หน้าแรก บทความสาระ
สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒ (หน้า๑๒)
ศ. ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
3 กันยายน 2550 07:14 น.
 
ตอนที่ (๒) ถ้าเราจะปฏิรูปการเมือง เรา จะ”ชี้แจง” กับประชาชนได้ อย่างไร
       

       ในการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๐ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มีภารกิจอยู่ ๒ ประการ คือ ประการแรก ได้แก่ การปฏิรูปการเมือง - การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อ วางโครงสร้างของ “ระบบสถาบันการเมือง” สำหรับอนาคตของประเทศไทยและของคนไทย เพื่อมิให้มีวิกฤตการณ์ทางการเมืองและเพื่อขจัด(หรือลด)การทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง) มิให้เกิดขึ้นอีก และ ประการที่สอง การบริหารบ้านเมืองในฐานะ “รัฐบาล(ชั่วคราว)” (ในระหว่างการปฏิรูปการเมือง) ให้ดีที่สุด เท่าที่จะทำได้ เช่น การแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ / ปัญหา ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ / ปัญหาทุกข์สุขของประชาชน / การสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดที่ทุจริตคอร์รัปชั่นเงินของแผ่นดิน / การออกกฎหมายที่มีความสำคัญสูงสุดเท่าที่ระยะเวลาอันจำกัด จะเปิดโอกาสให้ทำได้ ฯลฯ
       ใน ส่วนที่ ๒ ตอนที่ (๒) นี้ จะเป็นความเห็นของผู้เขียน เกี่ยวกับ ภารกิจประการแรก(การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) ของ “คณะปฏิรูปการปกครองฯ” ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า น่าจะเป็น ภารกิจหลักของคณะปฏิรูปการปกครองฯ เพราะเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว และอนาคตของประเทศไทยและของคนไทย ย่อมขึ้นอยู่กับความสำเร็จหรือความไม่สำเร็จ ของการเขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ; และในส่วนที่ ๓ ตอนท้ายของบทความนี้ จะเป็นความเห็นของผู้เขียน เกี่ยวกับการประเมินผลความสำเร็จของภารกิจทั้ง ๒ ประการ ของรัฐบาลและคณะปฏิรูปการปกครองฯ : “ ทางตัน (impasse) ของการปฏิรูปการเมือง”
       
       ในการปฏิรูปการเมือง ผู้เขียนมีความเห็นว่า องค์กรใดก็ตามที่มีหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ (ไม่ว่าจะเป็นคณะปฏิรูปการปกครองฯที่ทำการ”รัฐประหาร”เอง หรือเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญที่จัดตั้งขึ้นมา) องค์กรนั้นมีหน้าที่ที่จะต้องให้ “ความรู้”แก่คนไทยให้มากที่สุด เพราะ สังคมไทยเป็นสังคมที่ขาดประสบการณ์ ซึ่งไม่เหมือนกับประชาชนของประเทศที่พัฒนาแล้วในยุโรป(และในอเมริกาเหนือ) ซึ่งคนของเขามีประสบการณ์จากวิวัฒนาการของเหตุการณ์ทางการเมืองในทางประวัติศาสตร์ และสำหรับประเทศไทย โอกาสนี้คงเป็น “โอกาส”ที่ดีที่สุด ที่จะทำให้คนไทยได้มีประสบการณ์ในทางการเมืองเพิ่มขึ้น ( ทั้งนึ้ โดยยังไม่พูดถึง การแก้“ปัญหา”เรื่องการยกระดับมาตรฐานการศึกษาสาขานิติศาสตร์ในระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยของไทย ซึ่งเป็นพื้นฐานของวงการวิชาการทางกฎหมายของคนไทยทั้งประเทศ)
       สิ่งที่จะให้ “ความรู้”แก่ประชาชนได้ดีที่สุดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็คือ การชี้แจงต่อประชาชนโดย “เอกสารประกอบร่าง(กฎหมาย)รัฐธรรมนูญ” และ ด้วยเหตุนี้ ใน “ข้อเสนอ”ของผู้เขียนเมื่อ ๓ ปีที่แล้วมา (ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับของผู้เขียน ที่ทดลองเขียนไว้ตั้งแต่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗ สำหรับแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ – การปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒ ) ผู้เขียนจึงได้กำหนดให้มีการจัดทำ “เอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ” พร้อมทั้ง กำหนดมาตรฐานของเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ ไว้ด้วยว่า เอกสารดังกล่าวจะต้องให้ความรู้แก่คนไทยในประเด็นใดบ้าง และอย่างไร ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
       [หมายเหตุ :- ดู ร่างรัฐธรรมนูญของผู้เขียน ได้จาก บทความเรื่อง “กระบวนทัศน์ใหม่สำหรับการปฏิรูปการเมืองครั้งที่๒ เอกสารวิชาการ หมายเลข ๖ – (๖.๒) ว่าด้วย New Paradigm สำหรับการปฏิรูปการเมือง ; แล ตามข้อเสนอของผู้เขียน ใน (ร่าง)รัฐธรรมนูญ ยังได้กำหนดวิธีการและขั้นตอนของการแจกจ่ายเอกสารดังกล่าวไว้ด้วย เช่น ในมาตรา ๓๑๓/๑๒ กำหนดว่า “ ในการทำประชามติ จะต้องมีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเวลาอย่างน้อย ๓๐ วันก่อนวันออกเสียงประชามติ ” ทั้งนี้เพราะว่า ในการออกเสียงประชามตินั้น ต้องเป็นที่เข้าใจว่า (ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น มีความ ซับซ้อนเกินกว่าที่ประชาชน(คนธรรมดา)จะอ่านเข้าใจได้ และสิ่งที่จะช่วยให้ประชาชนเกิดความเข้าใจได้ดีที่สุด(ก่อนการออกเสียงประชามติ) ก็คือ “เอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ” ; ดังนั้น ในการจัดทำการออกเสียงประชามติ จึงต้องกำหนดให้มีการแจก “เอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ”ล่วงหน้าเป็นเวลานานพอสมควร และการแจกเอกสารนี้ จะมีความสำคัญ มากกว่า การแจกตัวบทของร่างรํฐธรรมนูญฉบับใหม่ เสียอีก ]
       
