หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 300
23 กันยายน 2555 20:21 น.
สำหรับวันจันทร์ที่ 24 กันยายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม 2555
       
       “6 ปีรัฐประหาร”
        
       
                 วันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบ 6 ปีของการรัฐประหารครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2549
                 ผมเขียนบทบรรณาธิการนี้ในวันที่ 19 กันยายน 2555 วันที่ 19 กันยายนปีนี้เป็นวันที่ดูเงียบๆ ไม่ค่อยมีผู้คนออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการรัฐประหารกันมากนัก คงเป็นเพราะในช่วงเวลานี้มีเรื่องสำคัญๆ เกิดขึ้นมากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการที่ศาลอาญามีคำสั่งกรณีนายพัน คำกอง คนขับรถแท็กซี่ถูกยิงเสียชีวิตแถวเขตราชเทวีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ว่า เกิดจากการถูกลูกกระสุนปืนขนาด .223 จากอาวุธปืนที่ไว้ใช้ในราชการสงครามที่เจ้าพนักงานทหารร่วมกันยิงไปที่รถตู้แล้วลูกกระสุนปืนไปถูกผู้ตายถึงแก่ความตายในขณะเจ้าพนักงานทหารกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบปิดล้อมพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่ส่อเค้าว่าจะมีปัญหาตามมาอีกมากมายเพราะแม้เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเป็นผู้ใช้อาวุธจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับโทษทางอาญาตามพระราชกำหนดว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แต่ผู้มีอำนาจสูงสุดของ ศอฉ. ในขณะนั้นจะต้องรับผิดชอบหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่ต้องตามดูกันต่อไป หรือเรื่องที่คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) แถลงรายงานฉบับสมบูรณ์ของ คอป. ไปเมื่อวันจันทร์ที่ 17 กันยายนที่ผ่านมานี้ก็มีเสียงรี้รวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมายครับ ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้ถือได้ว่าเป็น “ผลพวง” ของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
                 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร 19 กันยายนนั้น รายงานฉบับสมบูรณ์ของ คอป. ได้กล่าวไว้ในหลายส่วนด้วยกัน เช่นในบางส่วนของหน้า 53 ถึงหน้า 59 กล่าวถึง “ที่มา” ของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เอาไว้ว่า ..... ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 พรรคไทยรักไทยนำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งและได้จัดตั้งรัฐบาล และมีการยุบรวมเอาพรรคการเมืองที่มีขนาดเล็กกว่า อาทิ พรรคความหวังใหม่ พรรคเสรีธรรม เข้ามาร่วมด้วย ทำให้พรรคไทยรักไทยมี ส.ส. 319 คน เมื่อไปร่วมกับพรรคชาติไทย 24 คน และพรรคความหวังใหม่ที่เหลืออีก 1 คน ทำให้ฝ่ายรัฐบาลมีเสียงในสภาผู้แทนฯมากถึง 344 เสียง ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นฝ่ายค้านมีเพียง 128 เสียงเท่านั้น การบริหารประเทศโดยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยถูกกล่าวหาว่าเป็น “เผด็จการรัฐสภา” หรือ “เผด็จการเสียงข้างมาก” ใช้เสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จโดยไม่เคารพเสียงข้างน้อย  เหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญตั้งแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ จนถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ๒๕๕๓ โดยเฉพาะในช่วงของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยนั้น รัฐบาลถูกกล่าวหาว่าละเมิดหลักการประชาธิปไตย หลักนิติธรรม คุณธรรมและสิทธิมนุษยชน ใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองและธุรกิจ แต่ระบบตรวจสอบกลับอ่อนแอและขาดประสิทธิภาพและถูกกล่าวหาว่าถูกแทรกแซงโดยฝ่ายบริหาร จนทำให้ผู้นำกองทัพรัฐประหารในปี 2549 ซึ่งเป็นการใช้อำนาจนอกระบบในการแก้ปัญหาและเป็นการละเมิดหลักประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง แทนที่จะเป็นการแก้ไขปัญหาทางการเมือง การรัฐประหารกลับกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองขยายตัว มีความซับซ้อนและเป็นบาดแผลทางการเมืองที่ร้าวลึกมาจนถึงปัจจุบัน  ยิ่งไปกว่านั้น อำนาจตุลาการซึ่งควรต้องมีบทบาทและหน้าที่ในการผดุงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม กลับไม่สามารถทำหน้าที่ในการยุติความขัดแย้งทางการเมืองได้ และยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นผู้ละเมิดหลักนิติธรรมเสียเอง กรณีจึงกลายเป็นปัญหารากเหง้าและปมปัญหาของความขัดแย้งในระยะเวลาต่อมานั่นคือปัญหาอันเกิดจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2544 ในคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 295 หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “คดีซุกหุ้น” ที่ศาลรัฐธรรมนูญมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักแห่งกฎหมาย กล่าวคือ แม้ศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้นจะได้วินิจฉัยในประเด็น “เงื่อนไขให้อำนาจดำเนินคดี” (Prerequisite for Prosecution) ซึ่งเป็น “เงื่อนไขที่ต้องพิจารณาก่อน” (Prerequisite) ไว้ถูกต้องแล้ว โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 11 คนเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนตุลาการอีก 4 คนเห็นว่าคดีดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยก็ตาม แต่ในชั้นพิจารณาชี้ขาดในเนื้อหาของคดีนั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 7 คน ได้วินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ทำผิดในคดีซุกหุ้นจริง ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 6 คนวินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้กระทำผิดในข้อกล่าวหา แต่ที่น่าประหลาดก็คือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวนอีก 2 คนที่เคยลงมติว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ลงไปวินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาของคดีแต่อย่างใด ซึ่งขัดต่อหลักการวินิจฉัยคดีที่ตุลาการจะงดเว้นที่จะวินิจฉัยไม่ได้เว้นแต่จะได้แถลงถอนตัวเสียตั้งแต่แรก เท่านั้นไม่พอศาลรัฐธรรมนูญยังได้นำเอาคะแนนเสียง 2 เสียงหลังนี้ไปรวมคะแนนเสียงจำนวน 6 เสียงที่วินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้กระทำผิดในข้อกล่าวหาว่า “ซุกหุ้น” นับรวมเป็น 8 เสียง แล้วสรุปเป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดยกฟ้อง ด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 7 เสียง การปฏิบัติของศาลรัฐธรรมนูญในคดีดังกล่าวนี้จึงมีความไม่ชอบมาพากลและยากที่ประชาชนทั่วไปจะเข้าใจได้ ทั้งบรรยากาศของบ้านเมืองในขณะนั้นดูจะไม่เอื้อต่อการที่จะทำความเข้าใจในหลักกฎหมายอันถูกต้องด้วย เพราะกระแสสังคมในบ้านเมืองในระหว่างการดำเนิน “คดีซุกหุ้น” เป็นไปในทิศทางที่มีการคาดหวังในตัวบุคคลอย่างรุนแรงมากจนทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเกิดหวั่นไหวในการทำหน้าที่เลยทีเดียว .....
                   ต่อมาในการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในขณะนั้น ถูกตั้งข้อสังเกตในความไม่เป็นกลางและการเอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคการเมืองบางพรรค โดยภายหลังการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. 96 คน พรรคชาติไทย 25 คน และพรรคมหาชน 2 คน ทำให้ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค หลังจากนั้นพรรคประชาธิปัตย์ได้เลือกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคแทน ขณะที่พรรคไทยรักไทยได้ใช้นโยบาย “ประชานิยม” รอบสอง เพื่อหาเสียงสนับสนุนจนผู้สมัครของพรรคได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ถึง 377 คน จากจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 500 คนด้วยคะแนนเสียงกว่า 19 ล้านเสียงทั่วประเทศ ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้งเป็นสมัยที่ 2 ในวันที่ 9 มีนาคม 2548
                   ต่อมาได้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ ภายในพรรคไทยรักไทย มีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นต่างๆ โดยเฉพาะกรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์  9000 (CTX 9000) ในโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมต้องพ้นจากตำแหน่งหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และเกิดการต่อต้านจากประชาชนจากเหตุ “ปมปัญหา” ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้อำนาจ “เผด็จการรัฐสภา” หรือกระแสข่าวด้านลบในการบริหารราชการแผ่นดินและนโยบายของรัฐบาล อาทิ คดีซุกหุ้น การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม การทุจริตหรือคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ผลประโยชน์ทับซ้อน การดำเนินการตามนโยบายปราบปรามยาเสพติดที่มีผลทำให้ในช่วงระยะเวลาเพียงสองเดือนมีต้องสงสับว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติดถูกสังหารโดยมีพยานหลักฐานว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ฆ่าตัดตอน” ไปกว่า 2,500 คน ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ความรุนแรงที่เกิดจากเจ้าหน้าที่ในกรณีกรือเซะ-ตากใบ และการบังคับให้ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้แบ่งแยกดินแดนจำนวนมากหายสาบสูญ การแทรกแซงเสรีภาพของสื่อมวลชน เป็นต้น มีผลทำให้ภาคประชาชนและสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างกว้างขวาง .....
