หน้าแรก บทความสาระ
สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒ (หน้า ๒๕)
ศ. ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
7 กุมภาพันธ์ 2551 14:17 น.
 
รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ของ“คณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ที่จัดตั้ง “องค์การยกร่างรัฐธรรมนูญ – สภาร่างรัฐธรรมนูญ (นานาอาชีพ)” เพื่อร่างรัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่ เป็นรัฐูรรมนูญชั่วคราว ที่ไม่เข้า “เงื่อนไข”ขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ(ที่ดี) ทั้ง ๒ เงื่อนไข ตามที่กล่าวมาข้างต้นแต่อย่างได ซึ่งเป็นสาเหตุของความล้มเหลวของการรัฐประหาร
       

       • ทำอย่างไร “รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว” จึงจะสามารถ กำหนด (ออกแบบ) องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ (ที่ดี) และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว( ที่ดี) ได้ ; อันที่จริง ตามที่กล่าวมาแล้วว่า ความล้มเหลวของการออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับถาวร (รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐) จะถือว่าเป็นความรับผิดชอบของสมาชิกสภารัฐธรรมนูญ (องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ) จำนวน ๑๐๐ คนที่คัดสรรมา (ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙) ก็คงไม่ถูกต้อง
       ตามความจริงแล้ว ความรับผิดชอบใน “ ความล้มเหลวของการออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับถาวร (รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐)” จะต้องเป็นความรับผิดชอบของ “นักกฎหมายและนักวิชาการ” ในฐานะผู้ที่มีวิชาชีพหรือผู้เชี่ยวชาญ ที่เขียนรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙”( ที่กำหนด “รูปแบบ”ขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ) ทั้งนี้ เพราะนักกฎหมายและนักวิชาการดังกล่าว ควรและมีหน้าที่ ต้องรู้ว่า องค์ประกอบ (บุคคล)ขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญในลักษณะที่ กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙ (ตามที่ตนเองเขียนขึ้น) มีความรู้ความสามารถเพียงใด และ(พอ)จะสามารถปฏิบัติภารกิจ (ออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับถาวร) ได้สำเร็จหรือไม่ ; ดังนั้น ถ้า“องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ”ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ “นักกฎหมายและนักวิชาการ”ที่เขียน รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙ จีงต้องรับผิดชอบ ต่อสาธารณะ – public
       การที่ รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙ เขียนออกมาเช่นนี้ อาจอธิบายได้เพียงเหตุผล ๒ เหตุผลเท่านั้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง คือ ประการแรก นักกฎหมายหรือนักวิชาการที่ออกแบบรัฐธรรมนูญชั่วคราวของเรา ไม่มีความรู้สูงพอที่จะออกแบบ “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ” ดังนั้น จึงไม่ทราบว่าองค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญที่ตนออกแบบมานั้น ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ หรือ ประการที่สอง นักกฎหมายหรือนักวิชาการ ที่ออกแบบรัฐธรรมนูญชั่วคราวของเรา มีความรู้สูงพอ และรู้ด้วยว่าองค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญที่ตนออกแบบมา จะประสบความล้มเหลว แต่ตนเองต้องการให้มี “ความล้มเหลว”ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยเหตุผลส่วนตัว เหตุใดเหตุหนึ่ง
       สำหรับความเห็นของผู้เขียน นักกฎหมาย หรือนักวิชาการ ที่จะเขียน รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว(ออกแบบ “องค์การยกร่างรัฐธรรมนูญ”)ที่ดี ได้นั้น จะต้องมีความสนใจและมีพื้นฐานความรู้ ดังต่อไปนี้
       
