หน้าแรก บทความสาระ
สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒ (หน้า๑๕)
ศ. ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
28 ตุลาคม 2550 23:35 น.
 
(ก) ความเป็นมาของ constitutionalism ( และระบบรัฐสภา) ในยุโรป ผู้เขียนขอเริ่มต้นว่า เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า ในสมัย ศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศต่าง ๆในยุโรป ได้รวบรวมเชื้อชาติและแคว้นต่าง ๆในยุค feudalism เข้ามาเป็น nation-state หรือเป็น “รัฐสมัยใหม่ – modern state” และในขณะนั้น รูปแบบของระบบการปกครอง ( form of government หรือ system of government) ของประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ก็คือ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ( monarchy) ที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจสิทธิขาด – absolute powerในการปกครองประเทศในฐานะที่เป็นประมุขของรัฐ (ตามความเชื่อทั่วไปทางประเพณีที่สืบเนื่องกันมาในอดีต เรื่อง divine right ของกษัตริย์ ) ; โดยที่ในขณะนั้น ยังไม่มีประเทศใดในยุโรป(หรือในโลก) ที่มีรัฐธรรมนูญ(ลายลักษณ์อักษร)มาจำกัดพระราชอำนาจของกษัตริย์แต่อย่างใด เราลองมาดูว่า หลังจากที่สหรัฐอเมริกามีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ที่มี ระบบเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้นในปีค.ศ. ๑๗๘๗ แล้ว อะไรเกิดขึ้นในยุโรป
       อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอเรียนเตือนไว้ด้วยว่า ในขณะที่ท่านผู้อ่านอ่านบทความในหัวข้อต่อไปนี้ ขอได้โปรดระลึกไว้เสมอว่า ในช่วงปลายศตวรรษที่ ๑๘ และต้นคตวรรษที่ ๑๙ นี้ เป็นขณะที่ “ กฎหมายมหาชน(ยุคใหม่)” และตัวบทกฎหมายที่เป็นระบบบริหารพื้นฐาน ของรัฐสมัยใหม่ – modern state ยังไม่ได้เริ่มต้นพัฒนา [ หมายเหตุ : กฎหมายมหาชน(ยุคใหม่)” หมายถึง กฎหมายมหาชนยุคหลังกฎหมายโรมัน ]
       
       ช่วงระยะเวลา ๑๐ ปี (ค.ศ. ๑๗๘๙ – ศ.ศ. ๑๙๙๙) การเริ่มต้นของ constitutionalism ใน ยุโรป :
       
หลังจากที่สหรัฐอเมริกามีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร (writen constitution)ขึ้นมาใช้บังคับแล้ว ลัทธิการเขียนรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร – constitutionalism ก็ได้ถูกนำมาเป็น “ประเด็น”ในยุโรป และเริ่มต้นด้วยประเทศฝรั่งเศส
       เราคงไม่จำเป็นต้องย้อนไปศึกษาถึงวิชาประวัติศาสตร์ว่า สถานการณ์ของโลกหรือของยุโรปในขณะนั้นเป็นอย่างไร แต่ขอเรียนไว้พอเป็นสังเขปว่า โลกขณะนั้น ประเทศที่เป็นมหาอำนาจและแข่งขันกันขยายอำนาจ ก็มีอยู่ ๒ ประเทศ คือ ประเทศอังกฤษกับประเทศฝรั่งเศส และการที่สหรัฐอเมริกาสามารถแยกตัวเป็นอิสรภาพจากประเทศอังกฤษได้สำเร็จ ส่วนหนึ่งก็เพราะการช่วยเหลือจากประเทศฝรั่งเศส ; (การต่อสู้ระหว่างชาวอเมริกันกับอังกฤษ อยู่ในระหว่าง ปีค.ศ. ๑๗๗๕ – ค.ศ. ๑๗๘๓ รวมเวลา ๘ ปี ) สหรัฐอเมริกาประกาศอิสรภาพ(จากอังกฤษ) ในปี ค.ศ. ๑๗๗๖ และในสองปีต่อมา ประเทศฝรั่งเศสก็ทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ ร่วมรบทำสงคราม(ต่อสู้)กับอังกฤษในปี ค.ศ. ๑๗๗๘ ; โดยในระหว่างสงครามเพื่อความเป็นเอกราชของสหรัฐอเมริกา ก็ได้มีทหารฝรั่งเศส อาสาสมัครไปร่วมรบกับชาวอเมริกันจำนวนหนึ่ง(รวมทั้ง นายพล Lafayette) และรัฐบาลของฝรั่งเศสได้ให้ เงินช่วยเหลือแก่สหรัฐอเมริกาในการทำสงครามเป็นจำนวนมาก ซึ่งต่อมา ก็ได้เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของ ปัญหาเศรษฐกิจของฝรั่งเศสในสมัยพระเจ้าหลุยส์ ที่ ๑๖ ด้วย ; [ หมายเหตุ : และหลังจากนั้น เมื่อครบ ๑๐๐ ปีของการประกาศเอกราชของสหรัฐอเมริกา ประเทศฝรั่งเศสก็ยังได้ส่ง the Statue of Liberty - เทพีแห่งเสรีภาพ ไปเป็นของขวัญให้แก่สหรัฐอเมริกา ที่ตั้งอยู่บนเกาะ Ellis ในอ่าวหน้ากรุงนิวยอร์คในปัจจุบัน]
       
