หน้าแรก สัมภาษณ์
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
7 มีนาคม 2548 07:11 น.
 
เขาคือ..นักกฎหมายมหาชน
       จุดไฟใน "เวบไซต์"
       รอเวลา ปฏิรูปการเมือง ภาค2
       
       ใคร ๆ ก็รู้ว่า ทุกวันนี้ นักกฎหมายมหาชน เป็นที่ต้องการของตลาดมากที่สุด เรียกว่า ผลิตดอกเตอร์มาเท่าไร ป้อนตลาดการเมือง ตลาดองค์กรอิสระไม่ทัน จนทำให้นักกฎหมายมหาชนหายไปจากห้องเลกเชอร์แทบเกลี้ยงมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะนักกฎหมายมหาชนจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
       ไม่ว่าจะเป็น ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี หรือ รศ.ธงทอง จันทรางศุ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม
       ทว่ามีนักกฎหมายมหาชนจากนิติศาสตร์ จุฬาฯ อยู่คนหนึ่งที่ไม่สนใจเส้นทางสู่ตลาดการเมือง นักกฎหมายวัยสี่สิบต้น ๆ ผู้นี้ ยังสนุกกับการปลุกปั้น เวบไซต์ www.pub-law.net ซึ่งกล่าวกันในวงการว่าเป็นเวบไซต์กฎหมายมหาชนที่ดีที่สุด ล่าสุด ตัวเลขผู้คลิกเข้าไปหาความรู้ทางด้านกฎหมายมหาชน ทั้งจากในและต่างประเทศ มากนับหลายแสนราย นอกจากนี้ เขายังเป็นอาจารย์ด้านกฎหมายมหาชนคนไทยเพียงคนเดียวของไทยที่ได้รับเชิญให้ไปสอนในมหาวิทยาลัยฝรั่งเศส ปีละ 2 ครั้ง ในฐานะ visiting professor
       เขาคือ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์ นักกฎหมายมหาชน ซึ่งมักถูกแซวจากคนในวงการว่า เขาคือ ลูกชายคนโตของ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ บิดาแห่งกฎหมายมหาชนยุคใหม่ ครั้งหนึ่งหลายปีก่อน มีเรื่องเล่ากันว่า การจุดประกายปฎิรูปการเมือง รอบแรก เกิดขึ้นในร้านสีฟ้า สยามสแควร์ โดยหนึ่งในผู้ร่วมจุดประกายคือ ศาสตราจารย์คนล่าสุดของนิติศาสตร์ จุฬาฯ คนล่าสุด ที่ชื่อ ดร.นันทวัฒน์ นั่นเอง
       ***อยากให้เล่าถึงที่มาของ เวบไซด์ www.pub-law.net
       เริ่มต้นจริงๆ น่าจะมาจากคำพูดของ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวณิช กับ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล แห่งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ สมัยก่อนตอนรัฐบาลประชาธิปัตย์ คุณสนธิฯ จัดรายการวิทยุวิจารณ์การเมืองและได้ ขอให้ผมกับอาจารย์ชัยอนันต์ฯ ไปช่วยพูด แล้วก็มีวันหนึ่งคุยกันแล้วมีความแนวคิด ว่า น่าจะมีเวบไซต์ด้านกฎหมายบ้าง แต่ตอนนั้น ผมยังไม่ได้คิดอะไรมาก ต่อมาเมื่อผมมีโอกาสไปที่มหาวิทยาลัย Nantesประเทศฝรั่งเศส แล้วก็ได้ไปดูเวบไซต์ของเขา ก็ค่อนข้างที่จะตื่นเต้น ทั้ง ๆ ที่เวบไซต์เขาก็ไม่มีอะไรมากมาย
       จากนั้นก็มีเพื่อนอาจารย์ชาวฝรั่งเศสถามว่าที่คณะนิติศาสาตร์ จุฬาฯ มีเวบไซต์หรือเปล่า ผมก็เปิดให้ดูเวบไซต์ของคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งตอนนั้นไม่มีอะไรเลย ผมรู้สึกผิดหวังกับความ “บกพร่อง” ทางวิชาการของเรา พอผมกลับมาประเทศไทยผมก็ย้อนกลับไปคุยกับคุณสนธิฯ อีกครั้งหนึ่งเพื่อของการสนับสนุนในการจัดทำเวบไซต์ ซึ่งคุณสนธิฯ ให้ความช่วยเหลือโดยให้ผมฝากข้อมูลทั้งหมดไว้กับเซิร์ฟเวอร์ของเวบไซต์ผู้จัดการ แต่ได้แยกเวบไซต์ของผมออกมาเป็นอิสระจากเวบไซต์ของผู้จัดการ และคุณสนธิฯ ก็กรุณาให้คนสองคนช่วยพิมพ์ข้อมูล ผมก็เอาลูกศิษย์ไปช่วยทำงาน เราเปิดบริการเมื่อ 1 มีนาคม 2544 ซึ่งในช่วงเริ่มต้นก็ค่อนข้างลำบากกันพอสมควร แต่ก็พัฒนากันมาเรื่อย ๆ ครับ
       ***จากจุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน เป็นอย่างไรบ้าง
       วันแรกที่เริ่มเผยแพร่เวบไซต์ ผมได้ทำจดหมายเวียนเชิญชวนอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ให้เข้ามาดู แล้วผมก็แจ้งบอกไว้ในจดหมายนั้นด้วยว่า เวบไซต์ของผมเป็นเวบไซต์เฉพาะด้านกฎหมายมหาชน หากอาจารย์คนใดสนใจที่จะทำเวบไซต์สาขาอื่น เช่น กฎหมายเอกชน กฎหมายระหว่างประเทศ ก็คงเกิดประโยชน์และในวันข้างหน้าหากเราเอามารวมกันให้ครบทุกสาขาแล้วยกให้เป็นสมบัติของคณะนิติศาสตร์ เพื่อให้เป็นเวบไซต์กฎหมายที่สมบูรณ์ก็จะเป็นการดี แต่จนถึงวันนี้ก็ยังมีผมทำอยู่คนเดียว!!! ซึ่งผมก็ทำมาเรื่อยๆ จนถึงวันนี้ มีคนเข้าใช้บริการเพิ่มมากขึ้นจากปีแรกหมื่นกว่าคน ปีที่สองเพิ่มเป็นแสนคน ปัจจุบันวันหนึ่ง ๆ มีคนเข้ามาชมไม่ต่ำกว่า 300-500 คน
       
