หน้าแรก นานาสาระจากนักเรียนไทยในต่างแดน
หลักกฎหมายปกครองทั่วไป : ทางออกในการอุดช่องว่างกฎหมายปกครองไทย โดย นางสาวปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
นางสาวปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
18 กันยายน 2548 22:45 น.
 
นักกกฎหมายไทยทุกคนคงจะต้องมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับชื่อของ มองเตสกิเออร์ นักคิดชาวฝรั่งเศส เจ้าของทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจ ซึ่งมักจะได้รับการยกขึ้นมา “โต้เถียง” อยู่เสมอในห้วงเวลาแห่ง “การจัดสรรอำนาจให้ลงตัว” อย่างเช่นกรณีของการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ หรือในกรณีที่มีการจัดตั้งองค์กรการใช้อำนาจใหม่ อย่างเช่น ในกรณีการโต้เถียงเรื่องการจัดตั้งศาลปกครองในระบบศาลคู่ หรือ ศาลเดี่ยว ดังที่ปรากฎอยู่ในประวัติการจัดตั้งศาลปกครองของไทยเองในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2538 การโต้เถียงที่ผ่านมามักจะเป็นการโต้เถียงในการค้นหาคำตอบว่า การแบ่งแยกและจัดสรรอำนาจในกรณีต่างๆนั้น ขัดหรือไม่กับทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจของมองเตสกิเออร์ ซึ่งแน่นอนอยู่ที่ว่า การได้มาซึ่ง “คำตอบ” ในของคำถามดังกล่าวนั้น จะต้องมีการ “วิเคราะห์” ย้อนไปถึงหลักการของทฤษฎีดังกล่าว และ “สังเคราะห์” สิ่งที่มองเตสกิเออร์ได้เคยคิด เคยเขียน และ วิจารณ์เอาไว้
       
        สำหรับในบทความนี้ ผู้เขียนก็จะขอยกทฤษฎีดังกล่าวขึ้นมาเป็นคำถามหลักในการเปิดประเด็นชวนคิดถึงสิ่งที่ผู้เขียนอยากจะเสนอให้วงการกฎหมายมหาชนของไทยได้รู้จักและนำมาใช้ให้เข้ากับบริบท “อย่างไทย” ในการ “ปรับ” หลักกฎหมาย หรือ “สร้าง” หลักกฎหมาย หรือ “ยืนยัน” หลักกฎหมาย เพื่อเป็นการอุดช่องว่างกฎหมายปกครองในส่วนที่กฎหมายปกครองของไทยยังไม่มีการบัญญัติเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หรือในกรณีที่เป็นการแก้ปัญหาในกรณีต่างๆที่กฎหมายที่บัญญัติไว้ไม่มีความชัดเจนเพียงพอ หรือรวมทั้งการตีความที่อาจจะทำให้เกิด “ผลประหลาด” ไม่เข้ากับบริบท “อย่างไทย” ตามที่ผู้เขียนกล่าวไว้แต่ข้างต้น
       
        คำถามหลักที่มีพื้นฐานมาจากทฤษฎีของมองเตสกิเออร์อันเป็นที่มาถึงบทความชิ้นนี้ นั้น คือคำถามที่จุดประเด็นความสงสัยว่า จริงหรือไม่ที่องค์กรผู้ใช้อำนาจนิติบัญญ้ติ ซึ่งมีความหมายถึง รัฐสภาอันประกอบไปด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร เป็นเพียงผู้เดียวที่มีอำนาจในการสร้างกฎหมายและตรากฎหมาย ดังเช่นที่เรามีความเข้าใจและความคุ้นเคยต่อ “อำนาจหน้าที่” ขององค์กรนิติบัญญัติดังกล่าว มาตลอดเวลาทีได้ทำความรู้จักกับทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจของมองเตสกิเออร์ หรือในแท้ที่จริงแล้ว ยังมีอำนาจอื่นในทฤษฎีเดียวกันซึ่งสามารถ “สร้าง” กฎหมายได้ด้วยอีกทางหนึ่ง
       
