หน้าแรก บทความสาระ
สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒ (หน้า๑๐)
ศ. ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
18 สิงหาคม 2550 17:32 น.
 
สรุป ความเห็นโดยรวม (จากการวิเคราะห์) ของผู้เขียน
       
[หมายเหตุ : ก่อนอื่น ผู้เขียนขอเรียนว่า ผู้เขียนได้เขียนบทความตอนนี้ ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนมีการออกเสียงประชามติใน(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในวันที่ ๑๙ สิงหาคมพอดี ; และโดยที่ข้อความบางส่วนที่เป็นความเห็นของผู้เขียนในบทความตอนนี้ อาจมี “ผล”ต่อการใช้สิทธิออกเสียง(ในการลงประชามติ)ของผู้ที่อ่านบทความนี้ ซึ่งไม่ใช่ความประสงค์ของผู้เขียน (ซึ่งต้องการให้บทความของผู้เขียนเป็นบทความในทางวิชาการ ) ดังนั้น บทความตอนนี้ จึงจะได้นำลงในเว็บไซต์หลังจากที่มีการลงประชามติแล้ว ]
       
       ในบทความที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ให้ข้อสังเกตใน “คำชี้แจง สาระสำคัญฯ”(ของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ) โดยแยกเป็น ๔ แนวทาง ตามที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯกำหนดไว้ โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาเปรียบเทียบว่า คำชี้แจงดังกล่าวได้เป็นไปตาม มาตรฐาน ของ “เอกสารประกอบร่างกฎหมาย”ของประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือไม่
       ท่านทราบแล้วว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วเหล่านี้ เขาทำ “เอกสารประกอบร่างกฎหมาย”เป็นปกติสำหรับ(ร่าง)พระราชบัญญัติที่เขาเสนอต่อรัฐสภา(ของเขา) ผู้เขียนไม่ทราบว่า จะมีนักวิชาการไทยจำนวนมากน้อยเพียงใดที่เคย “เห็น” หรือ เคย“อ่าน”เอกสารประเภทนี้ของประเทศที่พัฒนาแล้ว และถ้าได้เคยอ่าน ท่านก็คงจะทราบได้ว่า “คำชี้แจง สาระสำคัญฯ”ของ(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ) ที่จัดทำโดยองค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญของเรา(สภาร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการยกร่างฯ) อยู่ในสภาพเช่นใด
       
       กล่าวโดยทั่วไป ผู้เขียนต้องขออภัยต่อคณะกรรมาธิการยกร่างฯและสภาร่างรัฐธรรมนูญที่จะต้องกล่าวว่า ใน คำชี้แจง “สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ....”ซึ่งมีความยาวประมาณ ๑๓ หน้าครึ่งดังกล่าวมาแล้ว ผู้เขียนไม่คิดว่า มีข้อความใดที่จะให้ “ความรู้”แก่ประชาชน หรือทำให้คนไทยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการมีรัฐธรรมนูญเพิ่มขี้น
       “เอกสารคำชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”ของสภาร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการยกร่างฯ นอกจากจะไม่ทำให้คนไทยที่อ่าน(เอกสารฯ) ได้รับความรู้เพิ่มขึ้นและมีประสบการณ์เพิ่มขึ้นแล้ว ยังกลับทำให้ คนไทยมีความสับสน มองไม่เห็น “จุดหมาย”ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง ด้วยการทำรัฐประหาร
       และ ผู้เขียนก็ไม่คิดว่า ข้อความที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ (โดยคณะกรรมาธิการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ โทร. ๑๗๔๓) ลงโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่ในขณะนี้ทุก ๆ วัน โดยนำเอาบทบัญญัติของ(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เปรียบเทียบกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาพิมพ์เป็นตารางเปรียบเทียบเป็นรายมาตรา พร้อมทั้งมีคำอธิบายเล็ก ๆ น้อย ๆ จะช่วยให้ประชาชนที่จะออกเสียงประชามติในวันที่ ๑๙ สิงหาคมนี้ เข้าใจ(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาได้
       
       (๑) “คำชี้แจง สาระสำคัญฯ” เป้นข้อเท็จจริงที่ แสดงให้เห็นว่า องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ ขาดความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ
       

