หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 140
6 สิงหาคม 2549 21:13 น.
ครั้งที่ 140
       สำหรับวันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 20 สิงหาคม 2549
       
       “วาระต่อไป...ยุบพรรค”
       
       เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาจำคุกประธานกรรมการการเลือกตั้งและกรรมการการเลือกตั้งอีก 2 คน คนละ 4 ปี พร้อมเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคนละ 10 ปี
       เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุการณ์สำคัญอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ตามมาภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 9/2549 ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ที่ผ่านมาเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งต่อมาศาลปกครองกลางก็ได้มีคำพิพากษาที่ 607-608/2549 ให้เพิกถอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 2 เมษายน 2549 ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อในทุกเขตเลือกตั้ง รวมทั้งการกระทำต่อมาภายหลังอันเป็นผลสืบเนื่องจากการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 เมษายน 2549 ด้วย
       เมื่อได้ทราบคำพิพากษาศาลอาญา หลาย ๆ คนก็คงรู้สึก “สะใจ” กับความ “ดื้อ” ของกรรมการการเลือกตั้งทั้ง 3 คนที่ “เมินเฉย” กับเสียงเรียกร้องให้แสดงความ “รับผิดชอบ” ต่อการที่ทั้งศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองต่างก็ได้ “ตัดสิน” ให้เพิกถอนการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 ซึ่งเมื่อพิจารณาจากเหตุผลที่อยู่ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหรือในคำพิพากษาศาลปกครองกลางแล้วก็จะเห็นได้ชัดว่า ส่วนหนึ่งของ “ข้อบกพร่อง” ของการเลือกตั้งในครั้งนั้นเกิดขึ้นมาจากการดำเนินงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็เป็นเรื่อง “ธรรมดา” ครับที่ในเมื่อผู้ที่ต้องรับผิดชอบแล้วไม่ยอมแสดงความรับผิดชอบออกมาเองก็ย่อมต้องถูก “บังคับ” ให้แสดงความรับผิดชอบครับ!
       วิบากกรรมที่เกิดขึ้นกับกรรมการการเลือกตั้งทั้ง 3 คนในครั้งนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนควรนำกลับไปคิด ภาพของอดีตข้าราชการระดับสูงของประเทศต้องเดินเข้าห้องขังและต้องอยู่ในนั้นหลายวันน่าจะให้ข้อคิดอะไรบางอย่างกับเราได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ “ความไม่แน่นอน” ของ “สถานะ” และ “อำนาจ” ครับ คดีดังกล่าวคงยังไม่จบลงแค่นี้ คงต้องดูกันต่อไปว่า ศาลอุทธรณ์จะว่าอย่างไรกับคำพิพากษาของศาลอาญาคำพิพากษานี้ครับ
       การ “ลงโทษ” บุคคลที่ดำรงตำแหน่งสูงในองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในช่วงเวลาสองสามปีที่ผ่านมา เราได้พบเห็น “การตรวจสอบการใช้อำนาจ” ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญกันมาบ้างแล้ว เริ่มตั้งแต่การที่กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทั้ง 9 คนถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินให้จำคุกในกรณีขึ้นเงินเดือนตัวเอง ซึ่งในเรื่องดังกล่าวนั้น กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทั้ง 9 คนยังโชคดีที่ศาลปรานีให้รอการลงโทษเอาไว้ก่อน หรือในกรณีที่ศาลอาญาได้พิพากษาจำคุกอดีตประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินไปเมื่อไม่นานมานี้ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และล่าสุดในวันนี้ก็ถึงคราวของกรรมการการเลือกตั้งทั้ง 3 คนครับ
