หน้าแรก บทความสาระ
สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒ (หน้า ๒๓)
ศ. ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
31 มกราคม 2551 11:42 น.
 
๓. ความผิดพลาด (ซ้ำ) ครั้งที่สาม (รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐) : ผู้เขียนเชื่อว่า ความผิดพลาดครั้งนี้เป็นความผิดพลาดครั้งสำคัญ(ที่สุด)ของประเทศไทย และจะเป็น “เหตุการณ์”ที่จะอยู่ในประวัติศาสตร์ของประเทศ(ไทย) ในอนาคต ; ความผิดพลาดในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๐) เป็น “เหตุการณ์” ที่แสดงให้เห็นถึง “คุณภาพ” และ “ความรู้”ของ elite – ขนชั้นนำของสังคมไทยในทุก ๆ กลุ่ม(จำพวก) อย่างกว้างขวาง ซึ่งสามารถพอที่จะใช้เป็นพื้นฐานของการคาดคะเน “อนาคตของคนไทย ( ๖๓ ล้านคนเศษ )” ที่จะต้องอยู่ภายไต้การนำ ของ elite- ชนชั้นนำของสังคม (เท่าที่เรามีอยู่นี้ ) ว่า เรา(คนไทย) จะอยู่ได้อย่างไร ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน
       ความผิดพลาดครั้งที่ ๓ นี้ แม้จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาอันสั้น เพียง ๑ ปี๓ เดือน คือ จากปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ( “การรัฐประหาร”ในวันที่ ๑๙ กันยายน) จนสิ้นปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ( “วันเลือกตั้งทั่วไป” ๒๓ ธันวาคม) แต่เป็นความผิดพลาดในช่วงของระยะวิกฤติและเป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของการเมืองไทย คือเกิดขึ้น ในช่วงเวลาที่คนไทยแตกแยกเป็น ๒ ฝ่ายและพร้อมที่จะรับรู้ “เหตุผล”ของการปฏิรูปการเมือง (ถ้าจะมีการชึ้แจงที่ถูกต้อง)
       ในช่วงเวลาหนึ่งปีเศษที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่ elite – ชนชั้นนำของคนไทย จะต้องพิสูจน์ตนเองว่า จะ“ปฏิรูปการเมือง”ให้คนไทย ได้หรือไม่ แต่ก็เป็นที่น่าผิดหวัง ที่ elite – ชนชั้นนำของสังคมไทย ได้ทำให้ระยะเวลา ๑ ปีเศษที่ผ่านมา เป็น “ระยะเวลา แห่งความว่างเปล่า”
       ความผิดพลาดครั้งนี้ ผู้เขียนเชื่อว่า จะมีผลต่อประวัติศาสตร์ของประเทศไทย – อย่างคาดไม่ถึง และเป็นความผิดพลาดที่ไม่สามารถให้อภัยได้
       

       รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ (ที่ได้ยกร่างขึ้นโดย สภาร่างรัฐธรรมนูญ - นานาอาชีพ ที่ได้จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๙) ยังคงใช้ รูปแบบการปกครอง – form of government เหมือนกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ คือ ใช้ “ ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดย “พรรคการเมือง(นายทุนธรุกิจ)” ที่เป็นรูปแบบที่เปิด “โอกาส” ให้นายทุนธุรกิจ ที่อาศัยการเลือกตั้ง (ในขณะที่สังคมไทยมีความอ่อนแอและขาดประสบการณ์) เข้ามาการผูกขาดอำนาจรัฐ และแสวงหาประโยชน์โดยการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ; “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)”นี้เอง ที่ได้ทำให้เกิดความเสื่อมในระบบบริหารประเทศ อย่างมากและต่อเนื่องกันมา จนถึงขั้นที่ จำเป็นต้องมีการรัฐประหาร ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ อีกครั้งหนึ่ง
       นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน(พ.ศ. ๒๕๕๐)ของเราซึ่งนอกจากจะมิได้พัฒนาไปข้างหน้าด้วยหลักทางวิชาการแล้ว ยังปรากฏว่าได้เพิ่ม vice (ความเลวร้าย)ให้มากกว่าเดิม โดยได้แก้ไข “มาตรการ”บางมาตรการที่เป็นการเอื้อประโยชน์(ในการเลือกตั้ง)ให้แก่พรรคการเมืองและนักการเมืองที่มีเงินและอิทธิพลทางการเงิน มากยิ่งเก่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อน (รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ )อีกด้วย ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว เป็นต้นว่า การบัญญัติให้ทำการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง แทนการนับคะแนนรวมกันของทุกหน่วยเลือกตั้ง(ในแต่ละเขต) ตามที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเดิม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้ นักการเมือง ผู้ที่ทำการซื้อ (ขาย)เสียง สามารถตรวจสอบการใช้เงินซื้อเสียงในแต่ละหน่วยเลือกตั้งได้ และติดตามเอาความรับผิดจากผู้ที่ได้รับเงินไปแล้วแต่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาได้ หรือ การกำหนดเขตเลือกตั้งให้มีเขตใหญ่ขึ้น( โดย เลือก เขตละ ๓คน) แทนการเลือกตั้งเขตละหนึ่งคน ตามที่กำหนดไว้เดิม ฯลฯ
       ดังนั้น จึงเป็นที่คาดหมาย และ สามารถบอกล่วงหน้าได้ตั้งแต่ต้นว่า ในการเลือกตั้งทั่วไป(วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐)ภายไต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ พรรคการเมืองเดิม(ใน “ชื่อ”ใหม่) ที่เป็นพรรคการเมืองที่มีเงินทุนจำนวนมาก ย่อมจะได้ ส.ส.เป็นจำนวนมากกว่าพรรคการเมืองอื่น (โปรดดู บทความของผู้เขียนใน “ ตอน”ที่ผู้เขียนได้เขียนไว้ก่อน วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐)
       
