หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 117
18 กันยายน 2548 22:47 น.
"ปัญหาการใช้รถยนต์และการประหยัดพลังงาน"
       เพราะว่ามีฝนตกทุกวันในสัปดาห์ที่ผ่านมาก็เลยทำให้รถที่ติดอยู่แล้วติดมากขึ้นไปอีก ดู ๆ แล้วก็สงสารทั้งคนที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับรถติดอยู่บนถนน แล้วก็สงสารรัฐบาลด้วยที่รณรงค์ให้คนไทยช่วยกันประหยัดพลังงาน แต่ก็มาเสียท่าอย่างมากก็เพราะฝนตกรถติดนี่แหละครับ
       พูดถึงเรื่องการรณรงค์ให้มีการประหยัดพลังงาน ในวันนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่พอสมควรของ “โลก” เลยทีเดียวก็ว่าได้ พลังงานที่เป็นเป้าหมายสำคัญให้ต้องออกมารณรงค์ให้ประหยัดกันก็คือ “น้ำมัน" นั่นเอง เหตุผลก็คงมีหลายอย่างแต่ที่สำคัญก็คือ ตลาดโลกมีความต้องการใช้น้ำมันสูง ในขณะที่น้ำมันนั้นไม่ใช่เป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถผลิตได้เองและก็ยังมีจำนวนจำกัดอีกด้วย ดังนั้น มนุษย์จึงวิตกกันว่าในวันข้างหน้าอันใกล้ หากน้ำมัน “หมด” ไปจากโลกจะทำอย่างไร เพราะทุกวันนี้หลาย ๆ อย่างอยู่ได้ด้วยน้ำมัน เช่น การผลิตไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟ รวมไปถึงรถยนต์จำนวนมหาศาลบนโลกมนุษย์ที่ขับเคลื่อนไปได้ด้วยน้ำมัน เป็นต้น ด้วยเหตุดังกล่าวประเทศจำนวนมากจึงพยายามหาทางทำให้มีการประหยัดการใช้น้ำมันและหาพลังงานอื่นมาทดแทนน้ำมัน
       ประเทศไทยเราก็เป็นประเทศหนึ่งที่ใช้น้ำมันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับรถยนต์ทั้งรถยนต์ส่วนตัวและรถที่ใช้ในระบบขนส่งมวลชน ที่ผ่านมาเราก็มีการรณรงค์ให้ประหยัดพลังงาน ผมมีโอกาสได้ฟังนายกรัฐมนตรีพูดในรายการนายกทักษิณฯ คุยกับประชาชนเมื่อวันเสาร์ที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา ทำให้ทราบว่าหน่วยงานของรัฐบางแห่งสามารถรณรงค์ให้คนในหน่วยงานของตนประหยัดพลังงานโดยลดการใช้พลังงานลงไปได้กว่า 20% และก็มีบางจังหวัดที่การใช้พลังงานลดลงไปได้กว่า 30% ก็เป็นที่น่ายินดีนะครับที่เราสามารถทำอะไรที่ดีที่เป็นการช่วยชาติได้ครับ
       การประหยัดพลังงานโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “น้ำมัน” คงไม่สามารถบรรลุผลได้หากเราไม่แก้ปัญหาอย่างตรงจุด ทุกวันนี้รถยนต์มีจำนวนมากขึ้นในขณะที่อัตราการเพิ่มของถนนมีจำนวนลดลงเนื่องจากมีปัญหาอุปสรรคหลายประการ เมื่อมีรถยนต์มากขึ้นและมีถนนเท่าเดิมรถก็ต้องติดเป็นธรรมดาครับ ฉะนั้น การประหยัดน้ำมัน หากจะทำได้ก็คงต้องมุ่งไปใน 2 ทางด้วยกันคือ มุ่งไปที่รถยนต์ส่วนตัว และมุ่งไปที่ระบบขนส่งมวลชนครับ