(๑) ต้องรู้ว่า องค์ประกอบ(บุคคล)ใน”องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ” ต้องการบุคคลประเภทใด ; ผู้เขียนเห็นว่า ในการร่างรัฐธรรมนูญ(ถาวร)นั้น ต้องการนักกฎหมาย ในระดับ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญระดับสูง เพราะในการออกแบบ “ระบบสถาบันการเมือง”ในรัฐธรรมนูญ(ถาวร)ฉบับใหม่นั้น จำเป็นต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ในทางวิชาการ ทั้งในด้าน “สาเหตุ”แห่งความเสื่อมในการบริหารประเทศ ที่เกิดขึ้นแล้วจากรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น(อันเป็น “สาเหตุ”ของการรัฐประหาร) และทั้งในด้านการ “เลือก”รูปแบบของการกำหนดกลไก (mechanism) ที่จะเป็น form of government ของประเทศในอนาคต ; ซึ่งผุ้ “เลือก”จะต้องมีความรอบรู้ในทางกฎหมายเปรียบเทียบ (comparative law)ว่า forms of government รูปแบบที่สำคัญมีอะไร บ้าง(มีความเป็นมาอย่างใด และด้วยเหตุผลอย่างใด) ทั้งนี้เพื่อให้ได้มาซึ่ง form of government - รูปแบบการปกครอง (ที่เป็นประชาธิปไตยและมีการเลือกตั้ง) ที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทยที่อ่อนแอและสภาพพิกลพิการของระบบบริหารพื้นฐานของประเทศ ; โดยรูปแบบดังกล่าว จะต้องมี “รัฐบาล”ที่มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ และมีระบบการถ่วงดุลเพื่อให้การใช้อำนาจของ “รัฐบาล”อยู่ในกรอบของ จุดหมายและปรัชญาของระบอบประชาธิปไตย ( คือ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม และการประสานประโยชน์ ระหว่างประโยชน์ของปัจเจกชนและประโยชน์ของส่วนรวม)
       และนอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว จะต้องมีความสามารถในการ “อธิบาย” รูปแบบ form of government ในร่างรัฐธรรมนูญ(ถาวร)ฉบับใหม่ ให้คนไทยทั่ว ๆ ไปได้เข้าใจและยอมรับในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่คนไทยทั้งชาติ (ไม่ใช่เฉพาะแต่ประโยชน์ใน “กลุ่มของตน” หรือของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง)
       ผู้เขียนมีความเห็นที่แตกต่างกับนักกฎหมายและนักวิชาการที่เขียน “รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๔๙” เพราะผู้เขียนไม่คิดว่า การนำเอาบุคคลนานาอาชีพมาประชุมร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญ(ในสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ด้วยการออกเสียงข้างมากในประเด็นต่าง ๆของรัฐธรรมนูญ จะทำให้ภารกิจ – การร่างรัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่ สำเร็จได้
       