       ***คนที่คลิก เข้าไปดูเวบไซต์ เป็นพวกไหน
       ผมตอบได้เลยว่า ไม่ได้จำกัดอยู่ในวงนักกฎหมายมหาชน อย่างน้อยตอนที่ผมไปสอนหนังสือที่ประเทศฝรั่งเศสหลายๆ รอบ ผมมีโอกาสได้เจอนักเรียนไทยหลายคนที่รัฐบาลส่งไปเรียนเรื่องเคมี วิทยาศาสตร์ หรือวิศวะ เด็กเหล่านั้นก็ใช้บริการ เพราะอย่างน้อยในบทบรรณาธิการ ผมจะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทยที่เกิดขึ้นในรอบสองสัปดาห์คล้ายๆ มาเล่าให้ฟังแล้วก็วิจารณ์ไปตามที่ผมเห็น นักเรียนไทยก็เลยสนใจอ่าน ส่วนในเมืองไทยคนที่สนใจส่วนหนึ่งก็คือ พวกที่ประสงค์จะเป็นนักกฎหมายมหาชน เพื่อแสวงหาโอกาสความก้าวหน้า เช่น อยากจะโอนเข้าไปทำงานในศาลปกครอง ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ หรืออาจจะไปเป็นตุลาการศาลปกครอง หรือศาลรัฐธรรมนูญ คนพวกนี้ต้องการที่จะเปลี่ยนอาชีพตัวเองให้กลายมาเป็นนักกฎหมายมหาชน เลยต้องเข้ามาหาข้อมูลในเวบไซต์ของเรา เพื่อให้เขาเป็นนักกฎหมายมหาชน
       
       **ผ่านมา 3 ปี เดินทางถึงจุดที่คิดว่าพอใจหรือยัง
       ผมพอใจเวบไซต์มาตั้งแต่ปีแรกแล้ว ผมพอใจในหลายประการด้วยกัน ประการแรก ก็คือว่าผมทำในสิ่งที่ผมตั้งใจทำสำเร็จ ประการที่สอง ผมทำสิ่งที่ผมพยายามเชิญชวนหรือว่าท้าทายให้คนอื่นเข้ามาทำแต่ก็ ไม่มีใครยอมทำแข่งกับผมได้ เพราะความตั้งใจจริงของผมแล้วผมต้องการให้มีคนทำเวบไซต์ลักษณะอย่างนี้อีกหลายๆ เวบไซต์ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนใช้บริการที่จะเลือกใช้สิ่งที่ดีที่สุด แต่ว่าจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครทำ เหตุผลที่ไม่มีคนทำอาจจะมีหลายเรื่อง แต่เรื่องหนึ่งที่คิดว่าเป็นประเด็น คือ เรื่องรายได้ เพราะว่าการทำเวบไซต์ลักษณะนี้ ไม่มีรายได้ มีแต่รายจ่าย เวบไซต์ของผมก็เช่นกันคือไม่มีรายได้ เพราะผมไม่ประสงค์ที่จะให้มีโฆษณาหรือไม่ประสงค์จะรับการสนับสนุนทางการเงินจากใครทั้งนั้น และประการที่สาม ข้อมูลทางด้านกฎหมายมหาชนในเวบไซต์ของเรามีมากและเรียกได้ว่าสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย
       
       **ถ้าเวบไซต์ไม่มีรายได้ มีแต่ควักเงินของตัวเอง เวบไซต์จะอยู่ไปได้นานแค่ไหน
       ในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 เวบไซต์ของผมก็จะมีอายุครบ 4 ปีแล้ว ผมเคยคิดไว้ว่าผมจะหยุดทำในตอนนั้น แต่เวบไซต์ก็คงอยู่ต่อไปเพราะตอนนี้ผมมีลูกศิษย์ที่กลับมาจากต่างประเทศแล้วก็เป็นลูกศิษย์ที่สนิทสนมและพร้อมที่จะรับงานต่อ กับลูกศิษย์ในไทยอีก 2-3 คน ซึ่งปัจจุบันพวกเขาก็มาช่วยกันทำในส่วนบริหารและข้อมูลเวบไซต์อยู่แล้ว ผมเข้าใจว่าผมคงหยุดทำเวบไซต์ในเวลาอันไม่ช้านี้ แต่เวบไซต์ยังอยู่ต่อ เพราะความตั้งใจเดิมของผมคือประสงค์ที่จะให้เวบไซต์เป็นสมบัติของนักกฎหมายมหาชนทุกคน เพราะฉะนั้นผมจะลองให้เด็กทำกันก่อนโดยที่ผมจะช่วยดูอยู่ต่อไปโดยเฉพาะในเรื่องค่าใช้จ่ายที่ผมจะดูแลต่อไปเรื่อยๆ เพราะผมก็มีตำแหน่งหน้าที่การงานและมีรายได้พอสมควรที่จะดูแลเวบไซต์นี้ได้
       
       **มีเสียงวิจารณ์เกี่ยวกับเวบไซต์อย่างไรบ้าง
       เอาเข้าจริง แล้วผมไม่เคยขอการสนับสนุนทางด้านการเงินจากใคร สิ่งที่ผมขอคือการสนับสนุนทางด้านวิชาการและผมก็ได้จากทุกคน ผมอาจจะโชคดีหน่อยที่ผมขอแล้วทุกคนให้ผมหมด อาจจะเป็นเพราะว่าเห็นเจตนารมณ์แท้ๆ ของผมว่า ผมทำโดยไม่มีวัตถุประสงค์ด้านการเงิน หรือการสร้างชื่อเสียง แต่อย่างไรก็ตาม ผมได้ยินเสียงวิจารณ์จากบาง “ท่าน” ซึ่งก็มีลูกศิษย์มาเล่าให้ฟังว่า “ท่าน” วิจารณ์ผมว่า ผมทำเวบไซต์แห่งนี้เพื่อการสร้างภาพของตัวเอง ซึ่งผมเองก็รู้สึกไม่ดีพอสมควรเหมือนกันที่มีคนคิดอย่างนั้น เพราะว่าจริงๆ แล้ว ถ้าเป็นแฟนประจำของเวบไซต์แห่งนี้ก็จะเห็นว่า 3 ปีครึ่งถึง 4 ปี ผมไม่เคยสร้างภาพให้ตัวเองเลย มีแต่จะพยายามสร้างภาพให้กับวงการกฎหมายมหาชนมากกว่า “ท่าน” ที่วิจารณ์คงขัดหูขัดตาที่ “ทำไม่ได้” เหมือนผมมากกว่า!!!
       