       ในส่วนที่เกี่ยวกับรถยนต์ส่วนตัวนั้น เป็นเรื่องยากที่จะอธิบายครับ ผมเติบโตมาในครอบครัวที่ใช้รถยนต์ขนาดเล็ก เพราะฉะนั้นผมก็ใช้แต่รถยนต์ขนาดเล็กมาตั้งแต่เริ่มขับรถยนต์คันแรกจนถึงทุกวันนี้ การใช้รถยนต์ขนาดเล็กของผมบ่อยครั้งที่กลายเป็นหัวข้อให้เพื่อน ๆ “เศรษฐี” ทั้งหลายได้วิพากษ์วิจารณ์กันว่าไม่สมฐานะหรือไม่ก็ว่าอันตราย ออกต่างจังหวัดอาจถูกสิบล้อดูดเข้าไปใต้ท้องรถก็ได้ เป็นต้น แต่ผมก็รู้สึกเฉย ๆ เพราะโดยปกติเป็นคนที่สนุกกับการขับรถยนต์ด้วยตัวเองอยู่แล้ว จึงไม่เคยคิดที่จะซื้อรถขนาดใหญ่ด้วยเหตุผลหลายประการรวมทั้งขับไม่สนุกด้วยครับ! ที่เล่าให้ฟังคงไม่ใช่อยากพูดเรื่องตัวเองนะครับแต่อยากจะบอกว่าสังคมเรายังเป็นสังคมวัตถุนิยมอยู่ บางคนนั้นมีรถคันโต ๆ อยู่หลายคันแต่บ้านเล็ก ๆ ไม่มีที่จอดรถก็ต้องเอาออกมาจอดเกะกะไว้ข้างทาง หรือไม่ก็เอามาจอดไว้ที่ทำงานสร้างความรำคาญให้กับผู้ใช้ถนนหรือเพื่อนร่วมงาน!!! รถคันโต ๆ เหล่านั้นหากเป็นรถใหม่ก็กินน้ำมันมาก แล้วยิ่งบรรดาพวกที่ชอบใช้รถเก่า ๆ คันโต ๆ แต่ไม่บำรุงรักษาก็จะกินน้ำมันมากขึ้นไปอีกครับ รสนิยมการใช้รถยนต์คันโต ๆ คงไม่จำกัดอยู่เฉพาะประชาชนเช่นเรา ๆ เท่านั้น ลองดูว่าคณะรัฐมนตรีของเรานั้นใช้รถอะไรกันบ้างโดยขอให้ดู ขนาดของเครื่องยนต์ของรถยนต์ประกอบด้วยนะครับ!!! หากเราจะรณรงค์ประหยัดน้ำมันกันจริง ๆ คณะรัฐมนตรีก็น่าจะลองทำเป็นตัวอย่างด้วยการหันมาใช้รถที่มีเครื่องยนต์ขนาดเล็กไม่เกิน 1600 ซีซี กันบ้าง รับรองจะ “ช่วยชาติ” ประหยัดน้ำมันไปได้อีกเยอะเลยครับ นอกจากนี้แล้วยังมีมาตรการอีกหลายอย่างที่รัฐบาลสามารถทำได้เพื่อสนับสนุนการประหยัดน้ำมัน เช่น มาตรการลดภาษีให้กับรถยนต์ขนาดเล็กที่ต่ำกว่า 1600 ซีซี และในขณะเดียวกันก็เพิ่มภาษีสำหรับรถที่มีขนาดความจุของเครื่องยนต์สูง เป็นต้น หรือไม่ก็ลองดูมาตรการอื่น ๆ ผมได้ยินมา 3 ปีเศษแล้วว่าประเทศไทยเราจะผลิตรถยนต์ขนาดเล็กของเราเองที่เรียกกันว่า ECOCAR โดยให้มีเครื่องยนต์ขนาดความจุต่ำ เรื่องนี้พูดกันมานานแล้วแต่ไม่เห็นไปถึงไหน ใครที่ติดตามข่าวแฟรงค์เฟิร์ตมอเตอร์โชว์ที่กำลังจัดอยู่ในขณะนี้จะทราบว่าในปีนี้ค่ายรถยนต์ขนาดใหญ่ต่างก็นำรถประเภท Hybrid (คือใช้น้ำมันบางส่วนและรถดังกล่าวสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้เองได้บางส่วน) มาโชว์ทั้งค่ายผลิตรถยนต์ของยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น รถยนต์ประเภทนี้น่าสนใจมากครับเพราะจะช่วยประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ดีกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาตอนที่ผมไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัย