หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 131
2 เมษายน 2549 23:21 น.
ครั้งที่ 131
       สำหรับวันจันทร์ที่ 3 เมษายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 16 เมษายน 2549
       
       “มาใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 7 กันดีกว่า”
       
       เมื่อผมเดินทางไปถึงประเทศฝรั่งเศสในวันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม ที่ผ่านมาได้มีโอกาสพูดโทรศัพท์กับเพื่อนชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งที่ติดตามข่าวสารของเมืองไทยอยู่ตลอดเวลา ก็ได้รับคำถามแปลก ๆ ว่า เจอการประท้วงที่เมืองไทยยังไม่เครียดพอหรืออย่างไรถึงได้มาดูการประท้วงที่ฝรั่งเศสอีก!
       การประท้วงที่ฝรั่งเศสเริ่มขึ้นเมื่อกลางสัปดาห์ที่สองของเดือนมีนาคมสืบเนื่องมาจากร่างกฎหมายแรงงานของรัฐบาลไปกระทบสิทธิของการจ้างงานของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 26 ปี ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นนักศึกษา จึงเกิดการเดินขบวนคัดค้านไม่ให้รัฐบาลผลักดันร่างกฎหมายนี้ให้มีผลใช้บังคับในเดือนเมษายนที่จะถึง ผลก็คือในวันที่ 18 มีนาคม มีคนเดินขบวนคัดค้านกันเต็มเมืองและเกิดความรุนแรงขึ้นในบางจุดด้วยครับ
       จริง ๆ แล้วผมเตรียมข้อมูลมาจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับการประท้วงที่ฝรั่งเศสสำหรับการเขียนบทบรรณาธิการครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตาม พอกลับมาถึงประเทศไทย ก็ได้ทราบข่าวว่าศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ เกี่ยวกับการแปลงสภาพ กฟผ.ไปเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ผมเลยไปหาคำพิพากษามาอ่านแล้วคิดว่าน่าจะเขียนบทบรรณาธิการเรื่องนี้จะเหมาะสมกว่าครับ
       ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาของผลคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดกรณี กฟผ. คงต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นถึงคำว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (privatisation) และการโอนกิจการเป็นของรัฐ (nationalisation) ก่อน การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (privatisation) นั้น หมายความถึงกระบวนการทำให้กิจการของรัฐเปลี่ยนมือไปเป็นของเอกชน ซึ่งในต่างประเทศเขามักจะใช้กันในหลาย ๆ กรณีรวมไปถึงกรณีที่รัฐ “หมดความจำเป็น” ที่จะต้อง “เก็บ” รัฐวิสาหกิจนั้นเอาไว้แล้วด้วย แต่เมื่อใดก็ตาม ถ้ากิจการบางอย่างที่เป็นของเอกชนเกิดปัญหาและส่งผลกระทบต่อประชาชน ในบางประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศส รัฐสามารถออกกฎหมายเพื่อโอนกิจการของเอกชนไปเป็นของรัฐเพื่อให้รัฐนำมาจัดระบบใหม่ให้ดีก่อน จากนั้นจึงค่อยแปรรูป (privatisation) ต่อไป กระบวนการโอนกิจการของเอกชนมาเป็นของรัฐนี้มีชื่อเรียกว่า nationalisation ครับ ส่วนเหตุผลที่ต้องออกเป็นกฎหมาย (โดยรัฐสภา) ก็เพราะกระบวนการดังกล่าวก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบหลายประการ เช่น ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ผลกระทบที่มีต่อผู้ถือหุ้นหรือต่อพนักงานเป็นต้น ผมคิดเล่น ๆ ดูว่าการทำให้ บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) กลายไปเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยตามเดิมนี้แม้จะไม่ใช่กระบวนการ nationalisation ตามความหมายที่ได้กล่าวไปแล้วก็ตาม แต่ก็ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ผลของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดทำให้นิติบุคคลในกฎหมายเอกชน คือ บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) กลายมาเป็นนิติบุคคลในกฎหมายมหาชน คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยครับ
       ผมคงยังไม่ขอวิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นต่อคำพิพากษาศาลปกครองดังกล่าวเพราะยังไม่มีเวลาอ่านอย่างละเอียด แต่อยากจะขอพูดถึง “ผล” ของคำพิพากษาดังกล่าวเพราะผมเข้าใจว่าน่าจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อหลาย ๆ อย่างครับ