       (๒)เพื่อที่จะให้มี “วิธีการ”ร่างรัฐธรรมนูญ (ถาวร)ที่โปร่งใส (transparency) และเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ(ฉบับถาวร)อย่างเหมาะสม ; ในการกำหนด “วิธีการ”ร่างรัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่ (ขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ) นักกฎหมายและนักวิชาการ ที่เขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จะต้องรู้และเข้าใจความหมายของ คำว่า “ประชาชน” ให้ตรงกับความเป็นจริง – reality เพราะ ในการร่างรัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่นั้นเป็นเรื่องใหญ่ ที่ประชาชนจะต้องรับรู้และมีส่วนเกี่ยวข้อง
       คำว่า “ประชาชน”ในที่นี้ มิได้มีความหมายเหมือนคำว่า “ประชาชน”ในยุคของ Montesquieu หรือ Rousseau เมื่อ ๒๐๐ – ๓๐๐ ปี ก่อน ซึ่งเป็นความหมายที่นักการเมืองไทยชอบกล่าวอ้าง ; แต่คำว่า “ประชาชน”ในที่นี้ มีความหมายในทางวิชาการกฎหมายมหาชน(ยุคใหม่) บนพื้นฐานของสังคมวิทยา (ซึ่งเป็น science – ศาสตร์ในทางสังคมศาสตร์ แห่งยุคปัจจุบัน ศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑ ) คือ “ประชาชน”ประกอบด้วยกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆจำนวนมาก แต่ละกลุ่มต่างก็มีประโยชน์ของตนเองและมีพฤติกรรมที่จะรักษาประโยชน์ส่วนตัวของตนเอง ; ประชาชนจำนวนมากนี้ ต่างก็มอง “ประโยชน์ส่วนรวม”แตกต่างกัน บางคนก็ให้ “น้ำหนัก”มาก / บางคนก็ให้น้ำหนักน้อย / หรือบางคนก็ไม่ให้น้ำหนัก ทั้งนี้ตามแต่พื้นฐานพฤติกรรมของแต่ละคน /ของแต่ละชุมชน / และของคนไทยทั้งชาติ (โดยรวม)
       ความรู้ในทางสังคมวิทยาและรู้จัก “ประชาชน”ตาม reality จะช่วยให้ ผู้ที่ออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว สามารถกำหนดวิธีการ ให้ “ประชาชนได้มีส่วนร่วม”ในการกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ(ถาวร)อย่างเหมาะสม โดยมุ่งหมายให้ได้ร่างรัฐธรรมนูญ(ถาวร)ฉบับใหม่ ที่เป็น “ประโยชน์แก่ส่วนรวม” ที่ดีที่สุด และสามารถอธิบายต่อประชาชนได้อย่างเปิดเผยและมีเหตุผล
       (๓) ในประการสุดท้าย ผู้ที่ออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จะต้องรู้ด้วยว่า ในการที่จะนำร่างรัฐธรรมนูญ(ถาวร)ฉบับใหม่มาใช้บังคับได้นั้น จำเป็นจะต้องผ่านความเห็นชอบของ “สถาบันทางการเมืองในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย” ไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนราษฎร (ที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องโดยตรง ) หรือวุฒิสภา หรือผ่านกระบวนการการทำประชามติ
       ดังนั้น “กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ(ถาวร)” ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว จึงจะต้องกำหนด “วิธีการ”ร่างรัฐธรรมนูญ(ฉบับถาวร)ที่โปร่งใส และต้องบังคับให้ “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ” มีหน้าที่ที่จะต้องอธิบายเหตุผลของการร่างรัฐธรรมนูญที่ชัดแจ้ง ที่ทำให้คนทั่วไปเข้าใจให้ได้ว่า บทบัญญัติของระบบสถาบันการเมืองและบทบัญญัติ อื่น ๆ (ที่สำคัญ) ของร่างรัฐธรรมนูญ(ถาวร)ฉบับใหม่ ที่ “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ” (จะ)ยกร่างขึ้นนั้น ได้ออกแบบขึ้นเพื่อ “ประโยชน์ส่วนรวม” อย่างไร (ภายไต้สภาพสังคมและสภาพระบบบริหารพื้นฐานของเรา เท่าที่เป็นอยู่ ) ก่อนที่จะให้สภาผู้แทนราษฎร / รัฐสภา / หรือประชาชนตัดสินใจด้วยตนเอง
       กระบวนการเหล่านี้ มีความมุ่งหมายเพื่อป้องกันการกดดันและการบิดเบือนการใช้อำนาจ(abuse of power)ของ นักการเมืองเจ้าของพรรคการเมือง ที่มีส่วนได้เสีย และ (อาจ)จะต้องการอยู่ใน “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง” เพื่อประโยชน์ของกลุ่มของตนเอง (ไม่ว่าจะเป็นนายทุนท้องถิ่นหรือนายทุนระดับชาติ) ต่อไป
       
       อันที่จริง ผู้เขียน(ร่วมกับอาจารย์อีก ๒ ท่าน คือ ศ. นันทวัฒน์ บรมานันท์ และ รศ. บรรเจิด สิงคะเนติ)ได้เคยเขียน “การบ้าน”ไว้สำหรับให้ผู้ที่สนใจการปฏิรูปการเมือง ช่วย“คิด”ไว้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๗ ; โดยผู้เขียนและอาจารย์ดังกล่าวได้ ออกแบบ “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ” เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (สำหรับการปฏิรูปการเมือง) โดยทำเป็น “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม(รัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้บังคับอยู่)” และได้พิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญนี้เผยแพร่ในที่ต่าง ๆและอภิปรายเป็นบางตรั้งเมื่อมีโอกาส (เพียงแต่ผู้เขียนยังไม่เคยเขียนอธิบายบรรยายถึง “เหตุผลของการออกแบบ”ไว้เป็นเอกสารให้ชัดเจนเท่านั้น) ; แต่ดูเหมือนว่า เวลาผ่านไปสองปี ไม่ปรากฎว่า วงการวิชาการทางกฎหมายของเรา สนใจ “การบ้าน”ของผู้เขียน (และอาจารย์ทั้งสอง) แต่อย่างใด
       
