หน้าแรก บทความสาระ
สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒ (หน้า๑๓)
ศ. ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
3 กันยายน 2550 07:14 น.
 
ส่วนที่หนึ่ง ความทั่วไป
       (๑.๑) “วิกฤติการณ์ทางการเมือง” ที่ทำให้ต้องมีการแก้ใขรัฐธรรมนูญ (การปฎิรูปการเมือง)
       แม้ว่า ทุกคนจะทราบดีว่า “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(ในระบบรัฐสภา)” ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้ก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างมากมายก็ตาม แต่ผู้เขียนเห็นว่า ในการทำ “เอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ” ก็จำเป็นต้องกล่าว ยืนยันถึง “ข้อเท็จจริง - facts”ที่เป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น(จริง)ในช่วง เวลาที่ผ่านมาว่า มีอย่างไร ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้ทราบว่า เพราะเหตุใด จึงมี “ความจำเป็น”ที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเดิม พ.ศ. ๒๕๔๐ที่ถูกยกเลิกไป (ไม่ว่าจะยกเลิกด้วยการรัฐประหาร หรือด้วยวิธีการอื่นใด)
       ผู้เขียนอาจจะโชคดีที่ผู้เขียนไม่ต้องไปเก็บรวบรวมข้อเท็จจริงเหล่านี้ด้วยตนเอง ซึ่งถ้าผู้เขียนต้องทำเช่นนั้น นอกจากจะต้องเหนื่อยเองแล้ว ก็ยังอาจมีข้อโต้แย้งได้ว่าข้อเท็จจริงที่ผู้เขียนไปรวบรวมมา เป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้องหรือไม่ ; แต่เมื่อได้มีการรัฐประหารเกิดขึ้น และทำให้มีการสอบสวนกรณีที่มีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลชุดก่อนและถูกหมกไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้ผู้เขียนสามารถนำมาอ้างอิงได้ ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอถือโอกาสนี้ นำเอาข้อเท็จจริงที่แน่นอน และทางราชการพิสูจน์แล้ว มาบันทึกไว้ในบทความนี้ ซึ่งได้แก่ (ก)หตุการณ์ที่ปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ(ทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ)ที่ ๓ -๕/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ (กรณี ระหว่าง อัยการสูงสุด vs พรรคไทยรักไทย เรื่อง การยุบพรรคไทยรักไทย) และ (ข) เหตุการณ์ที่ปรากฏอยู่ในสมุดปก เหลืองของ “คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ” (ค.ต.ส.)
       