        หากคำตอบของคำถามดังกล่าวคือคำตอบในภาค “รับ” กล่าวคือ การยืนยันว่ามีเพียงอำนาจนิติบัญญัติเพียงหนึ่งเดียวในการสร้างกฎหมายนั้น คำถามดังกล่าวก็คงจะเป็นต้องสิ้นสุดไป เนื่องจากคงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาระบบการสร้างกฎหมายขององค์กรนิติบัญญัติซึ่งค่อนข้างมีความเสถียรแล้วในระบบการเมืองการปกครองในแบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศไทย แม้ว่าในการใช้อำนาจนิติบัญญัติดังกล่าวจะมี “ข้อสงสัย” อยู่บ้างในบางประการที่มีการ “เปลี่ยนมือ” ตามแต่ละยุคของรัฐบาลแต่ละสมัย หรือ ในการ “เปลี่ยนวิธี” การใช้จากกรณี “อำนาจอธิปไตยทางอ้อม” มาเป็น “อำนาจอธิปไตยทางตรง” ซึ่งหมายถึงการลงมติหรือทำประชาพิจารณ์
       
        แต่หากว่าคำตอบของคำถามดังกล่าวเป็นคำตอบใน “ภาคเสธ” กล่าวคือ ยืนยันว่าไม่เพียงแต่องค์กรนิติบัญญัติเท่านั้นที่มีอำนาจในการสร้างกฎหมาย แต่ยังมีองค์กรอื่นที่มีบทบาทในทฤษฎีเดียวกันที่สามารถสร้างกฎหมายได้ด้วย ดังนี้แล้ว คำตอบของคำถามดังกล่าวก็จะสามารถชวนคิดต่อเนื่องไปยังคำถามอื่นๆที่ตามมาอีกได้ อาทิเช่น กฎหมายที่ถูกสร้างขึ้นด้วยวิธีการดังกล่าวจะขัดกับระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร ซึ่งมีแบบแผนและรูปแบบเป็นประมวลกฎหมายหรือพระราชบัญญัติต่างๆ หรือไม่ หรือ กฎหมายที่ถูกสร้างขึ้นด้วยวิธีการดังกล่าวจะมีลำดับศักดิ์อย่างไรหากเทียบกับกฎหมายที่ได้รับการตราจากการมอบอำนาจของประชาชนเช่น พระราชบัญญัติ หรือ กฎหมายที่ได้รับการตราในรูปของพระราชกำหนด รวมไปถึง กฎเกณฑ์แห่งกฎหมายดังเช่นพระราชกฤษฎีกา
       
