หน้าแรก บทความสาระ
สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒ (หน้า๑๘)
ศ. ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
11 พฤศจิกายน 2550 21:57 น.
 
(๓) ข้อสังเกต ประการที่ สาม : “เหตุการณ์รุนแรง” ในยุคเริ่มต้นของ Constitutionalism ของยุโรป ให้ประสบการณ์ อะไร แก่เรา : ประวัติศาสตร์สากลได้บันทึกไว้ว่า เหตุการณ์รุนแรงของประเทศฝรั่งเศสในระยะนี้ เริ่มต้นมาจากภาวะทางเศรษฐกิจ ที่ประเทศฝรั่งเศสมีหนี้สาธารณะเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เพราะประเทศฝรั่งเศสได้ใช้จ่ายเงินในการทำสงครามหลายครั้ง รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือแก่ชาวอเมริกันในการทำสงครามกับประเทศอังกฤษ (the American revolution ค.ศ. ๑๗๗๕ – ๑๗๘๓ ) ด้วย และประมาณการกันว่า ในขณะนั้น ประเทศฝรั่งเศสต้องจ่ายดอกเบี้ย(เงินกู้)เป็นจำนวนถึง ครึ่งหนึ่งของงบประมาณรายได้ของประเทศในแต่ละปี
       และแม้ว่า รัฐบาลของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ จะมีบุคคลสำคัญ ๆที่มีความสามารถเข้ามาแก้ปัญหาประเทศ แต่ก็ทำไม่สำเร็จ เพราะมีอุปสรรคสำคัญ จาก ชนชั้นนำ ๒ กลุ่ม กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่เรียกว่า “the parlementaires” และ กลุ่มที่สอง เรียกกันว่า กลุ่มนักปราชญ์ “the philosophes”
       กลุ่มแรก เป็น กลุ่มนักกฎหมาย ซึ่งประกอบอาชีพเป็นตุลาการ (ผู้พิพากษา)ของ “ศาลประจำเขต”ของประเทศฝรั่งเศส ที่เรียกชื่อว่า ศาล “le parlement”(ทั่วทั้งประเทศฝรั่งเศส มีศาล parlement อยู่ ๑๓ เขต) ซึ่งผูกขาดอำนาจการชี้ขาดคดี ทั้งหมดทั่วประเทศ (โดยมีอำนาจที่ได้รับมอบหมายมาเป็นเวลานานว่า พระบรมราชโองการ ของกษัตริย์จะต้องมีการลงทะเบียนที่ศาล parlement ก่อน จึงจะบังคับเป็นกฎหมายได้) ; กลุ่มตุลาการนี้ปฏิเสธไม่ยอมรับบังคับ “กฎหมาย”ที่รัฐบาลตราขึ้นเพื่อแก้ปัญหาประเทศ โดยอ้างว่าขัดต่อ สิทธิและประโยชน์ตามประเพณีที่กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เคยมีอยู่ ซึ่ง ทำให้ “กฎหมาย”ที่รัฐบาลของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ (ตราขึ้นเพื่อแก้ปัญหาประเทศ) ไม่สามารถใช้บังคับได้
       กลุ่มที่สอง – the philosophes ได้แก่บรรดานักวิชาการที่ ทำตัวเป็นนักปราชญ์ ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตามธรรมชาติของมนุษย์ และกล่าวหาว่ารัฐบาลกดขี่ประชาชน ; ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ เป็นกษัตริย์ ที่มีความตั้งใจดี (well – intention) แต่อ่อนแอ (weak) เกินไป
       ในสภาพที่ประเทศไทยเต็มไปด้วย “ปัญหา”ในขณะนี้ ผู้เขียนไม่ทราบว่า เรามีนักวิชาการที่ทำตัว เป็นนักปราชญ์ “the philosophes” ที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และเรียกร้องการมีส่วนร่วมของประชาชน (โดยไม่ทราบวิธีการแก้ “ปัญหา”จากสิ่งที่ตนเองเรียกร้อง ) เหมือน ๆกับ the philosophes ของประเทศฝรั่งเศสในยุคนั้น มีจำนวนมากน้อยเพียงใด แต่เท่าที่ผู้เขียนสังเกตและอ่านดูจาก “ข่าวและบทความ”ในหน้าหนังสือพิมพ์ และฟังความเห็นจากการวิพากษ์วิจารณ์การบริหารประเทศในรายการประจำวันในวิทยุกระจายเสียงและในโทรทัศน์ ก็ดูเหมือนว่า นักวิชาการประเภท the philosophes ของเรา(คนไทย) ก็น่าจะมีจำนวนอยู่ไม่น้อย ; และผู้เขียนไม่ทราบว่า ในขณะนี้ สภาพของกระบวนการยุติธรรมของเรา( ตำรวจ / อัยการ / กรมสอบสวนพิเศษ / ผู้พิพากษา) จะมีสภาพเหมือนศาล “le parlement (ผูกขาดการตีความกฎหมาย)”ของฝรั่งเศส มากน้อยเพียงใด และ ในกระบวนการยุติธรรม ผู้ประกอบวิชาชีพฎหมายของเรา (ไม่ว่าจะเป็น ตำรวจ / อัยการ / กรมสอบสวนพิเศษ / ผู้พิพากษา) จะมีบุคคลที่ทำงานแบบ “the parlementaires” ในศาล parlement ของฝรั่งเศสในอดีตเมื่อ ค.ศ. ๑๗๘๙ (ที่ตีความแบบศรีธนญชัย เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนากฎหมาย) มีจำนวนมากน้อยเพียงใด ; และในประการสุดท้าย ผู้เขียนก็ไม่ทราบว่า ในขณะนี้ เรามีบุคคลใน รัฐบาลของ เรา ที่มีความตั้งใจดี - well intention แต่ weak เหมือนกับ “รัฐบาลฝรั่งเศส”ในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ XVI (ก่อนการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๗๘๙) บ้างหรือไม่
       ปัญหาเหล่านี้ คงเป็นปัญหาของ “คนไทย”ทุกคน ที่จะหาคำตอบ เอาเอง (ไม่ใช่ผู้เขียน)
       