Nantes ประเทศฝรั่งเศส มีเพื่อนอาจารย์คนหนึ่งเพิ่งซื้อรถญี่ปุ่นที่เป็นรถประเภท Hybrid นี้มา ผมคุยกับเขาก็เลยทราบข้อมูลว่าปกติเนื่องจากฝรั่งเศสผลิตรถยนต์ได้เองบรรดารถญี่ปุ่นหรือรถอเมริกันที่เข้ามาขายในฝรั่งเศสก็จะมีราคาแพงเพราะเขาเก็บภาษีสูง แต่ปัจจุบันฝรั่งเศสลดภาษีให้กับรถ Hybrid โดยเก็บถูกมากเพราะรถยนต์ประเภทนี้ประหยัดน้ำมันกว่ารถปกติมากแล้วก็ไม่ก่อให้เกิดมลพิษมากด้วย ผมว่ารถ Hybrid น่าจะเป็น “ทางเลือก” ใหม่ที่น่าสนใจนะครับ หากเราสามารถ “ผลิต” ได้ ก็คงจะดีไม่น้อยเลยทีเดียว
       ในส่วนที่เกี่ยวกับระบบขนส่งมวลชนนั้น มีเรื่องให้พูดเยอะมากเพราะเราคงเห็นกันอยู่แล้วว่าอะไรเป็นอะไรครับ! ทุกวันนี้เอาเฉพาะในกรุงเทพมหานครจะพบว่ามีรถเมล์อยู่ “หลายสี” แม้จะมีสีหลายสีและแบ่งเป็นรถเมล์หลายประเภท แต่ก็มีอยู่ 2-3 สิ่งที่รถเมล์ต่างสีต่างประเภทมีเหมือน ๆ กันนั่นคือ คนขับ (ส่วนใหญ่) ที่ไม่มีวินัย และสภาพรถ (ส่วนใหญ่) ที่พ้นสภาพไปแล้วครับ ใครไม่เชื่อลองมาดูหน้าศูนย์การค้ามาบุญครองตอน 2 ทุ่มจะเห็นว่ารถติดยาวมาก ๆ บางครั้งยาวมาจนถึงหน้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่พอพ้นศูนย์การค้าไปแล้วถนนโล่ง ใช่ครับ! บรรดารถเมล์คันโต ๆ ทั้งหลายวิ่งเรียงหน้ากระดาน (โดยไม่ทราบว่าตนเองต้องวิ่งชิดซ้ายและวิ่งเฉพาะช่องซ้าย) จอดรับผู้โดยสารกลางถนนทำให้รถอื่นๆ ไม่สามารถผ่านไปได้ รถก็เลยติดเป็นธรรมดาครับ! นอกจากนี้แล้ว บรรดาเพื่อนร่วมชาติของเราที่เข้ามาประกอบอาชีพในกรุงเทพมหานครด้วยการขับรถโดยสารสาธารณะทั้งรถแท็กซี่และรถสามล้อก็เป็นเหตุที่ทำให้รถติด จอดได้ทุกที่ที่มีผู้โดยสารเรียก ไม่เคารพกฎจราจร แซงและเปิดเลนใหม่โดยไม่เคารพสิทธิของผู้ใช้ถนนอีกด้านหนึ่ง ถัดจากรถโดยสารสาธารณะก็เป็นรถตู้เล็ก ๆ แบบใหม่ที่เราเพิ่ง “อนุญาต” ให้แปลงรถเก่ามาก ๆ เหล่านั้นให้เป็นรถโดยสารประจำทางขนาดเล็กที่วิ่งกันขวักไขว่ทั่วเมือง แถมเรายังมีมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่วิ่งเต็มเมืองอีกด้วย รถเหล่านี้เมื่อวิ่งก็วิ่งโดยดูตัวเองเป็นหลัก ไม่สนใจคนอื่น เมื่อจอดก็ยึดถนนหลวงหรือปากซอยเป็นเสมือนที่ดินส่วนตัวโดยไม่สนใจว่าจะสร้างปัญหาให้กับการจราจรหรือไม่ ก็อย่างที่ผมบอกในตอนต้นนะครับว่า ระบบขนส่งมวลชนนั้นมีเรื่องให้พูดเยอะมาก แต่ก็คงจะไม่สามารถพูดให้หมดได้ในเวลานี้ครับ
