หน้าแรก บทความสาระ
สภาพวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย : สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒ (หน้า๔)
ศ. ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
31 กรกฎาคม 2550 17:16 น.
 
ด้วยเหตุบังเอิญอีกเช่นเดียวกัน คือ ในต้นเดือนกรกฎาคม(พ.ศ. ๒๕๕๐)นี้เอง คือในขณะที่ผุ้เขียนกำลังเขียนบทความบทนี้ ผู้เขียนได้รับเอกสารฉบับหนึ่งจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เอกสารฉบับนั้นเป็นคำแปล “คู่มือการตรากฎหมาย (ระดับร่างพระราชบัญญัติ)”ของ( เครือรัฐ) ออสเตรเลีย (ซึ่งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแปลมาแล้วประมาณปีเศษ แต่เพิ่งพิมพ์เสร็จเป็นเล่ม ) ; เอกสารคู่มือการตรากฎหมาย ฯ ดังกล่าว เป็นเอกสารที่กำหนดขั้นตอนของการจัดทำร่างกฎหมายของรัฐบาลออสเตรเลีย โดยกำหนดให้ต้องมีการทำเอกสารประกอบร่างกฎหมาย - explanatory memorandum พร้อมทั้งได้กำหนด “มาตรฐาน”(สาระ)ของเอกสารฯ ดังกล่าวไว้ด้วย ; และนอกจากนั้น ยังกำหนดด้วยว่า เอกสารประกอบร่างกฎหมายนี้ จะต้องจัดพิมพ์และเผยแพร่ต่อสาธารณะในทันทีที่มีการเสนอร่างกฎหมายต่อสภา (แบบเดียวกับการจัดพิมพ์กฎหมายของเราในราชกิจจานุเบกษา)
       คู่มือการตรากฎหมายของออสเตรเลีย ได้กำหนดให้ “เอกสารประกอบร่างกฎหมาย” จะต้องจัดทำขี้นโดยต้องปรึกษาหารือกับ the Office of Regulation Review (สำนักงานตรวจสอบกฎหมาย) เพื่อให้ได้ “มาตรฐาน”ตามที่วางไว้ มน Guide to Regulation และแนะนำให้พิมพ์เปิดเผยความเห็นใน เรื่องที่ได้ปรึกษาหารือและความเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย(ที่สำคัญ)ไว้ในเอกสารฯ ด้วย
       เอกสารประกอบร่างกฎหมายของออสเตรเลีย จะต้องมีการวิเคราะห์ทั้งในด้านการเงิน – financial impact statement) และวิเคราะห์ทั้งผลกระทบด้านกฎหมาย - regulation impact statement ; และ .o“มาตรฐาน”ของการวิเคราะห์ด้านกฎหมาย ก็กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า จะต้องมีข้อความที่กระชับและชัดเจน แสดงถึงวัตถุประสงค์หรือจุดหมายของการร่างกฎหมาย และจะต้องสรุปสาระสำคัญของเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องมีการตราพระราชบัญญัติดังกล่าว ตลอดจน “ผล-effect”ที่จะเกิดขึ้นจากบทบัญญัติที่สำคัญ ฯลฯ
       [หมายเหตุ :- โปรดดูได้จาก “คำแปล คู่มือการตรากฎหมาย – ระดับพระราชบัญญัติแห่งเครือรัฐออสเตรเลีย” ( Legislation Handbook , Department of the Prime Minister and Cabinet )โดยนายจิตรพรต พัฒนสิน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ; และนอกเหนือจากข้อกำหนดเกี่ยวกับเรื่อง “เอกสารประกอบร่างกฎหมาย”แล้ว คู่มือดังกล่าวยังได้กำหนดขั้นตอนและ “กฎเกณฑ์ในการยกร่างกฎหมาย”อื่น ๆ ไว้ด้วย เช่น กำหนดให้ส่วนราชการที่ยกร่างกฎหมาย จะต้องปรึกษาหารือกับอัยการสูงสุด Attorney-General ในประเด็นสำคัญ (ที่ระบุไว้) เป็นต้นว่า ประเด็นเรื่องอำนาจใช้ดุลพินิจ – administrative discretions ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐระดับใด สมควรจะเป็นผู้ใช้ดุลพินิจในเรื่องใด และต้องพิจารณาด้วยว่า ในการบัญญัติให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจใช้ดุลพินิจดังกล่าว สมควรจะต้องกำหนด “หลักเกณฑ์”ของการใช้ดุลพินิจดังกล่าวไว้ในตัวกฎหมายด้วย หรือไม่ หรือจะไปกำหนดไว้ในระเบียบปฎิบัติราชการของฝ่ายบริหาร ฯลฯ]
       