       ประเทศฝรั่งเศสมีการปฏิวัติ ในปี ค.ศ. ๑๗๘๙ (หลังจากที่สหรัฐอเมริกามีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ได้ ๒ ปี) ต่อจากนั้นมา ประเทศฝรั่งเศสก็มีรัฐธรรมนูญขึ้นหลายฉบับ แต่ถ้าท่านศึกษาประวัตศาสตร์ของประเทศฝรั่งเศสแล้ว ท่านอาจประหลาดใจว่า แม้ว่าประเทศฝรั่งเศสจะมีการปฏิวัติที่มีเหตุการณ์ค่อนข้างรุนแรงตามที่ท่านทราบกันอยู่แล้ว แต่รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ ฝรั่งเศสยกร่างขึ้นนั้น ก็มิได้เป็นรัฐธรรมนูญที่ยกเลิกระบบกษัตริย์ แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่จะนำกษัตริย์ให้มาอยู่ภายไต้รัฐธรรมนูญเท่านั้น
       เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบถึงวิวัฒนาการของการเขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรในระบบรัฐสภา – parliamentary system ของยุโรป (ประเทศฝรั่งเศส)อย่างสั้น ๆ ผู้เขียนจะขอเขียนตัดตอนมากล่าว เฉพาะในช่วง ระยะเวลา ๑๐ ปีแรกนับแต่การปฏิวัติฝรั่งเศส คือ ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๗๘๙ ถึง ค.ศ.๑๗๙๙ เท่านั้น
       
       ระยะเวลาดังกล่าว เป็นช่วงระยะเวลาของ วิวัฒนาการทางการเมือง - political evolution ของฝรั่งเศสและของยุโรป (หรืออาจกล่าวว่า เป็นยุควิวัฒนาการทางการเมืองของโลก ก็ได้) และเป็นช่วงเวลาที่ “รูปแบบ”ของการปกครอง - form of government ในรัฐธรรมนูญ (ลายลักษณ์อักษร) ยังไม่มีความแน่นอน - constitutional instability ; รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส ในระยะเริ่มต้นของ Constitutionalism นี้ ได้เป็นประสบการณ์ของการเขียนรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปเป็นเวลานานกว่า ๕๐ ปี ; ประเทศอิตาลี เพิ่งรวบรวมเป็นประเทศ – the Kingdom of Italy ( โดยยังไม่มีกรุงโรม) และมีรัฐธรรมนูญ(ระบบรัฐสภา)ฉบับแรก เมื่อ ค.ศ. ๑๘๖๑ โดยกษัตริย์ Victor Emmanuel II (king of Sardinia) และมี Cavour (Camillo Benso) เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่ประเทศฝรั่งเศสมีรัฐธรรมนูญ(ลายลักษณ์อักษร)ฉบับแรก เป็นเวลาถึง ๗๐ ปี ; และประเทศเยอรมันนี เพิ่งรวบรวม เป็นอาณาจักรเยอรมัน - Second Reich โดยประเทศปรัสเซีย ในสมัยของกษัตริย์ Wilhelm I โดยมี Bismarck (Prince Otto Eduard Leopole von) เป็นนายกรัฐมนตรี และมีรัฐธรรมนูญฉบับแรก เมื่อ ค.ศ. ๑๘๗๑ ; ซึ่งเป็นเวลาหลังจากประเทศฝรั่งเศสมีรัฐธรรมนูญแล้ว ประมาณ ๘๐ ปี
       แต่อย่างไรก็ตาม ควรเป็นที่ทราบด้วยว่า ในกลางศตวรรษที่ ๑๙ ( ก่อนที่ประเทศทั้งสอง อิตาลีและเยอรมันนี จะรวบรวมแคว้นหรือรัฐเล็ก ๆ ต่างเข้ามาเป็นประเทศ) ลัทธิการเขียนรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร – constitutionalism ได้เริ่มแพร่หลายอยู่แล้วในแคว้นหรือรัฐเล็ก ๆในยุโรป โดย king หรือ prince ของแคว้นหรือรัฐเล็ก ๆ เหล่านี้บางแห่ง ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ(ลายลักษณ์อักษร ให้แก่พลเมืองของตนอยู่ ประปราย รวมทั้ง king of (เกาะ) Sardinia คือ กษัตริย์ Victor Emmanuel II ซึ่งเป็นผู้รวบรวมแคว้นต่าง ๆ และ ก่อตั้งประเทศอิตาลีด้วย
       การเขียนรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสในระยะนั้น( ค.ศ. ๑๗๘๙ – ค.ศ. ๑๗๙๙ ) ดูจะเป็นการทดลอง “(วิชา) ความคิด”ในการออกแบบรัฐธรรมนูญ(ลายลักษณ์อักษร)ของ “ชนชั้นนำ”ของประเทศฝรั่งเศส (ในสมัยนั้น )ที่ยังหา “แนวทาง”ที่แน่นอนไม่ได้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญในระยะนี้ จึงมี โครงสร้าง(ระบบสถาบันการเมือง)แปลก ๆ ที่ไม่(ค่อย) มีในรัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆ ในปัจจุบัน ; ซึ่งก็ดูจะคล้าย ๆ กับ การทดลอง(วิชา) ในการเขียนรัฐธรรมนูญ“ เพื่อความเป็นประชาธิปไตย” โดย “ชนชั้นนำ”ของไทย(ในสมัยนี้) ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ (ค.ศ.๒๐๐๗) ที่ยังไม่มี “แนวทาง”ที่แน่นอนเช่นเดียวกัน ; จะมีความแตกต่าง(ระหว่างชนชั้นนำของฝรั่งเศสกับชนชั้นนำของไทย ก็เพียงว่า มีเวลาห่างกันอยู่ประมาณ ๒๐๐ ปีเศษ (เท่านั้น)
       