                   ..... หนึ่งในสื่อมวลชนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คือ รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ของสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ซึ่งเป็นรายการวิเคราะห์ข่าว มีพิธีกร คือ นายสนธิ ลิ้มทองกุล และนางสาวสโรชา พรอุดมศักดิ์ ต่อมารายการเมืองไทยรายสัปดาห์ถูกระงับการออกอากาศ นายสนธิ ลิ้มทองกุล จึงได้จัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรขึ้นในพื้นที่สาธารณะและถ่ายถอดรายการออกสื่อในเครือผู้จัดการ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์และเว็บไซต์ โดยได้รับการตอบรับจากประชาชนกลุ่มที่ไม่พอใจรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำนวนมาก ทำให้เกิดแนวร่วมและจัดตั้งเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “พธม.”) ขึ้นในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2549 ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนต่างๆ โดยมีแกนนำ พธม. ประกอบด้วยนายสนธิ ลิ้มทองกุล พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายพิภพ ธงไชย นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ และนายสมศักดิ์ โกศัยสุข มีข้อเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากปมปัญหาพฤติกรรมการซุกหุ้นรอบ 2 ในการขายหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กว่า 73,000 ล้านบาท ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และข้อกล่าวหาการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายและผลประโยชน์ทับซ้อน นำมาซึ่งการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเมืองใหญ่ๆ โดยการนำของ พธม. ซึ่งใช้สัญลักษณ์ “เสื้อเหลือง” ในการชุมนุมและรณรงค์
                   ท่ามกลางมรสุมทางการเมือง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่ พธม. จัดชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2549 ยืนยันให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งและให้มีกระบวนการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 ก่อนที่จะมีการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ต่อมา พธม.ได้มีข้อเสนอให้ใช้มาตรา 7 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่บัญญัติว่า “เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” โดยได้ขอพึ่งบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อทรงพระกรุณาใช้พระราชอำนาจตามนัยแห่งมาตรา 7 พระราชทานนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อให้เกิดกระบวนการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 แต่ไม่ได้รับการตอบรับในข้อเรียกร้องดังกล่าว
                   การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 พรรคฝ่ายค้าน ประกอบด้วยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงกว่า 16 ล้านเสียง คิดเป็นคะแนนกว่าร้อยละ 50 ของผู้มาลงคะแนนเสียงทั้งหมด ขณะเดียวกันมีการรณรงค์ No Vote เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการจัดการเลือกตั้งในครั้งนี้ โดยมีคะแนน No Vote ถึง 9 ล้านเสียง ท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ด้วยเหตุผลว่าการดำเนินการเลือกตั้งของ กกต. มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และกรณีที่กล่าวหาว่าพรรคเพื่อไทยจ้างวานพรรคการเมืองขนาดเล็กลงเลือกตั้ง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้ร้องเรียน กกต. ในด้านพรรคไทยรักไทยก็ได้ร้องเรียนว่าพรรคประชาธิปัตย์จ้างพรรคเล็กใส่ร้ายพรรคไทยรักไทยเช่นกัน กกต. ได้ลงความเห็นว่า  พรรคไทยรักไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า กระทำความผิดตามาตรา 66 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 และได้ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองทั้ง 5 พรรค