       ปัญหาสำคัญ ที่เราจะต้องพิจารณาเป็นอันดับแรก ณ ที่นี้ ก็คือ ในการปฏิรูปการเมือง “เอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ(ฉบับใหม่)” ควรจะมีสาระอย่างใด คือ เราจะชี้แจงกับประชาชนได้ อย่างไร ประชาชนจึงจะเข้าใจ ; ซึ่ง ผู้เขียนเห็นว่า “เอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ” ควรมีสาระแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่ง เป็นความทั่วไป และ ส่วนที่สอง เป็นงานทางเทคนิคกฎหมาย ว่าด้วย การออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมือง
       ใน ส่วนที่หนึ่ง ผู้เขียนคิดว่า ในเบื้องต้น(ข้อ (๑.๑)) ก่อนที่องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญฯจะขอความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไป(และจากองค์กรของรัฐต่าง ๆ )ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ยกร่างขึ้น องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ ควรจะต้องกล่าว ยืนยันถึง “ข้อเท็จจริง”ที่เป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วง เวลาที่ผ่านมาว่า มีอย่างไร ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนเข้าใจได้ว่า เพราะเหตุใด จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเดิมที่ถูกยกเลิกไป และต่อจากนั้น องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ สมควรให้ “ความรู้ ”ที่เป็นพื้นฐานสำหรับให้ประชาชนนำไป “คิด”และทำความเข้าใจกับ “รูปแบบ”ของรัฐธรรมนูญ(ฉบับใหม่)ที่จะมีการเปลี่ยนแปลง (rationalization) (ข้อ (๑.๒)
       ในส่วนที่สอง ซึ่งเป็นงานเทคนิคกฎหมาย ซึ่งจะแยกเป็น ๒ ข้อ เช่นเดียวกัน คือ ในประการแรก (ข้อ (๒.๑) จะว่าด้วย การวิเคราะห์ “ข้อผิดพลาด”ของรัฐธรรมนูญฉบับเดิม พ.ศ. ๒๕๔๐ เพื่อหาสาเหตุของวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากตัวบทรัฐธรรมนูญฉบับเดิม เพราะเราคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ (อย่างถูกต้อง) ถ้าไม่ทราบสาเหตุของปัญหาก่อน และ ในประการที่สอง ว่าด้วย แนวความคิด – concept ในการออกแบบ(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อการปฏิรูปการเมือง พร้อมทั้ง โครงสร้างของ (ร่าง)รัฐธรรมนูญในอนาคตของประเทศไทย
       อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขณะนี้ เรามี(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากประชาชนในการออกสียงประชามติมาแล้ว(ในวันที่ ๑๙ สิงหาคม) ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ เป็นรัฐธรรมนูญที่เหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับเดิม (พ.ศ. ๒๕๔๐) ซึ่งผู้เขียนคาดหมายว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่(พ.ศ. ๒๕๕๐) จะประสบความล้มเหลวเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับเดิม และจะทำให้ประเทศไทยกลับเข้าสู่วงจรแห่งความเสื่อม – vicous circle อีกครั้งหนึ่ง ไม่ช้าก็เร็ว
       ดังนั้น เพื่อทำความเข้าใจในประเด็นนี้ ผู้เขียนจึงได้เพิ่มหัวข้อ “ความนำ” อย่างสั้น ๆ เพื่ออธิบาย เหตุผลว่า เพราะเหตุใด ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (พ.ศ. ๒๕๕๐) จึงยังคงเหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับเดิม และจะล้มเหลวเช่นเดิม
       
       ความนำ : รูปแบบของ การปกครอง ใน(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๐ ยังคงป็น “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง (นายทุนธุรกิจ
       