       ประสบการณ์ในประวัติศาสตร์ ของประเทศฝรั่งเศส ที่เรา (คนไทย) ควรเรียนรู้ : ประเทศฝรั่งเศสเริ่มต้น ด้วยการมีปฏิวัติครั้งใหญ่ ใน ปี ค.ศ. ๑๗๘๙ / ที่ตามมาด้วยการล้มล้างระบบกษัตริย์ (พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖) / เลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช / จัดตั้งระบบสาธารณรัฐ (republique)โดยไม่มีกษัตริย์ขึ้นเป็นครั้งแรก / และลงท้ายด้วย การกลับคืนสู่ทึ่เดิม คือ การกลับคืนสู่ระบบกษัตริย์ โดยมีนโปเลียนเป็นจักรพรรดิ (ภายไต้รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร )
       ในช่วงเวลา ๑๐ ปีดังกล่าวนี้ ประเทศฝรั่งเศสมีรัฐธรรมนูญ ถึง ๔ ฉบับ คือ รัฐธรรมนูญ ค.ศ.๑๗๙๑ ; รัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๗๙๓ ; รัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๗๙๕ ; และ รัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๗๙๙ ซึ่งรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับจะมีรูปแบบของ“ระบบสถาบันการเมือง – form of government” ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
       หลังจากช่วงเวลาดังกล่าว ก็ตามมาด้วย รัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๘๐๔ ซึ่งกำหนดให้นโปเลียน(ที่ ๑) เป็นจักรพรรดิ และอีก ๑๐ ปีต่อมา ก็มี รัฐธรรมนูญ ปี ค.ศ.๑๘๑๔ ที่เรียกชื่อว่า – La Charte Constitutionnelle ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญหลังจากที่นโปเลียนหมดอำนาจแล้ว และหลังจากนั้น ก็ยังรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ ตามมาอีกหลายฉบับ ฯลฯ [หมายเหตุ : การที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส เรียกชื่อรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๘๑๔ นี้ว่า La Charte constitutionnelle – constitutional Charter โดยไม่ยอมเรียกว่า “Constitution”นั้น ตามรายงานประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า เพราะผู้ร่างรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสในขณะนั้น ไม่อยากใช้คำว่า Constitution ซึ่งเป็นคำที่ผู้ที่ก่อการปฏิวัติฝรั่งเศส ใน ค.ศ. ๑๗๘๙ ได้ใช้คำนี้มาก่อน ]
       
       เหตการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง ๑๐ ปีหลังการปฎิวัติในประเทศฝรั่งเศส เป็นเหตุการณ์สำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปอย่างรวดเร็ว ทั้งทางตรง (เนื่องจากการขยายอำนาจและการยึดครองประเทศต่าง ๆ ใน ยุโรป ของฝรั่งเศสในสมัย “นโปเลียน” ในระหว่าง ค.ศ. ๑๘๐๔ – ๑๘๑๔ ) และทางอ้อม(โดยการลอกเลียนแบบในเวลาต่อมา) ซึ่งรวมทั้งการเขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปภาย หลังจากที่ประเทศเหล่านั้นได้ถูกปลดปล่อยจากการยึดครองของประเทศฝรั่งเศสหลังยุคของนโปเลียนด้วย ; แต่ในที่นี้ ผู้เขียนคงจะพูดเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับ “ความคิด”ในการออกแบบ(เขียน)รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรเท่านั้น
       กล่าวโดยทั่ว ๆ ไป รัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๙๑ (หลังการปฏิวัติ ปี ค.ศ. ๑๗๘๙) ยังคงเป็นระบบรัฐสภา โดยมีกษัตริย์อยู่ภายไต้รัฐธรรมนูญ – constitutional monarchy ; แต่ความรุนแรงเกิดขึ้นเนื่องจากได้มีการปฏิวัติซ้อนและยกเลิกรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๗๙๑ ในราวกลางปี ค.ศ. ๑๗๙๒ โดยได้มีฝ่ายที่มีความคิดรุนแรง – radical เกิดขึ้นและต้องการล้มล้างระบบกษัตริย์ ฝ่ายที่มีความคิดรุนแรงได้กล่าวอ้างว่า พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ได้ทรยศต่อประเทศ เพราะได้ทำให้ประเทศหลายประเทศในยุโรป มารุมล้อมทำสงครามกับประเทศฝรั่งเศส ประกอบกับในขณะนั้น กองทัพฝรั่งเศสได้ประสบความพ่ายแพ้ซึ่งทำให้ชาวฝรั่งเศสรู้สึกกลัวและหวั่นไหว ; พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ได้ถูกประหารในต้นปี ค.ศ. ๑๗๙๓ (เดือน มกราคม)
       
การปฏิวัติของประเทศฝรั่งเศส ถือว่าเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๘๙ โดยมีฝูงชนได้บุกเข้ายึดคุกบาสติลย์ (Bastille) ในกรุงปารีส และ วันนั้น เรียกกันว่า Bastille Day [ หมายเหตุ ซึ่งอาจจะเป็นเหตุบังเอิญก็ได้ ที่ “พรรคไทยรักไทย”(ที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ยุบเลิกไป แล้ว) ได้จดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองในวันที่เดียวกัน คือวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ( พ.ศ. ๒๕๔๓) ซึ่งผู้เขียนก็ไม่ทราบว่า ผู้ใดบ้าง เป็นผู้เริ่มก่อตั้งพรรคไทยรักไทย และ เพราะเหตุใด ผู้เริ่มก่อตั้งพรรคไทยรักไทย จึงได้เลือกวันนั้นเป็นวันก่อตั้งพรรคไทยรักไทย (?) ]
       