       **ทราบว่า อาจารย์เป็นนักวิชาการเพียงไม่กี่คน ที่ได้รับเชิญไปสอนหนังสือในฝรั่งเศสทุกปี
       ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด ผมน่าจะเป็นนักกฎหมายมหาชนคนเดียวที่เดินทางไปสอนที่ฝรั่งเศส สอนแบบเป็นเรื่องเป็นราวด้วย เพราะว่าจริงๆ แล้ว อาจารย์หลาย ๆ คนที่ไปต่างประเทศนั้นไปหลายแบบ บางคนอาจจะได้รับเชิญ บางคนอาจขอไปทำวิจัย บางคนไปเที่ยว บางคนถูกเชิญให้ไปร่วมงานสัมมนา หรือร่วมบรรยาย เหล่านี้ ไม่ใช่ visiting professor กรณีของผมไปโดยเป็นเรื่องเป็นราว มีการขออนุมัติจากจุฬาฯ โดยมีหนังสือเชิญจากมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศให้ไปเป็น visiting professor มีคำสั่งแต่งตั้งจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศให้เป็นอาจารย์พิเศษ มีระยะเวลา และมีค่าตอบแทน และที่แน่ ๆ ก็คือไปสอนจริง ๆ ซึ่งในกรณีของผมนั้น ทุกที่และทุกครั้งที่ไปสอนในต่างประเทศ ก็จะมีนักเรียนไทยไปร่วมฟังด้วยทุกครั้งครับ เรียกได้ว่ามีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารอย่างครบถ้วนครับ
       การสอนครั้งแรกในฝรั่งเศสของผมเกิดโดยความบังเอิญโดยผมถูกเพื่อนอาจารย์ชวนให้เข้าไปช่วยสอน ครั้งนั้นผมไปเที่ยว ไม่ได้ใส่เสื้อนอก ไม่ได้ผูกเน็คไท พอเขาชวนผมก็เข้าไปสอนเรื่องการกระจายอำนาจ ใช้เวลา 4 ชั่วโมง อาจเป็นเพราะผมพูดภาษาฝรั่งเศสได้พอใช้ และเขาเห็นว่าผมมีความรู้ เขาก็ถามว่าสนใจที่จะมาสอนต่อไปไหม โดยจะเชิญเป็นเวลา 1 เดือน นั่นคือ จุดเริ่มต้น จากนั้น ผมก็ไปสอนในฐานะ visiting professor เรื่อยมาจนปัจจุบันก็หลายครั้งแล้ว
       ปัจจุบันผมไปสอนปีละสองหน โดยผมเลือกไปช่วงที่ไม่กระทบกับการเรียนการสอนของคณะนิติศาสตร์ คือ ไปสอนในช่วงปิดเทอมใหญ่และปิดเทอมเล็ก ในปีนี้ผมก็ไปมาทั้งหมดสามเดือนครึ่ง และก็ในปีหน้าผมก็ได้รับเชิญไปสอนในลักษณะนี้อีกในสามมหาวิทยาลัย ตลอดทั้งปี แต่ปีหน้าจะมีพิเศษอีกนิดหนึ่ง เพราะว่าผมได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยเอเธนส์ ประเทศกรีซ โดยไปบรรยายเรื่องรัฐธรรมนูญและการกระจายอำนาจด้วยครับ
       
       ***แล้วเอาเวลาที่ไหนไปทำงานวิชาการในการขอศาตราจารย์
       หากมีเวลาว่างจากการสอนหนังสือไม่ว่าจะเป็นในขณะที่อยู่เมืองไทยหรือต่างประเทศ ผมจะใช้เวลาเหล่านั้นเขียนหนังสือ จะเห็นได้ว่าหนังสือสัญญาทางปกครองของผมที่ผมใช้ขอตำแหน่งศาสตราจารย์ ผมเขียนที่มหาวิทยาลัย Nantes ประเทศฝรั่งเศส หนังสือหลักพื้นฐานกฎหมายปกครองฝรั่งเศส ผมก็เขียนที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัย Nantes เช่นกัน และล่าสุด ผมกำลังจะออกหนังสือเล่มใหม่ คือคำอธิบายศัพท์กฎหมายมหาชนไทย-ฝรั่งเศส ซึ่งยังไม่มีใครทำมาก่อน เล่มนี้ ผมทำในปีนี้โดยเขียนที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กับห้องสมุดของมหาวิทยาลัย Nantes และมหาวิทยาลัย Aix Marseille 3 ครับ
       
       ** หักกลบลบหนี้แล้ว ค่าสอนกับค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายในฝรั่งเศสคุ้มกันไหม
       เอาเข้าจริง แม้เงินค่าตอบแทนจะมากพอสมควร และหักตั๋วค่าเครื่องบินแล้วก็ยังมีเหลืออีกมากซึ่งถ้าเป็นคนอื่นก็คงมีเหลือพอสมควร แต่เนื่องจากผมเป็นคนไม่ยึดติดเท่าไหร่ อยากได้อะไรก็ซื้อ อยากทานอะไรก็ทาน และเวลาไปไหนมาไหนมีลูกศิษย์พาลูกศิษย์ไปทานด้วย เพราะฉะนั้นของผมไม่เคยได้กำไรเลย มีแต่ขาดทุนตลอด ก็คือต้องควักเนื้อทุกครั้ง
       
        *อาจารย์เปรียบเทียบได้ไหมระหว่างนักเรียนกฎหมายในบ้านเรากับในฝรั่งเศสแตกต่างกันอย่างไร
       ผมไม่ค่อยอยากวิพากวิจารณ์ระบบการศึกษาของเราเท่าไร เพียงแต่ผมมีความรู้สึกไม่ดีหลายๆ อย่างระบบการศึกษาของเรา ไม่ว่าเราจะทำยังไงก็ตามก็ยังคงเป็นการศึกษาแบบป้อน ผมมีเพื่อนอาจารย์หลายคนจบมาจากต่างประเทศและพยายามใช้วิธีกระตุ้นให้เด็กศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเองแต่ก็ไม่สำเร็จ ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร ฉะนั้นผมจึงไม่อยากวิจารณ์ เพราะถ้าวิจารณ์อาจจะกระทบหลายคน แต่ว่าวันหนึ่งเราตั้งความหวังไว้ว่าเมื่อคนรุ่นเก่าที่ให้ความรู้เด็กแบบป้อนหมดไป แล้วไม่มีคนรุ่นใหม่คนไหนเลียนแบบคนรุ่นเก่า เราก็อาจเปลี่ยนวิธีการสอนได้
       
