หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 113
24 กรกฎาคม 2548 17:57 น.
"มุมมองที่มีต่อพระราชกำหนดบริหารราชการสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2547"
       ข่าวสำคัญที่เกิดขึ้นในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ผู้คนให้ความสนใจกันมากก็คือ ข่าวคนร้ายลอบวางระเบิดในพื้นที่หลาย ๆ จุดที่จังหวัดยะลาและมีการวางระเบิดเสาไฟฟ้าแรงสูงด้วย ซึ่งทำให้เกิดไฟดับทั่วเมืองยะลาเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ในวันต่อมาก็ได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษซึ่งมติคณะรัฐมนตรีในวันดังกล่าวก็ได้สนับสนุนให้มีการออกพระราชกำหนดบริหารราชการสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
       ผมขอสรุปสาระสำคัญของพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวไว้อย่างคร่าว ๆ โดยจะขอแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อด้วยกันคือ
       1.นายกรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีหรือด้วยตัวเองก็ได้ในกรณีที่ไม่อาจขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีได้ทันท่วงที
       2.เมื่อนายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว จะมีผลหลายประการเกิดขึ้น คือ
       - อำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีทุกกระทรวงในท้องที่นั้นโอนมาเป็นของนายกรัฐมนตรีเพื่อให้นายกรัฐมนตรีสามารถสั่งการได้
       - นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดได้หลายประเภท เช่น ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถาน ห้ามชุมนุม ห้ามเสนอข่าว จำหน่ายหรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ ห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือใช้ยานพาหนะ ห้ามใช้อาคารหรือเข้าไปอยู่ในสถานที่ใด ๆ
       - จับกุม คุมขังบุคคลผู้ต้องสงสัยไม่เกิน 7 วัน แต่สามารถขยายได้อีกรวมแล้วไม่เกิน 30 วัน
       - เรียกบุคคลมารายงานตัว
       - ออกคำสั่งยึด อายัดอาวุธหรือสินค้า
       - ตรวจค้น รื้อถอน ทำลายอาคาร สิ่งปลูกสร้าง
       - ตรวจสอบจดหมาย หนังสือ สิ่งพิมพ์ โทรเลข โทรศัพท์
       - สั่งห้ามออกนอกราชอาณาจักร
       3.การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวให้ใช้บังคับได้ไม่เกิน 3 เดือน แต่ก็สามารถขยายออกไปได้อีกเป็นคราว ๆ คราวละไม่เกิน 3 เดือน
       การออกพระราชกำหนดดังกล่าวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาก ไม่ว่าจะเป็น “รูปแบบ” ที่รัฐบาลเลือกออกพระราชกำหนดแทนที่จะออกเป็นพระราชบัญญัติหรือ “เนื้อหา” ที่มีผู้วิจารณ์กันมากว่ามีบทบัญญัติหลายมาตราที่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
       ในประเด็นแรกคือเรื่อง “รูปแบบ” นั้น รัฐบาลชี้แจงว่าเป็นเหตุจำเป็นเร่งด่วนซึ่งผมเข้าใจว่าทุกคนก็คงจะ “เห็นด้วย” กับรัฐบาลที่อ้างเหตุดังกล่าวเพราะสถานการณ์ความไม่สงบทางภาคใต้นั้นยืดเยื้อมานานแล้วและก็รุนแรงขึ้นทุกวัน และขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่ไม่อยู่ในสมัยประชุมของสภาประกอบกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้นเป็นสิ่งที่ร้ายแรงมาก เหตุผลของรัฐบาลในการออกพระราชกำหนดจึงเป็นเหตุผลที่ “ฟังขึ้น” ครับว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนจริง ๆ ซึ่งกรณีดังกล่าวก็น่าจะ “สอดคล้อง” กับมาตรา 218 แห่งรัฐธรรมนูญอันเป็นมาตราที่กำหนดถึง “เงื่อนไข” ในการตราพระราชกำหนดครับ ส่วนในประเด็นที่สองคือเรื่อง “เนื้อหา” นั้น ผมพิจารณาดูแล้วก็รู้สึก “ตกใจ” และ “เฉย ๆ” ในหลาย ๆ มาตราด้วยกัน แต่ก็อย่างว่านะครับ ในบางครั้งสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลของประชาชนอาจต้องถูกกระทบไปบ้างแต่ก็คงจะต้องยอมรับกันนะครับเพราะประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นนั้นคือประโยชน์มหาชนหรือความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ในส่วนตัวผมนั้น ผมติดใจในสาระของพระราชกำหนดดังกล่าวอยู่หลายประเด็น แต่มีประเด็นหนึ่งที่จะขอพูดในที่นี้ คือ ประเด็นที่อยู่ในมาตรา 5 ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้โดยต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนและหากกรณีที่ไม่อาจขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีได้ทันท่วงที นายกรัฐมนตรีสามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปก่อนแล้วค่อยไปดำเนินการขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในภายหลัง
       