       ความหลากหลายใน “รูปแบบ”ของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับต่าง ๆ ในช่วง ๑๐ ปี (ค.ศ. ๑๗๘๙ – ค.ศ. ๑๗๙๙) : ก่อนอื่น เราลองมาพิจารณาและรับทราบ “ความหลากหลาย”ในรูปแบบของระบบรัฐสภา – parliamentary system ในรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส (แม้ว่าจะทำให้บทความนี้ ยาวออกไปพอสมควร) และ เพราะความหลากหลายนี้ จะทำให้เรามองเห็นและเรียนรู้ ถึง ความสับสนทางความคิดของชนชั้นนำ - elite ของฝรั่งเศสในช่วงระยะแรก ของ constitutionalism ในยุโรป
       
รัฐธรรมนูญ ทั้ง ๔ ฉบับของประเทศฝรั่งเศสในช่วง ๑๐ ปี (ค.ศ. ๑๗๘๙ – ค.ศ. ๑๗๙๙) มีความหลากหลายในการจัดรูปแบบของ “ระบบสถาบันการเมือง - form of government” ทั้งในด้านองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติและในด้านองค์กรฝ่ายบริหาร โดย ผู้เขียนจะขอนำ “หลักการ”ของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับมากล่าวเพียงสั้น ๆ เพื่อที่ท่านผู้อ่านจะได้พิจารณาและมองเห็น “ความสับสนทางความคิด”ในการออกแบบรัฐธรรมนูญ ก่อนที่ “หลักการ”ของระบบรัฐสภา – parliamentary system จะลงตัวในยุค ศตวรรษที่ ๒๐ และ ก่อนที่ “วิชากฎหมายมหาชน(ระบบบริหารพื้นฐานของรัฐสมัยใหม่)” จะได้พัฒนาขึ้นในเวลาต่อมา
       อันที่จริง ในรัฐธรรมนูญทั้ง ๔ ฉบับนี้ สามารถแยกออกได้เป็น ๒ ช่วง คือ ช่วงแรก ได้แก่ รัฐธรรมนูญ ๓ ฉบับแรก (ค.ศ. ๑๗๙๑ , ค.ศ. ๑๗๙๓ , และ ค.ศ. ๑๗๙๕) ซึ่งเป็นระยะเวลาของการ(พยายาม)แสวงหารูปแบบ form of government ในระบบรัฐสภา ของบรรดา elite ของฝรั่งเศส (บนพื้นฐานจาก “ความคิด”ของนักปราชญ์ ว่าด้วย อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ในยุคนั้น ) และช่วงที่สอง ได้แก่ รัฐธรรมนูญ ฉบับ ปี ค.ศ. ๑๗๙๙ ซึ่งมีลักษณะเป็นพิเศษโดยเฉพาะ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
       
       (๑) รัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๗๙๑ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก หลังการปฏิวัติของฝรั่งเศส ยกร่างโดย “สภาแห่งชาติ – National Assembly ” ซึ่งใช้เวลายกร่างอยู่ประมาณสองปี นับตั้งแต่มีการปฏิวัติ และยกร่างขึ้นหลังจากที่ได้มีการประกาศ “ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของมนุษย์และของพลเมือง - the Declaration of the rights of man and of the citizen” ใน ปี ค.ศ. ๑๗๘๙
       [หมายเหตุ “สภาแห่งชาติ – National Assembly” ของฝรั่งเศส เกิดมาจากการประกาศยกสถานภาพตัวเอง จากการเป็น “สภาที่ปรึกษา Estates – General / Etats generaux” ซึ่งเป็นสถาบันดั้งเดิมของกษัตริย์ ขึ้นมาเป็นสภาแห่งชาติ ตั้งแต่กลางปี ค.ศ. ๑๗๘๙ ในระยะเวลาก่อนเริ่มต้นของการปฏิวัติ คือ ในขณะที่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ เรียกประชุม “สภาที่ปรึกษา(ของกษัตริย์)”นี้ เพื่อให้มาพิจารณาและให้ความเห็นชอบในการเรียกเก็บภาษี ฯลฯ เพื่อแก้ปัญหาการเมืองและปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในระยะนั้น ; กษัตริย์ของฝรั่งเศสไม่เคยเรียกประชุม “สภาที่ปรึกษา”นี้ มาเป็นเวลานานาถึง ๑๗๕ ปี (นับจาก ปี ค.ศ. ๑๖๑๔) ; แต่เดิม สภาที่ปรึกษาของกษัตริย์ แยกสมาชิกออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ พระ – clergy / ขุนนาง – nobility / และ สามัญชน – commoners หรือ Tiers Etat ; และแต่เดิม ในการประชุมของสภาที่ปรึกษา สมาชิกแต่ละกลุ่มจะแยกกันประชุมและแยกกันลงมติ แต่เมื่อได้เปลี่ยนสถานภาพของตนเองมาเป็น “สภาแห่งชาติ – National Assembly”แล้ว สมาชิกทั้ง ๓ กลุ่มนี้ตกลงประชุมร่วมกันเป็นสภาเดียว และในการลงมติ จะนับคะแนนเสียงของสมาชิกคนละหนึ่งเสียงเท่าเทียมกัน ; การเปลี่ยนสถานภาพจากการเป็นสภาที่ปรึกษา มาเป็น “สภาแห่งชาติ”นี้ เป็นอันลบล้างแนวความคิดของการมี “สภาสูง”เป็นสภาขุนนางในรูปแบบของประเทศอังกฤษไปในตัว ; แนวความคิดในการมี “สภาสูง”แบบอังกฤษได้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง ในรํฐธรรมนูญของฝรั่งเศส ปี ค.ศ. ๑๘๑๔ และ ปี ค.ศ. ๑๘๓๐ ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่นโปเลียนหมดอำนาจ]
       รัฐธรรมนูญฉบับนี้ (ค.ศ. ๑๗๙๑) ถือได้ว่า เป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของโลก ที่กำหนดหลักการของ “ระบบสถาบันการเมือง” ในระบบรัฐสภา – parliamentary system ; รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้กำหนดให้ “อำนาจอธิปไตย”เป็นของชาติ (Nation) แบ่งแยกไม่ได้ และกำหนดให้ใช้อำนาจ โดยทาง “ผู้แทน – representants”; และผู้แทน มี ๒ สถาบัน คือ ได้แก่ องค์กรนิติบัญญัติ (le Corps legislatif) และ พระมหากษัตริย์ ( le roi)
       