        คำตอบของคำถามดังกล่าว สามารถตอบได้ด้วย “เครื่องมือ” ของระบบกฎหมายปกครองฝรั่งเศสอันมีชื่อว่า les principes généreux du droit หรือ PGD ซึ่งได้มีผู้แปลเป็นภาษาไทยไว้ว่า “หลักกฎหมายปกครองทั่วไป” นั้น ด้วยความเคารพต่อผู้บัญญัติศัพท์ ผู้เขียนมีความเห็นโดยส่วนตัวว่า ถ้อยคำดังกล่าวออกจะเป็นคำศัพท์ที่ชวนให้เกิดความสงสัยและเข้าใจผิดอยู่บ้างในบางครั้ง ทั้งนี้เนื่องจาก เมือเรากล่าวถึง “หลักกฎหมายปกครองทั่วไป” ก็น่าจะมีคนอยู่จำนวนไม่น้อยนักที่จะคิดถึง หลักทั่วๆไปในกฎหมายปกครอง อาทิเช่น หลักความชอบด้วยกฎหมาย หลักการบริการสาธารณะ หลักการกระจายอำนาจ ฯลฯ ดังนี้เป็นต้น โดยความเห็นส่วนตัวอีกเช่นกัน ผู้เขียนจึงมีความคิดว่าในการบัญญัติศัพท์ของ les principes généreux du droit อันมีความหมายในทฤษฎีกฎหมายปกครองของฝรั่งเศสคือ การศึกษาอำนาจของตุลาการศาลปกครองในการสร้างหลัก/วางหลัก หรือ ยืนยันหลักกฎหมายปกครอง ในกรณีที่แม้จะไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร (texte) บัญญัติไว้ นั้น ควรจะเป็นการบัญญัติศัพท์โดยสลับรูปโครงสร้างศัพท์เดิม กล่าวคือ เป็นคำว่า “หลักทั่วไปทางกฎหมายปกครอง” มากกว่า เพราะสามารถบ่งชี้ได้ถึงการเป็น “ทั่วไป” ของ “หลัก” กฎหมาย “ปกครอง” อันมีลักษณะ “ทั่วไป” แม้ว่าจะอยู่ในหมวดหมู่ใดของทฤษฎีกฎหมายปกครองก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี ความคิดเห็นในส่วนนี้ของผู้เขียนก็ออกจะเป็นความคิดที่แหวกแนวและติดยึดกับการบัญญัติศัพท์มากเกินไป ผู้เขียนจึงของยืนยันในคำศัพท์เดิมที่ได้มีผู้แปล les principes généreux du droit หรือ PGD เป็นภาษาไทยโดยใช้คำว่า “หลักกฎหมายปกครองทั่วไป” ไปพลางก่อน ทั้งนี้เพราะผู้เขียนมีความประสงค์ในการเสนอแนวคิดในเรื่องดังกล่าวในบทความนี้ในเชิงสาระ มากกว่าจะมายึดติดกับการบัญญัติศัพท์ ซึ่งสามารถใช้คำอธิบายภายหลังอธิบายความเป็นมาหรือความหมายที่ต้องการจะสื่อได้ อย่างไรก็ดี ในประเด็นนี้ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า ในบางครั้งโครงสร้างของภาษาต่างประเทศ คือการมีคำเอกพจน์ พหูพจน์ที่ชัดเจน รวมทั้งการมีตัวย่อที่ใช้ตัวอักษรพิมพ์ใหญ์ ( A, B, C) ก็ทำให้เกิดประโยชน์ในระบบโครงสร้างการบัญญัติศัพท์อยู่มากพอสมควร
       
        ในพจนานุกรมศัพท์กฎหมายของฝรั่งเศสได้ให้นิยาม les principes généreux du droit เอาไว้ว่าเป็น หลัก (principe) ซึ่งมีที่มาจากกฎหมายที่ไม่ได้เป็นลายลักษณ์อักษรของกฎหมายปกครอง โดยหลักดังกล่าวเป็นหลักที่แสดงออกโดยกฎเกณฑ์ต่างๆที่มีสภาพบังคับสำหรับฝ่ายปกครอง และการยืนยัน les principes généreux du droit นั้นทำได้ไดยการใช้อำนาจการสร้างหลักกฎหมายของตุลาการ หรือที่เรียกกันว่าอำนาจ prétorienne ซึ่งมีความหมายถึง อำนาจอิสระของตุลาการในการวางหลักกฎหมายมีปัญหาในกรณีที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ นอกจากนั้น หน้าที่ในการเคารพหลักดังกล่าวจึงเป็นหน้าที่ที่องค์กรฝ่ายปกครองต่างๆจะต้องปฎิบัติตาม อย่างไรก็ดี เราสามารถพบหลักกฎหมายทั่วไปในระบบกฎหมายอาญา ซึ่งในกรณีนี่กฎหมายฝรั่งเศสถือกันว่า หลักกฎหมายทั่วไปในกฎหมายอาญา สามารถหาได้จากคำวินิจฉัยของศาล รวมไปถึงคำวินิจฉัยของสภารัฐธรรมนูญ (le conseil constitutionnel) ตัวอย่างเช่น สิทธิในการต่อสู้คือ หรือ le droit de la défense เป็นต้น สำหรับในกฎหมายระหว่างประเทศเอง เราจะพบหลักดังกล่าวได้ในบริบททั่วไปที่นานานประเทศยอมรับและใช้กันโดยทั่วไป ตัวอย่างเช่น การยอมรับสิทธิในการฟ้องคดี การชดใช้ค่าเสียหายในกรณีที่มีความเสียหายจากการกระทำของรัฐ เป็นต้น นอกจากนี้ หลักกฎหมายทั่วไปยังมีบทบาทสำคัญในกฎหมายแพ่ง และอาจจะพบได้มากในวิธิพิจารณาของกฎหมายแพ่งอีกด้วย
       
