หน้าแรก บทความสาระ
สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒ (หน้า๕)
ศ. ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
4 สิงหาคม 2550 14:32 น.
 
*** ส่วนที่ ๒ กรณีศึกษา – case study : การวิเคราะห์ “( ร่าง) รัฐธรรมนูญ” ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ชุดที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๕๐)
       
       ความนำ ว่าด้วย “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ” ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๔๙
       
ก่อนที่เราจะศึกษาวิเคราะห์การเขียน(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราคงจะต้องทำความรู้จักกับ “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นผู้ที่รับผิดชอบในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และคงจะต้องทราบว่า “ใคร” คือ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เรา ไว้พอเป็นสังเขป
       
       องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้แก่ สภาร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ที่ถูกจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๔๙ ของ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมูข” ที่ได้ทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙
       
       สภาร่างรัฐธรรมรัฐธรรมนูญ มีสมาชิกจำนวน(ไม่เกิน) ๑๐๐ คน มาจากการเลือกกันเองในระหว่างสมาชิกของ “สมัชชาแห่งชาติ” ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งขึ้น โดยมีประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองฯ) เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ตามวิธีการดังต่อไปนี้
       
“สมัชชาแห่งชาติ” ประกอบด้วยสมาชิกที่ทรงแต่งตั้งโดยมีประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ มีจำนวน(ไม่เกิน) ๒๐๐๐ คน จากบุคคลที่มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด และมีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๘ ปี (มาตรา ๒๐)
       ในการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ให้คำนึงถึงบุคคลจากกลุ่มต่าง ๆ ใน ภาครัฐ / ภาคเอกชน / ภาคสังคม / และภาควิชาการ จากภูมิภาคต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ( มาตรา ๕ ว.สาม)
       สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ใช้สิทธิเลือกกันเองเพื่อให้เป็นผู้มีสิทธิเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน ๒๐๐ คน (โดยสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ มีสิทธิเลือกได้คนละไม่เกิน ๓ ชื่อ) ; ต่อจากนั้น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(บุคคลในคณะปฏิรูปการปกครองฯ) จะคัดเลือกให้เหลือเพียง ๑๐๐ คน และนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (มาตรา ๒๒ และ มาตรา ๒๓)
       [ หมายเหตุ ในการเลือกกันเองในระหว่างสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ (จำนวน ๒๐๐๐ คน) ให้เหลือจำนวน ๒๐๐ คนนั้น ปรากฏว่า ผู้ที่ได้รับเลือกที่มีคะแนนสูงสุด ได้รับ ๕๕คะแนน และผู้ที่ได้รับเลือกที่มีคะแนนต่ำสุด ได้รับ ๗ คะแนน ทั้งนี้โดยมีผู้ที่ได้รับคะแนน ๗ คะแนนเท่ากันจำนวน ๑๖ คน ซึ่งทำให้มีจำนวนเกินกว่า ๒๐๐ คน และต้องตัดสิน ด้วยการจับสลาก)
       ในบรรดาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ๒๐๐๐ คน มีสมาชิกสมัชชาที่ไม่เลือกแม้แต่ตัวเอง คือไม่ได้รับคะแนนเสียงเลย จำนวน ๖๕๖ คน (ส่วนหนึ่ง อาจเป็นเพราะไม่มีเจตนาแท้จริงที่จะเป็น ส.ส.ร. หรืออาจเป็นไปได้ ที่อีกส่วนหนึ่งอาจเป็นคะแนนเสียงจัดตั้งที่แฝงอยู่ คือ แต่งตั้งมาสำหรับให้เลือกบุคคลอื่น ); สมาชิกที่ได้รับคะแนนเสียง ๑ คะแนน จำนวน ๔๓๓ คน (ส่วนใหญ่ อาจมาจากคะแนนที่เลือกตนเอง); และสมาชิกที่ได้รับคะแนนเสียง ๒ – ๓ คะแนน จำนวน ๔๖๖ คน โดยเป็นผู้ที่ได้รับคะแนนเสียง ๒ คะแนน จำนวน ๒๗๗ คน และผู้ที่ได้รับคะแนนเสียง ๓ คะแนน จำนวน ๑๘๙ คน (ส่วนใหญ่ของผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงกลุ่มนี้ อาจมาจากการแลกเปลี่ยนคะแนนเสียงระหว่างกันเอาง และไม่ได้รับคะแนนเสียงจากบุคคลอื่นเลย ); และ เมื่อรวมจำนวนสมาชิกสมัชชาทั้งหมด ที่ได้รับเลือก จาก ๐ ถึง ๓ คะแนน จะเป็นจำนวน ๑๕๕๕ คน ในจำนวนทั้งหมด ๒๐๐๐ คน ]
       สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ.(หลังจากที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติคัดเลือกให้เหลือ ๑๐๐ คนแล้ว) ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๐ ; และในจำนวนสมาชิกฯทั้งหมด อาจแยกเป็นภาค(อาชีพ)ได้ดังนี้ คือ มาจาก ภาครัฐ ๒๘ คน / ภาคเอกชน ๒๗ คน / ภาคสังคม ๒๓ คน /ภาควิชาการ ๒๒ คน และอาจจำแนกตามภูมิภาคได้ดังนี้ คือ ภาคเหนือ ๑๐ คน / ภาคกลาง ๖๘คน / ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๑๒ คน / และ ภาคไต้ ๑๐ คน
       ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้แก่ นายนรนิติ เศรษฐบุตร
       รองประธานฯ คนที่หนึ่ง ได้แก่ นายเสรี สุวรรณภานนท์
       รองประธานฯ คนที่สอง ได้แก่ นายเดโช สวนานนท์
       
       คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีจำนวน(ไม่เกิน) ๓๕ คน แต่งตั้งโดย “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” จากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งจะเป็นหรือไม่เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ โดยแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม คือ จำนวน ๒๕ คนแต่งตั้งจากการคัดเลือกตามมติของสภาร่างรัฐธรรมนูญเอง และอีก ๑๐ คนแต่งตั้งตามคำแนะนำของประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ
       [ หมายเหตุ ปรากฏว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญได้แต่งตั้งกรรมาธิการยกร่างฯ จำนวน ๒๕ คนจากบุคคลที่เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งหมด โดยไม่แต่งตั้งจากบุคคภายนอก]
       
       รายชื่อของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีดังต่อไปนี้
       
       ๑. นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์          ๒. ศ.เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม
       ๓. นานคมสัน โพธิ์คง                   ๔. นายจรัญ ภักดีธนากุล
       ๕. นายชูชัย ศุภวงศ์                     ๖. ศ.ไชยยศ เหมะรัชตะ
       ๗. นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์              ๘. นายธงทอง จันทรางศุ
       ๙. นายธนบูลย์ จิรานุวัฒน์              ๑๐. นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์
       ๑๑. ผศ. ธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย           ๑๒. รศ.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
       ๑๓. นายนุรักษ์ มาประณีต             ๑๔. นายปกรณ์ ปรียากร
       ๑๕. นายประพันธ์ นัยโกวิท            ๑๖. นาวาอากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ
       ๑๗. น.ส.พวงเพชร สารคุณ.           ๑๘. นายพิสิฐ ลี้อาธรรม
       ๑๙. นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์      ๒๐. นายไพโรจน์ พรหมสาส์น
       ๒๑. นายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด       ๒๒. นายามนิจ สุขสมจิตร
       ๒๓. นายวิจิตร วิชัยสาร                 ๒๔. ศ.(พิเศษ)วิชา มหาคุณ
       ๒๕. นายวิทยา งานทวี                  ๒๖. รศ. วุฒิสาร ตันไชย
       ๒๗. รศ. ศรีราชา เจริญพานิช         ๒๘. นางสดศรี สัตยธรรม
       ๒๙. นายสนั่น อินทรประเสริฐ         ๓๐. ศ. สมคิด เลิศไพฑูรย์
       ๓๑. นายสุพจน์ ไข่มุกด์                 ๓๒. นาย อัครวิทย์ สุมาวงศ์
       ๓๓. นางอังคณา นีละไพจิตร          ๓๔. นายอัชพร จารุจินดา
       ๓๕. พลเอก อัฎฐพร เจริญพานิช
       ในจำนวนนี้ เป็นกรรมาธิการฯ ที่แต่งตั้งตามคำแนะนำของประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ๑๐ คน ได้แก่
