หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 109
30 พฤษภาคม 2548 10:23 น.
"การออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญของสหภาพยุโรปที่ฝรั่งเศส"
       ผมเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยได้หนึ่งสัปดาห์แล้วครับ เสียดายที่รีบกลับมาก่อนเลยพลาดกิจกรรมน่าสนใจที่ประเทศฝรั่งเศสไป 2-3 อย่าง แต่ก็ไม่เป็นไรครับ เพราะข้างหน้าโอกาสยังมีอยู่อีกมาก
       ช่วงสุดท้ายที่ผมอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส คือ ช่วงประมาณ วันที่ 15 – 20 เดือนพฤษภาคม เป็นช่วงที่การเมืองค่อนข้างร้อนแรงพอสมควร เพราะว่าเมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ประเทศฝรั่งเศสเขามีการ “ออกเสียงประชามติ” กันครับ
       หลายคนที่เป็น “แฟนประจำ”ของ www.pub-law.net คงจำกันได้ว่า เมื่อปีที่ผ่านมา ผมได้เล่าผ่านบทบรรณาธิการไปถึงเรื่อง “รัฐธรรมนูญแห่งยุโรป” ว่าร่างกันเสร็จแล้ว และเขาก็ประสงค์ที่จะให้มีผลใช้บังคับโดยเร็วที่สุดครับ แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งยุโรปจะมีสถานะที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ ดังนั้น จึงต้องมีการกระบวนการให้แต่ละประเทศ “รับรอง” รัฐธรรมนูญแห่งยุโรปเสียก่อน ซึ่งบางประเทศก็ใช้วิธีการทางรัฐสภาโดยการให้รัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบ และในบางประเทศก็ใช้วิธีสอบถามความเห็นประชาชนด้วยการออกเสียงแสดงประชามติครับ
       คงต้องเล่าให้ฟังกันก่อนถึงความเป็นมาของรัฐธรรมนูญแห่งยุโรปครับ รัฐธรรมนูญแห่งยุโรป (la Constitution Européenne) นั้น เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ.2001 จากแนวความคิดของกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปจำนวน 15 ประเทศ ที่ต้องการมี “หลักเกณฑ์กลาง” ที่ใช้ร่วมกัน ดังนั้นจึงได้จัดทำข้อตกลงร่วมกันและตั้งคณะทำงานร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาคณะหนึ่ง มีจำนวน 105 คน คณะทำงานดังกล่าวมีที่มาจากตัวแทนของรัฐบาลและรัฐสภาของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป กับตัวแทนของประเทศที่สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติให้เข้ามาเป็นสมาชิก) รวมทั้งตัวแทนของสภายุโรปและคณะกรรมาธิการ คณะทำงานชุดนี้มีอดีตประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส คือ นาย Valéry Giscard d’Estaing ทำหน้าที่เป็นประธาน คณะทำงานเริ่มลงมือร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2002 และแล้วเสร็จภายหลังจากนั้น 16 เดือน คือในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2003 ภายหลังผ่านกระบวนการพิจารณาโดยสภายุโรปและรัฐสมาชิก รัฐสมาชิกทั้งหมด 25 รัฐก็ได้ลงนามรับรองรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ.2004 จากนั้นบรรดารัฐสมาชิกทั้งหมดจะต้องให้สัตยาบันไม่ว่าจะเป็นด้วยวิธีการออกเสียงแสดงประชามติหรือโดยการลงมติของรัฐสภาให้แล้วเสร็จทุกรัฐภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ.2006
