หน้าแรก บทความสาระ
สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒ (หน้า๘)
ศ. ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
11 สิงหาคม 2550 16:06 น.
 
(ข) ข้อสังเกต ใน ๔ แนวทางของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ
       
ผู้เขียนได้ให้ข้อสังเกตเป็นการทั่วไปมาแล้ว ในข้อ (ข)นี้ ผู้เขียนจะได้ให้ข้อสังเกตโดยพิจารณาแยกในแต่ละ “แนวทาง”ตามที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ (และสภาร่างรัฐธรรมนูญ)ได้กำหนดไว้ ๔ แนวทาง
       คณะกรรมาธิการยกร่างฯ (และสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ได้กำหนดแนวทาง เพื่อแก้ใข ปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ที่ก่อให้เกิดการผูกขาดอำนาจรัฐและการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม ฯลฯ ไว้เป็น ๔ แนวทาง ดังนี้
       แนวทางที่ ๑ - การคุ้มครอง ส่งเสริม และการขยายสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่
       
แนวทางที่๒ - การลดการผูกขาดอำนาจรัฐ และขจัดการใช้อำนาจ อย่างไม่เป็นธรรม
       แนวทางที่๓ - การทำให้การเมืองมีความโปร่งใส มีคุณธรรม และจริยธรรม
       แนวทางที่๔ - การทำให้ระบบตรวจสอบมีความเข้มแข็ง และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
       
       ในจำนวน ๔ แนวทางนี้ ผู้เขียนจะขอให้ข้อสังเกตพอเป็นสังเขปเพื่อประโยชน์ในทางวิชาการ เว้นแต่ในแนวทางที่ ๒ ว่าด้วย การลดผูกขาดอำนาจรัฐ เท่านั้น ที่ผู้เขียนจะขอให้ข้อสังเกตที่ค่อนข้างยาว เพราะเป็น “รายการ” ที่เกี่ยวกับสถาบันการเมือง ซึ่งเป็นที่สนใจของคนทั่วไป
       ตามที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้นของการให้ข้อสังเกตฯ นี้ไว้แล้วว่า คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้กำหนดแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่(๔ แนวทาง) นี้ขึ้น โดยยังมิได้วิเคราะห์หา “สาเหตุ” ข้อผิดพลาดของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ดังนั้น แนวทางที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯกำหนดไว้ โดยกล่าวว่า “มุ่งจะแก้ปัญหาการผูกขาดอำนาจฯ” นั้น จึง(อาจ)ไม่ตรงกับ “ปัญหา” ที่แท้จริงได้
       การที่ผู้เขียนให้ข้อสังเกตในแนวทางเหล่านี้ ก็เพื่อจะให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาด้วยตัวของท่านเองว่า การกำหนดแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่รู้ถึง “สาเหตุ” ของความผิดพลาดฯ ได้ทำให้มาตรการต่าง ๆที่เป็นข้อเสนอของคณะกรรมาธิการยกร่างฯอาจ คลาดเคลื่อนได้อย่างไร
       
       (๑) แนวทางที่ ๑ - การคุ้มครอง ส่งเสริม และการขยายสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่
       ใน แนวทางที่ ๑ (ส่งเสริมและขยายสิทธิและเสรีภาพอย่างเต็มที่ ) : คณะกรรมาธิการยกร่าง ฯ ได้กล่าวขึ้นต้นไว้ ว่า “รัฐธรรมนูญจะต้องไม่ใช่รัฐธรรมนูญของคนเพียงหยิบมือเดียว คือนักการเมืองเท่านั้น แต่รัฐธรรมนูญต้องเป็นของประชาชน รัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีพื้นที่ รัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้ ฯลฯ” และคณะกรรมาธิการยกร่าง ฯ ได้แบ่งมาตรการสำหรับการแก้ไขด้วยการเพิ่มเติมบทบัญญัติฯในแนวทางที่ ๑ นี้ ออกเป็น ๕ หัวข้อคือ
       ๑ – เพิ่มประเภทสิทธิและเสรีภาพให้มากกว่าเดิม มี ๑๔ รายการ
       ๒ –ทำให้การใช้สิทธิและเสรีภาพง่ายขึ้น มี ๔ รายการ
       ๓ – ทำให้การใช้สิทธิและเสรีภาพมีมาตรการคุ้มครองฯ มี ๖ รายการ
       ๔ – ทำให้แนวนโยบายแห่งรัฐ มีความชัดเจน รอบด้านและผูกพันรํฐมากกว่าเดิม มี ๔ รายการ
       ๕ –ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารท้องถิ่นมากขึ้น มี ๔ รายการ
       [ หมายเหตุ รวมทั้งหมด ( ๕ หัวข้อ) มีจำนวน ๓๒ รายการ รายละเอียดและ “เรื่อง”ที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯแก้ไข โปรดดูได้จาก ข้อ (๑.๑) ]
       