       **เมื่อนักเรียนกฎหมายเรียนมาแบบป้อน แล้วเราจะผลิตนักกฎหมายชั้นดีได้อย่างไร เพราะวิทยานิพนธ์ส่วนใหญ่ก็ลอกต่อๆกันมา
       ต้องเข้าใจก่อนว่า วิทยานิพนธ์ที่ดีก็มี ไม่ใช่ลอกไปหมดทุกเล่ม แต่ก็มีบางส่วนที่ลอกกันมาบ้างซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ข้อมูลที่ลอกกันมาก็คือข้อมูลพื้นฐาน ข้อมูลพื้นฐานบางส่วนเป็นข้อมูลที่ลอกจากตำราวิชาการ ผมยกตัวอย่างเรื่องตำราวิชาการ มีตำราบางเล่มที่ไม่มีคนเขียนแข่งเลยอย่างเช่นตำราของ ศ. ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ คือ กฎหมายมหาชนเล่ม 1 เล่ม 2 เล่ม 3 มีใครกล้าบอกไหมว่า หนังสือเล่มนั้นดีไม่ดี อย่างไร ผมคิดว่าไม่มีใครกล้าพูดสักคน
       ถ้าจะบอกว่าหนังสือ 3 เล่มนั้นดี ผมว่าผิด แต่ถ้าบอกหนังสือ 3 เล่มนั้นไม่ดี ผมก็ว่าผิดเหมือนกัน สำหรับผมสิ่งที่ดีที่สุดก็คือ ต้องมีคนอื่นเขียนในลักษณะนั้นออกมา ขยายความมากขึ้น พัฒนาองค์ความรู้เติบโตไปเรื่อยๆ แล้วเอาศาสตร์อื่นๆ ที่สำคัญ แขนงอื่นๆ ที่อาจารย์บวรศักดิ์ฯ มองไม่เห็น หรืออาจารย์บวรศักดิ์ฯ ยังไม่มีเวลาพอที่จะขยายความ หรือเอาของประเทศอื่นๆ มาประกอบด้วย เพื่อที่เราจะได้มีฐานทางวิชาการมากขึ้น เด็กก็มีสิทธิ์ที่จะอ่านมากขึ้น ความคิดก็พัฒนามากขึ้น ถ้าจะลอกก็ลอกเล่มอื่นได้มากขึ้น ไม่ใช่ว่าอะไรก็ตาม เดี๋ยวนี้พอกฎหมายมหาชนเรื่องทฤษฎี เขียนวิทยานิพนธ์จะอ้างทฤษฎีอะไรก็ลอกของอาจารย์บวรศักดิ์ฯ กันทุกคน ไม่เชื่อไปเปิดดูได้ เรื่องนี้คงต้องโทษนักวิชาการเราด้วย เพราะนักวิชาการเราไม่ยอมเขียนตำราสำหรับนักเรียนนักศึกษา ซึ่งผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นเพราะอะไรครับ
       
       ***รัฐธรรมนูญฉบับปฎิรูปการเมือง ใช้มา 6 ปีแล้ว ถูกวิจารณ์มากมายว่าเอื้ออาทรต่อระบบพรรคใหญ่ ความบกพร่องนี้จะกล่าวโทษนักกฎหมายมหาชนได้หรือไม่
       จริงๆ เราพูดอย่างนั้นไม่ได้หรอก ลองดูตัวอย่างง่ายๆ ของการปลูกบ้านว่า พอปลูกบ้านไปสักระยะหนึ่ง ก็ต้องหันไปหาช่างมาซ่อมบ้าน เรามีช่างซ่อมบ้านก็เพราะว่าแม้บ้านที่ปลูกโดยช่างที่ชำนาญหลังคาก็ยังรั่วได้ หรือฉีดยาฆ่าปลวกทุกเดือนก็ยังมีปลวกขึ้นบ้านได้ เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะยกร่างมาดีอย่างไร ความผิดพลาดย่อมเกิดได้ทุกขณะ เราจะไปโทษใครไม่ได้ เพราะถือว่าเราได้สิ่งที่ดีระดับหนึ่งมาแล้ว เพราะฉะนั้นเราก็ต้องพยายามใช้ให้ดี และต้องพยายามปรับพยายามแก้ให้เข้าระบบให้ได้ เพราะในโลกนี้ ไม่มีอะไรสมบูรณ์ ไม่มีข้อผิดพลาด
       
       *** แล้วเมื่อไร จะได้เวลาสังคายนาครั้งใหญ่ หรือ ปฎิรูปการเมือง รอบ 2
       ผมคิดว่า ยังไม่ถึงเวลา เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่ปัญหาที่ร้ายแรงและไม่ได้เป็นปัญหาที่คอขาดบาดตาย แต่เป็นปัญหาระดับกลางเท่านั้นเอง ยังไม่ถึงระดับสูงสุด หรือระดับร้ายแรง ผมมีหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ “40 ปีรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส” แม้ว่าในฝรั่งเศสเขาได้แก้รัฐธรรมนูญมาตลอด แต่พอครบ 40 ปีของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เขาเอามาทบทวน โดยให้อดีตประธานาธิบดีทุกคนกับอดีตนายกรัฐมนตรี ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมโดยไปสัมภาษณ์ว่า รัฐธรรมนูญมีปัญหาอะไรบ้าง ระหว่างที่เป็นผู้นำประเทศและได้ใช้รัฐธรรมนูญเกิดปัญหาอะไรบ้าง แล้วเขาก็ให้นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนที่สำคัญๆ ประเภทหัวกะทิ 7-8 คนมาวิจารณ์รัฐธรรมนูญทีละหมวดว่ามีปัญหาอะไรบ้าง หลังจากนั้นรัฐสภาก็เอาแนวคิดจากหนังสือนี้ไปแตกเป็นประเด็นทำการศึกษาเตรียมไว้สำหรับการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญใหม่ให้สมบูรณ์ขึ้น
       หลายๆ คนอาจบอกก็ได้ว่าระหว่างการใช้รัฐธรรมนูญ 40 ปีนั้นฝรั่งเศสก็แก้ไขรัฐธรรมนูญบ่อย ใช่ครับ แต่ว่าระหว่างนั้นเขาแก้โดยไม่มีการทบทวน แก้ตามกระแส แก้ตามความจำเป็น ยกตัวอย่างเช่น วาระของประธานาธิบดีจาก 7 ปี เปลี่ยนเป็น 5 ปี หรือว่าแก้ตามความจำเป็น เช่น เมื่อก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีใช้ระบบเลือกตั้งโดยทางอ้อม ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นเลือกตั้งโดยทางตรง อันนี้ก็คือปรับตามกระแส แต่ปรับจริงๆ พวกเขารอ มาจนครบ 40 ปี นี่แหล่ะ ถึงได้เริ่มคิดกันใหม่ว่าควรแก้ไขใหม่ในเรื่องใดบ้าง
       