                   เกิดเหตุการณ์ที่ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวหาว่ามีผู้พยายามลอบสังหาร พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยการใช้รถยนต์บรรทุกระเบิดหรือคาร์บอมส์ ในวันที่ 24 สิงหาคม 2549 จากการสอบสวนขยายผลได้มีการจับกุม ร.ท.ธวัชชัย กลิ่นชะนะ สังกัดกองบัญชาการกองทัพบกช่วยราชการ กอ.รมน. พล.ต.ไพโรจน์ ธีระภาพ พ.อ.สุรพล สุประดิษฐ์ หรือเสธ.ตี๋ จสต.ชาคริต จันทระ หรือจ่ายักษ์ ช่วยราชการ กอ.รมน. และ พ.ท.มนัส สุขประดิษฐ์ โดยมีเพียง จสต.ชาคริต จันทระ ที่สารภาพในชั้นสอบสวนถึงแผนการลอบสังหาร หลังเหตุการณ์ดังกล่าว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี รองผอ.กอ.รมน. พ้นจากหน้าที่ทันทีในวันดังกล่าว
                   ท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมือง ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ นครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ได้เกิดการรัฐประหารขึ้น เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยผู้นำเหล่าทัพที่เรียกตนเองว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข .....”
                 เป็นอย่างไรกันบ้างครับ รื้อฟื้นความจำกับรายงานฉบับสมบูรณ์ของ คอป. ในช่วงเวลาที่คุณทักษิณฯ เรืองอำนาจเรื่อยมาจนกระทั่งถึงขาลง ต่อมาในหน้า 209 ของรายงานฉบับสมบูรณ์ของ คอป. ก็ได้กล่าวถึง “การเกิดขึ้น” ของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เอาไว้ว่า ..... คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้กระทำการ “รัฐประหาร” ยึดอำนาจการปกครองของรัฐบาลที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ ในระหว่างที่เดินทางไปราชการต่างประเทศ โดยมี พล.อ. สนธิ บุณยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้า
                   แม้การรัฐประหารดังกล่าวจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนบางส่วน โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครที่เบื่อหน่ายต่อปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง อันเนื่องมาจากการบริหารราชการของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และการเลือกตั้งที่ผ่านมา โดยไม่เห็นหนทางอื่นที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว แต่การรัฐประหารเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรง ทั้งนี้เพราะสังคมมีความเชื่อว่าการรัฐประหารเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ปกติและไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยซึ่งทำให้เกิดการไม่ยอมรับขึ้น แม้ว่าจะมีข้ออ้างว่าหากไม่ทำการรัฐประหารอาจเกิดความรุนแรงที่มีความรุนแรงและเสียหายมากกว่าก็ตาม ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ความรุนแรงเพื่อหยุดยั้งความรุนแรงซึ่งก็เป็นการสร้างความรุนแรงอยู่ดี อีกทั้งยังนำไปสู่การตั้งข้อสงสัยต่อความเป็นนิติรัฐของประเทศ จากบทบาทของทหารที่เข้ามาแทรกแซงการเมืองในประเทศไทยอย่างชัดเจน อันส่งผลลบต่อพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย……….
                   ยังมีอะไรอีกมากมายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับสมบูรณ์ของ คอป. แต่สำหรับบางส่วนของรายงานฉบับสมบูรณ์ของ คอป.ที่นำมาเสนอไว้ข้างต้นนั้นอย่างน้อยก็แสดงให้เห็นถึง “ที่มา” และ “การจัดทำ” รัฐประหารที่ได้กลายมาเป็น “บ่อเกิด” ของความขัดแย้งและความแตกแยกที่เกิดขึ้นในประเทศไทยทุกวันนี้จนทำให้คนจำนวนหนึ่งมองว่าไม่มีทางเยียวยาหรือแก้ไขใดๆ ได้อีกแล้ว
                 ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมคงยังไม่ไปวิพากษ์วิจารณ์รายงานฉบับสมบูรณ์ของ คอป. เพราะคงต้องใช้เวลาศึกษาพอสมควรทั้งๆ ที่เมื่ออ่านจบแล้วผมก็มีความรู้สึกไม่ชอบใจในหลายๆ ส่วน แม้ที่ได้นำเสนอไปบางส่วนข้างต้นก็มีข้อความแปลๆ  เช่น ..... ทั้งนี้เพราะสังคมมีความเชื่อว่าการรัฐประหารเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ปกติและไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ..... ไม่ใช่สังคมมีความเชื่อนะครับ !! นักกฎหมายทุกคนทราบดีว่า การรัฐประหารเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายนะครับ ไม่เชื่อลองดูในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ก็ได้ครับ
                 ผมคงไม่มีอะไรเขียนมากเกี่ยวกับเรื่อง 6 ปีของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพราะได้เคยเขียนไปทุกปีที่เป็นวันครบรอบรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 274 ล่าสุดที่ได้เผยแพร่ไปเมื่อวันจันทร์ที่ 26 กันยายน 2554 ผมได้เขียนเรื่อง “5 ปีรัฐประหาร” ไปยาวพอสมควรเช่นกัน เวลา 1 ปีที่ผ่านไปไม่มีอะไรดีขึ้น ความขัดแย้งในสังคมยังคงอยู่และนับวันจะยิ่งแตกแยกมากขึ้น มีเพียงเหตุการณ์เดียวในรอบปีที่ผ่านมาที่ทำให้เราทราบว่า การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นั้นล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าและไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศดังที่หัวหน้าคณะรัฐประหารได้แถลงเอาไว้หลายต่อหลายครั้งในช่วงของการรัฐประหาร เหตุการณ์ดังกล่าวคือการที่หัวหน้าคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 “น่าจะ” มีความรู้สึกเสียใจในสิ่งที่ตนเองทำไปจึงได้กลายมาเป็น “ผู้นำ” ของ “การปรองดอง” โดยเป็นผู้เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติและต่อมาก็เป็นผู้เสนอร่างกฎหมายว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่ได้นึกเลยว่าตัวเองเป็นคนก่อให้เกิดปัญหาและความยุ่งยากตามมาจนแทบจะเรียกได้ว่า เป็นผู้ทำลายความก้าวหน้าของประเทศไทยไปแล้วตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549
                 เนื่องในโอกาสวันครบรอบ 6 ปีรัฐประหาร ผมต้องขอแสดงความเสียใจกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทยของเราจากการกระทำของคณะรัฐประหารเพราะบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ทำลายชื่อเสียงของประเทศ เป็นผู้ทำลายความเชื่อมั่นของนานาประเทศที่มีต่อประเทศไทย เป็นผู้ทำลายระบอบประชาธิปไตย เป็นผู้ทำลายระบบกฎหมาย เป็นผู้ทำลายระบบเศรษฐกิจ เป็นผู้ทำลายระบบการเมือง เป็นผู้ทำลายความสามัคคีของคนในชาติ และอื่นๆ อีกมากมาย
                 แค่นี้คงพอแล้วที่จะทำให้คณะรัฐประหารและผู้เกี่ยวข้อง “ตายตาไม่หลับ” นะครับ
                
                 ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 4 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของอาจารย์ปีดิเทพ อยู่ยืนยง นักวิจัยประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดอมงฟอร์ต สหราชอาณาจักร ที่เขียนเรื่อง "เกร็ดความรู้เกี่ยวกับอำนาจท้องถิ่นของอังกฤษในการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่บริเวณพื้นที่ชุมชนเมือง" บทความที่สอง เป็นบทความเรื่อง "ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและศาสนา" ที่เขียนโดยอาจารย์เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บทความที่สามเป็นบทความของคุณวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการอิสระ ที่เขียนเรื่อง "คอป. เห็น ‘ตุลาการ’ ชัดกว่า ‘ชายชุดดำ’" และบทความสุดท้ายเป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ ที่เขียนเรื่อง "รัฐประหารกันยา 49 โอกาสในวิกฤติ" ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆ บทความด้วยครับ
       
                 พบกันใหม่วันจันทร์ที่  3 ตุลาคม 2555 ครับ 
       
                 ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544