       คณะกรรมาธิการยกร่างฯ( และสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ได้ให้ความสำคัญในแนวทางที่ (๑) ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ เป็นพิเศษ เพราะคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้เพิ่มเติมและแก้ไขบทมาตราในแนวทางนี้เป็นจำนวนมาก (๓๒ รายการ) ยาวถึง ๕หน้าเศษ (ในจำนวนทั้งหมด ๑๓หน้า) ; ส่วนอีก ๓ แนวทาง จะ มีรายการรวมกันเพียง ๗ หน้าเท่านั้น
       บทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพ ดูจะเป็นความภุมิใจของคณะกรรมาธิการยกร่างฯและสภาร่างรัฐธรรมนูญ และ คณะกรรมาธิการยกร่างฯ มีความเชื่อมั่นว่า ตนเองมีความสำเร็จในการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะสามารถหาสิทธิและเสรีภาพใหม่ ๆ ( ที่ไม่เคยมีบัญญัติอยู่ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทยฉบับก่อน ๆ ) มาบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เป็นครั้งแรกหลายประการ ซึ่งข้อความนี้ คณะกรรมาธิการยกร่างจะได้กล่าวย้ำใว้ในทุก ๆ ครั้งที่เป็นบทบัญญัติครั้งแรก
       
       ความเห็นของผู้เขียน ในชั้นนี้ ผู้เขียนคงจะยังไม่ให้ความเห็นว่า การนำสิทธิและเสรีภาพมาเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนมาก ๆ เช่นนี้ จะแก้ปัญหาเรื่อง “การผูกขาดอำนาจรัฐ”ได้หรือไม่ หรือจะก่อให้เกิดผลดีหรือผลเสียในการบริหารประเทศ
       
       คำกล่าวขึ้นต้นของแนวทางที่ (๑) ของคณะกรรมาธิการยกร่างฯตามที่ผู้เขียนนำมาให้ท่านผู้อ่านได้อ่านข้างต้นนี้ (เช่น คำว่า “รัฐธรรมนูญต้องเป็นของประชาชน” “(เป็น)รัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีพื้นที่” “(เป็น)รัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง” ผู้เขียนรู้สึกว่า ถ้อยคำเหล่านี้ ดูจะเป็นสำนวนของนักการเมืองทั่ว ๆ ไป มากกว่าที่จะเป็นข้อเขียนที่ให้ความรู้แก่ประชาชนของ องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ ; และในแนวทางที่ (๑)นี้ ผู้เขียนขอให้ข้อสังเกตไว้ ๒ ประการ
       
