หน้าแรก บทความสาระ
สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒ (หน้า๒๐)
ศ. ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
25 ธันวาคม 2550 21:37 น.
 
( ๒.๑) “บทบาทของสถาบันกษัตริย์ ” ในการวิวัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย : ตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญของเรา มิได้สอนให้นักศึกษาของเราทราบถึง วิวัฒนาการของบทบาทของกษัตริย์(ของประเทศที่พัฒนาแล้ว)ในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอย่างครบถ้วน และทำให้นักศึกษา(และนักวิชาการไทย)ทราบแต่เฉพาะเหตุการณ์ของประเทศฝรั่งเศส และทราบเฉพาะการปฏิวัติในปี ค.ศ. ๑๗๘๙ โดยไม่ทราบว่า หลังจากนั้น อะไรเกิดขึ้นต่อไป ในยุโรปและประเทศฝรั่งเศส
       การผิดพลาดในการสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ ทำให้นักศึกษา(ไทย)และนักวิชาการ(ไทย) ไม่มี “ความรู้พื้นฐาน”เพียงพอ ที่จะ “คิด” แก้ปัญหาของประเทศ
       ในประเด็นนี้ ผู้เขียนขอท้าวความย้อนหลังไป สัก ๒ – ๓ ปีก่อนการรัฐประหาร(วันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙) ซึ่งเราคงจะจำได้ว่า ในระยะเวลาดังกล่าว ได้มีการพูดถึง “พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยโดยทางประเพณี”กันมาก จนกระทั่งได้มีหนังสือที่เกี่ยวกับบทบาทของกษัตริย์ในระบบรัฐสภา พิมพ์ออกมาเผยแพร่ เป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไป (และหนังสือดังกล่าว ต้องพิมพ์เพิ่มขึ้นหลายครั้ง) ; ผู้เขียนคงไม่มีความจำเป็นอย่างใด ที่จะนำเอา “สาระ”ในหนังสือดังกล่าว มากล่าวซ้ำอีก เพราะเวลายังเพิ่งผ่านไปไม่นานและท่านผู้อ่านที่สนใจเรื่องนี้ น่าจะยังคง “จำ”ได้ หรือมิฉะนั้น ก็ยังหาซื้อมาอ่านได้ ; และท่านผู้อ่านคงจะจำได้ว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้มีท่านผู้ที่เชื่อถือได้ท่านหนึ่ง ได้เชิญกระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ มาแจ้งให้ผู้ที่เขียนหนังสือเล่มดังกล่าวทราบในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ (เดือน สิงหาคม) เพื่อให้เป็นที่ทราบทั่วกันว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับหนังสือเล่มดังกล่าว ว่า “เราชอบมาก”
       “บทบาทของสถาบันกษัตริย์” เป็นประเด็นสำคัญในการวิวัฒนาการของระบบรัฐสภา (ซึ่งเป็น “รูปแบบ”ของการปกครอง – form of government ที่มีต้นกำเนิดจากประเทศในยุโรป) แต่ตำราวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ(ไทย)ที่สอนอยู่ในมหาวิทยาลัย(ไทย)ของเรา ไม่เคยมีสาระที่ให้ “ความรู้”เกี่ยวกับบทบาทของพระมหากษัตริย์ในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด
       ถ้าท่านผู้อ่านเคยเป็นนักศึกษาวิชากฎหมายและ เรียนกฎหมายรัฐธรรมนูญ ท่านคงจะจำได้ว่า ตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญจะสอนเราไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง โดยพระมหากษัตริย์จะทรงมีพระราชอำนาจอยู่ ๓ ประการ the right to advise / the right to encourage / the right to warn (แก่รัฐบาล) และข้อความดังกล่าวนี้ ตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญทุกเล่มที่ใช้สอนนักศึกษากฎหมายของเราอยู่ในขณะนี้(เข้าใจว่า เกือบ)ทั้งหมดของประเทศไทย ก็ดูเหมือนจะลอกหรืออ้างอิงมาจากข้อความใน “ตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญ”ของท่านบูรพาจารย์ท่านหนึ่ง (ซึ่ง “ชื่อ”ของท่านบูรพาจารย์ท่านนี้ นักกฎหมายทุกท่านทราบดี รวมทั้งผู้เขียนด้วย ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องระบุชื่อ) โดยในตำราของท่านบูรพาจารย์ท่านนี้ ได้กล่าวถึง “ที่มา”ของข้อความนี้ว่า เป็นความเห็นของนักนิติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของโลกคนหนึ่ง คือ ศาสตราจารย์ Dicey ซึ่งเป็นต้นตำหรับของ หลักการว่าด้วย บทบาทของพระมหากษัตริย์ในทางการเมือง
       ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่โชคดี ได้เป็นลูกศิษย์และได้เรียนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญมาจากท่านบูรพาจารย์ท่านนี้ด้วยตัวผู้เขียนเอง คือ ตั้งแต่ผู้เขียนเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ขณะนั้น ยังมีชื่อว่า “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง”) ประมาณใน ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ และผู้เขียนก็นิยมและยกย่องในความเป็นนักวิชาการและนักค้นคว้าของท่านบูรพาจารย์ท่านนี้เป็นอันมาก
       