เราพอมองเห็นกันอยู่แล้วว่า นายกรัฐมนตรีกับคณะรัฐมนตรีนั้นไม่สามารถ “ถ่วงดุล” ซึ่งกันได้เพราะนายกรัฐมนตรีก็คือ “ผู้นำ” รัฐบาล หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่า “สิ่งที่เกิดขึ้น” เป็น “สถานการณ์ฉุกเฉิน” มันก็เป็นของแน่ที่คณะรัฐมนตรีจะต้องเห็นด้วยเช่นกันครับ ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่สุดของพระราชกำหนดเพราะ “ความเห็น” นี้เองจะเป็นสิ่งที่ “ตัดสิน” ให้นำบทบัญญัติในพระราชกำหนดฉบับนี้มาใช้ ดังนั้น การให้ “ความเห็น” ว่าเหตุการณ์ใดเป็น “สถานการณ์ฉุกเฉิน” จึง “น่าจะ” ต้องพิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบครับ จริง ๆ แล้ว หากเป็นไปได้ ผมคิดว่า น่าจะลองดูแบบอย่างของการ “ใช้อำนาจพิเศษ” ในลักษณะนี้ของประเทศอื่น ๆ ดูบ้างว่าเขามีกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจอย่างไร ทั้งกลไก “ก่อน” การใช้อำนาจและ “หลัง” การใช้อำนาจ ยกตัวอย่างเช่น การใช้อำนาจพิเศษของประธานาธิบดีฝรั่งเศสในสถานการณ์ฉุกเฉินที่กำหนดขั้นตอนไว้ว่า ประธานาธิบดีมีอำนาจใช้มาตรการที่จำเป็นสำหรับจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้ภายหลังจากที่ได้มีการปรึกษาหารืออย่างเป็นทางการกับนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรกับประธานวุฒิสภา และคณะตุลาการรัฐธรรมนูญแล้ว รวมทั้งยังจะต้องแถลงให้ประชาชนทราบถึงการใช้มาตรการดังกล่าวด้วยครับ นี่เป็นตัวอย่างเพียงประเทศเดียวที่ผมยกมาให้พิจารณาเพราะเห็นว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเป็นเรื่องใหญ่ที่สมควร “พิจารณา” ร่วมกันหลายๆ ฝ่ายให้รอบคอบครับ อย่างน้อยก็ควรที่จะต้องมี “ตัวแทน” จากฝ่ายอื่นที่ไม่ใช่ฝ่ายบริหารมาร่วมให้ข้อคิดประกอบการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีด้วยครับ แต่อย่างไรก็ดี ก็เป็นอย่างที่เราทราบกันนะครับว่า ณ ตอนนี้คงแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว เพราะเมื่อรัฐบาลตัดสินใจที่จะออก “พระราชกำหนด” ก็หมายความว่า เนื้อหาของพระราชกำหนดนั้นคงแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรอีกไม่ได้แล้วในช่วงนี้เพราะมาตรา 218 วรรค 3 แห่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐสภามีหน้าที่เพียงการอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนดเท่านั้น รัฐสภาจะไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระของพระราชกำหนดไม่ได้ครับ
       นอกจากประเด็นดังกล่าวแล้ว ผมก็ยังมีความเห็นอีกหลายประเด็นด้วยกันแต่คงจะไม่ขอนำมาวิเคราะห์วิจารณ์ในที่นี้ แต่จะขอฝากประเด็นเหล่านี้ไว้ด้วย คือ
       - คำจำกัดความของ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” เขียนไว้กว้างมาก การเขียนไว้กว้างมากเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้มีการประกาศให้พื้นที่ใดเป็นพื้นที่ “ควบคุม” ได้ง่ายขึ้น
       - กำหนดเวลาของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินคือ 3 เดือน และสามารถขยายระยะเวลาต่อไปได้อีกเป็นคราว คราวละ 3 เดือน อ่านดูแล้วรู้สึกว่าจะมีผลเสมือนหนึ่งว่าไม่มีระยะเวลาที่ตายตัวแน่นอน
       - การไม่อยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบของศาลใด
       - การกระทำทั้งหลายตามมาตรา 9 และมาตรา 11 เช่น การใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีตามหัวข้อ 2 ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น จะไม่ถูกตรวจสอบโดยศาลปกครอง
       - ผลจากการกระทำทั้งหลายตามมาตรา 11 วรรค 4 เช่น การรื้อ ถอนทำลายอาคาร ฯลฯ ผู้ทำไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา หรือทางวินัย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น
       ในประเด็นนี้ คงต้องตอบคำถามของมาตรา 28 วรรค 2 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่กล่าวไว้ว่า “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้” ด้วยครับ!!!