       (๑) ว่าด้วยการจัดแบ่งหัวข้อ (๕ หัวข้อ)ของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวคือ คณะกรรมาธิการยกร่างฯได้แบ่งหัวข้อในแนวทางที่ (๑) ว่าด้วย การคุ้มครอง ส่งเสริม และการขยายสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่” ออกเป็น ๕ หัวข้อ โดย ๓ หัวข้อแรก ( ๒๔ รายการ)เป็นหัวข้อว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ และ ต่อไปเป็นหัวข้อว่าด้วยแนวนโยบายของรัฐ ๑ หัวข้อ (มี ๔รายการ) และหัวข้อว่าด้วยท้องถิ่น ๑ หัวข้อ ( มี ๔ รายการ)
       หัวข้อที่ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ๓ หัวข้อ ( ๒๔ รายการ) คณะกรรมาธิการยกร่าง(และสภาร่างรัฐธรรมนูญ)ได้เรียงลำดับหัวข้อ ไว้ดังนี้ (๑) กรณีเพิ่ม(สิทธิเสรีภาพ) มากกว่าเดิม – ๑๔ รายการ ; (๒) กรณีใช้ (สิทธิเสรีภาพ) ง่ายขึ้นกว่าเดิม – ๔ รายการ และ (๓) กรณีทำให้การใช้(สิทธิเสรีภาพ)มีมาตรการคุ้มครองอย่างชัดเจน – ๖ รายการ
       
       สิ่งที่ผิดปกติ(ในทางวิชาการ)ที่เห็นชัด ก็คือ ในหัวข้อที่ว่าด้วย สิทธิและเสรีภาพ ๓ หัวข้อ ที่จัดแบ่งเรียงตามลำดับ คือ เพิ่มมากขี้นกว่าเดิม / ใช้ง่ายกว่าเดิม / มีมาตรการคุ้มครองอย่างชัดจน (มากกว่าเดิม) เป็นการจัดแบ่งหัวข้อที่ไม่มีประโยชน์ในทางวิชาการแต่อย่างใด
       แสดงให้เห็นถึงการจัดแบ่ง(หัวข้อ)โดยไม่มีการกำหนด “จุดหมาย”ของรายการต่าง ๆ ที่อยู่ในแต่ละหัวข้อ แต่เป็น“การจัดแบ่งหัวข้อ” เพียงเพื่อให้ทราบว่า มีสิทธิเสรีภาพอะไรเพิ่มขึ้นมาบ้าง / มีสิทธิเสรีภาพอะไรที่ใช้ได้ง่ายขึ้น / และมีสิทธิเสรีภาพอะไรมีมาตรการคุ้มครองมากกว่าเดิม โดยไม่ทราบ “รายการที่เพิ่มเติม”ขึ้นมาใหม่ในแต่ละหัวข้อนั้น เพิ่มเติมขึ้นมา เพื่ออะไร โดยมีวัตถุประสงค์อย่างไร ; ซึ่งทำให้ผู้เขียนยากที่จะนำ “รายการ”เหล่านั้นไปวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่จะตามมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ
       ตัวอย่างเช่น บทบัญญัติที่ให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพของเอกชน(เพื่อประโยชน์ส่วนบุคคลของปัจเจกชน) ย่อมจะมีผลแตกต่างกับบทบัญญัติที่ให้หลักประกันสิทธิของบุคคลผู้ด้อยโอกาส เช่น เด็ก / คนพิการ (เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสังคม) หรือเช่น การให้สิทธิฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อรักษาสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ก็จะมีผลแตกต่างกับ การให้สิทธิแก่ประชาชนในการฟ้องหรือขอถอดถอนนักการเมืองที่ทุจริต เป็นต้น
       ในการจัดแบ่งหัวข้อในทางวิชาการ จึงจะจัดแบ่งตามลักษณะ(เรื่อง)หรือตามจุดหมายของ“รายการ”ที่เขียนเพิ่มเติมขึ้น ทั้งนี้ เพื่อจะได้ตรวจดูได้ว่า “รายการ”ต่างๆในหัวข้อ (จุดหมายที่กำหนดไว้)นั้น มีรายการใดบ้าง และมีบทบัญญัติ(มาตรการ)เพียงพอ ที่จะทำให้บรรลุ “จุดหมาย”ที่กำหนดไว้ หรือไม่ ; พูดง่าย ก็คือ ในการจัดแบ่งหัวข้อตามหลักวิชาการ จะใช้หัวข้อเป็น “ตัวชี้วัด – KPI”ของการแก้กฎหมายว่า สิ่งที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นตรงตามจุดหมายที่กำหนดไว้(สำหรับการแก้กฎหมายนั้น) หรือไม่
       