       นักกฎหมายไทย ชอบ “พูด” มากกว่า “เขียน”
       
ผู้เขียนสังเกตว่า ผลงานเขียนของนักกฎหมายไทย มีน้อยกว่านักกฎหมายของประเทศที่พัฒนาแล้วค่อนข้างมาก และสังคมไทยเป็น “สังคมของการให้สัมภาษณ์” นักการเมืองของเราให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเป็นรายวัน และพอใจที่จะได้เห็นชื่อของตนปรากฎอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ นักวิชาการและนักกฎหมายของเราก็เลยติดชอบให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนไปด้วย
       การที่นักกฎหมายไทยไม่ค่อยชอบเขียน ทำให้สังคมไม่ค่อยทราบ “ความสามารถ”ที่แท้จริงของนักกฎหมาย ; เพราะในการให้สัมภาษณ์หรือในการสนทนาโต้ตอบในรายการต่าง ๆ จะเป็นเรื่องของใช้ศิลปะการพูดและการใช้สำนวนโต้ตอบกันเพื่อให้เกิดความสนุกหรือความพอใจแก่ผู้ฟัง มากกว่าเป็นเรื่องของการให้ความรู้ และ ตามปกติ สิ่งที่ เป็น“ความเห็นของนักกฎหมาย”ที่มาจากการพูดหรือการสัมภาษณ์ จะไม่ใช่ ความรู้ เพราะความเห็นทางกฎหมายที่เป็น “ความรู้” จะไม่สามารถอธิบายได้ด้วยการพูดเพียงด้านใดด้านหนึ่งหรือด้วยการโต้ตอบกันในรายการอภิปรายหรือการสนทนา ; นอกจากนั้น ในการพูด ผู้พูดสามารถหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในความถูกต้องของคำพูดได้เพราะไม่มีหลักฐาน ซึ่งแตกต่างกับการเขียน ที่ผู้ที่เขียนจะต้องรับผิดชอบในงานที่ตนเองเขียนโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ; “สาระ”ที่ปรากฏจากการเขียน จะแสดงออกให้บุคคลภายนอกทราบและมองเห็น “ความรู้”ของผู้ที่เขียนได้ว่า ผู้ที่เขียนมีความรอบรู้เพียงใด ดังนั้น การที่นักกฎหมายไทยส่วนมากไม่ชอบเขียน แต่ชอบพูดมากกว่า จึงเป็นข้อเท็จจริงที่การแสดงให้เห็นถึง “สภาพที่แท้จริง”ของวงการวิชาการทางกฎหมายของเราเองได้อย่างหนึ่ง
       
       สภาพของสังคมที่อ่อนแอและการขาดประสบการณ์ของคนไทย ก็อาจเป็น “สาเหตุ”สำคัญอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักวิชาการทางกฎหมายของเราไม่กระตือรือร้นในการแสวงหาความรู้ ; เท่าที่ปรากฎ คนไทยเราไม่ค่อยสนใจใน “เหตุผล”ของความเห็นทางกฎหมาย และ คนไทยเราดูจะสนใจแต่ “ข้อยุติ”ของปัญหากฎหมาย ; ตัวอย่างเช่น เมื่อคนไทยเราอ่านข่าวที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับคำพิพากษาของศาล สิ่งที่คนไทยอยากทราบ ก็คือ ศาลชี้ขาดในเรื่องนั้นว่าอย่างไร โดยไม่สนใจ ที่จะทราบ“เหตุผล”ในคำพิพากษา และไม่สนใจว่า ผู้ใดเป็นผู้พิพากษาที่วินิจฉัยชี้ขาดคดีนั้น และด้วยเหตุนี้ สื่อมวลชนของไทยจึงมักจะลงข่าวคำพิพากษาโดยไม่ลง “ชื่อ”ผู้พิพากษา ซึ่งแตกต่าง กับสื่อมวลชนในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งตามปกติจะลงชื่อผู้พิพากษาที่ทำคำพิพากษานั้นไว้ด้วย ; ผู้เขียนเห็นว่า การที่สังคมไทยไม่ค่อยสนใจ “เหตุผล”ในการให้ความเห็นทางกฎหมายหรือในคำพิพากษา ทำให้ความรู้สึก(สำนึก)ในความรับผิดชอบต่อสังคม ของนักกฎหมายหรือของผู้พิพากษาลดน้อยลง
       
       ตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่แสดงได้อย่างชัดเจนว่า สังคมไทยไม่ได้ให้ความสำคัญ ในผลงานเขียนของนักกฎหมาย ก็คือ “วุฒิสภา”(ตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๐)ของเราเอง เพราะในการทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติของบุคคล เพื่อคัดเลือกเข้ามาเป็นตุลาการของศาลรัฐธรรมนูญ หรือขององค์กรอิสระต่าง ๆ วุฒิสภา(โดยคณะกรรมาธิการสามัญ ที่แต่งตั้งขึ้นตามข้อบังคับฯ) จะรับฟัง “วิสัยทัศน์ - vision”ของผู้มีสิทธิได้รับการคัดเลือก ซึ่งแตกต่างกับสภาสูงของต่างประเทศ (เช่นสหรัฐอเมริกา) ที่จะเน้นการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นผู้พิพากษาในศาลสูงสุด (ของสหรัฐ) ด้วยการตรวจสอบผลงานในอดีตที่ผ่านมา เช่น ถ้าบุคคลนั้นเป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา คณะกรรมาธิการของเขาก็จะตรวจดูคำพิพากษาที่สำคัญ ๆ ที่บุคคลนั้นเคยชึ้ขาด เพราะ(เขา)เห็นว่า งานในอดีตเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้วที่แสดงให้เห็นและพิสูจน์พฤติกรรมและแนวความคิด(ทางนิติปรัชญา)ของบุคคลดังกล่าว ซึ่งตรงกันข้ามกับการแสดง “วิสัยทัศน์” ซึ่งเป็นการ “พูด”ที่ผู้พูดจะพูดอะไรก็ได้ว่า ในอนาคต ตน(จะ)ทำหรือ(จะ)เป็นคนอย่างไร [หมายเหตุ : ทั้งนี้ โดยผุ้เขียนจะยังไม่กล่าวถึงความแตกต่างใน”หลักการ”ของการวิธีการคัดเลือกตัวบุคคลฯ ระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับความคิดของ “ผู้มีอำนาจ”ยกร่างรัฐธรรมนูญของประเทศไทย กล่าวคือ ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาถือหลักความโปร่งใส - transparency ในการคัดเลือก และให้บุคคลภายนอกเข้าฟัง การพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯของเขาได้ ซึ่งตรงกันข้ามกับวิธีการของประเทศไทย เพราะตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ(และตามข้อบังคับการประชุมของวุฒิสภา)ของเรา บัญญัติให้กระทำโดยลับ ( ! ) ]
       
       สิ่งที่ผู้เขียนกล่าวมานี้ เป็นข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นถึงระตับการพัฒนาและพฤติกรรมของ “ชนชั้นนำ”ของสังคมไทย ; และในอนาคต ถ้าหากเราจะต้องการให้วงการวิชาการทางกฎหมายของเรา“เริ่ม”มีการพัฒนาในแนวทางที่เหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว และทำให้สังคมของเราสามารถตรวจสอบ“ขีดความสามารถ”ของวงการวิชาการทางกฎหมายได้ เราคงต้องหาวิธีการที่จะทำให้การทำงานของวงการวิชาการทางกฎหมายของเรา “เขียน” มากกว่า “พูด”
       
       

       
       (๑.๓) การร่างรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ในปัจจุบัน : โอกาสที่ดีที่สุดของสังคมไทย ที่จะรู้จัก “ขีดความสามารถของวงการวิชาการทางกฎหมาย” ของตนเอง
       

       ไม่ว่าจะเป็นเหตุบังเอิญหรือไม่ก็ตาม ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๔๙) มาตรา ๒๖ ได้กำหนดไว้ด้วยว่า “เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้จัดทำ คำชี้แจงว่าร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นใหม่นั้น มีความแตกต่างกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ในเรื่องใด พร้อมด้วยเหตุผลในการแก้ไข ไปยังสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ องค์กรและบุคคลดังต่อไปนี้ เพื่อพิจารณาและเสนอความคิดเห็น (๑) คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (๒) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ฯลฯ ............”
       