ในอีก ๒ ปีต่อมา ในปี พ.ศ.๒๕๔๙ (ก่อนการรัฐประหาร) ในขณะที่เริ่มมีวิกฤตการเมือง(หลังการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙) กระแสสังคมได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง ดังนั้น เพื่อผ่อนคลายแรงกดดันของกระแสสังคม พรรคการเมืองใหญ่สองพรรคในขณะนั้น ต่างก็ได้เสนอ รูปแบบของ “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ”ของตนขึ้นให้ประชาชนพิจารณา
       ในการไปอภิปรายที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อนการรัฐประหารไม่นานนัก ผู้เขียนจึงได้โอกาสนำเอา “รูปแบบขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ” ทั้ง ๓ รูปแบบ (คือ รูปแบบของสองพรรคการเมืองใหญ่ และ รูปแบบของผู้เขียนและอาจารย์อีกสองท่าน) มาพิมพ์เปรียบเทียบกันไว้ [หมายเหตุ โปรดดู “รูปแบบขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ”ทั้ง ๓รูปแบบได้จาก เอกสารวิชาการ หมายเลข ๖ ซึ่งผู้เขียนได้แจกในการอภิปรายในวันนั้น ได้จาก หนังสือ “กระบวนทัศน์ใหม่ สำหรับการปฏิรูปการเมืองครั้ง ที่ ๒” จัดพิมพ์โดย สถาบันพระปกเกล้า พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ]
       ถ้าท่านผู้อ่านมีเวลาว่าง ก็ขอได้นำรูปแบบของ “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ”ทั้ง ๓ รูปแบบไปอ่าน บางทีท่านอาจจะแปลกใจ ที่พบว่า รูปแบบของ “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ”ของพรรคการเมืองใหญ่สองพรรค ซึ่งต่างก็เป็นปฏิปักษ์ต่อกันอย่างรุนแรง แต่ได้นำเสนอ “รูปแบบขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ”ที่คล้าย ๆ กันหรือเหมือนกันในหลักการ ; คำถามมีว่า ทำไม จึงเป็นเช่นนั้น ; ผู้เขียนคิดว่า คงต้องขอให้ท่านผู้อ่านช่วยไปคิดเป็น “การบ้าน”อีกครั้งหนึ่ง (เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑)นี้ ว่า ทำไมพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน จึง “คิด”รูปแบบขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ เหมือน ๆ กัน
       
เพราะในเวลาข้างหน้าอีกไม่นานนัก ผู้เขียนเชื่อว่า ท่านผู้อ่าน จะมีโอกาสได้นำ “ประสบการณ์และความรู้”ที่ได้มาจากการทำ “การบ้าน”ข้างต้นนี้มาใช้ประโยชน์ได้ ในกรณีที่“รัฐบาล (ใหม่)”โดยพรรคการเมือง(ชื่อ)ใหม่ของนักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)ชุดเก่า จะเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ ; ท่านผู้อ่านลองคิดล่วงหน้าดูก็ได้ว่า รัฐบาล(ใหม่)จะใช้ “องค์กรใด”เป็นองค์กรแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจะแก้ไขเพื่อประโยชน์ของ “ใคร”
       

       • “รัฐธรรมนูญ(ฉบับ ถาวร)”ของเรา จะมีรูปร่างหน้าตา อย่างไร (?) โดยสมมติว่า ถ้าเรามี รัฐธรรมนูญชั่วคราว - ที่กำหนดรูปแบบของ องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ(ที่ดี)
       