       ความแตกต่างระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับประเทศไทย (ในเหตุการณ์ที่มีเงื่อนไขคล้ายคลึงกันนี้) ก็คือ เหตุการณ์ในประเทศฝรั่งเศสเกิดขึ้นใน ปลายศตวรรษที่ ๑๘ แต่เหตุการณ์ในประเทศไทยเกิดขึ้นต้นศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งห่างกันกว่า ๒๐๐ ปีเศษ
       ในช่วงเวลา ๒๐๐ ปีนี้ ( นับตั้งแต่การเรียกร้องอำนาจอธิปไตยเป็นของ “ประชาชน”ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราช ) นิติปรัชญา (ปรัชญาทางกฎหมาย) และ การใช้ “กฎหมายมหาชน"ในภาคปฏิบัติ ( applied science)ของประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้ก้าวไปไกล เกินกว่า “ขีดความสามารถ”ของนักวิชาการไทยในปัจจุบันจะตามทัน
       นักวิชาการประเภท the philosophes ของเขา(ประเทศฝรั่งเศส) ได้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชน(ในปลายศตวรรษที่ ๑๘) ในขณะที่วิธีการแก้ปัญหาในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายระบบบริหารพื้นฐานของรัฐสมัยใหม่(ในระบอบประชาธิปไตย) ยังไม่มีการพัฒนา ; แต่นักวิชาการประเภท the philosophes ของเรา (ประเทศไทย) เรียกร้องสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชน(ในต้นศตวรรษที่ ๒๐) ในขณะที่วิธีการแก้ปัญหาดังกล่าวของประเทศพัฒนาแล้ว(ในระบอบประชาธิปไตย) มีอยู่อย่างหลากหลาย แต่นักวิชาการไทยไม่รู้และไม่สนใจ
       ผู้เขียนคิดว่า ความผิดพลาดในระบบการศึกษากฎหมายของประเทศไทย ได้ทำให้เกิด “ความว่างเปล่า”ของความรู้ ในช่วงระยะเวลาของการวิวัฒนาการทางกฎหมาย(มหาชน) ในช่วงเวลา ๒๐๐ ปี ที่ผ่านมา; ตำรากฎหมายมหาชน(และกฎหมายรัฐธรรมนูญ)ของไทย สอนคนไทยให้รู้และจบลงเพียง ยุคของ Montesquieu / Hobbs / Locke / ฯลฯ คือ อำนาจอธิปไตยเป็นของ “ประชาชน “ และอำนาจอธิปไตย แยกเป็น ๓ อำนาจ คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ; และไม่ได้สอนต่อจากนั้น
       