       **อาจารย์เห็นว่า ถ้าต้องการแก้รัฐธรรมนูญควรมีฐานทางวิชาการพอเพียง ไม่ใช่แก้กฎหมายสูงสุด ตามกระแส
       ใช่ เพราะว่า จริงๆ แล้ว ก่อนที่จะทำการแก้ไขจะต้องให้นักวิชาการที่เป็นกลางจริงๆ ทำการศึกษาก่อนซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าจะเป็นใครเพราะว่าเราก็ไม่ค่อยเป็นกลางกันนัก บางทีเราก็เป็น บางทีเราก็ไม่เป็น เพราะว่าถ้าเรามีอคติกับรัฐบาลเราก็อาจจะไม่เป็นกลางก็ได้ เราต้องไม่ลืมว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่เราใช้อยู่ เขียนขึ้นมาโดยมีอคติต่อนักการเมือง เพราะฉะนั้นระบบตรวจสอบถึงได้เยอะมาก และระบบตรวจสอบเหล่านี้ก็เป็นตัวที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นในปัจจุบัน
       ประเด็นจริงๆ ของผมก็คือ เราควรจะรอก่อน เพราะเราเพิ่งเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญไปครั้งเดียว เรายังไม่รู้ว่าปัญหาจริงๆ เป็นอย่างไร ทุกวันนี้ สส. เพิ่งเลือกไปหนึ่งหน สว.เพิ่งเลือกไปหนหนึ่ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็เพิ่งเลือกไปเป็นหนที่สอง มีหลายสิ่งที่ยังดำเนินการตามกระบวนการไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ อย่างผู้สูงอายุ รัฐธรรมนูญเขียนว่าเราต้องดูแลผู้สูงอายุ วันนี้เราก็ยังไม่มีกระบวนการนั้น ที่ผมยกมา อาจจะเป็นเรื่องปลีกย่อย แต่ถ้าถามผม ผมอยากให้ลองใช้ไปซักระยะหนึ่งก่อน
       อีกประเด็นหนึ่งที่ผมอยากจะฝากไว้ให้คิดก็คือ อย่าลงโทษใครทั้งนั้นหากรัฐธรรมนูญนำมาใช้แล้วเกิดปัญหา เราทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาก็เพราะตั้งใจว่าจะต้องดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุด แต่ก็อย่างที่ผมพูดไปแล้วตอนต้นว่า ขนาดช่างตัดเสื้อก็ยังตัดผิด ยังตัดแล้วไม่พอดีตัวหรือไม่สวย ช่างตัดผม ช่างปลูกบ้าน ทุกคนมีปัญหาทั้งนั้น ที่ทำอะไรสมบูรณ์ไม่ได้ เพราะว่าพวกเราคือมนุษย์ครับ!!!
       
       ***แล้วเวลาที่เหมาะสมในการปฎิรูปการเมือง รอบ 2 ควรเป็นเมื่อใด
       ทางวิชาการไม่มีตัวเลขที่แน่นอน แต่สำหรับผม ผมอยากให้ดูเลือกตั้งวุฒิสภางวดหน้า แล้วมาตอบกันอีกทีว่าควรจะแก้หรือควรจะรอ เพราะที่ผมกลัวที่สุด คือ กลัวว่าวุฒิสภาจะแอบมาจากพรรคการเมือง แม้รัฐธรรมนูญห้ามแต่ก็มาได้ และถ้าวุฒิสมาชิกแอบสังกัดพรรคการเมืองก็จะเป็นจุดอวสานของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพราะว่าระบบตรวจสอบทั้งหมด ซึ่งอยู่ในมือของวุฒิสภาจะบิดเบี้ยวไปหมด
       
       ***ทุกวันนี้ วุฒิสมาชิกยังไม่ชัดอีกหรือ ?
       จริงๆ แล้ว มีคนพยายามพูดว่ามีตัวเลขประมาณ 120-130 ที่เป็นวุฒิสภา “ซีก” รัฐบาล แต่ผมไม่อยากวิจารณ์ดีกว่า ขอดูเลือกตั้งวุฒิสภาอีกรอบหนึ่งแล้วกัน ในชุดปัจจุบันนี้ถ้าจะว่าเป็นสายรัฐบาลก็หมายความว่าเป็นอย่างไม่ตั้งใจ เพราะเราคงทราบแล้วว่าวุฒิสภาชุดนี้เลือกมาตั้งแต่เริ่มใช้รัฐธรรมนูญเลย และบางคนแม้จะเป็น 1 ใน 120 ที่กล่าวกันว่า แต่หลายคนก็อาจจะเพิ่งมาเห็นใจรัฐบาล หรือว่าเพิ่งมาศรัทธารัฐบาล หรือเพิ่งมาหลงรักรัฐบาลในช่วงหลังๆ ก็อาจจะเป็นไปได้ ผมว่าเพื่อความเป็นธรรม เราจับตาดูการเลือกตั้งวุฒิสภางวดหน้าดีกว่า เพราะงวดหน้าผมมั่นใจมากเลยว่าจะต้องมีการแอบหาเสียงหรือต้องมีอะไรแปลกๆ อีกสารพัดเพื่อที่จะให้ได้เข้าสู่ตำแหน่ง เพราะวุฒิสภาคือกลไกที่ควบคุมรัฐบาลอีกทอดหนึ่ง คุมการบริหารประเทศได้หมด วุฒิสภามีความสำคัญมากเพราะเป็นผู้คุมการเข้าสู่ตำแหน่งขององค์กรอิสระได้ทั้งหมด
       