       หากเราพิจารณาดูในหน้า 57 ซึ่งเป็นหน้าสุดท้ายของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขดำที่ ฟ.14/2548 คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.5/2549 ที่ว่า
       “การดำเนินการในขั้นตอนที่เป็นสาระสำคัญในการเปลี่ยนทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นหุ้นของบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำของคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทได้เสียไปทั้งหมดหรือไม่มีผลตามกฎหมาย ย่อมมีผลทำให้การดำเนินการต่อมา รวมทั้งมติของผู้ถือหุ้นและจัดตั้งบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) รวมทั้งการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของ บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2548 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2548 เสียไปด้วยเช่นกัน
       พิพากษาเพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2548 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2548 ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2548 ซึ่งเป็นวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว”
  แล้วจะพบว่า ผลของคำพิพากษาทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ไม่เคยแปลงสภาพไปเป็น บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) เลยครับ แต่เนื่องจากคำพิพากษาดังกล่าวไม่ได้บอกอะไรมากไปกว่านั้น และในทางปฏิบัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้เปลี่ยนสภาพไปเป็น บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) ไปแล้ว ในระหว่างวันที่ 24 มิถุนายน 2548 ถึงวันที่ 23 มีนาคม 2549 เราจึงต้องมาพิจารณาดูว่า เกิดอะไรขึ้นบ้างในกระบวนการดังกล่าว และจะต้องทำอย่างไรให้บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) กลับสู่สภาพเดิม
       ผมไม่คิดว่าลำพังคำพิพากษา 10 กว่าบรรทัดข้างต้นจะทำให้ บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) กลับไปสู่สภาพเดิมได้ง่าย ๆ เพราะเมื่อพิจารณาดูกระบวนการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจและพิจารณาจากการดำเนินการต่าง ๆ ที่จำเป็นในการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจประเภทองค์การของรัฐไปเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทแล้วก็จะพบว่า มีหลาย ๆ สิ่งเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาดังกล่าว เช่น มีการปรับโครงสร้างขององค์กร โครงสร้างบุคลากร โครงสร้างเงินเดือนใหม่หมด (และมีการนำมาใช้แล้วในระหว่างวันที่ 24 มิถุนายน 2548 ถึงวันที่ 23 มีนาคม 2549!!) มีการแก้ไขสัญญาจำนวนมากทั้งที่ทำในประเทศไทยและในต่างประเทศที่มีกฟผ.เป็นคู่สัญญาเพื่อให้สอดคล้องกับสถานะใหม่ของ กฟผ. มีพนักงานบางส่วนลาออกจากงานเนื่องจากไม่ประสงค์จะทำงานใน “บริษัท” พนักงานบางส่วนก็ไปกู้เงินมาจองซื้อหุ้น กฟผ.ซึ่งก็ต้องเป็นหนี้เป็นสินกันหลาย ๆ คน การใช้จ่ายเงินจำนวนมากทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับงานธุรการ เช่น เปลี่ยนป้ายชื่ออาคาร เปลี่ยนกระดาษหรือซองจดหมาย นามบัตร ฯลฯ รวมไปถึงการใช้เงินเพื่อทำความเข้าใจกับนักลงทุน (road show) ซึ่งก็ทำกันไปหลายครั้งทีเดียวครับ นอกจากนี้แล้ว บมจ.กฟผ. จำกัด (มหาชน) ก็ยังไปทำนิติกรรมต่างๆอีกมากมายรวมทั้งลงทุนตั้งบริษัท กฟผ.โทรคมนาคม จำกัด ในช่วงเวลาดังกล่าว แล้วก็ยังไปจ่ายค่าเช่าที่ดินให้กับกรมธนารักษ์ไปอีกหลายร้อยล้านบาทด้วยครับ จริง ๆ แล้วยังมีการดำเนินการต่าง ๆ อีกมากมายหลายอย่างที่ไม่สามารถนำมากล่าวไว้ในที่นี้ได้ทั้งหมด ในวันนี้ เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาออกมาเช่นนี้แล้ว กฟผ.ก็คงต้องกลับไปสู่สภาพเดิมครับ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบกับข้อผิดพลาด “ขนาดใหญ่” ที่เกิดขึ้น และจะต้องทำอย่างไรเพื่อที่จะให้ กฟผ.กลับคืนสู่สภาพเดิมครับ
