หน้าแรก บทความสาระ
สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒ (หน้า ๒๒)
ศ. ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
31 มกราคม 2551 11:42 น.
 
[ หมายเหตุ : บทความในตอนนี้ เขียนเสร็จในราวกลางเดือนมกราคม ซึ่งเป็นเวลาที่ได้ทราบผลการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ และทราบแล้วว่า พรรคการเมืองใดมี ส.ส.ในสังกัดได้รับเลือกตั้ง เป็นจำนวนมากน้อยเพียงใด และพรรคการเมืองใดจะเป็นผู้ที่ฟอร์มรัฐบาล โดยขณะนี้ ได้มีการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญทั่วไป ครั้งแรกไปแล้ว เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๐
       โดยที่บทความนี้ เป็นบทความทางวิชาการ ผู้เขียนคงจะเขียนบทความของผู้เขียนต่อไป สำหรับให้เรา(คนไทย) “คิด”แก้ปัญหาการเมืองของเราในอนาคต (ถ้าหากจะเกิดขึ้นอีก) สำหรับผู้เขียน ผู้เขียนเห็นว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นตาม รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ (ฉบับปัจจุบัน) ต่อจากนี้ไป ก็คือ สิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐ ก่อนมีการรัฐประหารโดย“คณะปฏิรูปการปกครองฯ”เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ นั่นเอง เนื่องจาก(ตามความเห็นของผู้เขียน) เรา(ประเทศไทย) ยังไม่ได้มีการปฏิรูปการเมือง และยังไม่มีการปฏิรูประบบบริหาร
       ข้างหน้านี้ เราก็จะมี “นายกฯ / ๑” “ นายกฯ / ๒” “ นายกฯ / ๓” และต่อ ๆ ไป และถ้าหากมีกรณีทุจริตคอร์รัปชั่นถูกเปิดเผยขึ้น ผู้เขียนก็คิดว่า คณะรัฐบาลของเราก็จะมีการสลับ“ขั้ว” และเปลี่ยน“ตัวบุคคล”ที่เป็นรัฐมนตรี กันเป็นครั้งคราว เพื่อให้คนทั่วไปและสื่อมวลชน ได้มี“เรื่องใหม่ ๆ”สำหรับถกเถียงกันเป็นประจำวัน(และลืมเรื่องเก่า) และในขณะเดียวกัน ก็คงจะเป็นการต่อเวลาของการทุจริตคอร์รัปชั่นและการแสวงหาประโยชน์ของบรรดา นักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)ที่ผูกขาด “อำนาจรัฐ” ต่อไป ดังเช่นที่แล้ว ๆ มา และเราคงจะได้ยิน นายกรัฐมนตรีของเราพูดในสิ่งที่เราเคยได้ยินมาแล้ว ว่า “ใครว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่น ก็ขอให้ส่ง “หลักฐาน”มาให้รัฐบาล รัฐบาลจะได้สอบสวนให้ ”
       หลังจากหนึ่งปีเศษของการรัฐประหาร(วันที่ ๑๙ กันยายน๒๕๔๙) “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติรย์ทรงเป็นประมุข” ก็ได้นำเรา(คนไทย)กลับมาสู่ “ที่เดิม”ก่อนการรัฐประหาร คือ การเมืองแห่งการต่อรองหาประโยชน์ ระหว่าง นายทุนธุรกิจ(ระดับท้องถิ่น) กับนายทุนธุรกิจ(ระดับชาติ) ซึ่งต่างคนต่างก็ลงทุนออกเงินล่วงหน้าในการจัดตั้งพรรคการเมืองและรวบรวม ส.ส. เข้ามาในสังกัด เพื่อเข้ามาผูกขาด“อำนาจรัฐ” (ตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ให้) และต่างคนต่างก็แสวงหาประโยชน์และกำไรจากทรัพยากรของส่วนรวม ตามแต่โอกาสจะอำนวย ]

       
       ประเด็นข้อสุดท้าย สรุป “ความผิดพลาด”ในการเขียนรัฐธรรมนูญ พ.ศ ๒๕๔๐ ที่นำไปสู่สิ่งที่ตามมา คือ “ความล้มเหลว”ในการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๐) : ก่อนที่ผู้เขียนจะกล่าวต่อไปถึง ความล้มเหลวในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน(พ.ศ. ๒๕๕๐)ในข้อต่อไป ผู้เขียนขอสรุป (อย่างสั้น ๆ) เพื่อทบทวน “ประเด็น”สำคัญ ๆ ในความผิดพลาดครั้งที่สอง(การร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐) ที่ท่านผู้อ่านควรจะให้ความสนใจ โดยผู้เขียนจะทบทวนในช่วงเวลา จาก พ.ศ. ๒๕๓๔ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๙ รวมเวลา ๑๕ ปีเศษ ใน ๓ ประเด็น คือ (๑) วิวัฒนาการของ“ระบบเผด็จการ(ในระบบรัฐสภา) โดยพรรคการเมือง” ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครอง (form of government)ของเราในช่วงเวลาดังกล่าว และ (๒) พฤติกรรม(ทางสังคมวิทยา)ของกลุ่ม ชนชั้นนำ – eliteของสังคมไทย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้าง “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง”๒ กลุ่ม (นักกฎหมาย กับ นายทุนธุรกิจ – ระดับท้องถิ่น) และ (๓) ทำไมความผิดพลาดในการเขียนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งใช้บังคับเพียง ๑๐ ปี จึงมีผลเสียหายแก่ประเทศมากกว่า ความผิดพลาด(ครั้งแรก)ของ “คณะราษฎร”ที่นำ “ระบบรัฐสภา”มาใช้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญพ.ศ.๒๔๗๕ และใช้ต่อเนื่องกันมาถึง ๖๕ ปี
       ทั้งนี้ เพื่อจะได้นำประสบการณ์นี้มาใช้ ในการศึกษาเปรียบเทียบหา “สาเหตุ”แห่ง ความล้มเหลวของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๐) ในข้อต่อไป
       