        ในประเด็นของเรื่องคุณค่าทางกฎหมาย นักกฎหมายได้เห็นพ้องต้องกันว่า หลักกฎหมายปกครองทั่วไปเป็นกฎเกณฑ์ทางกฎหมาย (normes jurisprudentielles) ที่มีสภาพบังคับ แต่อย่างไรก็ดีแม้ว่าข้อเถียงในเรื่องของดังกล่าวนี้จะเป็นที่ยุติก็ตาม แต่นักกฎหมายฝรั่งเศสเองก็ได้ถกเถียงกันมาช้านานถึงประเด็นของลำดับศักดิ์ของหลักกฎหมายปกครองทั่วไป กล่าววคือ ในบางกรณีเป็นที่เห็นได้ชัดว่า หลักกฎหมายปกครองทั่วไปที่ศาลนำมาอ้าง นั้น เป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่อ้างหรือมีการสกัดมาจากกฎหมาย (ซึ่งมีที่มาจากอำนาจนิติบัญญัติ) ซึ่งไม่ก่อให้เกิดปัญหาอะไรเนื่องจาก ถือว่า เป็นหลักจากกฎหมายในระบบกฎหมาย อันส่งผลให้ได้ว่า “ฐานะ” หลักกฎหมายทั่วไปในกรณีนี้จะมีเท่ต่ำกว่ากฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญ้ติ อันส่งผลให้อำนาจความศักดิ์สิทธิ์ของฝ่ายนิติบัญญัติในการออกกฎหมายยังมีอยู่
       
       แต่หลักกกฎหมายปกครองทั่วจะไปจะมีปัญหาเสมอ หากเป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่มีที่มามาจาก
       กฎเกณฑ์ทางรัฐธรรมนูญ (règles constitutionnelles) ทั้งนี้เนื่องจากเป็นการ สกัด หรือ อ้าง หรือ ยืนยันหลักกฎหมายที่มาจากสิ่งทฤษฎีปิรามิดของ ฮันส์ เคลเซน ถือว่าเป็นสิ่งที่อยู่เหนือความเป็นกฎทั้งปวง ซึ่งก็คือ รัฐธรรมนูญ ผลจากการที่ที่มาของหลักกฎหมายทั่วไปมาจากกฎเกณฑ์ทางรัฐธรรมนูญ จึงส่งผลให้เกิดแนวคิดว่า หลักกฎหมายทั่วไปดังกล่าวจะมีค่าสูงกว่ากฎหมายจากฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวจะเป็นที่โต้เถียงกันถึงอำนาจล้นเหลือในการวางหลักกฎหมายขององค์กรศาล อย่างไรก็ดี ปัจจุบันแม้ว่าในกรณีการโต้เถียงในเรื่อง “ฐานะ” ของหลักกฎหมายปกครองทั่วไปของฝรั่งเศสจะค่อนข้างเสถียรแล้วจากการยืนยัน “ฐานะ” ของหลักกฎหมายทั่วไปในงานเขียนของศาสตราจารย์ René Chapus กล่าวคือ ถือว่าฐานะของหลักกฎหมายทั่วไปนั้นต่ำกว่ากฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ แต่มีค่าสูงกว่ากฎเกณฑ์ทางกฎหมายของฝ่ายบริหาร (infralégislative et suprarèglementaire) แต่ในบางกรณีหากพบว่าหลักกฎหมายทั่วไปที่ศาลหยิบยกมาอ้างเป็นหลักที่ถูกอ้างไปแล้วว่าเป็นหลักที่มีค่าเทียบเท่ารัฐธรรมนูญ (les principes de valeur constitutionnelle) หรือ มีที่มามาจากหลักทางรัฐธรรมนูญ งานเขียนของศาสตราจารย์ René Chapus ก็จะถูกนำมาโต้แย้งเสมอ
       