       (๑) พล.อ.อัฏฐพร เจริญพานิช กรมทหารพระธรรมนูญ
       (๒)นายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด ศาลฎีกา
       (๓) นายอัชพร จารุจินดา สนง.คณะกรรมการกฤษฎีกา
       (๔) นายสุพจน์ ไข่มกต์
       (๕) นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดกระทรวงยุติธรรม
       (๖) นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสมาคมทนายความ
       (๗) น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีต ลธ.สภาความมั่นคงฯ และ สนช.
       (๘) นายธนบูลย์ จิรานุวัฒน์ ม.รังสิต ต่อมาแทนโดยนายวิจิตร สุระกุล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัด
       (๙) นายวิจิตร วิชัยสาล ผู้ว่าราชการจังหวัด
       (๑๐) นางกาญจนรัตน์ ลีวิโรจน์ สนง.ศาลปกครอง
       
       ประธานคณะกรรมาธิการ ฯ นาวาอากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ
       รองประธาน คนที่หนึ่ง นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์
       รองประธาน คนที่สอง นายจรัล ภักดีธนากุล
       รองประธาน คนที่สาม ศ.(พิเศษ) วิชา มหาคุณ
       รองประธาน คนที่สี่ นายชูชัย ศุภวงศ์
       เลขานุการ ศ. สมคิด เลิศไพฑูรย์
       
       คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษาเรื่องต่าง ๆ รวม ๖ คณะ คือ
       (๑) คณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกรอบที่ ๑ ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชน และการกระจายอำนาจ (นายชูชัย ศุภวงศ์ เป็น ประธานฯ )
       (๒) คณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกรอบที่ ๒ ว่าด้วย สถาบันการเมือง (นายจรัญ ภักดีธนากุล เป็น ประธานฯ )
       (๓) คณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกรอบที่ ๓ ว่าด้วย องค์กรตรวจสอบอิสระและศาล (นายวิชา มหาคุณ เป็น ประธานฯ )
       (๔) คณะอนุกรรมาธิการติดตามผลและประสานการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของปร ะชาชน (นายไพโรจน์ พรหมสาส์น เป็น ประธานฯ )
       (๕) คณะอนุกรรมาธิการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (ศ.ไชยยศ เหมะรัชตะ เป็น ประธานฯ )
       (๖) คณะอนุกรรมาธิการจัดทำข้อเสนอแนะในการตราหรือแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ (นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ เป็น ประธานฯ )
       
       คณะกรรมาธิการฯ ได้ประชุมเป็นครั้งแรก ในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๐ และประชุมครั้งสุดท้าย เมื่อ วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๐ ใช้เวลาประมาณ ๓ เดือน และมีการประชุมรวมทั้งสิ้น ๒๘ ครั้ง โดยมีการสัมมนาเพื่อสรุปความคิดเห็นในการร่างรัฐธรรมนูญ ๒ ครั้ง ที่จังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดชลบุรี
       