       คน เป็นผู้สร้าง“ระบบ” เพื่อให้ระบบควบคุม “คนไม่ดี”ไม่ให้สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายให้แก่บ้านเมือง ; ถ้า“ระบบ”ไม่ดี เราคงต้องมาพิจารณาดูว่า “คนที่สร้างระบบ เป็น คนดีหรือคนไม่ดี”
       

       การร่างรัฐธรรมนูญ(ฉบับปัจจุบัน) พ.ศ. ๒๕๕๐ (ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๙ – ๒๕๕๐) นี้ เป็นเหตุการณ์ที่ได้เปิดเผย “พฤติกรรม”และ “ความรู้”ของ elite – ชนชั้นนำของสังคมไทยอย่างกว้างขวาง อย่างที่เราไม่เคยมีโอกาสมาก่อน และเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิเคราะห์ ผู้เขียนได้แยก elite ของเราออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ไว้ ๔ ประเภท (จำพวก) คือ (๑)นักการเมือง (จำเป็น)ที่ได้อำนาจรัฐ มาด้วย “การรัฐประหาร” / (๒) นักวิชาการเดิม ๆ ในวงการวิชาการทางกฎหมาย / (๓) นักการเมือง (นายทุนธุรกิจ)ที่มาจาก “การเลือกตั้ง”(โดยอาศัยเงินและอิทธิพลทางการเงินในสภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอ ) ที่มุ่งหมายเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ ใน “ระบบเผด็จการทางรัฐสภา” / และ (๔ ) นักวิชาการประเภทเป็น the philosophes ที่มุ่งหาชื่อเสียงให้แก่ตนเอง ด้วยการแสดงตนว่าสนใจใน“สิทธิเสรีภาพของเอกชน” โดยไม่สนใจ “วิชาการ”ในกลไกการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพื่อการแก้ปัญหาและการประสานประโยชน์ ((ระหว่างประโยชน์ส่วนรวมกับประโยชน์ของเอกชน)
       โดยผู้เขียนจะได้วิเคราะห์เรียงตามลำดับทีละประเภท ดังต่อไปนี้
       [ หมายเหตุ : อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ผู้เขียนจะกล่าวต่อไปถึงพฤติกรรมของ elite ของสังคมไทย ผู้เขียนขอกล่าวถึงเหตุการณ์ ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของทางราชการ (รัฐบาลและข้าราชการประจำ)บางประการ ที่ผู้เขียนค่อนข้างประหลาดใจและออกจะกังวลกับอนาคตของประเทศ และผู้เขียนต้องขอบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นไว้ในบทความนี้ เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาต่อไป
       ในระหว่างการรัฐประหาร(พ.ศ. ๒๕๕๐) ผู้เขียนเห็นว่า มี “ข้อเท็จจริง – facts”ที่สำคัญ ๒ ประการ ที่ “ต่างประเทศ”ควรได้รับรู้ไว้เป็นทางการ เพื่อประโยชน์ในการบริหารและการปฏิรูปการเมืองของประเทศไทย (๑) ข้อเท็จจริงประการแรก คือ รัฐธรรมนูญ ฉบับ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ (ที่ถูกรัฐประหาร) เป็นรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญํติบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง และมีบทบัญญัติให้อำนาจแก่พรรคการเมืองในการบังคับ ส.ส.ให้ต้องปฏิบัติตามมติของพรรค(ในการทำหน้าที่ของ ส.ส.)ได้ และ (๒)ข้อเท็จจริงประการที่สอง คือ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ได้มีหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคหนึ่งที่เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ใช้พรรคการเมืองของตนที่คุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร (เกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดในสภาผู้แทนราษฎร) โดยให้สภาผู้แทนราษฎรออกกฎหมายฉบับหนึ่งเพื่อประโยชน์ของตนเองในการขายทรัพย์สินของชาติที่ตนได้มาภายไต้สัญญาสัมปทานจากรัฐ และต่อมา หัวหน้าพรรคการเมืองนั้นได้ขายทรัพย์สินนั้นไปภายใน ๓ วันหลังจากที่กฎหมายนั้นประกาศใช้บังคับ
       ข้อเท็จจริง - facts ทั้ง ๒ ประการนี้ เป็นข้อเท็จจริง ที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า ถ้าวงการของประเทศที่พัฒนาแล้วและประชาชน(ของเขา)ได้รับทราบแล้ว เขาจะเข้าใจเป็นอย่างดี ว่า facts ที่เกิดขึ้นนี้ คือ “อะไร” และ ถ้า facts เช่นนี้ เกิดขึ้นในประเทศ(ของเขา)แล้ว ประชาชน(ของเขา)และกระบวนการทางกฎหมาย(ของเขา) จะดำเนินการอย่างไร
       สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนต้องประหลาดใจเป็นอย่างมาก ก็เพราะว่า ดูเหมือนว่าทางราชการจะไม่สนใจในข้อคิดเห็นของผู้เขียน และไม่มีการดำเนินการอย่างใดเพื่อให้ประเทศที่พัฒนาแล้วได้รับรู้ถึงข้อเท็จจริงทั้ง ๒ ประการเหล่านี้ และในทางตรงกันข้าม ยังมีการกระทำของทางราชการในลักษณะที่เป็นการช่วยปกปิดข้อเท็จจริงดังกล่าวมิให้ต่างประเทศได้รับรู้อีกด้วย เช่น ในการแปลคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่ ๓-๕/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐ เพื่อส่งให้แก่หน่วยงานของเราในต่างประเทศ ปรากฏว่า ได้มีการตัด“สาระ(สำคัญ)”ของคำวินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคมของสภาผู้แทนราษฎรและการขายทรัพย์สินของนักการเมือง ฯลฯ ออกจากคำแปลของทางราชการ เป็นต้น
       ผู้เขียนเห็นว่า การที่ทางราชการไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงเรื่องนี้ต่อต่างประเทศ อาจอธิบายได้ด้วยเหตุผล เพียง ๒ เหตุผล เท่านั้น คือ ประการแรก ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องของทางราชการ ไม่มี”ความรู้”และไม่ทราบถึงความสำคัญของข้อเท็จจริงนี้ หรือ มิฉะนั้น ประการที่สอง คือ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องของทางราชการ ไม่มี “ความสุจริตใจ”ต่อประเทศ(ไทย)
]
       