       มาตรฐาน “ความเป็นนักวิชาการ” ของวงการวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย ; สิ่งที่ผู้เขียนแปลกใจ ก็คือ นับตั้งแต่นั้นมา(พ.ศ. ๒๔๙๒) จนบัดนี้ พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นเวลาเกือบ ๖๐ ปีเศษแล้ว และท่านบูรพาจารย์ท่านนี้ก็ได้เสียชีวิตไปนานแล้ว แต่ทำไม ตลอดเวลา ๖๐ ปีที่ผ่านมา ตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญของไทยในเรื่องนี้ (บทบาทของพระมหากษัตริย์) เคยมีอยู่อย่างไร ก็มีอยู่อย่างนั้น
       ผู้เขียนไม่พบว่า
มีอาจารย์หรือผู้สอนท่านใด ที่เขียนตำราวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญของไทย ได้เขียนเพิ่มเติมหรือขยายความเรื่องนี้ นอกเหนือไปจากตำราฯของท่านบูรพาจารย์ท่านนี้ ; ผู้เขียนพบว่า ผู้เขียน เคยเรียนมาอย่างไร เวลานี้ก็ยังสอนกันอย่างนั้น ; สำหรับตัวของผู้เขียนเอง ในบางโอกาสเมื่อผู้เขียนได้เป็นผู้บรรยายพิเศษในวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ ในมหาวิทยาลัยบางแห่ง ผู้เขียนก็จะอธิบายเพิ่มเติมขยายความไว้บ้าง แต่ผู้เขียนก็ไม่มีเวลาพอที่จะเขียนตำราวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญให้ใหม่ [หมายเหตุ สำหรับปัญหาเรื่อง “ความล้าหลัง”ของตำรากฎหมาย(ต่าง ๆ)ในมหาวิทยาลัยของเราโดยรวม ที่ไม่มีความก้าวหน้า อันเนื่องมาจากการเขียนตำราในลักษณะที่ลอกเลียนตำรา(เล่มก่อน ๆ) ต่อเนื่องกันมา ผู้เขียนจะได้ไปกล่าวในส่วนที่ ๓ ของบทความนี้อีกครั้งหนี่ง แต่ในที่นี้ ผู้เขียนจะขอพูดเฉพาะ “ตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญ” และเฉพาะในบางประเด็น เช่นเรื่องบทบาทของพระมหากษัตริย์ เป็นต้น]
       ขณะนี้ เมื่อเวลาได้ผ่านมาถึงปัจจุบันนี้ (พ.ศ. ๒๕๕๐) จะเห็นได้ว่า ตำราของท่านบูรพาจารย์ท่านนี้ว่าด้วย บทบาทของพระมหากษัตริย์ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยใน “ระบบรัฐสภา – parliamentary system” ซึ่งได้เขียนขึ้นใน ระยะต้น ๆ ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ. ๒๔๗๕)  ย่อมไม่พอเพียง ที่จะให้ “ความรู้”แก่นักวิชาการรุ่นใหม่ สำหรับเป็นพื้นฐานในการพิจารณาปัญหาการเมืองใหม่ ๆ (ของประเทศไทย) ที่เกิดขึ้น ; เป็นต้นว่า ขณะนี้ ได้มี “เหตุการณ์”ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ก็ดี หรือในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ก็ดี แต่เหตุการณ์หล่านี้ไม่ได้ถูกบันทึก(พร้อมกับการวิเคราะห์ของอาจารย์ ) ไว้ในตำราเรียนกฎหมายรัฐธรรมนูญในมหาวิทยาลัยของเรา สำหรับให้นักวิชาการรุ่นใหม่ของเราได้รับรู้และศึกษา ; และด้วยเหตุนี้ นักศึกษากฎหมายและนักวิชาการ(ในปัจจุบัน)ของเรา จึงม่มีความรู้พื้นฐานพอที่จะ “เข้าใจ”บทบาทของพระมหากษัตริย์ ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง – reality ได้
       ในกรณีที่เป็นตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้เขียนพบว่า มหาวิทยาลัย(ของเขา) จะมีการกำหนด ขอบเขตการสอน( programme) ของวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญใหม่ และจะกำหนด เนื้อหาสาระในตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญ(ของเขา)ที่จะพิมพ์ออกมาใหม่ ให้ครอบคลุมข้อเท็จจริงและการวิเคราะห์ปัญหาเหล่านี้ ทั้งนี้เพื่อให้ตำรา(ของเขา)เป็นตำราที่ทันต่อเหตุการณ์ ที่ให้ประสบการณ์และให้ “ความคิด”แก่นักศึกษาวิชากฎหมายรุ่นใหม่(ของเขา) ; ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็คือ สิ่งที่ผู้เขียนนำมาเขียน เล่าให้ท่านผู้อ่านฟังในบทความนี้ที่เกี่ยวกับต่างประเทศทั้งหมด ก็คือ สิ่งที่ผู้เขียนได้มาจากตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่อาจารย์และผู้สอนวิชากฎหมาย(ของเขา)ได้เขียนไว้ในตำรา(ของเขา)เพื่อใช้สอนให้บรรดานักศึกษา(ของเขา)ให้ได้รับรู้ประสบการณ์จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต(ของเขา)นั้นเอง ซึ่งถ้าหากไม่มีตำรา(ของเขา)เหล่านี้ ผู้เขียนก็คงไม่มีอะไรมาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟัง
       แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในวงการวิชาการทางกฎหมายของไทยแต่อย่างใด ; ความแตกต่างของ “เนื้อหาสาระ”ในตำรากฎหมายของประเทศที่พัฒนาแล้ว กับตำราของประเทศไทย เป็นข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็น ความแตกต่างในมาตรฐาน “ความเป็นนักวิชาการ”ของวงการวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย ที่ต่ำกว่า วงการวิชาการทางกฎหมายของประเทศที่พัฒนาแล้ว
       

       Dicey สอน “บทบาทของสถาบันกษัตริย์” ให้แก่เรา ได้เพียงใด (?) ; สมมติว่า เรารู้ว่า “Dicey ( ค.ศ. ๑๘๓๕ – ๑๙๒๒) เป็นนักกฎหมายรัฐธรรมนูญที่มีชื่อเสียงของอังกฤษ เคยเป็นศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัย Oxford และของ London School of Economics ; Dicey ได้เขียนตำรากฎหมายรัฐูธรรมนูญ – “An Introduction to the Study of the Law of the Constitution” ในปี ค.ศ. ๑๘๘๕ ระบุว่า พระมหากษัตริย์(อังกฤษ)ทรงมีพระราชอำนาจอยู่ ๓ ประการ คือ the right to advise / the right to encourage / the right to warn” ฯลฯ [หมายเหตุ แต่ในหลาย ๆ ครั้ง ผู้เขียนพบว่า ผู้ที่แสดงตนว่าเป็น “นักวิชาการ” และชอบอ้างอิงชื่อและความเห็นของ Dicey จะรู้ข้อเท็จจริงน้อยกว่านี้ เช่นบางท่านจะรู้ เพียงว่า Dicey เป็นศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียงของอังกฤษในมหาวิทยาลัย Oxford แต่ไม่ทราบและไม่สนใจที่จะทราบว่า Dicey เกิดเมื่อใด และบางท่านทราบว่า Dicey เกิดเมื่อใดและตายเมื่อใด แต่ไม่ทราบว่า Diceyเขียนหนังสือเล่มดังกล่าว ในปีใด ]
       การรู้ “ข้อเท็จจริง”เท่าที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ผู้เขียนเห็นว่า ยังไม่น่าจะถือว่าเป็น “ความรู้”พอเพียงสำหรับการรับอาสามาเขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญ ให้คนไทย
       การที่เราจำเป็นต้องรู้ว่า Dicey เป็นชาวอังกฤษ ก็เพื่อที่จะได้ทราบว่า ตำราของ Dicey เป็นตำราที่อธิบายบทบาทพระมหากษัตริย์อังกฤษเท่านั้น (แต่ไม่ได้อธิบายบทบาทพระมหากษัตริย์ของประเทศอื่นในยุโรปหรือของประเทศไทย) ; และ การที่เราจำเป็นต้องรู้ว่า Dicey เกิดเมื่อใด ก็เพื่อจะได้ทราบว่า “ความคิด”ของ Dicey เป็นความคิดในยุคสมัยใด ( คือ เป็นความคิดที่เกิด ภายหลังความเห็นของ Montesquieu ค.ศ. ๑๘๖๙ – ๑๗๕๕ ประมาณ ๑๐๐ ปี ) และการที่เราจำเป็นต้องรู้ว่า ตำราของ Dicey พิมพ์เผยแพร่ในปีใด(ค.ศ. ๑๘๘๕) ก็เพื่อที่จะได้ทราบว่า ความคิดของ Dicey ที่เกี่ยวกับบทบาทของพระมหากษัตริย์อังกฤษ อยู่ในช่วงเวลา(หลัง ค.ศ. ๑๘๔๘) ที่ประเทศในยุโรป(ที่มีกษัตริย์)แทบทุกประเทศ ได้มีรัฐธรรมนูญ(ลายลักษณ์อักษณ)ออกใช้บังคับแล้ว และรัฐธรรมนูญของประเทศดังกล่าวจะเป็นระบบรัฐสภาที่กษัตริย์เป็นผู้ใช้ “อำนาจบริหาร”โดยตรงทั้งสิ้น
       นอกจากนั้น โดยที่ประเทศอังกฤษเป็นประเทศที่ไม่มีรัฐธรรมนูญ เป็นลายลักษณ์อักษร -- uncodified constitution( ตามที่เราทราบกันอยู่แล้ว) ดังนั้น สิ่งที่อยู่ในหนังสือของ Dicey จึงเป็นเพียง “ความเห็น ”ของ Dicey ส่วนตัวเท่านั้น แต่สาระในตำราของ Dicey มิได้เป็น “ข้อเท็จจริง”ที่ยืนยันว่า กษัตริย์อังกฤษและรัฐบาลของอังกฤษ ได้ปฏิบัติตาม “ความเห็น”ของ Dicey
       และประการสุดท้าย การที่ Dicey เขียนตำราว่าด้วย บทบาทของกษัตริย์(อังกฤษ)ในทางการเมือง ใน ปี ค.ศ. ๑๘๘๕ ซึ่ง ย่อมหมายความว่า ก่อนปี ค.ศ. ๑๘๘๕ การใช้อำนาจของกษัตริย์อังกฤษ ได้มีวิวัฒนาการมาก่อนหน้านั้นแล้ว นับ เป็นเวลาสิบๆ ปี หรือร้อยปี
       ดังนั้น การที่วงการวิชาการไทย จะนำเอาหลักเกณฑ์ (ว่าด้วยบทบาทของพระมหากษัตริย์ในทางการเมือง)ของเขา(ประเทศอังกฤษ) มาใช้เป็น “หลักการ”ในการเขียนรัฐธรรมนูญ (ลายลักษณ์อักษร)ของเรา โดยไม่รุ้ถึง“วิวัฒนาการ”ของเขา และไม่พิจารณาถึง “วิวัฒนาการ”ของเรา ย่อมทำให้การเขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญของเรา (ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ในอดีตที่ผ่าน ๆ มา หรือเป็นรัฐธรรมนุญฉบับใหม่ ในปัจจุบัน ) มีโอกาส “ผิดพลาด”ได้ง่าย เพราะ รัฐธรรมนูญดังกล่าวจะ เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่มีระบบถ่วงดุลระหว่างอำนาจของสถาบันกษัตริย์ กับอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร และ“กลไก”ในรัฐธรรมนูญ (อาจ) เปิดโอกาส ให้กลุ่ม elite บางกลุ่มที่เป็น“บุคคลที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว” สามารถเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐและใช้อำนาจรัฐอย่างบิดเบือน – abuse of power เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว โดยอ้าง “ความเป็นประชาธิปไตย”อย่างผิด ๆ ได้
       
