หน้าแรก นานาสาระจากนักเรียนไทยในต่างแดน
การเมืองเรื่องที่น่าสนใจในประเทศฝรั่งเศส โดยอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นักศึกษาระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัย Nantes
16 ธันวาคม 2547 11:54 น.
 
            
       ผมเป็นหนึ่งในผู้ใช้บริการเว็บไซต์นี้เป็นประจำและได้ประโยชน์จากเว็บนี้มากจึงมีความตั้งใจว่า วันหนึ่งถ้ามีโอกาสจะขออาสามาช่วยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จนผมได้พบกับอ.นันทวัฒน์ที่ฝรั่งเศส ผมเสนออาจารย์ว่าขอเข้ามาช่วยด้วยการเขียนเล่าเรื่องต่างๆในฝรั่งเศสเป็นเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆ อาจารย์ก็ไม่ขัดข้อง ผมเลยสัญญาว่าถ้าผมสอบผ่าน DEA แล้วจะมีเวลาว่างมากขึ้น ผมจะขอเริ่มเขียนงานลงเว็บนี้ ตอนนี้ภารกิจการสอบของผมผ่านไปด้วยดี จึงมาขอทำงานชิ้นนี้ตามที่รับปากกับอ.นันทวัฒน์ ผมจะเล่าเรื่องเหตุการณ์สำคัญในฝรั่งเศสที่กำลังอยู่ในกระแส และมีความเกี่ยวพันกับกฎหมายมหาชน ตั้งใจว่าจะเขียนในสไตล์สบายๆ เหมือนเล่าสู่กันฟัง หวังว่างานของผมคงเป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้บริการเครือข่ายกฎหมายมหาชนที่ดีที่สุด ที่แรก และอาจเป็นที่เดียวของเมืองไทยไม่มากก็น้อยนะครับ