       (ก) elite ประเภทที่ (๑) นักการเมือง(จำเป็น)ที่ได้อำนาจรัฐมาด้วย “การรัฐประหาร”(วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙) :
       
elite กลุ่มแรก ที่ต้องรับผิดชอบในความล้มเหลวอย่างสมบูรณ์แบบ(บูรณาการ)ในการแก้ปัญหาความเสื่อมของการบริหารประเทศที่เต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น ได้แก่ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งผู้เขียนขออนุญาตเรียกอย่าง สั้นๆ ว่า เป็น “นักการเมือง(จำเป็น)” เพราะดูเหมือนว่า บุคคลในคณะปฏิรูปการปกครองฯ คณะนี้ อาจเข้าสู่การเมืองเนื่องจากสถานการณ์บังคับ และไม่ได้เตรียมตัวที่จะเป็น “นักการเมือง” ; และโดยที่ความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ดูจะตกอยู่กับ “นักการเมือง(จำเป็น)”นี้ทั้งหมด ความในข้อนี้คงจะ(ค่อนข้าง)ยาวพอสมควร
       มีข้อเท็จจริงหลาย ๆ ประการ ที่แสดงให้เห็นว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯได้ทำการรัฐประหารมาโดยไม่ทราบว่า ประเทศมี “ปัญหา” อะไร และเมื่อไม่ทราบว่า ประเทศมีปัญหาอะไร นักการเมือง(จำเป็น)นี้ จึงไม่สามารถ ที่จะกำหนด”แนวทาง” และ “วิธีการ” ในการแก้ปัญหา(ของประเทศ)ได้
       จากคำ “แถลงการณ์” ของ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ลงวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ เวลา ๒๓.๕๐ น. “คณะปฏิรูปการปกครองฯ” ได้ให้เหตุผลในการปฎิรูปการปกครอง ไว้ ๔ ประการ คือ (๑) การบริหารของรัฐบาล(เดิม)นั้น ได้สร้างปัญหาขัดแย้งแบ่งฝ่าย ทำลายความรักสามัคคีของคนในชาติอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ; (๒) การบริหารราชการแผ่นดินส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบ อย่างกว้างขวาง ; (๓) หน่วยงานและองค์กรอิสระ ถูกครอบงำทางการเมืองจนไม่สามารถตอบสนองเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญได้ ; และ (๔) มีการกระทำที่หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์
       ในการทำงานของคณะปฏิรูปการปกครองฯในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ทั้งปี คณะปฏิรูปการปกครองฯได้พยายามย้ำถึงสาเหตุของการรัฐประหารดังกล่าวข้างต้น อยู่หลายครั้ง และพยายามอธิบายความชอบธรรมในการทำรัฐประหารของตนเอง ในการเข้ามาแก้ปัญหาเหล่านี้
       อันที่จริงแล้ว ถ้าจะพิจารณาดูสาระของ “แถลงการณ์”ให้ถ่องแท้แล้ว จะเห็นได้ว่า “เหตุผล”ในการปฏิรูปการปกครอง(การรัฐประหาร) ทั้ง ๔ ประการตามที่ “คณะปฏิรูปการปกครองฯ”ได้กล่าวมานั้น (ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความขัดแย้งก็ดี / การส่อในทางทุจริตประพฤติมิชอบก็ดี / การครอบงำหน่วยงานและองค์กรอิสระก็ดี / การกระทำที่หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ดี) ต่างก็เป็นเพียง “ผล”ที่เกิดมาจากการบริหารประเทศของรัฐบาลเดิม(ที่ถูกรัฐประหารให้ออกไป) แต่ในคำแถลงการณ์ดังกล่าว มิได้ระบุว่า อะไรเป็น “สาเหตุ”ที่ทำให้รัฐบาล(เดิม)สามารถบริหารประเทศ จนทำให้เกิด “ผล”อย่างนั้นได้
       พูดง่าย ๆ ก็ คือ ข้อเท็จจริงตามที่คณะปฏิรูปการปกครองกล่าวมา(ทั้ง ๔ ประการ)นั้น เป็นเพียง “อาการ – symptoms”ของโรค ที่แสดงออกมาให้เห็น แต่ไม่ใช่ “โรค – disease”ที่เป็นสาเหตุของอาการ ; และวิธีการที่จะแก้ “ปัญหา”ของประเทศ คือ การรักษาโรค ไม่ใช่รักษาอาการของโรค
       