       ผู้เขียนขอ เรียนว่า ความตอนนี้เป็นตอนแรก ที่ผู้เขียนเขียนขึ้นหลังจากที่มีการลง ประชามติ(วันอาทิตย์ที่ ๑๙ สิงหาคม) และได้ทราบผลของการลงประชามติแล้ว และในวันที่ ๑๗ สิงหาคม (ซึ่งเป็นวันก่อนการลงประชามติ ๒ วัน)ได้มีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ว่า อดีตนายก พ.ต.ท. ทักษิณ ได้เขียนแถลงการณ์ให้กับสื่อในประเทศและต่างประเทศ โดยมีเนื้อหาว่า
       “ภายในสองสามวันข้างหน้า คณะรัฐประหารในประเทศไทยจะเพิ่มการดำเนินการต่าง ๆเพื่อทำลายชื่อเสียงและเกียรติยศของตน ทั้งนี้เพราะความที่คณะรัฐประหารหวาดกลัวว่า ความชื่นชอบของพี่น้องประชาชนที่ยังรักและห่วงใย อาจส่งผลต่อการลงประชามติในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จัดทำโดยบุคคลที่คณะรัฐประหารแต่งตั้ง ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ ๑๙ ส.ค.นี้
       ผมไม่ได้ทำสิ่งที่ผิดกฎหมายและไม่เคยทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง บรรดาข้อกล่าวหาต่าง ๆ ที่มีต่อผมและครอบครัว ล้วนเป็นการกล่าวหาที่มาจากมูลเหตุทางการเมืองทั้งสิ้น คณะรัฐประหารได้ทำการยึดอำนาจรัฐบาลของผม ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย แต่พวกเขาไม่สามารถทำลายความปรารถนาของพี่น้องชาวไทยที่ไฝ่หาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้ ไม่ว่าจะใช้วิธีการใส่ร้ายป้ายสีอย่างใดก็ตาม ผมพร้อมที่จะต่อสู้ทุกคดีและทุกข้อกล่าวหา เมื่อผมมีความมั่นใจว่า ผมสามารถจะต่อสู้คดีได้ในกระบวนการยุติธรรมที่ความเป็นธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ภายไต้การครอบงำและการแทรกแชงจากรัฐบาลทหาร ผมหวังว่าสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ จะเสนอข่าวนี้ด้วยความเป็นธรรม โดยโปรดระลึกเสมอว่า ผมยังไม่ถูกพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำผิดในคดีใด ๆ
และผมเป็นผู้บริสุทธิ”
       
ผู้เขียนขอนำ “ข้อความ”ข้างต้นมาเขียนไว้ในบทความนี้ด้วย เพื่อให้ผู้ที่บริหารประเทศอยู่ในขณะนี้และผู้ที่สนใจอนาคตของประเทศ ได้พึงสังวรไว้ว่า อะไร รออยู่ข้างหน้า ; โปรดอย่าคิดว่า เมื่อมีการออกเสียงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่(วันที่ ๑๙ สิงหาคม)แล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างจะเรียบร้อย และ เป็นอันสิ้นสุดหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ที่บริหารประเทศ(อยู่ในขณะนี้)
       