       ผมคิดว่า เราควรต้องทำหลาย ๆ อย่างกับระบบขนส่งมวลชนของเราให้ดีเพื่อที่ผู้คนจะได้หันมาใช้กันมากขึ้น สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือคงต้องจัดระบบขนส่งมวลชนใหม่ให้ “ดี” และ “เคารพ” สิทธิของผู้ใช้รถใช้ถนน รวมไปถึงการมี “วินัย” อย่างเคร่งครัดด้วยครับ จริง ๆ แล้วผมเห็นว่าเราน่าจะหาทางออกได้ ลอง “แปรรูป” ขสมก.ดูดีกว่าครับ! ทุกวันนี้เท่าที่ผมทราบ การแปรรูป ขสมก.ไม่สามารถทำได้เพราะ ขสมก.มีหนี้ค้างชำระอยู่เป็นจำนวนมาก คนที่จะเข้ามา “ซื้อ” ขสมก.คงได้รถเก่า ๆ คนขับแย่ ๆ และหนี้มหาศาลไปด้วยก็เลยทำให้การแปรรูป ขสมก.เป็นไปได้ยากครับ เราน่าจะลองทบทวนดูใหม่นะครับ เราเสียเงินค่าชดเชยกองทุนน้ำมันไปมากมาย เราเสีย “ค่าโง่” ต่าง ๆ ที่เกิดจากสัมปทานหลาย ๆ แห่ง ยอมเสียอีกครั้งหนึ่งด้วยการ “ยกหนี้” ขสมก.เสีย (รัฐรับภาระส่วนนี้) แล้วให้สัมปทานเอกชนไปทำโดยขอให้มุ่งเน้นคุณภาพและราคาที่ถูกที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขอให้ผู้รับสัมปทานหารถใหม่ สะอาด ประหยัดน้ำมัน รักษาสิ่งแวดล้อม (ไม่มีควันดำเหมือนที่เราต้องเจออยู่ทุกวันนี้!) คนขับมีวินัย เคารพกฎจราจร เคารพสิทธิของผู้ใช้ถนน อยากจะเรียกว่าเป็น “รถเมล์ในฝัน” ครับ พร้อม ๆ กันก็แก้ปัญหารถเมล์หลายสีหลายประเภท รวมทั้งรถตู้ด้วย โดยให้เหลือเพียงประเภทเดียวและมีจำนวนที่เพียงพอ ไปได้ทั่วถึง แค่นี้ก็น่าจะแก้ปัญหาจราจรไปได้มากแล้วครับ เพราะรถเมล์สะอาด ดี คนขับดี ใคร ๆ ก็คงอยากนั่งครับ ส่วนรถโดยสารสาธารณะก็คงต้องจัดระบบใหม่แล้วก็ต้องให้ผู้รักษากฎหมายช่วยกันรักษากฎหมายให้มากขึ้นด้วยครับ หากทำได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทุกกรณีคือ บังคับให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เราน่าจะแก้ปัญหารถติดได้ส่วนหนึ่งซึ่งก็ส่งผลให้เกิดการประหยัดพลังงานได้เพิ่มขึ้นอีกครับ
       
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความที่น่าสนใจมานำเสนอคือ บทความเรื่อง “หลักกฎหมายปกครอง : ทางออกในการอุดช่องว่างกฎหมายปกครองไทย” ของคุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์ ข้าราชการสำนักงานศาลปกครองซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านกฎหมายมหาชนอยู่ที่มหาวิทยาลัย Auverge ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเจ้าตัวบอกมาด้วยว่าคงต้องมี “ภาคสอง” ตามมา ผมขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วยที่ผู้เขียนได้สละเวลาในการค้นคว้าและทำวิทยานิพนธ์มาเขียนบทความที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาองค์ความรู้ด้านกฎหมายมหาชนในประเทศไทยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม 2548 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544