       เราคงไม่ต้องพูดถึง “ความรับผิดชอบ” กับสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเราก็ทราบอยู่แล้วว่า รัฐบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบในทุกกรณีอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ไม่ว่าความผิดที่เกิดขึ้นจะเกิดจากตรงส่วนใดของกระบวนการก็ตาม เพราะในท้ายที่สุดแล้ว มาตรา 22 แห่งกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจก็กำหนดให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้อนุมัติให้มีการเปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นหุ้น จากนั้นจึงค่อยไปจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลเต็มประตู แต่เนื่องจากขณะนี้อาการของรัฐบาลก็ไม่สู้จะดีนัก ปัญหาสารพัดอย่างรุมล้อมเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ผมจึงขอไม่พูดเรื่องความรับผิดของในกรณีดังกล่าวไว้ชั่วคราวก่อนครับ ส่วนประเด็นที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพูดถึงก็คือจะต้องทำอย่างไรและจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้ กฟผ.กลับคืนสู่สภาพเดิม
       
ผมไม่แน่ใจว่าวันนี้เกิดอะไรขึ้นใน กฟผ. ยังทำงานกันอยู่ในลักษณะเดิมหรือกำลังวุ่นวายกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบของตนให้กลับไปเป็นแบบเดิม ถ้าจะกลับไปเป็นแบบเดิมจะทำอย่างไรกันบ้าง ข้อสังเกตเบื้องต้นที่ผมต้องการนำมาเสนอในที่นี้ก็คือ ประเด็นที่เกี่ยวกับความต่อเนื่องของการจัดทำบริการสาธารณะ ซึ่งถือว่าเป็นภารกิจที่ฝ่ายปกครองต้องให้ความสำคัญอย่างมากครับ จะเห็นได้ว่าในวันนี้เรามี “รัฐบาลรักษาการ” ก็เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ในช่วงนี้เองที่แม้ในคำพิพากษาจะไม่ได้บอกอะไรมากไปกว่าการที่ กฟผ.ต้องกลับไปสู่สภาพเดิม แต่ในทางปฏิบัติแล้ว รัฐบาลนั่นแหละครับที่จะต้องมีหน้าที่ที่จะต้องทำให้ กฟผ. กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยเร็วที่สุด สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้อย่างต่อเนื่องและไม่ติดขัด
       การแปลงสภาพ กฟผ. ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายประการ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในบางอย่าง กฟผ.เองหรือฝ่ายบริหารก็สามารถทำให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้ด้วยการวางแนวปฏิบัติ ความเปลี่ยนแปลงบางอย่างอาจต้องการ “ความเห็นทางกฎหมาย” และนอกจากนี้ ความเปลี่ยนแปลงบางอย่างอาจต้องใช้ “กฎหมาย” เข้ามาช่วยเพื่อให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ถ้าเราพิจารณาดูก็จะพบว่า “น่าจะ” มี 3 องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการทำให้ กฟผ.กลับคืนสู่สภาพเดิมตามคำพิพากษาของศาลปกครอง คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และ (อาจเป็น) คณะกรรมการกฤษฎีกาที่จะต้องให้ความเห็นในบางกรณี การแก้ไขปัญหาโดย 3 องค์กรนี้อาจทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะฝ่ายนิติบัญญัติไม่มี (และไม่ทราบว่าจะมีเมื่อไหร่!!!) ฝ่ายบริหารรักษาการก็คงทำอะไรไม่ได้มาก คงมีเพียงการให้ความเห็นทางกฎหมายโดยคณะกรรมการกฤษฎีกาเท่านั้นที่สามารถทำได้ (แต่ก็อาจถูกโต้แย้งได้ถ้าความเห็นที่ออกมา “ไม่ตรงใจ” บางหมู่เหล่า)
       ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ถึงกระบวนการโอนกิจการของเอกชนไปเป็นของรัฐ (nationalisation) ของฝรั่งเศสว่า เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบหลายๆด้าน ฝรั่งเศสจึงกำหนดไว้ในมาตรา 34 แห่งรัฐธรรมนูญว่า การโอนกิจการของเอกชนไปเป็นของรัฐ (nationalisation) ต้องทำเป็นกฎหมายโดยรัฐสภา หากเรารับแนวความคิดดังกล่าวว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมและดี เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเรื่องสถานภาพของ กฟผ.เป็นไปอย่างรวดเร็วและเบ็ดเสร็จเด็ดขาด วิธีที่ดีที่สุดก็คือ การ “ออกกฎหมาย” แต่เราจะทำอย่างไรครับ ! อย่างที่ทราบกันอยู่ว่า ขณะนี้เราไม่มีรัฐสภา ดังนั้น การออกกฎหมายด้วยวิธีการทางรัฐสภาจึงยังไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ เว้นไว้แต่การออก “พระราชกำหนด” ครับ!