       ในวันที่ศาลอาญามีคำพิพากษา ผมประชุมอยู่กับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลาย ๆ คน ก็ตกใจไปตาม ๆ กันเมื่อศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวกรรมการการเลือกตั้ง 3 คน มีหลาย ๆ คน รวมทั้งผมด้วยที่ “อยากจะพูด” แต่ในเวลานี้ก็คงลำบากที่จะพูดอะไรทั้งนั้น ดีไม่ดีจะกลายมาเป็นหาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัวเสียเปล่า ๆ คงต้องอยู่อย่าง “สงบ” หน่อยครับ
       ในวันรุ่งขึ้นหลังจากที่ศาลอาญามีคำพิพากษา หนังสือพิมพ์หลายฉบับต่างก็พากันลงข่าวในทำนองที่ว่า ความวุ่นวายในบ้านเมืองคงจะจบลงเสียที แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมาพิจารณาดู “วาระต่อไป” ที่จะเกิดขึ้นในบ้านเมืองเราต่อจากการ “ลงโทษ” กรรมการการเลือกตั้งทั้ง 3 คนแล้ว คงหนีไม่พ้นเรื่องการ “ยุบพรรค” ครับ โดยในวันนี้ เรื่องการยุบพรรคการเมืองที่ทำผิดกฎหมายกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญครับ
       ย้อนกลับมาดูคำพิพากษาศาลอาญากรณีจำคุกกรรมการการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะไปดูเรื่องยุบพรรคกันต่อ ผมคิดเอาเองว่าคำพิพากษาดังกล่าวน่าจะ “มีผล” โยงไปถึงการยุบพรรคการเมือง ในคำพิพากษาดังกล่าวได้ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า กรรมการการเลือกตั้ง 3 คนมีความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง มาตรา 24 คือ “กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด หรือกระทำการหรือละเว้นกระทำการโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่” ซึ่งบทลงโทษสำหรับความผิดดังกล่าวก็เป็นไปตามมาตรา 42 แห่งกฎหมายฉบับเดียวกันซึ่งในที่สุดศาลอาญาก็สั่งลงโทษจำคุกคนละ 4 ปี และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคนละ 10 ปี นี่คือ “ความผิด” ของกรรมการการเลือกตั้งทั้ง 3 คนครับ
       ก่อนที่จะไปพิจารณาถึงการยุบพรรคการเมืองดังที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ขอเล่าให้ฟังว่า จากการอ่านคำพิพากษาศาลอาญากรณีจำคุกกรรมการการเลือกตั้ง ผมได้พบ “ข้อความ” หลาย ๆ ข้อความที่ “น่าสนใจ” ที่ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาดังกล่าว เช่น
       - การกระทำของกรรมการการเลือกตั้งเป็นการช่วยเหลือผู้สมัครพรรคไทยรักไทยให้มีคู่แข่งขันในการเลือกตั้งอันเป็นการหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์ที่ต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิในเขตเลือกตั้งนั้น
       - มีเจตนาช่วยเหลือผู้สมัครพรรคไทยรักไทยให้ได้เปรียบพรรคการเมืองอื่นเพราะผู้สมัครจากพรรคอื่นมีเวลาหาเสียงน้อยกว่า
       - กรรมการการเลือกตั้งทั้ง 3 คน จบการศึกษาระดับปริญญาโท ผ่านการทำงานในฐานะผู้ใช้กฎหมายมาไม่น้อยกว่า 30 ปี หากกรรมการการเลือกตั้งทั้ง 3 คนมีความสงสัยในการใช้กฎหมาย ควรศึกษาเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้น ๆ การกระทำของกรรมการการเลือกตั้งทั้ง 3 คนเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นคุณแก่ผู้สมัครพรรคไทยรักไทยและเป็นโทษแก่ผู้สมัครพรรคการเมืองอื่น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยหน้าที่และไม่สุจริต ทำให้โจทก์ ประชาชนและประเทศชาติได้รับความเสียหาย
       
ข้อความทั้ง 3 ที่ผมคัดมาจากคำพิพากษาศาลอาญากรณีจำคุกกรรมการการเลือกตั้งนี้ หากเราพิจารณาอย่างละเอียดแล้วก็จะเข้าใจได้ไม่ยากนักว่า ระหว่างกรรมการการเลือกตั้งกับพรรคไทยรักไทยนั้นมี “บางอย่าง” ที่เชื่อมโยงและเกี่ยวพันกันครับ ในประเด็นนี้ผมคงไม่วิเคราะห์ในตอนนี้แต่จะขอติดเอาไว้สรุปในตอนท้ายของบทบรรณาธิการนี้จะเหมาะสมกว่า