       “ความ ผิดพลาด” ในการกำหนด รูปแบบของ “ระบบรัฐสภา – parliamentary”ในรัฐูธรรมนุญของไทย : ตามความเห็นของผู้เขียน เท่าที่ผ่านมา ผู้เขียนเห็นว่า ประเทศไทยได้ทำ “ ผิดพลาด” ในการออกแบบ(เขียน) รัฐธรรมนูญ มาแล้วถึง ๓ ครั้ง
       

       ครั้งแรก ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ (รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕) ซึ่งรูปแบบระบบรัฐสภาที่ผิดพลาด ได้ก่อให้เกิดการแก่งแย่ง “การผูกขาดอำนาจรัฐ”ในระหว่างบุคคล ๒ กลุ่ม ต่อเนื่องกันมาเป็นระยะยาว ; และต่อมา ครั้งที่สอง ที่เราเรียกว่า เป็น การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ (๑) ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ (รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐) ความผิดพลาดตรั้งนี้ นอกจากเราจะไม่สามารถแก้ใขรูปแบบรัฐธรรมนูญ มิให้ กลุ่ม “บุคคลที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว”เข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐได้แล้ว ในทางตรงกันข้าม เรากลับเขียนรัฐธรรมนูญที่ทำให้ “กลุ่มนายทุนธุรกิจ”สามารถเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐได้อย่างเบ็ดเสร็จ จนเป็น “ปัญหา”มาถึงปัจจุบันนี้ (และยังไม่สามารถแก้ได้) ; และ ครั้งที่สาม คือ เมื่อเร็ว ๆ นี้เอง ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ (รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐) กล่าวคือ เมื่อเรามี รัฐประหาร (๑๙ กันยายน) โดย “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ที่อ้างว่า จะทำการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ (๒) โดย การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็เป็นที่น่าผิดหวัง เพราะเมื่อหนึ่งปีผ่านไป (โดยจะมีการเลือกตั้ง ในวันที่ ๒๓ ธันวาคมนี้) แต่ไม่ปรากฏสิ่งใดที่พอจะเรียกได้ว่า เปน “การปฏิรูป”ได้เลย ซึ่งหนังสือพิมพ์บางฉบับเรียกว่า เป็นระยะเวลาแห่ง “ความว่างเปล่า” และนอกจากเรา(คนไทย)จะไม่สามารถแก้ปัญหาการเมืองเดิม ๆได้แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ ยังได้ทำให้สภาพการเมืองของประเทศไทยเสื่อมไปมากกว่าเดิม และเป็นที่แน่นอนว่า ในอนาคต การแก้“ปัญหาการผูกขาดอำนาจรัฐ โดยกลุ่มนายทุนธุรกิจ” จะยากยิ่งกว่าเดิม
       โดยผู้เขียนจะขอกล่าวทบทวนโดยสรุปอย่างสั้น ๆพอให้เป็นที่เข้าใจว่า ความผิดพลาดในการออกแบบรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้อย่างไร ดังต่อไปนี้ ; และอาจเป็นเหตุบังเอิญก็ได้ ที่ ผู้เขียนได้เริ่มต้นเขียนบทความตอนนี้ ตรงกับวันจันทร์ที่ ๑๐ ธันวาคม (พ.ศ. ๒๕๕๐) ซึ่งเป็น“วันรัฐธรรมนูญ” (และเป็นวันหยุดราชการ) ซึ่งตรงกับเป็นวันที่ ที่รัชกาลที่ ๗ ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรก(พ.ศ. ๒๔๗๕)ให้แก่ประชาชนชาวไทย
       