                   
       ผมได้ตรวจสอบข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ และทางโทรทัศน์แล้ว พบว่ามีหลายเรื่องที่น่าสนใจในรอบ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่กรณีการชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวประกันนักข่าวชาวฝรั่งเศส 2 คน เรื่องนี้น่าสนใจตรงที่ว่า กลุ่มคนที่จับตัวนักข่าวไปนั้นยื่นเงื่อนไขให้รัฐบาลฝรั่งเศสยกเลิกการห้ามสวมผ้าคลุมศีรษะของชาวมุสลิมในโรงเรียนของรัฐบาล แต่กลุ่มคนที่มาประท้วงให้ปล่อยตัวประกันนั้นกลับมีชาวมุสลิมจำนวนมากซึ่งก็เคยออกมาคัดค้านเรื่องผ้าคลุมศีรษะ มาคราวนี้ต่างเห็นตรงกันว่าการจับตัวประกันดังกล่าวไม่ถูกต้องเพราะ หนึ่ง ฝรั่งเศสคัดค้านการทำสงครามกับอิรัก และ สอง เรื่องการห้ามแสดงสัญลักษณ์ทางศาสนาในโรงเรียนเป็นกิจการภายในของฝรั่งเศส ต้องติดตามกันดูต่อไปครับว่านักข่าวทั้ง 2 คนจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อไรหลังจากถูกจับไปครบ 4 สัปดาห์แล้ว นอกจากนี้ยังมีเรื่องกระแสการลงมติร่างรัฐธรรมนูญยุโรปโดยรัฐสภาของประเทศสมาชิก (จริงๆผมไม่อยากใช้คำว่า รัฐธรรมนูญ ครับเพราะในแวดวงวิชาการยังเถียงกันอยู่ว่าสหภาพยุโรปมีสถานะเป็นอะไร และกระบวนการร่างก็ไม่มีฐานทางทฤษฎีเรื่องอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ผมตั้งใจจะเขียนบทความชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับสาระสำคัญของร่างดังกล่าว และผลกระทบต่อโครงสร้างใหม่ของสหภาพยุโรป รอติดตามอ่านกันได้ครับ) ในส่วนของฝรั่งเศส แรกเริ่มเดิมที่ก็คิดว่าคงผ่านฉลุย เพราะเป็นพี่เบิ้มในอียู แถมยังเป็นแกนนำในการร่างด้วย (อดีตประธานาธิบดี วาเลรี่ จิสการ์ด เดสแต็งก์เป็นประธานคณะกรรมาธิการร่าง) แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 9 ก.ย. นายโลร็องต์ ฟาบิอุส อดีตนายกรัฐมนตรีที่หนุ่มที่สุดในประเทศ และผู้นำหมายเลข 2 ของพรรคสังคมนิยม แกไปออกรายการทีวี แล้วประกาศชัดเจนว่า จะลงมติไม่รับร่างดังกล่าวเว้นแต่จะทำตามข้อเรียกร้องของแกใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1. แก้ไขข้อตกลงในส่วนที่เกี่ยวกับการจ้างแรงงาน 2. การปรับปรุงงบประมาณของสหภาพยุโรปให้เน้นหนักไปในการสนับสนุนการวิจัย การลงทุน และข้อมูลข่าวสาร 3. การออกมาตรการทางภาษีเพื่อป้องกันนักลงทุนและวิสาหกิจใหญ่ๆหนีไปตั้งฐานในยุโรปตะวันออก (la lutte contre la délocalisation ) กรณีนี้เป็นปัญหาหลักของบรรดาพี่เบิ้มในอียู หลังจากมีสมาชิกใหม่ๆที่มาจากยุโรปตะวันออกแล้ว วิสาหกิจในยุโรปตะวันตกก็ปิดตัวเอง เลิกจ้างงาน แล้วย้ายถิ่นฐานไปตั้งในโปแลนด์ ฮังการี เชค ฯลฯ ที่มีค่าแรงและวัตถุดิบราคาถูก ประเด็นนี้จะเป็นการงัดข้อกันอีกนานครับระหว่างสมาชิกเก่ากับสมาชิกใหม่ที่ค่าครองชีพต่างกันมาก และ 4. การออกมาตรการป้องกันบริการสาธารณะในฝรั่งเศส อันนี้ก็เช่นกันครับ สหภาพยุโรปไม่ยอมรับหลักกฎหมายในเรื่องบริการสาธารณะของฝรั่งเศสเท่าไรนัก (ใครสนใจลองอ่านงานของอ.นันทวัฒน์ดูครับว่าหลักนี้มีความเป็นมาและเนื้อหาอย่างไร) ศาลยุติธรรมของประชาคมยุโรปตัดสินให้ฝรั่งเศสแพ้ไปในหลายคดีที่เกี่ยวกับการผูกขาดการบริการสาธารณะ นักวิชาการบางคนบอกว่า กระบวนการ <<ยุโรปานุวัตร>> เข้ามาแทรกแซง จนทำให้ ข้อความคิดว่าด้วยการบริการสาธารณะ ที่เคยเป็นกล่องดวงใจของกฎหมายปกครองฝรั่งเศส อาจต้องลดความสำคัญลงไปในอนาคต นายฟาบิอุสยืนยันเสียงแข็งว่า เขา (และอาจมีพลพรรค fabiusien อีกบางส่วน) จะลงมติ << non >> หากไม่ตอบข้อเรียกร้องนี้ซึ่งสื่อที่นี่เรียกว่า << Non sauf si… >> คือ จะโหวตไม่รับเว้นแต่ ... นั่นเอง ทีนี้ก็เป็นเรื่องเป็นราวครับ บรรดาสมาชิกพรรคสังคมนิยมรีบออกมาแก้กันว่านั่นเป็นความเห็นของฟาบิอุสคนเดียว อย่างไรเสียเสียงส่วนใหญ่ของพรรคก็จะรับร่าง ไม่กี่วันต่อมา นายฟร็องซัวส์ ฮอลลองด์ หมายเลข1ของพรรค รีบออกทีวีแก้ข้อสงสัยนี้ทันที อันนี้ไม่สำคัญไปกว่าที่นางอลิซาเบ็ธ กิกู อดีตรมต.กระทรวงกิจการยุโรปจากพรรคเดียวกันออกมาบอกว่า ฟาบิอุสปล่อยไก่เข้าเล้าหลายตัว เธอบอกว่า ข้อเรียกร้องดังกล่าวก็น่ารับฟังอยู่ แต่ฟาบิอุสคงลืมไปว่า 3 ข้อแรกที่อยากได้นั้นมันไม่เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญนี้เลย และข้อ 4 ก็ว่ากันตอนนี้ไม่ได้ ต้องรับร่างและให้มีผลบังคับใช้เสียก่อนถึงค่อยมาว่ากัน ง่ายๆก็คือ กิกูบอกฟาบิอุสว่า ยังไม่เห็นกระรอกก็อย่าพึ่งโก่งหน้าไม้นั่นเอง ฟาบิอุสโดนวิจารณ์เยอะครับ บางคนว่าทีตอนตัวเองเป็นนายกฯก็ไปรับพันธกรณีกับอียูมาทั้งนั้น บางคนว่าฟาบิอุสจะหาจุดขายสำหรับการลงแข่งเป็นตัวแทนของพรรคเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดี 2007 การสำรวจคะแนนความนิยมล่าสุดโดยนิตยสาร Le point พบว่าคะแนนของฟาบิอุสลดลงไปเยอะ ดูท่าทางงานนี้สงสัยฟาบิอุสจะได้ไม่คุ้มเสียครับ