หลังจากที่ผู้เขียนได้เขียนบทความอันแสนยาวนี้(และยังไม่จบ) เราก็มาถึง “หัวข้อ • สุดท้าย ” คือ คำถามที่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับถาวรของประเทศไทย จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ; ผู้เขียนคิดว่า คำถามนี้ก้ตอบไม่ยาก และ เมื่อคนไทยมี “ความรู้”แล้ว ผู้ที่จะตอบคำถามนี้ ก็คือ ตัวท่าน(คนไทยทุกคน)ที่จะต้องตอบเอง ไม่ใช่ผู้เขียน
       ผู้เขียนในฐานะนักวิชาการ มีหน้าที่เพียงนำ “ความรู้”(ในสิ่งที่ผู้เขียนได้ศึกษามา) มาให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบเท่านั้น
       อย่างไรก็ตาม เราทราบแล้วว่า “เนื้อหาสาระ”ของรัฐธรรมนูญ มีอยู่หลายส่วน(ตามที่ได้เคยกล่าวมาแล้ว) โดยแต่ละส่วนมีความสำคัญไม่เท่ากัน / บางส่วนต้องสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน / และ บางส่วนก็มีความสัมพันธ์กับกฎหมายระบบบริหารพื้นฐานของประเทศ (ซึ่งอยู่นอกตัวบทรัฐธรรมนูญ) ; บทความนี้ เป็นบทความที่พูดถึง(เฉพาะ) ส่วนที่เกี่ยวกับ “ระบบสถาบันการเมือง – form of government” ที่เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด ของรัฐธรรมนูญ(ฉบับถาวร) เท่านั้น [หมายเหตุ :- แต่ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า “เนื้อหาสาระ”ส่วนอื่นของรัฐธรรมนูญ จะไม่สำคัญหรือเขียน(ออกแบบ)ง่าย ผู้เขียนขอเรียนว่า ยังมีอีกหลายส่วนของรัฐธรรมนูญที่สำคัญและเขียน(ออกแบบ)ยาก และซ้ำยังต้องมีความสัมพันธ์กับ “กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ”(ที่อยู่นอกตัวบทรัฐธรรมนูญ)อีกด้วย ; แต่ผู้เขียนเชื่อว่า ถ้าท่านมี “วิธีคิด”ที่เป็นระบบ ดังเช่นที่ท่านได้พิจารณาเกี่ยวกับการออกแบบ“ระบบสถาบันการเมือง – form of government”นี้แล้ว แม้ว่าเนื้อหาสาระที่สำคัญส่วนอื่นของรัฐธรรมนูญ จะมี “สาระ”ต่างกันไป แต่ในการเขียน(ออกแบบ)ก็จะมี “วิธีคิด”ในลักษณะเดียวกัน ซึ่งท่านสามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยากนัก ; โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าในการร่าง “กฎหมาย”ดังกล่าว มีการทำ “เอกสารประกอบร่างกฎหมาย”ที่ดี ได้มาตรฐานของประเทศที่พัฒนาแล้ว]
       “ สถาบันการเมือง” เป็นองค์กรที่มี “อำนาจสูงสุด”ในการบริหารประเทศในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ถ้า “สถาบันการเมือง” ตกอยู่ในมือของ “คนไม่ดี” การบริหารประเทศก็จะมีแต่ความเสื่อม ; เพราะ “ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ได้คนดีปกครองบ้านเมือง และควมคุมคนไม่ดีไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้ ”
       อย่างไรก็ตาม บทความเท่าที่เขียนมาจนถึง ณ จุดนี้ ยังคงเป็นความเห็นของผู้เขียนเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาว่า “ทำอย่างไร เราจึงจะได้ องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ(ที่ดี) มายกร่างรัฐธรรมนูญ(ฉบับถาวร)ที่ดี” แต่ผู้เขียนยัง “ไม่ได้ ”เขียนให้ความเห็นในส่วนที่เกี่ยวกับ ปัญหาว่า “รัฐธรรมนูญที่ดี คือ รัฐธรรมนูญอย่างไร (how) ” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นว่า “ระบบสถาบันการเมือง – form of government”ที่ดีของประเทศไทย ควรเป็นอย่างไร (how) ; ซึ่งผู้เขียนจะเขียนให้ความเห็นต่อไป ในส่วนที่ สอง ว่าด้วย “ การออกแบบ”รัฐธรรมนูญ เพื่อการปฏิรูปการเมืองของประเทศไทย (ตามหัวข้อที่ผู้เขียนได้ให้สารบัญไว้ในตอนต้นของบทความนี้)
       