       การจัดแบ่งหัวข้อในเรื่องสิทธิเสรีภาพในแนวทางที่ (๑)ของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ จึงไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ทางวิชาการได้ และเป็น”ข้อเท็จจริง”ที่ทำให้ผู้เขียนต้องกังวลถึง ภาระขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ (สภาร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการยกร่างฯ) ที่มีหน้าที่เขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะเป็นการปฏิรูปการเมืองให้แก่คนไทย
       
       (๒) ว่าด้วยลักษณะของบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ ผู้เขียนขอให้ข้อสังเกตไว้ด้วยว่า ในบรรดา“รายการ”ต่าง ๆ เกือบทั้งหมดในแนวทางที่ (๑) ที่องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ (สภาร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการยกร่างฯ)เสนอไว้นี้ จะเป็นรายการที่เป็นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญใน หมวดที่ ๓ (สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย) หมวด ๕ (แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ) และหมวด ๑๔ (การปกครองส่วนท้องถิ่น) ซึ่งเป็นบทบัญญัติในส่วนของรัฐธรรมนูญ ที่เรียกว่า “inoperative articles”
       บทบัญญัติที่เป็น inoperative articles คือ เป็นบทบัญญัติที่ไม่เกี่ยวกับสถาบันหรือกลไกของรัฐ ที่ใช้อำนาจรํฐ แต่เป็นบทบัญญัติที่ให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพหรือกำหนดแนวทางในการบริหารประเทศ ดังนั้น การที่บทบัญญัติในส่วนนี้ จะมีจำนวนมากมาตราหรือน้อยมาตรา ย่อมไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยได้ เพราะวิกฤติการณ์ทางการเมืองเกิดจากการผูกขาดอำนาจรัฐที่มาจากสถาบันการเมือง
       ข้อผิดพลาดของรัฐธรรมนูญฉบับเดิม (พ.ศ. ๒๕๔๐) ที่ถูกรัฐประหารยกเลิกไป มิได้เกิดจากการมีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ / แนวนโยบายพื้นฐานของรัฐ / การปกครองส่วนท้องถิ่น มีจำนวนมาตราน้อยเกินไป แต่วิกฤติการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้น เพราะ ความผิดพลาดในการออกแบบ “ระบบสถาบันการเมือง”ที่ทำให้เกิดระบบเผด็จการทางรัฐสภาโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)
       
       รัฐธรรมนูญของต่างประเทศจำนวนมากที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ /แนวนโยบายของรัฐ / ฯลฯ มีจำนวนน้อยกว่ารัฐธรรมนูญของประเทศไทย แต่ในทางปฏิบัติ ประชาชนของประเทศนั้นมีสิทธิเสรีภาพมากกว่าคนไทย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบของการจัด “ระบบสถาบันการเมือง”; ถ้าประเทศใดสามารถจัดระบบสถาบันการเมืองได้ดี การบริหารของประเทศนั้นก็จะมีประสิทธิภาพ และ กฎหมายที่จะ(ถูก)ตราขึ้นโดยสถาบันการเมือง ก็จะเป็น “กฎหมาย(ที่ดี)” และ สิทธิเสรีภาพของประชาชน ก็จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเอง
       ตราบใดที่ “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ”ของเราไม่สามารถอธิบายได้ว่า บทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับ “ระบบสถาบันการเมือง”จะสามารถแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเมืองของประเทศในอนาคตได้ ผู้เขียนไม่คิดว่า การเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน(ประโยชน์ของปัจเจกชนส่วนตัว)ให้มีจำนวนมากขึ้น จะเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะกล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดีกว่ารัฐธรรมนูญฉบับเดิม พ.ศ. ๒๕๔๐ ; ผู้เขียนคิดว่า องค์กรร่างรัฐธรรมนูญ (สภาร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการยกร่างฯ) อาจจะแก้ปัญหาผิดที่
       