       สำหรับความมุ่งหมายของการมีรัฐธรรมนุญแห่งยุโรปนั้น ว่ากันว่า การมีรัฐธรรมนูญแห่งยุโรปถือเป็นการกำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์สำคัญในการร่วมกันสร้างยุโรปให้แข็งแกร่ง เพราะในปัจจุบันรัฐสมาชิกทั้ง 25 รัฐ นั้นมีประชากรรวมกันกว่า 450 ล้านคน มีทรัพยากรธรรมชาติ มีผลผลิต และมีสิ่งอื่น ๆ อีกมากที่เมื่อนำมารวมเข้ากันแล้วก็จะทำให้ยุโรปนั้นยิ่งใหญ่ขึ้นและมีอำนาจ “ต่อรอง” กับมหาอำนาจใหญ่ ๆ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา และ จีน ได้อย่างสบายครับ
       สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญแห่งยุโรปก็มีอยู่มากมายหลายส่วน เริ่มต้นก็มีการกำหนดรูปแบบสัญลักษณ์แทนยุโรป คือ ธงน้ำเงิน มีดาวสีเหลือง 12 ดวงทำเป็นรูปวงกลมอยู่ตรงกลาง และเพลงประจำยุโรปซึ่งตัดตอนมาจากส่วนท้าย(และเป็นส่วนที่เพราะที่สุด)ของ Symphonie หมายเลข 9 in D minor, op.125 ที่แต่งโดย Ludwig Van Beethoven (1770-1827) ที่ชื่อว่า Ode to Joy ครับ จากนั้นในหมวดต่าง ๆ ก็จะเป็นการบัญญัติถึงเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองและหลักประกัน โครงสร้างของสถาบันต่าง ๆ แห่งยุโรปพร้อมอำนาจหน้าที่ การเงินการคลังของยุโรป สิ่งแวดล้อม และการประกอบธุรกิจทั้งระดับประเทศสมาชิกและพลเมืองของรัฐสมาชิกครับ
       ที่ผ่านมา มีรัฐสมาชิกหลายรัฐได้ให้สัตยาบันในรัฐธรรมนูญแห่งยุโรปไปแล้ว เช่น ประเทศอิตาลี กรีซ ฮังการี ลิทัวเนีย เยอรมัน และสเปน ส่วนประเทศฝรั่งเศสก็เพิ่งผ่านการให้สัตยาบันโดยวิธีการให้ประชาชนออกเสียงประชามติไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 ที่ผ่านมา ซึ่งบทบรรณาธิการนี้เขียนก่อนล่วงหน้าหลายวัน จึงทำให้ยังไม่ทราบผลของการออกเสียงประชามติครับ แต่คาดว่าชาวฝรั่งเศสน่าจะลงคะแนนเสียงไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญแห่งยุโรปนี้ ส่วนประเทศอื่น ๆ ต่างก็ทยอยกันให้สัตยาบัน ซึ่งบางประเทศก็มีการกำหนดวันไว้แล้ว เช่น ในวันที่ 1 มิถุนายน 2005 ประเทศเนเธอร์แลนด์จะมีการออกเสียงประชามติ  ในวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ.2005 ประเทศลักซัมเบอร์ก ก็จะมีการออกเสียงประชามติ เป็นต้น ผมเข้าใจว่าประเทศสุดท้ายที่จะให้สัตยาบัน ก็คือ ประเทศอังกฤษที่จะให้ประชาชนออกเสียงประชามติกันในช่วงกลางปีหน้าครับ ผมลืมบอกไปอย่างหนึ่งก็คือ ตามข้อตกลงที่มีขึ้น ประเทศทั้ง 25 ประเทศของสหภาพยุโรปต้องให้สัตยาบันกับรัฐธรรมนูญแห่งยุโรปครับ หากมีประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ให้สัตยาบัน รัฐธรรมนูญแห่งสหภาพยุโรปก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ครับ เพราะฉะนั้น ก็เลยเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ประเทศสำคัญ ๆ ที่เป็นแกนนำของการจัดตั้งสหภาพยุโรป เช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี วิตกกันมากว่าประชาชนของตนจะเห็นด้วยหรือไม่กับการมีรัฐธรรมนูญแห่งยุโรปครับ
       กลับมาสู่เหตุการณ์ในฝรั่งเศสก่อนที่ผมจะเดินทางกลับมาประเทศไทยกันดีกว่าครับ บรรยากาศค่อนข้างน่าสนใจและท้าทายมาก เพราะบรรดาประเทศแกนนำอย่าง เยอรมันและอิตาลี ต่างก็ผ่านการให้สัตยาบันต่อรัฐธรรมนูญแห่งยุโรปไปแล้ว ที่ฝรั่งเศส ผมมีโอกาสได้ดูโทรทัศน์ที่ฝ่ายเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญยุโรป และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ต่างก็ออกมาแสดงเหตุผลโต้กันอย่างดุเดือด