หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 125
9 มกราคม 2549 00:52 น.
"บทบาทสำคัญของวุฒิสภา"
       ผ่านไปแล้วสำหรับวันหยุดยาว 4 วันเนื่องในโอกาสส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หวังว่าพวกเราทุกคนคงใช้เวลาพักผ่อนและหาความสุขกันอย่างเต็มที่นะครับ ช่วงวันหยุด 4 วันที่ผ่านมาผมไม่ได้ทำอะไรเป็นสาระเท่าไรนักนอกจากพักผ่อน มีเวลาว่างก็คิดถึงเรื่องต่าง ๆ ทั้งที่เกิดขึ้นกับตัวเองและเกิดขึ้นกับบ้านเมือง คิดแล้วก็พยายามมองไปข้างหน้าว่าในปี 2549 นี้เราจะทำอะไรที่ดีกว่าปี 2548 คิดว่าในปี 2549 บ้านเมืองของเราจะเป็นอย่างไร ปัญหาต่าง ๆ ที่ค้างคามาตั้งแต่ปี 2548 จะหาทางออกได้ไหม แล้วในปี 2549 จะมีเรื่องยุ่ง ๆ อะไรเกิดขึ้นอีก คิดไปคิดมาก็เกิดความวิตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคิดถึงความเปลี่ยนแปลง “ครั้งใหญ่” ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2549 นั่นก็คือ การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ครับ
       ในวันที่ 21 มีนาคม 2549 สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี คณะกรรมการการเลือกตั้งได้กำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ไว้แล้วในวันที่ 19 เมษายน ครับ ผมไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมจึงมีการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ไว้ในวันนั้นครับ แต่ผมมีข้อห่วงข้อกังวลมากมายเกี่ยวกับองค์กรที่ชื่อ “วุฒิสภา” นี้ครับ เพราะเมื่อพิจารณาดูจากข้อมูลที่ปรากฏทางหน้าหนังสือพิมพ์ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาแล้ว ทำให้รู้สึกเป็นห่วงอย่างมากว่าวุฒิสภาชุดใหม่จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร
       ก่อนที่เราจะ “คาดเดา” สิ่งที่ดีหรือไม่ดีที่จะเกิดขึ้นกับ “หน้าตา” ของวุฒิสภาชุดใหม่ คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะกล่าวถึงความ “สำคัญ” ของวุฒิสภาครับ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของเราได้กำหนดให้มี “รัฐสภา” ที่เป็นองค์กรแบบสภาคู่อันประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งและวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งเช่นเดียวกัน ทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ โดยในส่วนของวุฒิสภานั้นรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีบทบาทและอำนาจหน้าที่มากมายหลายประการนอกเหนือจากหน้าที่ทางด้านนิติบัญญัติ อำนาจหน้าที่เหล่านั้นได้แก่ การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินด้วยการรับทราบคำแถลงนโยบายที่คณะรัฐมนตรีต้องแถลงต่อรัฐสภาก่อนเข้าบริหารราชการแผ่นดิน การตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในเรื่องเกี่ยวกับงานในหน้าที่ การขอเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมวุฒิสภา และการตั้งกรรมาธิการ อำนาจหน้าที่ประการต่อมาของวุฒิสภาก็คือการให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญอันได้แก่ การให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ การรับทราบหรือให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติ การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม การให้ความเห็นชอบในการทำหนังสือสัญญาสำคัญ การให้ความเห็นชอบในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและการให้ความเห็นชอบในการปิดสมัยประชุมสามัญก่อนครบกำหนด 120 วัน อำนาจที่สำคัญอีกประการหนึ่งของวุฒิสภาคือ การพิจารณาเลือก แต่งตั้ง ให้คำแนะนำหรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรต่าง ๆ โดยวุฒิสภามีหน้าที่ถวายคำแนะนำเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรต่าง ๆ หลังจากที่วุฒิสภาได้ดำเนินการตามกระบวนการคัดเลือกบุคคลในองค์กรเหล่านั้นแล้วคือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง 5 คน ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไม่เกิน 3 คน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 11 คน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 15 คน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 9 คน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 10 คน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน 1 คน นอกจากนี้แล้ววุฒิสภายังมีหน้าที่ในการพิจารณาเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมจำนวน 2 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองจำนวน2 คน เป็นต้น ในหน้าที่เดียวกันวุฒิสภายังมีอำนาจในการให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์และผู้ทรงคุณวุฒิในการบริหารราชการแผ่นดินเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนตุลาการในศาลปกครองสูงสุดทั้งหมด การแต่งตั้งตุลาการในศาลปกครองให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดและการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ อำนาจที่สำคัญประการสุดท้ายของวุฒิสภาคือการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นมาตรการในการควบคุมการใช้อำนาจรัฐที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่วุฒิสภาถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญให้มีอำนาจในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือข้าราชการระดับสูงหรือกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติให้พ้นจากตำแหน่งได้ หากบุคคลเหล่านั้นปฏิบัติตนไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือมีพฤติกรรมที่ทุจริตทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
       เมื่อพิจารณา “อำนาจหน้าที่” ทั้งหมดของวุฒิสภาที่กล่าวมาแล้วข้างต้นก็จะพบว่าวุฒิสภาเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญที่สุดองค์กรหนึ่งของโครงสร้างของรัฐตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ด้วยอำนาจหน้าที่ดังกล่าวนี้เองที่ทำให้วุฒิสภาเป็นที่จับตามองของสื่อมวลชนและประชาชนตลอดเวลาเพราะการที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ให้อำนาจดังกล่าวแก่วุฒิสภาก็เพราะต้องการสร้าง “ระบบตรวจสอบและถ่วงดุล” ที่สมบูรณ์เอาไว้ ด้วยเหตุนี้เองรัฐธรรมนูญจึงพยายามแยกวุฒิสภาออกจากการเมืองภาคปกติ มีการกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาต้องไม่เป็นสมาชิกหรือดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง แม้กระทั่งการหาเสียงก็ทำไม่ได้ ทั้งนี้เพื่อให้คนที่จะมาเป็นสมาชิกวุฒิสภาเป็นอิสระไม่อยู่ภายใต้อาณัติของพรรคการเมืองจะได้เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบและคัดเลือกผู้ที่จะเข้ามาตรวจสอบ “นักการเมือง” และผู้ใช้อำนาจรัฐทั้งหลายได้อย่างเต็มที่ แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมาของวุฒิสภาชุดปัจจุบันเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสมาชิกวุฒิสภาบาง “กลุ่ม” มีความสนิทสนมกับ “พรรคการเมือง” ด้วยเหตุนี้เองที่มักมีข่าวปรากฏออกมาตลอดเวลาแทบจะทุกครั้งที่มีการ “เลือก” บุคคลให้เข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญว่าเป็นไปตาม “โผ” ที่มีการกำหนดไว้ล่วงหน้าซึ่งหากข่าวดังกล่าวเป็นความจริง ก็หมายความว่า การปฏิรูปการเมืองตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันนั้น “ไม่สำเร็จ” สมประสงค์เพราะองค์กรสำคัญ ๆ ของรัฐ “น่าจะ” ถูกแทรกแซงและถูกครอบงำ ซึ่งก็คงจะต้องส่งผลทำให้กระบวนการตรวจสอบดำเนินไปได้ไม่เต็มที่ครับ
       ผมมีข้อสังเกตที่จะฝากไว้อีกประการหนึ่งเกี่ยวกับกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในปัจจุบันครับ จริงอยู่แม้รัฐธรรมนูญได้ “สร้าง” องค์กรต่าง ๆ ขึ้นมามากมายเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ จริงอยู่แม้เรามีสภาผู้แทนราษฎรที่มีหน้าที่ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ในทางปฏิบัติดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าองค์กรตรวจสอบทั้งหลายต่างก็ประสบ “วิบากกรรม” ไม่มากก็น้อย ทำให้ไม่สามารถ “ตรวจสอบ” ฝ่ายบริหารได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่เสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรก็เป็นเสียงเดียวกับรัฐบาล ดังนั้น กลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของฝ่ายบริหารตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจึงไม่อาจดำเนินการได้สมดังเจตนารมณ์ของบทบัญญัติทั้งหลายในรัฐธรรมนูญ และนอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารบางประเภทที่ “หลุด” จากการตรวจสอบทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการกำหนดนโยบายบางประเภทที่ส่ง “ผล” บางอย่างเกิดขึ้น ดังตัวอย่างเช่นการ “เลือก” ปตท.มาแปลงทุนเป็นหุ้น การขายหุ้นปตท.