       ผู้เขียนคิดว่า บรรดาผุ้บริหารประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ อาจเชื่อว่า การยุบพรรคไทยรักไทย / การตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค ๑๑๑ คน / การห้ามใช้ชื่อพรรคการเมืองซ้ำหรือคล้ายคลึงกัน / การห้ามผู้ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง / ตลอดจนการสอบสวนและการตั้งข้อกล่าวหาการกระทำความผิดทางอาญาโดย คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) คงจะเป็นการเพียงพอแล้วที่จะป้องกัน ไม่ให้มีวิกฤตการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นอีกในอนาคต
       แต่ผู้เขียนเห็นว่า สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เหล่านั้น เป็นเพียงอุปสรรค(เล็กน้อย) ในการดำเนินการของนักการเมืองเดิม ๆเท่านั้น ถ้าหากนักการเมืองดังกล่าวสามารถเข้า “ผูกขาดอำนาจรัฐ”(ด้วยการเลือกตั้งในสภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอ) ได้เหมือนกับที่ได้เคยผูกขาดมาแล้วใน ๔ -๕ ปีก่อนการรัฐประหาร
       โครงสร้างของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (พ.ศ. ๒๕๕๐) ยังมี(บทบัญญัติ) เครื่องมือ ของพรรคการเมืองที่มี “เงิน”’ ในการเข้าผูกขาดอำนาจรัฐ อยู่เช่นเดิม(และครบถ้วน) คือ การบังคับ ส.ส.สังกัดพรรค / นายกรัฐมนตรีต้องมาจากส.ส. / พรรคการเมืองมีอำนาจมีมติให้ส.ส. พ้นจากความเป็น ส.ส./และรัฐธรรมนูญของเรายังคงใช้ระบบรัฐสภาแบบเก่า ๆ (conventional system)
       และนอกจากนั้น ยังมีมาตการอื่นที่ถูกแก้ไข(ไม่ว่าจะโดยเจตนาของผู้ร่างหรือไม่เจตนาก็ตาม) เพื่อให้ประโยชน์แก่ พรรคการเมืองที่มี “เงิน” มากกว่าที่เคยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับเดิมอีกด้วย คือ การเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้ง (จากเขตเดียวคนเดียว เป็นเขตละ ๓ คน) ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มี “เงิน” สามารถ“อุ้ม”ผู้สมัครอื่นให้ได้รับเลือกตั้งเข้าไปด้วยกัน – มาตรา ๙๔ วรรคสอง และ การเปลี่ยนแปลงสถานที่นับคะแนนเสียงเลือกตั้ง (จากการนับรวมกันทุกหน่วยเลือกตั้ง ให้เป็นการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง ) ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ดูแลการซื้อเสียงของพรรคการเมือง(ในแต่ละหน่วยเลือกตั้ง) สามารถตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อตกลง(การออกเสียง)ของ ผู้ที่ได้รับ“เงิน”ไปแล้วได้ – มาตรา ๙๔ วรรค
       หลังการเลือกตั้ง สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากรัฐธรรมนูญเดิม (พ.ศ. ๒๕๔๐) ก็คือ “การผูกขาดอำนาจรัฐ”โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ) ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ จะไม่กระทำภายไต้ ชื่อของพรรคการเมืองพรรคเดียว แต่จะเป็นการผูกขาดอำนาจรัฐโดยพรรคการเมืองหลายพรรค(หลายชื่อ) แต่จะอยู่ภายไต้การควบคุมโดยนักธุรกิจนายทุนคนเดียวกัน (หรือกลุ่มนักธุรกิจนายทุนกลุ่มเดียวกัน) ; แต่ผลทางการเมืองจะเหมือนเดิม คือ จะมีการผูกขาดอำนาจรัฐโดยกลุ่มนักธุรกิจนายทุน และการทุจริตและการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรของ ชาติก็จะตามมาเช่นเดิม ซึงอาจจะทำด้วยวิธีการที่แยบยลกว่าเดิม
       ผู้เขียนเห็นว่า ทางออกของประเทศไทย(หรือคนไทย) คือ ต้องมีการปฏิรูปการเมือง(ที่แท้จริง)บนพื้นฐานของ “ความรู้” ซึ่งได้แก่ การเปลี่ยน(rationalize)โครงสร้างของระบบสถาบันการเมือง ( form of government) เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดอำนาจทางการเมือง (เป็นทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ในขณะเดียวกัน)
       
       ทำไม เรา (คนไทย) จึง มองไม่เห็น “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” ทั้ง ๆ ที่ ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ) ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ของเรา เป็น รัฐธรรมนูญฉบับเดียวในโลก และ “ไม่เป็นประชาธิปไตย”
       คำตอบง่าย ๆ ก็คือ การที่เรา(คนไทย)ไม่รู้หรือมองไม่เห็น “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)”ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ก็เพราะ นักวิชาการของเรา ไม่บอกเรา
       
คำถามต่อมา
ก็มีว่า ทำไม นักวิชาการของเรา จึงไม่บอกเรา (คนไทย) (?) คำตอบเท่าที่จะตอบได้ มีเพียง ๒ ประการ ประการแรก ก็คือ การที่นักวิชาการ ไม่บอกเรา ก็เพราะนักวิชาการที่อยู่รอบ ๆ ตัว เรา(คนไทย)ในขณะนี้ “ก็ได้แก่” นักวิชาการที่เคยเขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่สร้างระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)ให้แก่เรานั่นเอง และนักวิชาการเหล่านี้ ไม่คิดว่า การออกแบบ (เขียน)รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นความผิดพลาด (ซึ่งแตกต่างกับความเห็นของผู้เขียน) ; ประการที่สอง การที่นักวิชาการไม่บอกเรา ก็เพราะนักวิชาการของเรา มีขีดความสามารถ ไม่สูงพอที่จะออกแบบรัฐธรรมนูญ ได้ดีกว่านี้
       สำหรับผู้เขียน ผู้เขียนคิดว่า การเขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญใหม่ ที่เหมาะสมกับประเทศไทยนั้น คงไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก และผู้เขียนเองก็ไม่สามารถทำได้ เพราะกลไกในรัฐธรรมนูญมีความสลับซับซ้อนทั้งในด้านสภาพพฤติกรรมของสังคมไทย และในด้านความพิการของ “กลไกพื้นฐาน”ของระบบการบริหารประเทศ (เท่าที่เรามีอยู่ในขณะนี้) ; แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อ “ข้อเท็จจริง”(การทุจริตคอร์รัปชั่น ฯ) ที่เป็นความเสียหายแก่ประเทศอย่างมากมาย เป็นที่ประจักษ์แล้ว ผู้เขียนคิดว่า เรา (คนไทย)จำเป็นต้องวิเคราะห์หาสาเหตุให้พบและต้องยอมรับความผิดพลาดของตนเอง เพื่อที่เรา(คนไทย)จะได้ช่วยกัน “คิด”หาทางออก
       