และเมื่อเดือน เมษายน (วันที่ ๒๖) คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้แจกจ่าย เอกสารเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่(ฉบับรับฟังความคิดเห็น) เพื่อขอความคิดเห็นจากองค์กรต่าง ๆ ( ๑๒ องค์กร) ตามที่รัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๖กำหนดไว้ รวม ๒ เล่ม ; และในเอกสารเล่มแรก ได้มี คำชี้แจง “สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ....” อยู่ในตอนแรกของเอกสาร โดย มีความยาวอยู่ประมาณ ๑๓หน้าครื่ง
       
       “คำชี้แจง สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ....”(ของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ) ในฐานะที่ เป็น “เอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ”
       “คำชี้แจง (เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่)”ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน(มาตรา ๒๖) จึงเปรียบเสมือนเป็น “เอกสารประกอบร่างกฎหมาย(รัฐธรรมนูญ)”ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ; และดูเหมือน จะเป็นการเริ่มต้นของการบังคับให้มี “เอกสารประกอบการร่างกฎหมาย”ในกระบวนการร่างกฎหมายเป็นครั้งแรกองประเทศไทย
       ผู้เขียนไม่อาจทราบว่า ในการเขียนคำชี้แจง “สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช .... ” คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ(หรือ สภาร่างรัฐธรรมนูญ) ได้มีการกำหนด “มาตรฐาน”สำหรับการเขียนคำชี้แจงฯ ดังกล่าวไว้หรือไม่เพียงใด เพราะมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญ(ฉบับปัจจุบัน)บัญญัติไว้เพียงว่า ให้ชี้แจงว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แตกต่างกับรัฐธรรมนูญฉบับเดิม (พ.ศ. ๒๕๔๐)อย่างไร พร้อมด้วยเหตุผลในการแก้ไข เท่านั้น ; ฉะนั้น ดูเหมือนว่า ผู้ที่ยกร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๔๙) มีความมุ่งหมายให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ทำคำชี้แจงเฉพาะการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กับรัฐธรรมนูญฉบับเดิมเท่านั้น มิได้มีความมุ่งหมายที่จะให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯชี้แจงหรืออธิบายถึงแนวความคิดหรือหลักการที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ยึดถือหรือนำมาใช้ในการออกแบบ – design (ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แต่อย่างใด
       เมื่อผู้เขียนได้อ่าน “คำชี้แจง สาระสำคัญฯ” และ “ตารางเปรียบเทียบ”(การแก้ไขเป็นรายมาตราพร้อมด้วยเหตุผล)ของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ แล้ว ผู้เขียนเห็นว่า เอกสารฉบับนี้ของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ไม่ได้ให้ประโยชน์แก่ผู้อ่านและประชาชนทั่วไป เหมือนกับ “เอกสารประกอบร่างกฎหมาย”ของประเทศพัฒนาแล้ว และเห็นได้ว่า “คำชี้แจง สาระสำคัญฯ” ไม่ได้อยู่ในแนวทางที่ผู้เขียนอยากให้เป็นและเคยกำหนดมาตรฐานไว้ในคำนิยาม( “เอกสารประกอบร่างกฎหมาย”)ในร่างรัฐธรรมนูญฯที่ผู้เขียนได้เคยเสนอไว้เมื่อ ๓ ปีก่อน (โปรดดู ข้อ ๑.๒ ของ ส่วนที่ ๑ บทนำ )
       อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกต และค่อนข้างแปลก ที่รัฐธรรมนูญปัจจุบัน(พ.ศ. ๒๕๔๙)บัญญัติกำหนดให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ต้องจัดทำ “คำชี้แจง ฯ”เฉพาะในกรณีที่(คณะกรรมาธิการยกร่างฯ)ขอความเห็นไปยังสภาร่างรัฐธรรมนูญ ฯลฯ เท่านั้น แต่มิได้บัญญัติกำหนดให้ต้องมีการจัดทำ “คำชี้แจง”หรือ “คำอธิบาย(ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่)”ให้แก่ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ไว้ ก่อนที่จะออกเสียงประชามติ ; ดังนั้น ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจว่า ในการออกเสียงประชามติในวันที่ ๑๙ สิงหาคมข้างหน้านี้ จะมีจำนวนประชาชนมากน้อยเพียงใด ที่อ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับและเข้าใจ ผู้เขียนคิดว่า อาจไม่มีเลยแม้แต่คนเดียวก็ได้ [หมายเหตุ : มาตรา ๒๙ วรรคสองของ รธน.ปัจจุบัน “เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบ และจัดให้มีการออกเสียงประชามติ .........”]
       