       (๑) วิวัฒนาการของ“ระบบเผด็จการ(ในระบบรัฐสภา) โดยพรรคการเมือง” ; ขณะนี้ เรามี รูปแบบ form of government ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับปัจจุบัน) เป็น “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภาโดยพรรคการเมือง” ซึ่งเริ่มต้นจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๑๗ ด้วยการ“การบังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง”(แต่รัฐธรรมนูญยังเปิดโอกาสให้ ส.ส.ยังมีโอกาสหาพรรคการเมืองพรรคใหม่สังกัดได้ในกรณีที่ถูกพรรคการเมืองเดิมมีมติให้ออกจากพรรค)
       ต่อมา เราก็กลายเป็น ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองอย่างสมบูรณ์แบบ นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๒๑ (ซึ่ง ส.ส. ไม่มีโอกาสหาพรรคการเมืองพรรคใหม่สังกัดในกรณีที่ถูกพรรคการเมืองเดิมมีมติให้ออกจากพรรค) และในรัฐธรรมนูญ(ถาวร)ที่ตามมาทุกฉบับ คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ จนถึงรัฐูธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐
       
แต่ในที่นี้ เราลองมาพิจารณาดูว่า ในระยะเวลารวม ๑๕ ปี คือ นับตั้งแต่เวลาที่ทหารต้องถอนตัวจากการเมือง ใน ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ (หลัง เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ”) จนถึง การ“รัฐประหาร”โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ฯ ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ (วันที่ ๑๙ กันยายน) มีอะไรเกิดขึ้น กับ “ ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง (สมบูรณ์แบบของเรา (?)
       
เราจะเห็นได้ว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง” ได้มีวิวัฒนาการ ถึง ๓ ระยะด้วยกัน คือ เราเริ่มต้นด้วย “ระบบเผด็จการ – ทหาร” ไปสู่ “ระบบเผด็จการ – นายทุนธุรกิจ(ระดับท้องถิ่น)” ซึ่งเป็นระยะที่สอง และในระยะสุดท้าย คือ “ระบบเผด็จการ – นายทุนระดับชาติ
       ณ จุดเริ่มต้น พ.ศ. ๒๕๒๑ เห็นได้ว่า “ระบบเผด็จการ (ในระบบรัฐสภา) โดยพรรคการเมือง” มีเจตนาให้เป็น“ระบบเผด็จการ - ทหาร” โดยมุ่งหมายให้ทหารและนักการเมืองที่เป็นพันธมิตรกับฝ่ายทหาร จัดตั้งพรรคการเมือง มาเป็นรัฐบาลร่วมกันภายไต้การนำของทหาร (เป็นนายกรัฐมนตรี) [ หมายเหตุ เป็นที่สังเกตว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้แยก “ระบบสถาบันการเมือง”ออกเป็น ๒ ช่วงเวลา โดยในช่วงระยะเวลา ๔ ปีแรก (สิ้นสุดวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๒๖) จะเป็นระยะเวลาที่รัฐบาล(ทหาร) มี“วุฒิสภา”(ที่มีสมาชิกมาจากการแต่งตั้งและมีอำนาจมาก )เป็นสถาบันที่เป็นฐานของเสถียรภาพของรัฐบาล(ทหาร) โดยไม่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง และในช่วงที่สอง จีงกลับมาใช้ “วิธีการ”บังคับให้ ส.ส.(ในสภาผู้แทนราษฎร)ต้องสังกัดพรรคการเมืองและให้พรรคการเมืองมีอำนาจควบคุม ส.ส. เพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่รัฐบาล ]
       ระยะที่สอง ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ( หลังจากเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ”) รูปแบบการปกครอง – form of government ก็เปลี่ยนจาก ระบบเผด็จการ - ทหาร มาเป็น “ระบบเผด็จการ – นายทุนธุรกิจ(ระดับท้องถิ่น)” ซึ่งอันที่จริงแล้ว ก็คือ กลุ่มนายทุนที่ครอบงำพรรคการเมือง (ที่อยู่ใน “ระบบการผูกขาดอำนาจรัฐโดยพรรคการเมือง” ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔) อยู่แล้วในขณะนั้น ; การเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลในขณะนั้น (ที่มีนายกรัฐมนตรีพระราชทาน) พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ (มาตรา ๑๕๙ โดย รธน. ฉบับที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๓๕ ) กำหนด บังคับให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. (เท่านั้น) ซึ่งการแก้บทบัญญัตินี้ มีผลทำให้ นายทุนธุรกิจ(ระดับท้องถิ่น)ได้ระบบการผูกขาดอำนาจรัฐโดยพรรคการเมือง (ตามรัฐธรรมนูญ) ไปจากฝ่ายทหาร
       ดังนั้น ในระหว่าง ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ จนถึง ปี พ. ศ. ๒๕๔๔ การบริหารประเทศของเรา ก็จะเป็น การเผด็จการโดยพรรคการเมือง –นายทุนธุรกิจ(ระดับท้องถิ่น) หลายพรรครวมกัน ทั้งนี้ เนื่องจากในขณะนั้น พรรคการเมือง(ที่อยู่ใน”ระบบการผูกขาดอำนาจรัฐโดยพรรคการเมือง”ตามรัฐธรรมนูญ) ไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีเสียงข้างมากในสภาอย่างเด็ดขาด ( คือไม่มีพรรคการเมืองใดที่มี ส.ส.จำนวนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด); และในทางปฏิบัติ นายทุนธุรกิจ(ระดับท้องถิ่น)เจ้าของพรรคการเมืองเหล่านี้ ก็จะต่อรองซึ่งกันและกัน และสลับ“ขั้ว”กันเพื่อเข้ามาเป็น “นายกรัฐมนตรี”และแบ่งบันตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งการบริหารประเทศในระยะนี้ ก็มีข่าวคราวการทุจริตคอร์รัปชั่นขนาดใหญ่ปรากฏให้เห็นกันแล้วในสื่อมวลชน
       ในปีพ.ศ. ๒๕๔๐ ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดย “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ซึ่งนายทุนธุรกิจ –ระดับท้องถิ่นที่ครอบงำ “พรรคการเมือง(ต่าง ๆ)”ในสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในขณะนั้น ก็ได้แสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งว่า ตนเองยังต้องการ“ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)”; และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้กำหนดให้ “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)”มีความเข้มงวดยิ่งขึ้น โดยได้เพิ่มมาตรการที่บังคับให้ “ส.ส.”ต้องผูกมัดอยู่กับพรรคการเมือง มากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับเดิม ( คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ ประกอบกับที่แก้ไขเพิ่มเติมหลังพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕)
       ระยะที่สาม ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ รูปแบบการปกครอง – form of government ก็เปลี่ยนจากระบบเผด็จการ – นายทุนธุรกิจ (ระดับท้องถิ่น) เป็น “ระบบเผด็จการ – นายทุนธุรกิจ (ระดับชาติ โดยนายทุนระดับชาติ ได้มองเห็นโอกาสในการเข้าผูกขาด “อำนาจรัฐ”ในระบบรัฐสภา (และแสวงหาประโยชน์ได้) ; ดังนั้นนายทุนระดับชาติ จึงได้จัดตั้งพรรคการเมืองของตนเองขึ้นใน ปีพ.ศ. ๒๕๔๓ ; และ ด้วยจำนวนเงินทุนที่มากกว่า / ด้วยอิทธิพลที่เหนือกว่า/ ด้วยการใช้นโยบาย populist เอาใจประชาชนในขณะที่สภาพสังคมไทยอ่อนแอ ; พรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจ(ระดับชาติ)ได้เริ่มยึดครอง “อำนาจรัฐ”จากพรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจ(ระดับท้องถิ่น)ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ โดยในการเลือกตั้งทั่วไปใน พ.ศ. ๒๕๔๔ (วันที่ ๖ มกราคม) พรรคการเมืองของนายทุนระดับชาติ ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราณฎร ๒๔๘ ที่นั่งในจำนวนทั้งหมด๕๐๐ ที่นั่งและได้เป็นรัฐบาล และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ก็ได้ยึดครอง “อำนาจรัฐ”ได้อย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ โดยในการเลือกตั้งทั่วไปใน ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ (วันที่ ๖ กุมภาพันธ์) พรรคการเมืองได้ ส.ส. ๓๗๗ ที่นั่งในจำนวน ๕๐๐ ที่นั่ง
       นี่ คือ สาเหตุของการทุจริตคอร์รัปชั่นครั้งมโหฬารของประเทศไทย เพราะในระบบรัฐสภา – parliamentary system ไม่มีกลไกใดของรัฐที่จะถ่วงดุลการใช้อำนาจของ “พรรคการเมือง” ที่คุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและเป็นรัฐบาลในขณะเดียวกัน ได้
       