       สรุปใน ข้อ (๓.๑) ( ภารกิจในการจัดให้มีรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ ล้มเหลวเพราะเหตุใด ) ; ผู้เขียนคิดว่า ผู้เขียนได้เล่าให้ท่านผู้อ่านฟังใน “ประเด็น”ต่าง ๆที่ว่า ถ้าเราต้องการจะได้ “รัฐธรรมนูญ(ฉบับถาวร) ที่ดี”สักฉบับหนึ่ง เราควรจะต้องเขียน “รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว)” อย่างไร มามากพอสมควรแล้ว และผู้เขียนก็เชื่อว่า เมื่อท่านผู้อ่านได้อ่านบทความในตอนข้างต้นนี้แล้ว และนำหลักการไปพิจารณาทบทวนเปรียบเทียบกับ “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ - สภาร่างรัฐธรรมนูญ(นานาอาชีพ)” ตามที่บัญญัติใว้ใน “ รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙” ของ “คณะปฏิรูปการปกครองฯ” ท่านผู้อ่านก็คงจะสามารถวิเคราะห์และวิจารณ์ให้แก่ตัวท่านเองได้ ว่า เพราะเหตุใด การปฏิรูปการเมือง (การร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐) จึงล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และทำไม เรา(คนไทย)จึง “ได้”กลับมาสู่ที่เดิม ก่อนมีการรัฐประหาร (วันที่ ๑๙ พ.ศ. ๒๕๔๙)
       และถ้าท่านผู้อ่านอยากจะเข้าใจว่า ทำไม รูปแบบของ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ – นานาอาชีพ” จึงล้มเหลว ให้ง่ายกว่านี้ ; ก็ขอให้ท่านผู้อ่านไปอ่าน “นิทาน”ของผู้เขียน เรื่องหนึ่ง ชื่อว่า “สภาออกแบบบ้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ของประเทศสารขันธ์” จาก หนังสือ รางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี ๒๕๕๐ จัดพิมพ์โดย มูลนิธินิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ; นิทานเรื่องดังกล่าวนี้ เป็นเรื่องที่ผู้เขียนได้อุปมาอุปมัยไว้ ว่า ถ้าเราต้องการ บ้านดี ๆสักหลังหนึ่ง แล้วเราก็ออกกฎหมายมาฉบับหนึ่งจัดตั้งสภาออกแบบบ้าน เรียกชื่อว่า “ สภาออกแบบบ้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ (ของประเทศสารขันธ์)” ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนประมาณ ๕๐ -๖๐ คน ซึ่งเป็น“ผู้แทน”ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับบ้านในด้านต่าง ๆ ( คือ คนที่ทำหน้าที่ภายในบ้าน เช่น คนครัวคนสวน / หรือคนที่อยู่อาศัย เช่น ชายหญิงเด็ก / หรือนักเทคนิคเกี่ยวกับการก่อสร้าง เช่น สถาปนิก - วิศวกร เป็นต้น) ที่คัดสรรเลือกตั้งคนที่ดีที่สุดกันขึ้นมาจำพวกละ ๕ คน แล้วให้คนเหล่านี้ มาประชุมร่วมกันพิจารณาออกแบบ “บ้าน” และ ลงมติให้ความเห็นชอบในส่วนต่าง ๆ ของบ้านด้วยการออกเสียงข้างมาก เพื่อความเป็นประชาธิปไตย ฯลฯ ในที่สุดแล้ว ขอให้ท่านลองคิดดูว่า “บ้านหลังนั้น”จะมีรูปร่างหน้าตา อย่างไร ; ซึ่งผู้เขียนคิดว่า ด้วย“การลงมติ”ที่หลากหลายของสมาชิกสภา ฯ บ้านหลังนี้คงจบลงด้วยการมีหลังคาแบบไทย / ประตูแบบจีน / หน้าต่างแบบสเปญ / ฯลฯ