       เมื่อเราได้ทราบแล้วว่า “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ” (สภาร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมาธิการยกร่างฯ) ของเรา จัดตั้งขึ้นมาได้อย่างไร และ ใคร(ผู้ใด)เป็นผู้มาเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เราแล้ว ต่อไปนี้ จะเป็น “ส่วน”ที่ว่าด้วยการศึกษาวิเคราะห์ “ผลงาน”ขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ ดังกล่าวข้างต้น
       
       ในส่วนที่ ๒ (กรณีศึกษา - case study) นี้ ผุ้เขียนขอแยกออก เป็น ๓ ตอน คือ ตอนที่ (๑) เป็นตอนที่ว่าด้วยการวิเคราะห์  “งาน” ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ; ตอนที่ (๒) เป็นตอนที่เป็นความเห็นของผู้เขียนว่า รัฐธรรมนูญ(ถาวร)ในอนาคตของประเทศไทย ควรเป็นอย่างไร ; และตอนที่ (๓) เป็นตอนสรุป โดยนำเอาข้อเท็จจริงที่กี่ยวกับ การให้ข้อคิดเห็นของวงการวิชาการทางกฎหมาย(ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) มาพิจารณารวมกัน เพื่อดูภาพรวมของสภาพวิชาการของประเทศไทย ทั้งหมด อย่างสั้น ๆ
       
       ตอนที่ (๑) การวิเตราะห์ “คำชี้แจง สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ......” (ฉบับรับฟังความคิดเห็น) ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (๓๕ ท่าน)
       [ หมายเหตุ : - “คำชี้แจง สาระสำคัญฯ” ของคณะกรรมาธิการยกร่างฯนี้ มี ๒ versions คือ ฉบับแรก เป็น คำชี้แจงฯ สำหรับ(ร่าง)รัฐธรรมนูญร่างแรก( ฉบับรับฟังความคิดเห็น) ซึ่งคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เผยแพร่ไปยัง องค์กรของรัฐ ๑๒ องค์กรและประชาชนเพื่อรับฟังความคิดเห็น ก่อนที่จะนำมาพิจารณาแก้ไขเป็นครั้งที่สองเพื่อเสนอต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ ; และฉบับที่สอง เป็นคำชี้แจงฯที่คณะกรรมาธิการยกร่าง ฯได้ปรับปรุงใหมเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมนี้ หลังจากที่(ร่าง)รัฐธรรมนูญได้ผ่านการพิจารณาของสภาร่างรัฐธรรมนูญมาแล้ว และสภาร่างรัฐธรรมนูญได้นำคำชี้แจงฯนี้มาพิมพ์ต่อท้ายไว้ในเอกสาร “ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ” ปกเล่มสีเหลือง ที่แจกจ่ายให้แก่ประชาชน(ในปลายเดือนกรกฎาคม) เพื่อการออกเสียงประชามติ ซึ่งกำหนดจะมีขึ้น ในวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๐
       คำชี้แจงฉบับที่สอง มี “เนื้อหาสาระ” แตกต่างกับคำชี้แจงฉบับแรกไม่มากนัก ดังนั้น เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบถึงความเป็นมาของ “คำชึ้แจง สาระสำคัญฯ”และความคิดของคณะกรรมาธิการยกร่างฯมาตั้งแต่ต้น ผุ้เขียนจะถือตามเอกสารที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯได้จัดทำขึ้นสำหรับคำชี้แจงฉบับแรก เว้นแต่ในการย่อ“สาระ”ของคำชี้แจงฯ ผู้เขียนจะใช้สาระของคำชี้แจงฉบับที่สอง ทั้งนี้เพื่อให้การอ้างอิง “เลขมาตรา” ตรงกับเลขมาตราของ(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ไค้ผ่านการแก้ไขของสภาร่างรัฐธรรมนูญมาแล้ว และในกรณีที่สภาร่างรัฐธรรมนูญได้แก้ไขเนื้อหาสาระ(ในสาระสำคัญ)ผิดไปจากร่างเดิมของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ผู้เขียนจะได้ทำหมายเหตุเพื่อแสดง ความเดิมของคณะกรรมาธิการยกร่างฯก่อนการแก้ไขโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ไว้ด้วย
]
       