        จึงเป็นที่ยอมรับกันว่ากฎหมายปกครองฝรั่งเศสเองนั้น มีสองส่วน กล่าวคือ ส่วนที่มาจากการตรากฎหมาย และ ส่วนที่มาจากการสร้างกฎหมายโดยการวางหลักของตุลาการ ดังนั้น เราจึงถือได้ว่า กฎหมายปกครองฝรั่งเศสสมัยใหม่เป็นกฎหมายที่เปิดกว้างให้ตุลาการมีบทบาทที่ในการวางหลักกฎหมาย ( une manière prétorienne)มากกว่าที่จะไปรอการบัญญัติกฎหมายเช่นในระบบกฎหมายปกครองแบบเดิม ซึ่งชักช้าและอาจจะไม่สามารถตอบคำถามได้สอดคล้องกับปัจจัยในทางสังคม ทั้งนี้ การพัฒนาของหลักกกฎหมายปกครองทั่วไปฝรั่งเศสเองมีความเป็นมามาช้านาน และ มีบริบทที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มหรือลดทอนอำนาจฝ่ายบริหารในกรณีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญในแต่ละครั้ง รวมทั้งการออกกฎหมายลูกมาเพื่อเพิ่มอำนาจหรือทอนอำนาจฝ่ายบริหาร ซึ่งผู้เขียนไม่ขอกล่าวไว้ ณ ที่นี้ เพราะเกรงว่าจะเป็นเล่าถึงประวัติศาสตร์การเมืองฝรั่งเศส อันเป็นประเด็นที่ไกลออกไปจากที่มีความตั้งใจในการเขียนเดิม
       
        หลักกฎหมายปกครองทั่วไปจึงเป็นหลักฐานในการยืนยันถึงอำนาจในการวางกฎของคำวินิจฉัย (le pouvoir normatif de la jurisprudence) อันมีผลมาจากความพยายามในการสร้างสมดุลย์ระหว่างความหลากหลายของ “ที่มา” ของกฎหมายปกครองฝรั่งเศส และเป็นสิ่งที่สามารถตอบคำถามได้เสมอหากพบว่ากรณีดังกล่าวไม่มีกฎหมายใดบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และเป็นการยืนยันบทบาทของตุลาการศาลปกครองฝรั่งเศสในเรื่องของการใช้ หลักกฎหมายปกครองทั่วไป หรือ PGDเป็น ”เทคนิค” ในการตัดสินคดีมีขึ้นเนื่องจากการพยายามชั่งน้ำหนักให้สมดุลย์กันระหว่างการคุ้มครองเสรีภาพของประชาชนและการประกันความยุติธรรมของข้อขัดแย้งระหว่างประชาชนและองค์กรฝ่ายปกครอง
       