       อำนาจนิติบัญญัติ มอบให้ “สภาแห่งชาติ – National Assemblee”เป็นผู้ใช้ โดยมีสภาเดียว ที่ประกอบด้วยผู้แทนราษฎรที่สลับเปลี่ยนกันเข้ามา (representants temporaires) โดยมีการเลือกตั้งอย่างอิสระโดยประชาชน มีกำหนดวาระคราวละ ๒ ปี และให้ใช้ร่วมกับ พระมหากษัตริย์ ที่มีพระราชอำนาจ (ยับยั้งหรือเห็นชอบ) avec la sanction du roi ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
       การเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติทำเป็น ๒ ชั้น คือ ประชาชน(ที่มีสิทธิตามกฎหมาย) มาประชุมกัน เป็น สภาระดับตำบล Assemblees primaires เพื่อเลือก “ผู้เลือกตั้ง electeurs” และ ผู้เลือกตั้งในจังหวัดต่าง ๆ จะ มาประชุมกัน เป็น สภาผู้เลือกตั้ง Assemblees electorales ในแต่ละจังหวัด เพื่อเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติ Assemblee legislative อีกชั้นหนึ่ง ทั้งนี้ โดยจะต้องเลือกจนกว่าจะมีผู้ได้รับเลือกด้วยเสียงข้างมากเกินกว่ากึ่งหนื่ง - pluralite absolue des suffrages
       อำนาจบริหาร มอบให้พระมหากษัตริย์ เป็นผู้ใช้ โดยมีรัฐมนตรี และหัวหน้าส่วนราชการกระทำการภายไต้พระราชอำนาจ ในฐานะที่เป็นรัฐบาล (le Governement)
       การเสนอกฎหมาย กษัตริย์ไม่มีอำนาจเสนอกฎหมายเอง (มีแต่ อำนาจขอ – invite ให้สภาพิจารณา) แต่กษัตริย์มีอำนาจยับยั้งกฎหมาย และในกรณีที่ทรงยับยั้ง ร่างกฎหมายฉบับนั้น จะนำมาใช้บังคับ(โดยถือเสมือนว่ากษัตริย์ได้ทรงให้ความเห็นชอบได้) ก็ต่อเมื่อร่างกฎหมายที่มีข้อความเหมือนกัน ได้ถูกยืนยันโดยสภาฯอีก ๒ ชุดติดต่อกัน หลังจากการเสนอกฎหมายครั้งแรก (Section III, article 2 ของ Chapitre III ) ; ร่างกฎหมายของสภา เรียกว่า decret และเมื่อกษัตริย์ให้ความเห็นชอบแล้ว จึงจะเป็น “กฎหมาย – loi”
       ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจบริหารกับอำนาจตุลาการ : กษัตริย์ไม่มีอำนาจยุบสภา (ซึ่งเป็นองค์กรนิติบัญญติ - Corps legislative) แต่รัฐมนตรีมีสิทธิเข้าร่วมประชุมในการประชุมของสภาแห่งชาติ แต่ต้องแยกที่นั่งไว้โดยเฉพาะ และรัฐมนตรีต้องฟังและตอบคำถามของสมาชิกสภา แต่ รัฐสภาไม่มีอำนาจให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่ง เพราะเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ ; และรัฐมนตรีเป็น ส.ส.ในขณะเดียวกันไม่ได้
       [อำนาจตุลาการ
โดยหลักการจะเป็นอิสระจากองค์กรนิติบัญญัติและพระมหากษัตริย์ และในทางกลับกัน ผู้พิพากษาจะใช้อำนาจนิติยบัญญัติของสภาแห่งชาติไม่ได้และจะยับยั้งการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายบริหารไม่ได้; การพิพากษากระทำโดยผู้พิพากษาที่มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ซึ่งจะต้องแต่งตั้งตามที่ได้เสนอขึ้นมา ; การรับฟ้องในคดีอาญาต้องทำโคยคณะลูกขุน(ที่มีหน้าที่รับฟ้อง)หรือตามที่กฎหมายกำหนด และการพิจารณาข้อเท็จจริงต้องกระทำโดยคณะลูกขุน(ที่มีหน้าที่ชี้ขาดข้อเท็จจริง) และการใช้กฎหมาย (application)ให้กระทำโดยผู้พิพากษา ; ศาลฎีกามีศาลเดียวมีเขตอำนาจทั่วประเทศ ; ให้มีศาลฎีกาสำหรับนักการเมือง – Haute Court nationale ฯลฯ ]
       
       รัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๗๙๑ เป็นรัฐธรรมนูญที่ค่อนข้างยาวฉบับหนึ่ง โดยมีบทบัญญัติตั้งแต่ การจัด ระบบการเลือกตั้งสมาชิกองค์กรนิติบัญญัติ / สถานภาพของกษัตริย์ – ราชวงศ์ / การประกาศใช้บังคับกฎหมาย / การปกครองท้องถิ่น – administration interieure / ฯลฯ
       รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีลักษณะสำคัญ ที่ควรจะกล่าวถึง ๒-๓ ประการ คือ (๑) ประการแรก ตามรัฐธรรมนูญ ๑๗๙๑ นี้ กษัตริย์ของฝรั่งเศสเป็นผู้แทนประชาชนที่ใช้ “อำนาจอธิปไตยที่เป็นของชาติ” โดยไม่ต้องมีการเลือกตั้ง และกษัตริย์เป็นทั้งประมุขของรัฐและเป็นประมุขของฝ่ายบริหาร (le Gouvernement est monarchique) โดยมีอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้ตามพระราชอัธยาศัย ; (๒) ประการที่สอง วาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิก “สภาแห่งชาติ”กำหนดไว้ ค่อนข้างสั้น (๒ ปี) และห้ามดำรงตำแหน่ง ๒ ครั้งต่อเนื่องกัน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้เกิดนักการเมืองโดยอาชีพ (politiciens de professtion) และป้องกันการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตัว – despotismของนักการเมือง ; และ (๓) ประการที่สาม สิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้(ค.ศ. ๑๗๙๑) แยกเป็น ๒ ระดับ คือ ระดับแรกได้แก่ สิทธิของประชาชนทั่วไป ที่รัฐธรรมนูญยึดหลักความเสมอภาค ส่วนระดับที่สอง เป็นประชาชนที่มีสิทธิทางการเมือง เรียกว่า เป็น citoyens actifs (active citizen) ซึ่ง จะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด เช่น การมีรายได้ขั้นต่ำ หรือมีทรัพย์สิน ฯลฯ [หมายเหตุ แม้ว่า ประเทศฝรั่งเศส จะมี “ the Declaration of the rights of man and of the citizen” ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๗๘๙ แต่ฝรั่งเศสให้สิทธิเลือกตั้งแต่เฉพาะ “ผู้ชาย” โดย ผู้หญิงไม่มีสิทธิเลือกตั้ง และเท่าที่จำได้ ดูเหมือนว่า ผู้หญิงฝรั่งเศสต้องรอมาจนถึง ปี ค.ศ. ๑๙๔๔ จึงมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชาย]
       . จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๗๙๑ ได้ถือ “หลักการแบ่งแยกอำนาจ”และได้รับอิทธิพลจากรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา (ค.ศ. ๑๗๘๗) มากพอสมควร เช่น การไม่ให้ฝ่ายบริหาร(กษัตริย์)มีสิทธิเสนอร่างกฎหมาย / การไม่ให้ฝ่ายบริหาร(กษัตริย์)มีสิทธิยุบสภา / การห้ามไม่ให้รัฐมนตรีเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติในขณะเดียวกัน เป็นต้น
       
       รัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ต้องมีอันยกเลิกไปหลังจากที่ใช้บังคับมาประมาณ ๑ ปี เพราะรัฐธรรมนูญ ปี ค.ศ.๑๗๙๑ เป็นรัฐธรรมนูญที่ เขียนขึ้นโดยมิได้คาดหมายว่าจะมี “สงคราม”ที่ต้องการการตัดสินใจที่รวดเร็ว และตามข้อเท็จจริง ปรากฏว่า พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ได้ใช้อำนาจยับยั้งร่างกฎหมายที่มีความมุ่งหมายเพื่อป้องกันประเทศถึง ๓ ฉบับ ซึ่งกล่าวว่าทำให้ประเทศผรั่งเศสต้องประสบความพ่ายแพ้ต่อเยอรมัน(ปรัสเซีย)และถูกยึดดินแดนไปบางส่วน ; ประชาชน เห็นว่าเป็นความผิดของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ที่ก่อให้เกิดสงคราม ประกอบกับ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ได้เคยพยายามหลบหนีออกนอกประเทศเพื่อจะข้ามไปออสเตรียใน ปี ค.ส. ๑๗๙๑ ดังนั้น จึงได้มีการจลาจลและเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นอีกในปี ค.ศ. ๑๗๙๒ สภาแห่งชาติของฝรั่งเศสจึงประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๗๙๑ และล้มระบบกษัตริย์ และจัดให้มีการตั้งสภาขึ้นใหม่ โดยเรียกชื่อว่า “สภา Convention” ตามแบบสภาร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ที่ Philadelphia
       