       “คำชี้แจง สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฯ”(ขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ) ไม่ได้ให้ “ความจริง” แก่เรา (คนไทย) - ผู้ใช้สิทธิออกเสียงในการลงประชามติ ; ในการสอนนักศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัย ผู้เขียนจะมีคำถามอยู่คำถามหนึ่ง ที่ผู้เขียนใช้ถามนักศึกษาเพื่อตรวจสอบดู “วิธีคิด”ของนักศึกษาว่ามีความรอบคอบและมี “ความลึก”เพียงใด (ซึ่งนักศึกษาที่เคยฟังคำบรรยายของผู้เขียน คงทราบดี) ; คำถามที่ผู้เขียนใช้ถามนักศึกษา ก็คือ “เราทราบแล้วว่า ในการเรียนวิชากฎหมาย นักศึกษาต้องอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาเป็นจำนวนมาก ถามว่า นักศึกษาเคยพบว่า คำพิพากษาของศาลฎีกาที่เขียนไม่ดี ไม่มีเหตุไม่มีผล มี “จำนวน”มากน้อยเพียงใด (?) ”; ซึ่งแน่นอนว่า นักศึกษาเกือบทั้งหมดจะเห็นว่า คำพิพากษาศาลฎีกาล้วนเป็นคำพิพากษาที่ดี มีเหตุมีผลทั้งสิ้น ; และผู้เขียนก็ถามต่อไปว่า แล้วนักศึกษารู้หรือไม่ว่า เพราะเหตุใด (?) ; คำตอบที่ได้มาจากนักศึกษา ก็คือ เพราะว่า ผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นบุคคลที่มีความรู้ มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ ฯลฯ
       ผู้เขียนให้คำตอบแก่นักศึกษาว่า โดยหลักการแล้ว นักศึกษาจะไม่พบว่า มีคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับใด เขียนไม่ดี (ไม่มีเหตุผล) แต่ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะว่าไม่มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ผิดพลาด แต่เป็นเพราะว่าเราไม่มีโอกาสที่จะรู้ได้ว่าคำพิพากษาของศาลฎีกาฉบับใดดีหรือไม่ดี เนื่องจากผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นผู้ที่เขียนคำพิพากษานั้นเองทั้งฉบับ ตั้งแต่การสรุปข้อเท็จจริง สรุปการรับฟังพยานหลักฐาน การตั้งประเด็น ตลอดจนการให้เหตุผลในข้อยุติที่ตนเองวินิจฉัย ; เมื่อผู้พิพากษาเป็นผู้เขียนคำพิพากษาเองและสรุปเองทั้งฉบับ ดังนั้น“สาระ”ที่ปรากฏในคำพิพากษา จึงจะเป็นคำพิพากษาที่ดีและ มีเหตุมีผลเสมอ เพราะคงไม่มีผู้พิพากษาคนใด จะเขียนเหตุผลที่ขัดกับข้อยุติที่เป็นความเห็นของตนไว้ในคำพิพากษา ; และด้วยเหตุนี้ นักศึกษาจึงไม่สามารถทราบความผิดพลาดของคำพิพากษาศาลฎีกาได้ จากการอ่าน(เฉพาะ)คำพิพากษาศาลฎีกา
       การที่เราหรือนักศึกษาจะสามารถรู้ได้ว่า
คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับใดผิดพลาดหรือบกพร่อง (ไม่ว่าจะโดยสุจริตหรือไม่สุจริต) ก็ต่อเมื่อเราหรือนักศึกษาต้องตรวจดูจาก “สาระ”ที่ควรจะต้องปรากฏอยู่ในคำพิพากษา แต่ไม่ปรากฏ(ในคำพิพากษา) ; ซึ่งเรื่องที่ทำได้ยากมาก เพราะเราหรือนักศึกษา ไม่มีโอกาสที่จะรู้ข้อเท็จจริงทั้งหมดที่ปรากฏในสำนวนคดี ดังนั้น จึงไม่อาจทราบว่า ข้อเท็จจริงใดบ้างที่เป็นสาระสำคัญที่อยู่ในสำนวนคดีแต่มิได้ถูกอ้างอิงในคำพิพากษา และนอกจากนั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย การที่เราหรือนักศึกษาจะรู้ว่ามีข้อผิดพลาด เราหรือนักศึกษาจะต้องมี “ความรู้”เท่าเทียมกับหรือเหนือกว่าผู้พิพากษาที่เขียนคำพิพากษาอีกด้วย [หมายเหตุ นี่เป็น “จุดอ่อน”อีกข้อหนึ่ง ที่แตกต่าง ระหว่างกระบวนการยุติธรรมของเรากับประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่สมควรจะต้องแก้ไข ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง]
       