ความจริง อาการของโรค ทั้ง ๔ ประการตามที่กล่าวไว้ในคำแถลงการณ์ดังกล่าว มาจาก “โรค”เดียวกัน คือ การใช้อำนาจของ “รัฐบาล” ขาดกลไกการควบคุมและการถ่วงดุลอำนาจ อันมาจาก “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ นั่นเอง
       
       “ความไม่รู้(ในปัญหาของประเทศ)” ของนักการเมือง (จำเป็น)นี้ ได้แสดงออกมาปรากฏให้เห็น ตั้งแต่ การตรารัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๔๙ (ประกาศใช้บังคับ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๙) หลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ เพียง ๑๑ วัน เพราะถ้าได้อ่านรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวแล้ว ก็สามารถคาดหมายล่วงหน้าได้อย่าง แน่นอน ว่า องค์กรที่อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” / “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ”/ “ฝ่ายบริหาร - คณะรัฐมนตรี” ต่างก็ไม่อยู่ใน “รูปแบบ ”ที่จะสามารถทำหน้าที่ตามที่ถูกคาดหมายให้ทำตามรัฐธรรมนูญได้
       และ ดูเหมือนว่า หลังจากที่ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ได้แต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ – คตส. (ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ ๓๐ – ๓๐ กันยายน ๒๕๑๙) และจัดตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ – นานาอาชีพ / สภานิติบัญญัติแห่งชาติ / ฝ่ายบริหาร – คณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๙ แล้ว คณะปฏิรูปการปกครองฯ (ซึ่งเปลี่ยนฐานะมาเป็น “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ”) ก็คิดว่าตนเองหมดภารกิจแล้ว(ลอยตัว) และคิดว่า การแก้ปัญหาของประเทศ เป็นหน้าที่ของ “องค์กรต่าง ๆ”(ที่ตนเองแต่งตั้งขึ้น)จะต้องดำเนินการต่อไปด้วยตนเอง และแต่ละองค์กรต่างก็จะต้องรับผิดชอบในผลงานของตนเอง
       ผู้เขียนเห็นว่า เป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง เพราะความล้มเหลวขององค์กรเหล่านั้น ย่อม เป็นความรับผิดชอบของ “คณะปฏิรูปการปกครองฯ” ทั้งหมด เนื่องจาก“คณะปฏิรูปการปกครองฯ”เป็นผู้ที่ริเริ่มนำรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙ มาใช้บังคับ และเป็นผู้ที่ริเริ่มคัดเลือกและเสนอแต่งตั้งองค์กรต่าง ๆในรัฐูธรรมนูญ(เหล่านั้น) เอง
       “ความชอบธรรม”ในการทำรัฐประหาร ไม่สามารถอธิบายได้ ด้วยการบอกแก่คนไทยว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯได้ใช้กำลังทหารเข้ามาล้ม “คณะรัฐบาล”ชุดเดิม ที่เป็นสาเหตุของ “ความไม่ดี” ต่าง ๆ เพื่อต่อไปข้างหน้า คนไทยจะได้มี “คณะรัฐบาลชุดใหม่” หลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ (โดยที่คณะรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามา ก็จะได้แก่บุคคลเดิม ๆ เหมือน ๆ กับ คณะรัฐบาลชุดเดิม) ; ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะทำการรัฐประหาร ไปทำไม
       คงไม่ประโยชน์อะไรที่จะมากล่าวว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯทำความผิดพลาด อย่างไร และคณะปฏิรูปการปกครองฯจะได้รับ “ผล”จากความผิดพลาดของตนเอง อย่างไร เพราะในขณะนี้(เดือนมกราคม) สิ่งเหล่านี้ เป็นความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้นและจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ; ซึ่งตามความจริง ผู้เขียนไม่สนใจว่า “อะไร”จะเกิดแก่คณะปฏิรูปการปกครองฯทั้งในขณะนี้และในอนาคต แต่ผู้เขียนเสียดายโอกาสของคนไทยใน “การปฏิรูปการเมือง”ที่เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์เป็นเวลาถึง ๑ปี ๓ เดือนเศษ
       ผู้เขียนเห็นว่า ตลอดปีที่ผ่านมา (พ.ศ. ๒๕๕๐) คณะปฏิรูปการปกครอง ฯ ไม่ได้ทำ ในสิ่งที่ควรต้องทำ และในทางกลับกัน สิ่งที่คณะปฏิรูปการปกครอง ฯได้ทำในปีที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นว่า คณะปฏิรูปการปกครอง ฯ ไม่มี “ความรู้”พอ และไม่มี “ความเสียสละ”พอ ที่จะทำการปฏิรูปการเมืองให้แก่คนไทย
       ผู้เขียนคิดว่า ผู้เขียนจะขอให้ความเห็น(ส่วนตัว) ถึง “สิ่ง”ที่คณะปฏิรูปการปกครองฯควรจะต้องทำ (แต่ไม่ได้ทำ) ดูจะเป็นประโยชน์มากกว่าที่จะกล่าวว่าคณะปฏิรูปการปกครองฯทำ “อะไร”ที่ผิดพลาดบ้าง ; ซึ่งผู้เขียนขอให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณาทบทวนดู ใน ๓ หัวข้อ ดังต่อไปนี้
       (๑)“ภารกิจ”ของการทำรัฐประหาร คือ อะไร
       (๒) “ ความเสียสละ”ของการทำรัฐประหาร คือ อย่างไร และ
       (๓) ความล้มเหลวในการปฏิบัติ “ภารกิจ”ของคณะปฏิรูปการปกครอง ฯ ได้แสดงให้เห็นถึงความไม่รู้และความไม่เสียสละของคณะปฏิรูปการปกครอง ฯ อย่างไรบ้าง