       สรุป ข้อสังเกต ๓ ประการ ของผู้เขียน : ผู้เขียนคิดว่า การที่ผู้เขียนนำวิวัฒนาการของ “ระบบรัฐสภา”มาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังอย่างสั้น ๆ ข้างต้นนี้ คงจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านได้บ้าง ; รัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ ๔ ฉบับแรกของยุโรป (หรือของฝรั่งเศส)ในช่วงระยะเวลาของการเริ่มต้น ของลัทธิ Constitutionalism ของยุโรปในช่วงเวลา ๑๐ ปี แรก จาก ค.ศ. ๑๗๘๙ ถึง ค.ศ. ๑๗๙๙ นอกจากจะเป็นประสบการณ์ให้แก่คนไทย ในการเปรียบเทียบการเขียน (ออกแบบ)รัฐธรรมนูญ เพื่อแสวงหา “รูปแบบของการปกครอง – form of government”ที่เหมาะสมกับสังคมไทยในปัจจุบันนี้ แล้ว เหตุการณ์รุนแรงในช่วงระยะเวลาดังกล่าวน่าจะให้ประสบการณ์ทางการเมืองแก่คนไทยอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของตุลาการของศาล le parlement หรือ บทบาทของนักวิชาการประเภททำตัวนักปราชญ์ the philosophes ; ผู้เขียนหวังว่า คนไทยคงจะประสบความสำเร็จในการหา “ความรู้” และ ค้นพบ “รูปแบบการปกครอง – form of government” ที่แก้ปัญหาความเสื่อมของการบริหารประเทศของเราได้
       
       ถ้าจะพูดถึง ระยะเวลา ๑๐ ปี (ค.ศ. ๑๗๘๙ – ค.ศ. ๑๗๙๙) ของการเริ่มต้น constitutionalism (และระบบรัฐสภา)ในยุโรป และ พิจารณาจากด้าน “รูปแบบของการปกครอง - form of government”เพียงด้านเดียว เราอาจกล่าวได้ว่า ยุโรปหรือประเทศฝรั่งเศสประสบความล้มเหลว เพราะการปฎิวัติของประเทศฝรั่งเศส ใน ปี ค.ศ. ๑๗๘๙ ซึ่งเริ่มต้นจากการล้มล้างระบบกษัตริย์(พระเจ้าหลุยล์ที่ ๑๖ ) แต่แล้วในที่สุด ประเทศฝรั่งเศสก็กลับมาสู่ที่เดิม คือ ระบบการปกครองที่มีจักรพรรดิ (นโปเลียน) โดยไม่สามารถสร้าง “รูปแบบการปกครอง” ที่มีแนวทาง – concept ที่แน่นอนของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ได้
       
       แต่ถ้าจะพิจารณาในด้านอื่น ๆ และในด้านทั่ว ๆ ไป โดยรวมแล้ว ในช่วงเวลาของการปฏิวัติฝรั่งเศสเพียงชั่วระยะเวลาเพียง ๑๐ ปีนั้น ได้ก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางความคิดและความก้าวหน้าทางวิชาการ อย่างที่ไม่เคยปรากฏในยุโรป
       นอกเหนือจากการประกาศปฎิญญาว่าด้วยสิทธิของมนุษย์และพลเมืองแล้ว ประเทศฝรั่งเศส ได้ทดลองการจัด “ระบบสถาบันการเมือง”ในหลายรูปแบบ คือ มีทั้งรูปแบบที่มีสภาเดียว – สองสภา / มีทั้งการแบ่งแยกอำนาจ - โดยแยกองค์กรบริหาร ออกจากองค์กรนิติบัญญัติ ให้มีการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน / และไม่มีการแบ่งแยกอำนาจ โดยให้สภานิติบัญญัติเป็นองค์กรสูงสุดเพียงองค์กรเดียว ที่ใช้ทั้งอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร เพื่อ “ความเป็นประชาธิปไตย” / และมีทั้งที่กำหนดให้องค์กรฝ่ายบริหารเป็นคณะบุคคล (collective body) เพื่อป้องกันเผด็จการ / และให้อำนาจบริหารมีหัวหน้าผู้รับผิดชอบเพียงคนเดียว ; การเขียน(ออกแบบ)รัฐูธรรมนูญของประเทศผรั่งเศส ได้กลายเป็นประสบการณ์ของประเทศต่าง ๆ ในยุโรป(และในโลก) ซึ่งในเวลาต่อมา ได้ทำให้ “หลักการ”ของระบบรัฐสภา – parliamentary system ในรัฐธรรมนูญลักษณ์อักษรของประเทศต่าง ๆ มีความชัดเจนและแน่นอนมากขึ้น
       