       ตามที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ใน หัวข้อที่ (๑.๒) แล้วว่า เอกสารในส่วนที่เป็น “คำชี้แจง สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ....” ของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ของสภาร่างรัฐธรรมนูญนี้ มีความสำคัญ เปรียบเสมือนเป็น “เอกสารประกอบร่างกฎหมาย” ของประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่ (เขา) จะต้องจัดทำทุกครั้งที่มีการเสนอร่างกฎหมาย (ที่สำคัญ) ต่อรัฐสภา และจะต้องเผยแพร่ต่อสาธารณะก่อนที่สภาจะเริ่มพิจารณา
       “เอกสารประกอบร่างกฎหมาย” เป็นเอกสารที่อธิบายแสดงถึงโครงสร้างของกฎหมายและแสดงความสัมพันธ์ของบทมาตราต่าง ที่เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน และนำประเด็นสำคัญ ๆ ของร่างกฎหมาย(หรือการแก้ไขกฎหมาย)มาให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ
       ไม่มีผู้ใดที่สามารถจะบอกได้ว่า กฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งเป็นกฎหมายที่ “ดี” หรือ“ไม่ดี”ได้ จนกว่าผู้นั้นจะได้อ่านกฎหมายฉบับนั้นทั้งฉบับ และผู้ที่อ่านกฎหมายทั้งฉบับแล้วสามารถจะบอก(พูด)ได้ว่า กฎหมายฉบับนั้น เป็นกฎหมายที่ “ดี” หรือ“ไม่ดี ” ย่อมได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย เพราะบุคคลธรรมดาย่อมไม่สามารถวิเคราะห์และมองเห็นโดรงสร้างของกฎหมาย(ความสัมพันธ์ของบทมาตราต่าง ๆ)ได้ แม้ว่าจะได้อ่านกฎหมายนั้นทั้งฉบับแล้วก็ตาม และนี่ คือ เหตุผลว่า เพราะเหตุใดประเทศที่พัฒนาแล้วจึงบังคับไว้ว่า ในการเสนอร่างกฎหมาย(ที่สำคัญ)ทุกครั้ง จะต้องมี “เอกสารประกอบร่างกฎหมาย”(ที่จัดทำโดยผู้เชียวชาญกฎหมาย)ไว้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน(บุคคลธรรมดา)ได้อ่านประกอบกับร่างกฎหมาย
       