       
       (๑)“ภารกิจ”ของการทำรัฐประหาร คือ อะไร (?) ภารกิจเหล่านี้ คือ “สิ่งที่คณะปฏิรูปการปกครองฯ ควรจะทำ แต่ไม่ได้ทำ”ในปีที่ผ่านมานั่นเอง ทั้งนี้โดยจะยังไม่พิจารณาว่า ถ้าคณะปฏิรูปการปกครองฯ จะทำให้ภารกิจสำเร็จ คณะปฏิรูปการปกครองฯ ควรจะต้องทำอย่างไร(how)
       ผู้เขียนเห็นว่า ในเบื้องต้น เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองฯ หรือใครก็ตาม ที่ทำ“รัฐประหาร” ย่อมหมายความว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้ กำหนด “ภารกิจ”ให้แก่ตนเอง ที่จะต้องทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของคนไทย ๒ ประการด้วยกัน คือ
       ( ๑.๑) ภารกิจประการแรก ได้แก่ การจัดให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะวาง “ระบบสถาบันการเมือง”สำหรับการบริหารบ้านเมืองในอนาคต ที่จะต้องดีกว่าเก่า คือ ดีกว่ารัฐธรรมนูญฉบับเดิมพ.ศ. ๒๕๔๐ และแก้ไขข้อผิดพลาดในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ให้สำเร็จ และก็เพราะ รัฐธรรมนูญฉบับเดิมข้อผิดพลาดนี้เอง คือ เป็นรัฐธรรมนูญที่สร้าง“ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)”ฉบับเดียวในโลก ที่ทำให้รัฐบาล(เดิม)สามารถกระทำ “ความไม่ดี”ต่าง ๆได้มากมาย เช่น การสร้างปัญหาขัดแย้งในสังคม / ส่อไปในทางทุจริตอย่างกว้างขวาง / ครอบงำองค์กรอิสระ / หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ฯลฯ ที่เป็น “เหตุผล”ของการทำรัฐประหาร และทำให้ “ การรัฐประหาร” ของคณะปฏิรูปการปกครองมีความชอบธรรม
       ภารกิจนี้ อาจเรียกง่าย ๆ ว่า เป็น “การปฏิรูปการเมือง” อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด ที่คณะปฏิรูปการปกครองฯ ควรจะต้องทำให้สำเร็จ
       