       (ก) คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่ ๓ – ๕/ ๒๕๕๐ ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐ :- ข้อเท็จจริงที่สำคัญและชัดเจนที่สุด น่าจะอยู่ใน คำวินิจฉัย หน้า ๙๖ -๙๘ คือ การวินิจฉัยว่า (อดีต)นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทยซึ่งเป็นพรรคที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น ๓๗๗ คน(ในจำนวน ส.ส. ทั้งหมด ๕๐๐ คน) “ ..... ได้ขายกิจการที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ ให้แก่บริษัทที่เป็นของรัฐบาลต่างชาติเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท โดยไม่เสียภาษีแก่รัฐ และปรากฏว่าก่อนการขายกิจการดังกล่าวเพียง ๓ วัน ได้มีการตราพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๙ ที่มีเนื้อหาสาระเป็นการลดสัดส่วนการถือหุ้นของบุคคลที่มีสัญชาติไทย แบบที่ ๒ และแบบที่ ๓ ออกมาใช้บังคับ อันเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยว่า เป็นกฎหมายที่ตราออกมาเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการขายกิจการดังกล่าว (ดังนั้น) การยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ จึงมีสาเหตุมาจากเรื่องส่วนตัวของ(นายกรัฐมนตรี)หัวหน้าพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ (พรรคไทยรักไทย) มิได้มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างองค์กรฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ หรือระหว่างพรรคการเมืองในระหว่างฝ่ายบริหารด้วยกัน หรือ มีปัญหาอันเกี่ยวด้วยประโยชน์สาธารณะที่สมควรคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมือง(ให้)แก่ประชาชนด้วยการยุบสภา (อีก)ทั้งการผลักดันกฎหมายที่เอื้อต่อธุรกิจของครอบครัวดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า (นายกรัฐมนตรี)หัวหน้าพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ (พรรคไทยรักไทย) (มี)อำนาจเหนืออุ ดมการณ์ของพรรค(ไทยรักไทย) อย่างเด็ดขาดในการกำหนดความเป็นไปของพรรคผู้ถูกร้องที่ ๑ (พรรคไทยรักไทย) ทั้งการกำหนดวันเลือกตั้ง วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ .............”
       ข้อความในคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ ได้ยืนยัน “ข้อเท็จจริง”ที่ชัดเจนว่า ข้อผิดพลาดของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ คือ การสร้างระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา (พรรคการเมืองพรรคเดียวกัน เป็นทั้งรัฐบาลและคุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร) จนถึงขนาดที่หัวหน้าพรรค ฯ สามารถกำหนดให้รัฐสภาออก “กฎหมาย”เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของตนเองได้ และนอกจากนั้น คำวินิจฉัยดังกล่าว ได้แสดงให้เห็นถึงการกระทำความผิดและพฤติกรรม(ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว)ของนักการเมืองของไทยในการยุบสภา ได้อย่างไม่มีข้อโต้แย้ง
       ข้อความในส่วนนี้ของคำวินิจฉัยฯ ผู้เขียนเห็นว่าเป็นส่วนที่ดีที่สุดและสำคัญที่สุดในคำวินิจฉัยของ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ เพราะเป็นการยืนยัน“ข้อเท็จจริง”ที่เกิดขึ้นจริง โดยคำพิพากษาของศาล และผู้เขียนเห็นว่านักวิชาการไม่ว่าจะเป็นผู้ใดก็ตาม ที่เขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่สร้างระบบให้เกิดเหตุการณ์ เช่นนี้ได้ จะต้องรับผิดชอบ และเป็นที่น่าเสียใจ ที่ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ ฉบับของสภาร่างรัฐธรรมนุญ (ที่จัดตั้งขึ้น ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๔๙) ที่ผ่านประชามติเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ก็ยังมิได้แก้ไข
       

       แต่สิ่งที่ผู้เขียนแปลกใจยิ่งไปกว่านั้น ก็คือ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม (พ.ศ. ๒๕๕๐) นี้เอง ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่าน “คำวินิจฉัย ฯ ฉบับย่อ”ของทางราชการ พร้อมทั้งคำแปลภาษาต่างประเทศ ที่จัดทำขึ้นสำหรับเผยแพร่ให้ชาวต่างประเทศได้รับรู้ เหตุการณ์ในประเทศไทย แต่ปรากฏว่า “ข้อความ”ส่วนที่ผู้เขียนได้คัดลอกมาข้างต้นนี้ ไม่ปรากฏอยู่ใน “สาระ”ของคำวินิจฉัยฉบับย่อและคำแปลแต่อย่างใด และผู้เขียนก็ลืมถามไปว่า ผู้ใดหรือหน่วยราชการใดเป็นผู้รับผิดชอบการย่อ(และแปล)คำวินิจฉัยดังกล่าว (!) (!)
       การที่นักการเมืองใช้อำนาจรัฐออก “กฎหมาย”เพื่อประโยชน์ส่วนตัว(และเอาสัมปทานของรัฐไปขายให้กับต่างชาติ) เป็นสิ่งที่เลวร้าย (vice)ที่สุดที่นักการเมืองพึงกระทำ(ถึงขั้นที่เป็น treason) ซึ่งถ้าเหตุการณ์นี้เป็นที่รับรู้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว นักการเมือง(ของเขา)และนักวิชาการ(ของเขา)จะเข้าใจสถานการณ์ของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
       การที่ข้อเท็จจริงนี้ ถูก “ตัด”ออกจากคำวินิจฉัยฯฉบับย่อและไม่ปรากฏในคำแปลคำวินิจฉัยที่จะแจกจ่ายไปยังต่างประเทศ เป็นการแสดงให้เห็นถึง “ระดับ”ความรู้และขีดความสามารถตลอดจนความรับผิดชอบ ของส่วนราชการที่ เกี่ยวข้อง(และรัฐบาล)ของประเทศไทย ; และเมื่อผู้เขียนได้อ่าน “คำแถลงการณ์”ของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณที่ให้กับสื่อในประเทศและต่างประเทศ ตามข่าวเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ที่เพิ่งผ่านมานี้ ผู้เขียนก็คิดว่า บางทีรัฐบาลและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ อาจจะต้อง “คิด”ถึงผลทางการเมืองระหว่างประเทศ ให้มากกว่าที่เป็นอยู่
       