                   
       นี่ก็เป็น 2 เรื่องที่ผมเล่าให้ฟังคร่าวๆ ทีนี้มาถึงประเด็นหลักของวันนี้ครับ เป็นเรื่องมาตรการช่วยเหลือทางสังคมชุดล่าสุดซึ่งรมต.กระทรวงแรงงานและกิจการสังคม นาย ฌอง หลุยส์ บอร์โล ได้เสนอร่างรัฐบัญญัติว่าด้วย แผนงานเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางสังคม (le projet de loi de programmation pour la cohésion sociale) ต่อครม.เมื่อวันพุธที่ 15 ก.ย. สมควรกล่าวไว้ในเบื้องต้นว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ ฝรั่งเศสประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ การจ้างงานลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงอย่างมากจนรัฐบาลต้องออกมาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นอัตราการบริโภค ในขณะที่รายได้ลดลงอันเนื่องมาจากเก็บภาษีได้น้อยแต่รัฐบาลกลับต้องแบกรับงบประมาณรายจ่ายในส่วนสวัสดิการของคนตกงาน คนเกษียณ ประกันสุขภาพ ซึ่งล่าสุดรัฐบาลจำเป็นต้องปรับลดงบประมาณด้านประกันสังคมลงไป ในส่วนของคนเกษียณนั้นนับเป็นปัญหาหลักของหลายประเทศในยุโรป เพราะ คนที่เกิดช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เราเรียกกันว่า คนยุค เบบี้บูม จะทยอยเกษียณอายุตั้งแต่ปี 2007 เมื่อคนรุ่นนี้เกษียณภาษีเงินได้ต่างๆที่พวกเขาเคยจ่ายก็จะหายไป ทีนี้คนรุ่นเบบี้บูมมักจะมีลูกน้อย เมื่อคนรุ่นลูกซึ่งจะทยอยเข้าสู่ระบบงานมีน้อย รายได้หลักของรัฐบาลที่มาจากภาษีเงินได้ก็ยิ่งน้อยลงไปอีก เท่ากับว่ารายได้หลักของรัฐบาลลดลงแต่กลับต้องเพิ่มรายจ่ายในการเลี้ยงดูคนเกษียณอายุแทน กล่าวกันว่า ในอนาคตประเทศยุโรปตะวันตกต้องเอาเงินมาเลี้ยงคนแก่จนอาจส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ ทางรัฐบาลก็ไม่กล้าไปตัดลดสวัสดิการของคนเกษียณ แต่วิธีที่ใช้แก้กันคือ ขยายระยะเวลาการทำงานจนกว่าจะเกษียณออกไปให้ยาวขึ้นเพื่อลดจำนวนคนเกษียณลง อีกทางหนึ่งก็สนับสนุนให้คนมีลูกกันมากๆด้วยการให้สิทธิในการลดหย่อนภาษีสำหรับคนที่มีลูกคนที่ 3 หรือ 4


