หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 110
12 มิถุนายน 2548 22:07 น.
"ลงโทษจำคุกกรรมการ ป.ป.ช. และทางตันของการสรรหา ป.ป.ช.ชุดใหม่"
       ในช่วงเวลาสองสัปดาห์ที่ผ่านมา นักกฎหมายมหาชนส่วนหนึ่งคงทุ่มเทความสนใจไปที่ปัญหากฎหมายหลายปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน โดยแต่ละปัญหานั้นต่างก็ดูคล้าย ๆ กัน คือ เป็นปัญหาที่ “ไม่มีคำตอบ” ให้กับสังคมว่าจะหาทางออกอย่างไร ปัญหาเหล่านั้นได้แก่ ปัญหาเกี่ยวกับการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ปัญหาการขึ้นค่าตอบแทนให้กับตนเองของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือปัญหาจากการที่ไม่มีตุลาการศาลปกครองสูงสุดผู้ใดสมัครใจมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแทนตำแหน่งเดิมที่ว่างลงไป เป็นต้น
       เมื่อผมได้รับทราบว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ตัดสินให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 83 ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 125 และสั่งลงโทษจำคุกกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 9 คน มีกำหนดคนละ 2 ปี แต่ให้รอลงอาญาไว้ก่อนนั้น ผมก็มีความรู้สึกหลาย ๆ อย่าง อย่างแรกก็รู้สึกสงสารประเทศไทยที่คงต้อง “เสียภาพพจน์” อีกครั้งหนึ่ง เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ถูกศาลพิจารณาลงโทษว่ามีความผิดอาญาในฐานที่ใกล้เคียงกับการทุจริต ผมไม่ได้ตรวจสอบข่าวที่เผยแพร่ในต่างประเทศว่าเป็นอย่างไร แต่เข้าใจว่าคงไม่เกิดผลดีกับประเทศไทยเท่าไรนัก
       ผลที่ตามมาจากคำตัดสินดังกล่าวก็คงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า กรรมการ ป.ป.ช. ทุกคนลาออกจากตำแหน่ง แต่การลาออกจากตำแหน่งของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็นำมาสู่ปัญหาใหม่ คือ การสรรหาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหม่นั้นต้องใช้คณะกรรมการสรรหา ซึ่งองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่วนหนึ่ง ประกอบด้วย ผู้แทนของพรรคการเมืองทุกพรรคที่สมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคละ 1 คน ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 5 คน แต่ในปัจจุบัน สภาผู้แทนราษฎรของเรามีพรรคการเมืองเพียง 4 พรรคการเมืองเท่านั้น จึงเกิดปัญหาขึ้นมาว่า จะทำอย่างไร ท้ายที่สุดก็นำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ครั้งที่ 1 ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ครับ
       อย่างไรก็ดี แม้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดเดิมจะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ก็มีข่าวออกมาว่า มีการเตรียมที่จะดำเนินการ “เอาเรื่อง” กับองค์กรตามรัฐธรรมนูญอีก 3 องค์กรที่ได้กระทำการในลักษณะเดียวกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. องค์กรทั้ง 3 คือ ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการ กกต. และผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ซึ่งก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่าในที่สุดแล้วจะเป็นอย่างไร แต่ผมเข้าใจว่าคงใช้เวลานานเพราะกระบวนการตามรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กับองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่น ๆ นั้นไม่เหมือนกัน กล่าวคือ การพิจารณาความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น เป็นกระบวนการพิเศษที่กำหนดให้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภา จำนวนไม่น้อยกว่า 175 คน ยื่นคำร้องผ่านประธานวุฒิสภาไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้พิจารณาความผิดที่เกิดขึ้น ในขณะที่ หากเป็นกรณีของศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการ กกต. และผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภานั้น กระบวนการจะอยู่ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 125 คน หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน เข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้ดำเนินการกับองค์กรหรือตัวบุคคลที่ทำผิด ซึ่งในกรณีหลังนี้จะช้ากว่ากรณีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพราะประธานวุฒิสภาจะต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนก่อน เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. พบว่ามีมูลจึงจะส่งเรื่องต่อไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อดำเนินการตามกระบวนการถอดถอนออกจากตำแหน่งต่อไป ในขณะเดียวกัน ก็ต้องส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองควบคู่กันไปด้วยครับ ด้วยกระบวนการที่เล่ามานี้ คงพอมองเห็นภาพว่า หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหม่ยังไม่เกิด กระบวนการในการตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการ กกต. และผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาก็ยังคงต้องรอไปก่อนครับ
       อย่านึกว่าเมื่อแก้รัฐธรรมนูญแล้วจะหมดปัญหานะครับ ลองดูประเด็นต่อไปนี้ก่อนครับ ประเด็นคือว่า คณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. นั้น ประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ หลายตำแหน่ง ซึ่งรวมไปถึงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญด้วย แต่ในปัจจุบันตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญก็ยังขาดอยู่ เพราะเมื่อเดือนที่ผ่านมา ศ.ดร.กระมล ทองธรรมชาติ ประธานศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากตุลาการในศาลปกครองสูงสุดได้พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากมีอายุครบ 70 ปี ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว ศาลปกครองสูงสุดจะต้องส่งตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมาแทน แต่จากข่าวที่ออกมาทำให้ทราบว่า ไม่มีตุลาการศาลปกครองสูงสุดคนใดประสงค์ที่จะมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็เลยทำให้องค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญขาดไป 1 คน ซึ่งในขณะนี้ผมไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ 14 คน จะสามารถเลือกกันเอง โดยขาดผู้ที่จะมาจากศาลปกครองสูงสุด 1 คน เพื่อให้คนใดคนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ หากไม่ได้จะทำอย่างไรครับ !!! ก็ต้องวนกลับไปสู่ทางตันอีกเพราะคงไม่สามารถ “บังคับ” ให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุดคนใดคนหนึ่งมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ และหากมาตรา 255 แห่งรัฐธรรมนูญถูกใช้และถูกตีความให้เป็นไปในแนวทางที่ว่า ต้องมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครบ 15 คนก่อนจึงค่อยมาประชุมและเลือกกันเองคนหนึ่งให้เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ สงสัยคงต้องกลับไปแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่งแน่ ๆ ครับ !!!
       
       หนังสือ “รวมบทความกฎหมายมหาชนจาก www.pub-law.net เล่ม 4” ที่เราได้ประกาศแจกไปเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วยังพอมีอยู่ครับ ผู้ใดสนใจอยากได้ไว้เป็นเจ้าของก็ดูรายละเอียดในกรอบด้านข้างนี้นะครับ ถ้าจะโทรศัพท์มาสอบถามที่หมายเลข 0 2218 2017 ต่อ 213 ก่อนว่ายังมีหนังสืออยู่อีกหรือเปล่าก็จะเป็นการดีครับ หมดแล้วหมดเลยนะครับ
       
       ในสัปดาห์นี้ ผมขอนำเสนอส่วนสุดท้ายของงานวิจัยของผมที่ได้ลงเผยแพร่ไปแล้วหลายตอน และหยุดไป 2-3 เดือน มาลงเป็นตอนจบของงานวิจัยเรื่อง “การให้สิทธิประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ” ครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2548 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544