       อันที่จริง แล้ว รัฐธรรมนูญของไทย (พ.ศ. ๒๕๔๐) ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ ฯลฯ ยาวอยู่แล้วในบรรดารัฐธรรมนูญของ ประเทศต่าง ๆ (ที่มีบทบัญญัติยาว ๆ ด้วยกัน)ไม่กี่ประเทศ; และขณะนี้ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเรา ได้มีบทบัญญัติในส่วนนี้เพิ่มเติมขึ้นมาอีกมาก และมีการแบ่งหมวด ๓ (สิทธิเสรีภาพ) ออกเป็น “ส่วน”ต่าง ๆตามประเภทของสิทธิเสรีภาพอย่างสวยงาม ถึง ๑๓ ส่วน (ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศไทย (พ.ศ. ๒๕๕๐) อาจสมควรได้รับการบันทึกลงไว้ในบุคออฟเร็คคอร์ดส เพราะมีการแบ่งหมวดหมู่ได้สวยงาม
       
       (๒) การแก้ใขบทบัญญัติ รธน. ในแนวทางที่ ๒ (ลดการผูกขาด “อำนาจรัฐ”และขจัดการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม) โดยคณะกรรมการมาธิการยกร่าง ฯ ได้กล่าวขี้นต้นไว้ว่า “รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ (ฉบับเดิม)มุ่งเน้นให้มีรัฐบาลที่เข้มแข็งมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ความเข้มแข็งและมีประสิทธภาพต้องไม่ใช่การผูกขาดอำนาจแต่เพียงผู้เดียว จนนำไปสู่การใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม จำเป็นอย่างยิ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องลดการผูกขาดอำนาจและสร้างดุลยภาพของอำนาจทางการเมืองขึ้น” ; และคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้กำหนดมาตรการสำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในแนวทางนี้ไว้ ๕ หัวข้อ คือ
       ๒.๑ เสริมสร้างอำนาจทางการเมืองให้แก่ประชาชน เพี่อให้ประชาชนเป็นผู้เล่น มีใช่เป็น “ ผู้ดู”ทางการเมืองอีกต่อไป ( มี ๓ รายการ ที่อ้างอิงมาจากในแนวทางที่ ๑)
       ๒.๒ จำกัดการผูกขาดอำนาจและการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมของรัฐบาล (มี ๗ รายการ)
       ๒.๓ ให้คนดีมีความสามารถ เป็น ส.ส. และเป็นอิสระจากการครอบงำของพรรคการเมือง ฯเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนประชาชนอย่างเต็มที่ (มี ๓ รายการ)
       ๒.๔ ให้ ส.ว. ปลอดจากอิทธิพลของพรรคการเมืองอย่างแท้จริง (มีรายการเดียว)
       ๒.๕ ห้าม ส.ส. และ ส.ว.แทรกแซงข้าราชการประจำ (มีรายการเดียว)
       
       ความเห็นของผู้เขียน ในแนวทางที่ (๒) นี้ เป็นแนวทางที่สำคัญที่สุดและเป็นแนวทางที่น่าศึกษาวิเคราะห์มากที่สุดในบรรดา ๔ แนวทางของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เพราะเป็นแนวทางที่เกี่ยวกับสถาบันการเมือง
       คำขึ้นต้นของ ของแนวทางที่ (๒) ก็คงมิได้มีสาระที่จะให้ “ความรู้”แก่ประชาชนเช่นเดียวกับแนวทางที่ (๑) คณะกรรมาธิการยกร่างฯกล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จำเป็นจะต้องลดการผูกขาดอำนาจและสร้างดุลยภาพของอำนาจในทางการเมืองขึ้น
       การจัดแบ่งหัวข้อในแนวทางที่ (๒)ของ คณะกรรมาธิการยกร่าง แบ่ง ออกเป็น ๕ หัวข้อ ดังนี้ : หัวข้อ (๒.๑)ว่าด้วย การเสริมสร้างอำนาจทางการเมืองให้แก่ประชาชนฯ ; หัวข้อ (๒.๒) ว่าด้วยรัฐบาล (จำกัดการผูกขาด) ; และหัวข้อ (๒.๓) ว่าด้วย ส.ส.(เป็นอิสระจากพรรคการเมืองอย่างเต็มที่ ); หัวข้อ (๒.๔) ว่าด้วย ส.ว.(ปลอดจากอิทธิพลพรรคการเมืองอย่างแท้จริง) ; และ หัวข้อ (๒.๕) ว่าด้วย ส.ส. และ ส.ว. กับข้าราชการประจำ
       