                   
       คราวนี้มาว่ากันต่อถึงมาตรการทางสังคมชุดล่าสุด อาจสงสัยกันครับว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจไปเกี่ยวอะไรกับเรื่องสังคม คืออย่างนี้ครับ ถ้าจำกันได้ สมัยวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 หลังจากรัฐบาลชวนออกมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไประยะหนึ่ง ก็ต้องออกชุดมาตรการแก้ปัญหาทางสังคมตามมาด้วย เพราะทั้ง 2 เรื่องนี้มีความสัมพันธ์กันอยู่ บางครั้งรัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการมาแก้ปัญหาสังคมที๋เป็นปัจจัยหนึ่งในการฉุดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น การว่างงานในหมู่บัณฑิตจบใหม่ เป็นต้น ประธานาธิบดี ฌาคส์ ชีรัค เองก็บอกว่า ร่างรัฐบัญญัตินี้นอกจากเป็นมาตรการแก้ปัญหาทางสังคมแล้วยังช่วยกระตุ้นอัตราความเจริญทางเศรษฐกิจด้วย มาว่ากันถึงเนื้อหาครับ ร่างนี้กำหนดมาตรการใน3 เรื่อง หลักๆ ได้แก่ การจ้างงาน ที่พักอาศัย และความเสมอภาคทางโอกาส ใช้วงเงินทั้งหมด 13 พันล้านยูโร ภายในระยะเวลา 5 ปี เรื่องแรก การจ้างงาน กำหนดใช้งบประมาณ ดังนี้

                   
       5.19 พันล้านยูโร สำหรับสนับสนุน บัณฑิตจบใหม่ 800,000 คนที่ประสบความยากลำบากในการหางาน

                   
       
       2.19 พันล้านยูโร สำหรับเพิ่มจำนวนผู้ฝึกงานให้ครบ 500,000 คนภายในปี 2009 ด้วยการออกมาตรการช่วยเหลือทางภาษีแก่บริษัทที่รับคนไปฝึกงาน และปรับปรุงสถานะของผู้ฝึกงานให้ดีขึ้น

                   
       2 พันล้านยูโร สำหรับการสร้าง ศูนย์กลางการจ้างงาน <> เพื่อเป็น “ผู้เล่นหลัก” ในการจ้างงานในระดับท้องถิ่น และช่วยเหลือ คนว่างงานในการหางาน

                   
       1.73 พันล้านยูโร สนับสนุนให้คนว่างงานสร้างวิสาหกิจใหม่ๆ และใช้ในการออกมาตรการบังคับในกรณีที่ ศูนย์กลางการจ้างงานไม่ยอมจ้างหรือฝึกอบรมตามที่ได้ตกลงไว้

                   
       928 ล้านยูโร ให้แก่ ศูนย์การจ้างงานแห่งชาติ (L'Agence Nationale Pour l'Emploi, ANPE) ใช้ในการขยายสาขาออกไปให้มากขึ้น


                   
       ในเรื่องการจ้างงานนี้มีมาตรการหนึ่งที่น่าสนใจและสำคัญมาก คือ การสร้างสัญญาที่เรียกว่า le contrat d’activité ซึ่งเป็นสัญญาจ้างแรงงานประเภทหนึ่งในระยะเวลาชั่วคราว 2 ปี สามารถขยายได้อีก 1 ปี แต่ไม่สามารถทำสัญญาใหม่ได้ ร่างก.ม.บังคับให้เวลาของกิจกรรมการงานนั้นอยู่ระหว่าง 26-35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทั้งนี้ ต้องแบ่งเป็นช่วงเวลาทำงานจริงๆและเวลาฝึกอบรมหรือพัฒนาแรงงาน ซึ่งเวลาทำงานจริงๆนั้นต้องไม่เกิน 26 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (คือ 3 ใน 4 ของ 35 ชั่วโมงซึ่งเป็นเวลางานสูงสุดตามก.ม.แรงงานที่นี่) สัญญานี้เป็นประโยชน์กับผู้ที่กำลังหางานครับ ปัจจุบันหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็มีตำแหน่งงานน้อย ทางรัฐบาลจึงกระตุ้นให้เปิดตำแหน่งงานมากขึ้น โดยสร้างสัญญานี้ขึ้นมา แล้วรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะช่วยสนับสนุนในส่วนของเงินเดือน โดยในปีแรก 75% ปีที่สอง 50% และปีที่สาม (ถ้ามี) อีก 25% นอกจากนี้ยังให้เงินอุดหนุนอีกหนึ่งก้อนจำนวน 1,500 ยูโรต่อ 1 สัญญา เบ็ดเสร็จคาดว่าจะใช้เงินถึง 400 ล้านยูโรในปีแรกซึ่งคงเริ่มต้นประมาณ เมษายนปีหน้าและจะขยายถึง 1.3 พันล้านเมื่อครบกำหนดในปี 2007 นายบอร์ลู รมต.แรงงานตั้งเป้าว่า จะใช้มาตรการสัญญานี้เป็นเวลา 4 ปี ตกปีละ 250,000 สัญญา รวมแล้วจะมีผู้ได้รับการจ้างงานตามเงื่อนไขในสัญญาดังกล่าวรวม 1,000,000 คน