       เมื่อท่านผู้อ่านได้ทราบถึง (๑) ความมุ่งหมายของการจัดทำ “เอกสารประกอบร่างกฎหมาย”(ของประเทศที่พัฒนาแล้ว) แล้ว และทราบถึง (๒) มาตรฐานของ “เอกสารประกอบร่างกฎหมาย”แล้ว ดังนั้น ในส่วนที่ ๒ กรณีศึกษา – case study ของบทความนี้ ทั้งผู้เขียนและท่านผู้อ่าน ก็จะลองมาพิจารณาตรวจสอบดูว่า สภาพวงการวิชาการทางกฎหมายของประเทศไทย ที่ปรากฏขึ้นจากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งได้แก่ คำชี้แจง “สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ....”ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (พร้อมทั้ง ความคิดเห็นขององค์กรของรัฐ ๑๒องค์กร และการแปรญัติ ของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) และร่างรัฐธรรมนุญฉบับใหม่ ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ว่า อยู่ในระดับพอที่จะปฏิรูปการเมือง ให้คนไทยได้หรือไม่
       
       “คำชี้แจง สาระสำคัญฯ” และ “(ร่าง) รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” เป็น เอกสารที่แสดง ขีดความสามารถของวงการวิชาการทางกฎหมายของไทย ทั้งประเทศ
       
ในขณะนี้ ผู้เขียนได้เขียนบทความที่มีความมุ่งหมายจะนำ ประเด็นเกี่ยวกับ“ขีดความสามารถของวงการวิชาการทางกฎหมายของไทย”มาสู่ความสนใจของท่านผู้อ่านที่สนใจการเมือง(ของประเทศ) อยู่ ๒ บทความด้วยกัน บทความแรก(ซึ่งผู้เขียนยังเขียนไม่จบ) ได้แก่เรื่อง “กระบวนทัศน์เก่า - Old Paradigm ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน (ค..ศ. 2006) ” และบทความ นี้
       

       บทความแรก (กระบวนทัศน์เก่า – Old Paradigm ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ค.ศ. 2006) จะแตกต่างกับบทความนี้ เพราะบทความเรื่อง Old Paradigm เป็นบทความที่ผู้เขียนนำตัวบทของ “รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน(พ.ศ. ๒๕๔๙)” ว่าด้วยการจัดรูปแบบขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ(สภาร่างรัฐธรรมนูญ) มาเป็น case study แต่บทความบทนี้ เป็นบทความที่ผู้เขียนนำเอา “ตัว(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ” ที่ยกร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ชุดปัจจุบัน” มาเป็น case study
       พูดง่าย ๆ ก็คือ บทความบทก่อน เป็นบทความที่มุ่งหมายจะวิเคราะห์ขีดความสามารถของ “ผู้ที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ” ที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๔๙ ( ว่าด้วย แนวความคิดในการจัดตั้งสมัชชาแห่งชาติฯ มาคัดเลือกเป็น องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ ) แต่บทความนี้ เป็นการบทความที่มุ่งหมายจะวิเคราะห์ขีดความสามารถของ “สภาร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการยกร่างฯ”(องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ) ที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะเป็นอนาคตของประเทศไทย
       บทความบทก่อน เป็นการวิเคราะห์ที่มีผลจำกัดขอบเขตอยู่เฉพาะกับตัวบุคคล ที่เป็นคณะปฏิรูปการปกครอง ฯ วันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ และบุคคลที่เป็น “นักกฎหมาย” ที่ให้ความคิดเห็นและมีส่วนช่วยคณะปฏิรูปการปกครองฯในการยกร่าง(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๔๙)เท่านั้น ; แต่บทความบทนี้ เป็นบทความที่ทำ case study โดยใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ยกร่างขึ้นโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประกอบด้วยสมาชิกนานาอาชีพที่คัดสรรมาจากสมัชชาแห่งชาติ(ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน) ดังนั้น ขอบเขตของการวิเคราะห์ของบทความบทนี้ จึงมีผลกว้างกว่าบทความก่อน(Old Paradigm) และบทความนี้ ดูจะเป็นบทวิเคราะห์ขีดความสามารถของวงการวิชาการทางกฎหมาย ที่ครอบคลุมวงการได้อย่างกว้างขวางทั้งประเทศ และน่าจะเป็น case study ที่ทำให้เรา (คนไทย) สามารถมองเห็นความเป็นจริง - reality ของสภาพทางวิชาการทางกฎหมายของประเทศได้อย่างชัดเจน เพราะดูเหมือนว่า บรรดานักวิชาการที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยทุกคนหรือเกือบทั้งหมด ได้มี“ส่วน”หรือได้มี“บทบาท”อยู่ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ทั้งสิ้น ไม่มากก็น้อย
       