       (๒) Elite ที่สร้าง “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง (นายทุนธุรกิจ) : รูปแบบการปกครอง – form of government เป็น“ระบบ”ที่สร้างขึ้นโดย “คน” และ “คน”ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้าง form of government ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ของเรา ให้เป็น “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภาโดยพรรคการเมือง” ก็คือ ชนชั้นนำ – elite ของ เรา (คนไทย) ๒ ประเภท ; เรากล่าวกันว่า เรา (คนไทย)มีหน้าที่ส่งเสริม “คนดี”ให้ได้ปกครองบ้านเมือง ; เราลองมาพิจารณาดูว่า ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง (นายทุนธุรกิจ) เป็น “ระบบ”ที่ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมืองหรือไม่ (?)
       
       (ก) Elite ประเภทแรก ได้แก่ นักวิชาการในวงการวิชาการทางกฎหมาย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ และอันที่จริงแล้ว นักวิชาการจำนวนหนึ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ นี้ ก็คือ นักกฎหมายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๒๑ ( และ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ ) ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย ที่ สร้างระบบเผด็จการในระบบรัฐสภาโดยพรรคการเมือง (และเป็นฉบับแรกของโลก)
       ระบบนี้เริ่มต้นมาจาก รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๑๗ ที่บังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมืองและกำหนดให้ ส.ส. ต้องพ้นจากความเป็น ส.ส.ในกรณีที่ ส.ส.ต้องออกจาก(สมาชิก)พรรคการเมือง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ(ในขณะนั้น พ.ศ. ๒๕๑๗)ได้ผ่อนคลายไว้ให้ โดยบัญญัติเงื่อนไขไว้ว่า ถ้าพรรคการเมืองมีมติให้ส.ส.ต้องออกจากพรรค ฯ ก็ให้ ส.ส.มีโอกาสที่จะหาพรรคการเมืองพรรคใหม่สังกัดให้ได้ภายใน ๖๐ วัน ดังนั้น จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๑๗ จึงยังไม่เป็น “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง (อย่างสมบูรณ์)”; แต่อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๑๗ ก็ได้ “ตัด”บทบัญญัติที่ให้หลักประกันในความเป็นอิสระของ ส.ส.ในการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ต้องอยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใด ๆ ออกจากบทรัฐธรรมนูญ ตามที่เคยมีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับ ก่อน ๆ ซึ่งเป็นบทบัญญัติมาตรฐานของประเทศ (เสรี)ประชาธิปไตย
       รัฐธรรมนูญฉบับต่อมา คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๒๑ ปรากฎว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้เพิ่มเติม “มาตรการ”ที่บังคับให้ ส.ส.ต้องอยู่ ภายไต้การควบคุมของพรรคการเมืองเข้มงวดยิ่งขึ้น กล่าวคือ นอกจากจะยึดถือแนวทางที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๑๗ คือ บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง ฯลฯ แล้ว รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้บัญญัติให้ ส.ส. ต้องพ้นจากความเป็น ส.ส.ในทันทีที่พรรคการเมืองมีมติให้ ส.ส.ออกจากสมาชิกของพรรคการเมือง โดยไม่เปิดโอกาสให้ ส.ส. ไปหาพรรคการเมืองพรรคใหม่สังกัด และนอกจากนั้น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้เปลี่ยนคำปฏิญานของ ส.ส. โดยตัดข้อความที่ว่า“ส.ส.จะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนเองโดยสุจริตใจ” ออกจากคำปฏิญานที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
       รัฐธรรมนูญฉบับถัดมา คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้เขียนขึ้นตามแนวทางของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๒๑ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง
       ดังนั้น นักวิชาการในวงการกฎหมายของไทย จึง เป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบในการสร้าง “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(อย่างสมบูรณ์)” ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๒๑ (หลังการปฎิวัติ โดย“คณะปฏิวัติ”ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๐) และเขียนต่อเนื่องกับ รํฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ (หลังการปฏิวัติ โดย “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔) รวมถึง รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐
       รูปแบบการปกครอง – form of government (ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง) ตามรัฐธรรมนูญของไทย ทั้ง ๓ ฉบับนี้ จึงเป็น “รูปแบบ”ที่ริเริ่มขึ้นในประเทศไทย เป็นประเทศแรกในโลก และเป็นรัฐธรรมนูญประเทศเดียวในโลกในขณะนี้ ที่ใช้ระบบนี้
       