       นิทานเรื่องนี้ ผู้เขียนได้เล่าไว้ในการแสดงปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๙ คือ ก่อนการรัฐประหาร (โดย “คณะปฏิรูปการปกครองฯ”) เป็นเวลา ๔ เดือน เพื่ออยากจะให้ “ข้อคิด”ไว้ล่วงหน้าว่า ถ้าหากเราจะต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับในอนาคต(ถ้ามี) ก็ขอให้ ผู้ที่มีหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ( เพื่อจัดตั้ง “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ”เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับใหม่) คิดถึงนิทานเรื่องประเทศสารขันธ์นี้ ก่อนที่จะออกแบบ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ”เพื่อจะได้ไม่ออกแบบในลักษณะเดียวกับ “สภาออกแบบบ้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ (ของประเทศสารขันธ์)”
       แต่ เมื่อมีการรัฐประหารขึ้นจริง ๆในเวลาต่อมา ก็ปรากฏว่า นักกฎหมายและนักวิชาการ (ที่เข้ามาเขียนรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙ ให้คณะปฏิรูปการปกครองฯ ) ไม่เห็นด้วยกับผู้เขียน และได้ออกแบบสภาร่างรัฐธรรมนูญ – นานาอาชีพ ในลักษณะเดียวกับ “สภาออกแบบบ้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ของประเทศสารขันธ์”; ผู้เขียนคิดว่า คงเป็น”หน้าที่”ของท่านผู้อ่านและคนไทย ที่จะต้องเป็นผู้พิจารณาและตัดสินเองว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ ( ผลงานของสภาร่างรัฐธรรมนูญ – นานาอาชีพ) มีสภาพดีกว่า “บ้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ของประเทศสารขันธ์” ( ผลงานของสภาออกแบบบ้านแห่งชาติ ของประเทศสารขันธ์ ) หรือไม่ (?)
       ในการออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๐ ที่ผ่านมานี้ ผู้เขียนเห็นว่า การที่คณะปฏิรูปการปกครองฯ และรัฐบาลได้ออกมาขอร้องให้ประชาชน ออกเสียงประชามติ“รับ” (ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไปก่อน และ ถ้าผู้ใดไม่พอใจอย่างไร ให้ไปแก้ไขภายหลัง ย่อมเป็น “ข้อเท็จจริง”ที่แสดงให้เห็นว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้ยอมรับว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯ “ไม่รู้ (ปัญหาของประเทศ)” และ คณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้ล้มเหลวในการจัดหารัฐธรรมนูญ(ถาวร)ฉบับใหม่ ที่ดีกว่ารัฐธรรมนูญฉบับเดิม (พ.ศ. ๒๕๔๐) ให้แก่คนไทย และที่ปรากฏแล้วในขณะนี้ (หลังการเลือกตั้ง วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐) รัฐธรรมนูญ(ถาวร)ฉบับใหม่นี้ ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่นำเรา(คนไทย)กลับไปสู่ปัญหาเดิมก่อนการรัฐประหาร
       เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่ “คณะปฏิรูปการปกครองฯ”ไม่สามารถทำ ภารกิจที่สำคัญยิ่งสำหรับคนไทย นี้ ให้สำเร็จ และในขณะนี้ ก็ไม่ทราบว่า “ใคร” จะเป็นผู้มาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ ; คนที่ปกครองบ้านเมือง จะเป็น “คนดี”หรือ“คนไม่ดี” และ จะแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ของ “ใคร”
       

       (วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ผู้เขียนยังเขียนไม่จบ)
       
       อ่านต่อ
        หน้า26
       หน้า 27
        หน้า28
       หน้า 29


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544