       ผู้เขียนต้องขอเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบว่า ในการประเมิน “ขีดความสามารถ” หรือ “ขีดความไม่สามารถ” ของวงการวิชาการทางกฎหมาย นั้น คำชี้แจงสาระสำคัญ(ของร่างกฎหมาย)นี้ เป็นเอกสารสำคัญที่สุดในการวิเคราะห์ (ไม่ใช่ตัวร่างรัฐธรรมนูญ )
       ความสามารถ(หรือความไม่สามารถ)ของนักกฎหมายมหาชน จะแสดงปรากฎออกมาให้เห็นได้ จาก “คุณภาพ”ของเอกสารนี้ เหมือน ๆ กับความสามารถของผู้พิพากษาที่จะแสดงปรากฏออกมาให้เห็นได้จาก“คุณภาพ”ของคำพิพากษาที่ผู้พิพากษาเขียน (ซึ่ง ขณะนี้ ผู้เขียนคิดว่า ท่านผู้อ่านคงเข้าใจความหมายของ คำว่า “คุณภาพ”ของคำพิพากษาได้ดีแล้ว เมื่อท่านได้อ่านคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่ให้ยุบพรรคการเมือง เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐)
       ถ้า “เอกสารประกอบร่างกฎหมาย” มีคุณภาพดี ได้มาตรฐาน คือ ทำให้บุคคลทั่ว ๆไปที่อ่านเอกสารนี้ สามารถเข้าใจ “จุดมุ่งหมาย”ของการเขียน กฎหมาย(รัฐธรรมนูญ) ตลอดจนความสมบูรณ์และความสัมพันธ์ ของบท มาตราต่างๆ ที่เป็นโครงสร้างของกฎหมาย(รัฐธรรมนูญ)ที่จะแก้ปัญหาของประเทศในอนาคต ฯลฯได้ ก็แสดงว่า นักกฎหมายมหาชนที่รับผิดชอบในการเขียนนั้น มี “ความรู้”และมี “ความสามารถ” ; และนอกจากนั้น ในหลาย ๆ ครั้ง การวิเคราะห์“คุณภาพ”ของเอกสาร ยังสามารถแสดงให้เห็นถึงความสุจริตหรือความไม่สุจริตของนักกฎหมายมหาชนที่เขียนเอกสารนั้นได้ ตัวอย่าง เช่น ถ้าปรากฎว่า “ สาระ”ที่เป็นความเห็นของนักกฎหมายมหาชนนั้น มีข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่า นักกฎหมายมหาชน(ที่เขียนเอกสารนั้น)จงใจงดเว้นสิ่งที่ตนควรจะเขียน(ในฐานะที่ตนเป็นผู้เชียวชาญ) แต่ไม่ได้ขียนไว้ ย่อมถือได้ว่า นักกฎหมายมหาชนนั้นไม่สุจริต ทั้งนี้ โดยนักกฎหมายมหาชนนั้นจะอ้าง “ความไม่รู้”มาเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้ เพราะในการเป็นผู้เชี่ยวชาญ จะตกอยู่ในข้อสันนิษฐานที่ว่า จะต้องมีความรู้ตามมาตรฐานอาชีพของตน และแม้ว่า ในกรณีที่ความบกพร่องนั้นไม่ร้ายแรง นักกฎหมายมหาชนนั้น ก็จะถูกถือว่า เป็น “ผู้หย่อน ความสามารถ”
       

       ในตอนที่ (๑) ของส่วนที่ ๒นี้ ผู้เขียนจะแบ่งเป็น ๒ ช่วง คือ ใน ข้อ (๑.๑) จะเป็นส่วนที่สรุปสาระของ “คำชี้แจง สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ และในข้อ (๑.๒) จะเป็นการวิเคราะห์(ของผู้เขียน) โดยในการวิเตราะห็ ผู้เขียนจะใช้ “เกณฑ์”มาตรฐานในการทำ “เอกสารประกอบร่างกฎหมาย”ของประเทศพัฒนาแล้ว (ตามที่ได้กล่าวไว้ใน ส่วนที่ ๑ ข้อ ๑.๒) มาวิเคราะห์เปรียบเทียบว่า คำชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่(ของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ) ได้บรรลุ “จุดหมาย”ของการทำเอกสารนี้ หรือไม่
       