       
       สัปดาห์ที่ผ่านมามีเรื่อง “เครียด” เข้ามาอีกเรื่องหนึ่งในชีวิตของผมก็มีอยู่ว่า คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คนปัจจุบันจะดำรงตำแหน่งครบวาระในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ซึ่งมหาวิทยาลัยก็ได้เริ่มกระบวนการสรรหาคณบดีคนใหม่ด้วยการให้อาจารย์และบุคลากรของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอชื่อบุคคลผู้สมควรที่จะเป็นคณบดีคนต่อไป ภายในวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 ที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อผมกลับมาจากต่างประเทศเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ก็มีอาจารย์ผู้ใหญ่ของคณะกลุ่มหนึ่งพูดคุยกับผมเพราะเห็นว่าผมควรเสนอตัวเป็นคณบดีครับ!!!
       โดยส่วนตัวนั้น ผมมีความเป็น “อิสระ” ค่อนข้างมากและ “คิด” ไม่เหมือนคนอื่น ที่ว่าเป็นอิสระนี้ก็คงเป็นเพราะผมใช้เวลาอยู่ต่างประเทศหลายปี และทุก ๆ ปีก็กลับไปอยู่ต่างประเทศประมาณ 2 เดือนต่อปีต่อเนื่องกันมาตลอด ก็เลยทำให้ผมค่อนข้าง “สันโดษ” และ “ไม่มีพวก” ประกอบกับ “นิสัยส่วนตัว” ที่ไม่ดีของผมในหลาย ๆ อย่างด้วยก็เลยทำให้ผมค่อนข้างที่จะ “อยู่คนเดียว” ในคณะครับ ส่วนที่ว่า “คิด” ไม่เหมือนคนอื่นนั้นคงเป็นเรื่องไม่ดีไม่งามและลำบากใจพอสมควรที่จะมาเล่าให้ฟัง ณ ที่นี้ แต่เอาเป็นว่าตลอดชีวิตการเป็น “นักวิชาการ” ของผมนั้น ผมเข้าใจว่าผมพยายามที่จะเป็นนักวิชาการ “ที่ดี” คนหนึ่ง ผมเขียนหนังสือไปแล้ว 25 เล่ม บทความอีกกว่า 100 บทความ และยังทำ website แห่งนี้มาเป็นปีที่5 ส่วนงานวิจัยก็มีบ้างครับ การดำเนินงานทางวิชาการที่เล่าให้ฟังไปนี้ ไม่มีใคร “สนใจ” ทำมากเท่าไหร่หรอกครับ สู้ไปทำงานวิจัยไม่ได้เพราะงานวิจัยนั้นให้ผลตอบแทนที่ดีกว่างานเขียนตำรามาก ยิ่งทำ website ยิ่งไม่ต้องพูดกันเลย ผมไม่เห็นมีใครสนใจทำกันสักคนทั้ง ๆ ที่เกิดประโยชน์กับส่วนรวมมากกว่า นอกจากนี้แล้ว ในชีวิตการทำงานของผม ผมเองก็ไม่เคยคิดที่จะเข้ามาทำงานบริหารด้วยการเป็นคณบดีแต่ผมพอใจที่จะทำผลงานทางวิชาการที่ดีที่สุดเพื่อขอตำแหน่งศาสตราจารย์มากกว่า ด้วยเหตุทั้งหลายนี้เองที่ผมค่อนข้าง “ลังเล” ใจที่จะ “ตอบรับ” คำชี้ชวนของอาจารย์ผู้ใหญ่กลุ่มนั้นแล้วก็ต้องกลับไป “นอนคิด” ทุกวันว่าจะทำอย่างไรกับชีวิตของตัวเองดี เพราะที่ผ่าน ๆ มา ผมมีชีวิตที่ค่อนข้าง “มีความสุข” พอสมควรและมีทุกอย่างที่ต้องการวันไหนไม่มีสอน ผมก็ไปประชุม ไปอภิปรายตามที่ได้รับเชิญ ระหว่างวันทำงานถ้ามีเวลาว่างก็จะไปเล่น squash หรือไม่ก็ว่ายน้ำ แล้วก็แบ่งเวลาส่วนหนึ่งไว้ทำงานทางวิชาการ ถ้าหากผมเกิดได้เป็นคณบดีขึ้นมาก็คงหาเวลาทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ โดยเฉพาะการไปต่างประเทศปีละ 2 เดือน คงเป็นเรื่องยากพอสมควรสำหรับผมครับ แต่ในที่สุด ผมก็ต้องยอมรับเรื่องดังกล่าวและเข้าไปเป็นหนึ่งในบรรดาผู้เสนอตัวเป็นคณบดีด้วยเหตุผลสำคัญหลายประการที่คงไม่เหมาะสมที่จะนำมากล่าว ณ ที่นี้ครับ