แม้แต่ประธานาธิบดีเองก็ยังออกโทรทัศน์มาเชิญชวนให้ประชาชนไปออกเสียงเห็นชอบด้วยกับรัฐธรรมนูญยุโรปหลายรอบ โดยในรอบสุดท้ายเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม ประธานาธิบดีได้แสดงความ "ระแวง" อย่างมากโดยขอให้ประชาชนที่ไม่ชอบรัฐบาลอย่า "พาล" ไปออกเสียงไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญแห่งยุโรป เพราะต้องการต่อต้านรัฐบาลที่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญแห่งยุโรปครับ ส่วนหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ก็มีการแบ่งค่ายกันอย่างชัดเจน การแบ่งค่ายของสื่อที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสก็เป็นไปตามธรรมชาติของการเมืองส่วนใหญ่ โดยพรรคฝ่ายรัฐบาลก็จะมีความเห็นไปในทางเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญแห่งยุโรป ในขณะที่พรรคฝ่ายค้านก็จะออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการมีรัฐธรรมนูญแห่งยุโรปครับ ใครที่อยู่ในบรรยากาศดังกล่าวก็คงรู้สึกเช่นเดียวกับผม คือ น่าสนใจและสนุกครับ
       ผมมีโอกาสได้เห็นเอกสารจำนวนมากเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติครั้งนี้ครับ คงเล่าให้ฟังไม่หมดครับ ผมจะเริ่มจากเอกสารที่เป็นทางการก่อน คือ เอกสารของรัฐบาล รัฐบาลจัดส่งรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ไปให้ประชาชนที่บ้าน พร้อมทั้งส่งคำถามที่จะให้ประชาชนไปออกเสียงประชามติไปด้วย ซึ่งคำถามก็คือ ท่านจะรับรองร่างรัฐบัญญัติให้สัตยาบันสนธิสัญญาก่อตั้งรัฐธรรมนูญแห่งสหภาพยุโรปหรือไม่ คำถามดังกล่าว ประชาชนต้องตอบ oui หรือ non คือ รับรอง หรือ ไม่รับรอง ครับ (ในเอกสารของรัฐบาลมีบัตรลงคะแนน oui กับ non มาด้วยอย่างละ 1 ใบ)



นอกจากเอกสารของรัฐบาลที่ส่งไปถึงประตูบ้านแล้ว บรรดาพรรคการเมืองต่างก็ทำใบปลิวออกมาแสดงเหตุผลของจุดยืนของพรรคที่จะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนรัฐธรรมนูญแห่งยุโรป หนังสือพิมพ์หลาย ๆ ฉบับ ทำฉบับพิเศษออกมาขาย ซึ่งก็มีทั้งดีและไม่ดี ที่ดีก็คือ Le monde ฉบับพิเศษ ที่ดึงเอาประเด็นสำคัญ ๆ ในรัฐธรรมนูญออกมา แล้วก็มีการให้ทั้ง 2 ฝ่ายมาให้ความเห็นสนับสนุนหรือคัดค้านในแต่ละประเด็น หนังสือพิมพ์บางเล่มก็ทำฉบับเล็ก ๆ สรุปสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญแห่งยุโรปออกมาแถมให้กับผู้อ่าน ส่วนในร้านขายหนังสือนั้นไม่ต้องพูดกันเลยครับ วารสารหลายฉบับพูดแต่เรื่องประชามติทั้งเล่ม มีการออกหนังสือฉบับพกพา (pocket book) ของทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน รวมความแล้ว บรรยากาศก่อนการออกเสียงประชามติที่ผ่านมาให้แง่คิดอะไรหลาย ๆ อย่างกับผม ผมไม่ทราบว่ามีคนจาก กกต. ของไทยไปสังเกตการณ์กันบ้างหรือเปล่า เพราะวันหนึ่งข้างหน้า เราอาจต้องนำกระบวนการออกเสียงประชามติตามมาตรา 214 แห่งรัฐธรรมนูญมาใช้กันบ้างครับ ผมนำเอกสารพวกนี้กลับมาด้วยจำนวนหนึ่ง ใครสนใจจะขอดูก็เชิญเลยครับ







สำหรับคำถามที่ว่า มีความจำเป็นที่ยุโรปจะต้องมีรัฐธรรมนูญแห่งยุโรปหรือไม่นั้น คงตอบยากครับ ผมมีโอกาสได้คุยกับคนฝรั่งเศสหลายคนและหลายวัย แต่ละคนต่างก็เห็นไม่ตรงกัน หญิงสูงอายุคนหนึ่งบอกว่า ครอบครัวของตนผ่านสงครามโลกมา 2 ครั้ง ต่อสู้เพื่อให้ฝรั่งเศสมีเอกราชและเป็น “ผู้นำ” ของทวีปยุโรป ทำไมในวันนี้จึงต้องไปออกเสียงประชามติ เพื่อแสดงความเห็นด้วยกับการสูญเสียเอกราชและอธิปไตยของฝรั่งเศสไปให้กับยุโรป ในขณะที่ฝ่ายนักวิชาการเองก็มีเหตุผลหลายหลาย ทั้งทางด้านกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ และสังคม เพื่อสนับสนุนความเห็นของตนครับ