       เมื่อพิจารณาดูมาตรา 218 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของเราอันเป็นมาตราที่กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการตราพระราชกำหนดแล้ว จะพบว่าไม่น่าที่ “คณะรัฐมนตรี” ตามมาตรา 215 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ จะมีอำนาจในการออกพระราชกำหนดได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากการแก้ไขปัญหาเรื่องสถานภาพของ กฟผ. เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับประเทศชาติและประชาชน คณะรัฐมนตรีชุด “รักษาการ” ก็น่าจะทำได้โดยอาศัยบทบัญญัติมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ว่า “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่อพิจารณาดู “หลักเกณฑ์และเงื่อนไข” ในการตราพระราชกำหนดของรัฐธรรมนูญในอดีตที่มีมาแล้วก็จะพบว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี พ.ศ. 2489 รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2492 รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2495 และรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2511 ได้บัญญัติให้การตราพระราชกำหนดสามารถทำได้ในระหว่างสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบครับ ผมขอนำเสนอมาตรา 72 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 มาตรา 72 ซึ่งมีข้อความดังนี้
       “มาตรา 72 ในเหตุฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันจะรักษาความปลอดภัยสาธารณะ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะและจะเรียกประชุมรัฐสภาให้ทันท่วงทีมิได้ หรือเมื่อกรณีเช่นว่านั้นเกิดขึ้นในระหว่างสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบก็ดี พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดั่งเช่นพระราชบัญญัติก็ได้
       ในการประชุมรัฐสภาในคราวต่อไป ให้นำพระราชกำหนดนั้นเสนอต่อรัฐสภา ถ้ารัฐสภาอนุมัติแล้ว พระราชกำหนดนั้นก็เป็นพระราชบัญญัติต่อไป ถ้ารัฐสภาไม่อนุมัติพระราชกำหนดนั้นก็เป็นอันตกไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างใช้พระราชกำหนดนั้น
       คำอนุมัติและไม่อนุมัติให้ทำเป็นพระราชบัญญัติ”
       
เพราะฉะนั้น ในเบื้องต้น หากเราคิดว่าการแก้ปัญหา กฟผ.เพื่อให้กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยเร็วที่สุดและดีที่สุดต้องทำโดยกฎหมายซึ่งขณะนี้ไม่มีรัฐสภาที่จะตรากฎหมาย เราก็ “น่าจะ” สามารถทำได้ด้วยการให้รัฐบาล “รักษาการ” เป็นผู้ตราพระราชกำหนดโดยอาศัยบทบัญญัติในมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปแล้วข้างต้น
       แต่ถ้าเรา “ไม่ไว้ใจ” รัฐบาล “รักษาการ” ก็มีทางออกทางอื่นอีกนะครับ ผมคิดว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาน่าจะเป็นผู้ยกร่างพระราชกำหนดดังกล่าวได้ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดครับ เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกายกร่างเสร็จก็มอบให้คณะรัฐมนตรีรับไปดำเนินการตามมาตรา 218 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันต่อไป แค่นี้ก็แก้ปัญหา กฟผ.ได้แล้ว แถมยังได้ใช้มาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญอีกด้วยครับ!