       เพื่อหลีกเลี่ยงการพิจารณาที่แยกเป็นส่วน ๆ และมองไม่เห็นความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรทางการเมือง ผู้เขียนจะขอให้ข้อสังเกตใน ๕ หัวข้อดังกล่าวข้างต้น โดยจะเรียงลำดับเรื่องใหม่ให้เป็นไปตามลำดับดังนี้ คือ ผู้เขียนจะกล่าวถึง หัวข้อ (๒.๑) (ว่าด้วยการเสริมสร้างอำนาจทางการเมืองให้แก่ประชาชน) ก่อน และต่อจากนั้น ผู้เขียนจะกล่าวถึง หัวข้อ (๒.๒) ถึง (๒.๕) (ซึ่งเป็นเรื่องว่าด้วยองค์กรทางการเมือง) รวมกัน โดยจะแยกเป็น ฝ่ายนิติบัญญัติ ( “ที่มาของ ส.ส.” และ “ที่มาของ ส.ว.”) และฝ่ายบริหาร (“ที่มาของรัฐบาล”)
       
       หัวข้อที่ (๒.๑) ว่าด้วย เสริมสร้างอำนาจทางการเมืองให้แก่ประชาชน คณะกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวว่า เพื่อให้ประชาชนเป็น “ผู้เล่น”มิใช่ “ผู้ดู”อีกต่อไป จะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองในทุกด้าน / ให้ประชาชนมีอำนาจฟ้องร้องรัฐ / ลดจำนวนประชาชนในการใช้สิทธิเสนอกฎหมาย (เหลือ ๑๐๐๐๐คน)และในการถอดถอนนักการเมือง ( เหลือ ๒๐๐๐๐ คน) ฯลฯ ; ซึ่งในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิของประชาขนนี้ ผู้เขียนได้ให้ข้อสังเกตไว้แล้วในการวิเคราะห์แนวทางที่ (๑)ข้างต้นแล้ว และ ดังนั้น ผู้เขียนจึงจะไม่กล่าวซ้ำอีก แต่ผู้เขียนเชื่อว่า การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเสริมสร้างอำนาจทางการเมืองแก่ประชาชน โดยองค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ(ที่แก้รัฐธรรมนูญ)ขาดพื้นฐานความรู้ทางกฎหมายและสังคมวิทยา และขาดการพิจารณากำหนดเงื่อนไขในรายละเอียด(ที่รอบคอบฯ)สำหรับการใช้สิทธิของประชาชน อาจ จะเป็นผลเสียแก่ระบบบริหารประเทศ มากกว่าที่จะก่อให้เกิดประโยชน์
       
       หัวข้อ ที่ (๒.๒) (๒.๓) (๒.๔) และ (๒.๕) ว่าด้วย “องค์กรทางการเมือง”; บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับ องค์กรทางการเมือง เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นบทบัญญัติ ที่เกี่ยวกับ “ระบบสถาบันการเมือง” ที่เป็นองค์กรสูงสุดของประเทศ ที่ใช้อำนาจรัฐ (แทนประชาชน) ; อำนาจของสถาบันการเมือง เป็นแหล่งที่มาของอำนาจบริหารและการตรา “กฎหมาย(พระราชบัญญัติ)”ที่จะออกมาใช้บังคับ รวมทั้งเป็นอำนาจที่จะแก้ไขบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้ เอง
       ดังนั้น ถ้าบทบัญญัติในส่วนนี้ ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ “ไม่ดี”แล้ว การบริหารประเทศในอนาคต ก็จะประสบความล้มเหลว ทั้งนี้ โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่า บทบัญญัติในส่วนอื่นของรัฐธรรมนูญ เช่น บทบัญญัติในเรื่อง หลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ฯลฯ จะมีมากมาตราหรือน้อยมาตรา
       