       นอกเหนือไปจากการเริ่มต้นแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยองค์การยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้วิเคราะห์ถึง “สาเหตุ”ของวิกฤติทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ให้เป็นไป ตามหลักวิชาการ - methodology (ซึ่งจะทำให้องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ สามารถกำหนด “จุดหมาย”และกำหนดมาตรการแก้ใขข้อผิดพลาดของรัฐธรรมนูญฉบับเดิม พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้อย่างถูกต้อง) แล้ว สิ่งที่ตามมา ก็คือ ความสับสนในการกำหนด “มาตรการ”(รายการ)ต่าง ๆ ที่องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยองค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญไม่สามารถจัดลำดับความสำคัญของมาตรการที่เสนอมาได้ว่า มาตรการใดเป็นมาตรการที่มุ่งหมายแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิด “การผูกขาดอำนาจรัฐ” และมาตรการใด เป็นเพียงหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกชน(เอกชน) ฯลฯ
       สิ่งที่ปรากฏใน “คำชี้แจง สาระสำคัญฯ” (ซึ่งแยกกำหนดเป็น ๔ แนวทาง) จึงไม่ตรงกับ “ปัญหา”ที่จะต้องแก้ ; ข้อเสนอขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ ดูเหมือนเป็นข้อเสนอที่ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างเสนอ และนำมาใส่ไว้เป็นบทบัญญติรัฐธรรมนูญตาม “แนวทาง”ที่กำหนดไว้ล่วงหน้า เช่น เช่น แนวทาง “การขยายสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้อย่างเต็มที่” หรือ แนวทาง “ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารงานของท้องถิ่น” ซึ่งดูจะห่างไกลกับความมุ่งหมายที่จะแก้ไขสาเหตุของ “การผูกขาดอำนาจรัฐ”
       ในทางตรงข้าม ในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัติ “ระบบสถาบันการเมือง”ซึ่งเป็นแกนของการแก้ปัญหาการผูกขาดอำนาจ กลับปรากฏอย่างกระจัดกระจายอยู่ใน “แนวทาง” และ “หัวข้อ” ต่าง ๆ เช่น การให้นายกรัฐมนตรีอยู่ได้ไม่เกิน ๒ สมัย / ห้ามควบรวมพรรคการเมืองในระหว่างอายุของสภา / ที่มาของส.ส.แบบ เขด – ส.สแบบ.สัดส่วน./ ส.ว.แบบเลือกตั้ง – ส.ว.แบบสรรหา ซึ่งแต่ละ “รายการ”ต่างเสนอแยกจากกันโดยไม่มีการเชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างกัน อีกทั้งไม่มีที่ใดใน “คำชี้แจง ฯ” ที่พิจารณาและกล่าวถึง การบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง / อำนาจของพรรคการเมืองในการให้ ส.ส.ต้องพ้นจากตำแหน่ง / ความสัมพันธ์ระหว่างการเป็นรัฐบาลกับสภาผู้แทนราษฎร / และระบบรัฐสภา ซึ่งล้วนแต่เป็นบทบัญญัติสำคัญที่เป็นสาเหตุของ “การผูกขาดอำนาจรัฐ” เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ
       ข้อเท็จจริงเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการยกร่างฯของเรา ไม่มีขีดความสามารถพอที่จะเขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อการปฏิรูปการเมืองได้
       
       “รูปแบบของการปกครอง – forms of government” คือ อะไร : หลักการเรื่องรูปแบบของการปกครองเป็น หลักการพื้นฐานของกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นส่วนของบทบัญญัติที่ว่าด้วยการจัดองค์กร ของสถาบันการเมือง ที่เป็นองค์กรสูงสุดที่ใช้อำนาจรัฐแทนประชาชนในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ; ซึ่งถ้ามี “ปัญหา” เกื่ยวกับการผูกขาดอำนาจรัฐ สิ่งแรกที่นักกฎหมายมหาชนหรือนักกฎหมายรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณา เป็นลำดับแรก ก็คือ forms of government ผู้เขียนรู้สึกแปลกใจมากที่ไม่ พบว่า มีนักวิชาการ(ไทย)พูดถึงปัญหาของ form of government ในรัฐธรรมนูญของไทย
       