       (ข) ต่อไปนี้ จะเป็น “กรณีการทุจริตคอร์รัปชั่น”( ที่เกิดขึ้นในช่วงที่การบริหารประเทศ ภายไต้รัฐธรรมนูญ ฉบับเดิม พ.ศ. ๒๕๔๐ ) ที่ “คณะกรรมการครวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รํฐ (คตส.)” ระบุไว้ในสมุดปกเหลืองที่จัดพิมพ์ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รวม ๑๓ กรณี ดังนี้
       (๑) การซื้อขายหุ้นและโอนหุ้น บริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ผลการตรวจสอบ ปรากฏว่า มีการหลีกเลี่ยงภาษีของญาติ บุตรธิดา และบริษัทของครอบครัวผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมเป็นเงินภาษีและเงินเพิ่มที่ต้องชำระ ๓๓,๑๐๘ ล้านบาท
       (๒) การให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) ให้เงินกู้แก่รัฐบาลสหภาพพม่า เพื่อซื้อสินค้าและบริการของบริษัทเอกชนรายหนึ่งที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีส่วนได้เสีย ผลการตรวจสอบ ปรากฏว่า ได้มีการสั่งการให้ธนาคารดังกล่าวให้รัฐบาลสหภาพพม่ากู้เงิน เป็นจำนวนเงินกู้ ประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านบาท
       (๓) การจ้างก่อสร้างและจัดซื้อวัสดุและอุปกรณ์ สำหรับ บริษัทห้องปฏิบัดิการกลางตรวจสอบผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร จำกัด (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ผลการตรวจสอบ ปรากฏว่า มีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นผุ้เสนอโครงการให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นเป็นผู้ควบคุมสั่งการในการประกวดราคา ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการฮั้ว คือ บริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือแต่ผู้เดียวในประเทศไทย ไม่ได้มายื่นซองประกวดราคา แต่ได้แต่งตั้งตัวแทนจำหน่าย ๔ ราย มายื่นซองแสนอราคาและส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือวิทยาศาสตร์ยี่ห้อเดียวกัน โดยผู้มายื่นซอง ๓ รายใช้หนังสือค้ำประกํนของธนาคารสาขาเดียวกันโดยมีบริษัทที่ชนะการประกวดราคาเป็นผู้ดำเนินการค้ำประกันต่อธนาคารให้
       การตรวจสอบกระแสทางเดินเงิน พบว่า การซื้อเครื่องมือวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ผ่าน “บริษัทคนกลาง” และบริษัทคนกลางได้รับผลประโยชน์ไปประมาณ ๓๐๐ ล้านบาท(ในวงเงินตามสัญญาเฉพาะส่วนนี้ ๘๓๓ ล้านบาท) และพบว่ามีการถอนเงินออกไปในลักษณะปกปิดเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ
       (๔) โครงการจัดซื้อจัดจ้างปรับเปลี่ยนสายพานลำเลียวกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสารและเครื่องตรวจสอบสอบวัตถุระเบิด ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (CTX ๙๐๐๐ Dsi) ผลการตรวจสอบ ปรากฎว่า นักการเมือง ข้าราชการ และบุคคลอื่น ร่วมกันกระทำความผิดโดยแบ่งบทบาทกัน ทำให้ บริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) และบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) และประชาชนเสียหาย โดยราคาแพงกว่าปกติไม่น้อยกว่า ๑,๕๐๐ ล้านบาท
       นอกจากนั้น ยังมีการทำ “นิติกรรมอำพราง”เพื่อช่วยเหลือผู้รับจ้าง มิให้ต้องเป็นฝ่ายผิดสัญญาและไม่ต้องเสียค่าปรับ ทำให้ บริษัทท่าอากาศสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) เสียหายไม่น้อยกว่า ๑,๕๐๐ ล้านบาท ซึ่งถือว่า บุคคลดังกล่าวมีเจตนาร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นมูลความผิดทางอาญา