       ผู้เขียนคิดว่า คงจะไม่มีโอกาสอื่นอีกแล้ว ที่จะทำ case study ที่ครอบคลุมวงการวิชาการทางกฎหมายของเรา ได้อย่างกว้างขวาง เช่นการวิเคราะห์การยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้
       แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนต้องขอเรียนไว้ล่วงหน้าก่อนที่ท่านผู้อ่านจะอ่านบทความนี้ ว่า ความเห็นของผู้เขียน ก็คงเป็นไปตาม “ชึ่อ”ของบทความนี้ คือ เมื่อ ๑๐ ปีก่อน ผู้เขียนเคยมีความเห็นว่า การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๑ (รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐) จะล้มเหลว เพราะสภาพวิชาการทางกฎหมายของเรา ยังมี ขีดความสามารถ สูงไม่พอที่จะออกแบบ (เขียน)รัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมืองได้ และในครั้งนี้ การปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๕๐) ก็เช่นเดียวกัน ผู้เขียนก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนความเห็นได้ เพราะเมื่อได้ติดตามกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญและตรวจสอบ “สาระ”ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (พ.ศ. ๒๕๕๐) แล้ว ผู้เขียนยังมีความเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (จะ)ล้มเหลว เช่นเดียวกับการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ ๑ เพราะขีดความสามารถของวงการวิชาการทางกฎหมายของไทย สูงไม่พอ
       
       ผู้เขียนต้องขอเรียนไว้อีกครั้งหนึ่งว่า ความเห็นของผู้เขียนในบทความนี้ เป็นการให้ความเห็นโดยสุจริตเพื่อประโยชน์ในทางวิชาการ โดยมุ่งหวังที่จะให้การปฏิรูปการเมืองของประเทศไทยประสบความสำเร็จและ พ้นจากวิกฤติการณ์ทางการเมืองทั้งในครั้งนี้และในอนาคต และความเห็นในบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน เพื่อให้ท่านผู้อ่านนำไปพิจารณา ซึ่งท่านผู้อ่านมีความเป็นอิสระที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย และหากความเห็นของผู้เขียนจะกระทบและทำให้ท่านผู้หนึ่งผู้ใดไม่พอใจ ขอได้โปรดให้อภัยด้วย เพราะมิใช่เจตนาของผู้เขียน
       

       
       อ่านต่อ
       หน้า 5
       หน้า 6
       หน้า 7
       หน้า 8
       หน้า 9
       หน้า 10
       หน้า 11
       หน้า 12
       หน้า 13
       หนัา 14
       หน้า 15
       หน้า 16
       หน้า 17
       หน้า 18
        หน้า 19
       หน้า 20
       หน้า 21
       หน้า 22
       หน้า 23
        หน้า24
       หน้า 25
        หน้า26
       หน้า 27
        หน้า28
       หน้า 29


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544