การที่นักวิชาการในวงการวิชาการทางกฎหมายของเราเขียน(ออกแบบ)รัฐูธรรมนูญเช่นนี้ อาจอธิบายได้ด้วยเหตุผลเพียง ๒ เหตุผล คือ เหตุผลประการแรก นักวิชาการในวงการกฎหมาย (ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ)ของเราในขณะนั้น(พ.ศ. ๒๕๔๐) มี”ความรู้”ไม่พอ และไม่รู้ว่า ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)ที่มาจากการเลือกตั้งในสภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอ จะก่อให้เกิด“ผล(เสียหาย)”แก่ประเทศ ได้อย่างไร หรือ เหตุผลประการที่สอง ก็คือ นักวิชาการในวงการกฎหมายของเราในขณะนั้น มี “ความรู้”พอและรู้ถึงผลเสียของ “การผูกขาดอำนาจรัฐโดยพรรคการเมือง” แต่อยากจะ “ช่วย”หรือให้ “บริการ”แก่นักการเมือง มากเกินไป โดยไม่สุจริตใจ (เพราะเหตุใดเหตุหนึ่ง) ; หรือมิฉะนั้น ก็เพราะเหตุผลทั้ง ๒ เหตุผลประกอบกัน คือ นักวิชาการของเราไม่มีทั้ง“ความรู้”และไม่มีทั้ง“ความสุจริตใจ”
       
       (ข) Elite ประเภทที่สอง ที่เป็นผู้มีส่วนในการสร้างระบบเผด็จการในระบบรัฐสภาโดยพรรคการเมือง (อย่างสมบูรณ์)ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐ ได้แก่ นายทุนธุรกิจ – ระดับท้องถิ่น ทั้งนี้ เราต้องไม่ลืมว่า ตามข้อเท็จจริงในขณะนั้นระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๕ - ๒๕๔๐ บรรดานายทุนธุรกิจที่เป็นเจ้าของ “ทุน”และครอบงำ “พรรคการเมือง” (ที่อยู่ระบบการผูกขาดอำนาจรัฐโดยพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔)ทั้งหมดในขณะนั้น ต่างก็เป็นนายทุนธุรกิจระดับท้องถิ่นทั้งสิ้น โดยในขณะนั้น นายทุนธุรกิจระดับชาติยังไม่ได้ตั้งพรรคการเมือง
       เราคงจำได้ว่า ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เมื่อเกิดเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ”ขึ้น นายทุนธุรกิจ – ระดับท้องถิ่น (ในขณะนั้น)ได้เรียกร้องและปลุกระดมให้มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า “นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.(เท่านั้น)” โดยอ้างว่า ถ้าเราไม่เขียนเช่นนี้ เราก็ไม่เป็นประชาธิปไตย [หมายเหตุ : บทบัญญัตินี้ เป็นบทบัญญัติที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญของประเทศที่พัฒนาแล้ว]
       ผู้เขียนเห็นว่า การเรียกร้องของนายทุนธุรกิจ – ระดับท้องถิ่นนี้ มีอิทธิพลและทำให้คนไทยทั้งประเทศ เข้าใจผิดใน “หลักการ”และ “กลไก”ของ การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เป็นสากล และทำให้คนไทยเชื่อว่า ถ้ารัฐธรรมนูญของเราไม่มีบทบัญญัตินี้แล้ว ประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งผู้เขียนไม่เห็นด้วย เพราะ ความจริง ไม่ใช่เช่นนั้น
       
ในทางสังคมวิทยา(ซึ่งเป็นพื้นฐานของกฎหมายมหาชน - ยุคใหม่) เห็นได้ชัดว่า การเรียกร้องของนายทุนธุรกิจ – ระดับท้องถิ่น เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง เพื่อเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ ซึ่งนอกจากจะไม่มี “แบบอย่าง”ในรัฐธรรมนูญของประเทศที่พัฒนาแล้ว ยังเป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิของ “สภาผู้แทนราษฎร”ในการ“เลือก”บุคคลที่ดีกว่าหรือบุคคลดีที่สุดของประเทศ มาเป็นนายกรัฐมนตรี
       

       ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ในการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ พ.ศ. ๒๕๔๐(โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๙) นายทุนธุรกิจ -ระดับท้องถิ่น( ซึ่งครอบงำพรรคการเมืองต่าง ๆในสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น) ก็ยัง ยืนยันแนวความคิดในการรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มของตนเอง คือ ให้ใช้ “ระบบเผด็จการ(ในระบบรัฐสภา) โดยพรรคการเมือง” เป็นรูปแบบการปกครอง – form of government ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ คือ มีบทบัญญัติบังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง / ให้พรรคการเมืองมีอำนาจบังคับให้ ส.ส. ต้องปฎิบัติตามมติของพรรค. / และต้องมีบทบัญญัติบังคับให้นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งมาจาก ส.ส. (เท่านั้น)
       ในขณะนั้น (พ.ศ. ๒๕๓๙ – ๒๕๔๐) นายทุนธุรกิจ – ระดับชาติ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ “การสร้าง”ระบบผูกขาดอำนาจรัฐโดยพรรคการเมือง แต่อย่างใด ; นายทุนธุรกิจ – ระดับชาติ เป็นเพียงผู้เข้ามาฉวยเอาประโยชน์จาก“ระบบผูกขาดอำนาจ” ที่นายทุนธุรกิจ – ระดับท้องถิ่น ได้สร้างไว้สำหรับตนเอง
       [ หมายเหตุ : ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ในขณะที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่เพิ่งผ่านมา ปรากฏว่า ได้มีกรณี “ตัวอย่าง – case”ที่น่าสนใจกรณีหนึ่ง ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของ eliteที่เป็นนักเลือกตั้ง ของเรา ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการศึกษาทางสังคมวิทยา - sociology ซึ่งนับวันแต่จะเพิ่มความสำคัญมากขึ้นใน “หลักกฎหมายของกฎหมายมหาชน” เพื่อการออกแบบ(เขียน) กฎหมาย ผู้เขียนจึงขออนุญาตบันทึกกรณีดังกล่าวไว้ในบทความนี้ด้วย
       กรณีนี้ เป็นกรณีที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของ นายทุนธุรกิจ – ระดับท้องถิ่น ที่ได้ออกมาเรียกร้องให้แก้ไขบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ตนเองได้เคยเขียนไว้สำหรับตนเอง แต่ในเวลาต่อมา เหตุการณ์ได้กลายเป็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวได้ถูกนายทุนธุรกิจ – ระดับชาติได้นำไปใช้ประโยชน์ที่เป็นผลเสียแก่ตนเอง(นายทุนธุรกิจ – ระดับท้องถิ่น ; โดย
มีข้อเท็จจริง ดังต่อไปนี้
       
ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ในการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐ นั้น นายทุนธุรกิจ – ระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้ที่อาศัย “โอกาส”จากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ขอแก้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ นำเอา “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองที่บังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรค ฯลฯ” (ที่นักวิชาการเขียนขึ้นไว้เพื่อประโยชน์ของทหาร) มาเป็นประโยชน์แก่ตนเอง ได้เพิ่มเติม “มาตรการ”ที่ผูกมัด ส.ส.ไว้กับพรรคการเมืองให้มากขึ้นกว่าเดิม ด้วยการเพิ่มบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ (มาตรา ๑๐๗ (๔))ว่า “ผุ้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จะต้องเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๙๐ วัน จึงจะมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งได้” ทั้งนี้ เนื่องจากนายทุนท้องถิ่น(ในขณะนั้น) เกรงว่า จะมีบุคคลอื่นจะมาแย่ง ส.ส.ไปจากการสังกัดพรรคการเมืองของตน
       แต่เหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป เพราะหลังจากที่รัฐธรรมนูญพ.ศ. ๒๕๔๐ บังคับใช้ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ และนายทุนธุรกิจ (ระดับชาติ) ได้ตั้งพรรคการเมือง ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓แล้ว ปรากฎว่า พรรคการเมืองของนายทุนระดับชาติได้ “ดูด”ส.ส.จากพรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจ(ระดับท้องถิ่น)ไปเป็นจำนวนมาก และได้เป็น “รัฐบาล”ถึง ๒ สมัยติดต่อกัน (ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๔ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๙) ; “รัฐบาล”ของพรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจ(ระดับชาติ) จึงกลับเป็นฝ่ายที่ได้ประโยชน์ จาก “มาตรการ”นี้ และผลเสียของ “มาตรการ”นี้ ตกอยู่กับ “พรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจ(ระดับท้องถิ่น)”ที่เป็นผู้ที่เขียนมาตรการนี้ขึ้นเอง (ใน พ.ศ. ๒๕๔๐) ; โดยพรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจ(ระดับชาติ) ได้ใช้วิธีการ “ยุบสภา”และ “การกำหนดวันเลือกตั้ง”ให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งเป็นการบีบบังคับมิให้ ส.ส.ในสังกัดพรรคการเมืองของตนลาออกจากพรรคและไปสังกัดพรรคการเมืองพรรคอื่น(ของนายทุนธุรกิจ – ระดับท้องถิ่น) โดยถ้าลาออกไป ก็จะไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเพราะไม่มีเวลาทันพอที่เข้าสังกัด “พรรคใหม่”ได้ครบ ๙๐ วันก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง ( นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ยุบสภาทันที ใน วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ และกำหนดวัน เลือกตั้งทั่วไป วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ ซึ่งห่างกันเพียง ๓๖ วัน และการยุบสภาในครั้งนั้น เป็นการยุบสภาในขณะที่พรรคการเมืองของนายกรัฐมนตรี มีจำนวน ส.ส. ที่ควบคุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรโดยเด็ดขาด คือ ๓๗๔ เสียง –จำนวนในขณะยุบสภา ต่อจำนวน ส.ส.ทั้งหมด ๕๐๐ เสียง และเป็นการยุบสภาเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการอภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมืองในพรรคการเมืองของแนายกรัฐมนตรี ตามที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านได้ขอเปิดอภิปรายไม่ใว้วางใจในรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลไว้ )
       ด้วยเหตุนี้ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ หลังจากวิกฤตการณ์ทางการเมือง ในขณะที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน( พ.ศ. ๒๕๕๐ ) นายทุนธุรกิจ(ระดับท้องถิ่น) จีงได้หวนกลับมาเรียกร้อง (ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ) ขอแก้ไขมาตรการ ที่ “ตนเอง”ได้เขียนไว้เอง (ในปี พ.ศ ๒๕๔๐). อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ผ่อนคลายระยะเวลาที่บังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรค (ติดต่อกัน)ของส.ส.ก่อนการเลือกตั้ง ให้สั้นลง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๐) ก็ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ตามการเรียกร้องของนายทุนธุรกิจ(ระดับท้องถิ่น)ดังกล่าว โดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้แก้ระยะเวลาดังกล่าวให้สั้นลง คือ กำหนดให้ระยะเวลา(ที่ ส.ส.จะต้องสังกัดพรรคติดต่อกันก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง) ให้เหลือเพียง ๓๐ วันในกรณีที่มีการยุบสภา แทน ๙๐ วันตามที่กำหนดไว้เดิม (มาตรา ๑๐๑ (๓) )
       และเป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ นี้ นายทุนธุรกิจ (ระดับท้องถิ่น ) ก็ยังคงยืนยันและยังต้องการ“ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)อยู่ ทั้ง ๆ ที่ระบบนี้ ตนเอง (นายทุนธุรกิจ - ระดับท้องถิ่น ได้เคยเสียการครอง “อำนาจรัฐ”ไปให้แก่ พรรคการเมืองของนายทุนนักธุรกิจระดับชาติ ในการเลือกตั้งทั่วไป แล้ว ถึง ๒ ครั้ง ก็ตาม (?) (?) ; เพราะเหตุใด นายทุนธุรกิจ – ระดับท้องถิ่น จึง “คิด”เช่นนี้ เราจะได้พิจารณาคึกษา “พฤติกรรม”ต่อไป ในหัวข้อที่ว่าด้วย “ความผิดพลาด (ซ้ำ) ครั้งที่สาม”
]
       