       ถ้าท่านผู้อ่านสังเกตบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ (ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญของประเทศใด และไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนุญที่ยาวหรือสั้น) ท่านจะเห็นได้ว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญสามารถแยกออกได้เป็นส่วน ๆ ตามลักษณะของบทบัญญัติ แม้ว่าการแบ่งบทบัญญัติ(ของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ)เป็นส่วน ๆ อาจแตกต่างกันได้ แต่ใน “หลักการ” จะสามารถแยกได้ชัดเจน
       ผู้เขียนขอแยกลักษณะของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของไทยออกเป็น ๕ ส่วน ดังนี้ :- (๑) บทบัญญัติที่เกี่ยวกับประมุขของรัฐ (สถาบันพระมหากษัตริย์) ; (๒) บทบัญญัติทั่วไป ซึ่งได้แก่ บทบัญญัติที่ว่าด้วยหลักประกันสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน / หน้าที่พลเมือง / และแนวนโยบายของรัฐ ; (๓) บทบัญญัติที่เกี่ยวกับ “ระบบสถาบันการเมือง” ซึ่งได้แก่รัฐบาลและสภา และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกันสภา ; (๔) บทบัญญัติที่เกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่น ; และ (๕) บทบัญญัติที่เกี่ยวกับองค์กรสำคัญของรัฐ ซึ่งได้แก่ศาล และองค์กรอิสระ ฯ; และอาจมีบทบัญญัติอื่น ๆ อีกเล็กน้อย เช่น เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และบทเฉพาะกาล
       
       ในบรรดา ๕ ส่วนดังกล่าวข้างต้น บทบัญญัติส่วนที่สำคัญที่สุด คือ ส่วนที่ (๓) ว่าด้วย “ระบบสถาบันการเมือง” เพราะเป็นบทบัญญัติที่ ว่าด้วยสถาบันการเมืองสูงสุดที่ใช้อำนาจรัฐในการปกครองระบอบประชาธิปไตย
       ส่วนบทบัญญัติในส่วนที่ ๒ (บทบัญญัติทั่วไป) จะเป็นบทบัญญัติที่ไม่เกี่ยวกับกลไกหรือองค์กรบริหารของรัฐ คือ จะเป็นส่วนที่เรียกว่า inoperative articles ซึ่งได้แก่ บทบัญญัติที่ให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน / บทบัญญัติที่กำหนดสิทธิและหน้าที่ของพลเมือง / และบทบัญญัติว่าด้วยแนวนโยบายของรัฐ
       [ หมายเหตุ : ผู้เขียนไม่เคยพบว่า มีรัฐธรรมนูญของประเทศใด ที่นำเอาบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรของรัฐ มาเขียนปะปนไว้ในบทบัญญัติส่วนนี้ เพราะถ้าหากจะมี “องค์กรใด”ที่สมควรจะกำหนดให้จัดตั้งขึ้นโดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนุญ ผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญก็จะเอาไปเขียนไว้ในส่วนท้าย ๆของรัฐธรรมนูญที่เป็นบทบัญญัติว่าด้วยศาลและองค็กรการบริหารที่เป็นพื้นฐานของการปกครอง
       ดูเหมือนว่า เท่าที่เห็น จะ มีข้อยกเว้นก็คือ รัฐธรรมนูญของประเทศไทยเรานี่เอง ซึ่งน่าจะเพิ่งมาเริ่มต้นตั้งแต่การเขียนรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐นี้เอง เพราะผู้เขียนไม่พบในรัฐธรรมนูญ(ไทย)ฉบับก่อน ๆ ; ผู้เขียน เข้าใจว่า การที่เพิ่งมาเริ่มในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ นี้ น่าจะเกิดมาจากการที่ ผู้ที่มีส่วนในการยกร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนั้น ต้องการให้มีการจัดตั้ง “องค์กร”ที่ตนเองประสงค์ แต่ไม่แน่ใจว่าเมื่อมีรัฐบาลใหม่ขึ้นมาแล้ว รัฐบาลจะจัดตั้ง “องค์กร”ที่ตนเองต้องการหรือไม่ ดังนั้น ผู้นั้นก็เลยหาทางเขียนบังคับไว้ในตัวบทรัฐธรรมนูญ แต่ เมื่อหา “ที่” ที่จะเขียนลงไว้ในตอนท้ายของรัฐธรรมนูญไม่ได้ เนื่องจากองค์กรดังกล่าวเป็น “องค์กร”ที่ไม่มีความสำคัญพอที่จะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ(และไม่มีแบบอย่างของรัฐธรรมนูญต่างประเทศ) และเนื่องจากตนเองก็ยังไม่มีความคิดที่แน่นอนว่า จะกำหนดหลักการในเรื่องการจัดองค์กร(ขององค์กรที่ตนเองประสงค์ให้มี)ในรูปแบบอย่างไร ดังนั้น ก็อาศัยมา(ซุก)เขียนไว้ในส่วนต้น(บทบัญญัติทั่วไป)ของรัฐธรรมนูญ ตัวอย่างเช่น ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ก็จะมีบทบัญญัติเรื่อง “องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุฯและโทรคมนาคม” ที่ได้ถูกนำมาบัญญัติไว้ในหมวด ๓ ว่าด้วย สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย (มาตรา ๔๐) หรือ บทบัญญัติเรื่อง “สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ที่ได้ถูกบัญญัติไว้ในหมวด ๕ ว่าด้วย แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ (มาตรา ๘๙ เป็นต้น ซึ่งกรณีอย่างนี้ ต้องถือว่า เป็น uniqueness สำหรับประเทศไทย
       ในการเขียน(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่(พ.ศ. ๒๕๕๐)ครั้งนี้ ก็คงมีกรณีเช่นเดียวกันนี้เกิดขึ้นอีก และมีกรณีเพิ่มมากกว่าเดิม (พ.ศ. ๒๕๔๐) ดังปรากฏให้เห็น เช่น กำหนดให้มี “สภาพัฒนาการเมือง(มาตรา ๗๘(๗))” “กองทุนพัฒนาการเมือง (มาตรา ๘๗(๔)” “สภาเกษตรกร(มาตรา ๘๔(๘))” “องค์กรเพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม(มาตรา ๘๑(๔))” และ “องค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมาย(มาตรา ๘๑(๓))” ซึ่ง ทั้งหมดนี้ถูกบัญญัติไว้ในหมวด ๕ ว่าด้วย แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ; ในขณะที่ “สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ”(ซึ่งตาม รัฐธรรมนูญฉบับเดิม พ.ศ. ๒๕๔๐ อยู่ในหมวด ๕ ว่าด้วย แนวนโยบายพื้นฐานของรัฐ) ได้ถูกย้ายไปอยู่ในตอนท้ายของรัฐธรรมนูญ (มาตรา ๒๕๘) ในหมวด ๑๑ ว่าด้วย องค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่สำหรับ “องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุฯและโทรคมนาคม(มาตรา ๔๗)” ยังอยู่ในหมวด ๓ ว่าด้วย สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย
       การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศไทย (โดยองค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญของไทย) ดูเป็นที่น่าเพลิดเพลินในการศึกษาวิเคราะห์พอสมควร]