        ในทางเดียวกันการหยิบยกเอาทฤษฎีเรื่องหลักกฎหมายปกครองทั่วไป ดังกล่าวมาใช้ในระบบกฎหมายปกครองไทย จึงเป็นสิ่งที่ควรนำมาพิเคราะห์ ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นที่ยอมรับกันถึงความ “อ่อนเยาว์” ในระบบศาลปกครอง เราอาจกล่าวได้ว่าระบบกฎหมายปกครองฝรั่งเศสเป็นระบบที่ค่อนข้างมีความเสถียรเพราะมาจากการพัฒนามาช้านานและมาจากแนวคิดที่แน่ชัดในการแบ่งแยกอำนาจมหาชนกับอำนาจเอกชน ซึ่งประเด็นดังกล่าวเพิ่งมาพัฒนาในประเทศไทย และมองเห็นอย่างเป็นรูปธรรมเมือมีการจัดตั้งองค์กรทางศาลอีกองค์กรหนึ่งซึ่งก็คือ ศาลปกครอง ดังนั้นจึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าการค้นหาหลักกฎหมายปกครองทั่วไปในระบบกฎหมายไทยจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แม้ว่าเราอาจจะเชื่อกันได้ว่าหลักกฎหมายทั่วไป ไม่ว่าจะอยู่ในระบบกฎหมายใด เช่น แพ่ง อาญา ก็ยังมีความเป็น “ทั่วไป” ก็ตาม ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้สามารถแก้ปัญหาในข้อถกเถียงของหลักกฎหมายปกครองทั่วไปได้ว่า จะนำหลักดังกล่าวมาจากไหน ซึ่งคำตอบในกรณีก็คือการ “หา” หลักดังกล่าวอันซ่อนตัวอยู่ในระบบกฎหมายแพ่งและอาญาที่มีอายุมาช้านานและค่อนข้างเสถียรในระบบกฎหมายไทย และจึงนำมา “สกัด” อีกครั้งหนึ่งโดยเทียบเคียงกับการ “เฉพาะตัว” ของระบบกฎหมายปกครองไทยอันมีผลพวงมาจากการรับแนวคิดของต่างประเทศค่อนข้างมาก และในประเด็นนี้ โดยความเห็นส่วนตัว ผู้เขียนไม่เห็นว่าจะเป็นการก้าวข้ามผ่านประเด็นความอิสระของอำนาจศาลแต่อย่างใด อีกทั้งยังมิใช่เป็นเรื่องน่าขายหน้าหากตุลาการศาลปกครองต้องไปค้นคว้าหลักกฎหมายทั่วไปจากคำพิพากษาศาลฎีกา ในทางกลับกัน กรณีดังกล่าวมิใช่เป็นการยืนยันชัยชนะของฝ่ายศาลยุติธรรมซึ่งเคยมีการโต้เถียงกันเสมอว่า มีความจำเป็นแต่ไหนเพียงใดในการจัดตั้งศาลปกครอง เพราะประเทศไทยมีระบบศาลยุติธรรมที่อาจจะตอบปัญหาได้ทุกอย่างแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากในท้ายสุด ตุลาการศาลปกครองก็ยังต้องไปค้นคว้าแนวคำพิพากษาฎีกาในที่สุด
       
        ทั้งนี้ เพราะผู้เขียนมีความคิดเสมอว่า อำนาจยุติธรรมในทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจของมองเตสกิเออร์สามารถนำมาปรับใช้ได้ดีที่สุดกับทฤษฎีศาลคู่ เนื่องด้วยเพราะเหตุผลง่ายๆในเรื่องความเท่าเทียมกันหรือไม่เท่าเทียมกันของคู่กรณี และยังหมายความรวมถึงความเชี่ยวชาญของผู้ตัดสินคดีดังกล่าว และหาก “หลักกฎหมายทั่วไป” สามารถตอบคำถามในการอุดช่องว่างของกฎหมายแพ่งได้ตามมาตราสี่แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทบแล้ว เหตุไฉน “หลักกฎหมายปกครองทั่วไป” จึงจะไม่สามารถอุดช่องว่างของหลักกฎหมายปกครองไทยได้
       