ในระยะเวลาสั้นมาก ๆ การที่มีบุคคลบางจำพวกสามารถซื้อหุ้นปตท.ได้มากกว่าผู้อื่น ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็น “นโยบาย” ที่โดยสภาพควรอยู่ในอำนาจการตรวจสอบของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งในปัจจุบัน กลไกในการตรวจสอบดังกล่าวก็ดูท่าจะ “เป็นหมัน” ไปเสียแล้ว ดังนั้น จึงเกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันอีกกับกฟผ. ที่มีข่าวว่ามีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของกฟผ.ต่ำกว่าที่เป็นจริงอยู่มาก ข้อสังเกตของผมอยู่ที่ว่าทำอย่างไรที่จะตรวจสอบการดำเนินการที่มีลักษณะเป็น “นโยบาย” เหล่านี้ได้เพราะสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็น “ภัยร้ายแรง” ต่อประเทศชาติในวันข้างหน้าและเป็นต้นเหตุสำคัญของการทุจริตคอรัปชั่นด้วยครับ
       ทางแก้ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวไปนี้จะเป็นอย่างไรคงยากที่จะตอบได้ เราคงไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญทุกครั้งที่มีปัญหาเกิดขึ้นได้ แต่เราจะทำอย่างไรกับโครงสร้างของระบบตรวจสอบและระบบตรวจสอบทั้งหลายของเราที่ “ฝาก” ไว้กับวุฒิสภา! เพราะลำพังฝ่ายค้านเองในปัจจุบันก็ไม่มีเสียงมากพอที่จะตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้อย่างครบถ้วนเต็มที่ เมื่อระบบการตรวจสอบอ่อนแอก็เป็นธรรมดาที่การทุจริตคอรัปชั่นจะมากขึ้นเพราะการตรวจสอบทำได้ไม่เต็มที่ และยิ่งในปัจจุบันการทุจริตคอรัปชั่นมีความซับซ้อนมากขึ้น ทำให้การตรวจสอบต้องพัฒนาตามไปอย่างรวดเร็วแต่เราก็ติดปัญหาสำคัญมากมาย ดังนั้น เมื่อในสถานการณ์ปัจจุบันเรามีระบบการตรวจสอบที่ “อ่อนแอ” เรามีปัญหาที่เกิดขึ้นกับองค์กรตรวจสอบหลายองค์กรที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ เรามีปัญหาที่ทำให้ระบบการตรวจสอบโดยสภาผู้แทนราษฎรทำไม่ได้เต็มที่เพราะรัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ความหวังเดียวในขณะนี้ก็คือ การมีวุฒิสภาชุดใหม่ที่มีความ “เป็นกลาง” และ “ปลอดการเมือง” พร้อมที่จะเข้ามาทำหน้าที่สำคัญเพื่อประเทศชาติครับ ก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่าวุฒิสภาชุดใหม่จะ “หน้าตา” เป็นอย่างไรครับ
       
       เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมได้ทราบว่า รองศาสตราจารย์ ดร.โภคิน พลกุล ประธานรัฐสภา ได้ไปบรรยายในหัวข้อ “นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) กับกฎหมายตราสามดวง” ที่ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คำบรรยายดังกล่าวน่าสนใจและมีสาระสำคัญที่เป็นประโยชน์ทางด้านวิชาการเป็นอย่างยิ่ง ผมจึงได้ขออนุญาตนำเอาคำบรรยายมาลงเผยแพร่ไว้ ณ ที่นี้ พร้อมกันนี้ ผมได้ขออนุญาตประธานรัฐสภานำเอกสารอีก 2 ชิ้นที่มีคุณค่าทางวิชาการที่เป็นความเห็นของประธานรัฐสภาในการพิจารณาเพื่อประกอบการนำเสนอปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 266 แห่งรัฐธรรมนูญไปยังศาลรัฐธรรมนูญมาเผยแพร่ไว้ในครั้งนี้ด้วย นั่นคือ “คำแถลงการณ์ของประธานรัฐสภากรณีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2548” และ “คำแถลงการณ์ของประธานรัฐสภาเรื่องการสรรหากรรมการ ป.ป.ช.” แถลงเมื่อเดือนธันวาคม 2548 ในโอกาสนี้ผมต้องขอขอบคุณประธานรัฐสภาที่ได้มอบเอกสารทั้ง 3 ชิ้นให้แก่ www.pub-law.net นอกจากเอกสาร 3 ชิ้นดังกล่าวไปแล้ว เรายังมีบทความสามบทความมานำเสนอครับ บทความแรกคือบทความเรื่อง “ข้อสงสัยในมาตรการบังคับทางปกครอง” ของคุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระที่เคยเขียนบทความมาร่วมกับเราแล้ว 1 บทความ บทความที่สองคือบทความ “ร่วมสมัย” เรื่อง “ปัญหาการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : การถ่ายโอนสถานศึกษา” โดยคุณสโรช สันตะพันธุ์ นิสิตระดับปริญญาตรี สาขากฎหมายมหาชนชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบทความที่สามคือ “หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจรัฐ” โดยคุณเกรียงศักดิ์ แจ้งสว่าง นิติกรแห่งสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งผมต้องขอขอบคุณผู้เขียนทั้งสามไว้ ณ ที่นี้ ส่วนบทความของผมเรื่องกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตอนที่ 3 นั้น ขอติดไว้ลงต่อในคราวหน้านะครับ
       
       พบกันใหม่ในวันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ.2549 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544