       ( ๑.๑) ข้อเท็จจริง ( facts) สรุป “คำชึ้แจง สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ....” ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
       ในขณะนี้( เดือนกรกฎาคม) ท่านผู้อ่านคงจะพบว่า ในหน้าสื่อมวลชนหลายฉบับ ได้มีการลงโฆษณาของ “คณะกรรมาธิการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่” (ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ โทร ๑๗๔๓) อยู่เป็นระยะ ๆในขณะนี้ และข้อความที่ปรากฏในหน้าสื่อมวลชน ก็คือ ข้อความที่ตัดตอน(แต่ละส่วน)ไปจาก “คำชี้แจง สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ ฯ” ที่อยู่ในเอกสารของคณะกรรมาธิการยกร่าง ฯนั่นเอง
       สิ่งที่ผู้เขียนจะทำเป็นปกติในการเขียนบทความในเชิงวิเคราะห์ความเห็นทางกฎหมายหรือคำพิพากษาของศาล ก็คือ การอ่านทำความเข้าใจกับ “ความเห็น”หรือ “คำพิพากษา”ดังกล่าวอย่างละเอียดเพื่อจะได้ทราบว่า ผู้ที่ทำความเห็นทางกฎหมายหรือผู้พิพากษา(ที่เขียนคำพิพากษา)นั้น มีเจตนาหรือความมุ่งหมายอย่างใด ทั้งนี้โดย ผู้เขียนจะพยายามสรุปย่อสาระให้ตรงกับความเป็นจริงให้มากที่สุด (โดยจะไม่มีข้อความใดที่เป็น “ความเห็น”ของผู้เขียนปะปนอยู่ด้วย) และในขณะเดียวกัน ผู้เขียนจะย่อให้อ่านได้ง่ายที่สุด ทั้งนี้ เพื่อผู้เขียนจะได้นำความนี้ไปวิเคราะห์ได้โดยไม่คลาดเคลื่อน
       ดังนั้น ในบทความนี้ก็เช่นเดียวกัน ในข้อ (๑.๑)นี้ จะเป็นส่วนทีผู้เขียนสรุปข้อเท็จจริง ( คำชี้แจง สาระสำคัญฯ) แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับท่านผู้อ่าน ท่านอาจไม่จำเป็นต้องอ่านในขณะนี้ โดยจะข้ามไปอ่านข้อ (๑.๒) ของตอนนี้ ว่าด้วยการวิเคราะห์ของผู้เขียนก่อนก็ได้ และถ้าท่านผู้อ่านมีข้อสงสัยประการใด ท่านก็อาจย้อนกลับมาอ่านและตรวจสอบ “ข้อเท็จจริง”ใน ข้อ (๑.๑) นี้ได้
       
       เอกสารที่คณะกรรมาธิการยกร่าง ฯ แจกจ่ายเพื่อขอความคิดเห็นจากประชาชนและจากองค์กรต่าง ๆ จะมีอยู่ ๒ เล่มด้วยกัน คือ (๑) เล่มแรก คือ สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับรับฟังความคิดเห็น (พร้อมด้วยตารางเปรียบเทียบรายมาตรากับรัฐธรรมนูญ ( พ.ศ. ๒๕๔๐) จำนวน ๒๔๖ หน้า และ (๒) เล่มที่สอง คือ (ตัว)ร่างรัฐธรรมนูญ ฯ พ.ศ. .... ฉบับรับฟังความคิดเห็น - มี ๒๙๙ มาตรา จำนวน ๑๑๑ หน้า
       ในเอกสารเล่มแรก (สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ฯ พ.ศ. ...) จะขึ้นต้นด้วย คำอธิบาย “สาระสำคัญของ ร่างรัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช. ....” ของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ซึ่งมีความยาว จำนวน ๑๓ หน้าครึ่ง / และต่อจากนั้น จะเป็น “ตารางเปรียบเทียบ” รายมาตรา ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กับ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ อีก จำนวน ๒๓๒ หน้า
       ร่างรัฐธรรมนูญ(ฉบับรับฟังความคิดเห็น) แบ่งหมวดออกเป็น ๑๕ หมวด รวม ๒๙๙ มาตรา (รัฐธรรมนูญฉบับเดิม พ.ศ. ๒๕๔๐ มี ๑๒ หมวด รวม ๓๓๖ มาตรา) ; หมวดที่เพิ่มเติมขึ้นใหม่รวม ๔ หมวด คือ (๑) หมวด ว่าด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน หมวด ๗ , (๒)หมวด ว่าด้วยการเงิน การคลัง และการงบประมาณ หมวด ๘ , (๓) หมวด ว่าด้วยองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หมวด ๑๑ , และ (๔) หมวด ว่าด้วยจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หมวด ๑๓ ; ทั้งนี้โดยคณะกรรมาธิการยกร่างฯได้นำหมวด(ตาม รธน.เดิม พ.ศ. ๒๕๔๐)ว่าด้วยการครวจเงินแผ่นดิน ไปเขียนรวมไว้ในหมวดว่าด้วยองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ; ดังนั้น จำนวนหมวดตาม(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงเพิ่มขึ้นเพียง ๓ หมวดเป็น ๑๕ หมวด(จากเดิม ๑๒ หมวด) โดยมีการเพิ่มหมวดใหม่ ๔ หมวด
       