       กลับมาสู่เรื่องยุบพรรคการเมืองกันดีกว่า ในวันนี้เราพูดกันถึงเรื่องการยุบพรรคการเมืองกันมาก และในบางครั้งก็พูดกันอย่าง “ไม่เข้าใจ” ว่า การยุบพรรคการเมืองจะก่อให้เกิดประเด็นปัญหาตามมาอย่างไรบ้าง ในที่นี้ ผมจะไม่ขอพูดถึงกรณีที่หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย “ไม่” ยุบพรรคการเมืองเพราะกรณีดังกล่าวก็จะต้องไปพิจารณาองค์ประกอบต่าง ๆ ของเหตุการณ์ในขณะที่มีคำวินิจฉัยว่า จะนำพาไปสู่อะไรต่อไป แต่ผมจะขอพูดถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมืองที่มีปัญหาดังที่ทราบกัน โดยผมขอตั้งประเด็น 2 ประเด็นคือ หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมือง “ก่อน” การเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 15 ตุลาคมที่จะถึงนี้ ผลจะเป็นอย่างไร เช่นเดียวกับในประเด็นต่อมาคือ หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมือง “หลัง” การเลือกตั้งทั่วไป ผลจะเป็นอย่างไร
       ในกรณีที่หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมืองก่อนที่จะมีการเลือกตั้งนั้น มาตรา 69 แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองได้บัญญัติเอาไว้ว่า ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบไปจะขอจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการขอจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ไม่ได้ ในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นต้องยุบไป ดังนั้น เมื่อพิจารณาข้อห้ามดังกล่าวก็จะพบว่า ข้อห้ามดังกล่าวมิได้ตัดสิทธิผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบ บุคคลเหล่านั้นสามารถสมัครรับเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อได้เนื่องจากการห้ามนั้นมีเพียงเฉพาะที่กำหนดไว้ในมาตรา 69 ดังกล่าวข้างต้นเท่านั้น ส่วนในกรณีที่หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมืองหลังการเลือกตั้งนั้น กรณีดังกล่าว มาตรา 22 แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองได้บัญญัติถึงการสิ้นสุดลงของสมาชิกภาพของสมาชิกพรรคการเมืองไว้ 5 กรณี ซึ่งในกรณีที่พรรคการเมืองถูกยุบนั้นก็เป็นหนึ่งในเหตุที่จะทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกพรรคการเมืองสิ้นสุดลง ซึ่งในวรรค 5 ของมาตราดังกล่าวก็ได้บัญญัติ “สถานะ” ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองที่ถูกยุบไปว่า ถ้าผู้ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลงเนื่องมาจากการยุบพรรค หากไม่สามารถเข้าไปเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นได้ภายใน 60 วันนับแต่วันที่พรรคการเมืองเลิกหรือยุบไป ให้ถือว่าสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันถัดจากวันที่ครบ 60 วันนั้น บทบัญญัติดังกล่าวจึงทำให้พอมี “ทางออก” สำหรับสมาชิกพรรคการเมืองที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและในที่สุดถูก “ยุบพรรค” หลังการเลือกตั้งว่า สามารถเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อไปได้หากสามารถเข้าเป็นสมาชิก “พรรคการเมือง” อื่นได้ซึ่งกรณีนี้เองแม้อ่านบทบัญญัติดังกล่าวแล้วดูว่าน่าจะทำได้ง่ายไม่มีปัญหาอะไรแต่ ดู ๆ แล้วน่าจะก่อให้เกิดความยุ่งยากพอสมควร เพราะสำหรับกรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งนั้น คงไม่มีปัญหาอะไรมากนัก เพียงหา “พรรคใหม่” ได้ก็เรียบร้อย ในขณะที่หากเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ผมคิดว่าคงยุ่งแน่ ๆ เพราะเท่าที่ลองตรวจสอบดูตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่พบวิธีพิเศษใด ๆ ดังนั้นก็คงต้องใช้วิธีการเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งคือ ต้องเข้าสังกัดพรรคการเมืองใหม่ให้ได้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่พรรคการเมืองถูกยุบ ซึ่งเมื่อพิจารณาในทางปฏิบัติที่จะเกิดขึ้นแล้วคิดว่าคงวุ่นวายพอสมควรเพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อนั้นเกิดจากการลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้นและจำนวนของผู้ได้รับการเลือกตั้งต้องผ่านการคำนวณดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 76 แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา หากพรรคการเมืองใหญ่ที่มีสมาชิกสภาผู้แทนแบบบัญชีรายชื่อถูกยุบไป สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อจะเข้าไปอยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใหม่ได้ด้วยวิธีใด และจะมีผลต่อการจัด “ลำดับ” ในบัญชีรายชื่อมากน้อยเพียงใดก็ยังเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงครับ ในอดีตที่ผ่านมา ถ้าผมจำไม่ผิดเราเคยมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นมาแล้วตอนพรรคการเมืองบางพรรคเข้ามารวมกับพรรคไทยรักไทย แต่ผมจำไม่ได้ว่ามีการแก้ปัญหาเรื่องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่ออย่างไร ใครจำได้ช่วยบอกทีนะครับจะได้พอทราบแนวทางล่วงหน้าว่าจะทำอย่างไรกับกรณีนี้!
       ผมคงไม่กล้า “ฟันธง” ว่าในที่สุดแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยกรณียุบพรรคการเมือง “ก่อน” หรือ “หลัง” การเลือกตั้ง ซึ่งดู ๆ แล้วหากจะเดาก็คงจะต้องเดาว่า “หลัง” เลือกตั้งอย่างแน่นอนเพราะจากเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการยุบพรรคการเมืองที่ “อัยการ” ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญนั้น ว่ากันว่ามีจำนวนมากเหลือเกิน คงต้องใช้เวลาสักพักหนึ่งถึงจะศึกษาเรื่องหมด ซึ่งก็ไม่น่าจะ “ก่อน” การเลือกตั้งในวันที่ 15 ตุลาคม นี้ครับ ส่วนที่ว่าจะยุบพรรคไหนบ้างนั้น ก็ไม่ใช่หน้าที่ของผมที่จะต้องออกมาพูด แต่ก็แอบคิดในใจว่า หากศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำพิพากษาศาลอาญากรณีจำคุกกรรมการการเลือกตั้ง 3 คน (ที่ไม่ได้รวมอยู่ในสำนวนที่อัยการส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพราะศาลอาญาตัดสินกรณีนี้หลังจากที่อัยการส่งสำนวนไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่ผมได้นำเสนอไว้ในตอนกลางของบทบรรณาธิการนี้แล้ว หากพิสูจน์ได้ว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำของกรรมการการเลือกตั้งกับพรรคไทยรักไทยดังที่ปรากฏในคำพิพากษาดังกล่าว ก็คงต้องบอกไว้เลยนะครับว่า ถูกยุบแน่เพราะสิ่งที่กล่าวถึงนั้นชัดเจนเหลือเกินครับ!
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความนำเสนอรวม 2 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง สมาชิกประจำของเราที่กรุณาส่งบทความมาร่วมเผยแพร่อย่างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ในครั้งนี้ คุณชำนาญฯเสนอบทความ เรื่อง “ทฤษฎีเกมแห่งอำนาจ (Game of Power Theory)” ส่วนบทความที่สองเป็นบทความของนาวาอากาศตรีพงศ์ธร สัตย์เจริญ แห่งกองพระธรรมนูญ กรมสารบรรณทหารอากาศ ที่ได้ส่งบทความเรื่อง “ปัญหาสัญญาทางปกครอง” มาร่วมกับเรา ผมต้องขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม 2549 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544