       ( ๑.๒) ภารกิจประการที่สอง ได้แก่ การบริหารราชการแผ่นดินในระหว่างที่ทำการปฏิรูปการเมือง (การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) ; “การบริหารราชการแผ่นดิน”มีขอบเขตกว้างขวางมากกว่าที่ คณะปฏิรูปการปกครองฯคิดว่ามี และเพื่อความเข้าใจง่าย ๆ ผู้เขียนขอแยก “งาน”ที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ออกเป็น ๓ ประเภท ดังนี้ คือ (๑) การบริหารประเทศที่เป็นภาระปกติของรัฐบาล (๒) การเร่งรัดนำบุคคลที่กระทำความผิดฉ้อโกงแผ่นดินมาลงโทษในกระบวนการยุติธรรม (๓)การตราหรือการ แก้ไข “กฎหมาย(ที่สำคัญ)” ที่เป็นระบบบริหารพื้นฐานของประเทศในการปกครองระบอบประชาธิปไตย (ให้ได้มาตรฐานหรือใกล้เคียงกับมาตรฐาน ของประเทศ ที่พัฒนาแล้ว )
       จะเห็นได้ว่า งานบริหารราชการแผ่นดินในช่วงของการรัฐประหาร จะมี “มากกว่า”และ “ยากกว่า”งานบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลในภาวะปกติ เพราะ ภารกิจ ที่เกี่ยวกับ “การบริหารราชการแผ่นดิน”ของคณะปฏิรูปการปกครองฯ มีทั้งส่วนที่เป็นการบริหารราชการแผ่นดินตามปกติ (ซึ่งจะต้องเร่งทำ)แล้ว และยังมีส่วนที่เป็น “การปฏิรูปทางการเมือง”รวมอยู่ด้วย ; ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า ภายในระยะเวลาที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ว่าจะเป็นหนึ่งปีหรือสองปี คณะปฏิรูปการปกครองฯ (และรัฐบาลและสภานิติบัญญัติที่คณะปฏิรูปการปกครองฯจัดตั้งขึ้น)ย่อมไม่สามารถทำได้ทัน
       คณะปฏิรูปการปกครองฯมีทั้งงานจำเป็นที่จะต้องทำให้เสร็จสิ้นในขณะปัจจุบัน และมีทั้งงานที่ต้องทำเพื่ออนาคต และมีทั้งงานที่มีความสำคัญมากและมีทั้งงานที่มีความสำคัญน้อย ดังนั้น ความสำ เร็จในการ “การบริหารราชการแผ่นดิน”ของคณะปฏิรูปการปกครองฯ จึงมิใช่อยู่เพียงแต่การทำงานประจำให้สำเร็จไปโดยดีที่สุดเท่านั้น แต่คณะปฏิรูปการปกครองฯยังจะต้องจัดลำดับความสำคัญของงานว่า งานใดควรทำก่อนงานใดควรทำหลัง และ งานที่จำเป็นต้องทำแต่ยังทำไม่เสร็จสิ้น ( หรือยังไม่ได้เริ่มทำ) คณะปฏิรูปการปกครองฯ ก็ยังจะต้อง “คิด”ต่อไปว่า จะทำอย่างไร ให้ “บุคคลอื่น”สามารถทำงานที่จำเป็นต้องทำเหล่านั้นลุล่วงไปได้หลังจากการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
       
การที่ “คณะปฏิรูปการปกครองฯ” (หรือ “รัฐบาล”ที่คณะปฏิรูปการปกครองฯแต่งตั้งขึ้น) คิดว่า จะเข้ามา “บริหารราชการแผ่นดิน” เพื่อรอการจัดให้มีการเลือกตั้ง เพี่อจะได้มีรัฐบาล(ที่มาจากเลือกตั้ง) “ เพื่อความเป็นประชาธิปไตย” จึงเป็นความคิดที่ผิด ( แม้ว่า จะสมมติขึ้นว่า “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่”จะเป็น รัฐธรรมนูญที่ดีกว่าฉบับเดิม และ “รัฐบาลใหม่”ที่จะเข้ามาบริหารประเทศต่อไป จะเป็นรัฐบาลที่ดีกว่ารัฐบาลก่อนการรัฐประหาร – ซึ่งไม่ใช่กรณีที่เกิดขึ้น ก็ตาม) ; และถ้าคณะปฏิรูปการปกครองฯ (หรือรัฐบาล) คิดได้เพียงเท่านี้ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะทำการรัฐประหาร เพราะ “รัฐบาล”ที่ถูกล้มไปเพราะการรัฐประหาร ก็เป็น“รัฐบาล”ที่มาจาก “การเลือกตั้ง”อยู่แล้ว
       “การรัฐประหาร”เป็นสิ่งจำเป็นและการที่ผู้เขียนยอมรับการทำรัฐประหาร ก็เพราะว่านักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)ได้บิดเบือน “ระบอบประชาธิปไตย” ให้เป็น “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ) ” และใช้ “การเลือกตั้ง”ในสภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอ เป็น “เครื่องมือ”ของการเข้าสู่อำนาจรัฐโดยอาศัยการใช้เงินและอิทธิพลทางการเงิน และได้เข้ามาทำการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งถ้าคณะปฏิรูปการปกครองฯ ไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้ ก็ไม่ควรทำ“รัฐประหาร”หรือ ไม่ควรอาสาเข้ามาเป็นรัฐบาล(ชั่วคราว)
       

       แต่เท่าที่ปรากฏ ดูเหมือนว่า “คณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” จะไม่รู้จักภารกิจของตนเอง
       