       เหตุการณ์ในช่วงระยะ ๑๐ ปีของประเทศฝรั่งเศส ได้ทำให้ยุโรปทั้งทวีปเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายทั้งในด้านสังคม และในด้านกฎหมาย เช่น การยกเลิกการแบ่งแยกพลเมือง ออกเป็น พระ – ขุนนาง – สามัญชน (clergy – nobility – commoners) / ความเสมอภาคในสังคม / การยกเลิกการถือครองที่ดินของวัด(ในคริสต์ศาสนา) / การวางพื้นฐานของระบบราชการประจำ / การวางพื้นฐานการปกครองส่วนท้องถิ่น / ฯลฯ
       การปฎิรูปกฎหมาย(ระบบบริหาร)ในสมัยของนโปเลียนในอีก ๑๔ ปีต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การล้มเลิกระบบการผูกขาดวิชาชีพทางกฎหมายโดยกลุ่มตุลาการของศาล le parlement ได้เปิดทางให้มีการปฎิรูประบบวิธีพิจารณาความ และการจัดองค์กรศาลและองค์กรทางกฎหมาย ของรัฐในยุคใหม่( modern state) ซึ่งต่อมา ในช่วงเวลา ๑๐๐ ถึง ๒๐๐ ปีที่ผ่านมา การปฏิรูปกฎหมายของประเทศฝรั่งเศสได้กลายมาเป็นพื้นฐานและต้นแบบของการเขียน(ออกแบบ) กฎหมายเกี่ยวกับการจัดองค์กรของหน่วยงานของรัฐในยุค ศตวรรษที่ ๑๙ -๒๐ (และ ศตวรรษ ที่ ๒๑) ไม่ว่าจะเป็นศาลปกครอง หรือ สถาบันการตรวจเงินแผ่นดิน ทั้งนี้ โดยไม่ต้องกล่าวถึง การรวบรวมกฎหมายมาเขียนเป็นประมวลกฎหมาย – Napoleon code (ค.ศ. ๑๘๐๔) ซึ่งเป็นต้นแบบของประมวลกฎหมายของประเทศต่างในโลกยุคปัจจุบัน
       