       
       ในการเขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญใหม่ “สิ่งแรก”ที่นักกฎหมายมหาชนและนักกฎหมายรัฐธรรมนูญ(ของต่างประเทศ) ที่ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ (ไม่ว่าของประเทศใด ๆ) จะต้องทำ ก็คือ การกำหนด “รูปแบบของการปกครอง”ของประเทศ ที่เรียกว่า “form of government” หรือบางที ก็เรียกว่า “system of government” ; เช่นเดียวกัน ในการตรวจดูว่า ประเทศใดเป็นประเทศที่มีการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย หรือเป็นประเทศที่มีการปกครองเป็นระบบเผด็จการ หรือในการตรวจดูว่าประเทศใด มีระบบการปกครองที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ (ซึ่งแม้ว่าจะเป็นประเทศที่เป็นระบอบประชาธิปไตยด้วยกัน แต่ก็อาจใช้ “รูปแบบ”ที่ต่างกัน) นักกฎหมายรัฐธรรมนูญก็จะต้องตรวจสอบบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในส่วนที่ว่าด้วย form of government นี้ก่อน
       แต่เป็นที่น่าแปลกใจ ว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศไทย(ไม่ว่าในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ หรือในปี พ.ศ. ๒๕๕๐) เท่าที่ผู้เขียนได้ติดตามมา ผู้เขียนไม่พบว่า ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการยกร่างฯก็ดี ในการอภิปรายของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ดี ตลอดจนในรายการสนทนาหรือการอภิปรายของนักวิชาการ(ไม่ว่าจะเป็นนักกฎหมายหรือนักวิชาการสาขาอื่น) ณ โอกาสและในสถานที่ต่าง ๆ ก็ดี รวมทั้งใน “คำชี้แจง สาระสำคัญฯ” ขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ก็ดี ได้มีการพูดถึง “ปัญหา”เรื่อง form of government ตามรัฐธรรมนูญของไทย
       ผู้เขียนเห็นว่า ข้อเท็จจริงนี้ เป็นเหตุการณ์ที่ค่อนข้างประหลาดเอามาก ๆ ; และดูเหมือนว่า นักวิชาการไทยทั้งประเทศ พูดกันแต่เรื่อง“การมีส่วนร่วมของประชาชน” โดยไม่รู้จักหรือไม่สนใจว่า form of government ตามรัฐธรรมนูญของไทยจะเป็นอย่างไร คือ ขอแต่เพียงให้ “ ประชาชนได้มีส่วนร่าม”เพื่อความเป็นประชาธิปไตย ก็แล้วกัน ส่วน form of government ตามรัฐธรรมนูญ(ไทย) จะเป็นอะไรก็ได้ (!) (!)
       