ดังนั้น เราลองมาตรวจดูว่า องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ (สภาร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมมาธิการยกร่างฯ)ได้เขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในส่วนที่เกี่ยวกับ “องค์กรทางการเมือง”หรือ “สถาบันทางการเมือง” ให้เราไว้อย่างไรบ้าง
       
       (ก) ในด้านของฝ่ายนิติบัญญัติ ( ส.ส. และ ส.ว.) ผู้เขียนขอเรียนไว้ตั้งแต่ต้นว่า ผู้เขียนมีความเห็นว่า ทั้ง “ที่มาของ ส.ส.”และ“ที่มาของ ส.ว” ตาม (ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ไม่ได้แก้ไขข้อผิดพลาดในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ แต่อย่างใด
       
       “ที่มา”ของ ส.ส. (ในข้อ ๒.๓) คณะกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวขึ้นต้นไว้ว่า “ให้คนคีมีความสามารถเป็น ส.ส. และเป็นอิสระจากการครอบงำของพรรคการเมือง เพื่อทำหน้าที่ผู้แทนประชาชนได้อย่างเต็มที่” แต่เมื่อผู้เขียนได้ตรวจดูมาตรการฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า มาตรการที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯเสนอ แก้ไขไว้นั้น จะเกิด “ผล”ตามที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้กล่าวไว้
       
       คณะกรรมาธิการยกร่างได้แก้ไขบทบัญญัติที่เกี่ยวกับ ส.ส.ไว้ ๒ ประการ คือ ประการแรก เกี่ยวกับ “การปรับปรุงระบบเลือกตั้ง ส.ส. (เขตเลือกตั้ง) ” และ ประการที่สอง เกี่ยวกับความเป็นอิสระของ ส.ส.จาก “พรรคการเมือง”
       (๑) การปรับปรุงระบบการเลือกตั้ง ส.ส. คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.ใน ๒ ประเด็น คือ ประเด็นแรก(ส.ส. เขต) การเลือกตั้ง ส.ส.เขต (จำนวน ๔๐๐ คน) ได้กำหนดให้ใช้เขตเลือกตั้งให้ใหญ่ขึ้น โดยกำหนดให้เลือกสามคนต่อหนึ่งเขต (เดิม รธน. ๒๕๔๐ ใช้ระบบเขตเดียวคนเดียว) โดยคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เขียนให้เหตุผลไว้ว่า “เพื่อให้คนดีมีความสามารถแข่งขันกับคนที่ใช้เงินได้” ; และประเด็นที่สอง (ส.ส. แบบสัดส่วน) การเลือกตั้งส.ส. แบบสัดส่วน (จำนวน ๘๐ คน) (เดิม รธน. ๒๕๔๐ เรียกว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อ และใช้คะแนนเสียงรวมเป็นเขตเดียวทั้งประเทศ) ได้กำหนดให้ใช้บัญชีรายชื่อและใช้คะแนนเสียงรวมตามกลุ่มจังหวัด จำนวน ๘ กลุ่ม(๘ เขตเลือกตั้ง) โดยคณะกรรมาธิการยกร่างฯให้เหตุผลว่า “เพื่อมิให้มีการกระจุกตัวผู้แทนราษฎรแต่ในส่วนกลาง”
       