       (๓) ทำไม ความผิดพลาดในการเขียนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ (๑๐ ปี) จึงทำความเสียหายต่อสังคมและต่อทรัพยากรของประเทศ มากกว่าความผิดพลาดของ “คณะราษฎร”ในการเขียนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕ (๖๕ ปี) : เท่าที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นการสรุปสภาพการเมืองของประเทศไทยในช่วงเวลา ๑๐ ปีของการเมืองไทยในระหว่างพ.ศ. ๒๕๔๐ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๙ อันเป็นช่วงที่สอง (ของการเมืองไทย) ต่อจากช่วงเวลาแรก ซึ่งเป็นช่วงของความผิดพลาดในการ ออกแบบรัฐธรรมนูญ โดย “คณะราษฎร์” ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่นำ “ระบบรัฐสภา” ในรูปแบบที่ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมของไทยมาใช้บังคับ โดยคณะราษฎร์ไม่ยอมรับอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในช่วงระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย – ซึ่งแตกต่างกับประเทศที่มีกษัตริย์ในยุโรป
       ในช่วงแรกของการเมืองไทย (ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๕ จนถึง พ.ศ. ๒๕๔๐) ผลของการผิดพลาดของคณะราษฎร์ ได้ ก่อให้เกิดการแย่ง “อำนาจรัฐ” ระหว่างบุคคล ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มนักการเมืองที่ได้อำนาจรัฐ มาด้วยการ “การเลือกตั้ง”ที่ต้องใช้เงินลงทุน(ในสภาพของสังคมไทยที่อ่อนแอ) กับ กลุ่มนักการเมืองที่ได้อำนาจรัฐมาด้วย “การรัฐประหาร” ที่จะทำการรัฐประหารในโอกาสที่คนทั่วไปเบื่อการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)ที่ต่อเนื่องกันมา โดยไม่มีนักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)คนใดเอาใจใส่ต่อการปราบปราม(การกระทำตัวเอง) ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
       ช่วงที่สองของสภาพการเมืองไทย( ๑๐ ปี)นี้ แต่ถ้านับตั้งแต่เวลาเริ่มต้น ตั้งแต่เวลาที่ทหารได้ถอนตัวจากการเมืองใน พ.ศ. ๒๕๓๕ หลังเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕ ก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ รวมเข้าไว้ด้วย จนถึง การที่ต้องกลับมามีการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งโดย “คณะปฎิรูปการปกครองฯ” พ.ศ. ๒๕๔๙ นี้ ก็จะเป็นเวลาประมาณ ๑๕ ปี ; ในช่วงเวลานี้ ปรากฎว่า เราได้มีการเปลี่ยนแปลง form of government ในสาระสำคัญของ ที่วงการวิชาการของเราไม่ได้สังเกตเห็น ( เพราะนักวิชาการของเราเป็นคนเขียนขึ้นเอง โดยไม่รู้ถึงความสำคัญและผลเสียของการเปลี่ยนแปลง) คือ เราได้เปลี่ยนจาก “ระบบรัฐสภา – parliamentary system”แบบเดิม ๆ ( conventional system) มาเป็น “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง (นายทุนธุรกิจ)” ที่มีการบังคับ (ในรัฐธรรมนูญ)ให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง / ให้พรรคการเมืองมีอำนาจบังคับให้ ส.ส. ต้องปฏิบัติตามมติของพรรค / และจำกัดว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. เท่านั้น
       “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง (นายทุนธุรกิจ)”ของเราเริ่มต้นจาก การผูกขาดอำนาจรัฐโดยพรรคการเมืองของกลุ่มนายทุนธุรกิจ – ระดับท้องถิ่น ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๔ รวม ๙ ปี และต่อจากนั้น ก็เป็นการผูกขาดอำนาจรัฐโดยพรรคการเมืองของกลุ่มนายทุนธุรกิจ – ระดับชาติ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๙ รวม ๕ ปี ซึงผลของการบริหารประเทศในช่วงนี้ เต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่นและการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งโดยผิดกฎหมายและการคอร์รัปชั่นทางนโยบาย และจบลงด้วยการรัฐประหาร ในวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ [ หมายเหตุ : และขณะนี้ หลังการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ (หนึ่งเดือนที่เพิ่งผ่านมา) ข้อเท็จจริง ก็ปรากฎให้เห็นแล้วว่า ประเทศไทยยังคงอยู่ใน “ระบบเผด็จการ – นายทุนธุรกิจ(ระดับชาติ)” และ ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ เนื่องมาจากความล้มเหลวของการออกแบบในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน(พ.ศ. ๒๕๕๐) ซึ่งจะได้พิจารณาต่อไป ]
       คำถามมีว่า ทำไม ความผิดพลาดในการเขียนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งใช้บังคับเพียง ๑๐ ปี จึงมีผลเสียและ(ได้)ทำให้ประเทศไทยและคนไทยเสียหาย (ทั้งในด้านที่เป็นทรัพยากรของชาติ และในด้านสภาพและวัฒนธรรมสังคมไทย) มากกว่าความผิดพลาดของ “คณะราษฎร”ในการเขียนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่ใช้ “ระบบรัฐสภา”แบบเดิม ๆ ต่อเนื่องกันมาถึง ๖๕ ปี เพราะเหตุใด (?)
       คำตอบอย่างง่าย ๆ และเข้าใจอย่างง่าย ๆ ก็คือ ในช่วง ๖๕ ปีแรกของการเมืองไทย เป็นเพียงช่วงของ “การไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง” (เนื่องจากการแก่งแย่งอำนาจ ระหว่าง elite สองกลุ่ม ) แต่ในช่วง ๑๐ ปีที่แล้วมา (พ.ศ. ๒๕๔๐ – ๒๕๔๙) เป็นช่วงของ “การผูกขาดอำนาจรัฐในระบบรัฐสภาโดยพรรคการเมือง – ของนักทุนธุรกิจ” (ไม่ว่าจะเป็น “นายทุนท้องถิ่น”หรือ “นายทุนระดับชาติ”) เพราะเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬได้ทำให้ elite กลุ่มทหาร (ซึ่งเป็นปัจจัยในการถ่วงดุลอำนาจเผด็จการของกลุ่มนักธุรกิจนายทุน)ต้องยุติบทบาททางการเมือง กลุ่มนายทุนธุรกิจ เป็นกลุ่มบุคคลที่ใช้ “เงิน”ในการเลือกตั้ง(ในสภาพของสังคมไทยที่อ่อนแอ)และมีพฤติกรรมที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ต้องการผูกขาดอำนาจรัฐไว้กับกลุ่มของตนเอง ; ระบบเผด็จการโดยกลุ่มนายทุนธุรกิจ จึงแตกต่างและมีความเลวร้าย (vice)มากกว่า ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองพรรคเดียว(พรรคคอมมิวนิสต์) – one party system เพราะในระบบพรรคการเมืองพรรคเดียว จะมีพรรคคอมมิวนิสต์เป็น “องค์กร”ที่ทำหน้าที่คัดสรร eliteของชาติ (ซึ่งกำหนดไว้ว่าจะต้องไม่ใช่ elite ประเภท “นายทุนธุรกิจ”) ก่อนที่ elite นั้น ๆ จะเข้ามาใช้ อำนาจในทางการเมือง ซึ่งทำให้ elite ( worker – peasant – intellectual) ที่เป็น “คนไม่ดี” ถูกคัดออกไปจากบทบาททางการเมือง
       