       ผู้เขียนเห็นว่า“การลดอำนาจรัฐ” ด้วยมาตรการต่าง ๆ ซึ่งเป็นข้อเสนอขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ (สภาร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการยกร่างฯ) โดยที่องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญมิได้วิเคราะห์ถึง วิธีการใช้ “อำนาจรัฐ”ในกลไกระบอบประชาธิปไตย ได้ทำให้การออกแบบ(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเราผิดพลาดอีกครั้งหนึ่งเป็นครั้งที่สอง หลังจากที่เคยผิดพลาดมาแล้วในการเขียนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ (และผู้เขียนเชื่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๐ ของเราจะไม่สามารถแก้ไข “การผูกขาดอำนาจรํฐ”ได้ และจะมีวิกฤติการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้น ตามมาอย่างแน่นอน)
       คำว่า “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจให้ประชาชน” ที่(ถูก) นำมาใช้เป็นคำ โฆษณา เพื่อชักชวนให้ประชาชนออกเสียงให้ความเห็นชอบใน(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นอกจากจะไม่ได้ทำให้ คนไทย มี “ความรู้”เพิ่มขึ้นแล้ว ยังจะ ทำให้คนไทยเกิดความเข้าใจผิดในบทบาทของ “ประชาชน”อีกด้วย และความเชื่ออย่างผิด ๆ นี้ ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยในการแก้ไขวิกฤติการณ์ทางการเมืองในอนาคตแล้ว ยังจะกลายเป็น “เตรื่องมือ”ของนักการเมือง (ที่มาจากการเลือกตั้ง)ในการแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวจากความอ่อนแอของสังคมไทยอีกด้วย
       [ หมายเหตุ ปัญหาเรื่อง forms of government นี้ ผู้เขียนจะได้ไปกล่าวใน ตอนที่ (๒) ข้อ (๑.๒) ว่าด้วย สิ่งที่(ประชาชน)ควรรู้ ก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ]
       
       (๒) “คำชี้แจง สาระสำคัญฯ”ของ องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญของเรา สร้าง “ประสบการณ์ที่ผิด”ให้แก่คนไทย ทั้งประเทศ
       