       
(๒) “ ความเสียสละ”ของการทำรัฐประหาร คือ อย่างไร ผู้เขียนคิดว่า ในการทำรัฐประหาร คณะปฏิรูปการปกครองฯ จะต้องเสียสละ และจะต้องทำให้ความเสียสละนี้เป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วไป เพื่อความเชื่อถือและความศรัทธาต่อคณะปฏิรูปการปกครองฯ
       (๒.๑) คณะปฏิรูปการปกครองฯ จะต้องลืม “การสืบทอดอำนาจ” โดยสิ้นเชิง และอย่าหลงไปกับความ คิด (ของนักกฎหมายแบบไทย ๆ ที่ได้เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๒๑ และ พ.ศ. ๒๕๓๔ สำหรับคณะรัฐประหารชุดก่อน ๆ )ว่า หลังการรัฐประหารแล้ว จะหานักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)ที่เป็นพันธมิตรของตน(ทหาร) มาร่วมกันจัดตั้ง “พรรคการเมือง”เพื่อเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ ใน “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง”(ที่มีการบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค ฯลฯ) และจะได้เป็น “รัฐบาล” ต่อไป
       ผู้เขียนเห็นว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯ มีเหตุผลหลาย ๆ เหตุผล ที่ ควรต้องลืมการสืบทอดอำนาจไม่ว่าด้วยประการใด ๆ และตั้งใจปฏิบัติ “ภารกิจ”ทั้งสองประการให้สำเร็จเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ; เหตุผลสำคัญในทางวิชาการ ก็คือ ระบบนี้( ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภาโดยพรรคการเมือง)ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย และเป็นระบบผูกขาดอำนาจ ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถพัฒนากลไกการปกครองในระบอบประชาธิปไตยไปข้างหน้าได้ และทำให้เรา(คนไทย) ต้องตกอยู่ในวังวนของ vicious circle
       นอกจากนั้น ก็ยังมีเหตุผลในทางส่วนตัวของคณะปฏิรูปการปกครองฯเอง เพราะจากประสบการณ์ที่แล้ว ๆ มา ไม่ว่าจะเป็น พรรคเสรีมนังคศิลา / พรรคสหประชาไทย/ หรือพรรคสามัคคีธรรม จะเห็นได้ว่า พรรคการเมืองประเภทนี้ จะดำรงอยู่ได้เพียงชั่วระยะอันสั้น ทั้งนี้ตราบเท่าที่นักการเมือง (นายทุนธุรกิจ-ระดับท้องถิ่น) ยังมีผลประโยชน์ร่วมกันกับคณะรัฐประหารเท่านั้น และหลังจากการเลือกตั้งแล้ว นักการเมือง (นายทุนธุรกิจ-ระดับท้องถิ่น)เจ้าของและผู้ลงทุนในการจัดตั้ง”พรรคการเมือง ก็จะใช้ (use)คณะรัฐประหาร ไปชั่วระยะหนึ่ง และต่อจากนั้น นักการเมืองนายทุนธุรกิจ ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ก็จะเข้ายึดครอง “การผูกขาดอำนาจรัฐ โดยพรรคการเมือง”แทนทหาร
       แต่เท่าที่ปรากฏ ดูเหมือนว่า “คณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” จะไม่มีคุณลักษณะที่เป็นความเสียสละ ในข้อนี้
       

       (๒.๒) “การทำงานอย่างโปร่งใส (transparency) และไม่หาประโยชน์ให้แก่ตนเอง” คณะปฏิรูปการปกครองฯ” จะต้องเข้าใจว่า ใน “การทำรัฐประหาร”นั้น ย่อมเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯได้ทำลายเครือข่ายการทุจริตคอร์รัปชั่นและการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ของบรรดานักการเมืองนายทุนธุรกิจ (ที่มาจากการเลือกตั้ง)จำนวนมาก ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะเป็นศัตรู (หรือผู้ที่ไม่หวังดี)ต่อคณะปฏิรูปการปกครองฯ และยังต้องการกลับคืนเข้าสู่อำนาจรัฐใน “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)”ตามรัฐธรรมนูญเดิม
       คณะปฏิรูปการปกครอง ฯ จะต้องทราบว่า วิธีการต่อสู้ของ “คนไม่ดี” จะมีอยู่วิธีเดียว คือ การทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่า คนที่มาเปิดเผย “ความไม่ดี”ของตนนั้น เป็น “คนที่ไม่ดี”เหมือนกัน และด้วยเหตุนี้ “คนไม่ดี ”เหล่านี้ ก็จะเก็บข้อมูลและพยายามไปค้นหาและขุดคุ้ยข้อเท็จจริงต่าง ๆเท่าที่จะหามาได้ จริงบ้างเท็จบ้าง และถ้าหาไม่ได้ ก็เอาเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ขึ้นมา แล้วใช้ “สื่อมวลชน”เป็นเครื่องมือในการเสนอข่าวทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องที่ใหญ่ ทั้งนี้ โดยมีเจตนาให้เรื่องเหล่านี้ “กลบเกลื่อนการทุจริตคอร์รัปชั่นจำนวนมาก”ของตน [หมายเหตุ : ถ้าท่านผู้อ่านมีเวลาพอ ก็ขอให้ลองกลับไปทบทวนเหตุการณ์ และข่าวต่าง ๆ ในสื่อมวลชนในช่วงเวลาที่ผ่านมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ท่านผู้อ่านก็จะสังเกตเห็น “วิธีการ” ดังกล่าวนี้ได้ ]
       ดังนั้น “หลักการสำคัญ”ในการปฏิบัติตามภารกิจ ของ คณะปฏิรูปการปกครองฯ ในขณะที่ใช้อำนาจรัฐในขณะที่ทำรัฐประหาร ก็คือ คณะปฏิรูปการปกครองฯ จะต้องทำงานด้วยความโปร่งใส (transparency) / ไม่แสวงหาประโยชน์ส่วนตัว / และต้องมี “จุดหมาย”ที่แน่ชัดและเปิดเผย
       