       ขอฝากไว้สำหรับรัฐบาลใหม่ด้วยว่า กฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลปัจจุบันเคยพูดว่าจะยกเลิกเมื่อ 5 ปีที่แล้วแต่จนปัจจุบันยังไม่ยกเลิก เมื่อไหร่ถึงจะยกเลิกกันเสียทีครับ จะปล่อยให้นำมาใช้แล้วสร้างปัญหาให้กับประเทศต่อไปอีกนานเท่าไหร่ครับ
       ขอฝากไปถึงศาลรัฐธรรมนูญด้วยนะครับ ขอให้ลองพิจารณาดูส่วนหนึ่งของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดกรณี กฟผ.ที่บัญญัติถึงการให้อำนาจและสิทธิแก่บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) ไว้ในพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิและประโยชน์ของบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2548 ที่ให้บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้มาโดยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ก่อนการเปลี่ยนสถานะ ซึ่งการตราพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามมาตรา 26 แห่งกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจที่ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าไม่อาจทำได้ตามมาตรา 48 และ 49 แห่งรัฐธรรมนูญ คำพิพากษาดังกล่าวอ่านแล้วดูเหมือนกับบทบัญญัติในมาตรา 26 แห่งกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจนั้น “น่าจะ” ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งในทางปฏิบัติหากเป็นเช่นนั้นสมควรที่จะทำอย่างไร ระหว่าง เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่ามาตรา 26 แห่งกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจขัดรัฐธรรมนูญก่อน ซึ่งก็จะมีผลให้พระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตราดังกล่าวสิ้นผลลง หรือศาลปกครองพิพากษาว่า พระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 26 ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็มีผลทางอ้อมทำให้เข้าใจได้ว่ามาตรา 26 แห่งกฎหมายว่าด้วยทุนรัฐวิสาหกิจขัดรัฐธรรมนูญครับ! ทั้ง 2 กรณีผลจะต่างกันนะครับ เพราะโดยระบบแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่จะเป็นผู้วินิจฉัยว่ากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ครับ
       เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา จำนวนผู้ใช้บริการของเราก็ก้าวเข้าสู่หลักล้านแล้วครับ 5 ปี 1 เดือนกับการใช้บริการหนึ่งล้านครั้งเป็นตัวเลขที่ทำให้ผู้จัดทำมีความสุขครับ ก็อย่างที่ผมพูดอยู่เสมอนะครับว่า website นี้ทำด้วยใจรัก แล้วก็ไม่ได้มีใครมาให้ความช่วยเหลืออะไรทั้งนั้นครับ ที่ผ่านมาก็ทำกัน 2-3 คนมาตลอด ผ่าน 5 ปีมาได้และมีผู้ใช้บริการเกินกว่า 1 ล้านครั้ง ถ้าไม่เรียกว่าสำเร็จก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้วครับ! ก็ต้องขอขอบคุณผู้ใช้บริการทุกคนที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มี “วันนี้” ครับ
       เรามีบทความหลายบทความทีเดียวสำหรับสองสัปดาห์นี้ บทความทั้งหมดที่นำมาลงมีความจำเป็นต้องลงพร้อม ๆ กัน เพราะทุกบทความต่างก็ “สัมพันธ์” กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้แต่เนื่องจากเรามีข้อจำกัดทางด้านเทคนิคที่ไม่สามารถใส่รายชื่อบทความทั้งหมดลงในกรอบ “บทความและสาระ” ทางด้านขวามือของบทบรรณาธิการนี้ได้ จึงต้องขอให้ผู้สนใจอ่านเรียกอ่านบทความจากท้ายบทบรรณาธิการนี้ เริ่มจากบทความแรกที่มี “ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม” ส่งเข้ามาผ่านทาง webmaster@pub-law.net ซึ่งผมอ่านดูแล้วเห็นว่าสามารถนำมาลงเผยแพร่ได้ ก็เลยนำมาลงในครั้งนี้ บทความดังกล่าว คือบทความเรื่อง “ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 เมษายน 2549” บทความที่สองเป็นบทความที่ถอดเทปมาจากคำอภิปรายของ ร.ศ.สมยศ เชื้อไทย นายกสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการเสวนาเรื่อง “ผ่าทางตันวิกฤตรัฐธรรมนูญ” บทความที่สามคือบทความเรื่อง “องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ” ที่เขียนโดย คุณนพดล เฮงเจริญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนบทความที่สี่เป็นบทความ “ร่วมสมัย” อีกบทความหนึ่งที่เขียนโดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่ในคราวนี้ได้เขียนบทความชื่อ “ท้ากสิน...ออกไป กับ ท้ากสิน...สู้สู้: มิติใหม่ของวิชาการด้านรัฐศาสตร์” บทความที่ห้าเป็นบทความ “ร่วมสมัย” อีกเช่นกันคือบทความเรื่อง “ข้อพิจารณาในการทูลขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน” โดยคุณสโรช สันตะพันธุ์ ขาประจำของเราอีกคนหนึ่งครับ และบทความสุดท้ายเป็นบทความของคุณศิระณัฐ วิทยาธรรมธัช นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เขียนบทความเรื่อง “มาตรา 7 กับ นายกพระราชทาน” จะอ่านบทความใดเป็นบทความแรกก็คงต้องคิดหนักหน่อยนะครับเพราะน่าสนใจทุกบทความ ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกคนไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 17 เมษายน 2549 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544