หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 108
16 พฤษภาคม 2548 09:37 น.
"วันหยุดที่ไม่เป็นวันหยุด:วันเอื้ออาทร"
       ผมอยู่ที่เมือง Nantes ประเทศฝรั่งเศสได้สองอาทิตย์แล้วครับ ทุกอย่างก็เป็นไปอย่างปกติ หนสุดท้ายที่มาที่นี่ก็เดือนกันยายนปีที่ผ่านมาครับ ช่วงนี้อากาศกำลังดี ไม่หนาวเกินไป มาถึงได้วันเดียวก็ตรงกับวันหยุดยาว เพื่อนที่ผมมาพักด้วย คือ ศาสตราจารย์ ดร.René Hostiou ก็ชวนผมไปพักผ่อนที่บ้านต่างจังหวัดของเขา 3 วัน ก็เลยได้ไปเที่ยวทะเล รู้สึกดีที่ได้พักผ่อนสบาย ๆ แถมยังได้ออกกำลังกายอีกด้วยเพราะเพื่อนผมพาไปเที่ยวเกาะ เช่าจักรยานขี่รอบเกาะระยะทางร่วม 20 กิโลเมตร หมดเวลาไปหลายชั่วโมงเหมือนกันครับ รวมความแล้วก็ได้พักผ่อนสบาย ๆ 1 อาทิตย์ ครับ!!!
       พูดถึงเรื่อง “วันหยุด” ทุกคนที่ผมมีโอกาสได้พูดคุยด้วยเมื่อตอนมาถึงใหม่ ๆ พูดถึงเรื่องวันหยุดกันมาก อ่านหนังสือพิมพ์ ฟังข่าวโทรทัศน์ ก็มีแต่เรื่องวันหยุดครับ โดยปกติแล้วเดือนพฤษภาคมเป็นเดือนที่มีวันหยุดมากเป็นพิเศษเดือนหนึ่ง (เมืองไทยก็หยุดมากเช่นกันครับ!!!) ซึ่งคนที่นี่ก็มักจะถือโอกาสหยุดงานติดต่อกันแถมพ่วงไปด้วยอีกหลายวัน เลยทำให้เดือนพฤษภาคมกลายเป็นเดือน “พักผ่อน” ของคนฝรั่งเศสครับ แต่ปีนี้ออกจะโชคร้ายสักหน่อยที่วันหยุดหลาย ๆ วันตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์ แล้วฝรั่งเศสเขาก็ไม่มีระบบการหยุดชดเชยแบบบ้านเรา เลยทำให้ “วันหยุด” ของคนที่นี่หายไปหลายวันครับ

“วันหยุด” ที่เป็นปัญหาของคนฝรั่งเศสและเป็นที่พูดกันมากเหลือเกิน ก็คือวันหยุดที่ตรงกับวันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม 2005 นี่แหละครับ Pentecôte เป็นวันสำคัญทางศาสนาวันหนึ่ง เพราะเป็นวันที่วิญญาณศักดิ์สิทธิ์เสด็จลงมาจากสวรรค์ โดยปกติในวันหยุดวันนี้ผู้คนก็จะไปโบสถ์กันครับ แต่ที่เป็นปัญหาก็เพราะในปีนี้เกิดเหตุการณ์พิเศษขึ้นกับวันหยุดวันนี้ที่ “มีผล” ทำให้วันหยุดกลายเป็นวันทำงาน ขณะที่ผมเขียนบทบรรณาธิการนี้อยู่ (12 พฤษภาคม) ผู้คนก็ยังเถียงกันไม่หยุดแล้วก็ไม่ทราบว่าเรื่องวันหยุดนี้จะลงเอยอย่างไรครับ!!!