                   
       เรื่องที่สอง ที่พักอาศัย จะเร่งการสร้างที่พักอาศัย ให้ครบ 500,000 ที่ภายใน 5 ปี ตั้งเป้าที่ปีละ 120,000 ที่ อันนี้ก็มีข้อกังวลตามมาครับว่าจะทำให้วงการอสังหาริมทรัพย์ปั่นป่วน ราคาที่ดินอาจผันแปรจากการที่รัฐเข้ามาเป็นผู้เล่นหลักในการก่อสร้าง มาตรการดังกล่าวจะสำเร็จหรือไม่ขึ้นกับเงินในกระเป๋าที่รัฐบาลมีอยู่ ราคาที่ดินที่อาจสูงขึ้น และความสมัครใจของบรรดานักการเมืองท้องถิ่นทั้งหลายว่าจะเอาด้วยหรือไม่ เรื่องที่สาม ความเสมอภาคทางโอกาส ร่างก.ม.กำหนดเงินงบประมาณ 600 ล้านยูโร ในการสร้างความเจริญในแต่ละพื้นที่ให้เท่าเทียมกันภายใน 5 ปี นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับเยาวชนด้วยการสร้าง “ทีมเพื่อความสำเร็จทางการศึกษา” กระจายไปในโรงเรียนประถม 750 ทีม และโรงเรียนมัธยม 150 ทีมที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ทางการศึกษาที่ด้อยโอกาสอันเนื่องจากสภาพสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม เพื่อทำหน้าที่ในการสร้างกิจกรรมทางการศึกษาและงานอดิเรกตลอดจนแนะแนวและให้คำปรึกษา รวมทั้งสร้าง 300 จุดรับฟังความเห็นและปัญหาของเยาวชนภายใน 3 ปี ในส่วนของการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม จะใช้มาตรการทางก.ม.ที่เกี่ยวกับการต่อต้านการเหยียดผิว และสนับสนุนให้เกิดการยอมรับในความแตกต่างของกันและกันในแต่ละบริษัท ปัจจุบันในหลายๆบริษัทมักเกิดเหตุการณ์เลือกปฏิบัติในการรับคนเข้าทำงานอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา และสีผิว รัฐบาลจึงเร่งผลักดันให้มีก.ม.ต่อต้านการเหยียดผิวซึ่งกำหนดโทษทางอาญาแก่ผู้กระทำผิด และรณรงค์ให้บริษัทเอกชนร่วมลงนามในกฎบัตรว่าด้วยการยอมรับความหลากหลายเพื่อผูกมัดตนเองว่าจะไม่นำประเด็นเรื่องความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมและสีผิวมาเป็นเกณฑ์ตัดสินในการรับคนเข้าทำงานและกำหนดขั้นเงินเดือน


                   
       นายบอร์โลบอกว่า มาตรการชุดนี้เป็นการเตรียมความพร้อมสู่วันข้างหน้า ด้วยการเน้นหนักไปที่เยาวชนและคนหนุ่มสาวที่พึ่งสำเร็จการศึกษาให้มีงานทำและได้พัฒนาฝีมือแรงงาน ตลอดจนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม ร่างก.ม.นี้มุ่งสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับความเป็นธรรมทางสังคม เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนนั้นจำเป็นต้องตั้งอยู่บนรากฐานของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคมนั่นเอง ตอนนี้ร่างก.ม.ก็ได้ผ่านความเห็นชอบจากครม.เรียบร้อยไปแล้ว จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในเดือน ต.ค. และสภาผู้แทนราษฎรในเดือน พ.ย. (กระบวนการนิติบัญญัติของฝรั่งเศสจะเริ่มที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาก็ได้ซึ่งต่างจากบ้านเราที่ต้องนำร่างพ.ร.บ.เข้าสู่สภาผู้แทนฯก่อน) ตามที่รัฐบาลตั้งใจให้มาตรการต่างๆเหล่านี้มีผลบังคับใช้ให้ทันในเดือน ธ.ค.


