายทั้ง 3 ฉบับนับได้ว่าเป็นกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นในเรื่องต่าง ๆ ก่อนที่จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) ดังนั้น เพื่อให้เห็นถึงพัฒนาการของกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในประเทศไทย จึงขอนำเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีอยู่ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) ทั้ง 3 ฉบับ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้


                   
       1.2.1 พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 25112

                   
        พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เป็นกฎหมายที่กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ผลิตขึ้นภายในประเทศไทย โดยก่อนที่จะประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ก็มีผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหลายชนิดที่ผลิตขึ้นได้ภายในประเทศอยู่แล้ว แต่เนื่องจากยังมิได้มีการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้เป็นที่แน่นอนและเหมาะสม ทำให้มีการแข่งขันกันลดราคา ด้วยการทำคุณภาพสินค้าให้ต่ำลงเป็นเหตุให้ประชาชนขาดความนิยม
       เชื่อถือ และยังอาจเกิดอันตรายแก่ประชาชน ตลอดจนก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในการประกอบ
       กิจการอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลเสียแก่เศรษฐกิจของประเทศ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว รัฐสภาจึงได้ตรากฎหมายฉบับนี้ขึ้นกำหนดมาตรฐานเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อความปลอดภัยหรือเพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจจะเกิดแก่ประชาชนหรือแก่กิจการอุตสาหกรรมหรือเศรษฐกิจของประเทศ3

                   
        กฎหมายฉบับนี้ได้บัญญัติกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้ในมาตรา 17 และมาตรา 18 คือ ก่อนที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชนิดใดต้องเป็นไปตามมาตรฐานแล้ว สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์
       อุตสาหกรรมจะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์
       อุตสาหกรรมชนิดนั้นเสียก่อน กฎหมายฉบับนี้นับได้ว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทยที่ได้กล่าวถึงการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเอาไว้

                   
        1.2.1.1 หลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

                   
        พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 ได้บัญญัติเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดย การรับฟังคำคัดค้าน ไว้ใน มาตรา 17 และมาตรา 18 ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้ คือ

                   
        (ก) ก่อนที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชนิดใดต้องเป็นไปตามมาตรฐาน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์
       อุตสาหกรรมจะต้องดำเนินการประกาศโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา และหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยอย่างน้อยหนึ่งฉบับ มีกำหนดไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เพื่อประกาศให้ประชาชนทราบว่าสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมประสงค์จะกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชนิดใดเป็นไปตามมาตรฐาน พร้อมทั้งประกาศให้ทราบว่าประชาชนสามารถดูรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้ ณ สถานที่ใดบ้าง ตลอดจนกำหนดระยะเวลาให้ผู้ที่ประสงค์จะคัดค้านการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าวยื่นคำคัดค้านต่อสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้ภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวันนับแต่วันประกาศ4

                   
        (ข) การดำเนินการภายหลังการประกาศโฆษณา5 แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ

                   
        (ข.1) กรณีไม่มีผู้คัดค้าน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมต้องรายงานให้คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมทราบ เพื่อที่คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะได้ดำเนินการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชนิดนั้นต่อไป

                   
        (ข.2) กรณีมีผู้คัดค้าน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์
       อุตสาหกรรมจะต้องเสนอคำคัดค้านดังกล่าวต่อคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจัดให้มีการแถลงคำคัดค้านของผู้คัดค้าน โดยปิดประกาศกำหนดวัน เวลา และสถานที่ฟังคำแถลงคัดค้านไว้ ณ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์
       อุตสาหกรรม และแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้คัดค้านทราบ

                   
        (ค) การดำเนินการในวันรับฟังคำแถลงคัดค้าน เมื่อถึงวันที่กำหนดให้มีการแถลงคำคัดค้าน ผู้คัดค้านและบุคคลผู้มีส่วนได้เสียสามารถเข้าร่วมในการแถลงคำคัดค้าน โดยผู้คัดค้านมีสิทธิแถลงคำคัดค้าน และบุคคลผู้มีส่วนได้เสียสามารถแสดงความเห็นได้ หากผู้คัดค้านไม่มาในวันดังกล่าว คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมีอำนาจพิจารณาไปตามที่เห็นสมควร


       
       


       
เชิงอรรถ


       
                   
       1. นันทวัฒน์ บรมานันท์, "รัฐธรรมนูญกับการออกเสียงแสดงประชามติ" วารสารกฎหมาย ปีที่ 19 ฉบับที่ 1 (มกราคม 2542) : หน้า 160.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       2. ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 85 ตอนที่ 121 (วันที่ 31 ธันวาคม 2511).
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       3. เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       4. พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 มาตรา 17.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
                   
       5. พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 มาตรา 18.
       
[กลับไปที่บทความ]


       
       


       
       


       
       



       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2546


       



1 | 2 | 3
หน้าถัดไป

 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544