       ๑. ความผิดพลาดครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๗ (การเขียน รัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๔๗๕) “ คณะราษฎร์” ได้ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช(ในสมัยรัชกาลที่ ๗) มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีรัฐธรรมนูญ(เป็นลายลักษณ์อักษร) และรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร (รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕) ได้ใช้รูปแบบการปกครอง (form of government) ที่ไม่ยอมรับบทบาทของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ก่อให้เกิด การขัดแย้งระหว่างคณะราษฎร์กับรัชกาลที่ ๗ จนกระทั่งรัชกาลที่ ๗ ได้สละราชสมบัติ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ [โปรดดู “เหตุผล”ของการสละราชสมบัติ ได้จาก เอกสารวิชาการ หมายเลข (๓.๒) และ(๓.๓) ในหนังสือ “กระบวนทัศน์ใหม่ สำหรับการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒ จัดพิมพ์โดย สถาบันพระปกเกล้า พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ]
       รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว คณะราษฎร์ได้ใช้ “ระบบรัฐสภา”ในรูปแบบที่ไม่มีระบบถ่วงดุลอำนาจ ระหว่าง “อำนาจบริหาร(โดยกษัตริย์)”กับ “อำนาจนิติบัญญัติ (โดยสภาผู้แทนราษฎร)” ซึ่งแตกต่างกับรูปแบบของรัฐธรรมนูญ (ลายลักษณ์อักษร)ในระบบรัฐสภา ในระยะเริ่มแรกของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ของประเทศต่าง ๆ ที่มีกษัตริย์ในยุโรป (ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น) ; คณะราษฎร์ได้ใช้รูปแบบที่ให้ “สภาผู้แทนราษฎร(สภานิติบัญญัติ)”เป็นองค์กรพื้นฐานของการใช้อำนาจรัฐ คือ ให้องค์กรฝ่ายบริหาร( นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ) จะต้องมาจากความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ; ซึ่งรูปแบบนี้เป็น “รูปแบบ”ของระบบรัฐสภาของประเทศในยุโรประยะหลัง คือ หลังจากที่สภาพทางการเมืองของยุโรปได้มีการวิวัฒนาการมาแล้วระยะหนึ่ง [หมายเหตุ ผู้เขียนจะได้กล่าวถึง “ที่มา”ของแนวความคิดของคณะราษฎรในการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในภายหลัง]
       “คณะราษฎร” คาดหมายว่า จะควบคุมการบริหารประเทศได้โดยการเข้ามาเป็น “รัฐบาล (คณะรัฐมนตรี)” โดยอาศัยฐานอำนาจจากองค์กรสภานิติบัญญัติ โดยคณะราษฎร์ได้แบ่งสมาชิกสภานิติบัญญัติ ออกเป็น ๒ ประเภท คือสมาชิก( ผู้แทน)ประเภทที่ ๑ (มาจากการเลือกตั้ง) และ สมาชิก(ผู้แทน)ประเภทที่ ๒ (มาจากการแต่งตั้ง) โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้ตนเอง(คณะราษฎร์)เป็นผู้เสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นสมาชิกประเภทที่ ๒ ให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ซึ่ง(ตามความเข้าใจของ “คณะราษฎร์”)จะต้องทรงแต่งตั้งตามนั้น; ดังนั้น ความขัดแย้งระหว่างรัชกาลที่ ๗ กับคณะราษฎร์ จึงเริ่มต้นที่ “ประเด็น”ว่าด้วยอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร (ส.ส. ประเภทที่ ๒ ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕) ว่า ตามความเป็นจริง – reality รัชกาลที่ ๗ จะทรงมีพระราชอำนาจมากน้อยเพียงใดในการแต่งตั้งสมาชิกประเภทที่ ๒
       จะเห็นได้ว่า ประเด็นนี้ จะแตกต่างกับ “ประเด็น”ในการเขียนรัฐธรรมนูญ (ลายลักษณ์อักษร)ในศตวรรษที่ ๑๙ ของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในยุโรป เพราะประเทศดังกล่าว จะเริ่มต้น “ระบบรัฐสภา”ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ด้วยการยอมรับให้กษัตริย์เป็นผู้ใช้ “อำนาจบริหาร” และสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ใช้ “อำนาจนิติบัญญัติ”; สำหรับประเด็นเรื่องอำนาจของกษัตริย์ในการแต่งตั้งสมาชิกในสภาสูง (ซึ่งได้แก่ elite กลุ่มขุนนาง nobility และพระ clergy) มิได้เป็นประเด็นสำคัญ และถือว่า เป็นอำนาจของกษัตริย์ที่จะทรงแต่งตั้งได้ โดยมีรัฐมนตรี (ที่กษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้งเอง)เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ; การเริ่มต้นระบบรัฐสภาด้วยรูปแบบดังกล่าว ได้ทำให้ระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาของประเทศยุโรป มีความต่อเนื่องกับการปกครอง(เดิม)ใน “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช” และสามารภพัฒนาไปได้อย่างสอดคล้อง กับขั้นตอนของการวิวัฒนาการของสังคมและการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง
       เรา(ประเทศไทย)ได้ใช้ระบบรัฐสภา - form of government ใน “รูปแบบ”ที่คณะราษฎรได้เริ่มต้นวางไว้ให้เรา(โดยไม่ยอมรับอำนาจของกษัตริย์) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ จนถึง พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นเวลารวมทั้งสิ้น ๖๕ ปี และ ตามข้อเท็จจริง (facts)ที่เกิดขึ้น คณะราษฎร์ สามารถ “ผูกขาดอำนาจรัฐ”ตามกลไกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕(ที่ตนเองวางไว้)ได้ เพียง ๑๔ ปีเท่านั้น คือ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ จนถึงการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะ เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง เราได้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๘๙ ซึ่งทำให้การผูกขาดอำนาจรัฐของคณะราษฎร์สิ้นสุดลง ; และต่อจากนั้น ประเทศไทยก็เริ่มต้นวงจรแห่งความเสื่อม – vicious circle ที่ไม่สิ้นสุด และยังมองไม่เห็นว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด แม้ในปัจจุบันนี้ พ.ศ. ๒๕๕๐ [หมายเหตุ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๘๙ เรามีสภานิติบัญญัติ ๒ สภา คือ “สภาผู้แทน” และ “พฤฒสภา” และทั้งสองสภามาจากการเลือกตั้ง ที่เราเรียกว่า เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ครั้งแรกของประเทศไทย]
       
       ความผิดพลาดของคณะราษฎร์ในการกำหนด form of government ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕นี้ ได้ทำให้เกิดการแก่งแย่ง “อำนาจรัฐ”ในระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มแรก ได้แก่ กลุ่มนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง (ในขณะที่สภาพสังคมไทย ที่มีความอ่อนแอ) ที่แฝงเข้ามาหาประโยชน์(มากบ้างน้อยบ้างตามแต่โอกาส (ในสภาพที่ ระบบบริหารพื้นฐานของประเทศ มีความพิกลพิการ และยังคงเป็นเช่นนั้น แม้ในปัจจุบันนี้) โดยบิดเบือนความหมายและอ้าง “ความเป็นประชาธิปไตย” ที่สร้างความเข้าใจผิดใน”กลไก”ของระบอบประชาธิปไตยให้แก่คนไทย กับ กลุ่มที่สอง ได้แก่ นักการเมือง(ทหาร)ที่มาจากการรัฐประหาร ที่จะก้าวเข้ามาเมื่อ “การทุจริตคอร์รัปชั่น”ของกลุ่มนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั่วไป และประชาชนยอมรับการปฏิวัติ
       ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือ ตั้งแต่เรามีการรัฐประหารครั้งแรก (หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ )ในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ คือ หลังจากที่ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง (ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๘๙) มีการทุจริต “กินจอบกินเสียม”ฯลฯ ที่รัฐบาลให้เอาไปแจกกับประชาชนที่มีปัญหาความยากลำบากในการทำมาหากินภายหลังสงครามโลก ครั้งที่สอง จนกระทั่งถึงการรัฐประหารครั้งหลังสุด (ก่อนการผิดพลาดในการออกแบบรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐)ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ที่มีการปฏิวัติโดย “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หลังจากที่คณะรัฐบาลที่มาจากส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งไ ด้กลายเป็นคณะรัฐมนตรีที่ได้รับสมญาว่า “บุฟเฟ่ต์คาบิเนต”
       ระยะการทำรัฐประหารทั้ง ๒ ครั้ง ห่างกัน ๔๔ ปี โดยในระหว่างนั้น ก็จะมีการคอร์รัปชั่น(ของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง) และการรัฐประหาร สลับกันไป ; ข้อเท็จจริงนี้ แสดงว่า “ระบบสถาบันการเมือง”ของเรา อยู่ที่เดิม ไม่ได้พัฒนาไปข้างหน้า
       
เรามีรัฐธรรมนูญในระยะนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๕ จนถึง พ.ศ. ๒๕๔๐) รวมทั้งสิ้น ๑๕ฉบับ (ไม่นับรวมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐) เป็นเวลาทั้งสิ้น ๖๕ ปี ; ถ้าหากจะนำเอา ผลงานโดยรวม ของคณะรัฐบาลชุดต่าง ๆในช่วงเวลาดังกล่าว มาเปรียบเทียบกัน ระหว่างผลงานของรัฐบาลที่มาจาก”นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งฯ” กับผลงานของรัฐบาลที่มาจาก”นักการเมืองที่มาจากการรัฐประหาร” มาทดลองประเมินกัน(ด้วย ความรู้สึก คือไม่ต้องอธิบายกันในรายละเอียด) แล้ว ผู้เขียนก็ขอเรียนว่า ผู้เขียนรู้สึกว่า ผลงานของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งฯ จะน้อยกว่า ผลงานของนักการเมืองที่มาจากการรัฐประหาร โดยพิจารณาจาก ๓ ด้านด้วยกัน คือ (๑)ในด้านการทุจริตคอร์รัปชั่น(โดยรวม) นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ดูจะทำให้ประเทศมีความเสียหายมากกว่านักการเมืองที่มาจากการรัฐประหาร (เหตุผลส่วนหนึ่ง อาจเนื่องมาจากการที่ นักการเมืองที่มาจากการรัฐประหาร จะถูกประชาชนจับตามองมากกว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และอาจเนื่องมาจากว่า นักการเมืองที่มาจากการรัฐประหาร ไม่มี “ต้นทุน”จากค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ที่จะต้องมาถอนทุนคืน) ; (๒) ในด้านการพัฒนาประเทศ จะเห็นได้ว่า ผลงานของนักการเมืองที่มาจากการรัฐประหารในระยะ พ.ศ. ๒๕๐๐ – ๒๐๐๕ (สมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์) ดูจะยังเป็นที่พูดถึงกันอยู่ในขณะนี้ ในขณะที่ผลงานของรัฐบาลของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งฯ ไม่มีคณะรัฐบาลชุดใดที่มีผลงานที่น่าประทับใจ ; และ (๓) ในด้านการวาง(กฎหมาย)ระบบบริหารพื้นฐานของประเทศ ผู้เขียนรู้สึกว่า ผลงานของนักการเมืองทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งหรือมาจากการรัฐประหาร ดูว่าต่างก็ไม่มีผลงานในทางบวก(ที่พัฒนาไปข้างหน้าอย่างมี “จุดหมาย”)ด้วยกัน แต่ข้อที่แตกต่างกัน ก็คือ ผลงานของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งฯดูจะมีผลงานในทางลบ เพราะนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง จะมีนโยบายและออกกฎหมายที่มุ่งหมายต่อผลของการเลือกตั้งสำหรับตนเองและพรรคพวก(นักเลือกตั้ง)ของตน มากกว่าที่จะตั้งใจสร้าง “ระบบการบริหารพื้นฐานประเทศในการปกครองระบอบประชาธิปไตย”ในระยะยาว ; ดังนั้น ผลงาน(ทางลบ)ประเภทนี้ของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง จะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศและการพัฒนาประเทศในระบอบประชาธิปไตยในระยะยาวในอนาคต เพราะจะทำให้สังคมไทยเข้าใจ ความหมายของ “ความเป็นประชาธิปไตย”อย่างผิด ๆ
       และถ้าเราจะพิจารณาถึงความก้าวหน้าในทางวิชาการ โดยพิจารณาถึงโครงสร้าง ( form of government) ของรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ ทั้ง ๑๕ฉบับ ที่ผ่านมาระหว่าง ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๐ แล้ว ก็จะเห็นว่า โครงสร้างของรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ (โดยไม่รวม ธรรมนูญหรือรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับชั่วคราว ในระหว่าง การปฏิวัติหรือรัฐประหาร) ดังกล่าว ก็จะวนเวียนอยู่กับประเด็นเรื่อง “ที่มา”ของสมาชิกสภานิติบัญญัติ(รัฐสภา) ซึ่งรัฐธรรมนูญบางฉบับ ก็จะมีสภาเดียว (แต่มีสมาชิก ๒ ประเภท - เลือกตั้งและแต่งตั้ง) และรัฐธรรมนูญบางฉบับ ก็จะมีสองสภา(โดย สมาชิกของสภาล่างจะมาจากการเลือกตั้ง และสมาชิกสภาสูงจะมาจากการแต่งตั้ง) ซึ่งไม่มีอะไรที่น่าสนใจในทางวิชาการมากไปกว่านี้ (นอกจาก จะเอา “ข้อเท็จจริง”ที่เกิดขึ้น มาศึกษาวิเคราะห์พฤติกรรมทางสังคมวิทยา ของ elile ของสังคมไทย)
       เราสามารถเข้าใจวงจรแห่งความเสื่อม – vicious circle ได้อย่างง่ายว่า จากการที่ form of government ในรัฐธรรมนูญของเรา ใช้ “ระบบรัฐสภา”ในรูปแบบที่กำหนดให้ “อำนาจรัฐ”มีพื้นฐานมาจากสภาผู้แทนราษฎรที่มีสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง (โดยกำหนดให้ การที่จะเข้ามาและการดำรงอยู่ ของฝ่ายบริหาร(คณะรัฐมนตรี)ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของสมาชิกเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา(ตามพฤติกรรมของสังคม) ก็คือ กลุ่มนักการเมืองใดก็ตาม ที่ต้องการจะเป็นรัฐบาล(ใช้อำนาจรัฐในการบริหาร) ก็จะต้องาพยายามเข้าควบคุมและกำกับ “เสียงข้างมาก”ในสภาผู้แทนราษฎร(ที่มาจากการเลือกตั้ง)ให้ได้ ไม่ว่าด้วยวิธีการใด; ดังนั้น ในกรณีของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ก็จะเอาชนะการเลือกตั้ง ด้วยวิธีการซื้อเสียงและใช้อิทธิพลในชุมชน(ในสภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอและในสภาพที่กลไกการบริหารของรัฐพิกลพิการ) และในกรณีของนักการเมืองที่มาจากรัฐประหาร เมื่อปฎิวัติสำเร็จแล้ว ก็จะใช้วิธีแก้รัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ “ที่มา”ของสมาชิกสภานิติบัญญัติ (เลือกตั้งบ้าง / แต่งตั้งบ้าง / คัดสรรบ้าง) เพื่อให้สมาชิกของสภาดังกล่าวให้ความเห็นชอบให้ตน ได้เป็นรัฐบาล
       สภาพของวงการวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย
ก็ดูจะวนเวียนและให้ “บริการ”แก่นักการเมือง(ทั้งสองฝ่าย) อยู่เพียงเท่านี้ และเท่าที่ผู้เขียนติดตามมา ผู้เขียนไม่พบว่า วงการวิชาการทางกฎหมายของไทย ได้สอนถึง form of government ในรูปแบบของ “ระบบรัฐสภา”ในอดีต ที่พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจบริหารโดยตรง ในฐานะที่เป็นสถาบันที่ถ่วงดุลกับอำนาจนิติบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎร (ที่มาจากการเลือกตั้ง) และผู้เขียนไม่พบว่า ตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญของไทยจะกล่าวและสอนถึงรูปแบบการปกครอง ที่เป็น rationalized systems ของระบบรัฐสภาในยุคปัจจุบัน ดังนั้น จึงไม่เป็นที่น่าประหลาดใจว่า เพราะเหตุได นักวิชาการในวงการวิชาการทางกฎหมายของเราจึงไม่มีขีดความสามารถสูงพอที่จะ “ปฏิรูปการเมือง”
       
       เราได้เสียเวลาในการพัฒนาประเทศช้าไป เป็นเวลาถึง ๖๕ ปี อันเป็นผลมาจากความผิดพลาดที่เกิดจากพฤติกรรม ของ “คณะราษฎร์” ที่ไม่ยอมรับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ และไม่สร้าง “รูปแบบ”ของระบบ รัฐสภา (dualist) ที่มีระบบถ่วงดุลระหว่างอำนาจบริหาร(โดยพระมหากษัตริย์) กับอำนาจนิติบัญญํติ(สภาผู้แทนราษฎร) ตั้งแต่ ในระยะแรก ( พ.ศ. ๒๔๗๕) ซึ่งแตกต่างกับการเริ่มต้นระบอบประชาธิปไตยของ ประเทศต่าง ๆ (ที่มีพระมหากษัตริย์)ในยุโรป ทั้งนี้ จะว่าเป็นเพราะ การมองปัญหาการเมืองเพียงระยะสั้น หรือเป็นเพราะความเห็นแก่ตัวของบุคคลใน “คณะราษฎร์” ก็แล้วแต่จะมอง
       
       ๒. ความผิดพลาดครั้งที่สอง (การเขียน รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐) : ความผิดพลาดในการออกแบบรัฐธรรมนูญ ครั้งนี้ เป็น “ครั้งที่มีความสำคัญ” มากกว่าความผิดพลาดตรั้งแรก และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศ มากกว่า ความผิดพลาดครั้งแรก ทั้ง ๆ ที่ความผิดพลาดครั้งที่สองนี้ มีระยะเวลาที่สั้นกว่า (มาก)
       