       (๕) โครงการจัดซื้อจัดจ้างท่อร้อยสายไฟฟ้๙าไต้ดิน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ผลการครวจสอบ ปรากฎว่า บริษัทอิเลคโทรวัตต์คอนซัลติ้ง เซอร์วิสเซสส์ (ประเทศไทย) จำกัด และเจ้าหน้าที่ของ บทม. ดำเนินการโดยมีชอบในการออกแบบและกำหนดเงื่อนไขในเอกสารประกวดราคา และเปลี่ยนชนิดของวัสดุท่อร้อยสายไฟฟ้า ที่มีราคาแพงกว่าวัศดุเดิมไม่ต่ำกว่า ๒ เท่าตัว ซึ่งเข้าข่ายความผิดตาม พรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยของรัฐ พ.ศ. ๒๔๕๒ และกฎหมายอาญาอื่น ความเสียหายประมาณ ๒๐๐ ล้านบาท
       (๖) การทำสัญญาซื้อขายที่ดินของ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (ที่ดินถนนรัชดาภิเษก) ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและภริยา ซึ่งเป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องตาม พรบ. ประกาบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ผลการสอบสวน ปรากฏว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับพวก ได้กระทาผิดทางอาญาที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ
       อัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๐ และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และความเสียหายเท่ากับมูลค่าของที่ดิน ๔ โฉนด เนื้อที่ ๓๓-๐-๗๘.๙ ไร่ บริเวณถนนรัชดาภิเษก ยังประเมินราคาตลาดไม่ได้ แต่ราคาตามสัญญา เป็นเงิน ๗๗๒
       ล้านบาท
       (๗) โครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัวและ ๒ ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ผลการตรวจสอบ ปรากฎว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับพวก รวม ๔๙ คนได้ร่วมกันกระทำความผิดที่เป็นความผิดทางอาญา และก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ
       ความเสียหายของทางราชการ ๓ แห่ง คือ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กระทรวงการคลัง (ไม่ได้ภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร) และกระทรวงมหาดไทย (ภาษีการพนัน ตาม พรบ. การพนัน ฯ) รวมเป็นเงิน ๓๗,๗๙๐,๓๙๘,๖๔๐.๐๖ ล้านบาท
       (๘) โครงการจัดซื้อต้นกล้ายางและโครงการปลูกยาง ๙๐ ล้านต้น ของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผลการตรวจสอบ ปรากฎว่า การอนุมัติโครงการและการอนุมัติการใช้เงิน “กองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร” ไม่ชอบด้วย ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร พ.ศ. ๒๔๓๔ และการรับการสนันสนุนจาก กสย. ใช้เงิน CESS ไม่ชอบด้วย พรบ.กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ. ๒๕๐๓ มูลค่าของการอนุมัติให้ใช้เงินในโครงการเฉพาะที่เกี่ยวกัยการผลิตพันธุ์ยางมีมูลค่า ๑,๔๔๐ ล้านบาท
       (๙) การจัดซึ้อรถดับเพลิงและเรือดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร ผลกาตรวจสอบ มึมูลน่าเชื่อว่า มีการดำเนินการโดยบุคคลหลายฝ่าย เป็นการกระทำร่วมกัน มีเป้าหมายอันเดียวกัน ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี ระเบียบและกฎหมาย โดยมีการกำหนดคุณลักษณะของสินค้า วิธีการและราคา ไว้ล่วงหน้า ส่อไปในทางมีเจตนาทุจริต เป็นเหตุให้มีการจัดซื้อในราคาที่สูงเกินความจริง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เป็นจำนวนเงิน ๑,๙๐๐ ล้านบาทเศษ
       (๑๐) การไต่สวนกรณีกล่าวหาว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คณะกรรมการบริหารและพนักงานของธนาคารกรุงไทยฯ และพวก ร่วมกันกระทำความผิด ฐานเป้นพนักงานหรือเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในกรณีการให้เงินกู้ ของธนาคารกรุงไทย ผลการตรวจสอบ ปรากฏว่า มีการให้เงินกู้โดยทุจริต มีมูลค่าการกู้เงินประมาณ ๕,๑๘๕ ล้านบาท
       