       เป็นที่น่าเสียดายว่า ประสบการณ์ ๒๐๐ ปีดังกล่าวข้างต้นนี้ สังคมไทยไม่มี และ สังคมไทยไม่มีโอกาสที่จะเรียนรู้ ; ขณะนี้ เรามีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่(พ.ศ. ๒๕๕๐) และเรากำลังจะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไปในอีกสองสามเดือนข้างหน้า (วันที่ ๒๓ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐) ซึ่ง ผู้เขียนเชื่อว่า เราก็คงจะไม่สามารถแก้ปัญหาความเสื่อมของการบริหารประเทศของเราได้
       ในอนาคต นอกจากเราจะยังมีปัญหาจาก “ชนชั้นนำ” ที่เป็นนักวิชาการประเภท “the philosophes” คือ นักวิชาการที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้ประชาชน แต่ไม่มีความรู้ว่า จะแก้ปัญหาที่เกิดจากการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อประโยชน์ส่วนตัว(ของประชาชนแต่ละคน)ได้อย่างไร แล้ว และเราคงจะต้องมีปัญหา จาก “กลุ่มนักการเมืองนายทุน” ที่รวมทุน (เงิน)กันตั้ง “พรรคการเมือง” และรวบรวม ผู้สมัตรรับเลือกตั้ง (ให้เข้ามาเลือกตั้งในสังกัดพรรคของตน) เพื่อเข้ามาผูกขาดใช้อำนาจรัฐ(ในระบบรัฐสภา) ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ ฉบับใหม่ของเรา (ซึ่งยกร่างโดย “สภาร่างรัฐธรรมนูญ – นานาอาชีพ” ที่จัดตั้งโดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๙ เพื่อความเป็นประชาธิปไตย )
       รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันของเรา พ.ศ. ๒๕๕๐ ยังคงเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็น “ระบบเผด็จการในระบบรัฐสภา โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจฉบับเดียวในโลก คือเป็นรัฐธรรมนูญ ที่มีบทบัญญัติบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคและส.ส.ไม่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ได้ตามมโนธรรม – conscious ของตน และเป็นรัฐธรรมนูญที่ “ไม่เป็นประชาธิปไตย” [ หมายเหตุ แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่บุคคลในรัฐบาลของเรา บอกกับต่างประเทศและบอกต่อโลกในที่ประชุมสหประชาชาติ UN ในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา ว่า รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งของเราในเดือนธันวาคมข้างหน้านี้ จะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ]
       หลังการเลือกตั้งเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ผู้เขียนเห็นว่า เราก็จะกลับสู่วงจรแห่งความเสื่อม - vicious circle เหมือนกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ คือ การแก่งแย่งกันเข้ามาเป็นรัฐบาล (นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี) ในระหว่างบรรดานักธุรกิจนายทุน(เจ้าของ)พรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจนายทุนระดับท้องถิ่นหรือในระดับชาติ ; ในกรณีที่ไม่มีพรรคการเมืองพรรคใหญ่ที่ชนะเลือกตั้ง โดยได้เสียงข้างมากเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด นักธุรกิจนายทุน(เจ้าของ)พรรคการเมือง(สองสามพรรค)ก็จะต่อรองแบ่งปันผลประโยชน์และแบ่งตำแหน่งรัฐมนตรีและตำแหน่งข้าราชการการเมือง เพื่อจะได้รวบรวมสมาชิกให้เป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และได้เป็น “รัฐบาล” ; และได้เข้าผูกขาดอำนาจรัฐใน “ระบบรัฐสภา”ที่มีการบังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรค (ซึ่งหมายความว่า พรรคการเมืองที่รวมตัวเข้าด้วยกันนั้น จะ ผูกขาดอำนาจรัฐโดยเบ็ดเสร็ฐ คือ ควมคุมทั้งสภา(โดยเสียงข้างมาก) และเป็นผู้บริหารประเทศด้วยในขณะเคียวกัน และภายไต้การผูกขาดอำนาจเช่นนี้ อะไร ๆ ก็สามารถทำได้ทั้งสิ้น เพราะไม่มีการถ่วงดุลระหว่างอำนาจ ดังข้อเท็จจริงที่ได้เกิดขึ้นและปรากฏมาแล้ว ก่อนการรัฐประหาร วันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙
       แต่ข้อที่แตกต่างออกไป ก็คือ รัฐบาลภายไต้ “รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐”นี้ อาจมีเรื่องสนุก ๆ (แต่คงหัวเราะไม่ออก) สำหรับคนไทย มากกว่ารัฐบาลภายไต้ “รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐” กล่าวคือ ถ้าหากปรากฎว่านักการเมืองที่สูญเสียอำนาจและสูญเสียทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการรัฐประหาร เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ สามารถกลับคืนเข้าผูกขาดอำนาจรัฐได้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากการเลือกตั้ง(ในสภาพสังคมไทยที่อ่อนแอและขาดประสบการณ์) ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่ง ผู้เขียนไม่อาจคาดเดาได้ว่า แล้วอะไรจะเกิดขึ้น
       ผู้เขียนเสียดายเวลา ๑ ปีที่เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ หนึ่งปีของการรัฐประหารของ “คณะปฏิรูปการปกครอง ฯ” กับการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (พ.ศ. ๒๕๕๐) ที่สร้างระบบผูกขาดอำนาจรัฐโดยพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจเหมือนรัฐธรรมนูญเดิม พร้อมทั้งการกำหนดวิธีการเลือกตั้งที่ให้เปิดโอกาสและให้ประโยชน์แก่นักการเมือง(ที่มีเงิน)ในการซื้อเสียง ได้มากกว่าเดิม ( คือ การรวมเขตเลือกตั้งเป็น ๓ คนต่อหนึ่งเขต และการนับคะแนนเสียงที่หน่วยเลือกตั้ง) ; หนึ่งปีที่กำลังจะจบลงด้วยการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม พร้อมกับ “ข่าว”(ในปลายเดือน ตุลาคม) ของการ(ถูก)เปิดเผยเอกสารลับของ “คณะปฏิรูปการปกครองฯ”หรือ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)ในปัจจุบัน ซึ่งกล่าวกันว่า เป็นแผนสกัดกั้นพรรคการเมืองบางพรรคในการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (พ.ศ. ๒๕๕๐)
       สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ทั้ง ๆที่ “คณะปฎิรูปการปกครองฯ”เมื่อทำการรัฐประหารมาแล้ว เป็นผู้ที่กำหนดวิธีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยตนเอง / กำหนดวิธีการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ด้วยตนเอง / แต่งตั้งรัฐบาล ด้วยตนเอง / กำหนดวิธีการตรวจสอบการคอร์รัปชั่น ด้วยตนเอง / ฯลฯ แต่เมื่อหนึ่งปีผ่านไป ข้อเท็จจริงก็ปรากฎว่า “คณะปฏิรูปการปกครองฯ” ไม่สามารถแก้ปัญหา(หรือแม้แต่วางแนวทางในการแก้ปัญหา) ความเสื่อมของการบริหารประเทศได้ จนตนเองต้องมีการดำเนินการทางลับในการเลือกตั้ง ส.ส.กับพรรคการเมืองบางพรรค และต้องถูกตรวจสอบโดย กกต. ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ตนเองคิดว่า จะเป็นเตรื่องมือในการแก้ปัญหาของประเทศ (?) (?)
       