ความผิดพลาดครั้งที่สอง โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นการเปลี่ยนแปลง ใน“สาระสำคัญ”ในหลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และเป็นจุดหักเห ที่เป็นการบิดเบือน (distortion) “กลไก – form of government”ใน ระบอบประชาธิปไตย ครั้งสำคัญ : แต่สิ่งที่ผู้เขียนประหลาดใจอย่างมาก ก็คือ วงการวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย มิได้สังเกตเห็นการบิดเบือน “หลักการ”และ“กลไก”ที่เป็นสาระสำคัญของระบอบประชาธิปไตยนี้ และดูเหมือนว่า นักวิชาการทางกฎหมาย(และนักวิชาการสาขาอื่น ๆ )ของเรา ไม่รู้ตัวและไม่สำนึกว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้ออกนอกกรอบของ หลักการของ “ความเป็นประชาธิปไตย”ไปแล้ว
       รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ (ยกร่าง โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๙)ได้สร้าง “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง ” ด้วยการบังคับให้ ส.ส.ต้องสมัครรับเลือกตั้งโดยสังกัดพรรคการเมือง / กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจาก ส.ส.เท่านั้น / และให้พรรคการเมืองมีอำนาจบังคับให้ ส.ส.ต้องลงมติในสภาตามที่พรรคการเมืองกำหนด [ หมายเหตุ พรรคการเมืองสามารถมีมติให้ ส.ส.(ที่มาจากการเลือกตั้ง)ต้องพ้นจากความเป็น ส.ส.(สมาชิกภาพ)ได้หาก ส.ส.ไม่ปฎิบัติตามมติของพรรคการเมือง ด้วยการมีมติให้ ส.ส.พ้นจากสมาชิกของพรรคการเมือง]
       รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวในโลกที่มีบทบัญญัติเช่นนี้ และเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็น “ประชาธิปไตย” เพราะ ส.ส. ไม่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ได้ตามมโนธรรม - conscienceของตน ตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย
       
       รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ (บทบัญญัติที่สร้าง “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภาโดยพรรคการเมือง)” เป็นรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสและยั่วยุ (เชิญชวน) ให้ “นายทุนธุรกิจ” เข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ด้วยการรวมเงินและรวมทุนกันจัดตั้งพรรคการเมือง และเอาชนะ “การเลือกตั้ง” ด้วยการใช้เงินและอิทธิพล (ในสภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอ ทางสังคมวิทยา - socilogically) เพื่อให้ได้ “เสียงข้างมาก”ในสภาผู้แทนราษฎร และเข้ามาเป็นรัฐบาล (ตามวิถีทางการเมือง ใน “ระบบรัฐสภา”)
       และดังนั้น สภาพ ตามความเป็นจริง – reality ของสังคมไทย(ที่อ่อนแอ) จึงทำให้ “พรรคการเมือง”ที่เข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐในระบบรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็น “พรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจ” ; ซึ่งจะแตกต่างกับ “พรรคการเมือง”ที่ผูกขาดอำนาจรัฐ ในระบบของประเทศสังคมนิยม – คอมมิวนิสต์ ซึ่งในระบบดังกล่าว “นายทุนธุรกิจ”จะเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคการเมือง(พรรคคอมมิวนิสต์)ไม่ได้เป็นอันขาด ซึ่งผู้เขียนจะได้กล่าวต่อไป ใน ข้อ (๓) ว่าด้วย ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองพรรคเดียว - one party system ต่อจากข้อ (๒) นี้
       
ข้อเท็จจริง – facts ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา ๑๐ ปีของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ( ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๐ - พ.ศ. ๒๕๔๙) ที่สร้างระบบเผด็จการในระบบรัฐสภาโดยพรรคเมือง(นายทุนธุรกิจ) ได้ก่อให้เกิดการผูกขาดอำนาจรัฐโดยพรรคการเมือง ซึ่งทำให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศอย่างมากมาย จนในระยะสุดท้าย(พ.ศ. ๒๕๔๙) ได้ ถึง ขนาดที่พรรคการเมืองพรรคหนื่งที่ครองอำนาจรัฐด้วยเสียงข้างมาก “กล้า” ใช้อำนาจทางรัฐสภา (สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา) แก้ไขกฎหมาย (พระราชบัญญํติการประกอบกิจการคมนาคม ฯ) เพื่อนำทรัพย์สินสาธารณะของชาติ (ที่นักการเมืองซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค ได้รับสัมปทานจากทางราชการ)ไปขายให้แก่ต่างชาติ ฯลฯ และเรื่องดังกล่าวยังสะสางไม่เสร็จสิ้น แม้ในขณะนี้ [หมายเหตุ โปรดดูข้อเท็จจริง ได้จาก คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่ ๓-๕/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐]
       ความผิดพลาดในการเขียนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ นี้ ได้ก่อเกิดความเสียหายให้แก่ประเทศและแก่คนไทยอย่างร้ายแรง คือ เฉพาะ เท่าที่ปรากฏขึ้นในขณะนี้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบริหารประเทศภายไต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ มากกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดครั้งแรก(ของ “คณะราษฎร์”) ทั้งในด้านทรัพยากรของส่วนรวม และในด้านสภาพสังคมทางสังคมวิทยา (ที่ทำให้สังคมไทยมีพฤติกรรมที่มองแต่ประโยชน์ส่วนตัว โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ); ทั้ง ๆที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ มีช่วงเวลาของการใช้บังคับที่สั้นกว่า คือ มีเวลาเพียง ๑๐ ปี ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๙ เท่านั้น เทียบเคียงกับความผิดพลาด(ของคณะราษฎร)ในครั้งแรก ที่ใช้เวลาต่อเนื่องกันถึง ๖๕ ปี คือ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๐
       
       ความผิดพลาดของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ เกิดขึ้นได้อย่างไร และ “ผู้ใด” เป็นผู้รับผิดชอบ ; ผู้เขียนคิดว่า เรา(ผู้เขียนและท่านผู้อ่าน)ลองมาศึกษาและวิเคราะห์ดู ตามลำดับดังต่อไปนี้
       
       ความสำคัญของ“สังคมวิทยา”ในการวิเคราะห์ทางการเมือง ; ก่อนอื่น ผู้เขียนขอเรียนเตือนให้ท่านผู้อ่านระลึกถึงวิวัฒนาการในทาง “วิชาการกฎหมาย”ในโลกยุคปัจจุบัน ( ตามที่ผู้เขียนได้เรียนให้ท่านผู้อ่านทราบแล้วในตอนต้นของบทความนี้) ๒ ประการ ดังนี้ ประการแรก คือ “กฎหมายมหาชน(ยุคใหม่)” จะอยู่บนพื้นฐานของสังคมวิทยา(sociology) ว่าด้วยพฤติกรรมของคนและชุมชน (ซึ่งวิชาสังคมวิทยานี้ เป็น “ ศาสตร์ – science” ที่เพิ่งเกิดขึ้นในกลางศตวรรษที่ ๑๙ คือ เกิดขึ้นหลังจากความคิด(ทางการเมือง) เรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาขนของ Montesquieu / Rousseau / John Locke / Thomas Hobbs ฯลฯ ในศตวรรษ ที่ ๑๗ และ ๑๘ เมื่อ ๒๐๐ – ๓๐๐ ปีก่อน) ; และประการที่สอง “การเขียนกฎหมาย ”ของรัฐ (ประเทศ)ในปัจจุบัน จะ เป็นเทคนิคของ การออกแบบ(design)กฎหมาย โดยมีความมุ่งหมาย เพื่อกำกับพฤติกรรมของคน(ทั้งในด้านเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อำนาจรัฐ และในด้านประชาชนที่อยู่ใต้บังคับของบทกฎหมาย) เพี่อทำให้การบังคับใช้กฎหมาย(แต่ละฉบับ)เป็นไปตาม “จุดหมาย”ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย(อย่างมีประสิทธิภาพ) กล่าวคือ การบริหารประเทศจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน (public) ภายใต้เงื่อนไขของการประสานประโยชน์ กับประโยชน์ของประชาชนในฐานะที่เป็นเอกชน( ปัจเจกชน – individual) อย่างเป็นธรรม
       นอกจากนั้น ผู้เขียนยังได้เรียนให้ท่านผู้อ่านทราบแล้วว่า วิธีการ ร่างกฎหมายของประเทศที่พัฒนาแล้ว (เขา)ได้กำหนดให้นักกฎหมายผู้ทำหน้าที่ร่างกฎหมาย มีหน้าที่จะต้องจัดทำ “เอกสารประกอบร่างกฎหมาย” เพื่อชึ้แจงและอธิบายให้ได้ว่า การปฎิบัติตาม “กลไก”ในร่างกฎหมายที่ตนรับผิดชอบยกร่างขึ้นมานั้น จะ ก่อให้เกิดผลตาม “จุดหมาย”ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างมีประสิทธิภาพ ได้อย่างไร ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใส – transparency และเพื่อให้ประชาชนทั่วไป(ของเขา) สามารถเข้าใจ(บท)กฎหมายได้โดยง่าย (ดัง “ตัวอย่าง” Legistation Handbook ของประเทศออสเตรเลีย)
       สังคมวิทยาเป็นวิชาที่สอนให้เรารู้ว่า “ประชาชน”นั้น ประกอบด้วยกลุ่มคนจำนวนมาก ที่เป็น “กลุ่มผลประโยชน์ – interested groups”หลากหลาย ; และ ต่างกลุ่มต่างมีพฤติกรรมในการสงวนและแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเอง ; สังคมวิทยา จึงเป็นวิชาการ ที่ทำให้ประเทศที่พัฒนาแล้วหันมาทบทวนรูปแบบการปกครอง – form of government ที่เคยใช้อยู่ใน “รัฐธรรมนูญ(ลายลักษณ์อักษร)”
       ผุ้เขียนเห็นว่า ชนชั้นนำ – elite ของสังคมไทย ควรหยุดอ้างคำว่า “ประชาชน”เพื่อความเป็นประชาธิปไตย( ตามความเห็นทางการเมืองในสมัย ๒๐๐ – ๓๐๐ ปีก่อน) เพื่อเอาอำนาจและประโยชน์มาให้แก่ตนเอง ; แต่ชนชั้นนำของเรา ควรสำรวจตรวจดู “ตนเอง”ว่า การกระทำของตนเองนั้น มีความมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม – public หรือ ตามความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่ตนเองอ้างอยู่นั้น แอบแฝงเพื่อการแสวงหาอำนาจและประโยชน์ให้แก่ตนเอง
       สังคมวิทยา – sociology สอนให้เรารู้ “คน” เป็น ผู้สร้างระบบ เพื่อให้ “ระบบ”เป็นเครื่องมือในการควบคุม คน (ไม่ดี)ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายให้แก่สังคม ได้ ; ดังนี้ ถ้าระบบไม่ดี ก็ต้องมาพิจารณาดูว่า “คน”ที่สร้างระบบ เป็น “คนดี” หรือ “คนไม่ดี”
       