       **อาจารย์อาจจะเห็นว่า ควรรอต่อไป แต่อาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ บิดาของนักกฎหมายมหาชนยุคใหม่ กำลังจุดประกายการปฎิรูปการเมือง รอบ 2 ?
       การปฏิรูปการเมืองรอบที่หนึ่ง ผมเป็นส่วนหนึ่งของระบบ วันหนึ่ง ท่านอาจารย์อมรฯคุยกับผม และอาจารย์ เธียรชัย ณ นคร ที่ร้านสีฟ้า สยามสแควร์ ว่าถึงเวลาต้องปฏิรูปการเมืองแล้ว ท่านอาจารย์อมรฯ เป็นคนจุดพลุ แต่ว่าพลุที่ท่านจุดถูกคนอื่นเอาไปใช้ ร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จึงไม่ได้แก้ปัญหาที่ท่านอาจารย์อมรฯ ต้องการ หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันใช้บังคับไปได้ไม่นาน ท่านอาจารย์อมรฯ ก็บอกคงจะต้องปฎิรูปการเมืองรอบสองแล้ว และให้คอยดูไปเพราะรัฐธรรมนูญมีข้อบกพร่องมาก ท่านอาจารย์อมรฯ จะมองไม่เหมือนคนอื่น คือจะมองในลักษณะที่เป็นนักวิชาการแห่งอนาคตและมองแบบวิชาการสุดโต่งโดยไม่คำนึงถึงว่าจะปฏิบัติได้หรือไม่ แต่ท่านจะมองแบบนักวิชาการแท้ ๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ท่านต้องการก็คือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย โดยท่านจะยังไม่ดูว่าปฏิบัติได้หรือไม่ได้อย่างไร แต่ขอให้เราทำสิ่งที่ดีที่สุดไว้ก่อน เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันตอนออกมาใช้ ท่านอาจารย์อมร ฯ อ่านดูท่านก็รู้ว่าไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดของประเทศไทย และจะต้องเกิดปัญหาตามมา ท่านจึงคาดการณ์เอาไว้ก่อนว่า ต้องมีการปฏิรูปการเมืองรอบสองอย่างแน่นอน
       
       ***มีกระแสว่า การปฎิรูปการเมือง รอบ 2 จะเกิดขึ้น หลังวิกฤตการเมืองครั้งใหญ่
       การปฏิรูปการเมืองครั้งแรกไม่ได้เกิดจากวิกฤตรุนแรง แต่เกิดจากมีพลังประชาชนที่เรียกร้อง เพราะฉะนั้นหนที่สอง ถ้าจะเกิดขึ้นง่ายที่สุด ก็คือเกิดจากพลังประชาชนที่เห็นว่ารัฐบาลใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ หรือพรรคฝ่ายค้านก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ไม่สามารถตรวจสอบรัฐบาลได้ เราลองนึกดูแล้วกันว่าหากผลของการเลือกตั้งงวดหน้าออกมาแล้ว รัฐบาลเกิดได้ 450 ที่นั่งส่วนที่เหลือเป็นฝ่ายค้าน ประชาชนเห็นแล้วว่าฝ่ายค้าน 50 คน ทำอะไรไม่ได้หรอก ต่อให้รวมวุฒิสมาชิกเข้าไปอีกด้วยก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเสียงในสภาผู้แทนราษฎร 90% เป็นของรัฐบาล อันนี้แหละวิกฤตมันอาจจะเกิดขึ้นก็ได้ เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นจากการที่เรามองไม่เห็นทางออก และทางออกทางเดียวก็คือต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดเกิดการถ่วงดุล
       แต่จะอย่างไรก็ตามผมยังยืนยันว่า เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ควรเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญในทันที เราต้องรอดูก่อนเพราะอาจจะไม่เกิดสิ่งที่เราคิดก็ได้ ลองดูตัวอย่างหลาย ๆ ประเทศที่เกิดขึ้น ประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีที่ว่านอนมาแน่ ๆ บางกรณี ก็ไม่มาได้เหมือนกัน คงคาดเดาล่วงหน้าไม่ได้ ท่านผู้นำของเราอาจจะเบื่อขึ้นมาแล้วก็เลิกเล่นการเมืองเฉย ๆ ก็เป็นได้ ใครจะไปรู้
       
       **อาจารย์ดูเหมือนจะเป็นนักกฎหมายมหาชนคนแรกๆ ที่เสนอให้ลงโทษนักการเมืองทุจริตโดยไม่มีอายุความ
       ผมเข้าใจว่าเป็นคนแรกที่เอาประเด็นนี้ออกมาพูด เพราะว่าผมเห็นตัวอย่างเยอะแยะไปหมด ผมเห็นหนังสือพิมพ์และวารสารบางฉบับ สัมภาษณ์ลูกนักการเมืองที่ทุกคนในเมืองไทยรู้หมดว่านักการเมืองคนนั้นรวยขึ้นมาได้อย่างไร แต่เชื่อไหมครับว่าลูกนักการเมืองให้สัมภาษณ์ได้อย่างไม่รู้สึกอะไรเลยถึงความร่ำรวยตั้งแต่เกิด มีบ้านขนาดใหญ่โต มีรถหรูหราคันละหลายล้าน เลี้ยงสุนัขอย่างดี พาไปตัดผม มีเครื่องประดับสุนัข ทั้งหมดนี้มีที่มาจากการทุจริตต่อประเทศชาติและประชาชน นักการเมืองพวกนี้เมื่อพ้นวงจรการเมืองไปแล้ว เราก็ไม่สามารถตามเอาอะไรกลับคืนมาได้เลย ผมมองที่รากของปัญหาว่า ความร่ำรวยเกิดจากการโกงแผ่นดิน เงินที่โกงคือเงินภาษีอากร เพราะฉะนั้นการทุจริตคอรัปชั่นจึงไม่ควรที่จะมีอายุความ สำหรับผมแล้ว ถ้าเห็นบทสัมภาษณ์ของบุคคลเหล่านั้นหรือของทายาท เราก็คงต้องไปถามว่า พ่อคุณ ทำงานอะไรบ้าง เงินเดือนเท่าไหร่ ต่อให้พ่อคุณเป็นรัฐมนตรีก็ไม่มีเงินมากพอที่จะให้คุณขับรถคันละหลายล้านได้ เพราะฉะนั้นผมจึงคิดว่าความผิดลักษณะดังกล่าวไม่ควรมีอายุความ เราประชาชนทุกคน คนไทยทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องตามเอาทรัพย์สมบัติของเราที่ถูกคนเหล่านั้นไปกลับคืนมา
       เราลองนึกภาพดูแล้วกันว่า ถ้าเรายึดรถของผู้ทุจริตคันหนึ่ง 7-8 ล้าน มาสัก 10 คัน ได้เงินทันที 80 ล้าน เงินจำนวนนี้ เรานำกลับมาสร้างโรงเรียนดี ๆ ได้หลายแห่งหรืออาจนำไปสร้างโรงพยาบาลได้หลายแห่งเช่นกัน เราอาจเอามาสร้างหอสมุดได้ สร้างพิพิธภัณฑ์ได้ สร้างสระว่ายน้ำ ทำสนามกีฬา ทำอะไรก็ได้ให้ประชาชนทั้งหมด เพราะฉะนั้นผมคิดว่าถ้าเราเอากลับคืนมาได้ คนที่ได้ประโยชน์คือประชาชน เพียงแต่ว่าหลักการนี้ถ้าเห็นด้วยต้องคิดให้รอบคอบ และหาวิธีการที่เราจะตามตรวจสอบและยึดเอาทรัพย์สินเหล่านั้นกลับมา ซึ่งก็ต้องหามาตรการที่ไม่เป็นการกลั่นแกล้งเขาด้วย แต่จริง ๆ แล้วเราน่าจะมีหนทางที่ตรวจสอบได้ไม่ยาก
       