เมื่อองค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ(สภาร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการยกร่างฯ) มิได้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามกระบวนการวิเคราะห์ตามหลักวิชาการแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือ องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่สามารถเขียน“เอกสารประกอบร่างกฎหมาย (คำชี้แจง สาระสำคัญฯ)”ของ (ร่าง)รัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตาม มาตรฐาน (ของประเทศที่พัฒนาแล้ว)ได้
       คำชี้แจง สาระสำคัญฯขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ จึงมีลักษณะเป็นบันทึก เพื่อแสดงการเรียงลำดับ “รายการ”(มาตรการต่าง ๆ ) ที่ “บุคคล”ในองค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญต่างช่วยกันคิดช่วยกันเขียน โดยมิได้มีการกำหนดจุดมุ่งหมายที่แน่ชัด
       เท่าที่ปรากฎในขณะนี้ จะเห็นได้ว่า การชักชวนให้ประชาชนให้ความเห็นชอบใน(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในการออกเสียงประชามติ จึงอยู่ในแนวทางที่ว่า “ประชาชน”จะได้ประโยชน์(ส่านตัว)จากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญว่าด้วย“ สิทธิและเสรีภาพ” และจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญว่าด้วย “แนวนโยบายแห่งรัฐ”อย่างไรบ้าง แทนที่จะเป็น “เหตุผล”ว่า (ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้แก้ไข “ระบบสถาบันการเมือง”เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดอำนาจรัฐ (อันเป็นต้นเหตุของการขายทรัพย์สินของชาติและการคอร์รัปชั่นของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง) อย่างไร
       ผู้เขียนคงไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่เห็นด้วย กับ การนำบทบัญญัติเรื่องสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกชน(ซึ่งเป็นประโยชน์ส่วนตัว) มาเป็น “ประเด็น”ในการ(โฆษณา)ชักชวนให้ประชาชนออกเสียงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ) เพราะสภาพและพฤติกรรมของสังคมเป็นอย่างไร ก็คงต้องเป็นอย่างนั้น แต่ผู้เขียนเห็นว่า การชักนำให้ประชาชน คิดถึงแต่สิทธิและเสรีภาพของตนเอง (ในฐานะปัจเจกชน – individual) โดยผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่สร้างความเข้าใจใน “จุดหมาย”ของการมีรัฐธรรมนูญที่ถูกต้อง ควบคู่กันไปกับสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน ย่อมเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ผิด ให้แก่คนไทย ทั้งประเทศ
       

       “วัตถุประสงค์”ของการมีรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย คือ การสร้างระบบการบริหารบ้านเมือง (การปกครอง - government) ให้มีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และบทบัญญัติเรื่อง หลักประกันสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน เป็นเพียงข้อจำกัดที่จำเป็นในการบริหารประเทศ
       การที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ นำเอา “การขยายสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่” มาเป็นจุดหมายของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ (ตามที่ปรากฎใน “ คำชี้แจง สาระสำคัญ”) เป็นการทำให้ คนไทยโดยทั่วไป เข้าใจผิดใน “วัตถุประสงค์”ของการมีรัฐธรรมนูญ
       การกำหนด แนวทาง (ในการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเมือง ) ๔ แนวทางของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ พร้อมทั้ง “รายการ”(มาตรการ)ต่าง ๆ จำนวนมากนั้น ดูจะเป็นการกำหนดขึ้นตามความคิดทั่ว ๆ ไป(สามัญสำนึก) ที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ “เชื่อ”ว่า จะเป็นมาตรการที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศในอนาคตได้ มากกว่าที่จะเป็นการกำหนดขึ้นด้วย “เหตุผล”อันมาจากการวิเคราะห์ตามหลักวิชาการ (scientific approach)
       
       (๓) Referendum (ตาม รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๔๙) ในวันที่ ๑๙ สิงหาคม นี้ เป็น “referendum” ที่แตกต่างกับ “ระบบสากล”
       