ผู้เขียนคิดว่า ถ้า คณะปฏิรูปการปกครองฯมีความตั้งใจจริงที่จะทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมแล้ว คณะปฏิรูปการปกครองฯจะต้องไม่หวั่นไหวกับ “วิธีการ”เช่นนี้ เพราะตราบใดที่ท่าน (คณะปฏิรูปการปกครองฯ) ทำงานด้วยความโปร่งใส / ไม่แสวงหาประโยชน์ส่วนตัว / และ มีจุดหมายที่แน่นอนเปิดเผย ตราบนั้นประชาชนย่อมสนับสนุนและอยู่กับท่านเสมอ และ คณะปฏิรูปการปกครอง ฯไม่ควรต้องเกรงกลัวกับการข่มขู่ด้วย “วิธีการ”เหล่านี้ เพราะคณะปฏิรูปการปกครองฯจะต้องคิดว่า ถ้าท่าน(คณะปฏิรูปการปกครองฯ)ไม่กล้าปฏิบัติตาม “ภารกิจ”ของท่าน และไม่ทำงานในสิ่งที่ท่าน “ควร”จะต้องทำ ผู้ที่ได้ประโยชน์ จากท่าน ก็คือ นักการเมืองที่ทำการทุจริดคอร์รัปชั่นนั่นเอง และคณะปฏิรูปการปกครองฯก็จะเป็นผู้ที่ทำลายทั้งตัวท่านเองและทำลายทั้งความหวังของคนไทย และทำให้นักการเมืองดังกล่าวได้กลับคืนสู่อำนาจรัฐ ใน“ระบบเผด็จ(ในระบบรัฐสภา) โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ) ”อีกครั้งหนึ่ง
       แต่เท่าที่ปรากฏ ดูเหมือนว่า “คณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” จะไม่มีคุณลักษณะที่เป็นความเสียสละ ในข้อนี้ เช่นเดียวกัน
       
“ตัวอย่าง”ที่ปรากฏในเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ที่อาจทำให้คนทั่วไปสงสัยได้ว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯขาดความเสียสละ ก็คือ การซื้ออาวุธฯลฯของราชการทหาร ; ซึ่งกรณีเช่นนี้ ผู้เขียนคิดว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯไม่สมควรจะปล่อยให้เกิดขึ้น ; เพราะถ้าหากคณะปฏิรูปการปกครองฯไม่ประสงค์จะเปิดเผยรายละเอียดเนื่องจากเป็นความลับทางทหาร คณะปฏิรูปการปกครองฯก็อาจหา “วิธีการ”ที่สร้างความเชื่อถือให้แก่คนทั่วไปได้ ; ถ้าจะถามว่า ในทางกฎหมายมหาชน ทำประการใดได้บ้าง ; ผู้เขียนก็เห็นว่า มีทางทำได้ เป็นต้นว่า กำหนด “กระบวนการจัดซื้ออาวุธฯลฯ”ให้เป็นระบบที่มีการกลั่นกรองที่ดี และเปิดเผย (กระบวนการนั้น)ให้เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น คณะปฏิรูปการปกครองฯก็เพียงแต่กล่าวว่า การจัดซื้ออาวุธนี้ได้ผ่านกระบวนการกลั่นกรองตามระเบียบแบบแผนที่กำหนดไว้แล้ว(อย่างเปิดเผย) โดยมีบุคคล(ที่คนทั่วไปเชื่อถือในความสุจริต)ได้ร่วมพิจารณาและเห็นชอบด้วยแล้ว; เช่นนี้ ผู้เขียนก็เชื่อว่า คนทั่วไปก็จะคลายความสงสัยลงได้ เพราะคนทั่วไปจะเชื่อใน “กระบวนการกลั่นกรอง(ที่ดี)” และเชื่อใน “ตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องที่เชื่อถือได้ ” ทั้งนี้ โดยคณะปฏิรูปการปกครองฯไม่จำเป็นต้องเปิดเผยรายละเอียดของอาวุธที่เป็นความลับทางราชการทหารที่ไปซื้อมา แต่อย่างใด; วิธีการเช่นนี้ เป็นวิธีการที่ใช้ทั่วไปทางกฎหมายมหาชน ของประเทศที่พัฒนาแล้ว
       
       (วันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๑ ผู้เขียนยังเขียนไม่จบ)
       
       อ่านต่อ
       
        หน้า24
       หน้า 25
        หน้า26
       หน้า 27
        หน้า28
       หน้า 29


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544