(๑๑) การไต่สวนกรณีกล่าวหาว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ในการแปลงค่าสัมปทานเกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคม เป็นภาษีสรรพสามิต เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจของตนเองและพรรคพวก ผลการตรวจสอบ ปรากฏว่า ได้มีการกระทำและก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ดังนี้
       ๑) แก้ไขสัญญาข้อตกลงลดส่วนแบ่งรายได้ค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า (prepaid)เพื่อประโยชน์แก่บริษัทเอกชน ซึ่งเป็นการแก้ใขสัญญาโดยมิได้ดำเนินการตาม พรบ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. ๒๕๓๕ ทำให้รัฐเสียประโยชน์ตลอดอายุสัมปทาน เป็นเงินประมาณ ๗๑,๖๗๗ ล้านบาท
       ๒) แก้ไขสัญญาข้อตกลงปรับเกณฑ์การตัดส่วนแบ่งรายได้ ให้กับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเอกชน ทำให้รัฐเสียหายประมาณ ๗๐๐ ล้านบาท
       
๓) ตราพระราชกำหนดภาษีสรรพสามิตในกิจการโทรคมนาคม และได้มี “มติคณะรัฐมนตรี”แปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ซึ่งทำให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เสียหายประมาณ ๓๐, ๖๖๗ ล้านบาท
       
       (๑๒) การไต่สวนกรณีกล่าวหาว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและพวกร่วมกันกระทำความผิดเกี่ยวกับ โครงการระบบขนส่งทางรถไฟ เชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ผลการตรวจสอบ ปรากฏว่า เป็นการดำเนินการโดยทุจริต ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ประมาณ ๑๒๐๐ ล้านบาท
       
(๑๓) การไต่สวนกรณีกล่าวหาว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือและพวกร่วมกันกระทำความผิดเกี่ยวกับ การจัดซื้อจัดจ้างเอกชนโดยการเคหะแห่งชาติ โครงการบ้านเอื้ออาทรระยะที่ ๔ ผลการตรวจสอบ ปรากฏว่า ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในการรับซื้อโครงการ จากการรับซื้อเป็นรายโครงการ เป็นการรับซื้อโดยการจัดสรรหน่วยดำเนินการฯ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐที่ทำสามารถประเมินเป็นตัวเงินได้ ไม่น้อยกว่า ๔๑๕.๑๕ ล้านบาท และที่ยังไม่สามารถประเมินเป็นเงินได้อีกไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ ล้านบาท
       จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น เห็นได้ชัดเจนว่า การคอร์รัปชั่นทั้งหลายจำนวนมาก เกิดจากระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา ซึ่ง(หัวหน้า)พรรคการเมือง สามารถเป็นทั้ง(หัวหน้า)ฝ่ายบริหาร และควบคุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ; และ นี่คือ จุดอ่อนของระบบรัฐสภา – parliamentary system แบบ conventional และนี่คือ ปัญหาของรัฐธรรมนูญไทย
       
       เมื่อได้กล่าวถึง “ข้อเท็จจริง”ที่เป็นการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ที่สร้างระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองในระบบรัฐสภาแล้ว ต่อจากนี้ไป (ข้อ ๑.๒) ก็จะเป็นการเริ่มต้นของการ “คิด”เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองของประเทศในอนาคต ทั้งนี้ โดยจะเริ่มจาก “ความรู้เบื้องต้น(เกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ)” เพื่อวางพื้นฐานให้แก่ประชาชนทั่วไป (และสำหรับนักวิชาการไทย) ก่อนที่จะทำการวิเคราะห์ปัญหาและออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
       
       อ่านต่อ
       หน้า 14
       หน้า 15
       หน้า 16
       หน้า 17
       หน้า 18
        หน้า 19
       หน้า 20
       หน้า 21
       หน้า 22
       หน้า 23
        หน้า24
       หน้า 25
        หน้า26
       หน้า 27
        หน้า28
       หน้า 29


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544