       เรื่องทั้งหมดมีอยู่ว่า มีการกำหนดใหม่ให้วันหยุดดังกล่าวไม่เป็นวันหยุดในปีนี้ครับ ผมไม่สามารถหา “กฎหมาย” ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องมาอธิบายรายละเอียดได้ ทราบเพียงแต่ว่า ด้วยผลของรัฐบัญญัติลงวันที่ 30 มิถุนายน 2004 ประกอบกับหนังสือเวียน (circulaire) ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2004 ที่ออกตามความของรัฐบัญญัติดังกล่าวและคำอธิบาย (note) หนังสือเวียน ลงวันที่ 20 เมษายน 2005 ที่ทำให้รัฐบาลเปลี่ยนให้วันหยุดดังกล่าวเป็นวันทำงานครับ!!! หลาย ๆ คนคงสงสัยว่าทำไมและเหตุผลใดที่ทำให้รัฐบาล“แย่ง” วันหยุดจากประชาชนไปหนึ่งวัน เหตุผลหลักที่สำคัญที่สุดก็คือ รัฐบาลต้องการ “หาเงิน” ให้กับสังคมครับ ผมจะขออธิบายสั้น ๆ นะครับว่า รัฐบาลคำนวณดูแล้ว พบว่า หากคนทั้งประเทศทำงาน 1 วันแล้วไม่รับค่าจ้าง แต่สละเงินค่าจ้างดังกล่าวให้กับส่วนรวมก็จะเป็นการดี เพราะเงินค่าจ้างของคนทั้งประเทศมีจำนวนสูงมากคือประมาณ 2 พันล้านยูโร จากความคิดนี้เอง รัฐบาลจึงได้ตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่หน่วยงานหนึ่ง คือ Caisse Nationale de Solidarité pour l’Autonomie (CNSA) หน่วยงานนี้ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุและคนพิการโดย CNSA จะเอาเงินจำนวน 1.2 พันล้านยูโรที่ได้จากการทำงานโดยไม่ได้เงินเดือนของประชาชนทั้งประเทศในวันหยุดวันที่ 16 พฤษภาคมนี้ไปทำประโยชน์ให้กับผู้สูงอายุ และอีก 800 ล้านยูโรให้กับคนพิการ หน่วยงานดังกล่าวเป็นหน่วยงานอิสระ อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐสภาและศาลตรวจเงินแผ่นดินครับ ผมดูข้อมูลโฆษณา CNSA ทำให้ทราบว่า CNSA จะนำเงินที่ได้ไปทำประโยชน์หลาย ๆ อย่าง ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ ก็จะเอาไปช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีบ้านของตัวเองให้อยู่อย่างสบายขึ้น นอกจากนี้ก็จะเอาเงินจำนวนหนึ่งไปสร้างบ้านพักผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอีก 100 แห่ง ในส่วนของคนพิการก็จะเอาเงินไปช่วยเหลือเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของคนพิการ และนอกจากนี้แล้ว ในการดำเนินการทั้งหมดของ CNSA ก็จะช่วยสร้างงานใหม่ให้กับคนกว่า 30,000 คนอีกด้วยครับ ดู ๆ แล้วก็น่าจะดีนะครับที่ประชาชนทั้งหมดยอมทำงานในวันหยุด 1 วันเพื่อให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นไปสร้างประโยชน์ให้กับผู้ด้อยโอกาสในสังคม

แต่อย่างไรก็ดี เรื่องดังกล่าวก็เป็นปัญหาขึ้นมาจนได้เมื่อสหภาพแรงงานของผู้ใช้แรงงานคริสเตียนได้นำปัญหานี้เข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดเพื่อขอมาตรการชั่วคราวเพื่อการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ (référé liberté) โดยขอให้ศาลปกครองสูงสุดสั่งระงับคำสั่งยกเลิกวันหยุดในวันที่ 16 พฤษภาคม 2005 ด้วยเหตุผลที่ว่า การกำหนดให้ทำงานในวันดังกล่าว ซึ่งเป็นวันสำคัญทางศาสนาเป็นการกระทำที่กระทบต่อเสรีภาพในการนับถือและปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา (liberté de religion) และการกระทบเสรีภาพในการรวมกลุ่ม (liberté d’association) เนื่องจากมาตรา 521-2 แห่งประมวลกฎหมายปกครองของฝรั่งเศสได้กำหนดให้ศาลปกครองพิจารณาคำขอมาตรการชั่วคราวเพื่อการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพให้แล้วเสร็จภายใน 48 ชั่วโมงนับแต่มีการร้องขอ ดังนั้น ศาลปกครองสูงสุดจึงได้มีคำสั่งไปเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2005 ให้ยกคำขอของสหภาพแรงงานดังกล่าวด้วยเหตุที่ว่า