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ดูว่าจะเป็น รัฐธรรมนูญที่ยาวมากฉบับหนึ่ง(เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆ โดยทั่วไป ) แต่ความยาวและความสั้นของรัฐธรรมนูญมิใช่สาระสำคัญ ; สาระสำคัญของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ อยู่ที่ “ความจำเป็นและความเหมาะสม”ว่า สมควรจะต้องมีบทบัญญัตินั้น ๆ หรือไม่ และ อยุ่ที่ “คุณภาพ”ของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญว่า การเขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนุญ ทำได้ดี เพียงใด ; เช่น ถ้าหากประเทศไทยเป็นประเทศที่มี “ความพิกลพิการ”ใน(กฎหมาย)ระบบบริหารพื้นฐานของประเทศ (ซึ่งความจริงก็เป็นเช่นนี้ ) รัฐธรรมนูญของไทยก็คงจะต้องเขียนยาว ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างหรือนำทางให้แก่ การพัฒนา “กฎหมาย”ที่เป็นระบบบริหารพื้นฐานของประเทศ เป็นต้น
       ปัญหาการเขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญของไทย จึงอยู่ที่ “คุณภาพ”ของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มากกว่า จะพิจารณาถึงความยาวความสั้นของรัฐธรรมนูญ ; และ “คุณภาพของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ” ขึ้นอยู่กับ คุณภาพและพฤติกรรมของ “คน” ซึ่งเป็น elite ของสังคม ที่เขียนรัฐธรรมนูญ
       จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา elite ของสังคมไทยได้แสดงตนและพิสูจน์ตนเองให้เห็นได้ ว่า elite ของเรา มีพฤติกรรม(ในทางสังคมวิทยา)ที่เห็นแก่ตัว และไม่มี “ความรู้”พอที่จะเขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญที่ดี ได้ ; และ elite เหล่านี้นี่เอง ได้ชักนำให้คนไทยเข้าใจผิดใน “หลักการ” และ “กลไก”ในระบอบประชาธิปไตย จนถึงขั้น ที่ทำให้คนไทยยอมรับว่า “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง (นายทุนธุรกิจ)” ว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย ทั้ง ๆ ที่ ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลก ที่มีรัฐธรรมนูญเช่นนี้
       
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้ผิดพลาดใน “ส่วน(สำคัญที่สุด)”ของรัฐธรรมนูญ คือผิดพลาดใน “ส่วน”ที่กำหนด “รูปแบบการปกครอง – form of government” ; ผู้เขียนได้เคยเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบในบทความนี้ (ตั้งแต่ตอนที่ว่าด้วย การวิเคราะห์ คำชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฯ ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ชุด พ.ศ. ๒๕๕๐) แล้วว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญสามารถแยกออกได้เป็นส่วน ๆ (เช่น บทบัญญัติว่าด้วยประมุขของรัฐ / บทบัญญัติทั่วไปว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ / บทบัญญัติว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น / ฯลฯ) และบทบัญญัติส่วนที่สำคัญที่สุด ก็คือ ส่วนที่ว่าด้วย “ระบบสถาบันการเมือง” หรือ “form of government” เพราะเป็นส่วนที่ ว่าด้วย สถาบันการเมืองสูงสุด ที่ใช้ “อำนาจรัฐ” ; หากมีความผิดพลาดในส่วนที่เป็นระบบสถาบันการเมืองนี้แล้ว บทบัญญัติส่วนอื่นของรัฐธรรมนูญก็จะมีความไม่แน่นอน(ไม่ว่าจะเขียนดีหรือไม่ดี มีคุณภาพหรือไม่มีคุณภาพ) เพราะสถาบันการเมืองเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุด ที่สามารถแทรกแซงองค์กรต่าง ๆตามรัฐธรรมนูญได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม และมีอำนาจแม้แต่จะแก้ไขตัวบทรัฐธรรมนูญนั้นเอง
       