       คราวนี้ เราลองมาพิจารณาดู “คำชี้แจง สาระสำคัญ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”ขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญของเรา คือ ถ้าเราอยากจะรู้ว่า คำชี้แจง สาระสำคัญฯ (ในฐานะที่เป็นเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ)ได้มาตรฐานหรือไม่ เราก็คงจะใช้หลักการในการตรวจสอบเช่นเดียวกัน คือ เราต้องตรวจดู “สาระ”ที่ควรจะต้องปรากฏในเอกสารฯ แต่ไม่ปรากฏ(ในเอกสาร) ว่า มีอะไรบ้าง
       ขอให้ท่านผู้อ่านย้อนกลับไปดู ใน ตอนที่ (๑) ที่ผู้เขียนได้สรุป คำชี้แจงฯ ในแนวทางที่สอง (การลดการผูกขาดอำนาจรัฐ)ไว้อีกครั้งหนึ่ง ท่านผู้อ่านก็จะพบ “รายการ”ที่เกี่ยวกับสถาบันการเมือง(ซึ่งเป็นสาระที่ปรากฏในเอกสาร) จะมีดังนี้ นายกรัฐมนตรีอยู่ได้ไม่เกิน ๒ สมัย / ห้ามควบรวมพรรคการเมืองในระหว่างอายุของสภา /การเปลี่ยนแปลงที่มาของ ส.ส. (ส.ส.เขต – ส.ส.แบบสัดส่วน) / การเปลี่ยนแปลงที่มาของ ส.ว. (ส.ว.เลือกตั้ง – ส.ว.สรรหา) / ส.ส.มีอิสระจากมติพรรคการเมืองในการเสนอร่างกฎหมาย และในการตั้งกระทู้ถาม ฯลฯ ; แต่สาระที่ไม่ปรากฏในเอกสาร ก็คือ “สาเหตุ”ของการผูกขาดอำนาจรัฐโดยพรรคการเมือง คือ การบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค / การกำหนดให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง / อำนาจของพรรคการเมืองในการมีมติให้ส.ส.พ้น(จากสมาชิกพรรคการเมืองและ)จากตำแหน่ง ส.ส. / และรัฐธรรมนูญไทยใช้ระบบรัฐสภา ที่พรรคการเมืองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ได้เป็นรัฐบาล ;
       การที่ “สาระ”ดังกล่าว(สาระทึ่ควรจะต้องปรากฏในเอกสาร ) ไม่ปรากฏในเอกสารคำชี้แจงฯนี้ มีข้อสันนิษฐานได้ ๒ ประการ คือ ประการแรก องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญของเรา (สภาร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการยกร่างฯ) ไม่มีขีดความสามารถพอที่จะรู้ว่า รัฐธรรมนูญของเราได้สร้าง “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(ในระบบรัฐสภา)” หรือ ประการที่สอง องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญของเรา คิดว่า คนไทย (ผู้ใช้สิทธิออกเสียงในการลงประชามติ) คงจะรู้ได้เองเมื่ออ่านตัวบทรัฐธรรมนูญจำนวน ๓๐๙ มาตรา ที่องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญได้พิมพ์แจกจ่ายไปให้แล้ว (?) (?)
       
       ก่อนที่จะจบ “ความนำ”นี้ ผู้เขียนขอให้รัฐบาลและคณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้โปรดเก็บความทรงจำของท่านไว้ ว่า ใน“ช่วงระยะเวลาระหว่างเดือน กรกฎาคม (สภาร่างรัฐธรรมนูญ ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เสร็จ) จนถึงการสิ้นสุดของการเลือกตั้ง (เดือนธันวาคม ข้างหน้า)” นี้ ซึ่ง เป็นช่วงที่ท่าน(รัฐบาลและคณะปฏิรูปการปกครองฯ)เป็นผู้ที่มี “อำนาจรัฐ”และเป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร แต่นักการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามท่านมี“เงิน”(โดยไม่มีอำนาจรัฐ) ท่านมีประสบการณ์ (ความยากลำบาก) ในการบริหารประเทศ อย่างไร
       
แต่หลังจากการเลือกตั้งไปแล้ว เมื่อท่านมิได้เป็นรัฐบาลและคณะปฏิรูปการปกครองฯแล้ว ท่านคิดว่า การบริหารประเทศจะเป็นอย่างไร ในเมื่อโครงสร้างของ “ระบบสถาบันการเมือง – form of government” ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ ยังคงเหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับเดิม พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่คณะปฏิรูปการปกครองฯ ทำการรัฐประหารยกเลิกไปนั่นเอง ; ดังนั้น ถ้าหากเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย ท่าน(รัฐบาลและคณะปฏิรูปการปกครองฯ) จะเป็น “ผู้ที่ต้องรับผิดชอบ” เพราะท่านเป็นผู้ที่เขียนรัฐธรรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๙ (ฉบับชั่วคราว) ที่จัดตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ – นานาอาชีพ ขึ้น และ ท่านเป็นผู้ที่บริหารประเทศมา เป็นเวลา ๑ ปีเศษ
       ผู้เขียนขอเรียนว่า ผู้เขียนไม่สนใจว่า คะแนนเสียงในการลงประชามติกรณีให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ ๑๔ ล้าน หรือ ๑๐ ล้าน จะเป็นเสียงที่บริสุทธิผุดผ่องหรือไม่บริสุทธิ(ตามข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์) ; สิ่งที่ผู้เขียนสนใจ ก็ตือ คะแนนเสียงเหล่านี้ จะเลือกผู้แทนที่(รัฐธรรมนูญบังคับให้ต้อง)สังกัดพรรคการเมืองพรรคใด ในการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม ข้างหน้า
       