       ***ทำไมอาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯเป็นที่ต้องการของตลาดการเมือง ไม่ว่าจะเป็น ดร.วิษณุ เครืองาม ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อ. ธงทอง จันทรางศุ และคนอื่นๆ
       ผมว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องโชค เป็นเรื่องโอกาสมากกว่า ผมไม่ได้บอกว่าเรามีคณบดีที่เก่งหรือไม่เก่ง เพราะเราไม่พูดถึงเรื่องเก่งหรือไม่เก่ง เพราะว่าความเก่งของคนหนึ่ง ในสายตาของอีกคนหนึ่งอาจจะมองว่าไม่เก่งก็ได้ ดูอย่างนายกฯ ทักษิณ บางคนก็บอกไม่ได้เรื่อง บางคนก็บอกท่านเก่ง เอาเป็นว่าของบางอย่างมันขึ้นอยู่กับโชค ขึ้นอยู่กับระยะเวลา ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายๆ อย่างที่บางคนอาจจะหล่นลงไป หรือตกไปในเหตุการณ์ที่มันกำลังพอดีตัวก็ได้ เพราะฉะนั้นของแบบนี้เราก็ต้องอยู่เฉยๆ แล้วถึงเวลาโอกาสก็จะมาเอง เพราะอย่างของอาจารย์บวรศักดิ์ฯ หรืออาจารย์สุรเกียรติ์ฯ ก็ไม่ได้วิ่งเข้าไปหาตำแหน่งอะไรทั้งนั้น แต่ตำแหน่งวิ่งมาหาท่านเอง
       เข้ามาเพราะเป็นผู้ความสามารถส่วนตัวมากกว่าและไม่ได้เข้ามาเพราะมีตำแหน่งว่าเป็นคณบดี เพราะจริง ๆ แล้วผมคิดอยู่เสมอว่าตำแหน่งทางวิชาการเป็นเรื่องสำคัญกว่าตำแหน่งบริหาร เมื่อเรามีความรู้ทางวิชาการจริง ๆ แล้ว คนก็จะวิ่งมา อย่างอาจารย์บวรศักดิ์ฯ ทุกคนก็รู้ว่า อาจารย์บวรศักดิ์ฯ เป็นคนที่สุกงอมทางด้านวิชาการกฎหมายมหาชนมากคนหนึ่งของประเทศไทยและเป็นศาสตราจารย์ด้านกฎหมายมหาชนคนแรกของประเทศไทย เพราะฉะนั้นสิ่งที่อาจารย์บวรศักดิ์ ฯ พูด สิ่งที่อาจารย์บวรศักดิ์ ฯ คิด สิ่งที่อาจารย์บวรศักดิ์เห็น เราค่อนข้างมั่นใจได้ว่าเป็นสิ่งที่น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะคนเหล่านี้ตกผลึกทางด้านความคิดและสุกงอมทางด้านวิชาการ
       
       ***วันหนึ่งข้างหน้า อาจารย์จะตามรุ่นพี่นิติศาสตร์ จุฬาฯ เข้าสู่ตลาดการเมืองหรือไม่
       เป้าของผมไม่ได้อยู่ที่การเมือง แต่ผมสนใจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผมมีความรู้สึกว่าตรงนั้นผมจะทำอะไรได้เยอะ ผมไม่สนใจตำแหน่งบริหาร ตั้งแต่ผมกลับมาจากต่างประเทศครั้งหลังนี้ มีเจ้าหน้าที่ในคณะ และเพื่อนอาจารย์หลายคนที่มาบอกผมว่าผมควรจะเป็นคณบดี เพราะผมมีความเหมาะสมทางด้านวิชาการมากที่สุด แต่ผมก็ปฏิเสธเพราะผมไม่ต้องการที่จะไปแข่งกับผู้ใดทั้งนั้น และนอกจากนี้ในอดีตผมเคยเป็นรองคณบดีฝ่ายวิชาการมาแล้ว ซึ่งผมก็มีความรู้สึกดีใจเหลือเกินที่สามารถลาออกจากตำแหน่งนั้นได้เพราะตำแหน่งบริหารทำให้ผมทำงานวิชาการไม่ได้
       ผมคิดว่าการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญน่าสนใจมากเพราะปัญหาที่เข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญมีความหลากหลายและท้าทายความสามารถ และนอกจากนี้เรื่องระยะเวลาก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะถ้าอยู่ศาลปกครองอาจต้องทำงานอายุถึง 70 ปีแต่ถ้าอยู่ศาลรัฐธรรมนูญก็มีวาระเพียงแค่ 9 ปีเท่านั้นเอง ผมไม่เคยมีความตั้งใจที่จะทำงานจนอายุ 60 หรือ 70ปี ตั้งใจเกษียณตอนอายุ 55 ปีด้วยซ้ำไป เพราะผมต้องการพักผ่อน ผมต้องการใช้ชีวิตที่สบายๆ ดูหนัง ฟังเพลง ท่องเที่ยวของผมไปเรื่อย ผมไม่อยากเครียด นั่งเขียนสำนวนคดีจนอายุ 70 ซึ่งผมไม่ต้องการใช้ชีวิตอย่างนั้น
       