        ตุลาการศาลปกครองจึงน่าจะเป็น “ที่มา” ที่สำคัญอีกทางหนึ่งในการวางหลักกฎหมายปกครอง นอกเหนือไปจากการอ้างกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่มีอยู่ ดังเช่น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และ/หรือ พระราชบัญญัติอื่นๆ เพราะโดยความเห็นส่วนตัวผู้เขียนมีเชื่อเสมอว่าบุคคลผู้ใช้กฎหมายเป็นแหล่งที่มาของกฎหมายที่มีชีวิตและมีความทันสมัยที่สุดในระบกฎหมาย อันสามารถจัดการและจัดสรร ตลอดจนถึงการวางแนวของระบบกฎหมายในอนาคต ผู้เขียนจึงหวังที่จะได้พบบทบาทดังกล่าวของตุลกาการศาลปกครองไทยในการนำทฤษฎีในเรื่องหลักกฎหมายปกครองทั่วไปดังกล่าวมาเป็นพลังผลักดันและขับเคลื่อนระบบกฎหมายที่มีอยู่ให้เป็นไปได้ในทางที่ตนต้องการในอนาคต
       
       
       หมายเหตุ บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึงของงานที่แปลจากบทนำ หรือ l’introduction ของสาระนิพนธ์ หรือ mémoire อันเป็นงานบังคับตามหลักสูตร Master 2 : Protection de droits fondamentaux en Europe ของผู้เขียน ผู้เขียนจึงขออนุญาตไม่อ้างเอกสารอ้างอิง หรือ บรรณานุกรมเอาไว้ในบทความชิ้นนี้ เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นลำดับเอกสารเดียวกันกับที่ได้อ้างไปแล้วในตัวเล่มสาระนิพนธ์ อันมีความยาวมากพอสมควร ดังนั้น หากผู้อ่านท่านใดมีความสนใจในบทความนี้และต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม ก็สามารถเเจ้งความประสงค์ของท่านได้โดยการส่ง e-mail ผ่านทางเวบมาสเตอร์ของ www.pub-law.net ผู้เขียนจะดำเนินการจัดส่งให้เป็นรายบุคคลไป


 
 
๓๐ ปีกฎหมายการทำแท้งเสรีในฝรั่งเศส โดย อ. ปิยบุตร แสงกนกกุล
บทวิเคราะห์ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ โดย อาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล
การทับซ้อนของเขตอำนาจศาลปกครองและศาลยุติธรรมฝรั่งเศส : ศึกษากรณีบริการสาธารณะ โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
การอยู่ร่วมกันของบุคคลในความสัมพันธ์ในด้านครอบครัวตามกฎหมายฝรั่งเศส โดย นางสาวปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
ตุลาการศาลปกครองกับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม(ตามหลัก équité) โดยคุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
   
 
 
 
สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมของผู้มีรสนิยมร่วมเพศในมุมมองกฎหมายฝรั่งเศสและกฎหมายสิทธิมนุษยชนยุโรป โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
การทับซ้อนของเขตอำนาจศาลปกครองและศาลยุติธรรมฝรั่งเศส : ศึกษากรณีบริการสาธารณะ โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
ศาลรัฐธรรมนูญและคดีรัฐธรรมนูญโปรตุเกส โดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
คำแปลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐโปรตุเกส (เฉพาะมาตราที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญ) โดยอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
ความรับผิดชอบทางอาญาของประธานาธิบดีฝรั่งเศส โดยนางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม
สหภาพยุโรปและการเลือกปฏิบัติ : กรณีการรับสมัครคนสูบบุหรี่เข้าทำงาน โดย คุณพิมพ์ดาว จันทรขันตี
การมีส่วนร่วมของประชาชนในฝรั่งเศส : การอภิปรายสาธารณะ (Le débat public) โดย คุณวรรณภา ติระสังขะ
ตุลาการศาลปกครองกับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม(ตามหลัก équité) โดยคุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
La France : Le pays où la rue joue le rôle important (เสียงเรียกร้องจากท้องถนน) โดยนางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม
“หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” อาวุธทรงพลังในหมู่ “ลูกแกะ” โดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544