มาตรา 521-2 บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินและมีการร้องขอ ตุลาการศาลปกครองผู้ทำหน้าที่พิจารณากำหนดมาตรการชั่วคราว (les juges de référés) สามารถสั่งการใด ๆ ได้เท่าที่จำเป็นเพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอันเกิดจากการดำเนินงานของนิติบุคคลในกฎหมายมหาชนหรือขององค์กรเอกชนที่ทำหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อประชาชนจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยกฎหมายมาตราดังกล่าวกำหนดให้ศาลปกครองพิจารณาคำขอและสั่งการภายใน 48 ชั่วโมง ซึ่งในกรณีนี้ศาลปกครองพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ได้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนและไม่เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงสั่งให้ยกคำขอดังกล่าวเสียเพราะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการชั่วคราวดังกล่าว
       ที่เล่าไปเป็นเรื่องขนาดย่อเพราะขณะที่เขียนบทความนี้ผมยังไม่มีโอกาสได้ดูสาระทั้งหมดของทั้งกฎหมายและทั้งคำสั่งศาลปกครองสูงสุดครับ แต่ผมเห็นว่าเป็นเรื่องน่าสนใจที่สมควรนำมาเล่าสู่กันฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับ “วิธีคิด” ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง มีการสรรหาวิธีการแปลก ๆ ใหม่ ๆ มาใช้ตลอดเวลา ลองคิดดูง่าย ๆ ก็แล้วกันนะครับ ว่า “สิ่งง่าย ๆ” ที่เขาคิดคือขอให้คนทั้งประเทศทำงานฟรีหนึ่งวัน สละเงินที่ตนควรได้รับจากการทำงานหนึ่งวันไปช่วยผู้ด้อยโอกาสในสังคม สิ่งง่าย ๆ เช่นนี้เป็นสิ่งที่ “น่าจะ” ทำได้โดยเฉพาะในประเทศที่มี “วันหยุด” มากเหลือเกิน!!! ถ้าสามารถทำได้จริง ๆ ก็คงจะดีไม่น้อยนะครับ แต่อย่างว่าครับ ในประเทศฝรั่งเศสซึ่งเป็นดินแดนแห่งสิทธิและเสรีภาพ แม้ศาลปกครองสูงสุดจะบอกว่าสิ่งที่รัฐบาลทำไปนั้นสามารถทำได้ แต่ในภาคประชาชนหลาย ๆ ส่วนก็ยังไม่ยอมรับและคงลำบากหน่อยเพราะขนส่งมวลชนทั้งหลายคงจะนัดหยุดงานในวันนั้น ที่มาแปลกคือ มีเทศบาลแห่งหนึ่งที่นายกเทศมนตรีได้อนุมัติให้เจ้าหน้าที่เทศบาลจำนวนร่วม 400 คนหยุดงานในวันดังกล่าวครับ คงต้องดูกันต่อไปว่าสรุปแล้ว รัฐบาลจะได้เงินเท่าไหร่จากการเปลี่ยนวันหยุดให้เป็นวันทำงาน มีปัญหาตามมามากน้อยหรือไม่ และจะมีการดำเนินการลักษณะนี้ต่อไป (ยกเลิกวันหยุด) ในภายภาคหน้าอีกหรือไม่ครับ
       ที่ผมนำมาเล่าให้ฟังก็คงไม่มีอะไรมากไปกว่าการนำเสนอวิธีการ “หาเงิน” อีกรูปแบบหนึ่งของรัฐบาลฝรั่งเศสที่มี “เป้าหมาย” ที่ชัดเจน คือนำเงินไปให้กับผู้ด้อยโอกาสครับ ไม่แน่ใจในวันข้างหน้า ประเทศไทยเราอาจมี “วันเอื้ออาทร” เช่นนี้บ้างก็ได้นะครับ เพราะจริง ๆ แล้วเป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ไม่ยากเลยครับ ขอให้มีความตั้งใจดี มีความสามัคคี มีความเสียสละร่วมกันเท่านั้นเอง คงก็ต้องลองศึกษาความเป็นไปได้ดูนะครับ
       
       ในสัปดาห์นี้ เราขอเสนอบทความ 2 บทความครับ คือบทความเรื่อง “การสร้างสถาบันทางการเมืองกับธรรมาภิบาลของพรรคการเมืองเพื่อความยั่งยืนของประชาธิปไตย” โดย ดร.เชาวนะ ไตรมาศ แห่งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และ “ศาสนา – ความเชื่อ : การแสดงออก และการยอมรับในมุมมองกฎหมายฝรั่งเศส” โดย นางสาวปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์ ในนานาสาระจากนักเรียนไทยในต่างแดน ผมต้องขอขอบคุณผู้เขียนทั้งสองไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม 2548 ครับ
       
                                ศาตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544