       และผู้เขียนขอแนะนำว่า ในระหว่างนี้ ก่อนการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม ถ้าท่าน(รัฐบาลและคณะปฏิรูปการปกครองฯ) มีเวลาว่าง ก็ขอให้ท่านไปหา “คำสั่งศาลฎีกาที่ ๙๒๑ /๒๕๓๖ ลงวันที่ ๒๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๓๖” มาอ่านดูเล่น ๆ ; ท่านอาจจะไม่ทราบว่า คำสั่งศาลฎีกาดังกล่าว เป็นคำสั่งว่าด้วยเรื่องอะไร ผู้เขียนขอเรียนว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งของศาลฎีกา วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ซึ่งมีจำนวนผู้พิพากษาศาลฎีกา(เท่าที่จำได้)ประมาณ ๖๗ ท่าน ซึ่งผู้เขียนเข้าใจว่า น่าจะเป็น “องค์คณะของศาลฎีกา”ที่ทำการวินิจฉัยคดี โดยมีจำนวนผู้พิพากษาศาลฎีกาที่มากที่สุดในโลก ; คำสั่งของศาลฎีกาดังกล่าว ดูเหมือนว่า จะเป็นการวินิจฉัย เกี่ยวกับการทำหน้าที่ขององค์กรหนึ่ง ซึ่งใช้ชื่อย่อว่า “คตส.” เหมือนกับ คตส.ในปัจจุบัน แต่ชื่อเต็มไม่เหมือนกัน เพราะ คตส.ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ (กุมภาพันธ์) ได้แก่ “คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน” ซึ่งสั้นกว่าชื่อของ คตส.ชุดปัจจุบัน ใน ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ (กันยายน) ; และท่านผู้พิพากษาที่ลงชื่อท้ายคำสั่งของศาลฎีกาดังกล่าว มี ๖ ท่าน คือ นายเกียรติ จาตนิลพันธุ์ / นายสกล เหมือนพะวงศ์ / นายอุระ หวังอ้อมกลาง / นายอัมพร ทองประยูร / นายโสภณ จันเทรมะ / และนายสุเมธ อุปนิสากร ; และคำสั่งของศาลฎีกานี้ มีขึ้นในระหว่างรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ โดยมี นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี
       
       [ หมายเหตุ มีเหตุการณ์บางอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการยุติธรรม ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ (ซึ่งยังเป็นช่วงที่ยังอยู่ในระหว่างการบริหารประเทศโดยรัฐบาลที่มาจาก “การรัฐประหาร” และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความตอนนี้อยู่พอดี ) ที่ผู้เขียนคิดว่า สมควรมีการบันทึกไว้
       เราทุกคน คงได้ทราบแล้วว่า หลังจากที่ได้มี คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ในเดือนพฤษภาคม สั่งยุบพรรคไทยรักไทย ผู้ถูกร้องที่ ๑ (โดยมติเอกฉันท์) และสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารของพรรคการเมืองดังกล่าว จำนวน ๑๑๑ คน ฯลฯ (โดยมติเสียงข้างมาก ๖ ต่อ ๓ ) ก็ได้มีข่าวคราวถึงการพยายามให้สินบนตุลาการรัฐธรรมนูญ(ก่อนทำคำวินิจฉัย ) จนได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และปรากฏว่า กรณีมีมูล ได้มีผู้(พยายาม)กระทำความผิดจริง ฯลฯ
       