       “ระบบ ไม่ดี” ได้ทำให้เกิด “การผูกขาดอำนาจรัฐ”ในประเทศไทย ซึ่งเป็นสาเหตุของ การทุจริตคอร์รัปชั่นและการแสวงหาประโยชน์ของนักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง) : ในบทความก่อนหน้านี้ ผู้เขียนได้นำการทุจริตคอร์รัปชันของพรรคการเมืองบางพรรคที่ “คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)”ได้จัดทำบันทึกรายงาน(สมุดปกเหลือง)มาเขียนไว้ในบทความนี้ให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบแล้ว แต่ตามความจริงแล้ว การทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดจากการผูกขาดอำนาจรัฐของนักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้งได้มีมาก่อนหน้านั้น
       
ผู้เขียนได้เรียนให้ท่านทราบแล้วว่า “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภาโดยพรรคการเมือง (นายทุนธุรกิจ)”ในรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติที่บังคับให้ ส..ส.ต้องสังกัดพรรคฯลฯ ของเรา นั้น มิได้หมายความว่า จำเป็นจะต้องมีพรรคการเมืองพรรคใหญ่เพียงพรรคเดียวที่คุม “เสียงข้างมาก”ในสภาผู้แทนราษฎร จึงจะเป็น “การผูกขาดอำนาจรัฐ” แต่การที่พรรคการเมืองหลายพรรคตกลงรวมเข้าด้วยกันเป็น “เสียงข้างมาก”ในสภาผู้แทนราษฎร ก็เป็นการผูกขาดอำนาจรัฐเช่นเดียวกัน [หมายเหตุ : แม้ว่าผลในทางปฏิบัติ จะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง กล่าวคือ การทุจริตและการแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวของนักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)ในกรณีที่เป็นการรวมกันผูกขาดอำนาจรัฐโดยพรรคการเมืองหลายพรรค จะมีจำนวนน้อยกว่า การทุจริตคอร์รัปชั่น ที่เกิดจากการ ผูกขาดอำนาจรัฐโดยพรรคการเมืองพรรคใหญ่เพียงพรรคเดียว ทั้งนี้ก็เพราะว่าในกรณีที่พรรคการเมืองหลายพรรคร่วมกันผูกขาดอำนาจรัฐนั้น นักการเมืองที่สังกัดพรรคการเมืองต่างพรรคกัน ต่างฝ่ายต่างเปรียบเทืยบและระแวงซึ่งกันและกัน]
       ถ้าหากท่านผู้อ่านลองนึกย้อนลงไปใน “ช่วงต้น ๆ” ของการใช้บังคับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ (ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ “การผูกขาดอำนาจรัฐ”เกิดจากการรวมตัวของพรรคการเมืองหลายพรรค) ก็จะพบว่า ได้มีกรณีการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องที่ดินและการใช้เงินงบประมาณ ที่เป็นกรณีใหญ่ ๆ อยู่หลายกรณี ( โดยผู้เขียนจะไม่ขอระบุว่ามีกรณีใดบ้าง เพราะ “ผู้ที่เกี่ยวข้อง” ล้วนแต่เป็นผู้ที่ผู้เขียนรู้จักเป็นการส่วนตัวด้วยกันทั้งสิ้น และนอกจากนั้น ผู้เขียนก็ไม่ทราบว่า กรณีเหล่านี้ มีความจริงมากน้อยเพียงใด เพราะการสอบสวนโดยระบบกระบวนการยุติธรรมที่พิกลพิการของเรา ยังไม่สิ้นสุด) และคงจำกันได้ว่า กรณีเหล่านี้ได้กลายเป็น “เครื่องมือ”ของพรรคการเมืองพรรคใหญ่ที่เข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐในเวลาต่อมา โดยพรรคการเมืองพรรคใหญ่ดังกล่าวได้ยก “เรื่อง”เหล่านี้ขึ้นมาให้ “เจ้าหน้าที่ของรัฐ”ทำการสอบสวนและค้างการพิจารณาเรื่องไว้ (ภายใต้ความพิกลพิการของกลไกในกระบวนการยุติธรรมของเรา ) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการข่มขู่และต่อรองกับ “นักการเมืองที่เกี่ยวข้อง”ของฝ่ายตรงกันข้าม มิให้เปิดเผยและพูดถึงการทุจริตคอร์รับชั่นของตนเอง [หมายเหตุ : ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า กรณีดังกล่าวเหล่านี้ ยังคงค้างอยู่ในกระบวนการยุติธรรม)ของเรา แม้ในรัฐบาลปัจจุบัน ]
       
       “ผู้ใด” เป็น ผู้สร้างระบบ(นี้) ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ และเขียนขึ้น เพื่อ “ประโยชน์”ของใคร (เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน หรือ เพื่อประโยชน์ส่วนตัวและพรรคพวก ) ; ประเด็นมีว่า ผู้ที่มีอำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้(พ.ศ. ๒๕๔๐) ไม่ทราบล่วงหน้าหรือไม่สามารถคาดหมายได้ล่วงหน้า หรือว่า “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภาโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ นั้น จะทำให้เกิดการผูกขาดอำนาจรํฐ (ในระบบรัฐสภา) ที่จะเป็นสาเหตุของการทุจริตคอร์รัปชั่นและจะเกิดผลเสียหายแก่ประเทศได้อย่างมากมาย ; และถ้าทราบ (ล่วงหน้า)ได้ แล้ว ทำไมบุคคลเหล่านี้ จึงยังเขียนรัฐธรรมนูญออกมาเช่นนี้
       ผู้เขียนได้เคยตอบคำถามนี้ในโอกาสที่ผู้เขียนไปบรรยายในที่ต่าง ๆ หลายครั้ง แต่เป็นการอธิบาย(ด้วยวาจา) ซึ่ง ผู้เขียนก็จำไม่ได้ว่าผู้เขียนได้เคยเขียนเรื่องนี้(เป็นลายลักษณ์อักษร)ไว้ในบทความบทใดบทหนึ่งมาแล้ว หรือไม่
       ผู้เขียนเห็นว่า การเขียน(ร่าง)รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้เปิดเผยให้เห็นถึง “พฤติกรรมทางสังคมวิทยา” ของ “คน” ซึ่งเป็น ชนชั้นนำ – elite ของสังคมไทย ๒ ประเภท ( กลุ่ม) ด้วยกัน คือ นักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)ในขณะนั้น (พ.ศ. ๒๕๓๙) ประเภทหนึ่ง และนักกฎหมายในวงการวิชาการทางกฎหมายในขณะนั้น (พ.ศ. ๒๕๓๙) อีกประเภทหนึ่ง
       