                   
       กล่าวสำหรับนายบอร์โลวัย 53 ปีผู้นี้ พึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นรมต.แรงงานเมื่อเดือนมี.ค. 2004 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม แม้บอร์โลจะเข้ามาใหม่แต่ก็เป็นหมายเลข 4 ของครม.ชุดนี้ถัดจาก นายกรัฐมนตรี นาย ฌอง ปิแอร์ ราฟฟาแร็ง, รมต. คลัง นิโกลาส์ ซาร์โกซี่ และรมต.มหาดไทย โดมินิก เดอวิลล์แปง ภายหลังที่พรรค UMPประสบความพ่ายแพ้อย่างยับเยินในการเลือกตั้งในระดับแคว้น (l’é lection ré gionale) ประธานาธิบดีชีรัคและนายกฯราฟฟาแร็ง ได้ปรับครม.ในหลายตำแหน่ง กระทรวงแรงงานเป็นหนึ่งในกระทรวงที่ถูกปรับเปลี่ยน เดิมนาย ฟร็องซัวส์ ฟียงนั่งว่าการอยู่แต่เจอมรสุมจากนโยบายขยายระยะเวลาเกษียณอายุ เลยโดนเด้งไปนั่งกระทรวงศึกษา ชีรัคเลยไปตามนายบอร์โลซึ่งเป็นหนึ่งในพลพรรค chiraquien ที่ตนโปรดปรานมากเข้ามารับตำแหน่ง ผลงานสร้างชื่อที่ผ่านมาของแกคือ การแก้ปัญหาการว่างงานในย่านวาลองเซียนส์ (เป็นเมืองทางตอนเหนือ อยู่ใกล้ๆกับลีลล์ ติดกับพรมแดนประเทศเบลเยียม) ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันและการปิดโรงงานจำนวนมากในช่วงทศวรรษที่70 ชีรัคเองถึงกับเดินทางไปเยี่ยมเยียนแสดงความยินดีในฤดูร้อนเมื่อปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้แกก็มีบทบาทสำคัญในการผลักดันรัฐบัญญัติสำคัญ 2 ฉบับที่เกี่ยวกับทางสังคม ได้แก่ รัฐบัญญัติว่าด้วยหนี้ที่ล้นระบบ และรัฐบัญญัติว่าด้วยการฟื้นฟูเมืองและที่พักอาศัย สำหรับร่างรัฐบัญญัติว่าด้วย แผนงานเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางสังคมนี้เป็นงานชิ้นแรกๆที่บอร์โลให้ความสำคัญเป็นพิเศษ พอรับตำแหน่งได้ไม่นาน บอร์โลก็เริ่มเดินหน้าระดมสมองช่วยกันคิดมาตรการต่างๆเหล่านี้แล้วเดินสายรับฟังความเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ด้านปูมหลังทางการศึกษา บอร์โลจบจากสถาบันขั้นสูงทางธุรกิจ และปริญญาทางปรัชญา ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และกฎหมาย เริ่มทำงานเป็นทนายความประจำกรุงปารีส ต่อมาตั้งสำนักงานทนายความทางธุรกิจเชี่ยวชาญในเรื่องการซื้อคืนวิสาหกิจที่ประสบปัญหา ในทางการเมือง เริ่มต้นจากการได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีที่วาล็องเซียนส์และยังดำรงตำแหน่งเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นสมาชิกสภาแคว้น Nord-Pas-de-Calais ตั้งแต่ 1992-1998 เป็นส.ส.ที่ Nord ตั้งแต่ 1993-2002 เป็นสมาชิกสภายุโรปตั้งแต่ 1989-1992 และร่วมเป็นหนึ่งในทีมงานของชีรัคในการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2002 (อาจสงสัยว่าทำไมเป็นส.ส.พร้อมกับตำแหน่งอื่นๆได้อีก สำหรับนักการเมืองฝรั่งเศสสามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองพร้อมกันได้หลายตำแหน่ง จึงไม่แปลกครับที่คนเดียวเป็นรัฐมนตรี, สมาชิกวุฒิสภา,สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น, สมาชิกสภายุโรป ในเวลาเดียวกัน เช่น นายราฟฟาแรงเป็นทั้ง นายกรัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาแคว้นปัวตู ชารองต์)