ความเห็นของผู้เขียน ผู้เขียนมีความเห็นที่แตกต่างไปจากคณะกรรมาธิการยกร่างฯและสภาร่างรัฐธรรมนูญ คือ ในประเด็นแรก(ส.ส. เขต) การเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งให้ใหญ่ขึ้นเป็น ๓ คนต่อหนึ่งเขต เป็นระบบที่ให้ประโยชน์แก่ “คนที่ใช้เงิน”มากกว่า “คนดี” เพราะเปิดโอกาสคนที่ใช้เงินรวมตัวเข้าด้วยกัน รวมทั้งอาจอุ้มพรรคพวกให้ได้รับเลือกตั้งเข้าไปได้ทั้งพวง ๓ คน ซึ่งแตกต่างกับการเลือกตั้งระบบเขตเดียวคนเดียว ซึ่ง เป็นระบบที่ชัดเจน เพราะเป็นการเลือกตั้งเพื่อให้ได้ “คน”ที่ประชาชนต้องการมากที่สุดเพียงคนเดียวในแต่ละเขต และเป็นระบบการเลือกตั้งที่แสดงให้เห็นได้ชัดว่า ชุมชนในแต่ละเขตเลือกตั้งมีพฤติกรรมอย่างใด และมีความรับผิดชอบเพียงใด ดังนั้น การกำหนดเขดเลือกตั้งระบบเขตเดียวคนเดียวตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ จึงดีกว่า(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ;
       ประเด็นที่สอง (ส.ส. แบบสัดส่วน) ผู้เขียนมีความเห็นว่า ในประการแรก เราต้องถามตัวเราเองก่อนว่า การที่เรากำหนดให้มี “ส.ส.แบบสัดส่วน”เพิ่มขึ้นมาจาก ส.ส.เขต (เป็นจำนวนประมาณ ๑ ใน ๔ ของ ส.ส.เขต)นั้น เราต้องการอะไร ผู้เขียนเห็นว่า การที่เรากำหนดให้มี “ส.ส.แบบสัดส่วน (เดิมเรียกว่า ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ)”นั้น เป็นเพราะเราต้องการ “คนที่ดีที่สุด”ของประเทศ และดังนั้น ใช้คะแนนรวมของผู้ใช้สิทธิออกเสียงทั้งประเทศ จึงเป็นการถูกต้อง ; เรามิได้ต้องการ “คนที่ดีที่สุด”ในแต่ละภาค(กลุ่มจังหวัด) เนื่องจากในสภาผู้แทนราษฎรของเรา เรามี “ ส.ส.เขต”ที่เป็นผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งกระจายตามเขตจังหวัดงทั้งประเทศอยู่แล้ว
       [ หมายเหตุ และผู้เขียนมีความแห็นว่า ไม่มีความจำเป็นและไม่มีประโยชน์อย่างใด ที่จะต้องเปลี่ยนชื่อ จาก “ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ” มาเป็น “ส.ส.แบบสัดส่วน” เพราะคำว่า ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อนั้น มีความหมายตรงกับความเป็นจริงอยู่แล้ว ; การเปลี่ยนชื่อเป็น “ ส.ส.แบบสัดส่วน” ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในทางทฤษฎีได้ เพราะคำว่า “proportional representation” เขาหมายถึง “ลักษณะ”ของสภาผู้แทนราษฎรทั้งสภาที่ต้องเป็นระบบการมีผู้แทนแบบสัดส่วน ; การที่สภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทย ซึ่งมีสมาชิกอยู่ ๒ ประเภท โดยเป็น ส.ส. เขต (ที่บังคับให้ต้องสังกัดพรรคการเมือง)จำนวน ๔๐๐ คน และเป็น ส.ส. อีกจำนวนหนึ่ง ๘๐ คน (หรือ ๑๐๐ คน)เลือกตามบัญชีรายชื่อ ซึ่งไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งอย่างไร ก็จะไม่ทำให้สภาผู้แทนราษฎรของเรากลายเป็นระบบ proportional representation ขึ้นมาได้ ; ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อมีการแปลรัฐธรรมนูญไทยเป็นภาษาต่างประเทศ นักวิชาการของต่างประเทศเขาจะเข้าใจผิดเมื่ออ่านรัฐธรรมนูญของประเทศไทยได้(ถ้าไม่อ่านในรายละเอียด) และคิดว่าประเทศไทยมีสภาผู้แทนราษฎรเป็น proportional representation ]
       
       อ่านต่อ
        หน้า 9
       หน้า 10
       หน้า 11
       หน้า 12
       หน้า 13
       หน้า 14
       หน้า 15
       หน้า 16
       หน้า 17
       หน้า 18
        หน้า 19
       หน้า 20
       หน้า 21
       หน้า 22
       หน้า 23
        หน้า24
       หน้า 25
        หน้า26
       หน้า 27
        หน้า28
       หน้า 29


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544