       ***ทำไมนักกฎหมายมหาชนต้องไปรับใช้การเมือง
       ผมเคยคุยกับเพื่อนนักวิชาการที่ฝรั่งเศส เขาบอกว่างานหลักของนักกฎหมายมหาชนก็คือเข้าไปช่วยงานการเมือง อันนั้นคือหน้าที่หลักของนักกฎหมายมหาชน เพราะว่าเราเป็นนักกฎหมายมหาชน นักกฎหมายมหาชนต้องดูเรื่องโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ ดูทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับรัฐ เพื่อปกป้องประโยชน์ประชาชน เพราะฉะนั้นหน้าที่หลักของนักกฎหมายมหาชนก็คือเข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องการเมืองการปกครอง การที่นักกฎหมายมหาชนเข้าไปยุ่งกับการเมืองจึงเป็นสิ่งที่ไม่ผิดแน่นอน ที่เหลือก็จะขึ้นอยู่กับตัวของแต่ละบุคคลแล้ว อันนี้ผมเองก็พยายามทำความเข้าใจเพราะผมเคยอยู่ในเหตุการณ์เหล่านี้ด้วย คือเราเข้าไปในวงการเมืองแต่เราไม่ได้เข้าไปเป็นเบอร์หนึ่ง ถ้าวันนี้ นายกฯ ซึ่งเป็นเบอร์หนึ่งต้องการอะไรแล้ว เราที่เป็นเบอร์สองก็คงต้องทำอย่างนั้น แต่สำหรับผมหากต้องเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์แบบนั้นแล้ว เบอร์หนึ่งต้องการอะไร ผมก็คงจะทำความเห็นไปให้ ถ้าผมไม่เห็นด้วย ผมก็คงเสนอไปว่าถ้าเห็นด้วยก็นำไปใช้ ถ้าไม่เห็นด้วยก็ไม่ต้องนำไปใช้ นี่คือการทำหน้าที่ที่ผมเคยทำมาแล้ว ผมไม่ใช่ช่างตัดเสื้อ ผมเป็นแค่คนออกแบบเท่านั้นเอง ผมออกแบบให้ช่างตัดเสื้อ ช่างตัดเสื้อจะไปตัดยังไงเป็นเรื่องของคุณ แต่ผมออกแบบให้ดีที่สุด สมัยก่อน ผมเคยเข้าไปช่วยงานการเมือง เมื่อผมเสนอความเห็นไปแล้วเขาไม่เอา ผมก็โกรธมาก ปรากฏว่าคนที่ดุผมอย่างรุนแรงก็คือท่านอาจารย์อมรฯ เพราะท่านบอกว่าคุณไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจ คุณจะไปโกรธเขาได้ยังไง คุณเป็นแค่ที่ปรึกษา คุณมีหน้าที่ให้ความเห็น เขาจะใช้หรือไม่ใช้เรื่องของเขา ผมก็เถียงว่าผมเหนื่อยจากทำงานเหล่านั้น ท่านก็บอกถ้าอย่างนั้นคุณก็ไม่ต้องไปเป็นที่ปรึกษาเขา ถ้าคุณจะบังคับให้เขาทำแบบคุณ คุณก็ต้องไปเป็นเบอร์หนึ่งเสียเอง หรือไปเป็นนายกฯ ซะเอง ปัจจุบันอายุมากขึ้น ผมก็เปลี่ยนความคิดใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม ความเห็นของผมที่เสนอให้ผู้ที่ผมทำงานด้วยก็ต้องเป็นความเห็นดีที่สุด ถูกต้องที่สุด ปลอดภัยที่สุด และประชาชนจะต้องได้ประโยชน์มากที่สุด ทำหรือไม่ทำ ท่านเป็นคนตัดสิน ท่านไม่ทำก็เรื่องของท่าน ไม่โกรธ แต่ถ้าท่านทำก็ดีไป อย่างไรก็ตามต้องสำนึกไว้เสมอว่าเราเป็นแค่ที่ปรึกษา
       
       ** นักกฎหมายมหาชนหลายคนเป็น เนติบริกร หลายคน เป็นพวกศรีธนญชัย
       สำหรับผม ไม่ ผมทำโดยมีพื้นฐานด้านกฎหมายที่คิดว่าดีที่สุด ถูกที่สุด และผมก็อิงหลักกฎหมายมหาชนทุกครั้ง ผมยึดผลประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตัว แต่ต้องเป็นประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนทั้งประเทศครับ


 
 
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2546
บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.อรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 8 กันยายน 2544
บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.โภคิน พลกุล รองประธานศาลปกครองสูงสุด ณ สำนักงานศาลปกครอง วันที่ 27 กรกฎาคม 2544
บทสัมภาษณ์ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ณ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย วันที่ 11 ธันวาคม 2544
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม 2546
   
 
 
 
มองการปฏิรูปประเทศผ่านสายตานักกฎหมาย นันทวัฒน์ บรมานันท์ จากคนวงในสู่ภาพขยายสังคม
ปี ๒๕๕๕ การเมืองจะรุนแรง ? เหตุ ปชช.ไม่รู้
ศึกแผงลอย "สยามสแควร์"ยื้อ 8 เดือน "จุฬาฯ" เกินต้านยอมถอย แฉ! "เจ้าหน้าที่" ไม่ร่วมมือ!!!
ถามหาความกล้า"ประชาธิปัตย์"เป็นฝ่ายค้านที่สะอาดดีกว่าอยู่ในรัฐบาล แล้วเป็นสีเทา
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อัดแก้รธน. 2 มาตราไม่ได้ตอบโจทย์แก้ปัญหาปรองดอง เสนอขึ้น"บัญชีดำ"คนยกร่างรธน.ปี50
"นันทวัฒน์ บรมานันท์"ซัดคลิปลับฉาว ศาล รธน.บกพร่องเอง คนแต่งตั้งกุนซืออย่าปฏิเสธความรับผิดชอบ
สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ว่าด้วยเรื่อง "ปรองดองขี้ขลาด-เส้นทางการเมืองและการปฎิรูป"
สัมภาษณ์ ดร.วรรณภา ติระสังขะ เจาะโมเดลตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จาก"ฝรั่งเศส"ถึง กฟผ. .′ความ(ไม่)เท่าเทียมกันของอาวุธ′
สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ชำแหละ"รากแห่งความขัดแย้ง" ลากสังคมไทยสู่สงครามกลางเมือง !!!!
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544