       คำเริ่มต้น (อารัมภบท) ของ “คำชี้แจง สาระสำคัญ ของร่างรัฐธรรมนูญ ฯ” : ในคำชึ้แจง “สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุททธศักราช .....” (จำนวน ๑๓ หน้าครึ่ง) คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้กล่าวขึ้นต้น ว่า “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ร่างขึ้น บนสถานการณ์ที่จะต้องนำพาประเทศไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ จัดให้มีการเลือกตั้ง ภายในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ แก้ปัญหาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ที่ก่อให้เกิดการผูกขาดอำนาจรัฐและการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม การดำเนินการทางการเมืองที่ขาดความโปร่งใส ไม่มีคุณธรรมและจริยธรรม ระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ล้มเหลว และการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนยังไม่ได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมอย่างเต็มที่”
       
ดังนั้น คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จึงได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกล่าวต่อไปว่า “ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ...... จึงมีสาระสำคัญที่มุ่งจะแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยดำเนินการ ใน ๔ แนวทาง ด้วยกัน คือ (๑) การคุ้มครอง ส่งเสริม และการขยายสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่ ; (๒) การลดการผูกขาดอำนาจรัฐและขจัดการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม ; (๓) การทำให้การเมืองมีความโปร่งใส มีคุณธรรมและจริยธรรม ; (๔) การทำให้ระบบตรวจสอบมีความเข้มแข็งและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
       ต่อจากนั้น คณะกรรมาธิการยกร่างฯได้ ชี้แจง “รายการ”ต่าง ๆในแต่ละ “แนวทาง”ว่า คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้แก้ใขเพิ่มเติมสาระอย่างใด บ้าง
       
       โดยต่อไปนี้ จะเป็นการสรุป คำชี้แจง ฯ เพื่อตรวจดู“รายการ”ต่าง ๆ ตามที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯได้เรียงลำดับไว้ แต่ผู้เขียนจะขีดเส้นใต้ highlight “เรื่อง”ในแต่ละรายการไว้ เพื่อให้ท่านผู้อ่าน(และผู้เขียนสะดวกในการตรวจดูว่าคณะกรรมาธิการยกร่างฯได้เสนอเรื่องใด (ไว้ในแนวทางใด) บ้าง (ซึ่งจะเห็นได้ว่า มี “รายการ”หลายรายการได้มีการเสนอซ้ำกัน เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ใน “แนวทาง”มากกว่าหนึ่งแนวทาง)
       [ หมายเหตุ : “เลขมาตรา”ต่อไปนี้ ผู้เขียนได้เปลี่ยนให้ตรงกับเลขมาตราของ (ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ฉบับลงประชามติ) ที่ได้ผ่านความเห็นชอบของสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ; และ “รายการ”ใดที่ถูกแก้ไขหรือเพิ่มเติมโดย คำชี้แจงฯฉบับที่สอง ผู้เขียนจะพิมพ์รายการนั้นด้วยตัวอักษรดำ ]
       
       อ่านต่อ
       หน้า 6
       หน้า 7
       หน้า 8
       หน้า 9
       หน้า 10
       หน้า 11
       หน้า 12
       หน้า 13
       หน้า 14
       หน้า 15
       หน้า 16
       หน้า 17
       หน้า 18
        หน้า 19
       หน้า 20
       หน้า 21
       หน้า 22
       หน้า 23
        หน้า24
       หน้า 25
        หน้า26
       หน้า 27
        หน้า28
       หน้า 29


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544