       (๒) รัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๗๙๓ เป็นรัฐธรรมนูญ(ลายลักษณ์อักษร) ฉบับที่สองของประเทศฝรั่งเศส และรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศฝรั่งเศสที่เป็นสาธารณรัฐ (ที่ไม่มีกษัตริย์) ยกร่างขึ้นโดย“สภา Convention แห่งชาติ - National Convention”
       เป็นที่สังเกตว่า แม้ว่าจะล้มเลิกระบบกษัตริย์ แต่ชนชั้นนำ(elite)ของฝรั่งเศส ก็มิได้นำเอาแนวความคิด ของสหรัฐอเมริกามาใช้ คือ มิได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี – ผู้นำฝ่ายบริหาร ; รัฐธรรมนูญฉบับนี้ของฝรั่งเศส ได้เปลี่ยนมาใช้แนวความคิดของรุสโซ (Rousseau) เจ้าของทฤษฎี “สัญญาประชาคม – social contract” คือ “ประชาชน”เป็นเจ้าของอำนาจ และประชาชนควรเป็นผู้ใช้อำนาจ ซึ่งเป็นแนวความคิดที่แตกต่างจาก “หลักการแบ่งแยกอำนาจ – the separation of powers” ของ Montesquieu
       รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบโดยมีความมุ่งหมายให้ประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจให้มากที่สุด และเป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับแรกของฝรั่งเศส (และของโลก) ที่มีการรับรองโดยการออกเสียงประชามติ(โดยอ้อม ๒ ชั้น)ในปี ค.ศ.๑๗๙๓ โดยรัฐธรรมนูญได้รับคะแนนเสียง เห็นชอบจำนวนหนึ่งล้านแปดแสนคนและไม่เห็นด้วยหนึ่งหมื่นหนึ่งพันคน จากบรรดา ตัวแทนประชาชน electeurs ทั่วประเทศจำนวน ๖ ล้านคน (งดออกเสียงกว่าสี่ล้านคน) ; การออกเสียงประชามติ ใช้วิธีประชุมกันในแต่ละเมืองอย่างเปิดเผย – scrutin public et oral ภายในช่วงเวลาที่กำหนด (หมายเหตุ : ประเทศไทยเรามีการออกเสียงประชามติในรัฐธรรมนูญตรั้งแรก คือ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ - ค.ศ.๒๐๐๗)
       
       อำนาจนิติบัญญัติ : รัฐธรรมนูญฉบับนี้มี องค์กรนิติบัญญัติ (le Corps legislatif) เพียงสภาเดียว ประกอบด้วยสมาชิก ที่มาจากการเลือกตั้ง ชั้นเดียว โดยสภาระดับตำบล Assemblees primaries ((ซึ่งแตกต่างกับ รัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๗๙๑ ซึ่งเลือกตั้ง สองชั้น) ด้วยเสียงข้างมากเด็ดขาด (โดยการเลือกสองครั้ง) ; ใน สภาระดับตำบล Assemblees primaires ประชาชนทุกคนมีสิทธิเข้าประชุม (ยกเลิกการกำหนดคุณสมบัติ ของ ประชาชนผู้มีสิทธิทางการเมือง - active citizen ตามรํฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๗๙๑) ; สภาระดับตำบลกำหนดให้มีจำนวนผู้เข้าประชุมสภาละประมาณสี่หมื่นคน เพื่อเลือกสมาชิกขององค์กรนิติบัญญัติหนึ่งคน ; สมาชิกขององค์การนิติบัญญัติ มีวาระการดำรงตำแหน่งเพียงหนึ่งปี โดยมีความมุ่งหมายจะให้ประชาชนใกล้ชิดกับสมาชิกที่ตนเลือกตั้ง และไม่ให้สมาชิก(ที่ได้รับเลือกตั้ง)ใช้อำนาจของตนเองโดยอิสระ นานเกินไป
       อำนาจบริหาร เป็นองค์กรที่อยู่ไต้องค์กรนิติบัญญัติ เรียกว่า“คณะผู้บริหาร - Conseil executif”มีกรรมการจำนวน ๒๔ คน ที่องค์กรนิติบัญญัติเลือกจากบุคคล ที่สภาผู้เลือกตั้ง (สภาสรรหา) - Assemblees electorales ของแต่ละจังหวัด( ๘๕ จังหวัด)เสนอชื่อบุคคล (จำนวน ๘๕คน)ที่สมควรจะเป็น Conseil executif มาให้องค์กรนิติบัญญัติเพื่อเลือกให้เหลือ ๒๔ คน ซึ่งดูคล้าย ๆ กับ รัฐธรรมนูญ ของไทย ใน พ.ศ. ๒๕๔๙ ที่เพิ่งผ่านมา ; คณะผู้บริหาร Conseil executive จะสลับกันออกครึ่งหนึ่ง ( ๑๒คน) ทุกปี ตามวาระขององค์กรนิติบัญญัติ(หนึ่งปี) (หมายเหตุ สภาผู้เลือกตั้ง Assemblees electorales ของแต่ละจังหวัด ประกอบด้วย สมาชิกที่เรียกว่า electeur เลือกมาจากสภาระดับตำบล – Assemblees primaries ในจังหวัดนั้น ๆ โดยสภาประจำตำบลหนี่งจะมี electeurs คนหนึ่งถึงสามคน ตามแต่ขนาดของสภาประจำตำบล )
       การเสนอกฎหมาย องค์กรนิติบัญญัติเป็นองค์เดียวที่มีอำนาจออก “กฎหมาย – loi” และ “กฎ – decret” ; ร่างกฎหมาย (loi)ทุกฉบับ จะต้องนำไปให้สภาระดับตำบล (Assemblees primaires)ให้ความเห็นชอบก่อน โดยจะต้องจัดส่งร่างกฎหมายไปยังทุกตำบล และถ้าไม่มีการคัดค้านโดยสภาระดับตำบล( ด้วยเสียง ๑ ใน ๑๐)ของแต่ละจังหวัด โดยมีจำนวนจังหวัดเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนจังหวัดทั้งหมด ( ประมาณ ๘๐ กว่าจังหวัด) ร่างกฎหมายดังกล่าวจีงจะมีผลใช้บังคับเป็น “กฎหมาย”ได้ ; แต่ถ้ามีการคัดค้าน องค์กรนิติบัญญัติจะต้องเรียกประชุมสภาระดับตำบลทั่วประเทศ เพื่อให้พิจารณาว่า จะรับหรือไม่รับร่างกฎหมาย ; และนอกจากนั้น สภาตำบลตามจำนวนและคะแนนเสียงดังกล่าว มีสิทธิขอให้แก้รัฐธรรมนูญทั้งหมดหรือบางส่วน ด้วยการตั้ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ Convention nationale” ด้วยความเห็นชอบของสภาระดับตำบลทั่วประเทศ
       
       ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญํติ คณะผู้บริหาร Conseil executif มีหน้าที่บริหารตามกฎหมายและตามกฎที่ออกโดยองค์กรนิติบัญญํติ (สภาผู้แทนราษฎร) และเป็นผู้แต่งตั้งหัวหน้าหน่วยงานต่าง ๆ ตามจำนวนและอำนาจหน้าที่ตามที่ องค์กรนิติบัญญัติ (สภาผู้แทนราษฎร)กำหนด; คณะผู้บริหารมีสิทธิเข้าประชุมกับองค์กรนิติบัญญัติ(โดยมีที่นั่งแยกไว้โดยเฉพาะ) ; และต้องเข้าประชุมองค์กรนิติบัญญัติ เมื่อถูกเรียก โดยองค์กนิติบัญญัติจะเรียกทั้งคณะ หรือบางส่วนก็ได้
       [ อำนาจตุลาการ รัฐธรรมนูญกำหนดหลักการไว้ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายอาญาจะใช้บังคับเหมือนกันทั้งประเทศ ; รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดูจะเขียนเรื่องอำนาจตุลาการไว้อย่างสั้น “ โดยแยกเป็น คดีแพ่ง - de la Justice civile (ระบบการเลือกอนุญาโตตุลาการโดยอิสระ – arbitres prives / ระบบอนุญาโตตุลาการของรัฐ - arbitres public / ผู้พิพากษาท้องถิ่น – juges de paix ประจำอำเภอ ที่มาจากการเลือกตั้ง ; คดีอาญา – de la Justice criminelle (คณะลูกขุนรับฟ้อง / คณะลูกขุนชี้ขาดข้อเท็จจริง / การกำหนดโทษโดยศาลอาญา ) ; ศาลฎีกามีศาลเดียวมีเขตอำนาจทั่วประเทศ และเป็นศาลที่พิจารณาแต่เฉพาะข้อกฎหมาย เว้นแต่กรณีที่มีบัญญัติชัดแจ้งโดยกฎหมาย ]
       
       กล่าวโดยสรุป ก็คือ การบริหารประเทศ ( form of government) ตามรัฐูธรรมนูญ ค.ศ. ๑๗๙๓ นี้ ไม่มีการแบ่งแยกอำนาจ และองค์กรนิติบัญญัติ (สภาผู้แทนราษฎร)จะเป็นองค์กรสูงสุด ( toute-puissante)ในการบริหารประเทศ ซึ่งเป็นไปตามระบบที่เรียกกันว่า assembly regime
       แต่อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ใช้บังคับ เพราะการใช้บังคับได้ถูกเลื่อนออกไป เนื่องจากสภา Convention เห็นว่า รัฐธรรมนูญ ๑๗๙๓ อ่อนแอเกินไปสำหรับใช้บังคับในเวลาสงคราม จึงเลื่อนการใช้บังคับออกไปจนกว่าสงครามจะสงบ และนอกจากนั้น ตั้งแต่กลางปี ค.ศ. ๑๗๙๓ หลังจากการประหารชีวิตพระเจ้าหลุยส์ ที่ ๑๖ในต้น ปี ค.ศ. ๑๗๙๓ แล้ว ก็เกิดการแก่งแย่งอำนาจกันเองในระหว่างกลุ่มนักการเมืองในสภา Convention ด้วยกัน และเกิดยุคที่เรียกกันว่า ยุคมิคสัญญี - the reign of Terror ที่นักการเมืองจำนวนมากถูกจับและถูกประหารชีวิต ; ประเทศฝรั่งเศสในระยะนั้น บริหารประเทศโดยรัฐบาลชั่วคราว; และในที่สุด ก็ได้เกิดการปฏิวัติขึ้นอีกในต้นปี ค.ศ. ๑๗๙๕ โดยฝ่ายที่เป็นสายกลาง และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น
       
       หลังจากที่ ชนชั้นนำ –elites ของฝรั่งเศส ใน ยุค ค.ศ. ๑๗๘๙ ได้ ทดลองวิชา (ความรู้)ในการออกแบบ (design) รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ( form of government) มาแล้ว ๒ ฉบับ โดยฉบับแรก ถือตาม แนวความคิด ว่าด้วย “หลักการแบ่งแยกอำนาจ - the separation of powers” ของ Montesquieu (๑๖๘๙ – ๑๗๕๕) และ ฉบับที่สอง ถือตาม แนวความคิด ว่าด้วย “สัญญาประชาคม – the social contract” ของ Rousseau (๑๗๑๒ – ๑๗๘๘) ; แต่ยังไม่ได้ผลเป็นที่พอใจ คราวนี้ เราลองมาดูว่า ชนชั้นนำ – elites ของฝรั่งเศส จะ“คิด”ออกแบบรัฐธรรมนูญ อะไร มาให้เราได้ศึกษากันอีก
       

       
       อ่านต่อ
       หน้า 16
       หน้า 17
       หน้า 18
        หน้า 19
       หน้า 20
       หน้า 21
       หน้า 22
       หน้า 23
        หน้า24
       หน้า 25
        หน้า26
       หน้า 27
        หน้า28
       หน้า 29


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544