                   
       เป็นอย่างไรครับสำหรับมาตรการกระตุ้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของฝรั่งเศส เห็นแล้วรู้สึกมั้ยครับว่ามันสุดแสนจะประชานิยมเหลือเกิน รัฐเข้าไปแทรกแซงเต็มที่โดยเฉพาะในตลาดแรงงาน แต่เราต้องไม่ลืมครับว่าประเทศฝรั่งเศสเป็นรัฐสวัสดิการ เป็นธรรมดาอยู่เองที่รัฐต้องยื่นมือเข้าไปแทรกแซงทางเศรษฐกิจและสร้างหลักประกันทางสังคมให้กับพลเมืองของตนเอง สำหรับตอนต่อไป ถ้าไม่มีประเด็นอื่นๆที่น่าสนใจเข้ามาแทรก ผมตั้งใจจะพาผู้อ่านไปรู้จักกับนายนิโกลาส์ ซาร์โกซี่ รมต.กระทรวงการคลังและเศรษฐกิจ อดีตรมต.มหาดไทย หมายเลข 2 ของคณะรัฐมนตรี ผู้หาญกล้ามาเปิดศึกกับประธานาธิบดีฌาคส์ ชีรัค เกจิการเมืองที่นี่กล่าวกันว่าถ้าพรรคสังคมนิยมยังหามวยพอฟัดพอเหวี่ยงมาเปรียบไม่ได้ ซาร์โกซี่จากพรรค UMP ผู้นี้แหละจะเป็นประธานาธิบดีในปี 2007 ลองเปลี่ยนบรรยากาศมาว่าเรื่องการเมืองกันบ้าง แล้วพบกันคราวหน้าครับ


 
 
๓๐ ปีกฎหมายการทำแท้งเสรีในฝรั่งเศส โดย อ. ปิยบุตร แสงกนกกุล
หลักกฎหมายปกครองทั่วไป : ทางออกในการอุดช่องว่างกฎหมายปกครองไทย โดย นางสาวปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
บทวิเคราะห์ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ โดย อาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล
การทับซ้อนของเขตอำนาจศาลปกครองและศาลยุติธรรมฝรั่งเศส : ศึกษากรณีบริการสาธารณะ โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
การอยู่ร่วมกันของบุคคลในความสัมพันธ์ในด้านครอบครัวตามกฎหมายฝรั่งเศส โดย นางสาวปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
   
 
 
 
สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมของผู้มีรสนิยมร่วมเพศในมุมมองกฎหมายฝรั่งเศสและกฎหมายสิทธิมนุษยชนยุโรป โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
การทับซ้อนของเขตอำนาจศาลปกครองและศาลยุติธรรมฝรั่งเศส : ศึกษากรณีบริการสาธารณะ โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
ศาลรัฐธรรมนูญและคดีรัฐธรรมนูญโปรตุเกส โดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
คำแปลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐโปรตุเกส (เฉพาะมาตราที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญ) โดยอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
ความรับผิดชอบทางอาญาของประธานาธิบดีฝรั่งเศส โดยนางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม
สหภาพยุโรปและการเลือกปฏิบัติ : กรณีการรับสมัครคนสูบบุหรี่เข้าทำงาน โดย คุณพิมพ์ดาว จันทรขันตี
การมีส่วนร่วมของประชาชนในฝรั่งเศส : การอภิปรายสาธารณะ (Le débat public) โดย คุณวรรณภา ติระสังขะ
ตุลาการศาลปกครองกับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม(ตามหลัก équité) โดยคุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์
La France : Le pays où la rue joue le rôle important (เสียงเรียกร้องจากท้องถนน) โดยนางสาวกิตยาภรณ์ ประยูรพรหม
“หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” อาวุธทรงพลังในหมู่ “ลูกแกะ” โดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544