ขณะนี้ ดูเหมือนว่า รัฐบาลและคนไทยเรากำลังตื่นเต้นกับการออกเสียงประชามติใน(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งกำหนดจะมีขึ้นในวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๐ ซึ่งจะเป็น “การออกเสียงประชามติ”ครั้งแรกของคนไทย เพราะคนไทยไม่เคยออกเสียงประชามติมาก่อน ; แต่ตามความจริงแล้ว “การออกเสียงประชามติ”ของคนไทยครั้งนี้ อาจจะเป็นการออกเสียงประชามติครั้งแรกของโลก ที่ประเทศอื่นไม่เคยทำมาก่อน เนื่องจากการทำประชามติของเรา(คนไทย) ในครั้งนี้ เป็นการออกเสียง “เลือก”ระหว่างสิ่งที่รู้ กับ สิ่งที่ไม่รู้ ; แต่ในการออกเสียงประชามติของประเทศอื่น ประชาชนของเขา “เลือก”ระหว่างสิ่งที่เขารู้ด้วยกัน คือ เขารู้ว่าถ้าเขาออกเสียงเลือกไม่เอาสิ่งหนึ่งแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เหลืออยู่ คืออะไร
       “มาตรา ๓๒ (ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๙) ในกรณีที่สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญไม่เสร็จภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๒๙ วรรคหนึ่งก็ดี สภาร่างรัฐธรรมนูญไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๘ วรรคสองก็ดี หรือในการออกเสียงประชามติตามมาตรา ๓๑ ประชาชนโดยเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติ ไม่เห็นชอบให้ใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ดี ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง และให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ได้เคยประกาศใช้บังคับมาแล้วฉบับใดฉบับหนึ่ง มาปรับปรุงให้แล้วเสร็จ ภายใน ๓๐ วันนับแต่วันออกเสียงประชามติไม่เห็นชอบ และนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญต่อไป
       ในการประชุมร่วมกันตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม”
       ซึ่งหมายความว่า ถ้าในการออกเสียงลงประชามติ(วันที่ ๑๙ สิงหาคม) ประชาชน(เสียงข้างมาก)ไม่เห็นชอบกับ(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่สภาร่างรัฐธรรมนูญเสนอ ประชาชนก็จะยังไม่ทราบว่า “รัฐธรรมนูญ”ฉบับที่จะนำมาใช้บังคับข้างหน้า จะได้แก่ รัฐธรรมนูญฉบับไหนและจะมีการแก้ไขอย่างไร
       
       ท่านนายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม ว่า ประชาชนมีสิทธิที่จะให้ความเห็นชอบ โดยจะเลือกรัฐธรรมนูญฉบับของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่เห็นกันอยู่แล้ว ก็ได้ หรือจะเลือกรัฐธรรมนูญฉบับที่ถืออยู่ข้างหลัง ก็ได้ ; ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีก็กล่าวไม่ผิด เพราะบทบัญญัติรัฐธรรมนูญปัจจุบันได้เขียนไว้เช่นนั้นจริง ๆ ส่วนท่านผู้ใดจะชอบหรือไม่ชอบวิธีการกำหนด“ทางเลือก”แบบไทย ๆ เช่นนี้ ก็คงแก้ไขไม่ได้ คงต้องรอให้มีการรัฐประหารครั้งใหม่และออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
       ด้วยเหตุนี้ ตามที่ปรากฎเป็นข่าวในหน้าหนังสื อพิมพ์ จึงได้มีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ แห่งหนึ่ง ออกมาให้สัมภาษณ์ เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติและรัฐบาลเปิดเผยให้ประชาชนทราบล่วงหน้าว่า คมช.และรัฐบาลจะนำเอารัฐธรรมนูญฉบับไหนมาใช้บังคับ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิ “เลือก”ได้ ( ดังเช่นการออกเสียงประชามติ ที่ทำกันอยู่ทั่ว ๆ ไป ในต่างประเทศ)
       สำหรับผู้เขียน ผู้เขียนมีความประสงค์เพียงแต่จะให้ข้อสังเกตไว้ว่า การออกเสียงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ตามวิธีการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๔๙) นี้ แตกต่างกับ referendum ในระบบสากลเท่านั้น เพราะสำหรับผู้เขียน การที่คณะมนตรีความมั่นนคงแห่งชาติและรัฐบาลจะเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยว่าจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับใด(ในกรณีที่ผู้ใช้สิทธิออกเสียงประชามติ ออกเสียงไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) ผลคงไม่แตกต่างกันมากนัก ; ซึ่งผู้เขียนได้เคยให้ความเห็นใว้แล้วในการประชุมสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา)ว่า ไม่ว่าจะใช้(ร่าง)รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ ฉบับใหม่ หรือ นำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ กลับมาใช้บังคับ ก็จะเป็นการเลือกระหว่าง สิ่งที่“เลว” กับสิ่งที่ “เลวกว่า” คือ การล้มเหลวของการบริหารประเทศในอนาคตที่ไม่ไกลนัก ; คณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้พาคนไทยมาพบ “ทางตัน”
       
       อ่านต่อ
       หน้า 11
       หน้า 12
       หน้า 13
       หน้า 14
       หน้า 15
       หน้า 16
       หน้า 17
       หน้า 18
        หน้า 19
       หน้า 20
       หน้า 21
       หน้า 22
       หน้า 23
        หน้า24
       หน้า 25
        หน้า26
       หน้า 27
        หน้า28
       หน้า 29


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544