       โดยปกตินั้น ผู้ที่เสนอตัวเป็นคณบดีก็มักจะต้องไป “หาเสียง” และตอบคำถามสำคัญคือ จะมีใครร่วมเป็นทีมงานบ้าง เรื่องทีมงานก็เป็นเรื่องใหญ่เพราะเจ้าหน้าที่ก็อยากจะรู้ว่าใครจะมาเป็นรองคณบดีฝ่ายบริหารที่จะเป็นผู้ “ดูแล” เจ้าหน้าที่ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วธรรมชาติของมนุษย์ก็คงเหมือนกันก็คือประสงค์ที่จะได้ “คนใจดี” “ไม่ดุ” ส่วนอาจารย์นั้น หากถามผม ผมก็คงตอบว่าต้องเอานักวิชาการที่ดีที่สุดมาเป็นคณบดี จะได้เป็นตัวแทนคณะ ตัวแทนมหาวิทยาลัยได้อย่าง “ไม่อาย” ใครครับ! แต่สำหรับคนอื่นผมไม่ทราบครับว่าจะใช้เกณฑ์ใดเป็นเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งคณบดี ผมไม่เคยคิดที่จะเสนอตัวเป็นคณบดีมาก่อนและไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า ก็เลยไม่รู้จะไป “หาเสียง” ได้อย่างไรครับ ส่วนทีมงานนั้น ผมก็ไม่ได้คิดเอาไว้ล่วงหน้าเช่นกันเพราะตั้งใจว่าหากได้รับเลือกเป็นคณบดีแล้ว ก็จะไป “เรียนเชิญ” อาจารย์ที่มีความเหมาะสมให้มาช่วยกันบริหารคณะต่อไปครับ การอยู่เฉย ๆ ของผมในช่วงของการ “หาเสียง” ก็คงเป็น “อาการ” แปลก ๆ ที่ทำให้หลาย ๆ คนงงกับพฤติกรรมของผมครับ แต่อย่างไรก็ดี ผมก็มี “เป้า” พอสมควรนะครับ เพราะหากผม “ต้อง” เป็นคณบดีแล้ว ผมคงจะรับผิดชอบงานวิชาการให้ดีที่สุดและจะพยายามทำให้ผลงานวิชาการทุก ๆ ด้านของคณะไปสู่จุดหมายสูงสุดเท่าที่ผมตั้งเอาไว้ครับ ก็คงต้องดูกันต่อไปว่าผลของการสรรหาคณบดีคนใหม่ของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเป็นอย่างไรต่อไปครับ
       
       คงจำกันได้ว่า เราเคยลงข้อเขียนของศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ เกี่ยวกับข้อเสนอให้มีการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 ในสัปดาห์นี้ท่านอาจารย์อมรฯ ซึ่งกำลังขะมักเขม้นกับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อยู่ได้ส่งเอกสารเรื่อง “โครงการทางวิชาการเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ 2” มาให้กับเราเพื่อเผยแพร่ และพร้อมกันนี้เราก็ได้รวบรวมบทความที่เกี่ยวกับการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ 2 ของท่านอาจารย์อมรฯไว้ด้วยกันเป็นกรอบใหม่แล้ว ผู้สนใจลองเข้าไปดูได้ในกรอบด้านข้างบทบรรณาธิการนี้
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความของนางสาวปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์ นักศึกษาระดับปริญญาเอกด้านกฎหมายมหาชน ที่ในครั้งนี้ได้ส่งบทความเรื่อง “มาตรการก่อนการพิพากษาในกฎหมายปกครองฝรั่งเศส” มาให้กับเราครับ ก็ต้องขอขอบคุณไว้ด้วย ณ ที่นี้ด้วยครับที่ส่งบทความมาร่วมกับเราอย่างสม่ำเสมอ นอกจากบทความแล้วเราก็มีการแนะนำหนังสือใหม่อีกด้วยใน “หนังสือตำรา” ครับ
       
       บทบรรณาธิการสัปดาห์นี้เขียนขึ้นก่อนล่วงหน้า 1 สัปดาห์เพราะระหว่างช่วงวันหยุด 4 วันนี้ผมเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม 2548 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544