       “นายทุนธุรกิจ (ระดัยท้องถิ่น)” vs “นายทุนธุรกิจ (ระดับชาติ) ; ก่อนอื่น คงต้องสังเกตว่า การเขียน(ร่าง)รัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐ของเรา เป็นการเขียนรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะพิเศษ ที่แตกต่างไปจากการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ ของเรา กล่าว คือ การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มิได้อยู่ภายไต้อิทธิพลหรือการชี้นำของคณะปฏิวัติหรือของคณะรัฐประหาร(หรือของคณะกรรมาธิการที่แต่งตั้งโดยคณะปฏิวัติหรือคณะรัฐประหาร) ตามที่เราเคยทำกันมาหลายครั้งตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ แต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้ร่างขึ้นโดย “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ในขณะที่เรามี สภาผู้แทนราษฎร ที่มีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และ เป็นสภา(ล่าง)ที่มีอำนาจมากกว่าสภาสูง(วุฒิสภา)
       นักวิชาการของเรา (ที่สมมติตนเองว่าเป็นอิสระ) มักจะวิจารณ์ว่า คณะปฏิวัติหรือคณะรัฐประหาร มีพฤติกรรมที่จะ เขียนรัฐธรรมนูญ เพื่อการสืบทอดอำนาจให้แก่ตนเอง ; แต่ก็แปลกประหลาดอีกเช่นเดียวกัน ดูเหมือนว่า จะไม่มี “นักวิชาการ” (ที่อ้างตนเองว่าเป็นอิสระ) ของเรา ที่จะสนใจพิจารณาและวิจารณ์ว่า ถ้านักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)ของเรา มีโอกาสเขียนรัฐธรรมนูญ(ใหม่)ให้แก่ตนเองแล้ว รัฐธรรมนูญ (ใหม่)ของเราจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร
       ดังนั้น การร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐
จึงเป็นโอกาสอันดีที่วงการวิชาการของเรา จะได้ศึกษาและทำความรู้จักกับ “ นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง”ของเรา
       สภาร่างรัฐธรรมนูญ(ที่ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๐๐) ได้จัดตั้งขึ้นโดยการแก้ใขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ (โดย รธน. แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ ๖ พ.ศ. ๒๕๓๙) เพิ่มเติม หมวด ๑๒ ว่าด้วย “การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”; และผู้เขียนขอพูดรวม ๆ ว่า เมื่อได้พิจารณาตามโครงสร้างของ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ซึ่งได้แก่ องค์ประกอบ และที่มาของสมาชิกของสภาร่างรัฐธรรมนูญ( การเลือกตั้ง และการเลือกสมาชิก สสร.) ตลอดจนกระบวนการในการให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ ท่านผู้อ่านก็พอจะ เห็นได้ว่า “แนวความคิดเกี่ยวกับโครงสร้าง “ระบบสถาบันการเมือง “ที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐” ย่อมจะอยู่ภายไต้อิทธิพลและการชี้นำของนักการเมือง (ที่มาจากการเลือกตั้ง) ซึ่งเป็นสมาชิกใน “สภาผู้แทนราษฎร” ตามบทบัญญัติ รัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔
       และในขณะนั้น( พ.ศ. ๒๕๓๙) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อยู่ภายไต้ “ระบบพรรคการเมือง”ที่มีการบังคับให้ส.ส. ต้อง สังกัดพรรคการเมืองอยู่แล้ว ; และเห็นได้ชัด(โดยไม่ต้องการคำอธิบายใด ๆ )ว่า “กลุ่มบุคคล”ที่ครอบงำพรรคการเมืองต่าง ๆ โดยเป็นเจ้าของทุนในการจัดตั้งพรรคการเมือง / การอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการสมัครรับเลือกตั้งของ ส.ส.ที่อยู่ในสังกัด / การให้”เงินช่วยเหลือสังคม”ที่จ่ายให้แก่ ส.ส. เป็นการประจำ / ฯลฯ ย่อมจะได้แก่ “นายทุนธุรกิจ(ระดับท้องถิ่น)”
       ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๕ (หลังพฤษภาทมิฬ) จนถึง รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ นั้น “นายทุนธุรกิจ(ระดับชาติ)” ยังไม่ได้เข้ามาเล่นการเมืองโดยตรง (ด้วยการตั้งพรรคการเมืองของตนเอง) ; และบรรดา“พรรคการเมือง” (ภายไต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค) ที่มีบทบาททางการเมืองในช่วงนี้ จึงเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับเงินทุนและความช่วยเหลือจากบรรดา “นักธุรกิจนายทุนและผู้ที่มีอิทธิพลในชุมชน -ระดับท้องถิ่น”ทั้งสิ้น
       ดังนั้น นายทุนธุรกิจ(ระดับท้องถิ่น) จึงเป็นผู้ที่สร้าง “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภาโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” ขึ้นในรัฐธรรมนูญของประเทศไทย
       นายทุนธุรกิจ(ระดับชาติ)
เพิ่งเข้ามาเล่นการเมืองหลังจากที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ใช้บังคับแล้ว คือ เข้ามาเล่นการเมืองหลังจากที่นายทุนธุรกิจ(ระดับท้องถิ่น)ได้สร้าง”ระบบผูกขาดอำนาจรัฐโดยพรรคการเมือง(สมบูรณ์แบบ)”ขึ้นแล้ว ดังจะเห็นได้ว่า นายทุนธุรกิจ(ระดับชาติ) ได้ตั้งพรรคการเมืองของตนเองขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ และ ด้วยจำนวนเงินทุนที่มากกว่าและอิทธิพลที่เหนือกว่านายทุนธุรกิจ(ระดับท้องถิ่น) พรรคการเมืองของนายทุนระดับชาติ จึงได้ “ซื้อ”ผู้สมัคร ส.ส.ที่มีศักยภาพ / ซื้อ ส.ส.(ที่ได้รับเลือกตั้งแล้ว)จากพรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจ(ระดับท้องถิ่น) / และซื้อแม้แต่พรรคการเมือง(ของนายทุนธุรกิจระดับท้องถิ่น)ไปทั้งพรรคการเมือง ฯลฯ ซึ่งเป็น “เหตุการณ์”ที่ปรากฏในระหว่าง ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ จนถึง พ.ศ.๒๕๔๙ ( การเลือกตั้งวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙) ตามท่านผู้อ่านได้ทราบกันอยู่แล้ว
       ดังนั้น นายทุนธุรกิจ(ระดับชาติ) จึงมิได้เป็นผู้สร้าง “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภาโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” แต่นายทุนธุรกิจ(ระดับชาติ) เป็นผู้เข้ามาฉวยเอาประโยชน์และเข้าครอบงำ – take over “อำนาจรัฐ”ในระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา(โดยพรรคการเมือง) ไปจากนายทุนธุรกิจ(ระดับท้องถิ่น) ที่เป็นผุ้สร้างและตั้งใจจะสร้าง “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภาโดยพรรคการเมือง”ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ไว้สำหรับตนเอง
       

       
       อ่านต่อ
       
       หน้า 21
       หน้า 22
       หน้า 23
        หน้า24
       หน้า 25
        หน้า26
       หน้า 27
        หน้า28
       หน้า 29


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544