       ในส่วนตัวผมเองนั้น คงตอบลำบากเพราะไม่ได้เป็น “ชาวยุโรป” กับเขา แต่ผมมีความคิดอยู่อย่างหนึ่งหลังจากที่ได้ไปเที่ยวปราสาทเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ชื่อ Kerguéhennec ในเมือง Bignan จังหวัด Morbihan ปราสาทแห่งนี้เป็นปราสาทขนาดไม่ใหญ่มาก เก่า (สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1710)และกำลังได้รับการบูรณะซ่อมแซม ดูจากป้ายที่ติดหน้าปราสาทที่ผมนำมาแสดงให้ดูจะเห็นว่า สหภาพยุโรปให้เงินสนับสนุนการซ่อมแซมครั้งนี้เป็นจำนวนมาก ถึงครึ่งหนึ่งของงบประมาณที่ใช้ในการซ่อม ส่วนอีกครึ่งหนึ่งก็เป็นภาระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือสภาภาคและสภาจังหวัด ส่วนรัฐนั้นช่วยน้อยที่สุดครับ ทราบข้อมูลเพิ่มเติมมาว่าไม่ใช่ปราสาทแห่งนี้เพียงที่เดียวที่สหภาพยุโรปให้ความช่วยเหลือ เมื่อรวมกันทุกประเทศสมาชิกแล้วน่าจะมีโบราณสถานเป็นพันแห่งที่สหภาพยุโรปให้ความช่วยเหลือในการบูรณะ อย่างนี้แล้วจะปฏิเสธรัฐธรรมนูญแห่งยุโรปได้ยังไงครับ!!!





ในสัปดาห์นี้เรามีบทความภาษาฝรั่งเศสมานำเสนอครับ จริง ๆ แล้วมีเพื่อนชาวฝรั่งเศสหลายคนที่สนใจการทำ website ของผม แล้วก็อยากส่งบทความมาลง แต่ติดที่ภาษาฝรั่งเศสใช้กันในวงจำกัด ก็เลยไม่ได้นำมาเสนอ คราวนี้ผมคิดว่า น่าจะลองเสนอดูสัก 2-3 บทความก่อน อย่างน้อยบรรดานักเรียนไทยในฝรั่งเศสของเราจะได้อ่านและถ้าใครอยากจะแปล เจ้าของบทความก็ยินดีมอบให้ แต่คงสงวนไว้เฉพาะการแปลลงใน www.pub-law.net แห่งนี้นะครับ บทความภาษาฝรั่งเศสบทความแรกที่ผมขอนำเสนอในคราวนี้เป็นบทความของ ศาสตราจารย์ ดร. René HOSTIOU นักกฎหมายมหาชนชื่อดังคนหนึ่งของฝรั่งเศส ปัจจุบันเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย Nantes ประเทศฝรั่งเศสครับ ศาสตราจารย์คนนี้เคยเดินทางมาบรรยายที่ประเทศไทยสองครั้งแล้วใน 2 ปีที่ผ่านมา ท่านเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง “ประชาพิจารณ์” ซึ่งเป็นหนังสือที่มีผู้เขียนในหัวข้อนี้เพียงเล่มเดียวครับ และนอกจากนี้ก็ยังเป็นนักกฎหมายมหาชนที่เชี่ยวชาญเรื่องการเวนคืนเป็นอย่างยิ่ง บทความที่เราจะนำเสนอในครั้งนี้เป็นบทความที่ผู้เขียนได้แสดงความเห็นถึงคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่มีต่อการออกกฎหมายมาเพื่อทำให้คำสั่งทางปกครองที่มีมาก่อนมีผลสมบรูณ์ บทความนี้ชื่อ "Portée du contrôle exercé par le Conseil constitutionnel sur la validation par voie législative d’une DUP annulée par le juge administratif pour vice de procédure" ผมต้องขอขอบคุณ ศาสตราจารย์ ดร. René HOSTIOU ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       ขณะนี้ หนังสือ "รวมบทความกฎหมายมหาชนจากwww.pub-law.netเล่ม 4" พิมพ์เสร็จเรียบร้อยและพร้อมที่จะแจกให้กับผู้ใช้บริการแล้ว ผู้สนใจอยากได้เป็นเจ้าของดูรายละเอียดได้ที่นี่ครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน 2548 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544