       “คำพังเพย - แมวกับปลาย่าง ” กับ ความเป็นจริง – reality ที่เกิดขึ้น : ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับการเขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ที่เอา “อำนาจรัฐ”ไปขึ้นอยู่กับจำนวน “เสียงข้างมาก”ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ; เราทราบอยู่แล้วว่า ในระบบรัฐสภานั้น เมื่อพรรคการเมืองใดคุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมืองนั้นก็จะได้เป็นรัฐบาลด้วย และนอกจากนั้น รัฐธรรมนูญของเราก็ยังมีบทบัญญัติกำหนดไว้ด้วยว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. (เท่านั้น) (ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญประเทศเดียวในโลก) ; ดังนั้น การบังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง ในระบบรัฐสภา จึงเป็นการเอาอำนาจรัฐทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ไปขึ้นอยู่กับ “ พรรคการเมือง”ของนายทุนธุรกิจที่ลงทุนตั้งพรรคการเมือง ที่ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ; การมีบทบัญญัติเช่นนี้ เปรียบเสมือน เป็นการเอาปลาย่างไปวางไว้ในกลุ่มแมว (นายทุนนักธุรกิจ) แล้วออก “กฎ”ห้ามไม่ให้แมวมากินปลาย่าง ด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญ สร้างองค์กรต่าง ๆ ขึ้นมากมาย เพื่อคอยจับแมว ไม่ให้แมวมากินปลาย่าง
       ผู้เขียนเห็นว่า การเขียนกฎหมายที่ขัดแย้งกับ “พฤติกรรม”ตามธรรมชาติของคน(มนุษย์) ดูจะเป็น “ความไม่ฉลาด”ของนักกฎหมายมหาชน(ของเรา)หรือนักกฎหมายที่ชอบอ้างตนเองว่าเป็นนักกฎหมายมหาชน(ของเรา) ; การที่แมวมากินปลาย่าง คงไม่ใช่ “ความผิด”ของแมว เพราะเป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของแมวที่ชอบกินปลาย่าง แต่เป็นความผิดของคน ที่เอา “ปลาย่าง”มาวาง
       กฎหมายไม่สามารถเอาชนะพฤติกรรมตามธรรมชาติของคน(มนุษย์)ได้ และตราบใดที่ยังวาง “ปลาย่าง”ไว้ ตราบนั้นแมวก็ต้องแย่งกันเข้ามากิน องค์กรต่าง ๆ จะไล่จับอย่างไรก็ไม่หมดและไม่รู้จักจบสิ้น (และเผลอ ๆ บางที เจ้าหน้าที่ที่มี “หน้าที่”ไล่จับแมว ก็อาจจะช่วยกินปลาย่างไปกับแมวด้วย) ; ไม่มีประเทศใดในโลกที่เขียนรัฐธรรมนูญ ด้วย “ความไม่ฉลาด” เหมือนนักวิชาการของประเทศไทย ; สิ่งที่นักกฎหมายมหาชนจะต้องทำ ก็คือ ต้องทำให้ “ปลาย่าง”ไม่ให้เป็นปลาย่าง นั่นก็คือ ต้องเขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญไม่ให้เกิด “การผูกขาดอำนาจรัฐ โดย พรรคการเมือง” ที่นายทุนธุรกิจจะอาศัยระบบการบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค ฯลฯ ประกอบกับอาศัยการเลือกตั้งที่ใช้เงินและอิทธิพลทางการเงิน(ในสภาพที่สังคมไทยอ่อนแอ) มา เป็นเครื่องมือในการเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ
       
       และ ก็ดูจะเป็น “ความไม่ฉลาด”ของรัฐบาล(ชั่วคราว)ของเรา อีกเช่นเดียวกัน ที่”รัฐบาล”ของเราจะคาดหวังว่า ผู้มีสิทธิออกเสียง(ที่ยากจน) ส่วนมากของเรา จะไม่รับเงินซื้อเสียงหรือไม่รับประโยชน์จากนายทุนธุรกิจ ด้วยการที่รัฐบาลออกมาโฆษณาประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนไปเลือก “คนดี” ด้วยการติดตั้งป้ายโฆษณาขนาดใหญ่และด้วยการร้องเพลง (ทั้งเพลงสากล – เพลงลูกทุ่ง – และลิเก) ในเมื่อตามความเป็นจริง (reality)ตามธรรมชาติของคนเรา “ผู้มีสิทธิออกเสียง”เหล่านั้น ต้องการสิ่งที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิตประจำวันและเป็นสิ่งที่ใกล้ตัว ไม่ใช่ต้องการ “ประโยชน์ส่วนรวม”ด้วยการเลือกคนดี ที่มองไม่เห็นว่า ประโยชน์จะมาถึงตนเองเมื่อใด
       ภาระกิจของ “รัฐบาล” มิใช่อยู่ที่การตั้งเป้าหมายว่า ถ้าประชาชนออกมาใช้สิทธิออกเสียง มาก ๆ ถึง ๖๐ – ๗๐ เปอรเซนต์แล้ว ถือว่า เป็นผลสำเร็จของการเป็น“รัฐบาล”เพื่อความเป็นประชาธิปไตย แต่ความสำเร็จของรัฐบาล อยู่ที่การทำงานแก้ไข “ปัญหาของประเทศ”
       
       ผู้เขียนมีความเห็นว่า ถ้าตราบใดที่ชนชั้นนำ – elite ของสังคมไทย ยังมีคุณภาพ (พฤติกรรม)และความรู้ ดังเช่นที่ปรากฎจากการร่างรัฐธรรมนูญ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ตราบนั้น ประเทศไทยก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในโลกของการแข่งขันในยุคโลกาภิวัฒน์ และ ถ้าเรา(คนไทย)ไม่สามารถแสวงหา “รูปแบบการปกครอง – form of government”ในระบอบประชาธิปไตย ที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทยและเป็นระบอบที่มีประสิทธิภาพได้ ประเทศไทยก็เป็นประเทศที่ “ไร้อนาคต”
       
ต่อไปนี้ ผู้เขียนคิดว่า เราลองมาศึกษา ดูการร่างรัฐธรรมนุญ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่จัดทำโดย “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ที่ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ เพื่อตรวจดูว่า หลังจากเวลาได้ผ่านไปแล้ว ๑๐ ปี (นับจากการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐) พฤติกรรม(คุณภาพ)และความรู้ของ ชนชั้นนำ – elite ของเรา ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น หรือไม่เพียงใด
       
       อ่านต่อ
       
       หน้า 23
        หน้า24
       หน้า 25
        หน้า26
       หน้า 27
        หน้า28
       หน้า 29


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544