(คำวินิจฉัย ที่ ๓-๕/ ๒๕๕๐ ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ระหว่างอัยการสูงสุด กับ พรรคการเมือง ๓ พรรค โดยมีองค์คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัย รวม ๙ ท่าน คือ นายปัญญา ถนอมรอด( ธ.ศ.ยธ.) ประธานคณะ ตุลาการรัฐธรรมนูญ และตุลาการรัฐธรรมนูญ อีก ๘ ท่าน คือ นายอักขราทร จุฬารัตน(ธ. ศ.ปค.) / หม่อมหลวงไกรฤกษ์ เกษมสันต์(ศ.ยธ.) / นายสมชาย พงษธา(ศ.ยธ.) / นายกิติศักดิ์ กิติคุณไพโรจน์(ศ.ยธ.) / นายธานิส เกศวพิทักษ์(ศ.ยธ.) / นายนุรักษ์ มาประณีต(ศ.ยธ.) / นายจรัล หัตถกรรม (ศ.ปค.)/ และนายวิชัย ชื่นชมพูนุท(ศ.ปค.) ; และชื่อท่านตุลาการรัฐธรรมนูญที่ได้ขีดเส้นไต้ไว้ คือ ตุลาการรัฐธรรมนูญฝ่ายข้างน้อย ในมติที่วินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมือง ฯ )
       ต่อมา ในราวกลางเดือนสิงหาคมนี้( วันที่ ๑๗) เจ้าหน้าที่ของสำนักงานศาลยุติธรรม (นายสราวุธ เบญจกุล โฆษกฯ)ได้เปิดเผยว่า ได้มีผู้พิพากษาจำนวนมากทั่วประเทศได้ทำหนังสือเปิดผนึกฉบับหนึ่ง มีเนื้อหา(ตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์)ว่า “ตามที่นายจรัล ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่ามีการให้สินบนตุลาการเรื่องยุบพรรค และยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ดำเนินคดี นอกจากนี้ยังมีนายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชั่น พูดพาดพิงถึงประธานศาลฎีกาทำนองว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อชักจูงให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่ทราบข้อเท็จจริงเข้าใจว่า ตุลาการรัฐธรรมนูญที่มาจากศาลฎีกาทุจริตนั้น ข้าพเจ้าผู้พิพากษาผู้ลงนามท้ายหนังสือนี้ เห็นว่า การให้ข่าวคลาดเคลื่อนได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือของประชาชนต่อศาลยุติธรรม ทั้งที่สำนักงานศาลยุติธรรมเปิดเผยรายงานการประชุมกรรมการตุลาการ ครั้งที่ ๑๔/๕๐ (วันที่ ?)ว่าประธานศาลฎีกาไม่เคยทราบเรื่องเกี่ยวกับการเสนอให้สินบนมาก่อน และเมื่อมีข่าวเกิดขึ้นก็เร่งสอบสวนทางวินัยให้ความจริงปรากฏอยู่แล้ว ประกอบกับประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาของตุลาการรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดตามองค์ประกอบข้อหาเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ดังนั้น เพื่อปกป้องสถาบันตุลาการ จึงสมควรดำเนินคดีกับผู้สร้างความเสียหายแก่สถาบันตุลาการต่อไป” ทั้งนี้(ตามข่าวที่ปรากฏ) เจ้าหน้าที่ของสำนักงานศาลยุติธรรมมิได้กล่าวถึง “จำนวน”ของผู้พิพากษา และมิได้เปิดเผยรายชื่อของผู้พิพากษาที่ดำเนินการและลงชื่อท้ายหนังสือเปิดผนึก แต่อย่างใด แต่ กล่าวว่า สำนักงานศาลยุติธรรมจะดำเนินการต่อไป ;
       ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ( ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์) มีว่า คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง แต่งตั้งโดยประธานศาลฎีกา เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๐ มีจำนวน ๓ ท่าน ประกอบด้วย นายวิรัช ลิ้มวิชัย (รอง ธ.ศาลฎีกา) เป็นประธาน และนายทองหล่อ โฉมงาม (รอง ธ.ศาลฎีกา) และ นายชัยยุทธ ศรีจำนงค์ ( ผู้ช่วยผู้ พิ.ศาลฎีกา แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ); ในการสอบสวนได้มีการขยายเวลา (จาก ๓๐ วัน) โดยคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ได้พบปัญหา(จำนวนมาก)ในการสอบสวน โดยเฉพาะในการเรียกพยานบุคคลมาสอบปากคำ (มีทั้งบุคคลภายนอกและตุลาการชั้นผู้ใหญ่) ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ได้มีการเรียกและติดต่อไปหลายครั้ง แต่ถูกปฏิเสธไม่ยอมมาให้ปากคำและอ้างว่าไม่สะดวกขอไม่มาให้ปากคำกับกรรมการสอบสวน ; ในการยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. นายจรัล ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้ยื่นหลักฐานเป็นหนังสือฉบับหนึ่ง ซึ่งระบุว่าเป็นการลงลายมือชื่อของตุลาการรัฐธรรมนูญคนหนึ่ง เสนอต่อประธานศาลฎีกาในฐานะประธานศาลรัฐธรรมนูญเพื่อทราบ ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๙ ก่อนที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะตัดสินคดียุบพรรค ในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ฯลฯ
       ผู้เขียนเห็นว่า เรื่องนี้ ทางราชการน่าจะจัดพิมพ์ “รายงานการสอบสวนข้อเท็จจริง” เป็นหนังสือและเผยแพร่ให้ประชาชนทราบอย่างเปิดเผย( เหมือนอย่างในประเทศที่พัฒนาแล้ว) ก็จะได้เป็นการโปร่งใส – transparency ดีกว่าปล่อยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์จาก “การไม่เปิดเผย ” ; ผู้เขียนเห็นว่า ความถูกต้องจะรักษาไว้ได้ ด้วยการเปิดเผยเท่านั้น และรายงานการสอบสวน(ที่ครบถ้วนสมบูรณ์) จะแสดงให้เห็น ความจริง –reality ได้ ]
       

       
       อ่านต่อ
       
       หน้า 13
       หน้า 14
       หน้า 15
       หน้า 16
       หน้า 17
       หน้า 18
        หน้า 19
       หน้า 20
       หน้า 21
       หน้า 22
       หน้า 23
        หน้า24
       หน้า 25
        หน้า26
       หน้า 27
        หน้า28
       หน้า 29


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544