       มาถึงขณะนี้( เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๐) และนึกย้อนถึง “เหตุการณ์”เกี่ยวกับผู้นำประเทศ (ไม่ว่าจะ “ชื่อ”อะไร) และชนชั้นนำ ของประเทศที่พัฒนาแล้วในอดีตเมื่อ ๒๐๐ ปีก่อน ตามที่ (ผู้เขียน)ได้เล่าสู่กันฟังในข้อสังเกต ๓ ประการที่ผ่านมา ; สำหรับผู้เขียน ผู้เขียนขอเรียนว่า ผู้เขียนมีความรู้สึก (ด้วยความแน่ใจ)ว่า ประเทศไทย เป็น ประเทศที่ “ไร้”อนาคต
       

       “ประเทศไทย เป็น ประเทศที่ไม่มีอนาคต” เพราะ ชนชั้นนำ – elite ของคนไทย มี “คุณภาพ”และมี “ความรู้” ไม่สูงพอ ที่จะช่วยคนไทย ปฏิรูปการเมือง (และปฏิรูประบบบริหาร)
       
       ในช่วงเวลา ๒ ปี ที่ผ่านมา (พ.ศ. ๒๕๔๙ -๒๕๕๐ ) เหตุการณ์ได้ทำให้ ชนชั้นนำของเรา เปิดเผย (expose) “สภาพของตนเอง”ในทางสังคมวิทยา ให้ เห็นได้อย่างชัดเจน โดยแยกเป็น ๔ ประเภท ดังนี้
       ประเภทที่ (๑) “ผู้นำ (ในการบริหาร)” และ” นักการเมืองจำเป็น”ของเรา ที่บังเอิญได้อำนาจรัฐมาด้วยการรัฐประหาร ได้แสดงให้เห็นว่า เมื่อปฏิวัติมาแล้ว ตนเองยัง “ไม่รู้”ว่า ปัญหาของประเทศอยู่ที่ไหน และจะแก้ปัญหาประเทศได้ อย่างไร ( แม้ว่าจะมีความตั้งใจดี)
       ประเภทที่ (๒) “วงการวิชาการทางกฎหมาย”ของเรา ได้แสดงให้ปรากฏว่า มีขีดความสามารถในการ(เขียน)ออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ในต้นศตวรรษที่ ๒๑ ได้เพียงระดับเดียวกับ การเขียนรัฐธรรมนูญของวงการวิชาการของยุโรป ในสมัยปลายศตวรรษที่ ๑๘
คือ ห่างกัน ๒๐๐ปี เศษ
       ประเภทที่ (๓) “นักวิชาการ”ของเราจำนวนมาก ยังคงทำตัวเหมือนกับนักวิชาการประเภท “the philosophes”ของยุโรปในสมัยปลายศตวรรษ ที่ ๑๘ คือ เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ(ส่วนบุคคล) เพื่อทำให้ “ชื่อ”ของตน ได้ปรากฏเป็นข่าวให้เป็นที่รู้จัก ทั้งนี้โดยไม่รู้และไม่สนใจที่จะรู้ว่า การบริหารประเทศในระบอบประชาธิปไตย มี“จุดมุ่งหมาย”อย่างไร และในประเทศที่พัฒนาแล้ว (เขา)มีกลไกในระบอบการปกครองที่จะประสานประโยชน์เหล่านี้ได้ อย่างไร
       ประเภทที่ (๔) “นักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)” ได้แสดงความเห็นแก่ตัวให้ปรากฎ คือ ขอให้มีรัฐธรรมนูญที่ตนเองได้มีโอกาส รวมทุน(เงิน)กันตั้งเป็นพรรคการเมือง เพื่อเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ (ในสภาพสังคมไทยที่อ่อนแอ) และให้รัฐธรรมนูญบัญญัติห้ามมิให้คนอื่น (นอกจากพวกของตน) มาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยอ้าง “ความเป็นประชาธิปไตย”อย่างผิด ๆ และทำให้คนไทยหลงทาง
       

       เรา (คนไทย)จะทำอย่างไรกับ ประเทศประเทศหนึ่ง ที่มีพลเมืองกว่า ๖๓ ล้านคน แต่เป็นประเทศที่มี “ผู้นำ(ในการบริหารประเทศ)”ที่บริหารประเทศเพียงว่า ให้มีการเลือกตั้ง เพราะมีความรู้เพียงว่า ถ้ามีการเลือกตั้งแล้ว ก็เป็นประชาธิปไตย กับการจัดงานอีเวนท์ (events)โฆษณาความเป็นประชาธิปไตยกับการเลือกตั้ง / ประเทศที่มี “นักวิชาการ”ที่เห็นว่า การเขียนรัฐธรรมนูญ ต้องทำด้วยสภาร่างรัฐธรรมนูญนานาอาชีพด้วยเสียงข้างมาก เพื่อความเป็นประชาธิปไตย แต่ไม่มีความสามารถพอที่จะเขียน “เอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ”เพื่ออธิบายสิ่งที่ตนเองเขียน (ทั้งนี้ โดยไม่จำเป็นต้องพูดถึง การเขียนกฎหมาย “ระบบบริหารพื้นฐานของประเทศ” ซึ่งเกินกว่าความสามารถทางสามัญสำนึก – common sense ของนักวิชาการไทย ); ประเทศที่มี “นักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)”ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว เมื่อจ่ายเงินลงทุนตั้งพรรคการเมืองแล้ว ก็ต้องมีรัฐธรรมนูญที่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค และกำหนดให้ผู้ลงทุนเท่านั้น จึงจะมีสิทธิเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้ มิฉะนั้นไม่ใช่ “ประชาธิปไตย”
       คนไทยอาจเป็นคนโชคร้าย ที่เกิดมาในประเทศที่ มี ชนชั้นนำ – elite ที่มี “คุณภาพ”และ “ความรู้” เพียงเท่านี้ 
       

        (ผู้เขียนยังเขียนไม่จบ)
       
       อ่านต่อ
       
        หน้า 19
       หน้า 20
       หน้า 21
       หน้า 22
       หน้า 23
        หน้า24
       หน้า 25
        หน้า26
       หน้า 27
        หน้า28
       หน้า 29


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544